ริยาด, ซาอุดิอารเบีย – การศึกษาห้วงอวกาศได้กำหนดไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ดาวดวงหนึ่งใกล้จะถึงคราวมอดดับนั้นแกนของมันที่ไร้เสถียรภาพจะเริ่มกลืนกินตัวเอง มันเริ่มที่จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นกว่าขนาดปกติมาก จนดูเหมือนเป็นดาวขนาดยักษ์ ทั้งที่จริงๆ แล้วนั่นคือช่วงที่อ่อนแอที่สุดและเปราะบางที่สุดของมัน
สตีเฟน เลนด์แมน นักวิเคราะห์การเมืองผู้คร่ำหวอด ผู้จัดรายการวิทยุของ Pregressive Radio Network เชื่อว่าอุปมาอุปมัยนี้เป็นการสรุปถึงสภาพที่ซาอุดิอาระเบียพบว่าตัวเองเป็นอยู่ในขณะนี้อย่างแม่นยำ
ถึงแม้ว่าหลายคนจะแย้งว่า ราชอาณาจักรแห่งนี้ยังคงทำการกดดันและ “ควบคุมสถานการณ์ได้” มากกว่าที่เคย โดยได้ความแข็งแกร่งจากเงินหลายล้านล้านเปโตรดอลล่าร์และการสนับสนุนจากพันธมิตรมหาอำนาจตะวันตกของตน แต่เลนด์แมนกลับแย้งว่าราชวงศ์ซาอูดกำลังจะถึงคราวสิ้นสุดลง “เป็นอำนาจล้าหลังที่ถูกประณามว่าหมดสภาพท่ามกลางยุคเริ่มฟื้นฟูของอาหรับ” เขาบอกกับ MintPress News
เลนด์แมนอธิบายว่า ซาอุดิอาระเบียก้าวออกมาจากนโยบายเก่าแก่ของตนที่จะไม่แทรกแซงทางทหารด้วยการประกาศทำสงครามกับเยเมนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ในขณะที่ข่มขู่อิหร่านไม่ให้รุกล้ำเข้าไปใน “อาณาจักรซุนนี” ของตนอีก เขากล่าวกับ MintPress ต่อไปถึงความพลุ่งพล่านของราชอาณาจักรนี้ในกิจกรรมกระหายสงครามบนคาบสมุทรอาหรับ
“ซาอุดิอารเบียไม่ได้แข็งแกร่งเท่าสักครึ่งหนึ่งของที่มันดูเหมือนว่าจะเป็น… ตรงข้ามกันอย่างยิ่ง การที่ริยาดจำเป็นต้องใช้สงครามเพื่อรักษาอาณาจักรของตนไว้เป็นสิ่งที่บอกผมว่าอำนาจกำลังลดน้อยถอยลง มังกรจะถีบเตะและพุ่งเข้าใส่เมื่อมันรู้สึกได้ว่าอำนาจกำลังจะหลุดจากกรงเล็บของมัน แต่ในที่สุด การทำลายล้างจะเกิดมาจากภายในราชวงศ์ซาอูดเอง การปฏิรูปรัฐบาลของกษัตริย์ซัลมานจะเป็นเพียงแค่การบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้กับเรือที่กำลังจมลงแล้ว”
อะห์มัด มุฮัมมัด นัสเซอร์ อะห์มัด นักวิเคราะห์การเมืองชาวเยเมน และอดีตสมาชิกกลุ่มทำงานประเด็นแห่งชาติและความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของที่ประชุมการสานเสวนาแห่งชาติ เห็นด้วยกับความคิดนี้โดยอธิบายว่า
“ความเข้าใจอาจเป็นเรื่องหลอกลวงได้ถ้ามันเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อตะวันตกส่วนใหญ่แสดงตัวเป็นนักประชาสัมพันธ์ส่วนตัวของราชวงศ์อัล-ซาอูดมาตลอดหลายทศวรรษ ราชวงศ์อัล-ซาอูดต้องการที่จะรักษาบรรยากาศแห่งความมีเสถียรภาพและความต่อเนื่องนี้เอาไว้ รอยร้าวบนเสื้อเกราะใดๆ อาจทำให้เสียการสนับสนุนจากตะวันตกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนของสหรัฐฯ และอิทธิพลที่เป็นไปได้ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หรือ MENA (Middle East and North Africa) ดังนั้น อัล-ซาอูดจึงได้สร้างเทพนิยายเรื่องนี้ขึ้นรอบบ้านของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ความจริงกำลังใกล้จะโถมเข้ามา”
