ในสังคมของกลุ่มชนต่างๆ มีธรรมเนียมที่ว่า งานต่างๆที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ มักจะเริ่มต้นด้วยนามของผู้สูงส่งที่พวกเขานับถือ ยกย่อง เพื่อให้การงานของพวกเขานั้นมีความเป็นสิริมงคล ด้วยกับรากฐานทางความเชื่อของพวกเขาที่มีมา ซึ่งรากฐานของความเชื่ออันนี้บางครั้ง พวกเขาก็จะเริ่มการงานของพวกเขาด้วยกับนามของสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือรูปปั้น หรือบางครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล พวกเขามักจะเริ่มการงานด้วยกับมือของผู้สูงศักดิ์หรือผู้ที่พวกเขาให้เกียรติและความสำคัญ เช่น ตัวอย่างในสงครามคอนดัก ในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ที่เริ่มต้นขุดสนามเพลาะครั้งแรก และหลุมแรกโดยท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) เพื่อเป็นบะระกัตและความสิริมงคล
ในคัมภีร์อัล กุรอาน ได้เริ่มต้นด้วยกับประโยคนี้(บิสมิลละฮฺ) ไม่ใช่เฉพาะแค่ อัลกุรอาน เท่านั้นที่เริ่มต้นคัมภีร์ ด้วยกับบิสมิลละฮฺ แต่คัมภีร์เล่มอื่นๆที่ถูกประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้าเช่น คัมภีร์เตารอต ซะบูร หรืออินญีล(ไบเบิล) ก็ได้เริ่มต้นด้วยกับคำว่า บิสมิลละฮฺ เช่นกัน
ในการงานต่างๆของเหล่าศาสดามักเริ่มต้นด้วยกับพระนามของพระเจ้า(บิสมิลละฮฺ)เช่นกันตัวอย่างเช่นเรื่องราวของท่านนบีนูฮฺ (อ.) ในขณะที่พายุเริ่มก่อตัว และน้ำได้เริ่มท่วมผืนแผ่นดินโลก ท่านนบีนูฮ. (อ.) ได้กล่าวกับบรรดาสหายและสาวกของท่านว่า”พวกท่านจงลงในเรือด้วยกับกับพระนามของอัลลอฮฺ ทั้งในยามเดินทางและยามจอดของมันเถิด (11:47)” และเช่นเดียวกันในเรื่องราวของท่านนบีสุไลมาน(อ.) ในขณะที่ท่านได้เขียนสาส์นเชิญชวนราชินีแห่งเมืองสะบะอฺ ให้เข้ามาสู่ศาสนาของท่าน ในสาส์นของท่านก็ได้เริ่มต้นด้วยคำว่า บิสมิลละฮฺ เช่นกัน
ท่านอิมามอะลี(อ.) ได้กล่าวว่า“การเริ่มต้นการงานต่างๆด้วยคำว่า บิสมิลละฮฺ จะทำให้การงานเหล่านี้มีสิริมงคล และการที่ไม่มีคำว่า บิสมิลละฮฺ ในการงาน คือสาเหตุที่ทำให้การงานนั้นบกพร่อง และไม่สมบูรณ์”
ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้กล่าวเพิ่มเติม โดยเจาะจงเกี่ยวกับการเขียนประโยค บิสมิลละฮฺ ว่า “จงเขียนคำว่า บิสมิลละฮฺ ด้วยกับลายมือที่สวยงาม”หมายความว่า แม้แต่การเขียนบิสมิลลาฮ์ ก็จะต้องประณีต และละเอียดอ่อน
คำว่า บิสมิลละฮฺ เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับทุกการงานหรือการกระทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นรับประทานอาหาร,การนอน,การเขียน,การเดินทาง และการกระทำอื่นๆอีกมากมาย ในทางกลับกัน แม้กระทั่งการเชือดสัตว์โดยที่ปราศจากการกล่าวนามของพระผู้เป็นเจ้า(บิสมิลละฮฺ) หากไม่ กล่าว บิสมิลลาฮฺ เนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม(ฮะหร่าม) ในการรับประทานโดยทันที
เป็นไปได้ว่า เป้าหมายของการกระทำต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเชือดสัตว์ หรือการรับประทานอาหาร เหตุที่จำเป็นต้องกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ก่อนลงมือกระทำสิ่งใด ก็เพราะมนุษย์นั้นจำเป็นต้องรำลึกถึงอัลลอฮฺเสมอ เมื่อกระทำสิ่งใด ก็ต้องตระหนักว่า เขากำลังทำมันพร้อมกับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ อย่างเช่นการรับประทานอาหาร ก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นด้วยกับพระนามของอัลลอฮฺ(ซ.บ.)
มีริวายัตที่รายงานเกี่ยวกับการกล่าว บิสมิลละฮฺ ระบุไว้ว่าจงอย่าลืมที่จะกล่าวคำว่า บิสมิลละฮฺ ในทุกๆการงาน จำเป็นที่จะต้องกล่าวเริ่มต้นด้วยคำว่า บิสมิลละฮฺ แม้แต่การเขียนท่อนแรกของบทกวี มีรายงานเช่นกันเกี่ยวกับผลบุญอย่างมากมายสำหรับผู้ที่เริ่มสอนคำว่า บิสมิลละฮฺ คำแรกให้กับเด็กๆ
คำถามคือ:ในอิสลาม ทำไมทุกๆการงานจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการกล่าววลีอันสูงส่งประโยคนี้(บิสมิลละฮฺ)?
