เขียนโดย : ชาญชัย คุ้มปัญญา
ที่มา http://www.chanchaivision.com
https://www.facebook.com/mynamechanchai.thailandck
ก่อนเที่ยงของวันที่ 7 มกราคม เกิดเหตุผู้ก่อการบุกเข้าไปในสำนักพิมพ์ สังหารเจ้าหน้าสื่อนิตยสารชาร์ลีเอ็บโด (Charlie Hebdo) ที่เขียนล้อเลียนอิสลาม เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 12 คน รวมทั้งบรรณาธิการใหญ่ นักเขียนการ์ตูนชื่อก้อง
เจ้าหน้าที่รายงานว่าผู้ต้องสงสัย 2 รายเป็นพี่น้องกันคือ Said Kouachi อายุ 32 ปีกับ Cherif Kouachi อายุ 34 ปี สองคนพี่น้องเป็นมุสลิมเกิดในปารีส ส่วนรายที่ 3 คือ Hamyd Mourad อายุ 18 ปี
ข้อมูลจากกล้องวีดีโอตัวหนึ่งบันทึกภาพและเสียงของผู้ก่อเหตุ ชี้ว่ามาด้วยเหตุผลต้องการแก้แค้นทางศาสนา ทำนองเดียวกับกลุ่มใกล้ชิดอัลกออิดะห์กลุ่มหนึ่งในเยเมนอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุ เพื่อแก้แค้นทางศาสนา Said Kouachi หนึ่งในผู้ต้องสงสัยเคยเดินไปเยเมนเมื่อปี 2011 ได้รับการฝึกจากอัลกออิดะห์ที่นั่น
แม้ว่าต้นเหตุคงมาจากประเด็นศาสนา ควรเข้าใจว่านิตยสารชาร์ลี เอ็บโดไม่ได้เสียดสีเฉพาะศาสนาอย่างเดียว “ชาร์ลี เอ็บโด” เน้นการเสียดสีวิจารณ์การเมือง ศาสนา สังคม ฯลฯ จึงไม่อาจสรุปว่ามุ่งเป้าที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ปัญหานิยาม “พวกสุดโต่ง” :
ในโลกของพวกตะวันตกมักใช้คำว่า “พวกสุดโต่ง” (extremist) โดยเฉพาะมุสลิมสุดโต่ง ไม่ว่าในทางวิชาการจะนิยามอย่างไร คำๆ นี้ถูกใช้ในความหมายแง่ลบ เป็นพวกนิยมความรุนแรง มักสร้างปัญหาต่อโลกเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะในหมู่ชาติตะวันตก
การที่บางคนบางกลุ่มใช้ความรุนแรงแล้วถูกตีตราว่า “เป็นพวกสุดโต่ง” และใช้คำคำนี้อย่างพร่ำเพรื่อ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหลายอย่าง
ข้อแรก ผู้ก่อเหตุเป็นตัวแทนของอิสลามหรือไม่
กรณี “ชาร์ลีเอ็บโด” สังคมควรตั้งคำถามว่าพวกเขากระทำตามหลักอิสลามหรือไม่ หรือว่าเป็นพวกบิดเบือนศาสนา เข้าใจหลักศาสนาผิดพลาด กระทำด้วยจิตใจ “อันโหดร้าย” สวนทางหลักศาสนาอย่างสิ้นเชิง
กองกำลังรัฐอิสลาม (IS/ISIL/ISIS) เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน แม้ว่าพวกเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นรัฐอิสลาม ละหมาดวันละ 5 ครั้งไม่ได้ขาด แต่ผู้นำประเทศผู้นำศาสนาทั้งสายซุนนี-ชีอะห์ต่างออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่า IS ไม่ใช่อิสลาม
Grand Mufti Sheikh Abdulaziz Aal Alsheikh ผู้นำศาสนาในซาอุดิอาระเบีย ประณามอัลกออิดะห์และรัฐอิสลาม (Islamic State) ว่าเป็น “ศัตรูหมายเลข 1” ของอิสลาม “แนวคิดของลัทธิสุดโต่ง (extremism) หัวรุนแรง (radicalism) และก่อการร้าย (terrorism) … ไม่มีอะไรที่สอดคล้องกับอิสลาม และเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของอิสลาม” “ผู้รับเคราะห์ร้ายจากลัทธิสุดโต่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จากอาชญกรรมที่ก่อโดยพวกที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม อัลกออิดะห์และกลุ่มต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับพวกเขา”
Mehmet Gormez ผู้นำศาสนาสูงสุดของตุรกี ผู้สืบทอด caliphate จากสมัยอาณาจักรออตโตมาน ประกาศว่ามุสลิมไม่ควรเป็นศัตรูต่อ “ผู้อื่นที่มีมุมมอง การยึดถือคุณค่า ความเชื่อแตกต่าง และถือว่าพวกเขาเป็นศัตรู”
Muslim Public Affairs Council (MPAC) ออกแถลงการณ์ว่า “การแพร่ขยายของแนวคิดพวกสุดโต่ง กองกำลังติดอาวุธและลัทธิก่อการรร้ายบ่อนทำลายโลก ทำลายอารยธรรมมนุษย์ ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอิลาม แต่เป็นศัตรูหมายเลข 1 ของอิสลาม และมุสลิมเป็นเหยื่อรายแรกของพวกมัน”
