ขึ้นชื่อว่าวัยรุ่น ย่อมมีเรื่องราว ยุ่งเหยิง และ ความเร็วของชีวิตตามมาเสมอ บ้างก็ใช้ชีวิตแบบโลดโผน บ้างก็เก็บเนื้อเก็บตัว บ้างก็ลองผิดลองถูก บ้างก็ใจร้อนไปเสียทุกเรื่อง สำหรับคนที่ผ่านพ้นวัยนี้ไปแล้ว เมื่อนึกถึงอดีต ก็คงระลึกถึงความคึกคะนอง ความผิดพลาด หรือไม่ก็ความเร้าใจในชีวิตช่วงนั้นของตนเอง
แน่นอนว่า “วัยรุ่น” เป็นวัยที่คนเราจะได้เรียนรู้วิชาชีวิตอย่างมากมาย มหาลัยฯแห่งชีวิต ลงหน่วยกิจมากที่สุดในวัยนี้ บางคนก็ทำข้อสอบชีวิตผ่าน ไปรอดจนผ่านมันมาได้ บางคนก็หยุดอยู่แค่นั้น สอบตกซ้ำแล้วซ้ำเหล่า ด้วยข้อสอบชุดเดิม สุดท้ายก็กลายเป็น เรียนวิชาชีวิตไม่จบ ล้มเหลวไม่เป็นท่า ก้าวสู่เวทีระดับสังคม และดิ้นรนกันต่อไป
เมื่อเรา ค้นหาว่า ทำไมถึงล้มเหลว ทำไมถึงไปไม่รอด ทำไมถึงทำข้อสอบชีวิตนี้ไม่ผ่าน หลายๆแง่มุม และสิ่งที่ผ่านมาในช่วงชีวิตของการเป็นวัยรุ่น ชี้ว่า หนึ่งในสาเหตุแห่งความล้มเหลว คือ ความใจร้อนมากเกินไป หรือ ก็คือ การใช้พลังแห่งความโกรธ อย่างผิดสถานการณ์
ความโกรธ เป็นสิ่งที่มนุษย์เรามีกันทุกคน และไม่ได้หมายความว่า พลังแห่งความโกรธ จะไม่มีอะไรดีเลยอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ เพราะ ความโกรธโดยตัวของมันแล้ว จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับเวลา เช่น หากมีใครมารังแก ครอบครัว หากเราไม่โกรธ ไม่รู้สึกทุกข์ร้อน ไม่รู้สึกว่าต้องปกป้องสิ่งสำคัญ นั่นคงไม่อาจเรียกว่า “คุณธรรม” และในทางกลับกัน หากแค่ไม่ชอบหน้าใคร หรือ ใครทำอะไร ไม่ได้ดั่งใจ ก็พากันโกรธพาล จนบางครั้งถึงกับเอาเรื่องเอาราว เอาเลือดหัวออกกัน แม้จะเป็นแค่เรื่องไข่ไก่ใบเดียว เรื่องขี้ปะติ๋ว นั่นก็ไม่ใช่เรื่องถูกเรื่องควรเหมือนกัน
สิ่งเดียวที่จะบอกให้รู้ว่า เวลาไหน ควรใช้พลังนี้ คือ สติปัญญา และอาวุธที่จะใช้สู้กับมัน คือ ขันติ หรือจะพูดอีกแบบหนึ่ง ถ้าใช้ปัญญาควบคุม พลังโกรธ พลังนี้ก็จะถูกใช้อย่างถูกสถานการณ์ ถูกที่ ถูกเวลา
ประวัติศาสตร์ความใจร้อนของวัยรุ่น คิดๆดูแล้ว ก็น่าจะมีนักเขียนสักคนหนึ่ง รวบรวบเนื้อหาเหล่านี้ขึ้นมา แล้วมาดูกันว่า มันดี หรือ ร้ายอย่างไร หากเราศึกษา ชีวิตในช่วงวัยรุ่น ค้นคว้าอดีต เพื่อปรับปรุงปัจจุบัน ก็จะพบว่า เพราะการไม่รู้จักใช้พลังนี้อย่างถูกต้องนี้ ปัญหาเรื่องยุ่งยากถึงเกิดขึ้นมากมาย
หนึ่งในผลเสียอย่างร้ายแรง ที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ปล่อยให้เพลิงแห่งความโกรธเข้าครอบงำ คือ การเป็นบ้า โทสะคือสาเหตุของความบ้ามีคำสอนประโยคหนึ่งจากท่าน อาลี บิน อบีฏอลิบ(อ.) ที่พูดถึงเรื่องของความโกรธไว้อย่างน่าแปลกใจ ท่านกล่าวว่า
