ในวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 61 ท่ามกลางแดนทรายนาม “กัรบะลาอฺ” — ฮูเซน อิบนิ อะลี (อ) หลานชายของท่านศาสดามูฮำหมัดแห่งอิสลาม (ศ็อลฯ) ถูกเชือดสังหารอย่างเหี้ยมโหด ในสภาพที่หิวกระหาย ระหว่างการสู้รบในสมรภูมิที่ปราศจากความยุติธรรมในทุกแง่มุม และกดขี่ข่มเหงมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ และไม่เพียงเท่านั้น สมาชิกเด็กๆ และสตรีจากวงศ์วานที่ติดตามมา ก็ยังถูกจับเป็นเชลยศึก ภายหลังจากสมรภูมิดังกล่าวสิ้นสุดลง…
บทความ Op-Ed จากเว็ปไซต์อย่างเป็นทางการของผู้นำสูงสุดรัฐอิสลามอิร่าน ดังต่อไปนี้ ถูกเผยแพร่ด้วยกับความพยายามที่จะค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า:
➡️ “ทำไม หลังจากการจากไปของศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) เพียง 50 ปี โศกนาฏกรรมดังกล่าวนี้ จึงเกิดขึ้นได้ในประชาคมอิสลาม?
➡️ ทำไมประชาชาติมุสลิม จึงปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นได้กับลูกหลานของศาสดา ภายในภูมิภาคที่ถูกเรียกว่า “รัฐอิสลาม”..?
➡️ และประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้นักต่อสู้ทั่วโลกนี้ ได้มอบบทเรียน หรือสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาต่างๆ ในประชาชาติมุสลิม ทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ยุคปัจจุบัน หรือไม่ อย่างไร?
___________
“เมื่อสหายเพียงไม่กี่คนของฮูเซนพ่ายแพ้ในการสู้รบกับกองทัพของอุมัร อิบนิสะอฺ ฮูเซนได้ควบม้าของเขาไปยังแม่น้ำยูเฟรติส… กองทัพฝ่ายตรงข้ามยืนประจัญอยู่ระหว่างเขากับแม่น้ำ พวกมันล้มม้าของเขา และกรู่ยิงไปยังเขา อันเป็นผลทำให้เลือดไหลอาบท่วมทั้งเรือนร่าง
ในจังหวะเดียวกันนี่เอง ทหารประมาณสิบกว่านาย ได้เคลื่อนตัวไปยังกระโจมของเด็กและสตรี ที่ติดตามมาพร้อมกับฮูเซน (อ) เมื่อเห็นการเคลื่อนไหวของศัตรู ฮูเซน(อ) ก็เคลื่อนไปยังกระโจมเช่นเดียวกัน ทว่ากลับถูกกีดกัน ฮูเซน (อ) จึงกล่าวไปยังพวกเขาว่า:
“ขอความวิบัติจงประสบแด่เจ้า! แม้ว่าเจ้าจะไม่นับถือศาสนา และแม้ว่าเจ้าจะไม่เกรงกลัววันแห่งการพิพากษา แต่อย่างน้อย ก็จงมีอิสระ และมีเกียรติในชีวิตทางโลกของเจ้าเถิด และอย่าปล่อยให้กระโจมของฉัน และครอบครัวของฉันต้องถูกทำลาย ด้วยกับพลพรรคที่ป่าเถื่อน และโง่เขลาจากกองทัพของเจ้าเลย”
พวกเขาปิดล้อมฮูเซน (อ) ในเวลานี้ มีเด็กคนหนึ่งต้องการไปหาฮูเซน(อ) จากกระโจมของตน แต่ซัยหนับ (อ) ผู้เป็นน้องสาวของฮูเซน(อ) ฉุดรั้งเขาเอาไว้ ฮูเซนขอให้น้องสาวจับตัวเด็กคนนั้น แต่เด็กก็หลุดออกไป เด็กน้อยเอื้อมมือไปหาฮูเซน ผู้เป็นทั้งอา และนายเหนือชีวิตเพื่อยืนหยัดเคียงข้างเขา ในจังหวะนี้ ขณะที่หนึ่งในเหล่าผู้ที่ล้อมรอบฮูเซน ได้มุ่งเป้าไปยังผู้เป็นอิมามด้วยคมหอกและคมดาบ เด็กน้อย ได้ใช้มือของตนยกขึ้นป้องกันเสมือนโล่ และมือของเขาก็ถูกเฉือนออก ฮูเซน (อ) โอบกอดเขา กองทัพยังคงรุมทำร้ายด้วยศาตราวุตทั้งหลาย และท้ายที่สุดเด็กน้อย ก็พลีชีพเป็นมรณสักขี ด้วยกับคมของดอกธนู” [1]
นี่เป็นหนึ่งในฉากของโศกนาฏกรรมแห่งกัรบะลาอฺ มันเกิดขึ้น หลังจากการเสียสละชีพของบรรดาสหายของท่านอิมามฮูเซน(อ) ทีละราย และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่กระโจมของเด็กๆ และสตรี จะถูกเผา และถูกปล้นสะดมภ์ โดยกลุ่มชนผู้อ้างสิทธิ์ ซึ่งมาจากกองทัพ ที่ถูกส่งมาโดยผู้ปกครองของ “รัฐอิสลาม” !
มันเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่า ช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของลูกหลานของท่านศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า (ศ็อลฯ)จะผ่านพ้นไปในลักษณะเช่นนี้ ในวันที่เขาอยู่ท่ามกลางหมู่ชนที่อ้างว่า เป็นผู้ปฏิบัติตามศาสนาของตาของเขา หรือ ศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จากการอ้างอิงยังแหล่งที่มาทางประวัติศาสตร์ และตามการรายงานของอิสลาม เหตุการณ์นี้ เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ดูเหมือนว่าความแตกต่างระหว่างผู้นับถือศาสนานั้น มีปรากฏอยู่ในการรายงานทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นไปได้อย่างไร ที่ความโหดร้ายถึงเพียงนี้ จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่ใกล้ชิดที่สุดกับศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า และเราจะวิเคราะห์โศกนาฏกรรมนี้ได้อย่างไร?
น่าแปลกเป็นอย่างมาก ที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ที่เต็มใจเข้าร่วมในการรณรงค์ต่อต้านอิมามฮูเซน (อ) ในวันนั้น อันที่จริงแล้ว ก็ไม่ได้พึงพอใจกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้น และโดยพื้นฐานแล้ว ก็ไม่พอใจกับการสังหารเลือดเนื้อเชื้อไขของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) [2] เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาพวกเขา และด้วยการสนับสนุนของพวกเขาได้อย่างไร?
เกี่ยวกับที่มาของเหตุการณ์นี้ และโดยการพิจารณาสังคมอิสลาม ให้ผู้อ่านแบ่งสังคมออกเป็นสามส่วน — คือ รัฐบาล ปัญญาชน และมวลชน — ในการนี้ มีสามประเด็น ที่สามารถนำมาอภิปรายได้
- ประการแรก คือการตัดสินใจของรัฐบาล
- ประการที่สอง คือปัญญาชนที่ปฏิบัติตาม และยอมรับการตัดสินใจนี้ แม้ว่าจะกระทำอย่างไม่เต็มใจก็ตาม
- ประการที่สาม คือ การขาดความตระหนักรู้ และขาดการเฝ้าระแวดระวังในส่วนของประชาชน ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอิสลาม และรัฐบาลของพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ การจะวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาดูในปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากสามด้านนี้ ทั้งนี้ การตัดสินใจของอิมามฮูเซน (อ) ในการลุกขึ้นยืนหยัด เพื่อแสดงออกถึงการปฏิเสธที่จะมอบสัตยาบันแก่รัฐบาลที่ทุจริต และที่จะไม่เข้าร่วมกับคณะผู้ปกครองที่ฉ้อฉลนั้น โดยพื้นฐานแล้ว ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดหรือลดความเสียหายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับทั้งสามส่วนนี้
เมื่อคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐบาล ถึงแม้เราจะไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงตามความเชื่อของสำนักคิดชีอะห์ ที่ถือว่า การจัดตั้งรัฐบาล เป็นสิทธิของครัวเรือนของท่านศาสดาแต่เพียงผู้เดียว หากมีพวกเขาอยู่ — ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่จะต้องนำมาประยุกต์ใช้กับปรัชญาของรัฐบาลอิสลาม อย่างแน่นอน และไม่อาจบิดพริ้วได้ คือ ผู้ปกครองอิสลามนั้น ควรเป็นบุคคล ที่มีความรู้ และมีความเป็นธรรม
เมื่อพิจารณาว่า ผู้ปกครองอิสลาม ถือเป็นผู้จัดการ หรือ ผู้นำเอาบทบัญญัติอิสลามมาดำเนินการ และเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของมวลมุสลิม ดังนั้น อันดับแรก เขาผู้นั้น จำเป็นจะต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้ เกี่ยวกับหลักคำสอนของอิสลาม กฎหมายอิสลาม และผลประโยชน์ของชาวมุสลิม
