บทวิเคราะห์- สถานการณ์ตะวันออกกลางประจำสัปดาห์

477

1.การกดดันขั้นสูงสุด (maximum pressure)

เริ่มต้นที่ ปลายเดือน กันยายน 62  ณ สมัชชาโลก ทันทีที่ผู้นำอิหร่านเดินทางถึงนครนิวยอร์กเพื่อร่วมประชุมสมัชชาโลกประจำปี สิ่งแรกที่ทางฝ่าย US ทำ คือการออกคำสั่งจำกัดพื้นที่บริเวณ ให้ทางฝ่ายของอิหร่านสามารถเดินทางได้เฉพาะระหว่างพื้นที่ของสำนักงานใหญ่ UN กับที่พักของเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำ UN  ในเขตแมนฮัตตันเท่านั้น ต่อมาในการประชุมสมัชชาใหญ่มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นนั่นก็คือ การกล่าวโทษของผู้นำสหรัฐต่อประเทศจีนและอิหร่านในสุนทรพจน์ โดยประธานาธิบดีสหรัฐได้ประนามจีน ว่ารัฐบาลจีนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรการค้าโลก (WOT) เรื่องการละเมิดเสรีภาพของประชาชนชาวซินเจียงในเขตปกครองตนเอง และได้เรียกร้องให้จีนมอบเสรีภาพและประชาธิปไตยให้แก่ชาวฮ่องกง  ส่วนทางตะวันออกกลางทรัมป์ได้กล่าวว่าการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 14 กันยายน มีรัฐบาลอิหร่านเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ทรัมป์เรียกรัฐบาลอิหร่านว่าเป็นรัฐบาลที่กระหายเลือด สอดคล้องกับคำพูดของนายไมค์ ปอมปีโป ที่ใช้วาทกรรมเดียวกัน นอกจากนี้สหรัฐยังเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันคว่ำบาตรอิหร่านทั้งโลก ตบท้ายด้วยการพูดทิ้งท้ายว่าถึงยังไงอเมริกาก็อยากจะเจรจากับอิหร่าน  ทางด้านประธานาธิบดีฮัสซันรูฮานีก็ได้กล่าวที่ UN ว่า คำตอบของอิหร่านในการเข้าร่วมเจรจาตราบใดที่ยังมีการคว่ำบาตร คือ No ส่วนทางฝั่งทรัมป์ เมื่อถูกถามว่า จะเจรจาโดยเริ่มต้นจากการยกเลิกการคว่ำบาตรหรือไม่ ก็คือ No เหมือนกัน

มุมมองทางเลือก : การกดดันขั้นสูงสุด เป็นยุทธศาสตร์ที่ล้มเหลว และใช้ไม่ได้กับอิหร่าน เพราะ[I]ยุทธศาสตร์กดดันสูงสุด คิอสิ่งที่อิหร่านเรียนรู้และอยู่กับการคว่ำบาตรเป็นเวลานานกว่า 4  ทศวรรษ [II]สหรัฐไม่ได้รับผลที่ตนคาดหมายไว้ [III] ข้อกล่าวหาเรื่องการโจมตีแหล่งน้ำมันเป็นที่กังหา [IV]แผนสันติภาพกลวง[V]ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับสหรัฐฯ

1.1 ยุทธศาสตร์กดดันสูงสุด เป็นสิ่งที่อิหร่านเรียนรู้และอยู่กับการคว่ำบาตรเป็นเวลานานกว่า 4 ทศวรรษ

ในสัปดาห์นี้ ผู้นำสูงสุดแห่งการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ซัยยิด อาลี คาเมเนอี ได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยประเด็นหนึ่งคือ เรื่อง การกดดันขั้นสูงสุด เขาได้ชี้ว่า สหรัฐได้พ่ายแพ้ ในยุทธการการกดดันขั้นสูงสุด  โดยพิจารณาจากข้อมูลภาคสนาม,การวิเคราะห์ทางสถิติ มพฤติกรรมการเมืองและวาทกรรมของเจ้าหน้าที่สหรัฐ

