อาชญากรรมที่โลกไม่เคยรู้! อิสราเอลสร้างค่ายกักกันและใช้แรงงานชาวปาเลสไตน์เยี่ยงทาสในปี 1948-1955

4109

พลเรืองที่ถูกจับระหว่างการพ่ายแพ้ของลิดดา (Lydda) และแรมลี (Ramle) ในช่วง 12 กรกฎาคม 1948 และถูกนำตัวไปยังค่ายแรงงานต่างๆ ท่ามกลางความร้อนของเดือนกรกฎาคม พวกเขากระหายน้ำและได้รับน้ำหยดหนึ่งจากเด็กที่ทหารคุ้มกันอยู่ (ภาพ : ซัลมาน อบู ซิตตา, สมาคมปาเลสไตน์แลนด์)

เหตุการณ์ที่น่าขยาดและอึมครึมในการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ของไซออนิสต์ในช่วงปลายยุค 1940 ค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมาตามกาลเวลา ในแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีการศึกษาค้นคว้าหรือถกเถียงกันอย่างลึกซึ้งก็คือ การกักกันตัวพลเรือนชาวปาเลสไตน์หลายพันคนไว้ภายในค่ายกักกันและค่ายแรงงานของไซออนิสต์ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 1948 ถึง 1955 ปัจจุบันเรื่องราวของอาชญากรรมทางประวัติศาสตร์นี้เป็นที่เปิดเผยมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากการศึกษาค้นคว้าในเชิงกว้างของซัลมาน อบู ซิตตา นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวปาเลสไตน์ กับเทอร์รี่ เร็มเพล สมาชิกผู้ก่อตั้งศูนย์ทรัพยากรปาเลสไตน์ BADIL

ข้อเท็จจริงมีดังต่อไปนี้

เรื่องนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Palestine Studies อ้างอิงถึงรายงาน 500 หน้าของคณะกรรมการกาชาดสากล (ICRC) ที่เขียนขึ้นในระหว่างสงครามปี 1948 ที่ไม่เป็นความลับของชาติแล้วและเปิดเผยต่อสาธารณชนในปี 1996 และถูกค้นพบโดยบังเอิญโดยหนึ่งในผู้เขียนในปี 1999

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้รวบรวมคำให้การจากพลเรือนชาวปาเลสไตน์ 22 คนที่เป็นอดีตผู้ถูกกักกันในค่ายเหล่านี้ โดยผ่านการสัมภาษณ์ที่พวกเขาดำเนินการด้วยตัวเองในปี 2002 หรือถูกบันทึกโดยคนอื่นในช่วงเวลาต่างๆ

จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้ ผู้เขียนได้รวบรวมขึ้นเป็นเรื่องราวที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับวิธีการที่อิสราเอลจับตัวและกักขัง “พลเรือนชาวปาเลสไตน์หลายพันคนไว้เป็นคนใช้แรงงาน” และใช้ประโยชน์จากพวกเขา “เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงสงครามของตน”

 

การขุดคุ้ยอาชญากรรม

อบู ซิตตา กล่าวว่า “ผมเริ่มสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ในช่วงยุค 1990 เมื่อผมทำการเก็บข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์ ยิ่งคุณขุดค้นมากขึ้นเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งพบว่ามีอาชญากรรมที่ได้เกิดขึ้นแต่ไม่ถูกรายงานและไม่มีใครรู้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น”

ในเวลานั้น อบู ซิตตา ได้เดินทางไปเจนีวาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อตรวจสอบเอกสารสำคัญของกาชาดสากล (ICRC) ที่เพิ่งถูกเปิดเผยนี้ เขาบอกว่าเอกสารสำคัญเหล่านี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนหลังจากมีการกล่าวหาว่า ICRC อยู่ฝ่ายเดียวกับนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเป็นโอกาสที่เขาไม่ยอมพลาดเพื่อที่จะได้ดูว่า ICRC ได้บันทึกอะไรไว้บ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์ในปี 1948 ที่นั่นเองที่เขาสะดุดเข้ากับสำนวนบันทึกที่พูดถึงการมีอยู่ของค่ายกักกัน 5 แห่งที่ดำเนินการโดยชาวอิสราเอล