ประการที่สอง เขาผู้นั้น จะต้องไม่อยุติธรรมในการดำเนินการตามความยุติธรรม และกฎเกณฑ์ใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวกับตัวเขาและสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม
หากมิใช่เช่นนั้นแล้ว ผู้ปกครองคนนั้น ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จำเป็น สำหรับการปกครอง หากเขายืนกรานที่จะปกครอง ดังนั้น สังคมอิสลามจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อต้าน และกีดกันเขาออกไป และมอบการปกครอง หรือ จัดตั้งรัฐบาล ให้กับผู้อื่นที่มีสิทธิ์สมควร
ในกรณีของโศกนาฏกรรมกัรบะลาอฺ ผู้ปกครองรัฐอิสลามในขณะนั้นคือ ยาซีด บิน มูอาวิยะห์ (ล.น) มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ว่า เขาเป็นผู้ที่ไม่มีความชอบธรรมสำหรับการปกครอง และการเป็นผู้นำประชาคมมุสลิม
ความต่ำทราม และอุปนิสัยที่ชั่วช้าของเขา ทำให้แม้แต่ มูอาวิยะห์ (ล.น) — ผู้ซึ่งพยายามรวบรวมคำสัตยาบันจากผู้คน ว่าจะจงรักภักดีต่อการเป็นกาหลิบ(คอลีฟะฮ์)ของบุตรชายของตน ก็ยังรู้สึกเอื่อมระอาอย่างยิ่งกับพฤติกรรมของเขา[3]
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของกัรบะลาอฺ ในแง่ของรัฐบาล จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ความผิดพลาดเพียงเท่านั้น แต่ยังมีที่มาจากการขาดคุณสมบัติ และความไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ปกครอง และคณะผู้ปกครอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง โดยพื้นฐานแล้ว และอันที่จริงแล้ว ยาซีด(ล.น) ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจในเรื่องใดๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล รวมถึงการออกคำสั่งให้ทำสงครามกับอิมามฮูเซน (อ) ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาอยู่ภายในขอบเขตของรัฐบาล ความเสียหายนี้ นำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นโศกนาฏกรรมกัรบะลาอฺจึงเกิดมาจากความผิดพลาดของคณะผู้ปกครอง
ปัญญาชน และนักปราชญ์ของสังคมอิสลามในสมัยนั้น สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ คำตัดสินที่มีเกี่ยวกับแต่ละกลุ่ม จะแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น บางคนไม่คิดว่า ตนจำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของรัฐบาล แม้ว่าพวกเขาอาจไม่ถือว่า รัฐบาลของยาซีด(ล.น) ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม
กลุ่มนี้ ประสบปัญหา จากการที่ความคิดถูกบิดเบือน แม้ว่าการบิดเบือนทางความคิดจะไม่เกี่ยวข้องกับการบิดเบือนในทางปฏิบัติมากนัก ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งตกเป็นหนี้บุญคุณยาซีด(ล.น) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และพวกเขาก็ถูกพิจารณนาเป็นขุนนาง
สำหรับบุคคลกลุ่มนี้ การได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวจากการกระทำที่สนับสนุนรัฐบาล มีความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด อะไรก็ตามที่ทำให้รัฐบาลยาซีด(ล.น) อ่อนแอลง ย่อมส่งผลเสียต่อพวกเขา สำหรับกลุ่มนี้ ความถูก และความผิด ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะพวกเขาทำตามความปรารถนาทางโลกีย์ของตนเอง พวกเขาจึงสนับสนุนความเท็จอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ผลประโยชน์ทางวัตถุของพวกเขา
บางคน ถึงแม้จะถือว่ารัฐบาลของยาซีด(ล.น) ไม่ชอบธรรม และแม้ว่าพวกเขาจะเห็นว่าจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในรัฐบาลก็ตาม แต่ก็ได้หลีกเลี่ยงการต่อต้านรัฐบาลยาซีด(ล.น) ด้วยความหวาดกลัวต่อการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการขาดความศรัทธา และด้วยความอ่อนแอทางด้านจิตวิญญาณ เป็นผลทำให้พวกเขาไม่กล้าพอจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองใด ๆ
