ภัยคุกคามของไวรัสโคโรนาได้สร้างผลกระทบแก่มนุษยชาติในหลากหลายมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ภาวการณ์ขาดแคลนหน้ากาก บริษัทหลายแห่งปิดกิจการ ประชาชนต่างประสบปัญหาภาวะว่างงาน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหยุดการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม “ทุกๆเหตุการณ์คือบทเรียนสอนมนุษย์” ภายใต้วิกฤตการณ์เช่นนี้เราสามารถคิดและตั้งคำถามเชิงปรัชญา โดยใช้ปรัชญาห้าสาขามาเป็นหลักในการศึกษา อันได้แก่ ปรัชญาศาสนา ,ปรัชญาการเมือง,ปรัชญาจริยศาสตร์,ปรัชญาความรู้ และมนุษย์ศาสตร์
1.ไวรัสโคโรน่ากับปรัชญาศาสนา
ในปรัชญาศาสนา และเทววิทยา โคโรน่า คือ โรคร้ายชนิดหนึ่ง เป็นโรคที่ไม่เลือกชนชั้น เพศ สีผิว ชาติ หรือ แม้แต่ฐานะทางสังคม มันคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ได้ลิ้มรสความขมขื่นและความหวาดระแวง และถูกนับว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย(evil) สิ่งชั่วร้ายเช่นนี้สามารถทำให้ผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเจ้าและศาสนาได้สองรูปแบบ
[I]รูปแบบที่หนึ่ง คือ คำถามเชิงลบ หรือ คำถามนำสู่การปฏิเสธ หรือ อย่างน้อยคำถามตั้งข้อสงสัย เช่น ถ้าหากมีพระเจ้าผู้มีความรู้ มีอำนาจ มีความดีโดยสมบูรณ์ เหตุใดจึงปล่อยให้โรคร้ายเช่นนี้เกิดขึ้น
[II]รูปแบบที่สอง คือ คำถามเชิงบวก หรือ คำถามค้นหาพระเจ้า เช่น โรคร้ายเช่นนี้ไม่สามารถเรียกร้องให้มนุษย์มีสติกระนั้นหรือ ? โรคร้ายเช่นนี้ไม่สามารถปลุกมนุษย์ให้ตื่นขึ้นจากการหลับใหลแห่งชาวโลกีย์ และระลึกว่าโลกใบนี้เป็นโลกแห่งทางผ่าน เป็นโลกแห่งการทดสอบกระนั้นหรือ ? จริงๆแล้ว โคโรน่าช่วยทำให้ความเชื่อในเรื่องพระเจ้าเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง ?
ในระยะสั้นคำตอบที่ได้จากการคิดอาจสนับสนุนรูปแบบที่หนึ่ง แต่ในระยะยาวการคิดถึงเรื่องนี้จะทำให้ความเชื่อในเรื่องพระเจ้าและศาสนาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะ
[I]โรคเป็นวิธีตายรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ มันได้ทำลายความเย่อหยิ่งและการหลงคิดว่ามนุษย์สามารถอยู่รอดได้เพียงความรู้ และเทคโนโลยี
[II]มันได้ทำลายความลำพองตนของผู้ที่อยู่จุดสูงสุดของชนชั้น และทำให้พวกเขาตระหนักว่า ต่อให้มีอำนาจล้นฟ้า เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น และจตุนิมิตสี่ประการที่ทำให้มนุษย์ตื่นจากการหลอกลวงอีกครั้ง
[III]โคโรน่ายังทำให้เราเห็นถึงการนับถือศาสนาแบบโง่เขลา ที่ไม่สอดคล้องหลักการของศาสนาตนเอง “ความหายนะของมนุษย์จะอุบัติขึ้นหากนับถือแต่ไม่ใช้สมอง ผู้คนมากมายทำให้แนวทางของตนเสื่อมเสีย เพราะกระทำไปบนความไม่รู้”
คำตอบจากการใคร่ครวญวิกฤตการณ์เช่นนี้อาจแตกต่างกันตามความแตกต่างของวิถีชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรม แต่ไม่ว่าจะวิถีใด พายุที่โหมกระหน่ำกลางมหาสมุทรย่อมทำให้บางสิ่งในหัวใจตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
2.ไวรัสโคโรน่ากับปรัชญาการเมือง
โคโรน่าสามารถนำพาสู่คำถามเชิงปรัชญาการเมืองได้ดังนี้
[I]หากรัฐบาลต่างๆ มีอำนาจมากกว่านี้ มีอุปกรณ์และเครื่องมือเฝ้าระวังมากกว่าและดีกว่า มีผู้ตรวจสอบดีกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ มันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเช่นนี้ได้หรือไม่ ?