หลังจากนั้น เขาตัดสินใจที่จะค้นหาพยานหรืออดีตผู้ถูกคุมขัง โดยการสัมภาษณ์ชาวปาเลสไตน์ในแผ่นดินปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ซีเรีย แลละจอร์แดน

“พวกเขาทุกคนเล่าเรื่องราวเดียวกัน และประสบการณ์จริงของพวกเขาในค่ายเหล่านั้น” เขากล่าว

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเขาทันทีก็คือ ทำไมจึงไม่ค่อยมีการอ้างอิงใดๆ ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับค่ายเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเขาศึกษาค้นคว้าว่าค่ายเหล่านั้นมีอยู่จริง และมีมากกว่าห้าแห่ง

อบู ซิตตา อธิบายว่า “อดีตผู้ถูกกักกันชาวปาเลสไตน์มองแนวคิดเกี่ยวกับอิสราเอลว่าเป็นศัตรูที่ชั่วร้าย ดังนั้น พวกเขาจึงคิดว่าประสบการณ์การใช้แรงงานของพวกเขาในค่ายกักกันเหล่านี้เปรียบเทียบกันไม่ได้เลยกับโศกนาฏกรรมแห่งนัคบาที่ยิ่งใหญ่กว่า นัคบาร้ายแรงกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง”

“อย่างไรก็ตาม เมื่อผมขุดลงไปในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 1948-1955 ผมพบได้พบหลักฐานอ้างอิงที่มากขึ้น อย่างเช่นมุฮัมมัด นิมร์ อัล-คอติบ ซึ่งเป็นอิหม่ามในฮัยฟา ซึ่งได้เขียนบทสัมภาษณ์กับคนผู้หนึ่งจากตระกูลอัล-ยะห์ยาที่เคยอยู่ในค่ายแห่งหนึ่ง ผมสามารถสืบหาชายผู้นี้ไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย และได้พูดคุยกับเขาในปี 2002” เขากล่าวเสริม

อบู ซิตตาค่อยๆ พบหลักฐานอ้างอิงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งข้อมูลจากหญิงชาวยิวคนหนึ่งชื่อจานูด วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทฉบับหนึ่งในมหาวิทยาลัยฮิบรูเกี่ยวกับหัวข้อนี้ และเรื่องราวส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อยูซิฟ เซยี ที่ช่วยเปิดเผยขนาดและลักษณะของค่ายเหล่านี้มากขึ้น

หลังจากใช้เวลามากกว่าสิบปี ในที่สุด อบู ซิตตา พร้อมกับเร็มเพล นักเขียนร่วมของเขา ก็ได้นำเสนอการค้นพบของพวกเขาต่อสาธารณชน

 

จากภาระหนักสู่โอกาส : ค่ายกักกันและค่ายแรงงาน

การสร้างค่ายกักกันและค่ายแรงงานเกิดขึ้นหลังการประกาศความเป็นรัฐของอิสราเอลแต่ฝ่ายเดียวเมื่อเดือนพฤษภาคม 1948

ก่อนหน้านั้น จำนวนผู้ถูกกักขังชาวปาเลสไตน์ในเงื้อมมือของไซออนิสต์มีน้อยมาก ตามการศึกษาเรื่องนี้ระบุว่าเป็นเพราะ “ผู้นำไซออนิสต์ได้สรุปแต่แรกว่าการขับไล่พลเมืองออกไปเป็นวิธีเดียวที่จะสถาปนารัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ได้ ด้วยจำนวนชาวยิวที่มากพอในการ ‘อยู่ต่อไปได้’” กล่าวคือ ตามยุทธศาสตร์ของไซออนิสต์แล้วนั้น นักโทษเป็นภาระอย่างหนึ่งในช่วงเริ่มต้นของการล้างเผ่าพันธุ์

การคิดคำนวณเหล่านั้นได้เปลี่ยนไปหลังการประกาศตั้งรัฐอิสราเอลและการเข้ามาเกี่ยวข้องของกองทัพจากอียิปต์ ซีเรีย อิรัก และจอร์แดน หลังจากที่การล้างเผ่าพันธุ์ได้เกิดขึ้นมากแล้ว ตั้งแต่นั้น “กองกำลังอิสราเอลได้เริ่มจับกุมนักโทษ ทั้งที่เป็นทหารชาวอาหรับ และพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบชาวปาเลสไตน์ โดยเลือกคนที่สามารถทำงานได้”

