อ่านการเมืองด้วยเฮเกโมนี

313
อ่นการเมืองด้วยเฮเกโมนี

ทฤษฎีเฮเกโมนี (Hegemony) เป็นทฤษฎีที่ถูกนำมาพูดถึงในประเทศไทย เมื่อประมาณปีพศ.2549 โดย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ นาย ทักษิณ ชินวัตร ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยทฤษฎีดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงพฤติกรรมทางการเมืองของอดีตนายกทักษิณ ในหัวข้อบทความชื่อ “ชี้แม้วประกาศสงครามผู้มีบารมี รุกคืบสถาปนาลัทธิครองความเป็นเจ้า”[1] ทฤษฎีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออดีตนายกทักษิณซึ่งแม้จะมีการตอบโต้หรือชี้แจงอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดทฤษฎีนี้ได้กลายเป็นฟันเฟืองหนึ่งสู่การล้มอำนาจรัฐบาลของเขาในเวลาต่อมา หลังจากนั้น เฮเกโมนีก็ถูกใช้แผ่วลง จนในปัจจุบันชื่อของมันค่อยๆจางลงไป แต่อัตลักษณ์ของทฤษฎียังคงปรากฏอยู่ให้เห็นเสมอ เมื่อกลุ่มหนึ่งต้องการโจมตีอีกกลุ่มที่รากฐาน ซึ่งในปัจจุบัน แม้จะมีการกล่าวถึงคำนี้น้อยลง แต่ก็ยังมีคำศัพท์ทางการเมืองใหม่ๆมักใช้อธิบาย หรือนำเสนอ เพื่อถอนรากอำนาจของเป้าหมายเสมอเช่น IO

ความเป็นมาของเฮเกโมนี

ตามที่มีหลักฐานระบุไว้ในประวัติศาสตร์ แนวคิดนี้ถูกรังสรรค์โดยชายผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า อันโตนีโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) เลขาธิการมาร์กซิสม์ชาวอิตาลีผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง ศตวรรษที่ 19 –20 เขาได้นำเสนอแนวคิดหนึ่งในระหว่างจำคุกในหนังสือบันทึกจากคุกซึ่งถูกตีพิมพ์อย่างลับๆหลังจากที่กรัมชี่ได้เสียชีวิตไปแล้วหลายสิบปี แนวคิดนั้นคือ Hegemony หมายถึง การเป็นเจ้าหรือการครอบครอง หรือ การขึ้นมาเป็นใหญ่ เป็นการอธิบายถึง การขึ้นมาเป็นใหญ่ของชนชั้นปกครองด้วยเทคนิคและกลไกที่ซับซ้อน รวมถึงเงื่อนไขการเป็นใหญ่ของสมบูรณ์ สามทศวรรษต่อมาแนวคิดนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ และถูกยกระดับเป็นทฤษฎีหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับในหมู่ทฤษฎีการเมือง

เหตุผล

1.ในส่วนที่กล่าวว่า แนวคิดนี้ถูกรังสรรค์โดยชายผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า อันโตนีโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) เลขาธิการมาร์กซิสม์ชาวอิตาลีผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง ศตวรรษที่ 19 20 และเป็นผู้นำเสนอแนวคิด Hegemony ในประเด็นนี้นักประวัติศาสตร์การเมืองมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่า ผู้นำเสนอแนวคิด การขึ้นมาเป็นใหญ่ คือ ชายผู้นี้,และเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถสืบค้นทั่วไปได้[2]

