สตรีต่างศาสนาสวมฮิญาบ ในโครงการ 30 วัน-รอมฎอน “Hijab Challenge”

สตรีจากหลากหลายความเชื่อ ร่วมใจสวมฮิญาบในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธ์ของศาสนาอิสลาม ในการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสตรีมุสลิม ที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ

775
Ellie Lloyd และ Grace บุตรสาว คริสตศาสนิกชนชาวอังกฤษ เข้าร่วมในโครงการ "30 วันรอมฎอนฮิญาบชาเลนจ์" ซึ่งเชิญชวนให้สตรีสวมฮิญาบในเดือนรอมฎอน

Grace Lloyd ได้รับการต้อนรับด้วยเสียงปรบมือแสดงความยินดีจากเพื่อนร่วมชั้น ณ โรงเรียนภาษาอังกฤษในอ่าวของโดฮา สำหรับวันแรกของการคลุมผ้าฮิญาบในเดือนรอมฎอนพร้อมกับชุดนักเรียนสีน้ำเงินของเธอ

เด็กหญิงวัย 11 ปี แสดงอาการเขินอาย จากการที่เพื่อนๆนักเรียนชั้นเกรดที่ 7 ณ เมืองหลวงของการ์ตาร์ ปรบมือต้อนรับเธอ เมื่อช่วงต้นเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา

Grace Lloyd จะคลุมศีรษะตลอดทั้งเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ในปีนี้ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสตรีมุสลิมที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ สำหรับกรณีที่พวกเธอเลือกคลุมผ้าฮิญาบ

“ฉันรู้สึกหนักแน่นเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้” – เด็กหญิง Lloyd กล่าว เธอเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ 30 วันรอมฎอนฮิญาบชาเลนจ์ ที่อายุน้อยที่สุด โครงการนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยการริเริ่มขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร World Hijab Day (WHD) ในการเชิญชวนผู้หญิงจากทุกความเชื่อ และศาสนาให้ร่วมสวมผ้าคลุมศีรษะสำหรับเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

“ฉันมักจะเลือกสวมผ้าคลุมสีดำ ฉันรู้สึกสะดวกสบายกว่าในสีดำ เพราะเพื่อนๆจากชั้นเรียนของฉันก็จะสวมใส่มันเช่นเดียวกัน” – เธอบอกกับสำนักข่าว Al-Jazeera พลางเสริมว่า เธออาจจะลองสวมผ้าสีอื่นในวันอื่นของเดือนภายหลังจากนี้

สำหรับองค์กร World Hijab Day (WHD) เป้าหมายของกิจกรรม 30 วันนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีงามร่วมกับผู้คนอื่นๆในชุมชน และเพื่อทำลายความเข้าใจที่ผิดๆที่สังคมมีต่อสตรีมุสลิม

“โครงการนี้ มีไว้สำหรับใครก็ตามที่อยากจะสัมผัสประสบการณ์การคลุมฮิญาบเป็นระยะเวลามากกว่า 1 วัน เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น เกี่ยวกับสิ่งที่หญิงมุสลิมจะต้องเผชิญในวิถีชีวิตประจำวัน” Nazma Khan ประธาน และผู้ก่อตั้งองค์กร World Hijab Day กล่าว

ทุกๆปีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของ Khan จะเชิญชวนสตรีทั่วไปให้สวมใส่ฮิญาบ 1 วัน เนื่องในโอกาสครบรอบวันฮิญาบโลก (World Hijab Day)

“การมีวันหนึ่งวัน ให้เราได้สัมผัสสถานการณ์ของผู้อื่น มันเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม แต่สำหรับ 30 วันนั้น มันเป็นโอกาสที่เราจะได้สัมผัสกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญอย่างจริงจัง” – Ellie Lloyd คณะกรรมการบริหาร และทูตจากประเทศการ์ตาร์ ประจำองค์กรกล่าว

“จากความหมายโดยทั่วไป ฮิญาบ คือ ชิ้นผ้าชิ้นหนึ่ง แต่สำหรับสตรีมุสลิมที่เลือกสวมใส่มันนั้น มันมีความหมายทางด้านจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งต่อพวกเขา” เธอกล่าวเสริม