เขากล่าวต่อไปว่า ราชอาณาจักรนี้ “ถูกรบกวนด้วยความไม่ลงรอยทางการเมืองที่แอบแฝง”
“การสนับสนุนระบอบกษัตริย์ในหมู่ประชาชนอยู่ที่ระดับต่ำตลอดเวลา และความตึงเครียดระหว่างนิกายที่รัฐจัดสร้างขึ้นกำลังฉีกทึ้งสังคมที่เปราะบางอย่างยิ่งของซาอุดี้ฯ อยู่ โดยไม่ต้องกล่าวถึงทั้งภูมิภาค” อะห์มัดกล่าว “เมื่อภูเขาไฟลูกนี้จะระเบิดขึ้น จะไม่มีการบอกกล่าวว่าไฟของมันจะแผ่กระจายไปไกลแค่ไหน เป็นไปได้ว่าระบอบกษัตริย์นี้จะไม่ได้อยู่เพื่อเล่าให้เราฟัง”
เช่นเดียวกับที่ดูเหมือนว่าซาอุดิอาระเบียจะจัดการเปลี่ยนผ่านอำนาจได้อย่างราบรื่นภายหลังการสวรรคตของกษัตริย์อับดุลลอฮ์เมื่อเดือนมกราคม กษัตริย์ซัลมานตัดสินใจที่จะพิสูจน์ความคู่ควรของเขาในฐานะพันธมิตรสำคัญของอเมริกาด้วยการสับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว รวมทั้งตำแหน่งสำคัญๆ ภายในราชอาณาจักรเมื่อเดือนเมษายน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เปิดเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอของซาอุดิอาระเบีย และในที่สุดอาจนำไปสู่ความยุ่งเหยิง และขณะที่สหรัฐฯ กำลังมองดูการปรากฏขึ้นมาของพระบรมวงศานุวงศ์รุ่นใหม่ของซาอุดี้ฯ ด้วยความสนุกสนาน เนื่องจากพวกเขาได้รับผลประโยชน์ร่วมในด้านน้ำมัน การขายอาวุธ และการต่อต้านการก่อการร้าย แต่ก็ใช่ว่าเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์จะสนุกกับการถูกกีดกันออกจากระเบียงแห่งอำนาจ
นอกเหนือจากการสร้างสมดุลทางการเมืองที่ยากลำบากนี้แล้ว ซัลมานยังต้องต่อสู้กับปีศาจร้ายที่ค้ำจุนบัลลังก์ของเขาและของบรรพบุรุษของเขาไว้ด้วยการให้ความชอบธรรมทางศาสนาแก่ราชวงศ์ซาอูด นั่นก็คือ แนวคิดวะฮาบี การตีความศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด
ด้วยแรงใจจากความคิดเรื่องการทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” กับคนนอกศาสนาทั้งหมด กองทหารวะฮาบีของซาอุดี้ฯ จึงเริ่มเป็นสิ่งที่จำกัดวงได้ยากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ด้วยไฟของกลุ่มต่างๆ อย่างเช่นกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (ไอซิซ) และอัล-กออิดะฮ์ กำลังลุกโชนสว่างไสวยิ่งขึ้นทุกวัน
การรวมอำนาจ
“ด้วยการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติโดยสิ้นเชิงและในทันทีทันใด กษัตริย์ซัลมานได้นำการปฏิรูปที่โหดร้ายและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางมาใช้ในด้านของการแบ่งสรรอำนาจภายในสายต่างๆ ของตระกูลอัล-ซาอูด” ดร.อัคล์ คัยรูซ นักวิเคราะห์การเมืองด้านภูมิภาคอ่าวในเบรุตบอกกับ MintPress
