รสนิยมในการเลือกเพศเป็นเรื่อง”ละเอียดอ่อน” มักถูกพ่วงกับประเด็นเรื่อง”เสรีภาพ”อยู่เสมอ ซึ่งในตอนนี้กลุ่ม LGBT หรือ เลสเบี้ยน,เกย์,ไบเซ็กชวล,และทรานเซกชวล (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) กำลังเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ สังคมยอมรับในตัวตนของพวกเขา พวกเขากำลังพยายามพิสูจน์ว่า ทางเลือกของพวกเขามิใช่สิ่งผิดพลาด ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม และมันไม่ได้ทำร้ายใคร ทั้งยังโต้แย้งอีกด้วยว่า การกีดกัน หรือ การไม่ยอมรับทางเลือกของพวกเขา เท่ากับเป็นการขัดขวางเสรีภาพของมนุษย์ในการเลือกที่จะถือเพศของตนเอง
ดังกล่าว เป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในโลกโซเซียล ผู้เขียนได้มีโอกาสตามอ่านกระทู้ที่ทางฝ่าย LGBT ออกมาแสดงความเห็น และติดตามศึกษาข้อถกเถียงต่างๆในระดับหนึ่ง อันดับแรกที่ผู้เขียนกระทำ คือ ศึกษา เหตุผลที่พวกเขาใช้พิสูจน์ว่า ทำไมสังคมจำเป็นต้องยอมรับพวกเขาในฐานะบุคลากรคนหนึ่ง ซึ่งจากหลายร้อยความเห็น เราสามารถสรุปเหตุผลที่ LGBT ใช้อ้างอิงได้ สามข้อ ดังนี้
1.) LGBT ให้เหตุผลว่า เสรีภาพ คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องมี และ ”รสนิยมในการเลือกเพศ” ก็เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงมีสิทธิเสรีภาพที่จะถือเพศตามรสนิยมที่ตนเองต้องการ
2.) LGBT ให้เหตุผลว่า กฎที่บอกว่า มนุษย์ควรมีแค่สองเพศ เป็นกฎที่ใช้ไม่ได้ และไม่ควรใช้อีกต่อไป เพราะมันคือกฎที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์เอง ไม่ใช่ค่านิยมถาวรโดยบางคอมเม้น ได้อธิบายว่า ที่มาของกฎเกณฑ์แบบนี้ บ้างก็มาจากการตัดสินของสังคม บ้างก็มาจากคำสอนของศาสนา บ้างก็มาจากค่านิยม(ที่ทาง LGBTมองว่าผิด)
3.) LGBT ให้เหตุผลว่า การถือเพศของพวกเขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร พวกเขาสามารถทำงาน เลี้ยงครอบครัว และประกอบธุรกิจได้โดยสุจริต เหมือน เพศหญิงที่ชอบชาย และเพศชายที่ชอบหญิง ไม่แตกต่างกัน ทว่าสังคม ครอบครัว ตลอดจนสถาบันศาสนาต่างหาก ที่ไม่ยอมรับพวกเขา ในฐานะ มนุษย์ หรือ ผู้มีชีวิตในสารระบบ คนหนึ่ง
เหตุผลทั้งสามข้อที่ได้นำเสนอไปข้างต้น เป็นเพียงการสรุปรวมความคิดเห็นของ LGBT จากหลายร้อยความเห็น ตามที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสังเกตการณ์เอง ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า มันมีเหตุผลข้ออื่นๆตามมาที่ผู้เขียนอาจจะละเลย หรือได้มองข้ามไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า นี่คือสามเหตุผลหลักๆ และเมื่อลองศึกษาดู จากแต่ละฝ่าย เราจะพบว่า ในทางกลับกัน กลุ่มที่ไม่ยอมรับ LGBT ก็มีอยู่มากมายเช่นกัน อาทิเช่น สมาคมคนต่อต้านรักร่วมเพศ ในแต่ละประเทศที่มักปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งเช่นกันนี้ ทางฝ่ายที่คัดค้าน LGBT ได้ออกมาแสดงความเห็น และข้อพิสูจน์มากมาย โดยผู้เขียนจะขอจำแนกเหตุผลจากความคิดเห็นของพวกเขาออกเป็น สามข้อ เช่นกันดังนี้