2.ในส่วนที่กล่าวว่า แนวคิด Hegemony หมายถึง การเป็นเจ้าหรือการครอบครอง หรือ การขึ้นมาเป็นใหญ่ เป็นการอธิบายถึง การขึ้นมาเป็นใหญ่ของชนชั้นปกครองด้วยเทคนิคและกลไกที่ซับซ้อน รวมถึงเงื่อนไขการเป็นใหญ่ของสมบูรณ์ เป็นการเลือกใช้คำด้วยตัวของกรัมชี่เอง และในทางภาษา คำนิยาม กับ ศัพท์ก็มีความหมายสอดคล้องกัน เช่น Oxford Dictionary ระบุว่า hegemony n.: ​control by one country, organization, etc. over other countries, etc. within a particular group[3]และ Lexico ระบุว่า Leadership or dominance, especially by one country or social group over others. และระบุว่ารากศัพท์ของคำมาจากภาษากรีก hēgemonia, from hēgemōn ‘leader’, from hēgeisthai ‘to lead’[4] ซึ่งให้ความหมายห้อมล้อม การนำ การครอง การจัดการในระดับประเทศ

 

แก่นแท้ของเฮเกโมนี

เฮเกโมนี คือ กระบวนการขึ้นมาเป็นใหญ่ของชนชั้นปกครอง โดยอาศัยแผนการใดก็ตามที่สามารถสร้าง “อำนาจนำ”โดยการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อประชาชน และ “อำนาจตาม”[5]โดยการใช้อำนาจที่ได้จากการปกครอง เพื่อให้ชนชั้นปกครองก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ ตามทฤษฎีของกรัมชี่หากมีอำนาจเพียงประเภทเดียว จะถือว่ายังเป็นใหญ่ได้ไม่สมบูรณ์ มีช่องว่างให้ร่วงหล่น และมีโอกาสถูกโค่นล้มได้ทุกเมื่อ

หากพิจารณาจากพฤติกรรมทางการเมืองเฮเกโมนี หมายถึง การก้าวขึ้นมาครองความเป็นใหญ่ โดยกลุ่มคณะ หรือ โดยประเทศหนึ่งต่อกลุ่มคณะอื่น หรือ ประเทศอื่นๆ การขึ้นมาครองความเป็นใหญ่แบ่งออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ วัฒนธรรม การเมือง การทหาร และกลุ่มหนึ่งหรือประเทศหนึ่งสามารถครองความเป็นใหญ่ได้ทั้งสี่ประเภท หรือ น้อยกว่า อย่างไรก็ตามเฮเกโมนีในอดีตอาจไม่เหมือนกับเฮเกโมนีในมุมมองของกรัมชี่เสมอไป

อัตลักษณ์สำคัญของเฮเกโมนีตามหลักทฤษฎีของกรัมชี่ได้แก่ ความพึงพอใจของประชาชน,ความคิดในการสร้างอำนาจนำ,ความคิดในการทำลายอำนาจเก่า,แนวคิดคอมมิวนิสต์

 

เหตุผลและหลักฐาน

1.ในส่วนที่กล่าวว่า เฮเกโมนีคือกระบวนการขึ้นมาเป็นใหญ่ของชนชั้นปกครองเนื่องด้วยเฮเกโมนีของกรัมชี่เรียกร้องและนำเสนอให้ผู้ศึกษาอำนาจ พิจารณาการขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นปกครองแบบเป็นขั้นเป็นตอน และแนวคิดเฮเกโมนีสะท้อนด้านตรงข้ามว่าการที่ชนชั้นผู้ปกครองก้าวขึ้นมามีอำนาจและเป็นใหญ่ในแผ่นดินของตนได้นั้น ไม่ใช่เพราะความบังเอิญ แต่เป็นเจตนาและการกระทำของชนชั้นปกครองเอง โดยเหตุนี้ การขึ้นมาเป็นใหญ่ของชนชั้นปกครอง จึงไม่ใช่ความบังเอิญ.วิพากษ์[I] มิใช่ผู้ปกครองทุกคนจะเริ่มต้นการปกครองด้วยการสร้างกระบวนที่ถูกต้องเช่น การก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ด้วยสงคราม [II]ไม่ใช่ชนชั้นปกครองทุกคนที่ใช้กระบวนการนี้ก่อนได้ขึ้นมาเป็นใหญ่ เช่น การรัฐประหาร การสืบทอด เพราะทั้งสองวิธีก็เป็นกระบวนการขึ้นมาปกครอง [III] การขึ้นเป็นใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกรอบคิดของกรัมชี่เสมอไป เพราะกรอบคิดของกรัมชี่ให้เริ่มต้นจากการสร้างอำนาจนำในขณะที่มีอำนาจตามอยู่แล้ว ผู้ที่ไม่มีอำนาจตาม สามารถสร้างอำนาจนำก่อนได้ และในทางกลับกัน สามารถสร้างอำนาจนำก่อนตาม หรือ สร้างอำนาจนำพร้อมๆกับอำนาจตามได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