ค่ายแห่งแรกคือ อิจลิล (Ijlil) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองจัฟฟาไปประมาณ 13 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ของหมู่บ้านอัล-กิบิลิยาที่ถูกทำลายของชาวปาเลสไตน์ ค่ายอิจลิลสร้างขึ้นด้วยเต็นท์ เป็นที่อยู่ของนักโทษนับร้อยๆ คน ซึ่งชาวอิสราเอลแยกจำพวกว่าเป็นเชลยศึก (POW) ล้อมรอบด้วยรั้วลวดหนาม มีหอสังเกตการณ์ และประตูทางเข้าพร้อมยาม

เมื่ออิสราเอลมีชัยชนะมากขึ้น จำนวนนักโทษก็เพิ่มมากขึ้นด้วย จึงมีการตั้งค่ายเพิ่มอีกสามแห่ง ค่ายเหล่านี้เป็นสี่ค่าย “อย่างเป็นทางการ” ที่อิสราเอลยอมรับและ ICRC เข้ามาเยี่ยม

ในงานศึกษานี้ระบุว่า

ค่ายทั้งสี่แห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ตั้งทางทหารที่จัดขึ้นโดยอังกฤษในช่วงที่ได้รับคำสั่งหรือใกล้เคียง ค่ายเหล่านี้ถูกใช้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อกักตัวชาวเยอรมัน อิตาลี่ และ POW อีกสองค่าย คือ อัตลิต (Atlit) ตั้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม อยู่ห่างจากฮัยฟาไปทางใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร และซาราแฟนด์ (Sarafand) ตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ใกล้หมู่บ้านอัล-อามาร์ที่ไม่มีคนอยู่แล้วทางภาคกลางของปาเลสไตน์ เคยถูกใช้เป็นที่กักตัวผู้อพยพชาวยิวผิดกฎหมายในปี 1930-1940

อัตลิตเป็นค่ายใหญ่อันดับสองรองจากอิจลิล มีพื้นที่รองรับนักโทษได้มากถึง 2,900 คน ขณะที่ซาราแฟนด์มีความจุสูงสุด 1,800 คน และที่เทลเล็ตวิงค์ซี่ ใกล้เทลาวีฟ รองรับได้มากกว่า 1,000 คน

ค่ายทั้งสี่แห่งนี้บริหารจัดการโดย “อดีตเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ออกจากตำแหน่งเมื่อกองทัพอังกฤษถอนกำลังออกไปจากปาเลสไตน์กลางเดือนพฤษภาคม 1948” และยามกับเจ้าหน้าที่บริหารค่ายเป็นอดีตสมาชิกกลุ่ม Irgun และ Stern Gang ซึ่งเป็นกลุ่มที่อังกฤษประกาศก่อนถอนกำลังออกไปว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย เจ้าหน้าที่ในค่าย “อย่างเป็นทางการ” ทั้งสี่แห่งนี้เป็นทหารทั้งสิ้น 973 นาย

ค่ายที่ห้า ชื่อค่ายอุมม์ คาลิด สร้างขึ้นที่หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยใกล้กับที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิวเนทันยา และถึงขนาดกำหนดตัวเลขอย่างเป็นทางการในบันทึก แต่ไม่เคยได้รับสถานะ “อย่างเป็นทางการ” มันสามารถรองรับนักโทษได้ 1,500 คน ค่ายอุมม์ คาลิด ไม่เหมือนกับค่ายอื่นๆ ทั้งสี่แห่งเพราะเป็น “ค่ายแรกที่ตั้งขึ้นเป็นค่ายแรงงานโดยเฉพาะ” และเป็น “ค่ายแห่งแรก ‘ที่ถูกรับรอง’ ว่าถูกปิด… ภายในสิ้นปี 1948”