1.) เหตุผลข้อที่หนึ่ง: ประการแรกเป็นเหตุผลที่หนักแน่นที่สุดสำหรับฝ่ายคัดค้าน LGBT โดยพวกเขาอ้างว่า เกย์ เลสเบี้ยน ทอม ดี้ เป็นรสนิยมทางเพศที่ฝืนและขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์แต่เดิม มีเพียงแค่สองเพศ และการสืบพันธ์จะทำไม่ได้ หากเพศชายตัดสินใจชอบเพศชายด้วยกัน และเพศหญิงตัดสินใจชอบเพศหญิงด้วยกัน พวกเขายังเสริมทัศนะให้แข็งแกร่งด้วยข้อมูลที่ว่า ส่วนมากเรามักจะพบว่า คนรักร่วมเพศ มักนำโรคร้ายมาสู่สังคม อย่างเช่น เอดส์ติดตัวมาด้วย (ในปี 2555 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์สะสมรวม 1,157,589 คน เสียชีวิต 695,905 คน ยังมีชีวิตอยู่ 464,414 คน และมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ 9,473 คน กว่าร้อยละ 80 ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ ร้อยละ 62 อยู่ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พนักงานขายบริการทางเพศ และผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ที่น่าห่วงคือ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ซึ่งคาดประมาณว่ามีประมาณ 600,000 คน จากชายไทยทั้งหมด 32 ล้านกว่าคน) หรือ มะเร็งทางทวารหนัก[1] แน่นอนทาง LGBT ก็โต้แย้งว่า การที่มนุษย์รักชอบใครสักคน ไม่ได้หมายความว่า เป้าหมายที่คนเรารักชอบกันนั้น จะต้องเป็นไปเพื่อ”สืบพันธ์”เสมอไป ในปัจจุบันเรายังสามารถรับลูกบุญธรรมมาเลี้ยงได้ และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ บางคนเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน เป็นทอมโดยไม่รู้ตัว ไม่สามารถฝืนได้ ด้วยเหตุผลทางพันธุศาสตร์(Genetics) ดังนั้น หากอ้างว่า การเป็นเกย์ ทอม คือ ทางเลือกที่ขัดธรรมชาติ ฝ่าย LGBT ก็อ้างได้เช่นกันว่า การถือเพศของตน ก็เกิดจากธรรมชาติ[2]
2.) เหตุผลข้อที่สอง : ป่วยทางจิต ฝ่ายค้านให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนไปถือเพศอื่นจากเดิม คือ ความป่วย เป็นโรคทางจิตใจ โดยกล่าวว่า ปัจจัยแวดล้อม หรือ อิทธิพลทางสังคมของปัจเจกบุคคล คือสิ่งชี้นำไปสู่การเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งทาง LGBTแย้งว่า ตนไม่ได้ป่วย และปกติสมบูรณ์ทุกประการทั้งทางกาย และทางจิต วิถีทางเพศนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางอารมณ์ หรือปัญหาทางสังคม[3]
3.) เหตุผลข้อที่สาม : ขัดกับธรรมเนียม ประเพณี และคำสอนของศาสนา ในข้อนี้ เป็นข้อที่ LGBT ได้แย้งหนักมากที่สุด ถึงขั้นโจมตี และยกคำสอนมากระแทกกันในบางวาระ
สำหรับประเด็นนี้ เราจะหาคำตอบกันอย่างไร? สังคมสมควรอยู่ข้างไหนมากที่สุด? แน่นอน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และที่สามารถกระทำได้ในเบื้องต้น คือ การสำรวจเหตุผลของแต่ละฝ่ายว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เขียนเลือกอยู่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ LGBT แต่การไม่เห็นด้วยอันนี้ ไม่ได้มาจาก ความอคติประการใดก็ตาม ดังนี้ข้อความต่อไป จึงอยู่ในรูปของการวิพากษ์ประเด็นเรื่อง LGBT อย่างไม่ใส่อารมณ์ และ เอาอคติ เข้าไปด้วย ทว่ามาจากการศึกษาความคิด และข้อมูลของแต่ละฝ่ายที่มี
