สำหรับบทความเรื่องสีสันแห่งความยุติธรรมซึ่งตอนก่อนหน้านี้ ได้มีการพูดถึง ชีวประวัติของเดวิด ฮูมไปแล้วในเบื้องต้น รวมไปถึง ตัวอย่างปรัชญาการเมืองแบบคลาสสิค {อ่านเพิ่มเติม: สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-1)} แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเป็นการลงรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎีความยุติธรรมต่างๆ งานที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีความยุติธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรม เป็นต้น
1.2 งานที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีความยุติธรรม
ด้านที่ 2 ปรัชญาการเมืองที่เดวิด ฮูม ได้นำเสนอเป็นมุมมองเฉพาะเกี่ยวกับความยุติธรรม ซึ่งแตกต่างไปจากแนวคิดคลาสสิกที่พูดถึงเรื่องของความยุติธรรมที่เราได้กล่าวถึงไปแล้ว (คลาสสิคในที่นี้หมายถึงแนวคิดของอริสโตเติลและเพลโต) ฮูม ได้เปรียบเทียบทฤษฎีความยุติธรรมแบบคลาสสิก กับความเข้าใจของตัวเองเกี่ยวกับความยุติธรรม หลังจากนั้นเขาได้วิพากษ์และนำเสนอมุมมองว่าด้วยความยุติธรรมของตนเอง ซึ่งงานเขียนหลักของฮูมที่พูดถึงความยุติธรรม จะพบได้ในหนังสือศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์
ในหมวดแรกซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ”ความเข้าใจ” หมวดนี้ จะพูดถึงประเด็นทางด้านญาณวิทยาว่าด้วยวิธีหรือหนทางที่ทำให้มนุษย์ได้มาซึ่งความรู้และข้อจำกัดของการรับรู้ของมนุษย์ และในหมวดที่ 2 เกี่ยวข้องกับ ภาวะความต้องการซึ่งในเรื่องนี้จะพูดถึงปรัชญาจิตวิทยาของฮูมเสียมากกว่า และในหมวดที่ 3 จะเกี่ยวข้องกับศีลธรรม โดยเขาได้แบ่งเป็น 3 บทใหญ่ๆได้แก่ บทที่ 1 คือความต่ำทรามและความประเสริฐ บทที่ 2 คือคำอธิบายว่าด้วยความประเสริฐทางธรรมชาติ บทที่ 3 คือความยุติธรรมและความอยุติธรรม ซึ่งในบทนี้จะเป็นบทที่เขาได้นำเสนอทฤษฎีความยุติธรรมในแง่ของประสบการณ์นิยม ความคิดของเขาจะแตกต่างจากความคิดของจอห์น ล็อค หรือคลาร์ก ที่มองว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติและมีกฎเกณฑ์ตายตัวซึ่งสามารถเข้าถึงและรู้จักได้ด้วยสติปัญญา และในงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งของเขาก็คือ”บทวิเคราะห์ว่าด้วยหลักการศีลธรรม”( An enquiry Concerning the principles of morals) เป็นบทวิเคราะห์ที่จะพูดถึงความยุติธรรมโดยเฉพาะ
หากจะกล่าวโดยภาพรวมแล้ว ทฤษฎีความยุติธรรมของ ฮูม คือความพยายามตอบคำถาม 2 ข้อใหญ่ที่แตกเป็นหลายข้อย่อยด้วยกัน ข้อแรก ทำไมมนุษย์เราถึงต้องการความยุติธรรม จุดเริ่มต้นของการแสวงหาความยุติธรรมคืออะไร ภายใต้สถานการณ์เงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ใดจึงจะถือว่าการสร้างความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ? และคำถามข้อที่ 2 คือ ความยุติธรรมเป็นสิ่งประเสริฐได้อย่างไร มีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างตัวของความยุติธรรมกับความประเสริฐอื่นๆ ? และทฤษฎีเหล่านี้เอง มีผลในการสังขยานาปรัชญาการเมืองในยุคหลัง
ในงานของเราคือการเข้าถึงแนวคิดทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรมของฮูมในภาพรวม จากนั้นเราจะนำเสนอเนื้อหาและทำการเปรียบเทียบพร้อมทั้งวิจารณ์แนวคิดนี้
2.ทฤษฎีความยุติธรรม
2.1 จินตภาพของฮูม เกี่ยวกับความยุติธรรม