คัยรูซกล่าวต่อไปว่า “ด้วยการรวมการกุมอำนาจของเขาเอาไว้และส่งเสริมเชื้อพระวงศ์ในสายตระกูลของเขามากกว่าเชื้อพระวงศ์สายอื่นๆ กษัตริย์ซัลมานได้สร้างความเป็นศัตรูกับเชื้อพระวงศ์ผู้ทรงอำนาจหลายองค์ หนึ่งในนั้นคือ เจ้าชายมุกริน ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาท มีความเป็นไปได้ว่าเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่ถูกกีดกันออกไปเพื่อประโยชน์ของโอรสของกษัตริย์เองจะทำการกัดกร่อนฐานอำนาจใหม่นี้ เจ้าชายมุกรินได้รับความสนใจจากเชคคอลิฟา บิน ซายิด อัล-นะห์ยัน (ผู้นำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) … อาจมีการก่อตัวของพันธมิตรขึ้นบนฉากหลังของความขัดแย้งในภูมิภาคก็ได้”
เมื่อได้ขึ้นครองบัลลังก์ในปลายเดือนมกราคม เจ้าชายซัลมาน ผู้เป็นหนึ่งใน “เจ็ดสุดัยรี” ได้แต่งตั้งให้เจ้าชายมุฮัมมัด บิน นาเยฟ หลานชายของเขาเป็นมกุฏราชกุมารอันดับสองรองจากเจ้าชายมุกรินที่เป็นมกุฏราชกุมาร พระราชกฤษฎีกานี้ได้สร้างความประหลาดใจให้กับหลายคน การแต่งตั้งพบกับการต้านทานเล็กน้อยตามระเบียบ และอเมริกาชมว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งนี้เป็นความสำเร็จ
เพียงไม่กี่เดือนที่ขึ้นครองอำนาจ ซัลมานก็ได้ทิ้งระเบิดอีกลูกหนึ่งด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งของมุกริน ผู้ที่กษัตริย์อับดุลลอฮ์ผู้ล่วงลับได้ลงพระนามรับรองตำแหน่งมกุฏราชกุมารของเขา แล้วแต่งตั้งมุฮัมมัด บิน นาเยฟ ขึ้นแทนที่
มุฮัมมัด บิน นาเยฟ เป็นที่โปรดปรานของวอชิงตันมากที่สุด และถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกาในตะวันออกกลางมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายของวอชิงตัน
การฉีกธรรมเนียมปฏิบัติด้วยการนำเชื้อพระวงศ์รุ่นที่สามเข้ามาใกล้การครองบัลลังก์มากขึ้นนี้ ซัลมานไม่ได้หยุดอยู่ที่การกีดกันมุกริน น้องชายต่างมารดาของเขา แต่เขายังสร้างความมั่นคงให้สายตระกูลของเขาเองด้วยการแต่งตั้งลูกชายของเขา เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เป็นมกุฏราชกุมารอันดับสอง
“ไม่จำเป็นต้องพูดว่า อำนาจใหม่สามฝ่ายนี้ได้สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์” คัยรูซระบุ
ถึงกระนั้น ซัลมานก็ยังไม่พึงพอใจ ในเดือนเมษายน เขายังแทนที่ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเจ้าชายซาอูด อัล-ฟัยซาลที่ป่วย โดยอาเดล อัล-จูบีร เอกอัครราชทูตประจำวอชิงตัน ผู้ที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ เจ้าชายซาอูด ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1975 ต้องการลาออก จูบีร ได้เป็นโฆษกรัฐบาลอยู่ในสหรัฐฯ เพื่อการเข้าแทรกแซงเยเมน เขามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐฯ และการทำงานระบบราชการของวอชิงตัน เป็นความรู้ที่กษัตริย์ซาอุดี้ฯ น่าจะพบว่ามีประโยชน์มากที่สุดในขณะที่ราชอาณาจักรนี้ต้องการที่จะให้อิหร่านอยู่ในความควบคุมและรักษาการสนับสนุนจากอเมริกา
“ถ้าการปฏิรูปของกษัตริย์ซัลมานเป็นที่ต้อนรับของมหาอำนาจตะวันตกส่วนใหญ่ในฐานะสิ่งที่จำเป็น คนส่วนใหญ่ก็พลาดที่จะสังเกตเห็นการกระเพื่อมที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างของระบอบกษัตริย์จากการปรับลดและเลื่อนขั้นตำแหน่งเหล่านั้น ราชอาณาจักรนี้ถูกถักทอขึ้นด้วยการเป็นพันธมิตรระหว่างราชวงศ์ซาอูดกับแนวคิดวะฮาบี พัฒนาการต่างๆ อาจพิสูจน์ได้ว่าฝ่ายหลังจะเร่งให้ถึงการสิ้นสุดของฝ่ายแรก” มุจตาบา มูซาวี นักวิเคราะห์การเมืองชาวอิหร่านและบรรณาธิการ Iran’s View กล่าวเตือนขณะพูดคุยกับ MintPress