คำตอบ :เพราะการเริ่มต้นกล่าวด้วยกับวลีอันสูงส่งในทุกๆการกระทำด้วยคำว่า บิสมิลละฮฺ คือ หนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของอิสลาม ดังนั้น ทุกการงานที่มุสลิมได้กระทำ หรือปฏิบัติ จะต้องอยู่ในหนทางและมีสัญลักษณ์อันนี้ของพระผู้เป็นเจ้า เปรียบได้กับสินค้าต่างๆที่บริษัทได้ผลิตขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องมียี่ห้อ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทที่ผลิตสินค้านั้นๆ หรือสัญลักษณ์ของประเทศต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า ทุกๆประเทศจะมีธงชาติเป็นตราสัญลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ในศาสนาอิสลามก็เช่นเดียวกัน สโลแกน หรือ ประโยค อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ภักดีต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียว คือ นามของพระองค์ ดั่งที่ผู้อ่านได้เห็นในประโยคและตัวอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว หนึ่งในสัญลักษณ์ของคนที่เป็นมุสลิม ก็คือ การกล่าว บิสมิลละฮฺ นั่นเอง
คำถาม : คำว่า บิสมิลลาฮิรฺเราะฮฺมานิรฺเราะฮีม เปนส่วนหนึ่งของโองการของซูเราะฮฺในอัลกุรอานหรือไม่ ?
คำตอบ : ตามความเชื่อของสายธารอะฮฺลุลบัยตฺ นับตั้งแต่ในสมัยของท่านนบี (ศ็อลฯ) จนถึงในยุคของบรรดาอุละมะอฺ และ ฟุเกาะฮาอฺ บรรดาบุคคลหล่านี้ได้พูดถึงความบริสุทธิ์ของอัลกุรอาน และ อธิบายถึงคำว่า บิสมิลละฮฺ ในอัลกุรอานว่า”บิสมิลละฮฺคืออายะฮฺ และส่วนหนึ่งของอัลกุรอาน” ซึ่ง เชค ฟัครุรฺรอซีย์ หนึ่งในผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ ได้ยกหลักฐานว่า บิสมิลละฮฺ คือส่วนหนึ่งของซูเราะฮฺ เช่นเดียวกัน อัลลามะฮฺ อาลูซีย์ หนึ่งในผู้รู้ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ ก็ได้กล่าวรายงานเช่นนี้, ในหนังสือมุสนัด อะฮฺหมัด ก็ยืนยันถึงการเป็นส่วนหนึ่งในซูเราะอฺของคำว่า บิสมิลละฮฺ เช่นกัน
ทว่าในประวัติศาสตร์ของอิสลาม ก็มีบันทึกบางส่วนที่รายงานว่า บิสมิลละฮฺ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของซูเราะฮ์ และไม่ได้กล่าว บิสมิลละฮฺ ในอัลกุรอาน ในขณะเดียวกันมีรายงานในหนังสือ มุสตัดรอก ฮากิม ที่รายงานเกี่ยวกับการละทิ้งคำว่า บิสมิลละฮฺ ในนมาส ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมุอาวิยะฮฺ ในวันหนึ่ง ขณะที่มุอาวิยะฮฺ ได้ทำการนมาส และเขาไม่ได้กล่าวคำว่า บิสมิลละฮฺ ในนมาส ประชาชนเมื่อได้ยินดังนั้นจึงกล่าวกับเขาว่า ท่านได้ลบส่วนหนึ่งจากโองการอัลกุรอานในนมาสไป
บรรดาอิมามมะอฺศูม (อ.) ได้เน้นย้ำถึงการกล่าว บิสมิลละฮฺ ให้เสียงดังในนมาซ อิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวถึงผู้ที่ไม่ได้กล่าว บิสมิลละฮฺ ในนมาซ หรือไม่ถือว่า บิสมิลละฮฺ คือส่วนหนึ่งของอัลกุรอาน และซูเราะฮฺ ว่า “พวกเขาได้ทำการลบโองการ ที่ประเสริฐที่สุด(บิสมิลลาฮิรเราะฮฺมานิรเราะฮีม) ”
มีผู้รู้และอุละมาอฺทั้งสายอิมามิยะฮฺและอะฮฺลิซซุนนะฮฺยืนยันอย่างมากมายว่า คำว่า บิสมิลละฮฺ ในอัลกุรอาน คือโองการหนึ่งในบรรดาซูเราะฮฺต่างๆยืนยันจากคำกล่าวในหนังสือตัฟซีรซูเราะฮฺ อัลฟาติฮะฮฺ ของชะฮีดมุเฏาะฮฺฮะรี โดยท่านได้รวมรวมรายชื่อ และทัศนะของบรรดาสาวก และผู้รู้ในแต่ละยุคสมัย ที่พิสูจน์ และยืนยันว่า บิสมิลลาฮ์ คือ ส่วนหนึ่งของอัลกุรอ่าน ไม่ว่าจะเป็น อิบนุอับบาส , ฟัครุรฺรอซีย์ ,เชค อิบนิ ฏอวูซ ,อิบนุซุบัยรฺ และซะยูฏียฺ.