2.ในส่วนที่กล่าวว่าโดยอาศัยแผนการใดก็ตามที่สามารถสร้าง “อำนาจนำ”โดยการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อประชาชนนั่นก็เพราะตามทฤษฎีนี้ Object ซึ่งเป็นเป้าหมายในการก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่คือ “การยอมรับโดยสมัครใจจากประชาชน” ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีนี้จึงพุ่งเป้าไปที่ประชาชนเป็นหลักด้วยการสร้าง “สำนึก”แห่งการยอมรับต่อชนชั้นปกครอง เพราะพลังวิเศษที่ได้จากประชาชน คือ การที่ประชาชนจะออกมาปกป้อง และรักษาอำนาจให้แก่ชนชั้นปกครองเองโดยที่ชนชั้นปกครองไม่จำเป็นต้องแทรกแซง หรือ ออกคำสั่งแก่ประชาชน เพราะหากประชาชนยอมรับและเชื่อว่า ชนชั้นปกครองที่ปกครองตนสมควรปกครองตนต่อไป หากมีความเสี่ยงและวิกฤตใดๆเกิดขึ้น มันจะถูกทำลายด้วยฝีมือของประชาชนเอง. วิพากษ์[I] ทฤษฎีนี้ดูถูกสติปัญญาประชาชน เพราะตามหลักทฤษฎีชี้นำว่า“สำนึกความเป็นมนุษย์”สามารถปรุงแต่งให้เป็นไปตามที่ชนชั้นปกครองต้องการได้ ทั้งๆที่สำนึกของมนุษย์ เป็นตัวแปรที่ไม่ขึ้นกับการกำหนดของบุคคล ไม่ขึ้นกับการตัดสินของผู้ใด ไม่ขึ้นกับเวลา และไม่ขึ้นกับขนบธรรมเนียมประเพณี มนุษย์ไม่ได้สร้างสำนึกมาแล้วหลังจากนั้นจึงเผยแพร่ให้มวลชนยอมรับ แต่มนุษย์ต้องแสดงตัวให้สอดคล้องกับสำนึกเพื่อให้เกิดขึ้นยอมรับ แตกต่างจากกฎหมายที่มนุษย์สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ และบางครั้งโดยฝีมือของชนชั้นปกครอง แต่การยอมรับว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ดี ไม่ได้เกิดจากการกล่อมให้เชื่อของชนชั้นปกครอง แต่มาจากสำนึกของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงมักเห็นชนชั้นปกครองถูกโค่นล้ม เพราะทำลายสำนึกแห่งกฎหมายด้วยการแก้กฎหมายที่สนองผลประโยชน์ของตนอยู่เสมอ แต่หากกรัมชี่หมายถึง ค่านิยมสามารถเปลี่ยนหรือสร้างได้ตามเจตจำนงค์ของชนชั้นปกครอง การยอมรับแนวคิดนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญมากกว่านี้ เพราะในด้านหนึ่งค่านิยมสามารถสร้างได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งค่านิยมจะได้รับการยอมรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า มันถูกนำเสนอด้วยเหตุผลที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกมากเพียงใดนั่นเอง และหากหมายถึง ชนชั้นปกครองสามารถแก้หรือเปลี่ยนแปลงค่าที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น กระแสสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ให้เป็นไปตามที่ต้องการนั่นคือสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ถาวร และไม่อยู่ค้ำฟ้าเสมอไป [II] ทฤษฎีนี้ตัดสินโดยนัยว่า ถูกผิดของศีลธรรม ขึ้นอยู่กับการยอมรับ หรือ ไม่ยอมรับของประชาชน นั่นคือ ความดี =สิ่งที่ประชาชนยอมรับ ความเลว = สิ่งที่ประชาชนไม่ยอมรับ ทั้งๆที่ความดี-ความชั่ว ไม่ได้ขึ้นกับการยอมรับของมวลชน และหากเป็นเช่นนั้น การเชื่อว่าโลกกลมที่ผู้คนเชื่อว่าโลกแบน ก็ถือเป็นความเลว และการเชื่อกลับกันก็ถือเป็นความดี ดังนั้นตัววัดความผิดชอบชั่วดี จึงไม่ได้ขึ้นกับประชาชน แต่ขึ้นกับตัวมันเอง [III]ทฤษฎีชี้นำว่า ชนชั้นปกครองสามารถชี้นกเป็นไม้ ชี้ไม้เป็นนกได้หากได้รับการยอมรับจากประชาชน ในประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น ถือว่าถูกต้อง แต่ไม่ถาวร เพราะสุดท้ายมันจะฝืนความเป็นจริง และแก่นแท้ของมนุษย์เรียกร้องความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งมายา [III] ทฤษฎีนี้ชี้นำให้เชื่อว่า การเมืองการปกครองและการยอมรับ ไม่มีเรื่องของคุณธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งๆที่เงื่อนไขที่จำเป็นของการยอมรับคือ คุณธรรมของผู้ปกครอง ดังนั้นหากผู้ปกครองไร้คุณธรรม การยอมรับก็จะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ ผู้ปกครองถูกสร้างภาพให้เห็นว่าเป็นผู้มีคุณธรรม หรือ ประชาชนตกลงร่วมกันว่าไม่ต้องการผู้ปกครองที่มีคุณธรรม ด้วยเหตุผลหรือแรงจูงใจนาๆประการ

