ทำไมความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ จึงเป็นภัยคุกคามต่ออิสราเอล??

2271

(ภาพ) นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ในกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2014 นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า สาธารณชนคาดหวังให้รัฐบาล “กลับสู่การปฏิบัติการตามปกติ” และได้กล่าวเป็นนัยถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งเร็วขึ้น ถ้ารัฐบาลผสมของเขาไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤติที่เชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติแห่งชาติที่เป็นข้อถกเถียงกัน ซึ่งจะยกสถานะของอิสราเอลให้เป็นรัฐยิว

ด้วยการเป็นผู้ลี้ภัยในแผ่นดินของตัวเอง ไร้แผ่นดินภายในเขตแดนที่ลดน้อยถอยลงเท่าที่อิสราเอลยินยอมให้ ไร้โฉมหน้าและไร้เสียงต่อประชาคมโลกในขณะที่สถานะทางกฎหมายของพวกเขายังคงว่างเปล่า สำนวนของชาวปาเลสไตน์ยังคงเป็นบทตอนของวิกฤติการณ์ที่ปิดไม่ลง ซึ่งมันได้ถูกตีแผ่มาตั้งแต่ปี 1948 เมื่อครั้งที่อิสราเอลประกาศความเป็นชาติของตน

หลังจากอิสราเอลได้ทำการรุกรานกาซ่าอย่างหนักครั้งล่าสุด ในปฏิบัติการ Operation Protective Edge หรือที่เรียกกันว่า “สงคราม 50 วัน”  เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของคณะปกครองปาเลสไตน์ได้ให้คำมั่นว่าจะนำการต่อสู้เพื่อการรับรองอย่างเป็นทางการของประชาชนของเขาขึ้นเสนอต่อสหประชาชาติ

อับบาสยืนยันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมว่า เขาจะกดดันต่อไปด้วยคำบอกกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อสถานะความเป็นรัฐ คำเรียกร้องของเขาได้เสียงสะท้อนในทำนองเห็นด้วยจากฝ่ายการเมืองในวงกว้าง ทั้งฝ่ายฮามาสและฟาตาห์ ซึ่งเป็นฝ่ายทางการเมืองที่สำคัญของปาเลสไตน์

แต่อิสราเอลก็มีความมุ่งมั่นอย่างเท่าเทียมกันที่จะทำลายความพยายามนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าใจว่าปาเลสไตน์เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของตน

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่อิสราเอลคิดมานานแล้ว นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลบอกในการแถลงข่าวเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า “ไม่อาจเป็นไปได้ที่จะมีสถานการณ์ภายใต้ข้อตกลงใดๆ ที่จะให้เราวางมือจากการควบคุมความมั่นคงในดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน”

เนทันยาฮูจึงบอกเป็นนัยว่า ปาเลสไตน์จะไม่ได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าความคิด เหมือนเทพนิยาย ซึ่งเป็นการประเมินที่ได้รับการยืนยันจากเดวิด โฮโรวิตซ์ บรรณาธิการผู้ก่อตั้งเดอะ ไทมส์ แห่งอิสราเอล ซึ่งถือว่าเป็นผู้สนับสนุนที่มีความซื่อสัตย์ต่อเนทันยาฮูมากที่สุด โดยใช้หนังสือพิมพ์ Haaretz ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่เก่าแก่ที่สุดของอิสราเอล

การเร่งเร้าเพื่อความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ปรากฏขึ้นอย่างจริงจังด้วยองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ในการประชุมพิเศษของสภาแห่งชาติปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติของ PLO ในกรุงแอลเจียร์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1988 เวลาผ่านไปเกือบสามทศวรรษแล้ว และความปรารถนาที่จะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างเต็มรูปแบบและเป็นสถาบันที่แท้จริงที่จะถูกยกเลิกเสียไม่ได้ ควรที่จะเข้าถึงห้องพิจารณาของสหประชาชาติเสียที เมื่อเป็นเช่นนั้น โลกจะได้มองดูขณะชะตากรรมของประชาชนทั้งหมดโลดแล่นไป