ความคิดเห็นของผู้เขียน
1.เสรีภาพแบบไร้เงื่อนไข กับ เสรีภาพแบบมีเงื่อนไข
ก่อนอื่นต้องขอกล่าวว่า ในทางปรัชญา ‘เสรีภาพ’ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์มีโดยสมบูรณ์ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ครอบครองได้อย่างมีเงื่อนไข เช่น การมีชีวิตอย่างอิสระ ถ้าถามว่า มนุษย์เรา ควรมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตหรือไม่ แน่นอนทุกคนจะตอบว่า”ใช่” แต่ถ้าถามว่า อาชญากรที่ฆ่าคนอย่างต่อเนื่อง และกำลังฆ่าคนอยู่ในตอนนี้ ควรมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตหรือไม่ ทุกคนจะตอบว่า”ไม่” แทบจะไม่ต้องคิดทันที การที่ทุกคนตอบว่า”ไม่” คือสิ่งที่ยืนยันว่า มนุษย์มีเสรีภาพแบบมีเงื่อนไข ,อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าถามว่า มนุษย์ควรมีอิสระในการกินหรือไม่ แน่นอนทุกคนจะตอบว่า”ใช่” แต่ถ้าถามว่า ถ้าจะกินทุกอย่างโดยไม่สนใจว่า มันจะเป็นคุณ หรือ โทษต่อร่างกาย ในกรณีแบบนี้ มนุษย์ควรมีอิสระในการกินอีกหรือไม่ ทุกคนจะตอบว่า”มนุษย์ต้องไม่กินของที่เป็นโทษต่อร่างกายของตนเอง และการกินไม่เลือก ไม่ใช่เสรีภาพ”นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่อธิบายความหมายของคำว่า “เสรีภาพแบบมีเงื่อนไข”
เมื่อเราเข้าใจในข้อนี้แล้ว ลองมาดูโจทย์ของเรา โจทย์ระบุว่า ”เสรีภาพคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องมี และ”รสนิยมในการเลือกเพศ ก็เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงมีสิทธิเสรีภาพที่จะถือครองเพศไปตามรสนิยมที่ตนเองต้องการ” ถ้าหากข้อความนี้ถูกต้อง เท่ากับยืนยันว่า ในเรื่องเพศนั้น มนุษย์มีเสรีภาพแบบไร้เงื่อนไข จะถือเพศอะไรก็ได้ตามใจชอบ หรือ พูดในภาษาที่ผู้คนเขาใช้กันคือ ถือเพศตามรสนิยมของตนเอง ถ้าหากเราถือว่า มนุษย์มีเสรีภาพแบบไร้เงื่อนไข การถือครองเพศตามรสนิยม ก็จะไม่ผิด แต่ถ้าหากเรายึดทัศนะที่ว่า เสรีภาพของมนุษย์ มีเงื่อนไข การถือครองเพศตามรสนิยม ผลจะออกมาตรงข้าม หากคิดไปตามหลักการที่ว่า การทำได้ทุกอย่างไม่ใช่”เสรีภาพ”
2.เสรีภาพในการเบี่ยงเบนทางเพศ กลไกเสริมความแข็งแกร่งให้สำนักคิดเสรีนิยม
การอ้างเสรีภาพ กับ เพศ เป็นเพียงกลไก ที่สำนักคิดฝ่าย เสรีนิยม(liberalism) สร้างขึ้นมาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้หลักการของตนเอง เพราะในทางปรัชญา ไม่ว่าจะถกเถียงกันอย่างไร ไม่ว่าจะนิยามคำว่า”เสรีภาพ”กันมากมายแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะไปจบตรงที่”เสรีภาพของมนุษย์นั้นมีเงื่อนไข” การทำลายเงื่อนไข จึงเป็นการทำลายเสรีภาพในทางอ้อม เพราะถึงแม้นักปรัชญาฝรั่งจะออกมาบอกว่า ”มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพ” แต่พวกเขาก็ยังต้องเติมเงื่อนไขที่ว่า “แต่จะต้องไม่เบียดเบียนใคร” มาสร้างเป็นเงื่อนไขอยู่ดี และสิ่งที่จะถูกเรียกว่า เสรีภาพได้ ก็จะต้องเป็นสิ่งที่มีทางเลือกแต่เดิม ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัว จุดนี้เองที่ฝ่าย LGBT อธิบายว่า “กฎที่บอกว่า มนุษย์ควรมีแค่สองเพศ เป็นกฎที่ใช้ไม่ได้ และไม่ควรใช้อีกต่อไป โดยบางคอมเม้นได้อธิบายว่า ที่มาของกฎเกณฑ์แบบนี้ บ้างก็มาจากการตัดสินของสังคม บ้างก็มาจากคำสอนของศาสนา บ้างก็มาจากค่านิยม”