 

3.ในส่วนที่กล่าวว่า และ “อำนาจตาม”โดยการใช้อำนาจที่ได้จากการปกครอง เพื่อให้ชนชั้นปกครองก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์เพราะตามหลักทฤษฎี มีแค่อำนาจตามอย่างเดียว แต่ไม่มีอำนาจนำ เช่น อำนาจที่ได้จากการเป็นรัฐบาล อำนาจที่ได้จากการเป็นทหาร หรือ อื่นๆ แต่หากไม่มีการยอมรับหรือความศรัทธาต่อประชาชน ชนชั้นปกครองก็มีโอกาสถูกถีบให้หล่นจากเก้าอี้แห่งอำนาจได้ วิพากษ์[I] อิงจากทฤษฎี อำนาจตามที่เกิดขึ้น สามารถถูกทำลายโดยฝีมือของชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ ที่ต้องการยึดครองอำนาจของชนชั้นปกครองกลุ่มก่อนหน้า โดยอาศัยวิธีการสร้างอำนาจนำจากประชาชนขึ้นมาก่อน และหลังจากนั้น หากประชาชน ยอมรับหรือปรารถนาให้ชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่เข้ามาปกครอง การทำลายชนชั้นปกครองใหม่ โดยฝีมือของกลุ่มเก่าจะถูกป้องกันและซึมซับโดยประชาชนเอง กล่าวคือ ประชาชนที่กลายเป็นอำนาจนำของชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ จะคอยทำหน้าที่เป็นโล่และดาบให้แก่กลุ่มใหม่โดยอัตโนมัติ โดยที่กลุ่มใหม่แทบไม่จำเป็นต้องทำสิ่งใด เว้นแต่การรักษาอำนาจนำของตัวเอง [II]หากชนชั้นปกครองกลุ่มเก่าเอง ก็มีอำนาจนำ พอๆกับ กลุ่มใหม่ ท้ายที่สุดจะเกิดการต่อสู้กันระหว่าง อำนาจนำ กับ อำนาจนำ ซึ่งก็คือ ประชาชนกับประชาชน ประชาชนจะกลายเป็นเบี้ยที่เคลื่อนบนกระดานในแบบที่ตนเองก็รู้ตัวและเต็มใจ จนในที่สุดความขัดแย้งจะทำให้เกิดความสูญเสีย ชีวิตและทรัพย์สินไม่อาจคณานับ [III]พิจารณาทางแก้จากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในข้อ ๒ เพื่อหลีกเลี่ยงการประทะกันระหว่างประชาชนกับประชาชน ทางเดียวที่จะแก้ได้ คือ การให้ประชาชนทุกฝ่ายมีมติร่วมกันต่อผู้ที่จะมาปกครอง ซึ่งไม่อาจทำเช่นนั้นได้ ภายใต้ระบอบเผด็จการ และภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่หากตัดม่านแห่งอคติในศตวรรษที่ 21 ออก