เป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อมีการกดดันเกิดขึ้น ย่อมมีปริมาณของแรงตามมา ซึ่งนักวิเคราะห์อิหร่านมองว่ายุทธศาสตร์ maximum pressure  สามารถยกระดับและเพิ่มปริมาณความกดดันได้ไปถึงขีดสุด แต่มันไม่อาจมากไปกว่านี้ในภาคปฏิบัติ ในแง่นี้เราสามารถวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ออกมาได้ 2 รูปแบบ คือ [I] ยุทธศาสตร์การคว่ำบาตร ที่อาจนำไปสู่สงครามกะทันหัน และ [II] ยุทธศาสตร์เชอร์ชิล โดยให้เกิดความขัดแย้งในระยะยาวแทนการทำสงคราม

แนวทางการบริหารรัฐบาลของทรัมป์เดินอยู่บนสองยุทธนี้ สหรัฐใช้ทั้ง 2 รูปแบบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาสหรัฐเดินนโยบายคว่ำบาตรไปเรื่อยๆ เพื่อบีบให้เกิดสงคราม และสหรัฐก็ใช้วิธีนี้กับอิหร่าน แต่การที่อเมริกาเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรและการกดดันขั้นสูงสุดเพื่อวางกับดักอิหร่าน ไม่ได้ทำให้อิหร่านติดกับแต่อย่างใด

เมื่อยุทธศาสตร์นี้ไม่ได้ผลก็จะต้องเปลียนเป็นยุทธศาสตร์เชอร์ชิล  คือการสร้างปัญหาให้อิหร่านแทนที่สงคราม เช่นทำให้อิหร่านต้องเผชิญกับวิกฤต และต้องคอยแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ  ตามหลักการนี้การกดดันก็จะมีต่อไป ผิวเผินแล้วดูเหมือนใช้ได้ผล มันสามารถสร้างความตึงเครียดในภูมิภาคได้ แต่ในระยะยาวผลเสียจะเกิดขึ้นกับสหรัฐ  การกดดันสามารถใช้งานได้กับอิหร่านในระยะเวลาหนึ่ง  เพราะเมื่อประชาชนอิหร่านเริ่มคุ้นชินและปรับตัวกับการกดดันที่เกิดขึ้น  ผลจากการกดดันในทางจิตวิทยาจะหายไป และสุดท้ายการกดดันจะไม่มีผลใดๆ แน่นอนว่า ในตอนนี้การกดดันและการคว่ำบาตรยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนในประเทศ นักการเมืองนักธุรกิจอิหร่านไม่ได้มองว่า พวกเขาจะต้องวิตกกังวลมากขึ้น เพราะอิหร่านถูกคว่ำบาตรมาเป็นเวลา 40 ปีมาแล้วและยังถูกคว่ำบาตรอยู่จนถึงทุกวันนี้ จึงสามารถพูดได้ว่าคนในประเทศ เชี่ยวชาญเรื่องการอดทนและมีความรู้ความสามารถในการปรับตัวและปรับรูปแบบการบริหารทางเศรษฐกิจให้เข้ากับสภาวะที่โดนคว่ำบาตรให้อยู่ต่อไปได้

ในฝั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ เขาต้องการใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อสร้างปัญหาให้ประเทศอิหร่านต่อไปและตัวของเขาก็คิดว่าภายในระยะเวลา 2 – 3 เดือนนี้เขาจะได้ผลลัพธ์ที่ตนเองคาดหวัง ซึ่งเราจะคอยดูกันต่อไป

1.2 ไม่ได้รับผลที่ตนคาดหมายไว้

มองในแง่ของจุดประสงค์ของแผนการกดดันขั้นสูงสุด แผนนี้ถูกนำมาใช้เพื่อดึงอิหร่านให้กลับเข้ามานั่งโต๊ะเจรจา ถึงขนาดกันคณะรัฐบาลอิหร่าน ให้อยู่ในพื้นที่จำกัด และพยายามยื่นข้อเสนอให้เจรจาทั้งทางอ้อมหรือทางตรงหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอิหร่านตอบกลับไปว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพวกคุณเลิกคว่ำบาตรเราก่อน บางครั้ง การทำแบบเดิม เพื่อหวังผลที่แตกต่างก็ไม่ได้ช่วยอะไร