ดังนั้น ในหมู่ปัญญาชน และนักปราชญ์ ที่มีชื่อเสียงนั้น มีการบิดเบือนต่างๆ เกิดขึ้น พวกเขามีปัญหา จากการที่ทัศนะความคิดถูกบิดเบือน อันเป็นทัศนะความคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่แยกศาสนาออกจากการเมือง พวกเขามีปัญหานี้ เนื่องจากความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวตนของพวกเขา เนื่องจากการมีอยู่ของคุณลักษณะที่ไม่ดีงามทั้งหลายในตัวตนของพวกเขา เช่น ความเห็นแก่ตัว และความรักที่มีต่อโลกวัตถุ ตลอดจนความขี้ขลาด ความปรารถนาที่จะแสวงหาความสะดวกสบายทางโลก ความใคร่ และความเลินเล่อ สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัย ที่นำพวกเขาไปสู่การใช้มาตรการที่ไม่ถูกต้อง หรือ การไม่ดำเนินการใดๆ ต่อรัฐบาล ที่อธรรมกดขี่ และในขณะเดียวกัน ก็เพิกเฉยต่อการลุกขึ้นต่อสู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ)
กลุ่มที่สามในสังคม คือ ประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาจากความบิดเบือนในทางทฤษฎี และทางปฏิบัติ ที่มีต้นต่อบ่อเกิดของปัญหามาจากรัฐบาล และปัญญาชน พวกเขาตอบสนองต่อเหตุการณ์ตามวิธีที่พวกเขาได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลและปัญญาชน โดยประชาชนทั่วไปในยุคนั้น สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ ผู้คนที่มาจากดินแดนที่ยังใหม่ต่อศาสนาอิสลาม เช่น มหานครซีเรีย
เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม และด้วยกับความเพิกเฉยโดยจงใจของรัฐบาลในการแนะนำอิสลามที่ถูกต้องแก่พวกเขา ท้ายที้สุดพวกเขาจึงไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และครัวเรือนของท่าน
ส่วนที่สอง คือผู้คนในดินแดนอิสลามอื่นๆ ที่มีสัมพันธ์กับศาสนาอิสลามมายาวนานแล้ว โดยธรรมชาติ พวกเขาย่อมมีภาระผูกพันในประเด็นทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อศาสนามากกว่ากลุ่มแรก เนื่องมาจากสัดส่วนของความรู้ทางศาสนาของพวกเขา ที่ย่อมมีมากกว่า ดังนั้น การนับถือศาสนา และแนวการปฏิบัติศาสนาของบุคคลกลุ่มนี้ จึงได้รับอิทธิพลจากรัฐบาลน้อยกว่ากลุ่มแรก เนื่องจากพวกเขาอยู่ในศูนย์กลางหลักที่ศาสนาอิสลามมีอยู่
แต่ทว่า ภายใต้อิทธิพลของปัญญาชนในสมัยนั้น พวกเขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม โดยไม่สนใจเรื่องการเมือง หรือไม่ก็นิ่งเงียบต่อประเด็นทางการเมือง แน่นอน ความเงียบดังกล่าว ถึงแม้จะไม่เต็มใจ แต่ก็ถือเป็นการสนับสนุน การดำเนินการของรัฐบาลที่อธรรมและกดขี่
ด้วยเหตุนี้ ในกรณีของโศกนาฏกรรมกัรบะลา ส่วนใหญ่จึงเกิดจากการความบิดเบือนในทางทฤษฎี และทางปฏิบัติในสังคมอิสลามในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการละทิ้งหลักการของอัลกุรอาน และหลักปฏิบัติว่าด้วย “การกระชับความดี และห้ามปรามความชั่ว”
อิมามฮูเซน (อ) ประกาศว่า จุดประสงค์ของการลุกขึ้นปฏิวัติของท่าน คือการปฏิรูปประชาชาติของตาของท่าน คือท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ท่านกล่าวว่า “ฉันได้ลุกขึ้น เพื่อกอบกู้ประชาชาติของตาของฉัน มูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) และเพื่อปฏิรูปประชาชนของเขา ฉันต้องการมีส่วนร่วมในการกำชับความดี และการห้ามปรามความชั่ว” [4]
เนื่องจากความบิดเบือนนี้ มีอยู่ในภาคการปกครอง ในหมู่ปัญญาชน และในหมู่ประชาชนทั่วไป มิติต่างๆ ของการลุกขึ้นปฏิวัติของอิมามฮูเซน (อ) จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับสองเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
1. การโค่นล้มรัฐบาลในสมัยนั้น อันเป็นแหล่งที่มา หรือ ต้นตอของการทุจริต และการบิดเบือนในสังคม แน่นอนว่าเป้าหมายนี้ จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคม และประชาชนโดยอ้อม