ประสบการณ์ถือศีลอด

เดือนรอมฎอน คือ เดือนสำคัญหนึ่งในปฎิทินอิสลาม เพราะเป็นเดือนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานลงมาในฐานะทางนำ หรือ เครื่องจำแนกแยกแยะให้แก่มนุษยชาติ ด้วยประการฉะนี้ เดือนนี้จึงมีคำสั่งใช้พิเศษ โดยพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติให้มีการถือศีลอดในเดือนนี้ เพื่อการขัดเกลาจิตวิญญาณ และร่างกายให้สะอาด ในเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ศึกษาและเข้าใกล้ชิดกับอัลกุรอานมากยิ่งขึ้น

มุสลิมทั่วโลกจึงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน คือ การไม่กิน ไม่ดื่ม และกระทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมอันเป็นเหตุให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ (อาทิ การพูดปด การฟัง หรือดูสิ่งที่ไม่ดีงาม และการสูบบุหรี่ เป็นต้น) ตั้งแต่ช่วงเวลาที่อาทิตย์ทอแสง ไปจนถึงช่วงที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตามพระบัญญัติจากพระผู้เป็นเจ้า การถือศีลอด ถือเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญและเป็นคำสั่งวาญิบ (บังคับกระทำ) ซึ่งมุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่เข้าสู่วัยบรรลุนิติภาวะตามกฎเกณฑ์ของศาสนา

Khan บอกกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า การที่สตรี ซึ่งไม่ใช่ชาวมุสลิมสวมฮิญาบนั้น ให้ผลกระทบทางสังคมที่มากกว่าการถือศีลอดของพวกเขา เมื่อกล่าวถึงส่วนของกิจกรรมรอมฎอนชาแลนจ์

Afaf Nasher คณะกรรมกรรมบริหาร สภาว่าด้วยความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม ในนิวยอร์ก (CAIR) เห็นด้วยกับ Khan

“การถือศีลอดโดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นสิ่งที่สาธารณชนไม่อาจมองเห็นได้ ดังนี้การสวมฮิญาบจึงเป็นการส่งเสริมศรัทธาอย่างเปิดเผย ในรูปแบบที่การถือศีลอดไม่อาจทำได้” เธอกล่าว

Kayla Hajji คริสศาสนิกชน นิกายมอร์มอน จากรัฐแคลิฟอร์เนีย

อย่างไรก็ดี ในฐานะคริสศาสนิกชน นิกายมอร์มอน Kayla Hajji ซึ่งนอกจากเธอจะร่วมกิจกรรมคลุมฮิญาบ 30 วันแล้ว เธอกล่าวว่า เธอก็จะถือศีลอดด้วยเช่นเดียวกันในปีนี้

“มันมีความสวยงาม ในการมาอยู่ร่วมกันในชุมชนของผู้ศรัทธา เพื่อถือศีลอด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่มิอาจบรรยายได้ นอกเสียจากว่าคุณจะเข้าร่วมปฏิบัติด้วย” – หญิงสายชาวอเมริกันจากเฟรสโน รัฐแคลิฟอร์เนีย วัย 35 ปี Kayla Hajji กล่าว

เธอต้องการใช้ประสบการณ์นี้สำรวจสิ่งที่ “พี่น้องร่วมศรัทธา” ของเธอจะต้องเผชิญในแต่ละวัน เพื่อทำความเข้าใจ “อุปสรรค และวิธีการเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น” ให้ดียิ่งขึ้น

Ellie Lloyd อีกหนึ่งผู้ร่วมโครงการ ที่มีแนวโน้มจะร่วมถือศีลอดพร้อมกับชาวมุสลิมในปีนี้ เล่าว่า เธอและบุตรสาวของเธอ Grace แทบจะต้อง “เปลี่ยนตู้เสื้อผ้าทั้งหมด” ให้กลายเป็นชุดเสื้อผ้าที่ปกปิดเรือนร่างและสรีระ เพื่อให้เข้ากับการคลุมผ้าคลุมฮิญาบอย่างถูกต้อง