และมองว่าศาสนาเป็นทางออกจะพบว่า แทบจะทุกศาสนาได้ทำนายถึงการปรากฏตัวของบุคคลผู้หนึ่งที่มีลักษณะความเป็นผู้ปกครองผู้ทรงธรรมร่วมกัน แม้แตกต่างที่รายละเอียด เช่นบางศาสนา กล่าวถึง การมาของเทพ บ้างเป็นมนุษย์ บ้างทำนายในเชิงสัญลักษณ์ บ้างกล่าวถึง การมาของตัวแทนศาสดา บ้างกล่าวถึงการมาของกษัตริย์ เช่น พระศรีอารีย์ บุตรแห่งมนุษย์ในไบเบิล อิมามมะฮ์ดี ในตำราอิสลาม การกลับมาของกษัตริย์อาร์เธอร์ ชี้ว่ามีการวางแนวคิด One for all มาตั้งแต่สมัยโบราณกาลจนมาถึงปัจจุบัน และพิจารณาจากระบบการเมืองหลายรูปแบบที่มนุษย์เคยทดลองใช้ พบว่า ยังไม่มีรูปแบบใดที่สามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวเช่นนั้นได้อย่างทั่วถึงทุกมุมโลก แม้ทุกคนจะรู้ว่า การให้โลกเกิดสันติได้ ต้องอาศัยความเป็น Unity เพียงหนึ่งเดียวก็ตาม ดังนั้นข้อสรุปก็คือ ตราบใดที่รากฐานของระบบการเมือง เอื้ออำนวยให้ประชาชนขัดแย้งและเข่นฆ่ากันเองได้ ธรรมธิปไตยก็ไม่อาจเกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะไม่เกิดขึ้นแต่ก็สามารถทำให้ใกล้เคียงได้ ด้วยการใช้หลักเกณฑ์ที่มาจากค่านิยมร่วมกันที่ค่านิยมนั้นมาจากสามัญสำนึกของมนุษย์ โดยไม่ขึ้นกับ ความชอบความชัง แต่พิจารณาจากการทดสอบ คุณธรรม ความรู้ ความสามารถในการรับมือปัญหา ความกล้าหาญ ความสามารถในการตัดสินใจของผู้ปกครองหรือ กล่าวในอีกลักษณะก็คือ การสร้าง โรงเรียน หรือ สถาบันผู้นำที่ผู้นำประเทศจะต้องมาจากสถาบันดังกล่าว แนวคิดนี้คือการสร้าง Leader Academia นั่นเอง

4.ในส่วนที่กล่าวว่า หากพิจารณาจากพฤติกรรมทางการเมืองเฮเกโมนีหมายถึงการก้าวขึ้นมาครองความเป็นใหญ่โดยกลุ่มคณะหรือโดยประเทศหนึ่งต่อกลุ่มคณะอื่นหรือประเทศอื่นๆพิจารณาจากความหมายดั้งเดิมที่ดึงออกมาจากภาษากรีกซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้ว เพราะประวัติศาสตร์เรียกพฤติกรรมการพิชิตเหนือผู้อื่น หรือ การครองความเป็นใหญ่ในทางการเมืองและการทหารว่า เฮเกโมนี