3.มนุษย์ควรมีสองเพศหรือมากกว่านั้น
ในประเด็นนี้ หากยึดทัศนะที่ว่า “การแบ่งสองเพศ เป็นกฎที่ใช้ไม่ได้ เพราะมันคือ กฎที่ออกแบบโดยมนุษย์เอง” โดยยึดตามหลักการแบ่งสองเพศตามการตัดสินของสังคม” การอ้างดังกล่าวจะถูกต้อง แต่หากข้อเท็จจริง คือ การแบ่งสองเพศ เป็นการแบ่งโดยการตัดสินใจของพระเจ้า(ในกรณีที่เชื่อพระเจ้า) หรือ ธรรมชาติ(ในกรณีที่ไม่เชื่อพระเจ้า) คำพูดดังกล่าวจะผิดในทันที
ข้อเท็จจริง คือ เพศ ไม่ได้ถูกแบ่งโดยสังคม คนไม่ได้ตั้งกฎขึ้นมาเอง แต่เป็นธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติ วางอัตลักษณ์ไว้ให้มนุษย์มีสองเพศ การบอกว่า เรื่องแบ่งสองเพศ เป็นเรื่องที่คนเราสร้างกันขึ้นมาเอง จึงไม่ถูกต้อง และไม่มองความเป็นจริง อันที่จริงแล้ว เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีสองเพศ เป็นเรื่องที่เข้าใจก่อน สังคมจึงสำทับและตัดสินตามข้อเท็จจริงนี้ในภายหลัง ดังนั้น การอธิบายว่า การจำกัดขอบเขตในการถือเพศ เป็นการตั้งกฎขึ้นมาของคน จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
หากยึดตามความคิดที่ว่า สิ่งที่มนุษย์ถูกกำหนดมาให้เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คนเราจะเอามาพูดกันถึงเรื่อง”เสรีภาพ” รสนิยมทางเพศก็จะเข้าข่ายประเด็นนี้ หากพิจารณาจากแง่ที่ว่า สิ่งที่มนุษย์จะเรียกว่า เสรีภาพต้องมีเงื่อนไข และต้องเป็นสิ่งที่เลือกได้ตั้งแต่แรกเริ่ม คำตอบ คือ ไม่ เพราะเพศเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาแต่เดิมในทางชีววิทยา สิ่งใดก็ตามที่ตายตัว และเลือกไม่ได้ในทางธรรมชาติ สิ่งนั้นคือ สิ่งที่ไม่สามารถนำมาคุยกันในประเด็น”เสรีภาพ”ได้ เพราะ ประเด็นเรื่องเสรีภาพ เป็นประเด็นที่สามารถคุยกันได้ในเรื่องที่มนุษย์สามารถเลือกได้เท่านั้น และเพราะเหตุผลนั้น การตัดหัวตัวเอง เพราะไม่ชอบ จึงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพ ดังนั้นเมื่อร่างกายถูกกำหนดให้มีสองเพศตามธรรมชาติ การเปลี่ยนไปถือเพศอื่น จึงไม่สามารถอ้างถึง”เสรีภาพ” ได้อย่างถูกต้องเท่าใดนัก แน่นอน LGBT อาจโต้แย้งว่า การศัลยกรรมเสริมความงาม และ โรคก็เข้าข่ายนี้ เด็กบางคนถือกำเนิดโดยมีโรคเป็นของแถม ถ้าอ้างว่า อะไรที่มีมาติดตัว ไม่ควรเปลี่ยนแปลง โรคก็ไม่ควรรักษา ศัลยกรรมก็ไม่ควรทำ นี่อาจจะเป็นตรรกะป่วยๆที่มองธรรมชาติของมนุษย์อย่างมักง่าย และ การที่เรามีรสนิยมทางเพศแบบนี้ ก็เป็นเพราะเราเกิดมาแบบนี้ แต่ใจเราไม่ได้ชอบแบบนี้ เราเลือกไม่ได้ ในตอนถือกำเนิดว่าจะถือเพศอะไร แต่เราเลือกได้ เมื่อเติบโต และมีความเป็นผู้ใหญ่พอ มีสติสัมปชัญญะพอจะตัดสินใจอะไรได้เอง หากฝั่งนี้โต้แย้งโดยใช้เรื่อง โรค และศัลยกรรมเสริมความงามมาเป็น ข้อหักล้าง พวกเขาก็พลาดตั้งแต่เริ่ม เพราะโรค ไม่ได้จัดอยู่ในอัตลักษณ์ของมนุษย์ แต่เป็นระบบที่ผิดปกติที่ติดตามมากับเด็กเมื่อออกมาจากครรภ์ ในขณะที่ประเด็นของเรา คือ การมองหาว่า