ส่วนใหญ่ นักปรัชญาจะพูดถึงความยุติธรรมโดยถือว่า มันคือค่านิยมที่ดี ประเสริฐ เป็นหลักการ และถือเป็นค่าเอกเทศ ไม่ขึ้นกับความปรารถนา เจตจำนง ผลประโยชน์ และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของมนุษย์ มีความสำคัญพิเศษ มีความถูกต้องในตัว ทว่าฮูมมองต่างออกไป เพราะเขาคิดว่า ความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่ไม่ขึ้นกับความปรารถนา อารมณ์หรือผลประโยชน์ของมนุษย์ ที่จะอ้างได้ว่ามันเป็นพลังหรือคุณค่าที่มาจากธรรมชาติ และเขามีความคิดว่าโดยตัวของมันเองความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งประเสริฐแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสถานะและให้คุณค่าเฉพาะแก่มัน จากความคิดนี้ทำให้เขาสรุปว่า มนุษย์สร้างความยุติธรรมขึ้นมาเอง ความยุติธรรมเป็นสิ่งสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อทำข้อตกลงกันระหว่างบุคคลในสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นความยุติธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถสัมผัสมันได้ด้วยการใคร่ครวญหรือสัมผัสมันได้ด้วยสามัญสำนึก หรือธรรมชาติของมนุษย์ ทว่ามันคือสิ่งที่มนุษย์เราต้องการมันเพื่อผลประโยชน์ เมื่อมนุษย์เข้าใจถึงหลักแห่งผลประโยชน์ จากนั้นความยุติธรรมถูกดัดแปลงและนำมาใช้ภายใต้กรอบของข้อตกลง หรือ กฎหมาย ซึ่งแรงจูงใจที่ทำให้มนุษย์ต้องยอมปฏิบัติตามกฎหมายที่พวกเขาสร้างขึ้นมา คือ ผลประโยชน์โดยเฉพาะ
จากมุมมองนี้ทำให้ ฮูม มีความเชื่อว่าในที่ๆไม่มีกฎหมายหรือสิทธิใดๆซึ่งเป็นผลมาจากการทำข้อตกลงระหว่างมนุษย์ พื้นที่แห่งนั้นจะไม่มีการนำเสนอเรื่องความยุติธรรม เพราะมันไม่มีการพูดถึงเรื่องของผลประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นความยุติธรรมสำหรับ ฮูมจึงเป็นลักษณะของกฎหมายที่สังคมมนุษย์ยึดมั่นต่อมัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาเอง และความคิดนี้แหละที่ทำให้เขาตัดสินว่าความยุติธรรมไม่ใช่ค่าอะไรที่มีความประเสริฐสมบูรณ์ แต่มันจะมีคุณค่าหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานะจำเพาะ เช่นสถานะที่ต้องการรักษาผลประโยชน์หรือสถานะที่ผู้คนในสังคมมีความรู้สึกว่าการกระจายผลประโยชน์หรือการตอบสนองความต้องการของปัจเจก จำเป็นต้องมีกฎมารองรับ ในสถานะเช่นนี้แหละที่ความยุติธรรมจะเกิดขึ้น[1]
2.2สถานะของสติปัญญาในการเมืองและในศีลธรรม
ที่ต้องพูดประเด็นนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทำไมฮูมถึงมองว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีค่าตายตัว สำหรับฮูมแล้วสติปัญญาทั้งในรัฐศาสตร์และในศีลธรรม เป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดทำหน้าที่เพียงตัดสินเกี่ยวกับสิ่งที่มีจริงหรือข้อเท็จจริง(matters of facet)และหาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับความคิดต่างๆ(ideas)[2] ฮูมกำลังลดตำแหน่งสติปัญญา การยอมรับในความสามารถอันจำกัดของสติปัญญา มีผลทำให้มองว่าสติปัญญาไม่สามารถบอกได้ถึงเป้าหมายของชีวิต มันทำหน้าที่เพียงตัดสินว่าอะไรจริงหรือไม่จริงในในแง่ของการเมืองและศีลธรรมเท่านั้น เหตุผลก็เพราะเขามีมุมมองว่า ความจริงเกิดจากประสบการณ์ ไม่มีข้อมูลหรือความรู้ใดที่ส่งผ่านเข้าสู่สมองโดยไม่ใช่ความรู้ที่เกิดมาจากผัสสะ ด้วยเหตุนี้สติปัญญาจึงสามารถตัดสินได้แต่ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์เท่านั้น ส่วนในเรื่องของเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของการมีชีวิตเป็นเรื่องที่เราไม่มีประสบการณ์ต่อมัน