บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-1)

664

 

ทฤษฎีความยุติธรรมของ เดวิด ฮูม

1.ฮูม ในปรัชญาการเมือง
ดวิด ฮูม(1711-1776) ได้ฉายาว่า เป็นหนึ่งในนักประสบการณ์นิยมชาวบริเตนทั้งสาม  และไม่ค่อยถูกรู้จักในฐานะนักปรัชญาการเมืองสายยุติธรรมมากนัก แต่การพิสูจน์สิ่งหนึ่ง ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เหลือ แม้ว่าเขาจะไม่ใช่นักปรัชญาการเมืองสมบูรณ์แบบ แต่แนวคิดของเขาก็เกี่ยวข้องกับปรัชญาการเมืองสมัยปัจจุบัน ในฐานะที่มันมีอิทธิพล และสร้างผลกระทบต่อการเมืองในยุคสมัยใหม่  ซึ่งมีสองด้านด้วยกัน
  • ด้านที่หนึ่ง ลูกบอลทะลุกระจกหน้าต่าง
คืองานที่ฮูมพยายามพิสูจน์ว่า ประพจน์เชิงคุณค่ากับประพจน์ที่บ่งบอกถึงข้อเท็จจริงไม่มีความสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวข้องกัน กระบวนการดังกล่าวจะเร็วหรือช้ามันได้ให้กำเนิดแนวคิด ปฏิฐานนิยมเชิงตรรก(logical positivists) และแนวคิดนี้ทำหน้าที่จำกัดขอบเขตของปรัชญาการเมืองแบบคลาสสิค ออกจากปรัชญาการเมืองสมัยใหม่
ตัวอย่างปรัชญาการเมืองแบบคลาสสิค
“เราต้องยุติธรรมกับผู้อื่น เพราะโลกขับเคลื่อนด้วยหลักแห่งความสมดุล(อริสโตเติล)” หรือ เราต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น เพราะหากกดขี่ จะถูกพระเจ้าลงโทษ และเพราะพระเจ้ามีจริง การกดขี่ต่อผู้อื่น จึงมีผลทำให้เราจะถูกลงโทษในภายภาคหน้า”
ผู้อ่านจะเห็นว่า
ประโยค เราต้องยุติธรรมกับผู้อื่น ที่เป็นคุณค่าหนึ่งของศีลธรรม เชื่อมต่อกับ ประโยค เพราะโลกขับเคลื่อนด้วยหลักแห่งความสมดุล ซึ่งเป็นประโยคเชิงพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมุมมองของอริสโตเติล
ประโยค เราต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น เพราะหากกดขี่ จะถูกพระเจ้าลงโทษ เป็นประโยคเชิงคุณค่าทางศีลธรรม ซึ่งเชื่อมต่อกับ เพราะพระเจ้ามีจริง การกดขี่ต่อผู้อื่น จึงมีผลทำให้เราจะถูกลงโทษในภายภาคหน้า

ตัวอย่างของฮูม

เราต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น เพราะเรารู้สึกว่า ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะช่วยเรารักษาผลประโยชน์ของตัวเองเมื่ออยู่ในสังคม