2.เป็นการเปิดโปงอำนาจปกครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายในสมัยนั้น โดยการไม่ยอมมอบสัตยาบัน แม้ต้องแลกด้วยชีวิต! เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งทางด้านจิตวิญญาณ และศาสนาของอิมามฮูเซน (อ) ในสังคมอิสลาม และในความสัมพันธ์ของท่านกับศาสดา (ศ็อลฯ) การปฏิวัติของท่าน ถูกตีความ ในฐานะเป็นการเปิดโปงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลในสมัยนั้น กล่าวคือ หากคณะผู้ปกครองไม่เต็มใจที่จะประนีประนอม ดังนั้น การเปิดโปงเสมือนคำประกาศต่อต้านของท่านนี้ ก็จะถูกลงนามด้วยกับการพลีสละชีพของท่านนั่นเอง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อพิจารณาอาชญากรรมของยาซีดบุตรมูอาวิยาห์ (ล.น) ในฐานะผู้ปกครองสังคมอิสลาม การยอมรับผู้ปกครองผู้นี้ โดยสังคมอิสลาม และการถือตนเป็นผู้ติดตามเขา ถือเป็นการบิดเบือนอย่างรุนแรง และใหญ่หลวงที่สุด การเชื่อฟังผู้ปกครองนอกกฎหมาย ที่ฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) อย่างเปิดเผย อีกทั้งยังไม่มีคุณลักษณะที่ถูกต้องชอบธรรมในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า(ซ.บ) ถือเป็นการเชื่อฟังตอฆูต [ทรราช] ตามทัศนะของพระมหาคัมภีร์กุรอาน
เนื่องจากการเชื่อฟังเขา ไม่สอดคล้องกับหลักการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า และอันที่จริงแล้ว ยังขัดแย้งกับพระองค์อย่างชัดแจ้ง มันจึงขัดต่อแนวคิดบูชาพระเจ้าองค์เดียว และถือเป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์ และในทางกลับกัน ตามโองการของอัลกุรอาน การนับถือพระเจ้าหลายองค์ ถือเป็นบาปที่เลวร้าย และมิอาจให้อภัยได้[5] ดังนั้นการติดตามผู้ปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการยอมรับเขาผู้นี้ จึงเป็นการบิดเบือน และออกนอกลู่นอกทางของหลักการบูชาพระเจ้าองค์เดียวในอิสลาม อย่างร้ายแรง
อันที่จริง นี่คือจุดที่งานของนักวิชาการ นักปราชญ์ และปัญญาชนของสังคมอิสลาม ในการขจัดความบิดเบือนเหล่านี้ ควรจะกลายเป็นที่ถูกประจักษ์ แต่ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น พวกเขาเหล่านี้กลับนิ่งเงียบ และความเงียบนี้เอง แสดงให้เห็นถึงความลึกและขอบเขตที่ความบิดเบือนนี้ ได้กลายเป็นสิ่งปกติในสังคม
ดังนั้น เนื่องจากการบิดเบือนอย่างร้ายแรง และเนื่องจากความเสื่อมถอยของการศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวภายในสังคมอิสลาม ในด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่ง คือ อันเนื่องมาจากอิทธิพลของท่านอิมาม(อ) ที่เกิดจากตำแหน่งทางจิตวิญญาณและศาสนา และความเกี่ยวเนื่องของท่าน กับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ในสังคมอิสลาม อิมามฮูเซน(อ)จึงลุกขึ้นต่อต้านการบิดเบือนนี้
ท่านทำเช่นนั้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ผิดกฎหมายของยาซีด(ล.น) และแทนที่ด้วยรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็บ่อนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลยาซีด(ล.น) ในสังคมอิสลาม นี่คือเหตุผลที่อิมามฮูเซน (อ) ตอบสนองไปยังการร้องขอการให้สัตยาบันต่อรัฐบาลของยาซีด(ล.น) ว่า “คนอย่างฉัน จะไม่ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีกับคนอย่างเขา”[6]
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ท่านกำลังสื่อว่า ‘ในฐานะที่เป็นบุคลากรของศาสนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการยึดมั่นในพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า เป็นไปไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อเจ้า ซึ่ง[เจ้านั้น] ถือเป็น รูปธรรม หรือ ข้อบ่งชี้ ของการไม่ยึดมั่นในศาสนา’