ดังนั้นสติปัญญาจึงไม่สามารถตัดสินหรือบอกหรือให้คำแนะนำแก่เราได้ และเพราะบทบาทอันจำกัดของสติปัญญาที่เขาคิดว่ามันเป็นเช่นนั้น จึงทำให้เขาตัดสินว่าความยุติธรรมซึ่งถือเป็นค่าหนึ่งของศีลธรรมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สติปัญญามีหน้าที่เพียงตัดสินว่าแบบไหนถึงจะยุติธรรม และแบบไหนถึงจะเรียกว่าอยุติธรรม ไม่ใช่บอกถึงเป้าหมายของการกระทำ ด้วยเหตุนี้แนวคิดของเขาจึงต่างจากอริสโตเติลที่มองว่ามนุษย์เราจำเป็นต้องทำสิ่งที่มีความยุติธรรมเพื่อความผาสุก เพราะสำหรับเขาแล้วการทำสิ่งที่ยุติธรรมไม่ได้หมายความว่ามนุษย์เราจะพบกับความผาสุกเสมอไป ไม่เพียงแต่ความยุติธรรมเท่านั้น คุณค่าอื่นเช่นความรัก ก็ไม่ใช่สิ่งที่มาจากธรรมชาติและเป็นการสมมติขึ้นของมนุษย์ เขาได้บันทึกว่า“สามารถสรุปในภาพรวมได้ว่าค่านิยมที่อยู่ภายในตัวของมนุษย์ซึ่งมีชื่อว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ด้วยตัวของมันเอง”[3]
กล่าวคือสำหรับฮูม ความรักเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจากการได้รับรู้ถึงความรู้สึกบางอย่างในจิตใจของเขาผ่านประสบการณ์ชีวิตหรือถ้าหากเราจะพูดในภาษาวิชาการสมัยปัจจุบันความรักคือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ มีอยู่แต่ในจิต ผู้อ่านจะพบว่างานวิจัยในแง่ของบทบาทสติปัญญาในวงการจริยศาสตร์ สังคมและการเมืองของเดวิดฮูม ทำหน้าที่เพียงตัดสินเรื่องที่คนเรามีประสบการณ์เท่านั้น และค่านิยมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มาจากธรรมชาติของมนุษย์แต่มาจากการประดิษฐ์ของพวกเขาเอง
ในภาพรวม เนื้อหาทั้งหมดที่เราเสนอในหัวข้อนี้ มีจุดประสงค์เพื่อพาผู้อ่านไปสู่ความคิดของฮูมคือ “กฎเกณท์ศีลธรรม เป้าหมายสังคม หลักการและเป้าหมายทางการเมือง ล้วนเกิดขึ้นมาจากรากฐานแห่งผัสสะ ประสบการณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ ความรู้สึกที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันอย่างล้นหลาม จนมันได้แยก ความปรารถนาตามอำเภอใจออกจาก ศีลธรรม และปรัชญาภาคปฏิบัติ และเมื่อสังคมและการเมืองขับเคลื่อนไปโดยมีความรู้สึกและประสบการณ์เป็นแกนหลัก คิวของสติปัญญาที่จะต้องมาทำงานเพื่อหาเป้าหมายก็จะมาถึง กล่าวคือ ปัญญาของมนุษย์จะเป็นเครื่องมือรับใช้ความต้องการทางวัตถุของพวกเขา
คำอธิบาย สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานปรัชญาของฮูม
(1)คุณค่าทางศีลธรรม เช่น ความดี ความกรุณา ความยุติธรรม ความชั่ว การกดขี่ ไม่ได้มาจากสามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ แต่เกิดจากการประดิษฐ์ของมนุษย์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
(2)ถ้าไม่มีสังคม ก็จะไม่มีกฎหมายถ้าไม่มีกฎหมายก็จะไม่มีใครพูดถึงความยุติธรรม
(3)หากอ้างว่า ความยุติธรรม มาจากสามัญสำนึกของมนุษย์ หรือมีเป้าหมายเพื่อความผาสุกทั้งส่วนตนหรือส่วนร่วม ข้อโต้แย้งนี้จะถูกหักล้างเพราะสติปัญญาเข้าใจได้แต่เรื่องที่มนุษย์มีประสบการณ์เท่านั้น
2.3 ที่มาของการแสวงหาความยุติธรรม
มาถึงคำถามสำคัญคือ ความยุติธรรมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ? ทำไมมันถึงกลายเป็นเสาหลักที่ทำให้การเมืองและสังคมมีความหมายขึ้นมา ?อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนเราต้องการความยุติธรรม ? ทำไมความยุติธรรมถึงเป็นสิ่งประเสริฐ ? และค่านิยมทางศีลธรรมนี้แตกต่างจากค่านิยมทางศีลธรรมอื่นๆอย่างไร ?
