ซุนนี-ชีอะฮ์ : ทำไมความขัดแย้งจึงเป็นไปในทางการเมืองมากกว่าทางศาสนา

ทั่วทั้งตะวันออกกลาง การแบ่งแยกนิกายมักจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับการต่อสู้เพื่ออำนาจ ทรัพยากร และอาณาเขตเสมอ

6737

(ภาพ) ผู้สนับสนุนชีอะฮ์ตะโกนคำขวัญระหว่างการประชุมของฮิซบุลลอฮ์ในเบรุต


 

ทั่วโลกอาหรับ มันเป็นเรื่องหยาบคายที่จะถามถึงศาสนาหรือนิกายของผู้คน ถึงแม้จะเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วจากชื่อของพวกเขา สำเนียง ที่ที่พวกเขาอาศัยหรือไปทำศาสนกิจ หรือรูปภาพที่อยู่บนผนังว่าพวกเขาเป็นมุสลิมซุนนี ชีอะฮ์ หรือว่าคริสเตียน

ในวันเวลาที่รุ่งเรืองหลังยุคล่าอาณานิคม จุดสนใจหลักอยู่ที่การสร้างอัตลักษณ์ของชาติและความเป็นอาหรับที่ครอบคลุม ซีเรีย ที่ประกอบไปด้วยชุมชนชาวซุนนี อาลาวี ดรูซ และคริสเตียน จึงอวดอ้างได้ว่าเป็น “หัวใจที่เต้นระรัวของความเป็นอาหรับ” แม้ในเลบานอนที่มีการจัดการแบ่งสันอำนาจกันเป็นอย่างดี แต่การนับถือศาสนายังคงเป็นเรื่องส่วนตัว การแต่งงานระหว่างศาสนาเป็นเรื่องปกติ

พรรคบาธ ซึ่งเคยปกครองทั้งในแบกแดดและดามัสกัส เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นโดยชาวคริสเตียนหัวเอียงซ้ายคนหนึ่งชื่อ มิเชล อัฟลัก ผู้นำปาเลสไตน์หัวรุนแรงสองคน คือจอร์จ ฮาบัช และนาเยฟ ฮาวัตเมห์ ก็เป็นชาวคริสเตียน เช่นเดียวกันกับจอร์จ อันโตนิอุส นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมอาหรับผู้ยิ่งใหญ่

ในอิรัก ซึ่งถูกอังกฤษชำแหละออกมาจากสามจังหวัดของออตโตมาน มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะฮ์ที่อาศัยอยู่ในชนบทและยากจน มีซุนนีเป็นประชากรส่วนน้อย และชาวเคิร์ดเป็น กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ซัดดัม ฮุซเซน ที่เป็นซุนนี พยายามที่จะเกณฑ์ทั้งหมดมาเป็นพวก พวกเขาทั้งหมดถูกกดขี่

ความเปลี่ยนแปลงถูกขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นโดยการปฏิวัติในอิหร่านเมื่อปี 1979 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชีอะฮ์ที่ถูกเหยียบย่ำทุกหนแห่ง การรุกรานอิหร่านของซัดดัมปี 1980 ประกาศว่าเป็นสงครามของชาวอาหรับที่ต่อสู้กับชาวเปอร์เซีย และได้รับเงินทุนจากกลุ่มประเทศอ่าวที่เป็นอาหรับและซุนนี ในปี 2003 เมื่อซัดดัมถูกโค่นอำนาจ ชาวชีอะฮ์อิรักเฉลิมฉลองด้วยการรำลึกถึงการพลีชีพของอิหม่ามฮุเซนผู้เป็นที่นับถือของพวกเขาที่เสียชีวิตด้วยน้ำมือของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ซุนนีที่สมรภูมิกัรบาลาในปี 680

การแบ่งแยกนิกายสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางศาสนาที่แท้จริง และกำหนด “ความเป็นคนอื่น” แต่มันมักจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับอำนาจ ทรัพยากร และอาณาเขตอยู่เสมอ ในบาห์เรน ราชวงศ์อัล-คอลิฟา ที่เป็นซุนนี ปกครองประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชีอะฮ์ โดยไม่ยอมให้ตำแหน่งที่ชอบธรรมของพวกเขาในระบบเลย แต่มานามาก็ยังโทษเตหะรานว่าก่อกวนให้เกิดการจลาจล ซาอุดิอารเบียก็กล่าวหาอิหร่านเช่นเดียวกันว่าสร้างความวุ่นวายในภาคตะวันออกที่มีชีอะฮ์เป็นจำนวนมาก ในสองกรณีนี้การกล่าวหานั้นเป็นเครื่องบังหน้าปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่

 

แผนผังตัวเลข ซุนนีและชีอะฮ์ในตะวันออกกลาง

แผนผังคำนวณจากประชากรพื้นเมือง ซุนนี (สีฟ้า) ชีอะฮ์ (สีเหลือง) อื่นๆ (สีเทา)
ตัวเลขทั้งหมดคือจำนวนโดยประมาณในปี 2008/09 และนับจากบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมมากกว่าการนับถือศาสนา