ประเทศและประชาชนที่อดีตนายกรัฐมนตรีโกลดา เมียร์ ของอิสราเอลได้ขับไล่ออกไปราวกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน กำลังมีความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ความผิดของอิสราเอล ด้วยการทวงสิทธิ์พื้นที่ภายใต้ดวงอาทิตย์ของพวกเขาคืนมา

 

“ความผิดพลาดอย่างมหันต์”

ด้วยความตึงเครียดและความรู้สึกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น คำประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมของเนทันยาฮูที่บอกว่าจะไม่มีรัฐปาเลสไตน์นั้น ได้สรุปถึงความเป็นจริงที่ชาวปาเลสไตน์ได้เผชิญในระยะเวลาหกศตวรรษที่ผ่านมา

“ความปรารถนาที่จะเป็นใหญ่ของอิสราเอลตั้งอยู่บนการทำลายล้างปาเลสไตน์ ตราบใดที่หลักฐานของปาเลสไตน์ยังคงมีอยู่ อิสราเอลจะไม่มีทางสถาปนาความชอบด้วยกฎหมายหรือยืนยันสิทธิ์ในการเป็นรัฐได้อย่างสมบูรณ์เลย อิสราเอลถูกสร้างขึ้นบนเลือดของปาเลสไตน์ เป็นเวลาหกทศวรรษมาแล้วที่อิสราเอลพยายามจะล้างมลทินของตนออกไป แต่มันทำไม่ได้” มัรวา ออสมาน นักวิเคราะห์การเมืองจาก Strategic Foresight Group กล่าว

Map-of-Palestine

“อิสราเอลกลัวปาเลสไตน์ เพราะการมีอยู่ของปาเลสไตน์เป็นการปฏิเสธและแสดงการท้าทายต่อการอ้างสิทธิ์ในดินแดนของปาเลสไตน์ ทุกอย่างที่อิสราเอลได้กระทำมาตั้งแต่ปี 1948 มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายล้างปาเลสไตน์ ไม่ต้องมีการระมัดระวังในเรื่องนั้น เทลาวีฟจะต้องคัดค้านการอ้างสิทธิ์ในความเป็นรัฐของปาเลสไตน์อย่างแน่นอน”

ถึงแม้ว่าการกล่าวถึงเรื่องความเป็นรัฐของปาเลสไตน์จะเป็นหัวใจสำคัญของการเจรจาเพื่อสันติภาพกับอิสราเอลทุกครั้ง โดยยืนเป็นเครื่องกีดขวางถนนชิ้นสำคัญที่จะนำไปสู่ข้อตกลงที่ถาวรและมีความหมาย สวีเดนได้ทำให้ความใฝ่ฝันถึงความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ใกล้เข้ามาเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสเตฟาน ลอฟเว่น ของสวีเดน ได้ทำให้โลกรับรู้ถึงเจตนารมณ์ของเขาเมื่อเดือนกันยายน โดยมาร์ก็อต วอลล์สตรอม รัฐมนตรีต่างประเทศของสวีเดนได้ประกาศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมว่า “วันนี้ รัฐบาลตัดสินใจที่จะให้การรับรองรัฐปาเลสไตน์”

วอลล์สตรอมกล่าวเสริมว่า “มันเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะยืนยันถึงสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตัวเองของชาวปาเลสไตน์ เราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นการแสดงหนทางให้แก่คนอื่นๆ”

สวีเดนเป็นประเทศที่สองในยุโรปตะวันตกที่ให้การรับรองปาเลสไตน์ว่าเป็นรัฐเอกราช โดยที่รัฐสภาของไอซ์แลนด์ได้ออกเสียงลงมติเพื่อให้การรับรองแก่ปาเลสไตน์ในปี 2011

ไม่ว่าอิสราเอลจะทำให้ความเคลื่อนไหวของสวีเดนเป็นข้อถกเถียงกันเพียงใดก็ตาม แต่การแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับปาเลสไตน์ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทุกเมืองหลวงของยุโรป ส่งผลให้เกิดเสียงเรียกร้องของประชาชนทั้งหมดเพื่อการตัดสินใจทางการเมืองด้วยตัวเองและเพื่อการรับรองความเป็นสถาบัน