5.การแบ่งเฮเกโมนีออกเป็นสี่ประเภท โดยประเภทแรกคือ วัฒนธรรมเพราะในศตวรรษที่ 19 คาร์ล มาร์กซ์ ได้เสนอทฤษฎีสังคมนิยมการครองความเป็นใหญ่ในทางวัฒนธรรม โดยเขาได้อธิบายว่า เฮเกโมนี คือ การที่ชนชั้นปกครองมีความสามารถในการสร้างอิทธิพลต่อ ขนบธรรมเนียบประเพณีและค่านิยมทางสังคม,การครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐในทางวัฒนธรรมด้วยภาพยนต์ฮอลีวู้ด อาหารตะวันตก และแฟชั่น ภาษาสากล(ร่วมกับอังกฤษ),การครองความเป็นใหญ่ทางวัฒนธรรมด้วยอะนิเมะ,มังงะ,อาหาร,วัฒนธรรม

6.ในส่วนที่กล่าวถึงเฮเกโมนีประเภทการเมือง เนื่องด้วยมีตัวอย่างมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นนี้ เช่น การเป็นใหญ่ของสปาร์ตันสามารถปกครองสหภาพเพโลพอนนีเซียน(Peloponnesian)การขึ้นมาเป็นใหญ่ของอาณาจักรจีนในช่วงระหว่าง 770 ถึง 480 ปีก่อนคริสตกาลในเอเชียตะวันออกการขึ้นมาเป็นใหญ่ของพระเจ้าหรรษวรรธนะในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงศตวรรษที่สิบห้าและสิบเก้ามีการขึ้นมาเป็นใหญ่ของประเทศตะวันตกหลายประเทศเช่น โปรตุเกส, เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ, สเปนและเยอรมนี

7.ในส่วนที่กล่าวถึงเฮเกโมนีประเภทการทหาร เนื่องด้วยในศตวรรษที่ 20 โลกได้กลายเป็นสนามแห่งการครองความเป็นใหญ่จากมหาอำนาจหลายกลุ่มที่ปรากฎตัวในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เช่น ญี่ปุ่น นาซีเยอรมัน อิตาลี รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ แม้ตอนจบจะเป็นหายนะของกลุ่มหนึ่ง และเป็นชัยชนะของอีกกลุ่มก็ตาม

8.ในส่วนที่กล่าวถึงเฮเกโมนีประเภทเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น รัสเซีย อิหร่าน ประเทศในคาบสมุทรอาหรับ(น้ำมัน) เป็นต้น

9.ในส่วนที่กล่าวว่า กลุ่มหนึ่งหรือประเทศหนึ่งสามารถครองความเป็นใหญ่ได้ทั้งสี่ประเภทหรือ น้อยกว่า เป็นการพิจารณาจากอิทธิพลในการตัดสินใจของมหาอำนาจ และความคล้อยตามของประชากรโลก เช่น การตัดสินใจของสหรัฐ มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาตน ภาพยนตร์ฮอลีวูดมีอิทธิพลทางความคิดต่อมวลชน อาหารแฟชั่น แม้แต่กระทั่งการ์ตูนมีอิทธิพลต่อปัจเจกและเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสนับสนุนต่อชนชั้นปกครองโดยไม่รู้ตัว หรือ รู้ตัว ส่วนในบางประเทศเช่น อิหร่าน มีอิทธิพลต่อโลกในทางทหาร และวัฒนธรรม ในทางทหารเป็นเพราะสามารถปิดช่องแคบฮอร์มุสอันเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า ในทางวัฒนธรรมเพราะความเชื่อมั่นต่อระบบศาสนา ส่วนซาอุดิอาราเบีย และประเทศแถบอ่าว ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ โดยเริ่มต้นจากการใช้ศาสนา และใหญ่เพิ่มขึ้นโดยการส่งออกน้ำมัน เป็นต้น

10.ในส่วนที่กล่าวว่า เฮเกโมนีในอดีตอาจไม่เหมือนกับเฮเกโมนีในมุมมองของกรัมชี่เสมอไปเพราะการครองความเป็นใหญ่ในทัศนะของกรัมชี่ มีการยอมรับของประชาชน เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ซึ่งบางระบบการปกครองในอดีต การยอมรับจากประชาชน อาจเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอ มิใช่เงื่อนไขที่จำเป็น