ในหัวข้อก่อนหน้านี้เราได้บทสรุปแล้วว่า ฮูม ตัดสินว่ามนุษย์เราไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมด้วยพลังแห่งสติปัญญาในภาคทฤษฎี ดังนั้นการแสวงหาความยุติธรรมจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยสติปัญญา หรือจะกล่าวในอีกบริบท หนึ่ง สติปัญญาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำไมคนเราถึงต้องมีความยุติธรรม ปัญญาของมนุษย์จะต้องอยู่เฉยๆกับเรื่องนี้ ส่วนในภาคปฏิบัติ ซึ่งผู้เขียนจะขอเรียกว่าปัญญาภาคศีลธรรม สำหรับฮูม ปัญญาภาคศีลธรรมไม่สามารถยืนยันถึงความจำเป็นต่อการสร้างความยุติธรรมด้วยเช่นกันหากไม่พิจารณาถึงผลประโยชน์ของบุคคลหรือสังคมหรืออยู่ภายใต้สภาวะเงื่อนไขที่เหมาะสม
และในอีกด้านหนึ่ง เราได้อธิบายแล้วว่า ฮูม ไม่ยอมรับว่า ความยุติธรรมมาจาก สามัญสำนึกของมนุษย์ ซึ่งถ้ามนุษย์เราไม่รู้สึกว่าตนมีหน้าที่ต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น ความยุติธรรมต่อผู้อื่นก็จะไม่เกิดขึ้นใดๆ ด้วยเหตุนี้ ฮูมจึงมองว่า ในสภาวะธรรมชาติ (State of Nature) ซึ่งไม่มีใครครอบครองสิ่งใด ความยุติธรรม หรือ ความอยุติธรรม จะไร้ความหมาย กล่าวคือในทางธรรมชาติทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของกันและกัน แล้วเพราะกฎหมายการครอบครองยังไม่เกิดขึ้น ความยุติธรรมก็จะยังไม่เกิดขึ้น ความจำเป็นต้องมีผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมก็จะยังไม่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เปรียบเหมือนชุมชนคนป่าที่ไม่มีตำรวจ ถ้าหากมีสังคมหนึ่งในป่า ผู้คนในสังคมนั้นใช้ชีวิตกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครครอบครองสิ่งใด และแต่ละคนต่างใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเหมือนกัน ท่านคิดว่า สังคมเช่นนั้นจำเป็นต้องมีตำรวจ หรือผู้พิทักษ์ความยุติธรรมหรือไม่ ?[4]
2.4 ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรม
ในหัวข้อก่อนหน้านี้เราได้อธิบายแล้วว่า ฮูมถือว่า ที่ใดไม่มีกฎหมาย ที่นั่นไม่มีความยุติธรรม นี่ไม่ได้หมายถึงบ้านเมืองที่ป่าเถื่อน แต่หมายถึง สภาวะสังคมที่ยังไม่มีการทำข้อตกลงกัน หากกลับกัน ที่ใดมีกฎหมาย ที่นั่นย่อมมีเรื่องของความยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ฮูม ถือว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและหากมันเป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้นมาความยุติธรรมเชิงสัมพันธ์กับมันก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน นี่คือนิยามที่แตกต่างจากนิยามความยุติธรรมของนักปรัชญาคลาสสิคที่มองว่าความยุติธรรมมาจากธรรมชาติ หรือคือการมอบสิทธิ์ตามที่สิ่งนั้นควรจะได้รับ สำหรับฮูเขาวิพากษ์ว่า นิยามแบบเก่านี้ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างเปิดเผย เพราะนิยามนี้ชี้ว่าสิทธิมาก่อนความยุติธรรม กล่าวคือถ้าคนเราไม่รู้ว่าสิทธิของแต่ละคนมีอะไรบ้างก็จะไม่สามารถมอบสิทธิ์ตามที่แต่ละคนควรรับได้ ทั้งๆที่ความเป็นจริงสิทธิไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากกฎหมาย เช่นเดียวกัน ความยุติธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากกฎหมายเช่นกัน ดังนั้นความยุติธรรมและสิทธิจึงเป็นสิ่งที่ถือกำเนิดโดยมีมารดาของมันคือกฎหมายมันจึงไม่เป็นเอกเทศจากกฎหมายแต่อย่างใด และถ้าหากสิทธิไม่ใช่สิ่งที่เป็นเอกเทศจากกฎหมาย นับประสาอะไรกับความยุติธรรม ที่เกิดขึ้นหลังสิทธิ นิยามแบบคลาสสิค จึงไม่ถูกต้องตามความคิดของฮูม [5]
ฮูม อธิบายว่าสาเหตุ แรงจูงใจที่มนุษย์เราต้องการความยุติธรรม มาจากการที่คนเราให้ความสนใจต่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก(self interest) การแสวงหาผลประโยชน์จึงเป็นแรงจูงใจหลักในการสร้างความยุติธรรม และมันเป็นตัวผลักดันให้เกิดความยุติธรรมในทางสังคม เนื่องจากมนุษย์เกิดมา โดยมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ(sympathy)ติดตัวมาโดยธรรมชาติ จึงทำให้ความยุติธรรมถูกยกระดับจากคนเพียงคนเดียวเป็นสังคม[6] เพราะคนเพียงคนเดียวไม่สามารถเป็นต้นต่อหรือแหล่งกำเนิดของความยุติธรรมได้ เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้กฎหมายเป็นกระบวนการเรียนรู้ในแบบกลุ่ม เมื่อพูดถึงผลประโยชน์จึงจะต้องพูดถึงผลประโยชน์ในแบบหมู่หรือในแบบสังคมไม่ใช่แบบปัจเจก ดังนั้นช่วงเวลาในการสร้างความยุติธรรมและร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์ส่วนบุคคล ควบคู่ไปกับการยอมรับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและการยอมรับต่อประโยชน์ของผู้อื่น หากครบเงื่อนไขดังกล่าวกฎหมายจะถูกสร้างและการให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น
การให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ของตนเองชี้นำให้บุคคลให้ความสำคัญต่อการรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมในกฎหมาย และจากสถานการณ์ดังกล่าวมนุษย์ซึ่งอยู่ในสภาวะธรรมชาติที่ยังไม่มีกฎหมายเกิดขึ้นจึงสัมผัสถึงอันตรายจากการสูญเสียทรัพย์สินและสิ่งครอบครองของตนและจากความรู้สึกนั้นจึงทำให้พวกเขาถอนตัวเองออกจากสภาวะธรรมชาติไปสู่สภาวะที่จำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกันและกันโดยไม่ให้แต่ละคนละเมิดต่ออีกฝ่ายได้
อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ฮูม ถือว่ากฎหมายและหลักความยุติธรรมจัดอยู่ในหมวดหมู่ของการครอบครองเท่านั้น และกฎความยุติธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งทั้ง 3 จะเกี่ยวข้องแต่เรื่องของการครอบครอง โดยประเภทแรก เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงในการครอบครอง ประเภทที่ 2 เกี่ยวข้องกับการโอนสิทธิ์การครอบครอง เช่นการโอนสิทธิ์ทรัพย์สินและมรดกจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง ประเภทที่ 3 เกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลง และสนธิสัญญา[7] ดังนั้นจากเนื้อหาในหัวข้อนี้จึงได้บทสรุปว่าเหตุผลที่คนเราต้องการความยุติธรรมก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเพียงปัจเจกความยุติธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากกฎหมายซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความยุติธรรมเรียนรู้และร่วมสร้างกันโดยหมู่คณะดังนั้นความยุติธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองในรูปสังคม
อ่านเพิ่มเติม:
บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 1)
บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 2)
บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 3)
บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 4)
บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5)
บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 6)
บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-1)
บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-3)
[1] Hume David,Treatise on Human Nature,press Oxford 1888,p981
[2] นี่เป็นข้อสรุปของ Appendix 1 และสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในหนังสือทั้งเล่มของเขา ศาตร์นิพนธ์ว่าด้วยความเข้าใจของมนุษย์
[3] Treatise on Human Nature,press Oxford 1888,p981
[4] Jonathan Harrison,Hume’Theory of justice,p69
[5] Hume David,Treatise on Human Nature,press Oxford 1888,p529
[6] อ้างแล้ว p499-500
[7] Jonathan Harrison,Hume’Theory of justice,p26