“ไม่มีสิ่งใดส่งเสียงแห่งการทรยศหักหลังได้ดังกว่าความทะเยอทะยานที่บอบช้ำ” เขากล่าวเสริม
แอนดริว บอนด์ นักวิเคราะห์การเมืองจากสถาบัน Gulf Affairs บอกกับ MintPress ว่า ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของซัลมานอาจจะทำให้เกิดผลพวงต่างๆ มากมายในด้านปฏิกิริยาสะท้อนกลับทางการเมืองภายใน แต่เกมเก้าอี้ดนตรีนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อรักษาความมั่นคงให้กับอนาคตของราชอาณาจักรนี้
“กษัตริย์ซัลมานทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบอบกษัตริย์ และแน่นอน ของราชอาณาจักรนี้เพื่อคนรุ่นใหม่ที่จะเกิดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งในเชื้อพระวงศ์รุ่นเยาว์” บอนด์กล่าว
เขาเสริมว่า “ถึงแม้เชื้อพระองค์หลายองค์จะมีความเคืองแค้น แต่หลายองค์ก็เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็นในโครงการที่ยิ่งใหญ่กว่า”
เมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้ง
เช่นเดียวกับมุกริน เจ้าชายมิชอาลและเจ้าชายเทอร์กี (ทั้งมิชอาลและเทอร์กีเป็นโอรสของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ผู้ล่วงลับ) ถูกตัดออกจากระเบียงแห่งอำนาจ หลายคำถามยังคงไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับอนาคตของซาอุดิอารเบีย ที่ถือว่าใช้ระบอบเทวาธิปไตยที่มีความรุนแรงและก่อปฏิกิริยาโต้ตอบมากที่สุดในโลก
แม้ว่าเจ้าชายมิตาบ โอรสอีกองค์ของกษัตริย์ผู้ล่วงยัง จะยังคงเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ (National Guard) ของซาอุดี้ฯ อยู่ แต่มีเสียงซุบซิบในริยาดว่าตำแหน่งนี้ก็กำลังจะถูกเปลี่ยนเช่นกัน อันที่จริง สงครามในเยเมนอาจทำหน้าที่เป็นฉากหลังที่ดีสำหรับจากไปของผู้ท้าทายที่ทรงพลังต่ออำนาจของซัลมาน
กองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติเป็นองค์รักษ์พิทักษ์รัฐ (Praetorian Guard) ของตระกูลนี้ ทำหน้าที่ป้องกันเมืองหลวง มัสยิดศักดิ์สิทธิ์ในมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ และอุตสาหกรรมน้ำมัน กองทหารของกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติได้เข้ายึดบาห์เรนตั้งแต่เกิดการประท้วงอาหรับสปริงในปี 2011 เพื่อให้ระบอบกษัตริย์ซุนนีที่เป็นคนกลุ่มน้อยยังคงอยู่ในอำนาจ ถ้าหากสงครามในเยเมนจะเปลี่ยนมาเป็นการรุกทางภาคพื้นดิน ก็มีความเป็นไปได้ว่ากองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาตินี้จะถูกเรียกมาปฏิบัติหน้าที่ อันจะทำให้ชะตากรรมของราชอาณาจักรนี้มาอยู่ในมือของมิตาบ ถ้าหากว่าเขาจะไม่ถูกตัดออกจากสมการอำนาจไปด้วยอีกคน
แต่สิ่งที่พ้นไปจากอัตตาที่ชอกช้ำก็คือสิ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งของซาอุดิอารเบีย ซึ่งเป็นบางอย่างที่ถูกทำให้ปรากฏขึ้นโดยมุฮัมมัด บิน นาเยฟ
เขาเป็นบุตรชายของมกุฏราชกุมารนาเยฟผู้ล่วงลับ และรู้จักกันว่าเป็น “เจ้าชายดำ” เนื่องจากลักษณะที่ชอบตอบโต้ของเขาอีกด้วย มุฮัมมัด บิน นาเยฟ เป็นผู้ต่อต้านอัล-กออิดะฮ์อย่างแรงกล้า ในขณะที่สนับสนุนธรรมเนียมแบบวะฮาบีของซาอุดิอารเบียในประเทศ
ด้วยวัย 55 ปี เขามีชื่อเสียงมากที่สุดจากการทำลายความพยายามก่อเหตุรุนแรงของอัล-กออิดะฮ์เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ซาอูดเมื่อสิบปีที่แล้ว เมื่อเขาได้ขับไล่สมาชิกที่เหลือของกลุ่มนั้นเข้าไปในบริเวณเทือกเขาที่รกร้างของเยเมนประเทศเพื่อนบ้าน เขายังรอดชีวิตมาจากความพยายามลอบสังหารถึงสี่ครั้งอีกด้วย เขาเป็นประธานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและการเมืองแห่งราชอาณาจักรที่คอยประสานงานในประเด็นด้านความมั่นคง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนวิจารณ์บทบาทของเขาในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของชาติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงยกย่องความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายของเขา
มุฮัมมัด บิน นาเยฟ เข้าพบกับประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ในห้องทำงานทรงไข่มุก เมื่อ 12 ธันวาคม เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ ด้านการก่อการร้ายและในภูมิภาค ขณะนั้น เอฟ เกรเกอรี่ กอส ที่ 3 ศาสตราจารย์กิจการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ แอนด์ เอ็ม เรียกเขาว่า “เจ้าหน้าที่ซาอุดี้ฯ คนโปรดของอเมริกา”
“เจ้าชายนาเยฟ เหมือนกับพ่อของเขามาก คือเป็นผู้ปกป้องธรรมเนียมประเพณีของซาอุดิอารเบียอย่างแรงกล้า และนั่นคือแนวคิดวะฮาบี เนื่องจากแนวคิดแบบวะฮาบีได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเช่นไอซิซ เราจึงจำเป็นต้องถามตัวเองว่าอีกนานแค่ไหนที่ราชอาณาจักรนี้สามารถจะรักษาการควบคุมรากเหล้าแห่งความสุดโต่งของตัวเองไว้ได้” มุจตาบา มูซาวี นักวิเคราะห์การเมืองกล่าว
ไล่จับไฟ
การระเบิดพลีชีพเมื่อ 22 พฤษภาคม ที่ชุมชนชีอะฮ์ในจังหวัดกอติฟ ทางตะวันออกของซาอุดิอารเบีย ซึ่งไอซิซอ้างความรับผิดชอบ อาจจะเป็นการเกริ่นนำสำหรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรแห่งนี้
“การโจมตีกอติฟของไอซิซจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่ามันเป็นหลักฐานว่า ราชอาณาจักรแห่งนี้กำลังจะสูญเสียการควบคุมขุมอำนาจทางศาสนาของตนไป ราชบัลลังก์นี้พึ่งพาอาศัยนักการศาสนาวะฮาบีมานานเท่ากับที่อัล-ซาอูดอยู่ในอำนาจ มีความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์กันอย่างเหนียวแน่นระหว่างทั้งสอง” ดร.คัยรูซระบุ