นอกเหนือจากค่าย “ที่ถูกรับรอง” ทั้งห้าแห่งนี้แล้ว ยังมี “ค่ายที่ไม่ถูกรับรอง” อื่นๆ อีก 17 แห่ง ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่ผู้เขียนค้นพบได้จากคำให้การของนักโทษที่มีอยู่อย่างมากมาย

Civilians taken to Labour Camps Ramle July 1948 (1)พลเมืองในค่ายแรงงานแห่งหนึ่งในแรมเลห์, กรกฎาคม 1948 (ภาพ : ซัลมาน อบู ซิตตา, สมาคมปาเลสไตน์แลนด์)

ผู้เขียนระบุว่า “(ค่ายเหล่านี้) หลายแห่งถูกจัดขึ้นแบบเร่งด่วน มักจะประกอบด้วยสถานีตำรวจ โรงเรียน หรือบ้านที่โดดเด่นในหมู่บ้าน” ที่มีสามารถรองรับนักโทษได้ตั้งแต่ 200 คน ถึงหลักสิบ

ค่ายเหล่านี้ส่วนใหญ่ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตั้งอยู่ภายในเขตแดนของรัฐยิวที่นำเสนอต่อสหประชาชาติ “ถึงแม้ว่าอย่างน้อยสี่แห่ง (ค่ายที่ไม่เป็นทางการ) คือเบียร์ชีบา, จูลิส, บัยต์ดารัส และบัยต์นาบาลา จะอยู่ในประเทศอาหรับตามที่สหประชาชาติกำหนด และค่ายหนึ่งอยู่ภายในเยรูซาเล็ม”

จำนวนของผู้ถูกกักกันชาวปาเลสไตน์ที่ไม่ใช่ทหาร “มีมากกว่า” ทหารอาหรับที่ประจำการอยู่ในกองทัพ ในงานศึกษาชิ้นนี้ได้อ้างถึงรายงานประจำเดือนกรกฎาคม 1948 ที่จัดทำโดยแจ้กกี้ เดอ เรย์เนียร์ หัวหน้าคณะ ICRC ที่ระบุว่า “ที่อยู่ของผู้ต้องขังที่เป็นพลเรือนถูกนำไปปะปนกับที่อยู่ของเชลยศึก และเจ้าหน้าที่ชาวยิวปฏิบัติกับชาวอาหรับทุกคนที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 55 ปี เหมือนเป็นทหาร และขังพวกเขาเหมือนเชลยสงคราม” นอกจากนี้ ICRC ยังพบว่าในจำนวนผู้ต้องขังในค่ายที่เป็นทางการเหล่านี้ มีนักโทษที่เป็นผู้สูงอายุ 90 คน เป็นเด็กผู้ชายอายุไม่เกิน 15 ปี 77 คน

ในงานศึกษานี้ยังหยิบยกแถลงการณ์ในเดือนมกราคม 1949 ของเอมิลี โมรี ผู้แทนของ ICRC เกี่ยวกับผู้ที่อยู่ในค่ายมากล่าวถึงดังนี้

มันเป็นความเจ็บปวดที่ต้องเห็นคนยากจนเหล่านี้ โดยเฉพาะคนแก่ที่ถูกพรากมาจากหมู่บ้านของพวกเขาแล้วนำมาอยู่ในค่ายโดยปราศจากเหตุผล ต้องผ่านฤดูหนาวไปภายใต้เต็นท์ที่เปียกแฉะ ห่างไกลจากครอบครัว ผู้ที่ไม่สามารถอยู่รอดกับสภาพเหล่านี้ได้ก็ตายลง เด็กเล็กๆ (10-12 ปี) ก็ถูกพบอยู่ในสภาพเหล่านี้เช่นกัน คนป่วยก็เหมือนกัน บางคนเป็นวัณโรค อยู่อย่างอ่อนเพลียในค่ายเหล่านี้ภายใต้สภาพที่ทำให้พวกเขาต้องตายแน่นอนถ้าเราไม่หาทางออกให้กับปัญหานี้ เป็นเวลานานแล้วที่เราเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจของยิวปล่อยตัวพลเรือนเหล่านี้ที่ป่วยและต้องการการรักษา ให้กลับไปอยู่ในการดูแลของครอบครัวหรือโรงพยาบาลของอาหรับ แต่เราไม่ได้รับคำตอบเลย