1.3 ข้อกล่าวหาเรื่องการโจมตีแหล่งน้ำมันเป็นที่กังหา

มีหลายประเทศที่ไม่ได้มองเรื่องการโจมตีแหล่งน้ำมันแบบเดียวกับสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น รัสเซีย ตุรกี และตัวของ UN เองก็มีท่าทีเช่นนั้น โดย ปธน.รัสเซีย ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า”การที่สหรัฐออกมากล่าวหาว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังการทำลายอารามโก เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐาน” ที่ปูตินกล่าวเช่นนี้ มันมีมุมให้มองคือ สหรัฐตั้งคนของตัวเองไปตรวจสอบ คนของเขาทำตามนโยบายทางการเมืองของผู้นำประเทศเขา ในกระบวนการยุติธรรม การเอาคนของตัวเองมายืนยันว่า ประเทศอื่นทำผิด ถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

1.4 แผนสันติภาพ

ช่วงเวลา 70 ชม. ที่ปธน.อิหร่านยังอยู่ในกรุงนิวยอร์ก ปธน.ฮัสซัน รูฮานี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อิหร่านเห็นว่า สหรัฐล้มเหลวในนโยบายเดิม จึงเพิ่มสถานการณ์ใหม่ขึ้น พวกเขา ต้องการใส่ความคิดให้มวลชนเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นการสร้างสันติภาพและเป็นกระบวนการทางการทูต เพื่อปรับปรุงภูมิภาคตะวันออกกลางให้ดีขึ้น เป็นการกระทำเพื่อประชาชนชาวอิหร่าน แต่เพราะรัฐบาลอิหร่านดื้อดึงและต่อต้านผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้ คำพูดแนวนี้ เป็นคำพูดที่อิหร่าน มักจะออกมาพิสูจน์เสมอว่า สหรัฐไม่ได้หวังดี และก็ไม่ได้ทำเพื่อความดี มูฮัมมัดญะวาดซะรีฟ ได้กล่าวคำชี้แจงหนึ่ง เป็นเหมือนการซัดหมัดตรงใส่ทุกคนที่คว่ำบาตรอิหร่านว่า “ตลอด 300 ปีที่ผ่านมาอิหร่านเพียงแค่ป้องกันตนเองเท่านั้น พวกคุณยังจำกันได้ไหม สมัยที่ซัดดัม ฮุสเซน โจมตีอิหร่าน ส่วนมากของพวกคุณ ไม่อยากเอ่ยถึงเหตุการณ์นั้น เพราะเมื่อซัดดัม โจมตีอิหร่าน ทุกๆฝ่าย(ที่กำลังพูดถึงการแจกสันติภาพในวันนี้นี่แหละ)คือ คนที่คอยจัดสรรอาวุธให้แก่เขา ในตอนนั้นไม่มีใครช่วยเหลืออิหร่าน ไม่มีใครปกป้องอิหร่าน และคุณกลับมาถามเราว่าทำไมเราจึงพัฒนาขีปนาวุธของตัวเอง ?!? เราจะป้องกันตนเองอย่างไร?!? หากพวกคุณจริงจังเรื่องความมั่นคง และความปลอดภัยในตะวันออกกลางมากนัก ก็ไปเจรจากับรัฐบาลของคุณไม่ให้ขายอาวุธทางการทหารในภูมิภาคของเรา เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร มูลค่ากว่าหนึ่งแสนสามหมื่นล้านดอลลาร์ ถูกขายส่งต่อไปอ่าวเปอร์เซีย เพียงภูมิภาคเดียว นี่ไม่ใช่ตัวเลขของผมเอง นี่คือตัวเลขของเลขาฯ จอห์น เคร์รี” ดังนั้นในมุมของอิหร่าน สหรัฐไม่ได้มาทำให้สันติภาพเบ่งบานในตะวันออกกลาง พวกเขามาขายปืน

1.5 ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วย

ในสัปดาห์นี้ยังมีข่าวอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือการที่ประเทศในกลุ่มภูมิภาคบริเวณอ่าวเปอร์เซียเริ่มที่จะแสดงเจตจำนงในการเจรจากับประเทศอิหร่านเพื่อหารือเรื่องความมั่นคงร่วมกันในเบริเวณอ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ นี่ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าลำพังคนในพื้นที่เขาก็จัดการเรื่องของความมั่นคงกันเองได้ หลายฝ่ายเริ่มจะเบื่อคนกลางหรือมือที่สามที่มักจะเข้ามาในบริเวณภูมิภาคในนามของผู้ไกล่เกลี่ยแต่กับแทรกแซงกิจการในประเทศของพวกเขา

