นักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ชี้ ทำเนียบขาวโกหกเกี่ยวกับการสังหารอุซามะห์ บินลาดิน

นักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ ซีมัวร์ เฮิร์ช อ้างว่ามีหลักฐานที่บ่งบอกว่า รายงานอย่างเป็นทางการเรื่องการลอบสังหารอุซามะห์ บินลาดิน ของหน่วยซีลที่หกที่ตอนนี้มีชื่อเสียงโด่งดังนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อุปโลกน์ขึ้นมา

5092
(ภาพ) รูปถ่ายจากแฟ้มภาพที่ไม่ได้ระบุวันที่นี้แสดงภาพของอุซามะห์ บินลาดิน ผู้นำอัล-กออิดะฮ์ ในอัฟกานิสถาน หลายปีหลังข่าวการเสียชีวิตของเขา บินลาดินเป็นต้นเหตุหนึ่งของการโต้แย้งและถกเถียง ล่าสุดทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นจริงของเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเขา

mintpressnews  – เป็นเวลาสี่ปีมาแล้วที่กลุ่มนาวิกโยธินหน่วยซีลของสหรัฐฯ ได้ลอบสังหารอุซามะห์ บินลาดิน ในการบุกจู่โจมเข้าไปในอาคารแห่งหนึ่งตอนกลางคืนในเมืองอับบอตตาบัต ปากีสถาน การสังหารครั้งนี้เป็นจุดสูงสุดในการดำรงตำแหน่งวาระแรกของโอบาม่า และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง ทำเนียบขาวยังคงยืนยันว่า ภารกิจนี้เป็นการทำงานของอเมริกาล้วนๆ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพปากีสถานและหน่วยข่าวกรองของปากีสถาน (Inter-Services Intelligence –ISI) ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าถึงการบุกจู่โจมครั้งนี้ เรื่องนี้ไม่จริง เช่นเดียวกับองค์ประกอบอื่นๆ ในรายงานของคณะบริหารของโอบาม่า เนื้อเรื่องของทำเนียบขาวที่เขียนโดยลูวิส แคร์โรล อาจจะเขียนว่า  : บินลาดิน ซึ่งเป็นเป้าหมายการไล่ล่าของนานาชาติ จะตัดสินใจว่าเมืองพักผ่อนที่ห่างจากอิสลามาบัดสี่สิบไมล์จะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดที่เขาจะใช้ชีวิตและบัญชาการปฏิบัติการต่างๆ ของอัล-กออิดะฮ์จริงหรือ? เขาซ่อนตัวในที่แจ้ง อเมริกาว่าอย่างนั้น

การโกหกคำโตที่สุดก็คือ ผู้นำทางทหารที่อาวุโสที่สุดสองคนของปากีสถาน นายพลอัชฟัก ปาร์เวซ คายานี เสนาธิการทหารบก และนายพลอาห์เมด ชูจา ปาชา ผู้อำนวยการ ISI ไม่เคยได้รับแจ้งเกี่ยวกับภารกิจของสหรัฐฯ เลย นี่ยังคงเป็นท่าทีของทำเนียบขาว ถึงแม้จะมีรายงานมากมายที่ทำให้เกิดคำถาม รวมทั้งรายงานของคาร์ลอตต้า กัลล์ ที่เขียนในนิตยสารนิวยอร์คไทมส์ฉบับ 19 มีนาคม 2014 กัลล์ผู้ใช้เวลา 12 ปีในการทำงานเป็นผู้สื่อข่าวของไทมส์ในอัฟกานิสถานเขียนว่า เธอได้รับการบอกเล่าจาก “เจ้าหน้าที่ปากีสถาน” คนหนึ่งว่า ปาชารู้ก่อนจะมีการบุกจู่โจมว่าบินลาดินอยู่ในอับบอตตาบัด เรื่องนี้ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และปากีสถาน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในหนังสือ Pakistan : Before and after Osama (2012) ของอิมติอัซ กุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านความมั่นคงในอิสลามาบัด เขียนว่า เขาได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสี่คนที่ยืนยันว่า กองทัพปากีสถานจะต้องรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อนายพลปลดเกษียณ อาซัด ดุรรานี ซึ่งเคยเป็นหัวหน้า ISI ในช่วงต้นปี 1990 ได้บอกกับผู้สัมภาษณ์จากอัล-จาซีร่าว่า มัน “เป็นไปได้อย่างยิ่ง” ที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของ ISI จะไม่รู้ว่าบินลาดินซ่อนตัวอยู่ที่ไหน แต่มัน “เป็นไปได้มากกว่า” ว่าพวกเขาจะรู้ และความคิดที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อถึงเวลาเหมาะสม ตำแหน่งของเขาจะถูกเปิดเผย และเวลาที่เหมาะสมก็คือ เมื่อคุณสามารถจะได้รับสิ่งต่างตอบแทนที่จำเป็นนั่นเอง ถ้าคุณมีใครบางคนอย่างอุซามะห์ บินลาดินอยู่ คุณจะไม่ส่งมอบเขาให้กับสหรัฐฯ ไปง่ายๆ หรอก