ขณะที่รายงานระบุว่า “ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนของจำนวนพลเรือนปาเลสไตน์ทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวโดยอิสราเอลในระหว่างสงครามปี 1948-49” และจำนวนโดยประมาณก็น่าจะไม่มีบันทึกสำหรับค่าย “ที่ไม่เป็นทางการ” นอกเหนือไปจากการเคลื่อนย้ายนักโทษระหว่างค่ายต่างๆ ที่มีเป็นประจำ ในค่าย “ที่เป็นทางการ” ทั้งสี่แห่ง จำนวนนักโทษชาวปาเลสไตน์ไม่เคยสูงกว่า 5,000 คน ตามตัวเลขที่อยู่ในบันทึกของอิสราเอล

เมื่อดูจากความจุของอุมม์ คาลิด และประมาณการของ “ค่ายที่ไม่เป็นทางการ” จำนวนทั้งสิ้นของนักโทษชาวปาเลสไตน์คงอยู่ที่ประมาณ 7,000 คน และอาจจะมากกว่านั้นมาก เมื่อดูจากบันทึกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1948 ของเดวิด เบ็น-กูเรียน หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของไซออนิสต์ และนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล ซึ่งระบุว่า “มีเชลยศึกอยู่ในค่ายของอิสราเอล 9,000 คน”

โดยทั่วไป สภาพความเป็นอยู่ในค่าย “อย่างเป็นทางการ” ย่ำแย่กว่าสภาพที่ถือว่าเหมาะสมตามกฎหมายระหว่างประเทศในขณะนั้นมาก โมรี ซึ่งไปเยี่ยมค่ายเหล่านี้เป็นประจำรายงานว่า ในค่ายอิจลิล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1948 “เต็นท์หลายหลังฉีกขาดและไม่พร้อมสำหรับฤดูหนาว” ไม่พบว่ามีห้องสุขา โรงอาหารไม่ทำงานเป็นเวลาสองสัปดาห์ เขากล่าวถึงสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ขณะนั้นว่า “ผลไม้ยังเน่าเสีย เนื้อไม่มีคุณภาพ และผักก็ขาดแคลน”

ยิ่งกว่านั้น โมรียังรายงานว่าเขาเป็นด้วยตัวเองว่า “มีผู้ได้รับบาดแผลจากการลงโทษเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อยามยิงปืนใส่นักโทษ ทำให้คนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และได้ทุบตีอีกคนหนึ่ง”

งานศึกษาชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า สถานะพลเรือนของผู้ถูกกักกันส่วนใหญ่เป็นที่ชัดเจนสำหรับผู้แทนของ ICRC ในประเทศ ผู้ซึ่งรายงานว่า ผู้ชายที่ถูกจับมานั้น “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าไม่เคยเข้าร่วมในกองทัพ” ผู้ถูกกักกันที่เป็นทหารจะถูก “ยิงตามระเบียบด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาพยายามหลบหนี”

กองกำลังอิสราเอลมักจะเพ่งเล็งไปยังผู้ชายที่ร่างกายมีความสามารถ โดยทิ้งผู้หญิง เด็ก และคนชราไว้ข้างหลัง เมื่อไม่ใช่เป็นการสังหารหมู่พวกเขา นโยบายนี้ดำเนินต่อไปถึงแม้ภายหลังระดับการเผชิญหน้าทางทหารจะลดต่ำลง ทั้งหมดทั้งปวงจากการบันทึกของอิสราเอลแสดงให้เห็นว่า “พลเรือนชาวปาเลสไตน์เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด (82 เปอร์เซ็นต์) จากผู้ต้องขังที่ถูกลงบัญชีชื่อ 5,950 คนในค่ายเชลยสงคราม ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด (พลเรือนและทหาร) มีถึง 85 เปอร์เซ็นต์”

