5 ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้เกี่ยวกับ “เยเมน” และความขัดแย้ง

5209

(ภาพ) ผู้สนับสนุนขบวนการเฮาซีร่วมชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนต่อขบวนการนี้ในเมืองซะอฺดา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเยเมน เมื่อ 26 มีนาคคม 2015


หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดและเกิดความรุนแรงมากที่สุดในตะวันออกกลาง เยเมนยังเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับผู้มีบทบาทในภูมิภาค และกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลกบางกลุ่มด้วย เราจะอธิบายถึงเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังปัญหาความขัดแย้งในประเทศนี้

 

ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์

ดินแดนที่ตั้งอยู่ภายในเขตแดนของเยเมนคือหนึ่งในอู่แห่งอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในตะวันออกกลาง ที่ครั้งหนึ่งในสมัยโบราณเคยเป็นที่รู้จักกันว่า “เฟลิกซ์แห่งอารเบีย” ซึ่งเป็นคำภาษาละตินที่แปลว่า “มีความสุข” หรือ “มีโชค” แผ่นดินของเยเมนมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในคาบสมุทรอาหรับ  เนื่องจากได้รับฝนมากกว่าเพราะมีเทือกเขาสูง แต่เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน กำลังลดน้อยลง เยเมนและประชากรในประเทศประมาณ 26 ล้านคคน จึงมีความยากจนอย่างมากในปัจจุบัน

แต่ถึงกระนั้น ประเทศนี้ก็ยังมีดีอยู่ตรงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ปลายสุดทางตะวันตกเฉียงใต้ของอาหรับ โดยตั้งอยู่ตามเส้นทางเดินทะเลสายหลักจากยุโรปไปยังเอเชีย ใกล้กับเส้นทางการค้าและการขนส่งที่หนาแน่นที่สุดบางเส้นทางในทะเลแดง น้ำมันหลายล้านบาร์เรลผ่านเส้นทางทางน้ำเหล่านี้เป็นประจำทุกวันจากทั้งสองทิศทาง ทั้งที่จะไปทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านช่องแคบสุเอซ และจากโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอารเบียไปยังตลาดกระหายพลังงานในเอเชีย และศูนย์กลางการขนส่งของเยเมนในเมืองเอเดนยังเป็นหนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลกในศตวรรษที่ 20 อีกด้วย

 

เยเมนเหนือและเยเมนใต้ และเผ่าต่างๆ

ถึงแม้ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินเยเมนจะย้อนกลับไปได้ถึงหลายพันปี แต่เยเมนสมัยใหม่ก็ยังคงเป็นชาติที่อ่อนเยาว์ เพราะเขตแดนในปัจจุบันนี้เพิ่งจะถูกกำหนดขึ้นในปี 1990 หลังจากที่เยเมนเหนือและเยเมนใต้รวมกันเป็นหนึ่ง ก่อนหน้านั้น ทั้งสองฝ่ายมีปัญหาความขัดแย้งภายในของตัวเอง

เยเมนเหนือตั้งขึ้นเป็นสาธารณรัฐในปี 1970 หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์กับฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ โดยฝ่ายแรกได้รับการสนับสนุนโดยซาอุดิอารเบีย และฝ่ายหลังโดยอียิปต์ อดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลห์ ของเยเมน ขึ้นสู่อำนาจผ่านกองทัพ และอยู่ในอำนาจเป็นเวลาหลายทศวรรษ ถึงแม้ว่าเยเมนใต้จะเห็นชอบในการรวมตัวกับสาธารณรัฐทางเหนือของซาเลห์ในปี 1990 แต่พวกเขาก็ไม่พึงพอใจกับการดำเนินการนั้นในไม่ช้า เยเมนเหนือและใต้จึงเกิดปัญหาสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ขึ้น ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายหลายพันคน ในขณะที่อำนาจของซาเลห์แผ่ขยายออกไป

นอกเมืองใหญ่ๆ ของเยเมน มีพื้นที่ชนเผ่าจำนวนหนึ่งที่ปกครองตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุที่พลเมืองจำนวนมากมีการครอบครองอาวุธ (เชื่อกันว่าในประเทศนี้มีปืนมากกว่าพลเมือง) นักรบชาวเผ่าในพื้นที่มักจะปราบปรามกองทัพแห่งชาติและบังคับใช้กฎหมายของตัวเอง ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติมากกว่าตามรัฐธรรมนูญของประเทศ เฮาซีได้ผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักรบที่แข็งแกร่งมากที่สุดในเยเมน

 

รอยร้าวระหว่างซุนนี-ชีอะฮ์

ประชากรส่วนใหญ่ของเยเมนเป็นมุสลิม แต่เกิดการแตกแยกระหว่างสายต่างๆ ของอิสลาม โดยเฉพาะซุนนีกับชีอะฮ์ซัยดียะห์ การแบ่งแยกระหว่างซุนนีและชีอะฮ์เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนาที่มีมายาวนาน ซึ่งเริ่มต้นจากการโต้แย้งกันเกี่ยวกับผู้สืบทอดอำนาจของศาสดามุฮัมมัด ขณที่มุสลิมชีอะฮ์เชื่อว่าลูกพี่ลูกน้องของศาสดาคควรจะดำรงตำแหน่งนี้ แต่ซุนนีสนับสนุนการแต่งตั้งอบูบักร์ เพื่อนสนิทและที่ปรึกษาของมุฮัมมัด ให้เป็นคอลีฟะฮ์คคนแรกของประชาชาติอิสลาม