นาย Iyad Ameen Madani เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) แสดงความชื่นชมต่อแถลงการณ์ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่จะร่วมกันต่อต้านอุดมการณ์ของ ISIL อัลกออิดะห์ Boko Haram และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ยืนยันว่าแนวทางของกลุ่มก่อการร้ายอย่าง IS ไม่มีส่วนใดที่เข้ากับอิสลาม หรือหลักการใดๆ ที่เข้ากับความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเมตตา เสรีภาพแห่งความเชื่อและการอยู่ร่วมกัน OIC ขอประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้
ประธานาธิบดีโรฮานีแห่งอิหร่านกล่าวว่า “ศัตรูของอิสลามพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิม และผลักดันให้พวกเขาก่อความรุนแรงเนื่องจากความแตกต่างทางศาสนา แต่มุมมองของอิสลามปฏิเสธความรุนแรง ความสุดโต่ง และเราต้องพยายามสุดกำลังที่จะสร้างมิตรภาพและความใกล้ชิดระหว่างมุสลิมด้วยกัน”
ดังนั้น สังคมควรตั้งคำถามว่าพวกที่ถูกตีตราเป็นมุสลิมสุดโต่ง แท้จริงที่แล้วเขาได้กระทำตามหลักศาสนาหรือไม่ และการตีตราเรียกพวกเขาเป็นมุสลิมจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่
ข้อสอง มีพวกเสรีนิยมสุดโต่งหรือไม่
ในขณะที่คำว่า “มุสลิมสุดโต่ง” ถูกใช้อย่างแพร่หลาย สังคมควรตั้งคำถามว่ามี “พวกเสรีนิยมสุดโต่ง” ด้วยหรือไม่ คนเหล่านี้อ้างเสรีภาพเพื่อกระทำตามอำเภอใจ ไม่สนใจว่าสิ่งที่กระทำส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร สิ่งที่กระทำนั้นสร้างสรรค์หรือทำลายสังคม การล้อเลียนลบหลู่ศาสนาคือการหว่านเพาะภัยคุกคามประเทศหรือไม่
ในโลกประชาธิปไตย พวกเสรีนิยมสุดโต่งอาจเป็นเพียงคนที่ติดเหล้าติดบุหรี่อย่างหนัก อ้างว่าเป็นสิทธิส่วนตัวของพวกเขา แต่คนเหล่านี้ในระยะยาวจะมีปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความรับผิดชอบต่อครอบครัวลดลง รัฐและคนใกล้ชิดต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล การดูแล เป็นประเด็นที่สังคมควรถกกันต่อไปเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
ลองคิดดูง่ายๆ ว่าสังคมใดจะมีความสุขความปลอดภัยมากกว่ากัน ระหว่างสังคมที่ปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ กับสังคมที่เต็มด้วยคนติดเหล้าติดบุหรี่
“ชาร์ลีเอ็บโด” เสรีนิยมสุดโต่ง :
สื่อตะวันตกมักนำเสนออีกว่าผู้ก่อการเป็นพวกสุดโต่ง (extremist) คำถามที่น่าคิดคือ พวกนิยมลบหลู่ศาสนา กระทำเป็นประจำเป็นอาชีพ พวกนี้เป็นพวกสุดโต่งด้วยหรือไม่ เนื่องจากเชื่อได้ว่าคนเหล่านี้กระทำโดยเจตนา รู้ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมแต่ยังกระทำต่อเนื่อง
หากทบทวนประวัติศาสตร์จะพบว่าเหตุการณ์ลักษณะ “ชาร์ลีเอ็บโด” เป็นเรื่องซ้ำเดิมเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง
ในปี 2012 มุสลิมทั่วโลกประท้วงภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา ข้อมูลบางแหล่งชี้ว่าเชื่อมโยงกับการเผาสถานกงสุลสหรัฐประจำเมืองเบงกาซี เอกอัครราชทูตสหรัฐนายคริสโตเฟอร์ สตีเว่นส์ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันอีก 3 คนเสียชีวิตในบริเวณสถานกงสุล
ในกรณี “ชาร์ลีเอ็บโด” สื่อรู้ตัวเพราะถูกคุกคามเรื่อยมา มีข้อมูลว่า Stéphane Charbonnier บรรณาธิการอำนวยการ ได้รับการคุ้มครองจากตำรวจในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และเมื่อปี 2011 สำนักงานเคยถูกขว้างด้วยระเบิดเพลิงหลังตีพิมพ์เนื้อหาลบหลู่อิสลาม
การล้อเลียนไม่ช่วยสร้างสรรค์สังคม เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยก ความเกลียดชัง เพราะเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่รับรู้ทั่วไปอยู่แล้วว่าการลบหลู่อิสลามสร้างความแตกแยกในสังคม เป็นต้นเหตุความรุนแรง