การลักพาตัวและกักขังพลเรือนชาวปาเลสไตน์ในวงกว้างมีความสอดคล้องกันกับการดำเนินการทางทหารของอิสราเอล ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในการจับกุมกลุ่มใหญ่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการ Operation Dani คือเมื่อชาวปาเลสไตน์ 60,000-70,000 คน ถูกขับไล่ออกจากเมืองลิดดาและแรมเล ในเวลาเดียวกันผู้ชายหนึ่งในห้าถึงหนึ่งในสี่ของประชากรผู้ชายจากสองเมืองนี้ที่อายุมากกว่า 15 คน ถูกส่งไปที่ค่ายเหล่านี้

พลเรือนกลุ่มใหญ่ที่สุดมาจากหมู่บ้านต่างๆ ในกาลิลี ที่ถูกจับตัวระหว่างปฏิบัติการ Operation Hiram ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1948

มุสซา หนึ่งในผู้รอดชีวิตชาวปาเลสไตน์ เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงสิ่งที่เขาได้พบเห็นในขณะนั้นว่า

“พวกเขานำพวกเรามาจากหมู่บ้านรอบๆ เรา อัล-บินา, ดีรฺ อัล-อะซัด, นาฮัฟ, อัล-รามา และอีลาบุน พวกเขานำชายหนุ่มมา 4 คน แล้วยิงพวกเขาตาย… พวกเขาให้เราเดินเท้า อากาศร้อน เราไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มน้ำ พวกเขาพาเราไปที่อัล-มักฮาร์(หมู่บ้านดรู้ซของปาเลสไตน์) จากนั้นไปนาฮ์ลัล(ที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิว) แล้วก็ไปอัตลิต”

รายงานของสหประชาชาติวันที่ 16 พฤศจิกายน 1948 ได้ช่วยเหลือเรื่องราวของมุสซา โดยระบุว่า ผู้ชายปาเลสไตน์ประมาณ 500 คน “ถูกนำตัวไปด้วยการเดินเท้าและโดยพาหนะ ไปยังค่ายกักกันที่นาฮ์ลัล”

 

รักษาเศรษฐกิจอิสราเอลด้วย “แรงงานทาส”

นโยบายมุ่งเป้าไปที่พลเรือนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในงานศึกษานี้ระบุว่า ด้วยเหตุที่ผู้ชายและผู้หญิงชาวยิวหลายหมื่นคนถูกเรียกตัวไปรับใช้กองทัพ ผู้ต้องขังที่เป็นพลเรือนชาวปาเลสไตน์จึงเป็นตัวเสริมสำคัญให้กับแรงงานพลเมืองยิวที่ถูกจ้างภายใต้กฎหมายฉุกเฉินเพื่อรักษาเศรษฐกิจของอิสราเอล” ซึ่งแม้แต่ผู้แทนของ ICRC ยังระบุไว้ในรายงานของตน
นักโทษถูกบังคับให้ทำงานสาธารณะและงานทางทหาร เช่น ถ่ายน้ำจากพื้นที่ชุมน้ำ ทำงานเป็นคนรับใช้ เก็บรวบรวมและขนส่งทรัพย์สินของผู้ลี้ภัยที่ยึดมา ขนย้ายก้อนหินจากบ้านเรือนที่ถูกทำลายของชาวปาเลสไตน์ ทำถนน ขุดสนามเพลาะที่ใช้ในทางทหาร ฝังศพ และอื่นๆ อีกมากมาย

อดีตผู้ถูกขังชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง ชื่อฮาบีบ มุฮัมมัด อะลี จาราดา อธิบายไว้ในงานศึกานี้ว่า “ผมทำงานตลอดทั้งวันโดยมีปืนเล็งอยู่ ตอนกลางคืนผมนอนหลับในเต็นท์ ในฤดูหนาวน้ำไหลซึมอยู่ใต้ที่นอนของเรา ซึ่งเป็นใบไม้แห้ง กระดาษลัง และเศษไม้”

นักโทษอีกคนหนึ่งในค่ายอุมม์คาลิด ชื่อมัรวาน อิกับ อัล-เยฮิยา กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า “เราต้องตัดและขนหินตลอดทั้งวัน อาหารประจำวันของเรามีเพียงมันฝรั่งหนึ่งลูกในตอนเช้าและปลาแห้งครึ่งตัวตอนกลางคืน พวกเขาตีทุกคนที่ขัดคำสั่ง” เยฮิยาเล่าถึงนักโทษว่า “ถูกให้เข้าแถวและสั่งให้ถอดเสื้อผ้าออกเพื่อเป็นการลงโทษที่มีนักโทษสองคนหนีไปในตอนกลางคืน”