เขายังได้กล่าวเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม สิบปีแห่งการเปลี่ยนแนวคิดไปสู่ความสุดโต่งและส่งเสริมการแบ่งแยกทางนิกายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวาระการครองความเป็นจ้าวได้ส่งเสียงกลับมายังนักการศาสนาวะฮาบีขวาจัดของซาอุดิอาระเบีย ฝ่ายเคร่งจัดทางศาสนาภายในซาอุดิอารเบียไม่ชื่นชอบสิ่งใดมากไปกว่าการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับพวกนอกรีตทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับอิหร่านที่เป็นชีอะฮ์”
ด้วยการให้เหตุผลว่า การโจมตีในกอติฟเป็นความพยายามที่จะส่งราชอาณาจักรนี้เข้าสู่การต่อสู้อย่างรุนแรงของความขัดแย้งทางนิกาย คัยรูซเชื่อว่าฝ่ายต่างๆ ที่ต่อต้านซัลมานจะใช้ประโยชน์จากความไม่พอใจของวะฮาบีเพื่อบั่นทอนความมั่นคงของบัลลังก์
อะห์มัด มุฮัมมัด นัซเซอร์ นักวิเคราะห์การเมืองชาวเยเมนก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคัยรูซ โดยระบุว่า เยเมนอาจมีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดความยุ่งเหยิงในราชอาณาจักรนี้ นั่นเป็นเพราะว่า “ชะตากรรมของสงครามถูกวางไว้ในมือของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน (มกุฏราชกุมารอันดับสองและรัฐมนตรีกลาโหมของซาอุดิอารเบีย) หุ่นเชิดที่ไร้อำนาจและขาดประสบการณ์”
“เจ้าชายบิน ซัลมาน ได้ขับเคลื่อนซาอุดิอารเบียเข้าสู่ปลักตมในเยเมน และเนื่องจากเขาไม่น่าจะยอมรับความพ่ายแพ้ ความไม่สงบและไร้เสถียรภาพจึงน่าจะแผ่ขยายจากเยเมนขึ้นมา จนลามมาถึงราชอาณาจักรนี้ อำนานแค่ไหนก่อนที่ไอซิซจะข้ามเขตแดนทางเหนือของเยเมนขึ้นมา?” อะห์มัดถาม
แอนดริว บอนด์ จากสถาบัน Gulf Affairs มีความเห็นต่างออกไปเกี่ยวกับเปลวไฟแห่งการแบ่งแยกนิกายภายในซาอุดิอารเบีย เขาแย้งว่าเป้าหมายหลักไม่ใช่ชุมชนชีอะฮ์ในซาอุดี้ฯ แต่ที่จริงแล้วคืออำนาจของซัลมาน
“คุณต้องเข้าใจว่า กษัตริย์ซัลมานเคยดำรงตำหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยกษัตริย์อับดุลลอฮ์ผู้ล่วงลับ เพราะฉะนั้นการโจมตีลักษณะนั้นบนแผ่นดินของราชอาณาจักรนี้ อาจมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์องค์ใหม่เป็นผู้นำที่ใช้ไม่ได้” เขากล่าว
เขาเสริมว่า “ถ้าหากเกิดการโจมตีแบบนี้ขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของกษัตริย์องค์นี้อีก ความชอบธรรมของเขาก็อาจตกอยู่ในอันตราย และผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีเหล่านั้นอย่างแท้จริง”
เหมือนนั่งอยู่ในถังดินปืน ซาอุดิอารเบียมีลักษณะหลายอย่างในการทำให้เกิดการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นและความไม่เท่าเทียมทางสังคม การปราบปรามอย่างรุนแรงของตำรวจ การแบ่งแยกทางนิกายอย่างรุนแรงและการเล่นพรรคเล่นพวก ความขัดแย้งแอบแฝงทางการเมือง และการไม่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางภายในประเทศ
ณ จุดนี้ สถานการณ์กำลังรอเพียงแค่การจุดไม้ขีดไฟเท่านั้น
โดย แคเธอรีน ชัคดัม
ที่มา http://www.mintpressnews.com/analysis-the-house-of-saud-is-it-about-to-burn-or-just-collapse/206420/
แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์