ภายในไม่กี่สัปดาห์ที่สวีเดนได้แยกออกมาจากท้องเรื่องทางการเมืองที่สนับสนุนอิสราเอลอย่างท่วมท้น ฝรั่งเศสก็ตัดสินใจส่งข้อความถึงเทลาวีฟด้วยเช่นกัน ฝรั่งเศสยืนยันเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมว่า สมัชชาแห่งชาติของตนได้ออกเสียงลงมติเห็นชอบในการที่จะให้การรับรองความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ เป็นการขีดเส้นใต้การพลิกผันอย่างรวดเร็วภายในสหภาพยุโรปที่มีต่อเรื่องของปาเลสไตน์

เมื่อการสนับสนุนอิสราเอลเริ่มลดน้อยถอยลงในสหภาพยุโรปเนื่องจากการประกอบอาชญากรรมสงครามอย่างครึกโครมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมหันต์ต่อชาวปาเลสไตน์ อิสราเอลได้ถอยกลับไปอยู่ด้านหลังพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุด นั่นก็คือ สหรัฐฯ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในร่างเอกสารของ PLO ที่ส่งถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้การรับรองปาเลสไตน์ว่าเป็นรัฐเอกราชและมีอธิปไตย เจน ปซากี โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องที่เราสนับสนุน”

“เราได้เห็นร่างเอกสารฉบับนั้นแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะสนับสนุน และเราคิดว่าคนอื่นๆ ก็คงรู้สึกเหมือนกัน และเรากำลังเรียกร้องให้มีการพิจารณากันต่อไป” ปซากีกล่าว

ด้วยความโกรธต่อความเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสที่แสดงนัยถึงการจะรับรองรัฐปาเลสไตน์ เนทันยาฮูกล่าวว่า ฝรั่งเศสได้กระทำ “ความผิดพลาดอย่างมหันต์”

โนม ชอมสกี้ นักวิชาการและนักคิดผู้มีชื่อเสียง ได้เขียนลงใน Truthout เมื่อปี 2012 โดยกล่าวถึงกาซ่าว่าเป็น “คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

“มันใช้เวลาแค่ไม่ถึงหนึ่งวันในกาซ่าเพื่อที่จะได้รู้สึกว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง ที่ต้องพยายามเพื่อความอยู่รอดในคุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ซึ่งประชาชนประมาณ 1.5 ล้านคนบนเนื้อที่ 140 ตารางไมล์ต้องตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงแบบไม่เลือกหน้าและการลงโทษที่ไม่มีกฎเกณฑ์ โดยไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นใดมากไปกว่าเพื่อลบหลู่ดูหมิ่นและทำให้อับอาย” ชอมสกี้เขียน

อิสราเอลได้ทำมาทุกอย่างแล้วนอกจากทำให้ปาเลสไตน์หายไป แต่ถึงกระนั้นปาเลสไตน์กลับค้นพบที่ยืนที่ใหม่ ประชาชนชาวปาเลสไตน์ได้รับแรงกระตุ้นจากความรู้สึกถึงเจตนารมณ์ทั้งใหม่แม้ว่าจะมีความยากลำบาก
“เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้วนอกจากตัวของพวกเขาเอง ชาวปาเลสไตน์จึงสามารถสำรวมกำลังกันได้เบื้องหลังสิ่งหนึ่งที่รวมพวกเขาทั้งหมดเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ปาเลสไตน์ และนี่คือสิ่งที่ทำให้อิสราเอลหวาดกลัว” ออสมาน จาก Strategic Foresight Group กล่าว

 

อิสราเอล “ในความตื่นตระหนก”