2.ซาอุฯโดนสวน

28 กันยายน 2562 กองกำลังปฏิวัติเยเมนฮูตี ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางกองทัพได้บุกโจมตีบริเวณชายแดนทางตอนใต้ของซาอุฯ และได้สังหารทหารซาอุประมาณ 500 นายในระหว่างการรบ และสามารถจับทหารซาอุฯเป็นเชลยประมาณ 2,000 คน หลังจากกลุ่มฮูตีแถลงช่วงต้น ซาอุฯแสดงท่าทีนิ่งฉยในช่วงต้น และยังไม่ออกมาตอบโต้ถึงการแถลงนี้ หลังจากนั้นกลุ่มฮูตีได้ปล่อยคลิปวิดิโอ การบุก และการจับทหารซาอุฯเป็นเชลยในเวลาต่อมา

มุมมองทางเลือก : เมื่อต้นเดือนกันยายนประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ทรัมป์ ได้ออกมากล่าวโทษอิหร่านในข้อหาโจมตีแหล่งขุดเจาะน้ำมัน อารามโก้ เพราะประเมินดูแล้วกองทัพเล็กๆอย่างกลุ่มฮูตีไม่น่าจะมีศักยภาพทำได้ถึงขนาดนั้น ขนาดที่ส่งผลต่อการตลาดของอเมริกาและพันธมิตรทั้งโลก ล่าสุดกลุ่ม ฮูตี ก็สามารถรบชนะศึกเหนือเขตชายแดนของข้าศึกได้อีกครั้งหนึ่ง ข่าวนี้[I]ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพซาอุดิอาระเบียในด้านหนึ่ง และ[II]แสดงให้เห็นว่ากลุ่มฮูตีมีศักยภาพมากพอที่จะบุกในแดนข้าศึกและทำลายฐานทัพของข้าศึกได้

2.1 ความอ่อนแอของกองทัพซาอุฯ

พิจาณาสงครามระหว่างซาอุดิอาระเบียกับเยเมนในช่วงตอนต้นเมื่อ 4 ปีก่อน จะเห็นว่าฝ่ายที่ได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เลย คือฝ่ายซาอุดิอาระเบีย เพราะ[I]พวกเขามีความได้เปรียบทางอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ล้ำสมัย ทหารที่ฝึกมาเป็นอย่างดี  [II]มียานพาหนะที่มีศักยภาพสูง [III]งบประมาณที่ถูกอัดฉีดเข้ามาอย่างมหาศาล [IV]และยังได้รับการสนับสนุนจากชาติพันธมิตรอีกมากมายหลายประเทศ จึงทำให้ในช่วงแรกๆข้างซ้ายของกองทัพซาอุฯ ประกาศว่า การเผด็จศึกจะจบลงในไม่กี่วัน ในยุทธการพายุแกร่ง (Firmness Storm) เมื่อปี 2015

ส่วนทางด้านฝ่ายปฏิวัติเยเมน [I]มีรองเท้าแตะ ไม่มีปืน ถ้ามีก็เป็นปืนโบราณ [II]ความเชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์พื้นที่ประเทศตัวเองกับ [III]อุดมการณ์และหัวใจที่เต็มเปี่ยมเพื่อเรียกร้องเอกราชของชาติตนเอง ไม่ให้อยู่ใต้อาณานิคมของซาอุดิอาระเบียอีก และปัจจัยสำคัญที่สุดคือ[IV]ความศรัทธา ช่วงแรกหลายฝ่ายต่างวิเคราะห์กันว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่นักรบรองเท้าแตะที่มีแต่ศรัทธา จะชนะนักรบ GI หน้าอาหรับที่ถือ-พก-ขับ อุปกรณ์ศักยภาพสูงล้ำสมัยได้ แต่อย่างที่วินสตัน เชอร์ชิลได้เคยกล่าวไว้ “คนที่มองอดีตออกไปไกลที่สุด ย่อมเห็นอนาคตไกลที่สุด” ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนส่วนน้อยสามารถทำศึกและมีชัยเหนือคนส่วนมากได้ ประวัติศาสตร์สงครามน่าจะเป็นครูที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆคนในเรื่องนี้