เป้าหมายที่สองของอิมามฮูเซน (อ) จะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อต้องพลีชีพ เพราะเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งทางจิตวิญญาณและศาสนา และสถานะทางสังคมของอิมามฮูเซน (อ) ในฐานะหลานชายของท่านศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าแล้วนั้น ไม่เป็นที่น่าแปลกใจใดๆ หากยาซีด(ล.น) ยืนกรานที่จะนำเอาสัตยาบันจากท่านอิมามฮูเซน (อ)ให้จงได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมในการปกครองของตน
การยืนกรานของเขา ไปถึงขั้นที่ว่า อิมามจะต้องปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อเขา หรือถูกขับออกจากสังคม ดังนั้น การยืนกราน จะนำเอาคำสัตยาบันของอิมามฮูเซน (อ) จึงดำเนินต่อไป จนถึงจุดที่พวกเขาต้องการจะกำจัด และลอบสังหารท่าน
ด้วยเหตุนี้ อิมามฮูเซน (อ) จึงละทิ้งการทำฮัจญ์ ก่อนที่จะเสร็จสิ้นพิธี เนื่องจากภัยคุกคามที่จะถูกลอบสังหาร ณ ที่นั่น [เพื่อหลีกเลี่ยงการหนองเลือดในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์] นอกจากนี้ เพราะธรรมชาติของการลอบสังหารนั้น มักทำให้การเผชิญหน้ากันระหว่างความถูกต้อง และความผิดคลุมเครือ อีกทั้งแรงจูงใจในการลอบสังหาร ก็มักจะไม่ถูกเปิดเผยในสถานการณ์เช่นนั้น และความจริงที่ว่า สาส์นแห่งการพลีชีพเป็นมรณสักขี อาจจะไม่ถูกถ่ายทอดสู่สังคมอย่างเต็มที่ ท่านอิมามฮูเซน (อ) จึงเดินทางออกจากนครมักกะฮ์
อิมามฮูเซน (อ) ไม่ได้ลี้ภัย หรือหนีจากการมอบสัตยาบัน และการถูกบังคับให้ต้องอาศัยอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ หรือ การถูกลอบสังหาร ทว่าท่านเลือกที่จะยืนหยัดต่อต้านอธรรมและความเท็จ ผลที่ได้คือ การพลีชีพ ที่มีประสิทธิผล ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของประชาคมมุสลิมภายหลังจากนั้น และที่ซึ่งได้ถ่ายทอดสาส์นเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลใดๆก็ตาม เช่น รัฐบาลของยาซีด(ล.น) นี้ไปยังประชาคมมุสลิมอย่างสมบูรณ์แบบ ผลที่ตามมาก็คือ ในช่วงหลายปีหลังจากการถูกสังหารเป็นมรณสักขีของท่าน มีการจลาจลต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องเน้นย้ำถึงความจริงที่ว่า อิมามฮูเซน (อ) เป็นที่ถูกรู้จักกันดี ในแง่ของสถานะทางสังคมและศาสนาของท่าน ในหมู่ประชาชน หากมิใช่เช่นนั้น การที่รัฐบาลผู้กดขี่ ยืนกรานที่จะนำเอาสัตยาบันของท่านให้จงได้ ก็จะไม่มีความหมาย กาหลิบยาซีด อิบนฺ มุอาวิยะฮ์ (ล.น) ต้องการความจงรักภักดีของอิมามฮูเซน (อ) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองและรัฐบาลของเขา ขณะที่การต่อต้าน และการปฏิเสธที่จะให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีของท่านอิมาม (อ) จะทำให้รัฐบาลของเขาสั่นคลอน
ดังนั้น สถานะทางศาสนาและทางจิตวิญญาณที่โดดเด่นของอิมามฮูเซน (อ) จึงค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนสำหรับประชาชน และในแง่นี้ ท่านจึงมีฐานการสนับสนุนทางสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อการปฏิเสธที่จะมอบสัตยาบันต่อยาซีด (ล.น) ของท่านอิมามฮูเซน (อ) นำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างทั้งสอง เหตุใดการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปและปัญญาชนที่มีต่ออิมามฮูเซน(อ) จึงลดลง? เหลือเพียงการแสดงความเสียใจ หรือความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้อิมามฮูเซน (อ) ต่อต้านยาซีด(ล.น)? และเหตุใดโศกนาฏกรรมดังกล่าว จึงเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางความเงียบงันของประชาคมอิสลาม?
คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ มีรากฐานมาจากความแพร่หลายของการทำบาป และการทำให้การทำบาปเป็นเรื่องปกติในประชาชาติอิสลาม ถ้าชนชาติใดทำบาป พวกเขาจะไม่อาจต้านทานการทดสอบที่ยิ่งใหญ่กว่า
บาปบ่อนทำลายความแน่วแน่ของเรา ที่มีต่อศัตรูตัวฉกาจ — คือมาร (ชัยฏอน) จากหมู่มนุษย์และญิน — อัลกุรอานตรัสว่า ‘แท้จริงบรรดาผู้ที่อยู่ในหมู่พวกเจ้าที่หันหลังหนีในวันที่สองกลุ่มเผชิญหน้ากันนั้น แท้จริงชัยฎอนเท่านั้น ที่ทำให้พลั้งพลาดไป เนื่องจากบางสิ่งที่พวกเขาได้ประกอบไว้” [7] ในอีกโองการหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้า(ซ.บ) ตรัสว่า “แล้วบั้นปลายของบรรดาผู้กระทำความชั่ว ก็คือความชั่ว โดยที่พวกเขาปฏิเสธต่อสัญญาณทั้งหลายของอัลลอฮฺ และพวกเขาเย้ยหยันมัน” [8] การกระทำที่ไม่ดีบ่อนทำลายแรงต้านทานของเราในสนามแห่งการทดสอบ และการกระทำที่ไม่ดีจะมีผลเปลี่ยนความเชื่อของเรา [9]
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การบิดเบือนออกนอกลู่นอกทางแห่งสัจธรรมนั้น เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การกระทำบาปเล็ก หากไม่กลับตัวกลับใจ จะนำไปสู่บาปที่ใหญ่กว่า และนำไปสู่บาปที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจะทำลายแหล่งที่มาของสัจธรรม และความรู้ในสังคม
ดังที่กล่าวไปแล้ว บาปหลักของประชาคมมุสลิมในสมัยนั้น คือความประมาทเลินเล่อต่อรัฐบาลที่อธรรม และการยอมจำนนต่อผู้ปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อรัฐบาลเห็นความประมาทเลินเล่อนี้ของประชาชน มันย่อมก้าวไปอีกขั้น และทำให้โศกนาฏกรรมการเข่นฆ่าลูกหลานศาสดาเกิดขึ้นกับประชาชน ประเด็นก็คือ สังคมอิสลาม ไปถึงสภาวะเช่นนี้ได้อย่างไร สภาวะที่มีบุคคลที่ต่ำทรามที่สุดในทัศนะของศาสนา ซึ่งมีคุณลักษณะห่างไกลจากศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า(ซ.บ) มากที่สุด มาปกครองพวกเขา?