“รัฐอิสราเอลคือบ้านเกิดเมืองนอนของประชาชนชาวยิว เป็นรัฐเดียวที่เรามี และชาวปาเลสไตน์ที่กำลังเรียกร้องให้ได้มาซึ่งรัฐ ไม่ต้องการที่จะให้การรับรองสิทธิ์ในการมีรัฐของประชาชนชาวยิว” เนทันยาฮูกล่าวเพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการออกเสียงลงมติของฝรั่งเศสในการเห็นชอบเรื่องความเป็นรัฐของปาเลสไตน์เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน

“ด้วยการนิยามถึงรูปพรรณของอิสราเอลและการอ้างสิทธิ์ในการมีอยู่บนพื้นฐานของความเป็นยิวเพียงอย่างเดียว เนทันยาฮูระบุอย่างไม่ชัดเจนนักว่าการอยู่รอดของปาเลสไตน์เท่ากับการสูญสิ้นของอิสราเอล และเป็นในทางลบสำหรับมันอย่างที่สุด” มุจตาบา มูซาวี นักวิเคราะห์การเมืองและหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิหร่านวิว กล่าว

“เรื่องราวทั้งหมดของอิสราเอลขึ้นอยู่กับหลักการที่ว่า ปาเลสไตน์เป็นเพียงแค่ความคิดฝันในจินตนาการของอาหรับเท่านั้น และประชาชนของตน(อิสราเอล) เท่านั้นที่มีความชอบธรรมในการอ้างสิทธิ์ต่อแผ่นดินนั้น ถ้าหากปาเลสไตน์มีชีวิตขึ้นมาในสายตาของประชาคมโลก ชาวปาเลสไตน์ก็จะมีบางอย่างที่จับต้องได้เพื่อสำรวมกำลังและต่อสู้เพื่อให้ได้มา อิสราเอลกลัวพลังอำนาจที่ปาเลสไตน์จะได้มาด้วยการมีความหวังขึ้นมาใหม่เช่นนั้น” เขากล่าวเสริม

ดังที่โรเบิร์ต แฟนติน่า ได้เขียนใน Counter Punch เดือนนี้ว่า เมื่อมองเห็นความกดดันจากประชาคมโลกกำลังเพิ่มมากขึ้น อิสราเอลและนายกรัฐมนตรีของมันกำลัง “ตกอยู่ในความตื่นตระหนก”

“มันดูเหมือนกับว่า นายกฆาตกร (Prime Murderer) เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลกำลังอกสั่นขวัญแขนเพราะดูเหมือนหลายชาติในยุโรปมีทีท่าว่าจะให้การรับรองปาเลสไตน์” แฟนติน่าเขียน

ในความพยายามที่จะรวบรวมกองทหารภายใต้ธงอิสราเอล โดยใช้สันติภาพและเสถียรภาพของโลกมาเป็นข้ออ้างสุดท้ายของเขา เนทันยาฮูได้ตำหนิการท้าทายของฝรั่งเศสว่า “การดำเนินการเช่นนั้นตรงกันข้ามกับข้อตกลงสันติภาพ มันจะขัดขวางการเจรจาทั้งหมดในอนาคต และนำมาซึ่งการขยายความขัดแย้ง”

เขาได้ยืนยันว่าไม่มีผลดีใดๆ ที่ปาเลสไตน์จะได้รับการรับรองว่าเป็นรัฐที่ชอบธรรมตามกฎหมายภายในวงจำกัดของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเนทันยาฮูได้เตือนว่า “การดำเนินการนี้ (การรับรองปาเลสไตน์โดยไม่ผูกมัดของฝรั่งเศส) เป็นการดำเนินการในแง่ลบ และจะมีผลย้อนกลับ”

ขณะที่เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ยังคงเผชิญกับความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะถูกสหรัฐฯ “วีโต้” (แสดงสิทธิ์ยับยั้ง) ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปรากฏว่าความลับนั้น (ความเป็นรัฐของปาเลสไตน์) ได้รั่วไหลออกไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ตรงหน้าบทสรุปที่ปรากฏอยู่รำไรนั้น

หนึ่งในห้าชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วยฝรั่งเศส จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ มีสิทธิ์ที่จะวีโต้มติใดๆ ก็ตามที่ตนไม่เห็นด้วย ควรที่จะระบุเอาไว้ว่า สหรัฐฯ ได้ร้องขอและอ้างสิทธิ์ในการวีโต้ของตนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าปาเลสไตน์ประสบความสำเร็จ? และจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันล้มเหลว?