[II]มองแบบคิดเชิงวิพากษ์ มองแบบ Post Modern โคโรน่าทำให้อำนาจของรัฐบาล และอำนาจขององค์กรอื่นอ่อนแอลงหรือแข็งแกร่งขึ้น
[III]โคโรน่าสามารถทำให้สังคม (ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงมหภาค) แข็งแกร่งขึ้นหรืออ่อนแอลง ?
หากคำตอบของคำถามแรกเป็นบวก แสดงว่าการแก้ปัญหาการแพร่ของโรคระบาด อยู่ที่ประสิทธิภาพและอำนาจของรัฐบาล แต่หากเป็นลบ แสดงว่าต่อให้รัฐบาลมีอำนาจ มีเครื่องมือ มีมาตรการ มีหน่วยงานดีสักเพียงใด ก็ไม่อาจยับยั้งวิกฤตได้ อาจจะด้วยสามเหตุผล หนึ่ง เพราะขาดความร่วมมือจากภาคประชาชนอย่างเต็มที่ในระยะแรก เหมือนที่เกิดขึ้นในอิตาลี สอง เพราะประชาชนให้ความร่วมมือแต่รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาด เหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เพราะแม้จะมีความรู้หรือเป็นประเทศที่ก้าวล้ำทางเทคโนโลยีมากเพียงใด แต่หากตัดสินใจผิดพลาด ก็ไม่อาจยับยั้งวิกฤตนี้ได้ สาม เพราะประมาท และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่คิดจะส่งผลกระทบได้ถึงขนาดนี้ และอาจมีเหตุผลอื่นๆอีกมากมาย และไม่จำกัดด้วยว่าปัญหาของหนึ่งพื้นที่มีแค่เหตุผลเดียวที่เป็นปัจจัย
นอกจากนี้โคโรน่ายังทำให้คุณค่าที่เหล่าปัญญาชนหลังยุค Post Modern พยายามผลักดันและให้ความสำคัญอย่าง เสรีภาพ ปัจเจกนิยม ต้องถูกตั้งคำถามอีกครั้งหนึ่ง เช่น การไม่วางมาตรการกักกันโรคเชิงบังคับต่อประชาชนในทุกกรณี เพราะขัดกับหลักอิสรภาพและเสรีภาพแม้ว่าจะมีวิกฤตเช่นนี้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ ? การตัดสินใจไม่กักตัวเองของบุคคลที่มีความเสี่ยงในสถานการณ์โรคระบาดโดยไม่รับผิดชอบและคำนึงถึงสังคม เพราะคิดบนหลักปัจเจกนิยม เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ? โคโร่นาได้แสดงให้เห็นว่า ความคิดเช่นนี้ไม่ใช่ปัจเจกนิยม แต่คือความเห็นแก่ตัว
หากวางกระบวนทัศน์การปกครองและเศรษฐกิจบนรากฐานแนวคิดแบบเสรีนิยมโดยไม่มีการแทรกแซงของรัฐ ทำไมเจ้าของธุรกิจเลือกกักตุนหน้ากาก หรือ ขายหน้ากากในราคาแพง ถึงเป็นสิ่งที่ผิด และขัดแย้งกับมวลชน หากเสรีนิยมมาก่อนเฉพาะเวลาปกติ แต่เวลาวิกฤตรัฐบาลมีอำนาจแทรกแซง อะไรคือเหตุผลให้เหล่าเสรีนิยมเว้นวรรคเสรีภาพของตนเองในเมื่อการแทรกแซงของรัฐบาลขัดกับเสรีภาพของเสรีนิยมแบบใหม่ หากระบบคิดนี้ใช้ได้ในทุกกรณี กรณีดังกล่าวก็จะต้องไม่มีข้อยกเว้น แต่หากมีข้อยกเว้น ก็แสดงว่าที่บอกว่าเสรีนิยมใช้ได้กับทุกสภาวะแม้แต่การตลาดก็ไม่ใช่เรื่องจริง
คำตอบของคำถามที่สอง โคโรน่าสามารถทำให้อำนาจของรัฐบาลอ่อนแอลง ทำให้ประเทศหนึ่งสูญเสียรายได้มหาศาล และยังทำให้เอกชน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆอ่อนแอลง แต่ก็สามารถทำให้แข็งแกร่งขึ้นเพราะวิกฤตการณ์เช่นนี้ ยังสามารถเผยให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการและการแก้ปัญหาของแต่ละองค์กร