กล่าวกันว่า ชีอะฮ์ซัยดียะห์ (ที่มีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดของเยเมน) เป็นมุสลิมชีอะฮ์นิกายเดียวที่ไม่มีความเชื่อในความบริสุทธิ์ปราศจากมลทินและการถูกคัดเลือกจากพระเจ้าของบรรดาอิหม่าม ที่ชีอะฮ์เคารพนับถืออย่างแรงกล้าว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีแนวปฏิบัติที่ใกล้ชิดกับซุนนีมากกว่า

ในขณะเดียวกัน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดแบบซาลาฟีและวะฮาบีที่เคร่งครัดและเข้มงวดของซุนนี (ซึ่งเกิดมาจากซาอุดิอารเบียประเทศเพื่อนบ้าน) ได้เข้ามีอิทธิพลในเยเมนมากยิ่งขึ้น

 

กลุ่มเฮาซี

เฮาซีเป็นตัวแทนของมุสลิมชีอะฮ์สายซัยดียะห์จากตอนเหนือสุดของเยเมน อยู่ติดชายแดนซาอุดี้ฯ ชื่อของกลุ่มมาจากชื่อตระกูลผู้นำของเผ่า สมาชิกของกลุ่ม (ผู้นำศาสนาสายซัยดียะห์ และอดีตสมาชิกรัฐสภาเยเมน ฮุเซน บัดริดดีน อัล-เฮาซี) ถูกกล่าวหาจากรัฐบาลว่าเป็นผู้วางแผนการก่อกบฏของเฮาซี รวมทั้งการชุมนุมต่อต้านอิสราเอลและต่อต้านอเมริกาอย่างรุนแรงในปี 2004 รัฐบาลเยเมนได้สั่งให้ค้นหาไล่ล่าอัลเฮาซี ซึ่งจบลงด้วยการจับกุมประชาชนหลายร้อยคนและการเสียชีวิตของผู้นำซัยดียะห์ และผู้สนับสนุนเขาถูกสังหารไปด้วยหลายสิบคน

นับตั้งแต่นั้นมา กลุ่มเฮาซีได้ทำการต่อสู้กับอำนาจส่วนกลางอย่างแข็งขัน ด้วยการเรียกร้องอำนาจทางการเมืองที่มากขึ้น และการกล่าวหารัฐบาลว่ามีสัมพันธมิตรกับซาอุดิอาเบียที่เป็นวะฮาบี โดยไม่สนใจการพัฒนาชาติ และจำเป็นจะต้องมีเผ่าซซัยดียะห์ดั้งเดิม

ในขณะที่ประธานาธิบดีอาบิด รอบบู มันซูร ฮาดี ของเยเมนอ้างว่ากลุ่มเฮาซีได้รับการสนับสนุนจากฮิซบุลลอฮ์ (กองทหารอาสาสมัครชีอะฮ์ของเลบานอน) เจ้าหน้าที่ตะวันตกบางคนกล่าวหาว่าอิหร่าน หนึ่งในประเทศมุสลิมสายชีอะฮ์ ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มเฮาซีเพื่อความพยายามควบคุมแนวชายฝั่งทะเลแดงของเยเมน กลุ่มเเฮาซีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

 

อัล-กออิดะฮ์ และไอซิซ

นับตั้งแต่ปี 2009 เยเมนได้เป็นฐานปฏิบัติการของนักรบอัล-กออิดะฮ์ หลังจากที่อัล-กออิดะฮ์สายเยเมนและสายซาอุดี้ฯ ได้รวมตัวกันขึ้นเป็นอัล-กออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาหรับ (AQAP) กลุ่มนี้ได้กลายเป็นผู้ส่งออกการก่อการร้ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง โดยที่สหรัฐฯ ถือว่าเป็นอัล-กออิดะฮ์สายที่อันตรายมากที่สุด ครอบครัวของอุซามะฮ์ บิน ลาดิน เคยอาศัยอยู่ในภาคใต้ของเยเมนก่อนที่จะอพยพไปยังซาอุดิอารเบีย

การต่อสู้กับ AQAP ของเยเมน ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2007 สหรัฐฯ ให้มอบความช่วยเหลือทางการทหารแก่เยเมนมากกว่า 500 ล้านดอลล่าร์ ผ่านโครงการของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศ และทำการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายในประเทศด้วยเครื่องบินโดรน

ลัทธิความเชื่อของอัล-กออิดะฮ์มีพื้นฐานมาจากอิสลามซุนนีสายสุดโต่ง ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มเฮาซี ซึ่งได้ทำสงครามกับนักรบ AQAP ด้วย

ด้วยการมีกองกำลังต่างๆ ทำการสู้รบอยู่ในประเทศ (รวมถึงรัฐบาลที่เป็นทางการ, กลุ่มเเฮาซี และ AQAP) ความวุ่นวายในเยเมนทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์สำหรับผู้มีแนวคิดหัวรุนแรง กลุ่มหัวรุนแรงที่มีความสัมพันธ์กับรัฐอิสลาม (ไอเอส หรือไอซิซ/ไอซิล) ขณะนี้ปฏิบัติการอยู่ในเยเมน ก่อเหตุรุนแรงทั้งกับทหารและพลเรือน ในการโจมตีครั้งล่าสุดเมื่อ 20 มีนาคม มีประชาชนเสียชีวิตไปมากกว่า 100 คน และได้รับบาดเจ็บประมาณ 250 คน ในการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพที่มัสยิดหลายแห่งในเมืองซานาอฺ เมืองหลวงของเยเมน โดยที่นักรบไอซิซอ้างความรับผิดชอบสำหรับการโจมตีนี้

 

Source : http://rt.com/news/244325-facts-about-yemen-crisis/

แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์