SunniShiaWeb(ภาพ)
ยอดรวมทั้งภูมิภาค
ซุนนี 56% 191 ล้าน / ชีอะฮ์ 36% 121 ล้าน / อื่นๆ 8% 28 ล้าน

อิหร่าน – อิหร่านถูกกล่าวหาว่าเข้าไปแทรกแซงในอิรัก เลบานอน และบาห์เรน ที่ซึ่งมีชีอะฮ์เป็นจำนวนมาก เตหะรานเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของประชาธิบดีบะชัร อัล-อัสซาด ของซีเรีย ฮิซบุลลอฮ์ และกองทหารอาสาสมัครอิรัก

อิรัก – ผลที่ตามมาภายหลังการรุกรานที่นำโดยสหรัฐฯ ในปี 2003 ทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างนิกายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายหมื่นคน ขณะนี้อิหร่านและพันธมิตรกำลังมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับนักรบญีฮาดของรัฐอิสลามในอิรัก

ซีเรีย – สงครามสี่ปีของซีเรีย วิกฤตการที่นองเลือดที่สุดของการปฏิวัติอาหรับสปริง ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 220,000 โดยที่ไม่มีสัญญาณของความสงบนิ่งทางการเมืองในเวลาอันใกล้นี้

อียิปต์ – ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐอาหรับยังคงกำลังปรับตัวกับผลที่ตามมาจากการปฏิวัติในปี 2011 โดยประธานาธิบดีอับดุล ฟาตาห์ อัล-ซีซี่ ที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ ทำการปราบปรามมุสลิมสายเคร่งครัดและรวบรวมอำนาจ

เยเมน – วิกฤตการภายในประเทศที่กำลังดิ่งลึกของเยเมนเป็นที่เพ่งเล็งด้วยการที่ซาอุดี้ฯ เป็นผู้นำในการพยายามทวงสิทธิ์อำนาจควบคุมรัฐอาหรับซุนนีอนุรักษ์นิยม ท่ามกลางอิทธิพลที่รู้สึกได้ของอิหร่านที่มีต่อชาวชีอะฮ์ทั่วภูมิภาค


 

ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา สงครามที่ร้ายกาจในซีเรียได้ขยายความรู้สึกแบ่งแยกทางนิกายไปมากจนถึงขนาดว่าตอนนี้ ชาวอาลาวีถูกระบุว่าเป็นฝ่ายบะชัร อัล-อัสซาดทั้งหมด และซุนนีเป็นฝ่ายต่อต้าน, ฮิซบุลลอฮ์ของเลบานอน, กลุ่มนักรบชีอะฮ์ที่อิหร่านหนุนหลังและสนับสนุนอัสซาด ยิ่งเสริมเรื่องราวสองฝ่ายนี้ แต่การโต้แย้งกันก็ยังคงมีอยู่ภายในนิกาย ขณะที่ความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ อยู่นอกเหนือไปจากอัตลักษณ์ทางศาสนา

ผู้รู้ซุนนีหัวรุนแรงในซาอุดิอารเบียหรือคูเวตกล่าวหาชีอะฮ์ว่าเป็น “พวกบูชารูปปั้น” ชาวอิหร่านถูกดูหมิ่นว่าเป็น “พวกซาฟาวี” เป็นการเอ่ยอ้างอย่างดูหมิ่นถึงราชวงศ์ซาฟาวีจากศตวรรษที่ 16 นักรบญีฮาดที่บ้าคลั่งอย่างกลุ่มรัฐอิสลามอ้างเหตุผลสนับสนุนการฆ่า “ผู้ละทิ้งศาสนา” ด้วยคำสอนในเรื่อง “ตักฟีร”

ในช่วงที่อัล-กออิดะฮ์ยังรุ่งโรจน์อยู่ พวกเขามุ่งเป้าหมายไปที่ “ศัตรูที่ห่างไกล” โดยเฉพาะอเมริกา แต่กลุ่มรัฐอิสลามได้วางความรู้สึกต่อต้านชีอะฮ์ไว้ที่ศูนย์กลางของอุดมการณ์ที่เป็นพิษของตน อบูบักร์ อัล-บักดาดี “คอลิฟะฮ์” ของกลุ่มได้เมินเฉยต่อคำขอร้องของอัยมัน อัล-ซาวาฮิรี ผู้สืบทอดตำแหน่งของอุซามะฮ์ บินลาดิน ที่ให้ระงับยับยั้งการฆ่าชีอะฮ์โดยไม่เลือกหน้า แทนที่จะรับฟัง เขายังโจมตีชาวชีอะฮ์และฝ่ายปกครองอาลาวีในอิรักและซีเรียต่อไป