คำตอบของคำถามที่สาม การแสดงความเกลียดชัง ความหวาดระแวง ความเห็นแก่ตัว การคำนึงถึงการอยู่รอดของตนเองเป็นหลักอาจเกิดขึ้นในสังคมที่หล่อเลี้ยงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบเห็นแก่ตัว แต่ในทางกลับกันโรคร้ายเช่นนี้ก็สามารถสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในฐานะศัตรูร่วมกันของมนุษยชาติ และมันยังทำให้เราได้เห็นถึงคุณค่าของอาชีพที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายเช่นนี้ พร้อมๆกันกับช่วยเปิดเผยผู้ที่ใช้แสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิกฤต
3.โคโรน่ากับปรัชญาจริยศาสตร์
เหตุการณ์นี้สามารถตั้งคำถามปรัชญาจริยศาสตร์ได้ว่า หลักการศีลธรรมที่ใช้กันสภาวะปกติ ตอบโจทย์และใช้ได้สถานการณ์วิกฤตได้หรือไม่ ? ไม่มีข้อสังสยเลยว่า ในสภาวะปกติ ระบบสาธารณสุข ระบบการรักษาเยียวยา สื่อ แต่ละฝ่ายต่างก็เป็นงานของตัวเอง แต่ในสภาวะฉุกเฉิน ระบบสาธารณสุขมีสิทธิจะปฏิเสธคนไข้ หรือ เลือกตรวจรักษาหรือไม่ ? สื่อมีสิทธิที่จะรายงานทุกข่าว ไม่เว้นแม้แต่ข่าวสารที่ทำให้ประชาชนสิ้นหวังหรือไม่ สื่อหรือชาวโซเชียวมีสิทธิแชร์ที่อยู่หรือหน้าตาของคนป่วย รวมถึงการแชร์ทุกข่าวโดยไม่ผ่านการกรองหรือไม่ การแสดงตัวรังเกียจผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ เป็นการปฏิบัติที่มีศีลธรรมหรือไม่ นี่คือคำถามที่สัมพันธ์กันระหว่างโคโรน่ากับปรัชญาจริยศาสตร์
ในอิสลามมีหลักจริยศาสตร์สามประการที่น่าสนใจ
ประการที่หนึ่ง จริยธรรมต่อผู้ป่วย คือ การมอบความเมตตาและความหวังให้แก่ผู้ป่วย และช่วยเหลือและเยียวยาพวกเขาเท่าที่มีความสามารถ ไม่แสดงความรังเกียจ [มะฟาติฮุลฮะยาต : 364] ในขณะเดียวกันก็ให้ระมัดระวังไม่ประมาทต่อโรคร้ายดังที่ท่านศาสดา(ศ)ได้ตัวอย่างหนึ่งไว้ว่า “เมื่อใดที่เจ้าอยู่ระหว่างการเดินทาง และหนึ่งในหมู่พวกเจ้าเจ็บไข้ได้ป่วย จงหยุดเป็นเวลาสามวัน[ก็อรบุลอิสนาด:64]
ประการที่สอง จริยธรรมต่อสังคม คือ การรับผิดชอบสังคม มองว่าการกระทำของตนเองคืออามานะ(สัญญา)ที่จะต้องไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน และมองว่าตนคือส่วนหนึ่งของสังคมที่จะต้องช่วยเหลือ ร่วมมือ และเยียวยา ไม่ว่าจะด้วยความรู้ หรือ การกระทำ ไม่ว่าจะด้วยทรัพย์สิน หรือ แรงงาน ตัวอย่างเช่นคำกล่าวของท่านศาสดา(อ) “โอ้อาลี จงให้เกียรติต่อเพื่อนบ้าน แม้ว่าเขาจะเป็นต่างศาสนิกก็ตาม”[ญามิอุลอัคบาร : 84] และอีกวัจนะหนึ่ง (สิทธิของ)เพื่อนบ้านก็เป็นเช่นเดียวกับสิทธิของมนุษย์ เขาจะต้องปลอดภัยจากอันตราย และความผิดบาป และเกียรติของเพื่อนบ้านต่อเพื่อนบ้านเปรียบเสมือนเกียรติของมารดา[มะฟาติฮุลฮะยาต : 344]
ประการที่สาม หลักการพูดแต่สิ่งที่เป็นจริง-มีประโยชน์-ถูกกาลเทศะ หลักการนี้ปรากฏอยู่ในคุตบะฮ์มุตตากีน นะฮญุลบาลาเฆาะ เป็นหลักการที่สอนว่า ผู้มีความยำเกรงเมื่อเขาจะพูดต้องคำนึงถึงสามสิ่งด้วยกันได้แก่ การดูว่าสิ่งที่พูดจริงหรือไม่ การดูว่าสิ่งที่พูดมีประโยชน์หรือไม่ หากไม่มีประโยชน์แม้จะจริง ก็ไม่ได้อะไร และสามคือการดูว่าสิ่งที่พูดถูกกาละเทสะหรือไม่ เพราะหากข้อมูลจริง มีประโยชน์ แต่ผิดที่ผิดเวลา เช่น การพูดเรื่องนั้นก็ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ทั้งสามรวมอยู่ในคำว่า “ซอวาบ”(صواب)[นะฮญุลบาลาเฆาะ : คุตบะฮ์ฮัมมาม]