มนุษย์สมควรเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ตามธรรมชาติดั่งเดิมที่มีมาหรือไม่ เมื่อเราพูดถึงเพศที่มีมาแต่ถือกำเนิด เรากำลังพูดถึง อัตลักษณ์ คำว่า”แต่เดิม” ในที่นี้หมายถึงสิ่งนี้ ไม่ได้หมายถึง สิ่งที่เสริมเข้ามา เพศสภาพจึงเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดตายตัว และจากเหตุผลที่มันเป็นอัตลักษณ์ตามธรรมชาติดั้งเดิม มันจึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ไม่ได้เป็นเพราะเพื่อสืบพันธ์ หรือ ผิดขนบธรรมเนียม หรือ มุมมองของสังคม แต่เพราะการกำหนดเพศ ไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันจึงไม่ควรเป็นสิ่งที่เราจะกำหนดกันเอาเองตามใจชอบ
4.ความคิดเห็นเรื่องการเป็น LGBT โดยพันธุกรรม และ เกย์ยีน
แน่นอนฝ่าย LGBT อาจแย้งว่า “จริงอยู่ที่เรากำหนดเลือกเพศให้ตัวเองไม่ได้ตอนเกิด แต่เราสามารถเลือกในตอนที่เราเติบโตได้” ข้อเท็จจริงหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ จะนำความเสียหายแก่มนุษย์ เรามักเห็นว่า การฝืนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติของสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เริ่มแรกอาจจะดูดี แต่ในท้ายที่สุด มันก็จะนำผลเสียมาให้แก่สิ่งนั้น จุดนี้เองที่ทาง LGBT แย้งว่า “บางคนรู้ตัวว่าเป็นตั้งแต่เกิด มันเป็นธรรมชาติ และในปัจจุบัน วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ก็สนับสนุนว่า มี เกย์ยีนอยู่ มันเป็นเรื่องของพันธุกรรม เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ” ในข้อโต้แย้งนี้ มีการนำเสนอว่า การถือเพศของ LGBT ก็เป็นเพราะเหตุผลทางธรรมชาติเหมือนกัน งานค้นคว้าสำคัญหลายชิ้น เช่น “เกย์ยีน” หรือ โฮโมเซกชวล” ต่างก็พยายามหาข้อพิสูจน์เพื่อยืนยันในข้อนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครยืนยันในเรื่องนี้ได้ ดังนั้น มันจึงเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ อะไรที่ยืนยันไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ จึงไม่สมควรนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐาน เราอาจปลูกต้นไม้ในห้องทดลอง แบบไม่โดนแสงแดดได้ แต่ในท้ายที่สุด มันจะเกิดผลเสียบางอย่างตามมา เพราะธรรมชาติของต้นไม้บางชนิด ต้องรับแสงแดดส่องตนเอง เราอาจผ่าตัดเอาอวัยวะของสัตว์มาปลูกถ่ายในตัวคนได้ แต่ในท้ายที่สุด มันก็จะสูญเสียความสมดุล ที่ผู้เขียนต้องการจะอธิบายก็คือ เราอาจเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ไม่ใช่ธรรมชาติของมันได้ โดยอ้างเหตุผลต่างๆนาๆ ถ้ามองในจุดเล็กๆเราอาจจะไม่เห็นถึงผลลัพธ์ของมัน แต่ถ้าหากมองภาพรวม ในท้ายที่สุด มันก็จะต้องมีผลอื่นๆตามมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในแบบที่ไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิมของมัน คำกล่าวอ้างถึงแนวโน้มที่ คนรักร่วมเพศ มักจะป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งในทางกายภาพ จึงดูมีน้ำหนัก และอาจตอบคำถามที่ว่า”ทำไมรักร่วมเพศจึงผิด”
5.เบี่ยงเบนทางเพศ คือ การป่วย หรือ ปกติ ขึ้นอยู่กับมุมมอง