ยูซุฟ อัล-กอรอดาวี นักการศาสนาซุนนีผู้ทรงอิทธิพลได้พูดบนเวทีที่อัล-จาซีร่า ทีวี จัดให้ โดยประณามฮัซซัน นัสรุลลอฮ์ แห่งฮิซบุลลอฮ์ (พรรคของพระเจ้า) ว่าเป็นผู้นำ “พรรคของซาตาน”

ดังนั้น การแบ่งแยกนิกายจึงได้โผล่ศีรษะที่น่าเกลียดของมันขึ้นมาในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้คนจำนวนมากพยายามอย่างหนักที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น และสื่อสังคมได้ทำให้มันง่ายขึ้นกว่าที่เคยในการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นพิษและคับแคบ

แต่ทว่าการแบ่งแยกนิกายไม่ใช่สาเหตุหลักของความแตกแยกในตะวันออกกลาง วิกฤตการณ์ที่กำลังดิ่งลึกของเยเมนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเฮาซีจากนิกายซัยดีที่เชื่อมโยงกับอิสลามชีอะฮ์ แต่มีความใกล้ชิดกับหลักคำสอนของซุนนีที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ การสนับสนุนที่พวกเขาได้รับจากอิหร่านนั้นก็เพียงเพื่อให้ได้พันธมิตรและเพื่อการแพร่อำนาจ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่เฮาซีต้องเผชิญกับการแทรกแซงด้วยอาวุธจากซาอุดิอารเบีย

การกล่าวว่าเตหะรานหนุนหลังเฮาซีด้วยเหตุผลทางศาสนา “ก็เหมือนกับการเข้าใจไปว่า ชาวเพรสบิเทเรียนของสก๊อต จะให้การสนับสนุนชาวแบพติสท์ในภาคใต้เสมอ เพราะทั้งสองกลุ่มเป็นนิกายย่อยของโปรเตสแตนท์” ฌอง โคล นักวิชาการและนักวิเคราะห์ข่าวเกี่ยวกับตะวันออกกลางชาวสหรัฐฯ กล่าว สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์การเมืองนี้เองที่ทำให้ความขัดแย้งนี้มีสีสันไปในทางแบ่งแยกนิกาย ไม่ใช่สิ่งอื่นเลย

มุสลิมซุนนีในอียิปต์เป็นชาวซุนนีที่แข็งแกร่ง แต่การปฏิวัติในปี 2011 และผลที่ตามมาอันทำให้เกิดความแตกแยกและการปราบปราม ทำให้ได้เห็นชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนคอปติกแสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลเก่า และตกเป็นเป้าของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง

ในมักริบ ที่ซึ่งการปฏิวัติอาหรับสปริงเริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มไปด้วยความหวังกับการลุกฮือของตูนีเซีย การแบ่งแยกนิกายไม่ใช่ประเด็น ถึงแม้แนวคิดแบบสุดโต่งจะแพร่พิษกลับมาจากสงครามในซีเรียและการเติบโตขึ้นของไอซิซก็ตาม ในลิเบีย โมรอกโก และอัลจีเรีย สิทธิ์และอัตลักษณ์ของชาวเบอร์เบอร์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่จุดศูนย์รวมของวิกฤตการณ์

ควรระลึกไว้ว่าการตื่นตัวของโลกอาหรับทุกที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการเรียกร้องให้ปฏิรูปไปในทางโลกวิสัย “ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากเผ่าใด เชื้อสายใด ศาสนาใด นิกายใด หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใด ประชาชนร้องขอ ‘ศักดิ์ศรี’ ก่อนสิ่งอื่นใด” ตาลาล ซัลมาน เขียนในหนังสือพิมพ์อัล-ซอฟิร ของเลบานอน “มันเพิ่งจะไม่นานมานี้เองที่แนวโน้มในการแบ่งแยกนิกายเริ่มเข้ามาอยู่แถวหน้า เพราะช่วงของการเปลี่ยนผ่านมีทีท่าว่าจะถอยหลัง ประชาชนจึงเลือกที่จะแสดงตัวออกมาในแนวของเผ่าหรือการนับถือศาสนา มากกว่าในแนวของการเมือง”

“ชาวอาหรับทุกวันนี้เป็นเหมือนกับพี่น้องและศัตรูในเวลาเดียวกัน กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจะกวัดแกว่งอัตลักษณ์ทางศาสนาหรือเชื้อชาติของตนเข้าเผชิญหน้ากับกลุ่มย่อยอื่นๆ ในสงครามอันเปล่าประโยชน์ สงครามที่ทุกฝ่ายจะพ่ายแพ้… สรุปได้ว่า การล่มสลายของแนวคิดรวมอัตลักษณ์ของชาติอาหรับจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองระหว่างพี่น้อง และเมื่อสงครามเหล่านั้นเริ่มต้นขึ้น จะไม่มีใครรู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่หรืออย่างไร”

 

 

ที่มา http://www.theguardian.com
แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์