4.โคโรน่ากับปรัชญาความรู้
เราสามารถตั้งคำถามในเชิงปรัชญาความรู้และเทคโนโลยีได้ เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์จะพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีจนสามารถรักษาได้ทุกโรคและเอาชนะความตาย ความคิดแบบนี้เป็นเพียงนิยายหรือมีความเป็นไปได้อยู่จริง ? ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เราไม่ควรรวมความรู้ที่มนุษยชาติมีเพื่อต่อสู้เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายกระนั้นหรือ ? ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ควรใช้ปัญญาประดิษฐ์และแชร์ข้อมูลข่าวสารเพื่อโดยไม่แบ่งแยกหรือ ? เป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้คืออะไร หากเพื่อความสะดวกสบาย ทุกวันนี้มนุษย์เราใกล้เคียงกับสิ่งนั้นหรือยัง ? เมื่อไวรัสชนิดนี้มาเยือนงานถูกยุติ โรงเรียนมหาวิทยาลัยถูกสั่งหยุด ความรู้ที่เรามีในปัจจุบันทำให้มนุษย์สบายขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะประเทศที่มักอ้างอยู่เสมอว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและความรู้ ถ้าคำถามนี้ถูกโยนลงไปในสังคมคิดว่าประชาชนในประเทศนั้นจะตอบว่าอย่างไร? ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของคำถามในเชิงปรัชญาความรู้
5.โคโรน่ากับมนุษย์ศาสตร์
เราตั้งคำถามในเชิงมนุษย์ศาสตร์ได้ด้วยการพิจารณา “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” เพราะทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้ คำถามเกี่ยวกับสถานะของมนุษย์ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เช่น มนุษย์สามารถกระทำเช่นไรก็ได้ต่อทรัพยากร ธรรมชาติ ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหารและชีวิต การกินทุกอย่างที่อยากกิน การใช้ทรัพยากรที่อยากใช้โดยไม่มีขอบเขต มนุษย์มีสิทธิจะทำเช่นนั้นหรือไม่ ? มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และจะต้องปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับมัน หรือเป็นสิ่งที่โดดเดี่ยวจากธรรมชาติ และมีชะตากรรมที่ต้องต่อสู้และเอาชนะมันด้วยความรู้ และเทคโนโลยี หรือ ธรรมชาติเป็นเพียงกฎหนึ่งจากกฎแห่งการดำรงอยู่ซึ่งมีจุดประสงค์เฉพาะสำหรับมนุษย์ นี่คือคำถามที่น่าสนใจในมุมมนุษย์ศาสตร์
ในภาพรวมโคโรน่า ถือเป็นโอกาสให้การใช้ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้หากมีคำถามแบบนี้ตั้งขึ้นมันจะดูเป็นคำถามที่ไกลไปจาชีวิตรายวัน และในวันนี้การคิดใคร่ครวญเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้จำกัดแค่นักปรัชญาอีกต่อไป โลกไร้พรหมแดนได้กลายเป็นสถานที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ในด้านหนึ่ง และทำให้ทุกคนเห็นภาพรวมของเหตุการณ์จนนำมาสู่คำถามชุดใหญ่ในเชิงปรัชญาได้ในอีกด้านหนึ่ง คำถามเหล่านี้จึงปรากฏขึ้นมาทั่วโลกออนไลน์แม้บางข้อบางคำถามจะไม่ได้พูดและถูกตั้งคำถามในภาษาของปรัชญาก็ตาม