“มันไม่ได้เป็นเพื่อแค่การเอาผ้ามาคลุมผม แต่มันคือการแต่งกายเช่นเดียวกัน” – สตรีชาวอังกฤษในวัน 38 ปี บอกกับ Al Jazeera

“มันไม่ใช่เป้าหมายของการสวมฮิญาบ หากคุณจะสวมใส่กางเกงจีนส์รัดรูป และเสื้อเอวลอยในขณะเดียวกัน” – Lloyd อธิบาย “มันคือการเคารพการแต่งกายทุกส่วน ไม่ใช่แค่การคลุมผม”

การเลือกปฏิบัติ

สตรีมุสลิมมักจะเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ และคำข่มขู่สำหรับการสวมใส่ฮิญาบ

เมื่อต้นปีนี้ มีจดหมายปลุกระดมผู้คนให้โจมตีชาวมุสลิมแพร่สะพัดไปทั่วเมืองต่างๆในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 ของเดือนเมษายน – เป็นวันซึ่งถูกเรียกว่า “วันลงโทษมุสลิม” (Punish A Muslim Day)

ใบปลิวดังกล่าว ได้ถูกส่งไปยังชาวอังกฤษหลายคนทางไปรษณีย์ โดยระบุว่า จะมีการมอบรางวัล สำหรับใครก็ตามที่ดึงผ้าคลุมออกจากศีรษะของสตรีมุสลิม หยามเหยียดคนมุสลิมด้วยวาจา และสาดน้ำกรดใส่หน้าพวกเขา

ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ และกระแสการ “แบนมุสลิม” เริ่มต้นขึ้น CAIR รายงานว่า มีเหตุการณ์ต่อต้านชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17 ในสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้ว เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า คือในปี 2016

“ผ้าคลุมบนศีรษะสตรี เป็นสิ่งกระตุ้นความรุนแรงกว่าร้อยละ 13 จากเหตุการณ์ดังกล่าว” – ทางกลุ่มกล่าวในรายงานสิทธิพลเมืองล่าสุดที่ถูกเผยแพร่เมื่อเดือนที่ผ่านมา

Pamela Zafred นักศึกษาชาวบราซิล ในนามของคริสตศาสนิกชน นิกายคาทอลิก

นักศึกษาชาวบราซิล Pamela Zafred ผู้ซึ่งเข้าร่วมในการทดลองทางสังคม(Social Experiment)ในเดือนนี้ กล่าวว่า ประสบการณ์ครั้งนี้ ได้กลายมาเป็น “สิ่งที่เปิดตา” ของเธอ

หญิงสาววัย 19 ปีจาก Goiania ซึ่งเติบโตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมของนิกายคาทอลิค แต่ไม่ได้นับถือศาสนาหนึ่งศาสนาใด เล่าให้ Al Jazeera ฟังถึงประสบการณ์คลุมฮิญาบในโครงการ 30 วันรอมฎอนชาแลนจ์ว่า มันเป็นสิ่งที่ “เลวร้ายที่สุด”

“ฉันไปโรงยิม (ขณะสวมผ้าคลุมฮิญาบ) และฉันได้ยินเสียงหัวเราะเยาะเย้ยฉันอย่างไม่หยุดหย่อน” เธอกล่าว “ชั้นเรียนของเราจะถูกจัดให้อยู่เป็นกลุ่มๆ แต่ไม่มีใครเลือกที่จะอยู่กลุ่มเดียวกับฉัน จนกระทั่งอาจารย์เป็นคนมาแบ่งกลุ่มพวกเราด้วยตัวของเขาเอง”

“ฉันสามารถจินตนาการถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่สวมฮิญาบ และความรู้สึกถูกปฏิเสธ ที่พวกเธอต้องเผชิญ ซึ่งมันส่งผลกระทบกับจิตสำนึก sense of belonging อย่างไร”

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งท้าทายจากปฏิกิริยาที่เป็นลบในเครือข่ายสื่อโซเชียล ด้วยคำศัพท์ต่างๆ ที่เธอต้องเผชิญ อาทิ คำที่เกี่ยวกับ “การกดขี่” หรือ “การเป็นทาส” เป็นต้น

…….
Via: