14 พฤษภาคม  รำลึก “วันนักบา”  วันแห่งหายนะของชาวปาเลสไตน์  หลังถูกอิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์  

381

เนื่องในโอกาสครบรอบปี Nakba Day การเริ่มต้นยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอลด้วยการสนับสนุนของอังกฤษและการอนุมัติของสหรัฐอเมริกา

“Nakba Day” (วันแห่งความหายนะหรือเคราะห์กรรม) ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของอังกฤษและการอนุมัติของสหรัฐอเมริกา อิสราเอลได้ประกาศการจัดตั้งรัฐยิว หลังจากการขับไล่ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนและการแย่งชิงที่ดินต่างๆ ของพวกเขา

“Nakba Day” (วันแห่งความหายนะหรือเคราะห์กรรม) เป็นสำนวนหนึ่งที่ชี้ถึงวันครบรอบปีการถูกขับไล่ของชาวปาเลสไตน์มากกว่า 750,000 คน ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและที่ดินของพวกเขาในปาเลสไตน์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 ซึ่งในวันนี้ขบวนการไซออนิสต์สากลโดยการสนับสนุนของอังกฤษได้เข้ายึดครองพื้นส่วนใหญ่ของปาเลสไตน์ด้วยการบีบบังคับโดยการใช้อาวุธและประกาศการปกครองในพื้นที่ดังกล่าว

“Nakba Day” เป็นการรำลึกถึงวันที่ชาวปาเลสไตน์ได้ถูกขับไล่ออกจาก 20 เมืองและเกือบ 400 หมู่บ้าน ทรัพย์สินและฟาร์ม (ไร่สวน) ทั้งหลายของพวกเขาได้ถูกยึดครองโดยชาวอิสราเอล นอกจากนี้วันนี้ยังเป็นวันแห่งการรำลึกถึงการถูกสังหารหมู่ของชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 10,000 คน ในการเข่นฆ่าสังหารต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยระบอบไซออนิสต์ผู้ยึดครองดินแดน

ความจริงจากโศกนาฏกรรม (นักบา) ของปาเลสไตน์นั้น ได้เริ่มต้นมานานก่อนปี 1948 ในช่วงเวลาที “นโปเลียน โบนาปาร์ต” จักรพรรดิฝรั่งเศสองค์แรกต้องการที่จะสถาปนาประเทศยิวขึ้นในปาเลสไตน์ในระหว่างการรุกรานโลกอาหรับในปี ค.ศ. 1799

ในช่วงเวลาดังกล่าวแผนของนโปเลียนไม่บรรลุความสำเร็จ แต่หลังจากนั้นอังกฤษได้กลับมาและฟื้นฟูแผนดังกล่าวนี้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการเข้ามาของอังกฤษในปาเลสไตน์ บรรดานักล่าอาณานิคมของอังกฤษได้เริ่มต้นด้วยการดำเนินแผนการต่างๆ ของตนเพื่อที่จะสถาปนาระบอบการปกครองของไซออนิสต์บนดินปาเลสไตน์

บทบาทของอังกฤษ ในการสนับสนุนรัฐอิสราเอล

ในปี 1917 อังกฤษได้ประกาศสนับสนุนการจัดตั้งรัฐชาติเพื่อชาวยิวในปาเลสไตน์ หลังจากนั้นคณะผู้แทนชาวไซออนิสต์โดยการสนับสนุนของรัฐบาลอังกฤษได้เดินทางเข้าสู่ปาเลสไตน์ และชาวยิวได้เริ่มซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของชาวปาเลสไตน์เพื่อสร้างถิ่นฐานของชาวไซออนิสต์ สิ่งนี้ได้นำไปสู่การพลัดถิ่นของชาวปาเลสไตน์นับหมื่นคนจากบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากอังกฤษ

แต่ชาวปาเลสไตน์ไม่ยอมจำนนต่อการเคลื่อนไหวเหล่านี้ และการต่อต้านพวกเขาในปี 1936 ได้นำไปสู่การปฏิวัติอาหรับต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมของอังกฤษและลัทธิอาณานิคมของไซออนิสต์

อังกฤษได้ทำลายการปฏิวัติอาหรับลงในปี 1939 และในช่วงเวลานี้เองที่ชาวปาเลสไตน์พบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับศัตรูสองด้าน นั่นคือ : กองกำลังของนักล่าอาณานิคมอังกฤษและกองโจรติดอาวุธไซออนิสต์ ซึ่งในเวลานั้นมีจำนวน 40,000 คน

วันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 องค์การสหประชาชาติอนุมัติแผนการแบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นสองรัฐ คือรัฐยิวและรัฐอาหรับ ในเวลานั้นชาวยิวคิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรปาเลสไตน์ และส่วนใหญ่เดินทางจากยุโรปเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ ตลอดช่วงเวลาไม่กี่ปี พวกเขาได้ครอบครองเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของดินแดนปาเลสไตน์ แต่แผนของสหประชาชาติได้มอบพื้นที่ 55 เปอร์เซ็นต์ของดินแดนปาเลสไตน์ให้แก่พวกเขา

ชาวปาเลสไตน์และพันธมิตรอาหรับของพวกเขาได้ปฏิเสธแผนการดังกล่าว แต่ขบวนการไซออนิสต์เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างรัฐยิวขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ แต่กระนั้นก็ตามชาวไซออนิสต์ก็ยังไม่พอใจกับเขตแดนต่างๆ ที่กำหนดและทำการเคลื่อนไหวมากมายเพื่อครอบครองส่วนต่างๆ ของดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น

ในช่วงการเริ่มต้นของปี 2491 ชาวไซออนิสต์ได้เข้ายึดครองเมืองและหมู่บ้านปาเลสไตน์หลายสิบแห่ง โดยใช้กำลังบีบบังคับให้ผู้อยู่อาศัยในดินแดนออกจากบ้านเรือนของพวกเขา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของบรรดาเจ้าหน้าที่อังกฤษที่อยู่ในประเทศนี้

ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 อังกฤษได้ตัดสินใจที่จะออกจากปาเลสไตน์และในวันนั้นเองที่ “เดวิด เบนกูเรียน” หัวหน้าคณะผู้บริหารขององค์กรยิวภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษในขณะนั้นได้ประกาศการจัดตั้งรัฐยิวอย่างเป็นทางการ

ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีมหาอำนาจทั้งสองของโลก สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ประกาศยอมรับระบอบการปกครองของอิสราเอล และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่มีรัฐบาล

หลังจากนั้นโครงการต่างๆ ของระบอบอิสราเอลก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากดินแดนของพวกเขาอย่างสมบูรณ์ และจนถึงปัจจุบันนี้ชาวไซออนิสต์ก็ยังคงพยายามทุกรูปแบบเพื่อทำลายสัญลักษณ์และมรดกทั้งหมดของปาเลสไตน์ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้สถานการณ์ของชาวปาเลสไตน์ผู้พลัดถิ่นจำนวนหลายล้านคนเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

sourcce: https://www.tasnimnews.com/