เขากล่าวเสริมว่า “ผู้ใหญ่และเด็กๆ ชาวยิวที่มาจากฟาร์มใกล้ๆ ดูเราเปลือยกายยืนเข้าแถวกันแล้วหัวเราะ สำหรับเราเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าอับอายที่สุด”

การกระทำทารุณของยามอิสราเอลเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในค่าย ซึ่งการกระทำอย่างหนักหน่วงที่สุดมุ่งตรงไปยังชาวปาเลสไตน์ที่เป็นชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา และชนชั้นต่ำ งานศึกษานี้ระบุว่าเป็นเพราะนักโทษที่มีการศึกษา “รู้สิทธิของพวกเขาและมีความมั่นใจที่จะโต้แย้งและเผชิญหน้ากับผู้คุม”

สิ่งที่น่าสนใจที่ถูกระบุถึงในงานศึกษาชิ้นนี้คือ ความผูกพันทางแนวความคิดระหว่างนักโทษกับผู้คุม

จากคำให้การของคามาล กัตตัส ซึ่งถูกจับระหว่างการโจมตีกาลิลีของอิสราเอล เขากล่าวว่า

เรามีเรื่องชกต่อยกับผู้คุม พวกเราสี่ร้อยคนเผชิญหน้ากับทหาร 100 คน พวกเขานำกำลังเสริมมา ผมและเพื่อนอีกสามคนถูกนำตัวไปยังห้องขัง พวกเขาขู่ว่าจะยิงเรา เราร้องเพลงชาติคอมมิวนิสต์ตลอดคืน พวกเขานำตัวเราสี่คนไปยังค่ายอุมม์คาลิด พวกอิสราเอลกลัวจะเสียภาพพจน์ในยุโรป ความสัมพันธ์ของเรากับคณะกรรมการกลางและ Mapam (พรรคสังคมนิยมอิสราเอล) ช่วยเราไว้… ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่ชาวรัสเซียคนหนึ่งและบอกเขาว่า พวกเขาพาเรามาจากบ้านของเราทั้งที่เราไม่ได้เป็นทหาร ซึ่งขัดกับอนุสัญญาเจนีวา เมื่อเขารู้ว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์ เขากอดผมและบอกว่า “สหาย ผมมีพี่น้องสองคนในกองทัพแดง สตาลินจงเจริญ รัสเซียจงเจริญ”

แต่ชาวปาเลสไตน์ที่โชคไม่ดีต้องพบกับการกระทำที่รุนแรงซึ่งรวมถึงการประหารและลงโทษตามอำเภอใจ การประหารจะถูกแก้ตัวให้ว่าเป็นการหยุด “การพยายามหลบหนี” ทั้งที่เป็นความจริง หรือเป็นข้ออ้างของยามก็ตาม

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่อดีตนักโทษชาวปาเลสไตน์ ชื่อ เตาฟิก อะห์มัด จุมอา กานิม เล่าว่า “ใครที่ไม่ยอมทำงานจะถูกยิง พวกเขาบอกว่า(นักโทษคนนั้น)พยายามจะหลบหนี พวกเราที่คิดว่าเรากำลังจะถูกฆ่าเดินกลับหลังมาเผชิญหน้ากับยาม”
ในที่สุด ภายในสิ้นปี 1949 นักโทษชาวปาเลสไตน์ค่อยๆ ถูกปล่อยตัวหลังจากการพยายามอย่างหนักของ ICRC และองค์กรอื่นๆ แต่การปล่อยตัวแต่ละครั้งมีการจำกัดจำนวนและเน้นไปที่กรณีพิเศษ นักโทษจากกองทัพอาหรับถูกปล่อยในการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ แต่นักโทษชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกไปนอกเขตสงบศึก โดยไม่มีอาหารและเสบียง และให้เดินในระยะทางไกลไม่ให้กลับมาอีก