2.2.ศักยภาพของกลุ่มฮูตี : ในเรื่องนี้เราสามารถประเมินศักยภาพของกลุ่มฮูตีโดยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือศักยภาพในการรับศึก และศักยภาพในการรุกศึก

2.2.1 ศักยภาพในการรับศึก

ในช่วงตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ทัพซาอุไม่สามารถบุกตีหรือถล่มฐานทัพของกลุ่มฮูตีได้อย่างเบ็ดเสร็จ  ในด้านหนึ่งยิ่งบุก ยิ่งเสีย ยิ่งเพลี่ยงพล้ำ ยิ่งสูญเสียงบประมาณ  ผู้เขียนได้ติดตามบทวิเคราะห์จากหลายสำนักที่อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมกองทัพของเยเมนจึงสามารถสกัดกองทัพของซาอุดิอาระเบียได้เป็นเวลานานหลายปี ซึ่งถ้าหากเอาบทวิเคราะห์เหล่านั้นมารวมกัน ก็จะได้ข้อสรุปว่า เหตุที่กองทัพเยเมนสามารถสกัดทับซาอุดิอาระเบียได้มี 2 ปัจจัยด้วยกัน 1 คือความเชี่ยวชาญในภูมิศาสตร์ 2 ความศรัทธา กองทัพเยเมนมักจะรบในพื้นที่ตนได้เปรียบและนั่นถือเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มฮูตี  เช่นการโจมตีจากบนภูเขา,ความสามารถในการอำพรางตนเอง,ความกล้าของนักรบ นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมกองทัพเยเมนถึงสามารถเข้าสกัดทัพซาอุฯได้นานเป็นเวลาถึง 4 ปี

2.2.2 ศักยภาพในการรุกศึก

การที่กองทัพเยเมนเลือกที่จะโจมตีแหล่งน้ำมันของซาอุก่อน เป็นการชี้ให้เห็นว่ามันสมองของกองทัพฮูตีอ่านเกมนี้ได้ขาด จริงๆแล้วเยเมนต้องการ การโจมตีเพียงครั้งเดียวเพื่อยุติสงครามทั้งหมด แผนของพวกเขาก็คือทำลายระบบน้ำมันของฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้กองทัพซาอุเป็นอัมพาต ถึงแม้ว่าชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกันจะบอกว่านี่เป็นฝีมือของอิหร่านก็ตาม และการจู่โจมครั้งที่ 2 อันเป็นเหตุทำให้ทหารของซาอุดิอาระเบียถูกจับเป็นเชลยนับพันคน สูญเสียยานหุ้มเกราะและอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งกอง เริ่มจะทำให้หลายฝ่ายไม่สงสัยในศักยภาพในการบุกของกลุ่มฮูตีอีกต่อไป ถ้าหากผู้อ่านได้ดูวีดีโอจะเห็นว่าฝ่ายของกองกำลังฮูตีพาทหารไปเพียงจำนวนหนึ่ง แต่สามารถเอาชนะกองกำลังฝ่ายตรงข้ามและยังจับทหารข้าศึกมาเป็นเชลยได้อีกด้วย หลังจากนั้นพวกเขาเอาไฟแช็คอันละ 5 บาท เผายานหุ้มเกราะราคาล้านดอลลาร์ที่ยึดมาได้เป็นสินสงคราม ทำให้หลายฝ่ายต้องประเมินกองกำลังฮูตีใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามในสงครามครั้งนี้ฝ่ายที่เริ่มก่อนคือ ซาอุดิอาระเบีย สิ่งที่กองกำลังเยเมนต้องการมากที่สุดคือการยุติสงคราม เราหวังจะได้เห็นสันติภาพและหนทางอย่างสันติวิธีในการยุติความขัดแย้งครั้งนี้…

3.กาตาร์ รัสเซียสนับสนุนโครงการสันติภาพช่องแคบฮอร์มุซ

เมื่อวันที่  2 ตุลาคม 62 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ออกมาแสดงความเห็นไม่สนับสนุนต่อการกล่าวหาอิหร่านในเหตุการณ์จู่โจมแหล่งขุดเจาะน้ำมันซาอุดิอาระเบีย