อีกข้อหนึ่งที่ฝ่ายค้าน LGBT ให้เหตุผลมาคือ การเบี่ยงเบนทางเพศ คือ อาการป่วยประการหนึ่งทางจิตใจ ในข้อนี้ LGBT แย้งว่า รสนิยมทางเพศไม่ใช่อาการป่วย สำหรับเรื่องนี้ หากเราถือว่า ความไม่พอใจในเพศตัวเอง และเลียนแบบเพศตรงข้ามอย่างชัดเจน ตลอดไปจนถึง การไม่พอใจอวัยวะเพศของตนเอง มีความต้องการจะเป็นเพศอื่น เป็นเรื่องปกติ การเบี่ยงเบนทางเพศก็จะไม่ถูกมองว่า เป็นอาการป่วยทางจิต แต่หากเรามองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง”ไม่ปกติ” การเบี่ยงเบนทางเพศ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ผิดในทันที
ในข้อสุดท้าย คือ จุดยืนที่ LGBT แสดงความเห็นว่า รสนิยมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงของพวกเขา ไม่มีผลกระทบต่อสังคม พวกเขาสามารถประกอบอาชีพ หาเลี้ยงครอบครัวได้โดยสุจริต ข้อนี้ หากเรายึดความคิดที่ว่า รสนิยมทางเพศเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตส่วนตัวของปัจเจก เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ และไม่จำเป็นต้องคิดถึงผลกระทบที่ตามมา ต่อการตัดสินใจ ในวงกลมแห่ง”ความเป็นส่วนตัว” มันจึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เพราะผู้คนแยกแยะ ชีวิตส่วนตัว กับ ชีวิตส่วนรวมได้ และปัญญาชนย่อมไม่มีวันละเมิดชีวิตส่วนตัวของกันและกัน มองแบบผิวเผิน มันอาจจะเป็นไปเช่นนั้นนั้น แต่หากยึดหลักการที่ว่า ทุกๆการเคลื่อนไหว หรือการกระทำของคนหนึ่งคน จะมีผลในทางสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การอ้างว่า ไม่มีผลกระทบต่อสังคมก็จะเป็นเท็จในทันที ในความเป็นจริง ทุกการกระทำ และความคิด ของมนุษย์ ที่แสดงออกในเวทีสังคม จะมีผลกระทบ แม้เราจะมองว่า มันเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม การโยนหินลูกเล็กๆในหนองน้ำ สามารถสร้างคลื่นกระเพื่อมได้ฉันใด การกระทำของมนุษย์ต่อสังคมมนุษย์ด้วยกัน ก็มีผลฉันนั้น ในการแสดงออกถึงการเบี่ยงเบนทางเพศ หรือ การรณรงค์คนรักร่วมเพศ จะมีผลใหญ่ๆที่เห็นได้ชัดคือ การยอมรับ และเปลี่ยนแปลงให้สังคม มีสีสันของการรักร่วมเพศ ดังนั้น ในข้อนี้ ถ้าสังคมมองว่า รักร่วมเพศ เป็นเรื่องปกติ LGBT ก็จะค่อยๆถูกยอมรับ แต่ถ้า สังคมไม่อาจยอมรับในข้อนี้ได้ และมองว่า รักร่วมเพศ หรือ LGBT ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นความผิดปกติของมนุษย์ ด้วยความรู้สึกติดขัดอยู่ในจิตใจที่ไม่สามารถมองว่า การรักร่วมเพศ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แม้จะมีความพยายามรณรงค์ให้ยอมรับ เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือ ทรานเจนซ์ มากแค่ไหน พวกเขาก็จะถูกมองว่า ผิดปกติ อยู่ดี แน่นอน การที่พวกเขาถูกมองว่า ผิดปกติ มุมมอง และคำตัดสินของสังคม ได้สร้างบรรยากาศกระอักกระอวนขึ้นมา แต่ในทางกลับกัน เราก็ต้องไม่ลืมว่า หาก LGBT มีอิทธิพลในสังคม โดยที่สังคมนั้น มีแนวคิดว่า อาการที่ชายรักชาย หรือ หญิง รักหญิงด้วยกัน หรือ อาการที่คนในสังคม รังเกียจอวัยวะของตนเอง เป็นเรื่องที่ผิดปกติ มันก็คือการสร้างความกระอักกระอวนให้ คนที่ถือเพศดั้งเดิมได้ในจำนวนหนึ่ง แม้จะไม่ใช้ทั้งหมด ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ใช่คน หรือ มีคุณค่าน้อยกว่า ผู้หญิงธรรมดา หรือ ผู้ชายธรรมดาทั่วไป แต่เป็นเพราะเหตุผลและมุมมองที่มีต่อพวกเขา(แม้ LGBT จะมองว่า มันเป็นมุมมองที่ไม่มีเหตุผล) มาจากการตัดสิน โดยอาศัยความเข้าใจง่ายๆที่อธิบาย มนุษย์มีสองเพศตั้งแต่บรรพกาล และอวัยวะที่ถูกสร้างมา ไม่ว่าจะบอกว่า พระเจ้าสร้าง หรือ ธรรมชาติ มันก็มีจุดประสงค์เฉพาะ ที่ไม่ได้สะท้อนว่า แต่ละเพศมีหน้าที่ และควรจะปรับตัวเช่นนี้ เมื่อถูกวางอัตลักษณ์ ด้วยสรีระเช่นนั้น อวัยวะเพศ จึงมีความหมายมากกว่าแค่การสืบพันธ์ แต่มันยังเป็นการสะท้อนถึงบทบาทที่แต่ละเพศจะต้องแสดง เมื่อถูกกำหนดมาให้เป็นเพศนั้น โปรดอย่าเข้าใจผิดในข้อเขียนนี้ เราไม่ได้บอกว่า ถ้าเกิดเป็นหญิง หน้าที่คือ ท้อง และถ้าเกิดเป็นชาย หน้าที่คือ ทำให้คนท้อง เพียงอย่างเดียว ที่ผู้เขียนจะสื่อก็คือ เมื่อเราถือกำเนิดมาให้เป็นชาย การกำหนดหน้าที่ของเรา จึงต้องแสดงบทบาทในฐานะของผู้ที่เป็นชาย ตามที่ธรรมชาติได้กำหนดมา คำนี้มีความหมายมากกว่า”การสืบพันธ์ ทำนองเดียวกัน เมื่อเราเกิดเป็นหญิง สิ่งที่เราจะต้องกระทำก็คือ การแสดงบทบาทไปตามธรรมชาติที่ถูกสร้างมา ไม่ใช่สวนกระแส แต่เป็นเพราะตัวตนของเราถูกกำหนดมาเป็นเช่นนี้ อิสระของเราจึงควรดำเนินไปตามวิถีที่ตัวตนของเราถูกกำหนดมา เราเข้าใจถึงการที่พวกเขาไม่ถูกยอมรับในสังคม และในมุมมองของเรา พวกเขาก็เป็นคนเหมือนๆกับที่ ชายรักหญิง หรือ หญิงรักชายเป็น แต่การจะมองว่า ความอึดอัดที่ชายรักหญิงธรรมดาทั่วไป หรือ หญิงรักชายธรรมดาทั่วไป มีต่อ LGBT เป็นสิ่งที่สมควรถูกขจัดออกไป ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า”ไร้เหตุไร้ผล” พวกเขามีสิทธิที่จะอึดอัดใจ พอๆกับ LGBT เพราะมุมมองของพวกเขาที่มีต่อเรื่องเพศ เป็นมุมมองที่ธรรมชาติได้กำหนดไว้ ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เสียงบ่นที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆของหญิงที่รักชายธรรมดา ว่าในยุคสมัยนี้ จะหาชายแท้ยากยิ่ง ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหานี้ นั่นคือ ชายพันธ์แท้ที่ควรจะแสดงบทบาทในทางสังคมในฐานะชาย มันลดน้อยลงเต็มที
แต่แน่นอนเราต่างยอมรับว่า การหาทางออกในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ คนๆหนึ่งมีรสนิยมทางเพศที่เบี่ยงเบนไปจากเดิม ในเรื่องนี้มันจึงเป็นเพียงการถกเถียงกันว่าใครคิดผิด หรือ คิดถูก แต่สิ่งสำคัญคือ การยอมรับการตัดสินใจอันเป็นผลมาจากความคิดที่ถูกกลั่นกรองมาแล้ว จะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่หนักหน่วง และละเอียดอ่อน แต่ไม่ว่าจะตัดสินกันอย่างไร คนทั้งสังคมทั้งหมด ล้วนมีส่วนในการรับผิดชอบที่ตามมาต่อการตัดสินใจของพวกเขาเอง
[1] อ้างอิงจาก https://goo.gl/NEAHu3
[2] http://www.vcharkarn.com/vcafe/124462
[3] บทความ “วิถีทางเพศ กับคำถามและคำตอบเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกัน” อ้างอิงจากเว็บไซต์ http://www.sapaan.org/article/38.html