จนกระทั่งถึงปี 1955 นักโทษพลเรือนชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่จึงได้ถูกปล่อยตัวออกมา

Untitled(ภาพ) แผนที่ค่ายแรงงาน (ที่มา : ซัลมาน อบู ซิตตา, สมาคมปาเลสไตน์แลนด์)

 

อาชญากรรมที่ยาวนาน

ความสำคัญของงานศึกษาชิ้นนี้มีหลายแง่มุม มันไม่เพียงแค่เปิดเผยถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาต่างๆ เช่น สนธิสัญญากรุงเฮก ปี 1907 และอนุสัญญาเจนิวา ปี 1929 เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่ากรณีนี้ได้กำหนดลักษณะของ ICRC ในระยะยาวอย่างไรด้วย

เพราะ ICRC ต้องเผชิญหน้ากับอิสราเอล ซึ่งไม่ยอมรับฟังและทำตามกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาต่างๆ ICRC ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยให้นักโทษที่เป็นพลเรือนชาวปาเลสไตน์ได้รับการคุ้มครอง

งานศึกษานี้ยังได้อ้างถึงรายงานฉบับสุดท้ายของเรย์เนียร์ ดังนี้

(ICRC) ได้ทำการประท้วงในหลายๆ โอกาสเพื่อยืนยันสิทธิของพลเมืองเหล่าให้ให้ได้รับเสรีภาพ นอกเสียจากจะพบว่าพวกเขามีความผิดและถูกศาลพิพากษาแล้ว แต่เราต้องยอมรับโดยปริยายว่าพวกเขามีสถานะเป็นเชลยศึก เพราะมันจะทำให้พวกเขาได้รับสิทธิตามสนธิสัญญา มิฉะนั้น ถ้าหากพวกเขาไม่อยู่ในค่ายเหล่านี้ พวกเขาจะถูกเนรเทศ (ไปยังประเทศอาหรับ) และพวกเขาจะจะต้องไปใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยากแบบผู้ลี้ภัย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ในที่สุด ICRC และองค์กรอื่นๆ ก็ไม่เป็นผล เพราะอิสราเอลเมินเฉยต่อการประณามโดยไม่ต้องรับโทษใดๆ นอกจากนี้ยังได้รับการปกป้องทางการทูตจากมหาอำนาจตะวันตก

ที่สำคัญกว่านั้น งานศึกษานี้ยังได้เปิดเผยถึงอาชญากรรมของอิสราเอลในช่วงการกำเนิดอย่างโหดเหี้ยมและนองเลือดของมัน โดยในตอนท้ายอบู ซิตตา ได้ระบุว่า

“มันทำให้ผมและชาวยุโปหลายคนที่ได้เห็นหลักฐานของผมประหลาดใจ ที่ค่ายแรงงานถูกเปิดขึ้นในปาเลสไตน์สามปีหลังจากที่มันถูกปิดในเยอรมณี และดำเนินการโดยอดีตนักโทษ มียามเป็นชาวยิวเชื้อสายเยอรมัน”

“นี่เป็นภาพสะท้อนที่เลวร้ายของจิตวิญญาณมนุษย์ เมื่อผู้ถูกกดขี่เลียนแบบผู้กดขี่โดยกระทำกับชีวิตผู้บริสุทธิ์” เขาเสริม
งานศึกษานี้แสดงให้เห็นพื้นฐานและการเริ่มต้นนโยบายของอิสราเอลที่มีต่อพลเมืองปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการลักพาตัว จับกุม และคุมขัง อาชญากรรมนี้ยังดำเนินอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เพียงลองอ่านรายงานเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคนที่ถูกจับกุม ก่อนหน้า, ระหว่าง และภายหลังสงครามครั้งล่าสุดของอิสราเอลที่กระทำต่อกาซ่าเมื่อกลางฤดูร้อนปีนี้

“กาซ่าในวันนี้เป็นค่ายกักกันแห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้แตกต่างไปจากในอดีตเลย” อบู ซิตตา สรุป

 

 

แปล/เรียบเรียง : กองบรรณาธิการเอบีนิวส์ทูเดย์
เขียนโดย : By: Yazan al-Saadi
ที่มา : http://english.al-akhbar.com