น่าขันที่ตอนนี้ อิสราเอลพบว่าตนเองตกอยู่ในสภาพเดียวกับที่ปาเลสไตน์ถูกบังคับให้เป็นในปี 1993 เมื่อยัสเซอร์ อารอฟัต ผู้ก่อตั้งพรรคฟาตาห์ของปาเลสไตน์ และขณะนั้นเป็นประธาน PLO ถูกกดดันให้ต้องรับรอง “สิทธิ์ของอิสราเอล” เพื่อเป็นเงื่อนไขก่อนการทำสนธิสัญญาแห่งออสโล ดังที่แฟนติมาได้บันทึกไว้ว่า “ไม่มีใครสักคนในโลก ยกเว้นชาวปาเลสไตน์ ที่จะรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งกับเรื่องนั้นในตอนนั้น”

ในจดหมายที่เขียนถึงนายกรัฐมนตรียิตชัก ราบิน ของอิสราเอลในขณะนั้น อารอฟัตเขียนว่า

“การลงนามในปฏิญญาว่าด้วยหลักการฉบับนั้นเป็นสัญญาณของยุคใหม่ในประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลาง ด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าว ข้าพเจ้าใคร่ขอยืนยันถึงฉันทามติของ PLO ดังต่อไปนี้

PLO ให้การรับรองสิทธิ์ของรัฐอิสราเอลในการดำรงอยู่ด้วยความสันติและความมั่นคงปลอดภัย

PLO ยอมรับมติที่ 242 และ 338 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

PLO ยินยอมเข้าสู่กระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง และยอมรับการลงมติโดยสันติของการขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย ประขอประกาศว่าประเด็นสำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสภาพที่ถาวรจะได้รับการแก้ปัญหาโดยผ่านการเจรจา”

แต่ถึงกระนั้น ถ้าหากชาวปาเลสไตน์ต้องน้อมรับความกดดันจากนานาชาติภายใต้คำว่าสันติภาพ อิสราเอลดูเหมือนจะมีความมุ่งมั่นที่จะลั่นกลองรบเพื่อป้องกันท่าทีของตนในการปฏิเสธปาเลสไตน์ และวอชิงตันยังคงอยู่ในมุมของอิสราเอล

นายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งทำงานเพื่อฟื้นฟูการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ตลอดปีที่ผ่านมา บอกกับนักข่าวที่โคลอมเบียเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมว่า “มีชาวบ้านจากที่ต่างๆ มากมายกำลังผลักดันกันไปในทิศทางต่างๆ และคำถามก็คือ เราจะสามารถดึงทั้งหมดนั้นเข้ามาในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่”

“เรากำลังพยายามหาทางที่จะช่วยปลดชนวนความตึงเครียดและลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น และเรากำลังสำรวจดูความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะไปถึงจุดนั้น”

 

สงครามคือทางออก

ดังที่แฟนติน่าได้แสดงความคิดเห็นในรายงานของเขาที่เขียนให้ Counter Punch ว่า อิสราเอลน่าจะให้คำตอบต่อการเรียกร้องความเป็นชาติของปาเลสไตน์ด้วยการลงโทษที่เจ็บปวดและน่ากลัวต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้สร้างความโศกสลดต่อหลายพันชีวิตที่สูญเสียไปในการรุกรานกาซ่าครั้งล่าสุด

“อิสราเอลจะยกระดับความน่าหวาดกลัวของมันต่อปาเลสไตน์ ฉนวนกาซ่าอาจจะถูกระเบิดอีกครั้ง จะมีการรื้อทำลายบ้านเรือนในเวสต์แบงก์เพิ่มขึ้น และผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กๆ ในเวสต์แบงก์จะถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีการตั้งข้อหาเพิ่มมากขึ้น” แฟนติน่าเขียน