โดยปูตินได้ชี้ว่า”การกล่าวหาครั้งนี้เป็นการกล่าวหาที่ไร้หลักฐาน”ในอีกด้านหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซียและกาตาร์ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ทางอิหร่านโดยจะมีการเจรจาหารือร่วมกัน ในประเด็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เซีย ภายใต้หัวข้อ”การริเริ่มสันติภาพช่องแคบฮอร์มุซ”

มุมมองทางเลือก : ประเด็นสำคัญในการแถลงของประธานาธิบดีรัสเซียคือ [I] การคว่ำบาตรอิหร่านจะสร้างผลลัพธ์ต่อตลาดพลังงานโลกในเชิงลบ [II]สหรัฐไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในการพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนเอง[III]โครงการริเริ่มของอิหร่านจะต้องเป็นสิ่งที่นานาชาติควรให้ความสนใจ[IV]กาตาร์แสดงปฏิกิริยาเชิงบวกต่อการริเริ่มสันติภาพในช่องแคบฮอร์มุซ

3.1การคว่ำบาตรอิหร่านจะสร้างผลลัพธ์ต่อตลาดพลังงานโลกในเชิงลบ

สำนักข่าวอัลมายาดิน : ประธานาธิบดีรัสเซียชี้ว่า การที่สหรัฐฯคว่ำบาตรอิหร่าน จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดพลังงานของโลก ส่วนในประเด็นที่มีการคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีอิหร่านจะได้พบเจอกับประธานาธิบดีสหรัฐนั้น ทางด้านปูตินแสดงความเห็นว่า “จุดยืนของมอสโกคือ การเจรจาย่อมดีกว่าการทำลายล้างซึ่งกันและกันเสมอ รัสเซียจะสนับสนุนอิหร่านและจะพยายามลดผลกระทบที่ส่งผลต่อตลาดพลังงานของโลกในเชิงลบให้น้อยลง”

3.2 สหรัฐไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในการพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนเอง

ในประเด็นนี้ปธน.ปูติน ได้กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ผมไม่มีทางยอมรับการกล่าวหาว่าอิหร่านเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการนี้โดยปราศจากหลักฐาน” นอกจากนี้ปูตินยังตั้งข้อสังเกตโดยการตั้งคำถามว่า ระบบการตรวจสอบและการสืบค้นข้อมูลของสหรัฐในเรื่องนี้ ถูกนำเสนอในบริบทหนึ่งเพื่อสนองจุดประสงค์ทางการเมืองต่างประเทศของสหรัฐ และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่พิสูจน์ถึงข้อกล่าวหาของพวกเขา ปูตินทิ้งท้ายว่า “เราจะต้องตัดสินใจบนข้อเท็จจริงไม่ใช่ความรู้สึก”

3.3 ลาฟรอฟ โครงการริเริ่มของอิหร่านควรเป็นสิ่งที่ต่างชาติต้องให้ความสนใจ

นาย เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซียได้กล่าวถึง โครงการสันติภาพช่องแคบฮอร์มุซว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันตกได้ถูกเปลี่ยนกลายเป็นภูมิภาคที่มีความอันตราย ซึ่งการที่อิหร่านได้ริเริ่มโครงการสันติภาพและการสร้างความหวังให้เกิดความมั่นคงในบริเวณช่องแคบฮอร์มุซเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับความสนใจจากทุกๆฝ่าย

ส่วนประเด็นในเรื่องของการกล่าวหาอิหร่านรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียก็ได้กล่าวเช่นกันว่า “สหรัฐพยายามทำลายและฉีกอิหร่านออกเป็นชิ้นๆ ข้อกล่าวหาที่สหรัฐมีต่ออิหร่านเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีข้อเท็จจริงที่น่าพึงพอใจและไม่มีความเชื่อถืออย่างใดเลย”