คำตอบสำหรับคำถามนี้ มีอยู่ในนะฮ์ยุลบะลาเฆาะฮฺ ของท่านอิมามอะลี บินอบีฏอลิบ (อ) อิมามคนแรกของมุสลิมชีอะห์ กล่าวว่า “อย่าละทิ้งการกำชับความดี และห้ามปรามความชั่ว ด้วยเกรงว่า ผู้ที่เลวร้ายนั้น จะได้ตำแหน่งเหนือเจ้า”[10]
แน่นอน หากละทิ้งการกำชับความดี และห้ามปรามความชั่ว — ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นหน้าที่รับผิดชอบของปัญญาชนในสังคม — ย่อมจะทำให้สมาชิกในสังคมไม่มีความอ่อนไหวเพียงพอ และสามารถทนต่อการเห็นสมาชิกอีกคนของสังคมเหยียบย่ำศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า ไปจนถึงขั้นที่ว่า พวกเขาไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ ต่อสถานการณ์นั้น
อันที่จริง มันหมายความว่า คนในสังคมจะเพิกเฉยต่อศาสนา, ความสัมพันธ์ทางสังคม, และผลกระทบของพวกเขาที่มีต่อกันและกัน ส่งผลทำให้พวกเขาคิดว่า ศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม เป็นธรรมดาที่จะสรุปว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ อัตลักษณ์ส่วนรวมของสังคมจะเป็นไปโดยปราศจากศาสนา
ผลที่ตามมา คือ ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ก็จะถูกละเลยเมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการปกครอง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีแง่มุมทางสังคม และท้ายที่สุดแล้ว หนทางในการได้มาซึ่งอำนาจ ก็จะถูกปูไว้แก่ผู้ที่ไม่มีการมอบหมายตนต่อศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า
ด้วยเหตุนี้ จึงมีแพทเทิร์น หรือ แบบแผน ที่ชัดเจนของหายนะทั้งหลาย ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชาติอิสลาม คือ
1) การละทิ้งหลักการกำชับความดี และห้ามปรามความชั่ว และลดศาสนาให้เป็นเพียงข้อปฏิบัติของปัจเจก
2) คนชั่วเข้ายึดอำนาจรัฐบาล อันเป็นผลมาจากการละทิ้งหลักการปฏิบัติข้างต้น
และ 3) การกระทำความชั่ว ที่น่ารังเกียจ และเกินจินตนาการของรัฐบาล
แพทเทิร์น หรือ แบบแผนนี้ ใช้ได้กับประชาชาติอิสลามทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งยุคปัจจุบัน ในยุคปัจจุบัน สิทธิของประชาชาติมุสลิมจำนวนมากกำลังถูกละเลย ผู้คนกำลังถูกฆ่าตาย และกลายเป็นคนไร้บ้าน ในปาเลสไตน์ เยเมน และอัฟกานิสถาน มีความทุกข์ยากหลายอย่างเกิดขึ้นโดยตรง ด้วยน้ำมือของรัฐบาลของประเทศอิสลามบางประเทศ หรือโดยอ้อม กล่าวคือ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินของพวกเขา หรือ อย่างน้อย ความทุกข์ยาก และหายนะเหล่านั้น ก็เป็นผลมาจากความนิ่งเงียบของพวกเขา
ในทำนองเดียวกันความนิ่งเงียบของปัญญาชนในประเทศอิสลามเมื่อเผชิญกับรัฐบาลดังกล่าวช่วยให้รัฐบาลเหล่านี้อยู่รอดและก่ออาชญากรรมต่อไปได้
จากข้อโต้แย้งที่กล่าวมาข้างต้น ปัญหาของประเทศอิสลามจะไม่ได้รับการแก้ไข เว้นแต่รัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสังคมอิสลามจะถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลที่ถูกต้องและชอบธรรมเพียงเท่านั้น
สิ่งนี้ ควรดำเนินการภายใต้การชี้นำของปัญญาชนในประเทศอิสลาม และตามมาด้วยการสนับสนุนจากชาวมุสลิมโดยทั่วไป
สังคมอิสลามไม่เคยจินตนาการ หรือ คาดคิดมาก่อนว่า วันหนึ่งบุตรของศาสนทูตของพระเจ้า (อ) ด้วยคุณธรรมและคุณลักษณะที่เป็นแบบฉบับสำหรับมวลมนุษยชาติ จะต้องถูกสังหารในลักษณะที่น่าสลดใจที่สุด ต่อหน้าต่อตาประชาชาติมุสลิม
วันนี้เช่นกัน เราจะยังคงเห็นการก่ออาชญากรรมและโศกนาฏกรรมดังกล่าวในประเทศอิสลามต่อไป หากปัญญาชนและประชาชน เฉยเมย หรือ ลดความจริงจังของตน ในการต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
___________________