ฤดูใบไม้ผลินี้ผมได้ติดต่อกับดุรรานี และบอกกับเขาอย่างละเอียดถึงสิ่งที่ผมได้รู้มาเกี่ยวกับการเข้าจู่โจมบินลาดินจากแหล่งข่าวอเมริกาว่า บินลาดินเป็นนักโทษของ ISI อยู่ที่อาคารแห่งนั้นในเมืองอับบอตตาบัดมาตั้งแต่ปี 2006, ว่าคายานีและปาชารู้ล่วงหน้าก่อนการจู่โจม และทำให้แน่ใจว่าเฮลิคอปเตอร์สองลำที่ส่งทีมซีลไปอับบอตตาบัดจะผ่านน่านฟ้าปากีสถานไปได้โดยไม่ทำให้เกิดสัญญาณเตือนใดๆ, ว่าซีไอเอไม่ได้รู้ที่อยู่ของบินลาดินจากการติดตามคนส่งสารของเขาตามที่ทำเนียบขาวกล่าวอ้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2011 แต่รู้มาจากอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกองอาวุโสของปากีสถานที่เปิดเผยความลับไปเพื่อแลกกับรางวัลมูลค่ามากกว่า 25 ล้านดอลล่าร์ที่เสนอให้โดยสหรัฐฯ, และว่า ขณะที่โอบาม่าออกคำสั่งจู่โจม และทีมซีลดำเนินการนั้น แง่มุมอื่นๆ อีกมากมายของรายงานคณะบริหารนี้ยังเป็นเท็จ

ดุรรานีบอกกับผมว่า “เมื่อเรื่องราวในภาคของคุณปรากฏออกมา – ถ้าคุณทำ- ประชาชนในปากีสถานจะรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมาก ประชาชนเลิกเชื่อถือเรื่องเกี่ยวกับบินลาดินที่ออกมาจากปากของเจ้าหน้าที่มานานแล้ว อาจจะมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเชิงลบและมีความโกรธเคืองบ้าง แต่ประชาชนก็ชอบที่จะได้รับการบอกเล่าความจริง และสิ่งที่คุณบอกผมเป็นเรื่องสำคัญที่ผมได้ยินมาจากอดีตเพื่อนร่วมงานที่ทำภารกิจค้นหาข้อเท็จจริง” เขาบอกว่า ในฐานะอดีตหัวหน้า ISI เขาได้รับการบอกเล่าสั้นๆ หลังการจู่โจมจาก “คนใน ‘แวดวงยุทธศาสตร์’ ที่รู้” ว่ามีผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งได้แจ้งเตือนสหรัฐฯ ให้รู้ว่าบินลาดินอยู่ในเมืองอับบอตตาบัด และว่า หลังจากการสังหารเขาแล้ว สหรัฐฯ ผิดสัญญาที่จะไม่เปิดเผยถึงคายานีและปาชา

แหล่งข่าวสหรัฐฯ คนสำคัญสำหรับรายงานที่ตามมาก็คือ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสปลดเกษียณผู้หนึ่งที่รู้ข่าวว่าบินลาดินอยู่ในอับบอตตาบัด เขายังเป็นคนสำคัญต่อหลายแง่มุมในการฝึกซ้อมการจู่โจมของหน่วยซีล และต่อรายงานข่าวต่างๆ ภายหลังปฏิบัติการ แหล่งข่าวสหรัฐฯ อีกสองคนที่เข้าถึงข้อมูลที่แน่ชัด เป็นที่ปรึกษาให้แก่คำสั่งปฏิบัติการพิเศษนี้มานานแล้ว ผมยังได้รับข้อมูลจากภายในปากีสถานเกี่ยวกับความตกตะลึงของบรรดาผู้อาวุโสใน ISI และผู้นำกองทัพที่มีต่อการตัดสินใจของโอบาม่าที่จะเปิดเผยข่าวการเสียชีวิตของบินลาดินต่อสาธารณะในทันที ทำเนียบขาวไม่ได้ตอบรับต่อการร้องขอความคิดเห็น

มันเริ่มต้นขึ้นด้วยผู้ที่เดินเข้ามาคนหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2010 อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสของปากีสถานคนหนึ่งได้เข้ามาพบโจนาธาน แบงก์ ที่ขณะนั้นเป็นหัวหน้าสำนักงานของซีไอเอที่สถานทูตสหรัฐฯ ในอิสลามาบัด เขาเสนอว่าจะบอกซีไอเอว่าจะพบตัวบินลาดินได้ที่ไหนเพื่อแลกเปลี่ยนกับรางวัลที่วอชิงตันเสนอไว้ในปี 2001 ซีไอเอถือว่าผู้ที่เดินเข้ามานั้นไว้ใจไม่ได้ และผลตอบสนองจากสำนักงานใหญ่ของหน่วยงานนี้ก็คือการส่งทีมที่กระตือรือร้นมาหนึ่งทีม ผู้ที่เดินเข้ามาคนนั้นผ่านการทดสอบ แต่ความกังวลของซีไอเอในเวลานั้น ตามที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองอาวุโสปลดเกษียณของสหรัฐฯ บอกผมก็คือ “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าบินลาดินอาศัยอยู่ในอาคารแห่งหนึ่งในอับบอตตาบัด แต่เราจะรู้จริงได้อย่างไรว่าเขาเป็นใคร?”