3.4 กาตาร์แสดงปฏิกิริยาเชิงบวกต่อโครงการสันติภาพช่องแคบฮอร์มุซ

ลูลู อัลคอฏีร โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกาตาร์ได้กล่าวถึงโครงการริเริ่มสันติภาพในบริเวณช่องแคบฮอร์มูสว่า” เราก็เหมือนท่านที่ได้ศึกษาและทบทวนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ซึ่งสำหรับเราโครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนต้องการพูดคุยเพื่อที่ให้ได้การริเริ่มในแบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ในมุมมองของเราจากข้อเสนอนี้ คือทางด้านอิหร่านต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา ซึ่งมันถือเป็นการเจรจาที่มีความหมายและมีประโยชน์”นอกจากนี้โฆษกรัฐมนตรีต่างประเทศยังได้กล่าวอีกว่า”ไม่ได้มีแต่กาตาร์เท่านั้นที่ไม่ต้องการการเผชิญหน้าทางการทหาร ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ต่างก็ต้องการเช่นนั้น และในตอนนี้สำหรับเราแล้วเราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกเพื่อที่จะเริ่มแล้วทำให้กระบวนการเจรจาเกิดขึ้น

  1. อิหร่านจับทีมสังหารนายพลกอเซ็มก่อนทำการ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง IRGC ของอิหร่าน ได้กล่าวแถลงข่าว การจับกุมทีมลอบสังหารนายพล กอเซม  สุไลมานี  ข้อมูลล่าสุดได้เปิดเผยว่า ทีมลอบสังหาร [I]เริ่มต้นแผนการจากการซื้อบ้านที่พักอาศัย ซึ่งอยู่ติดกับฮูซัยนียะ(สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา)ของบิดานายพลกอเซ็ม จากนั้น [II] ทีมลอบสังหารได้ขุดอุโมงใต้ดิน จากบ้านที่ซื้อ ไปจนถึงใต้พื้นของฮูซัยนียะฮ์ [III]ทีมลองสังหารได้ฝังระเบิด 500 กิโลกรัม จากนั้นทีมดังกล่าวก็เตรียมการเพื่อให้เป้าหมาย ซึ่งก็คือ นายพล กอเซม เข้าร่วมงานรำลึกถึงโศกนาฏกรรมกัรบาลา ซึ่งกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะฮ์ จะจัดการรำลึกนี้ขึ้นในช่วงเดือนมุฮัรรอมของทุกปี ทีมดังกล่าวได้เตรียมการลอบสังหารในปีนี้ เพียงรอให้นายพล กอเซม ปรากฎตัว ปฏิบัติการลอบสังหารก็จะดำเนินการในทันที หลังจากสืบสวน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามหรือ IRGC ของอิหร่านก็ได้เข้าจับกุมทีมลอบสังหารเหล่านี้ก่อนทำการ หลังจากนั้นทาง IRGC ก็ได้ออกมายืนยันว่า การลอบสังหารดังกล่าว เป็นแผนของ อาหรับ-อิสราเอล

มุมมองทางเลือก : หลังจากสืบสวน IRPG ได้แจ้งว่า ทีมลอบสังหารชุดดังกล่าวได้ไปฝึกฝนปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องที่น่าสนใจที่สุดของข่าวนี้ก็คือ นายพลผู้นี้มีบทบาทอะไร ถึงทำให้ผู้อยู่เบื้องหลังต้องจัดทีมขนระเบิดครึ่งตันเพื่อลอบสังหารเขา ?

บทบาทสำคัญของนายพลกอเซม เริ่มต้นตั้งแต่สมัยสงคราม 8 ปี อิรัค-อิหร่าน ตั้งแต่สมัยยังไม่เป็นนายพล ชายผู้นี้คือหนึ่งในมือพระกาฬของทางฝั่งอิหร่าน และหลังจากที่เข้ามามีบทบาทในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ในซีเรีย ก็นายพลผู้นี้อีกเช่นกันที่ปลดแอกประชาชนจากการถูกปกครองของกลุ่มไอเอส  หากเราไม่พิจารณาจากประวัติของอิหร่านแต่ทำความรู้จักผ่าน อิสราเอล และ สหรัฐ ก็จะพบในมุมมองของสองประเทศนี้ว่า นายพลกอเซม เป็นหนึ่งในบุคคลที่อิสราเอลหวังที่จะลอบสังหารและหวั่นเกรงที่สุด เพราะเขาคือคนที่ก่อตั้งกองกำลังปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือที่เรียกว่า กองกำลังกุดส์  ดังนั้นถ้าจะมีการลอบสังหารเกิดขึ้นมันก็ไม่ใช่เรื่องอื่นนอกจากจุดประสงค์และบทบาทที่นายพลได้แสดงต่อภูมิภาค

 

source: reuters

sputniknews

isna

jpost