ถ้าเป็นนักเสรีนิยมต้องการส่งเสริมประชาธิปไตยสามารถกระทำได้สารพัดวิธี ไม่จำต้องใช้วิธีลบหลู่ศาสนา
สื่อตะวันตกมักนำเสนอในแง่ว่าผู้ก่อการเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ คำถามน่าคิดคือ พวกนิยมลบหลู่ศาสนาเป็นผู้บั่นทอนความมั่นคงของชาติหรือไม่
“บ้านเมืองที่แตกแยก ประชาชนจะเป็นสุขได้อย่างไร”
เป็นเรื่องของพวกสุดโต่งด้วยกันหรือไม่ :
ถ้าเชื่อว่าชาวฝรั่งเศสคือผู้ที่มีหัวใจแห่งเสรีภาพ อดทนต่อความเห็นต่าง พวกเขาจะต้อง “อดทน” ต่อศาสนาอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลายด้วย การแสดงออกซึ่งการดูหมิ่นศาสนาอย่างรุนแรงจึงไม่ใช่วิสัยที่ชาวฝรั่งเศสทั่วไปจะกระทำ
เช่นเดียวกับการมองฝ่ายมุสลิม ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อเข้าใจว่ามุสลิมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเช่นนี้หรือไม่ ผู้ก่อเหตุเป็นตัวแทนของมุสลิมหรือไม่ หรือเป็นเพียงอาชญากรที่อ้างศาสนาเท่านั้น
รวมความแล้ว สังคมต้องระวังไม่ให้ความสุดโต่งของทั้ง 2 กลุ่มเป็นต้นเหตุเพิ่มความขัดแย้ง
มีคำคมกล่าวว่า “ผู้ใดหว่านสันติ ผู้นั้นจะได้ชื่นชมความหอมหวานจากสันติ ผู้ใดหว่านความแตกแยกก็จะจมอยู่ในความเน่าเปื่อย”
แนวทางของ“ชาร์ลีเอ็บโด” คือการแสดงออกถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ข้อควรคิดคือการแสดงออกดังกล่าว “สร้างสรรค์” หรือ “ทำลาย”
ถ้ามองในแง่สิทธิเสรีภาพ ควรตอบคำถามว่า “สังคมประชาธิปไตยควรส่งเสริมแนวทางเช่นนี้หรือไม่” ถ้ามีลูกมีหลานก็ตั้งคำถามว่า “ต้องการให้ลูกหลานตนเองเป็นคนชอบเสียดสีคนอื่นหรือไม่”
การดูหมิ่นเสียดสีจึงไม่อาจพิจารณาเพียงเรื่องเสรีภาพเท่านั้น ควรพิจารณาว่าเป็นการ “สร้างสรรค์” หรือ “ทำลาย”
ที่สุดแล้วคงเป็นเพียงการแสดงออกของพวกสุดโต่ง 2 กลุ่ม ที่ฝ่ายหนึ่งนิยมใช้ “ความรุนแรงต่อจิตใจ“ ด้วยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ กับอีกฝ่ายที่นิยมใช้ “ความรุนแรงต่อร่างกาย” ใช้อาวุธสงครามทำร้ายผู้คน สร้างความหวาดผวาแก่สังคม
สังคมควรส่งเสริมพวกสุดโต่งเหล่านี้หรือไม่
—————————-
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6640 วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ.2558, http://www.ryt9.com/s/tpd/2067940)
บรรณานุกรม :
- Bilefsky, Dan., & Baume, Maia de la. (2015, January 7). Suspects Identified in Attack on French Newspaper, Charlie Hebdo. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/01/08/world/europe/charlie-hebdo-paris-shooting.html?_r=0
- Grand Mufti: IS is Islam’s ‘enemy No. 1’. (2014, August 20). Saudi Gazette. Retrieved from http://www.saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20140820215352
- Iranian President: Islam Rejects Violence, Extremism. (2014, June 23). FNA. Retrieved from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930402001046
- Michaels, Jim. (2015, January 9). Al-Qaeda in Yemen says it’s behind Paris attack. USA Today. Retrieved from http://www.usatoday.com/story/news/world/2015/01/09/paris-charlie-hebdo-yemen-al-qaeda-pentagon/21520311/
- OIC welcomes President Obama’s call to confront extremist ideology. (2014, September 25). Organisation of Islamic Cooperation. Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv2/topic/?t_id=9363&t_ref=3737&lan=en
- Washington’s Blog. (2014, August 24). Muslim Leaders Worldwide Condemn ISIS. Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/muslim-leaders-worldwide-condemn-isis/5397364