“โทสะ คือ ชนิดหนึ่งของความบ้า เพราะผู้ที่เป็นเจ้าของมัน จะเสียใจในภายหลัง และหากไม่รู้สึกเสียใจ การเป็นบ้าของเขา ก็เป็นเรื่องแน่แท้มั่นคง”[1]
ที่ความโกรธ ทำให้คนเป็นบ้า เพราะ เมื่อใดที่คนเราโกรธ เขาจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ประคองสติตนเองไว้ไม่อยู่ เมื่อไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อไม่สามารถใช้สติประคองตนได้ การกระทำของเขา ก็จะเหมือนกับคนบ้า เพราะคนบ้า คือ คนที่แสดงสิ่งต่างๆ กระทำเรื่องราว กล่าวถ้อยคำมากมาย โดยไม่ควบคุมตนเอง และเมื่อสติกลับมาอีกครั้ง เมื่อคนๆนั้น มองดูสิ่งที่เขาทำลงไป ความผิดพลาด ก็คือ สิ่งที่ทำให้เขาต้องเสียใจแต่ถ้าไม่เสียใจ นั่นก็เท่ากับบ้า ความเป็นบ้าของเขาเป็นสิ่งที่แน่นอน
มีตัวอย่างชีวิตมากมายที่ยืนยันคำสอนบทนี้ในสังคมไทย มีเหตุการณ์วัยรุ่นเลือดร้อนปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่ต้นปี จนท้ายปี สงครามระหว่างสถาบัน,ความฉุนเฉียวบนท้องถนน ซึ่งบางครั้ง การกระทำอันโหดร้ายเหล่านี้ ก็เป็นเหตุทำให้ผู้อื่นต้องเสียชีวิต ทำให้ครอบครัวต้องพรากจากคนที่รัก ส่วนตัวผู้ที่กระทำนั้น ก็ต้องลงเอย ด้วยการคิดคุก ติดตาราง หรือไม่ ก็กลายเป็นที่ประณามของสังคมอย่างที่เป็นข่าว ครั้นเมื่อถึงคราวจะไปสมัครงานที่ไหน ก็ไม่มีใครรับ ลูกและครอบครัวก็ต้องอับอายเพราะการระเบิดอารมณ์ และโทสะเพียงแค่ชั่ววูบเดียว เห็นไหมว่า ความโกรธนี้มันส่งผลรุนแรง และร้ายกาจต่อเจ้าของของมันขนาดไหน อันที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้มีเหตุการณ์ หรือ อุทาหรณ์เกิดขึ้นมาก่อนที่จะได้เรียนรู้เลย เมื่อรู้ตัวว่า”วัยรุ่น ติดไฟง่าย” ก็ต้องเอาตัวออกห่างเชื้อไฟไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องมาเสียใจกันในภายหลัง
เมื่อความโกรธ ปรากฏขึ้นในหัวใจ สิ่งที่จะต้องใช้คือ “ความอดทน” ท่านอาลี บิน อบีฏอลิบ(อ.) ได้กล่าวว่า
“ความอดทนคือ การที่คนๆหนึ่ง อดทนต่อความความยากลำบากของตนเอง และการดับโทสะของตนเอง”[2]
ฉะนั้น เมื่อเป็นวัยรุ่น สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ประมาท และระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ก็คือ “ความโกรธของตนเอง” เพราะผู้ที่ควบคุมความโกรธของตนเอง ด้วยขันติได้สำเร็จ ย่อมจะไม่เสียใจ และมีบั้นปลายชีวิตที่งดงาม
[1]นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์วิทยปัญญาที่ 255((الحِدَّةُ ضَرْبٌ مِن الجُنونِ ؛لأنَّ صاحِبَها يَنْدَمُ ، فإنْ لَم يَنْدَمْ فجُنونُهُ مُسْتَحكِمٌ))
[2]จากหนังสือ ฆุรอรุลฮิกัมฮะดิษ 1874 ((الصَّبرُ أن يَحتَمِلَ الرجُلُ ما يَنُوبُهُ ، ويَكظِمَ ما يُغضِبُهُ))