ผู้อ่านจะเห็นว่า ในประโยคของฮูม เราต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น ไม่เกี่ยวข้องกับ ข้อเท็จจริงของโลก ที่จะบอกว่า ต้องยุติธรรม เพราะธรรมชาติยุติธรรม และไม่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า ที่จะบอกว่า ต้องยุติธรรม เพราะพระเจ้ามีจริง แต่ ต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น เกี่ยวข้องกับ ความรู้สึกในจิตใจ มันจึงเชื่อมต่อกันในทางจิตวิทยา เพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตของมนุษย์ โดยไม่จำเป็นว่า จะต้องมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่เราเข้าใจเกี่ยวกับโลกอยู่จริง
สำหรับฮูม มนุษย์เหมือนคนที่พยายามมองหาว่า ใครเตะฟุตบอล ทะลุกระจกหน้าต่างบ้านแตก เพื่อหาเหตุผล แต่สำหรับแมว มันจะวิ่งไล่ตามลูกฟุตบอล โดยไม่สนใจว่า ใครเป็นคนเตะมันเข้ามาในบ้าน[1] การที่เราตามหาคนเตะ มันไม่ได้หมายความว่า ต้องมีคนเตะจริงๆ อาจจะเป็นอุบัติเหตุ หรือ พายุที่พัดลูกบอลเข้ามาในบ้านก็เป็นได้  และฮูมอยากให้มนุษย์ศึกษาว่า ลูกบอล กลิ้งไปได้อย่างไร โดยไม่ต้องสนใจว่า ใครเป็นคนเตะบอล หรือ เตะมาทำไม เหมือนการระเบิดของจักรวาล ฮูม ให้ละทิ้ง Why กับ Who และสนใจแต่ How เพราะเขาถือว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้จัก Who หรือ Why ที่แท้จริงของทุกปรากฎการณ์ คำถามคือ ถ้ามันแทบเป็นไปไม่ได้ แล้วทำไมมนุษย์เราถึงตามหา ใคร และ ทำไม อยู่เสมอ ฮูมตอบว่า เพราะธรรมชาติของจิตใจทำงานเช่นนั้น เราถึงได้ตามหาที่มาของลูกบอล ในขณะที่แมวจะวิ่งไล่บอลลูกนั้น ในเรื่องความยุติธรรมก็หนีไม่พ้นข้อพิจารณานี้
ฮูมอธิบายไว้ในหนังสือ “ศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์”[2]เขาได้วางกฎไว้ว่ากระบวนการพิสูจน์หรือให้เหตุผลใดๆ จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงพอก็ต่อเมื่อ กระบวนการนั้นไม่ได้ให้ผลลัพธ์ในเชิงคุณค่าหรือกฎเกณฑ์ในการพิสูจน์เริ่มต้นจากการหาความเกี่ยวข้องของสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น ตัวอย่างที่ผู้เขียนยกขึ้นในกล่องสี่เหลี่ยมข้างบน ฮูมถือว่า ประโยคอย่าง เราต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น เพราะหากกดขี่ จะถูกพระเจ้าลงโทษ เป็นประโยคที่ให้เหตุผลได้ไม่ดี อ่อนแอ และไร้ประสิทธิภาพ เพราะประโยคนี้ พ่วงกันระหว่าง คุณค่าทางศีลธรรม ซึ่งก็คือ ความยุติธรรม กับ สิ่งก่อนประสบการณ์ สิ่งที่เราไม่มีประสบการณ์ สิ่งที่เราไม่สามารถสัมผัสจับต้องได้ ซึ่งก็คือ พระเจ้า มันเหมือนเขาได้เอาส้อมแทงประโยค ต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น ออกจาก”หากกดขี่จะถูกพระเจ้าลงโทษ” สำหรับเขาแล้ว ท่านจะต้องใช้เหตุผลอื่นเพื่อพิสูจน์ว่า”เราต้องยุติธรรมต่อผู้อื่น”เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ เพราะประโยคแรกคือ สิ่งที่เรามีประสบการณ์แต่ประโยคหลังเป็นสิ่งที่เราไม่มีประสบการณ์
กฎนี้ของฮูมถูกเรียกว่าส้อมของฮูม (Hume’s fork) เพื่อแยกระหว่าง สิ่งที่มีและไม่มี กับสิ่งที่ต้องทำและห้ามทำ หลักตรรกะนี้ คือการบอกว่าประพจน์ในทางคุณค่าซึ่งถูกสรุปด้วยคำว่า”ต้องทำ/ห้ามทำ ไม่ได้เกิดมาจากประพจน์ที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง เรียกกันในศัพท์ทางวิชาการว่า “ปัญหา-คือ-ควร” Is-Ought Problem กล่าวคือการจำเป็นต้องทำ(ought) ไม่ได้มาจากภวันต์แห่ง เป็น อยู่ คือ (Is) ดังนั้นประพจน์เชิงคุณค่าหรือสิทธิหรือศีลธรรมใดๆจะต้องไม่ถือกำเนิดมาจากความรู้ของมนุษย์เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงหรือกฎเกณฑ์สากลที่คนยอมรับว่าจริง(Factual Premise)
ความยุติธรรมหนักกี่กิโลกัรม ?
สำหรับผู้อ่านที่ไม่มีพื้นฐานทางปรัชญาเกี่ยวกับแนวคิดปฏิฐานนิยม หรือแนวคิดของฮูม ผู้เขียนจะขออธิบายในกรอบนี้ดังนี้
อารัมภบทที่ 1 ประพจน์คือ ข้อความที่ประกอบกันเป็นประโยคที่คนเราใช้พูดกัน ซึ่งโดยปกติแล้วการสร้างประโยคจะใช้ประธาน-กริยา-กรรม มาประกอบรวมกัน  หรือ อาจเป็น ประโยคที่ประกอบด้วยคำนาม+Verb to be เช่นแดงตีดำ,กุหลาบบางชนิดมีอยู่ทางภาคเหนือ พระเจ้ามีจริง พระเจ้าไม่มีจริง มนุษย์ต่างดาวมีจริง หลุมดำมีอยู่จริง
ผู้อ่านจะเห็นว่าใครก็ตามที่เป็นมนุษย์ล้วนหนีไม่พ้นการใช้ระบบภาษาในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาใด จุดประสงค์เพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความเข้าใจ ซึ่งเป็นมุมมองในเชิงไวยกรณ์ แต่ละภาษาจะมีกฎเกณฑ์เฉพาะของมัน
แต่เมื่อเราพูดถึงประพจน์ในเชิงตรรกะ เรากำลังพูดถึงกฎที่ทุกภาษาใช้ร่วมกัน นั่นก็คือ กฎการใช้เหตุผล โดยประโยคของตรรกะ จะประกอบไป ด้วยภาคประธานและภาคแสดง หรือ ตัวนำ ตัวตาม
ภาคประธานคือสิ่งที่ถูกบอกเล่าถึงเรื่องราวหรือข่าวคราวของมัน  เช่น คนผิวดำ
ส่วนภาคแสดงคือสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของประธาน เช่น อาศันอยู่ที่แอฟริกาเป็นส่วนใหญ่
หากวันนี้ฝนตก คือ ตัวนำ ในประโยคแบบมีเงื่อนไข
ฉันจะไม่ไปโรงเรียน คือ ตัวตาม ในประโยคแบบมีเงื่อนไข
ต่อมาหากข้อเท็จจริงหรือความเป็นจริง มีน้ำหนักความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่เราเรียกว่า ไร้ข้อกังขา สัจพจน์ เช่น“มนุษย์ทุกคนต้องตาย โสเครติสเป็นมนุษย์ ดังนั้นโสเครติสต้องตาย” “วัตถุล้วนอยู่ในที่ใดที่หนึ่งและเวลาใดเวลาหนึ่งเสมอ” ประโยคที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากที่สุดในระดับนี้ จะกลายเป็น กฎเกณท์ ไว้ใช้สำหรับการพิสูจน์ว่าอะไรจริง หรือ ไม่จริง
ในตัวอย่างแรก โสเครติส มนุษย์และความตาย เราสามารถยืนยันอย่างไร้ข้อกังขาได้ว่า ใครก็ตามที่เกิดเป็นคนล้วนต้องตายในวันหนึ่ง การยืนยันแบบไร้ข้อกังขานี้จะถูกเรียกว่ากฎเกณฑ์ หรือ Factual Premise ซึ่งก็คือข้อเท็จจริงที่มันจริงจนกลายเป็นกฎของสิ่งหนึ่ง  ดังนั้น กฎของการเป็นมนุษย์คือการต้องตายในวันหนึ่ง จึงจริงเสมอ ส่วนในตัวอย่างที่สอง ก็เกิดจากความเข้าใจของมนุษย์ที่มองว่าวัตถุใดก็ตามจะเป็นวัตถุได้ก็ต่อเมื่อมีพื้นที่และปริมาณ มีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเรียกสิ่งหนึ่งว่าเป็นวัตถุได้ต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ และเมื่อข้อเท็จจริงถูกยืนยันแบบไร้ข้อกังขา ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็จะกลายเป็นกฎเกณฑ์สากล
อารัมภบทที่ 2 นอกจากประพจน์แบบแรกที่มนุษย์เราใช้กันเพื่อบอกเล่ายืนยันหรือปฏิเสธถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนได้ยกไป ยังมีประพจน์อีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่าประพจน์เชิงคุณค่า เหตุที่เรียกว่าประพจน์เชิงคุณค่าเพราะตัวของข้อความไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของสิ่งหนึ่ง เช่น จงยุติธรรมต่อผู้อื่น ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธว่า มีใครกำลังยุติธรรมต่อผู้อื่นหรืออยุติธรรมต่อผู้อื่น แต่เป็นประโยคคำสั่งที่บอกให้เราทำหรือไม่ทำบางสิ่ง
อารัมภบทที่ 3 หลังจากเข้าใจเรื่องของประพจน์แล้ว ลำดับต่อไปคือ พินิจว่า”ปฏิฐานนิยม”ต้องการจะบอกอะไร แนวคิดแบบปฏิฐานนิยมหรือ Positivism คือ ประพจน์ใดก็ตามจะมีความหมายก็ต่อเมื่อ ประพจน์นั้นสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์  เช่น แอปเปิ้ล ตกลงพื้น เพราะแรงโน้มถ่วง  มีความหมายเพราะมันพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ประโยค เทวดามีปีกกำลังบินอยู่บนทองฟ้า ไม่มีความหมายสำหรับปฏิฐานนิยม เพราะเทวดาไม่ใช่สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกันหากพูดว่าหลุมดำมีอยู่จริงในยุคสมัยของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังไม่มีการยอมรับเรื่องหลุมดำ ประพจน์นี้จะถือว่ามีความหมายในมุมมองของปฏิฐานนิยมเช่นกัน  แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ยืนยันเรื่องหลุมดำในยุคสมัยนั้น แต่เพราะมันสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ปฏิฐานนิยมจึงยอมรับว่าแนวคิดเรื่องหลุมดำมีอยู่จริงเป็นสิ่งที่มีความหมาย นี่คือความแตกต่างระหว่างประพจน์เช่น เทวดามีอยู่จริงกับ หลุมดำมีอยู่จริงสำหรับปฏิฐานนิยม
ต่อมาคือประพจน์เชิงศีลธรรม คำถามคือ ประพจน์เชิงศีลธรรม สำหรับ Positivism มีความหมายหรือไม่ ?หากยึดตามกรอบแนวคิดของพวกเขา “จงยุติธรรมต่อผู้อื่น” เป็นประโยคที่ไม่มีความหมาย เพราะมันไม่สามารถ วัด ชั่ง ตวง ทดลอง เพราะมันไม่จริงในโลกนอกจิตที่จะบอกได้ว่า ความยุติธรรมหนักกี่กิโลกรัมหรือกว้างกี่เซนติเมตร  ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่มีความหมายใดๆ
ผู้อ่านจะเห็นว่า การวางกฎตายตัวว่าอะไรจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายในแบบนี้ เป็นการจำกัดประพจน์ด้วยการเอาไปชั่งบนตราชั่งแห่งวิทยาศาสตร์ และเป็นการปฏิเสธการมีอยู่จริงด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เช่นการพิสูจน์ด้วยสติปัญญา หรือการขัดเกลาจิตจนเข้าสู่ภาวะประจักษ์เห็น
อารัมภบทที่ 4 เมื่ออ่านมาถึงข้อนี้ ผู้อ่านจะเห็นว่าปฏิฐานนิยมสมัยแรกๆ ต้องเจอกับปัญหาอย่างนึงก็คือ ข้อความแบบประพจน์เชิงคุณค่าเช่น จงยุติธรรม ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เราไม่สามารถจับเอาความยุติธรรมมาทดลองหรือวิเคราะห์ถึงโมเลกุลของมันได้ ไม่สามารถสกัดสารความเมตตาออกจากตัวบุคคลได้ หรือไม่สามารถที่จะตรวจหาธาตุแห่งความชั่วในจิตใจของคนได้  หรือใช้เครื่องแสกนหาความช่อโกง เพราะประพจน์เหล่านี้  ศีลธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ประพจน์เชิงข้อเท็จจริง (แต่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอเนื้อหานี้ในบทวิพากษ์) แต่เป็นประพจน์ในเชิงคุณค่า มันจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ดังนั้นพวกเขาจึงแบ่งและแยกประพจน์เหล่านี้ออกจากประพจน์ที่พูดถึงความเป็นจริงของโลก นี่คือสิ่งที่คล้ายส้อมของเดวิด ฮูม
ดังนั้น ประโยคเช่น จงบริจาคเพราะมันคือการทำความดี มันไม่ได้บอกว่าความดีมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริงแต่อย่างใด เพียงแต่แค่บอกว่า คนเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร นี่คือคำอธิบายของประโยคข้างต้น มันไม่แปลกหากผู้อ่านพบประโยคในภาพยนต์เช่น “ไม่มีความดี ไม่มีความชั่วอะไรทั้งนั้น คนเราต่างหากที่สมมติมันขึ้นมาเอง” ประโยคเหล่านี้คือประโยคที่ขาหนึ่งเหยียบบนแนวคิดแบบปฏิฐานนิยมนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม:

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 1)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 2)

บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 3)

บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่  4)

บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 6)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-2)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-3)

[1] ตัวอย่างคล้ายๆกัน ในหนังสือโลกของโซฟี ภาคเดวิด ฮูม

[2] Hume David,Treatise on Human Nature,press Oxford 1888,p469