วิเคราะห์: การประชุม ‘G7’ สะท้อนความไร้เสถียรภาพของกลุ่มชาติตะวันตก

202

การประชุม G7 เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อไม่กี่วัน ณ เมือง เบียริซ ในช่วงวันที่ 24-26 สิงหาคม เป็นเวลา 3 วันที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงก่อนการประชุม หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า การประชุมครั้งนี้ อาจมีความคืบหน้าในเชิงบวกต่อประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่ แต่หลังจากสิ้นสุดการประชุมปรากฎว่า แม้แต่แถลงการณ์ร่วมก็ไม่เกิดขึ้น มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผลออกมาเป็นแบบนี้

เริ่มจากประเด็นแรก ตั้งแต่ช่วงแรกที่จัดการประชุม ก็มีนักเคลื่อนไหวราว 9000 คน ที่ออกมาเดินขบวนเพื่อแสดงถึงการไม่สนับสนุนการประชุมครั้งนี้ มีการนำรูปผู้นำทั้ง 7 มาประท้วง โดยเฉพาะผู้นำฝรั่งเศส รูปของเอมานูเอล มาครง ถูกชูกลับหัว เป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ว่า พวกเขาต้องการให้มาครงลงบัลลังค์แห่งอำนาจของฝรั่งเศส

ประเด็นที่สองคือในช่วงระหว่างการประชุม ความไม่ลงรอยกันของผู้นำทั้ง 7 ทำให้ไร้เสถียรภาพ ไร้เอกภาพ และไม่มีผลลัพธ์ในเชิงบวก เพราะทั้ง 7 เห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น เช่น ปัญหาสภาพอากาศที่สหรัฐอยู่ๆก็โดดประชุม เรื่องการเชิญรัสเซียให้มาร่วมเป็น G8 เหมือนในอดีตของทรัมป์ ที่ประเทศอื่นๆไม่เห็นด้วย  ส่วนเรื่องอิหร่าน มาครงอยากให้อิหร่านขึ้นโต๊ะเจรจา แต่ก็ได้รับคำตอบจากอิหร่านว่า ตะวันตกไม่เป็นธรรมต่ออิหร่านมาโดยตลอด และตราบใดที่การคว่ำบาตร 40 ปีที่ผ่านมายังไม่ยุติลงเสียที คุยไปก็ไม่ได้อะไร อันที่จริง ทุกครั้งที่เปิดโต๊ะเจรจา ทางฝ่ายตะวันตกเอง ก็คว่ำโต๊ะไปเสียทุกครั้ง อิหร่านจึงมีสภาพทั้งเบื่อหน่าย ทั้งผิดหวัง และรู้สึกถูกอธรรม(เพราะเคยโดนข้อหาแบบเชิงเหยียดว่า ชาติอิหร่านเป็นชาติก่อการร้ายทั้งชาติ) จึงประกาศอย่างชัดเจนว่า เราจะไม่เจรจา ตราบใดที่การคว่ำบาตรยังไม่ถูกยกเลิก และอิหร่านไม่ได้รับการเคารพด้านสิทธิมนุษยชน ราฟาเอล พันทุซซี่ นักวิชาการด้านศึกษาความมั่นคงระหว่างประเทศจากสถาบัน Royal United Services Institute หรือ RUSI อธิบายว่า ตะวันตกเริ่มกลายเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และไม่มีความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆได้ ตัวอย่างคือ การประท้วงที่เกาะฮ่องกง สหรัฐทำอะไรไม่ได้เลย

ประเด็นที่สาม ฝรั่งเศส พยายามนำเสนอนโยบาย พหุภาคี ลดแนวคิดชาตินิยม เน้นความเป็นสากลมากขึ้น แต่ทรัมป์ปัดตกแบบไม่เหลือทางให้มีโอกาสได้พูดต่อ และยังกดดันยุโรป โดยกดดัน ให้ยุโรปร่วมทำสงครามการค้ากับจีน มันก็เลยกลายเป็นเรื่องที่เห็นต่างแบบเชิงข่มอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นที่สี่ รัสเซีย ไม่ได้รู้สึกรู้สาใดๆเลย และไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการถูกขับออกจากการประชุมสุดยอดผู้นำ G เมื่อปี 2014 เพราะเรื่องยูเครน แถมยังหันไปสนับสนุน และเป็นซี้กับจีนยิ่งขึ้น ทรัมป์พยายามจะเชิญ ปูติน กลับสู่โต๊ะประชุมอีกครั้ง แต่สิ่งที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ตอบกลับคือ คำปฏิเสธพร้อมตอกกลับสั้นแต่เจ็บยาว ว่า “G7 เป็นแค่อากาศ ไม่มีตัวตน”

ในเกมการเมืองระหว่างประเทศ เป็นที่ชัดเจนว่า จีน กับ รัสเซีย ล้วนก้าวหมากที่ทำให้ตนได้เปรียบยิ่งขึ้น ส่วนสหรัฐยิ่งเดินยิ่งแพ้ ยิ่งเสียเพื่อนแบบไม่รู้ตัว  สุดท้ายการประชุม G7 ก็จบแบบงงๆโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วมกัน  และนี่คือความคืบหน้าที่ไม่คืบหน้าของตะวันตกในปัจจุบัน…

source: presstv

presstv

voathai