ถ้าคำพูดของนายนัฟตาลี เบ็นเน็ตต์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอิสราเอลเป็นเครื่องแสดงถึงความเคลื่อนไหวของเทลาวีฟ ความรุนแรงจะเชิดหัวขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ช้าก็เร็ว

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม เบ็นเน็ตต์กล่าวในที่ประชุมของสถาบันเพื่อการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ในเมืองเฮิร์ซลิยา อิสราเอล ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์เดอะ เยรูซาเล็มโพสต์ว่า “ความประพฤติของชาวปาเลสไตน์แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่คู่ควรกับการมีประเทศ”

“ข้าพเจ้าจะไม่มอบดินแดนในแผ่นดินของอิสราเอลให้แก่ชาวอาหรับ เราต้องเลิกขออภัยต่อโลกเสียที มันไม่เคยมีรัฐปาเลสไตน์อยู่ที่นี่เลย… มีแต่รัฐแห่งอิสราเอล เมื่อ 2,170 ปีที่แล้ว เราฉลองให้กับมันในวันฮานักก้า มันเคยมีอยู่เมื่อ 3,000 ปีที่แล้วด้วย” เบ็นเน็ตต์กล่าวต่อไป

ด้วยความต้องการจะเน้นถึงการไม่ยอมรับปาเลสไตน์อย่างไม่อ้อมค้อมของเขา เบ็นเน็ตต์ได้กล่าวสรุปว่า “เมื่ออิสราเอลพูดอย่างชัดเจน โดยไม่ตะกุกตะกักและไม่ออกตัว ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตายแล้วสร้างรัฐปาเลสไตน์ขึ้นบนแผ่นดินอิสราเอล โลกก็จะเข้าใจในที่สุด”

ฮายิม ยิลิน แกนนำของที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิวเอชคอล ในเนเกฟตะวันตก ได้กล่าวเตือนถึงสงครามตอบโต้ที่ยังค้างอยู่กับกาซ่า โดยได้บอกกับ เดอะ มิดเดิลอีสต์ มอนิเตอร์ ว่า “หลังจากที่มีการยกระดับขึ้นนี้ สงครามกับกาซ่าเป็นสิ่งที่แค่รอเวลาเท่านั้น”

“ใครก็ตามที่คิดว่าการไม่ใช้กำลังทหารเป็นทางออกเพื่อความสงบร่มเย็นเขาคิดผิด สงครามถือปฏิบัติกันโดยนักการเมืองเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถรักษาความมั่นคงและความสงบร่มเย็นภายหลังสงครามได้… ตอนนี้อิสราเอลพบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กำลังระเบิด ซึ่งจะนำไปสู่สงครามครั้งใหม่” ยิลินกล่าว

แท้จริงแล้ว อิสราเอลโจมตีกาซ่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การหยุดยิงเมื่อเดือนสิงหาคม ถึงแม้จะไม่มีรายงานการบาดเจ็บล้มตาย แต่มันก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดการนองเลือดต่อไปได้

นอกเหนือจากการที่อิสราเอลปฏิเสธไม่ให้การรับรองความเป็นรัฐเอกราชของปาเลสไตน์แล้ว ความเป็นจริงที่มีอยู่คือความหวาดกลัวอย่างยิ่งว่าเวลาหลายปีแห่งการยึดครองและก่อกรรมทำเข็ญจะถูกนำขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ดังที่นอร์แมน พอลแลค นักวิเคราะห์เกี่ยวกับการจำแนกโครงสร้างของลัทธิทุนนิยมและลัทธิฟาสซิสม์ ได้ระบุว่า “จุดอ่อนของอิสราเอลก็คือศาลอาญาระหว่างประเทศ การจะนำมันขึ้นศาลนั้นได้จำเป็นจะต้องมีสถานะความเป็นรัฐ และไม่ว่ากรณีใด สถานะความเป็นรัฐจะเพิ่มความเคารพและการยอมรับ”

 

By source http://www.mintpressnews.com
แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์