11.ในส่วนที่กล่าวว่า อัตลักษณ์สำคัญของเฮเกโมนีตามหลักทฤษฎีของกรัมชี่ได้แก่ ความพึงพอใจของประชาชนเพราะตามหลักทฤษฎี อำนาจนำไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจาก ความพึงพอใจ การยอมรับของประชาชน

12.ในส่วนที่กล่าวว่า อัตลักษณ์ที่สองของเฮเกโมนี คือ ความคิดในการสร้างอำนาจนำเพราะหากตัดเจตจำนงค์ในการสร้างอำนาจนำออกไป การครองความเป็นใหญ่ก็จะเป็นการเป็นใหญ่ในรูปแบบอื่นต่างจากรูปแบบของกรัมชี่ไปโดยปริยาย

13.ในส่วนที่กล่าวว่าอัตลักษณ์ที่สามของเฮเกโมนี ความคิดในการทำลายอำนาจเก่าหรืออำนาจอื่นเพราะโดยนัยแล้วการจะขึ้นใหญ่ได้ กลุ่มคณะที่ปรารถนาเช่นนั้น ย่อมมีความคิดล้มกลุ่มคณะอื่น และหากไม่มีความคิดดังกล่าวก็จะเป็นเพียงการวิพากษ์หรือการตรวจสอบอำนาจอื่น(แน่นอนว่าอาจมีผลสู่การทำลายอำนาจอื่นด้วยเช่นเดียวกัน)แต่นั่นไม่ใช่อัตลักษณ์ของการครองความเป็นใหญ่แต่อย่างใด

14.ในส่วนที่กล่าว่า อัตลักษณ์ที่สี่คือ แนวคิดคอมมิวนิสต์ เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองของกรัมชี่ คือ อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ วิพากษ์[I]ไม่จำเป็นเสมอไป หมายถึง การครองความเป็นใหญ่ไม่จำเป็นต้องขึ้นมาเป็นใหญ่ด้วยการใช้ระบบคอมมิวนิสต์เสมอไป และสามารถใช้ระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมได้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยผ่านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร [II]ปัจจุบันแนวคิดคอมมิวนิสต์ ถูกทำให้ดับลง แต่การครองความเป็นใหญ่ยังคงมีอยู่ ดังนั้น แนวคิดคอมมิวนิสต์จึงไม่ถือเป็นอัตลักษณ์แต่เป็นลักษณะหนึ่งของเฮเกโมนีที่กรัมชี่เลือกใช้นั่นเอง

เงื่อนไขการขึ้นมาเป็นใหญ่หรือการทำลายความเป็นใหญ่ของอำนาจเก่า

ตามหลักทฤษฎีเงื่อนไขสำคัญของการก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ คือ การสร้างอำนาจนำ หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์กับประชาชน โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ เช่น สื่อ ข่าวสาร การเชิดชูค่านิยม และอะไรก็ตามที่ทำให้ชนชั้นปกครองมีความสัมพันธ์กับประชาชน

เงื่อนไขในการทำลายอำนาจเก่า หรือ อำนาจที่กำลังแข่งขัน คือ เริ่มต้นจากการหาว่า เหตุใดอำนาจดังกล่าวถึงได้รับการยอมรับจากประชาชนจนประชาชนกลายเป็นอำนาจนำของกลุ่มคณะนั้นด้วยวิธีหลักและวิธีรอง จากนั้นทำลายปัจจัยดังกล่าวด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และสร้างปัจจัยใหม่จนกว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชน

จะรู้ว่าปัจจัยดังกล่าว มีผลทำให้ประชาชนกลายเป็นอำนาจนำได้หรือไม่ ให้พิจารณาจากอิทธิพลที่กลุ่มคณะดังกล่าวมีต่อประชาชน และ พฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนต่อกลุ่มคณะนั้นหากเป็นไปในเชิงลบ ย่อมหมายความว่า ปัจจัยที่คิดว่าสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างอำนาจนำได้ ยังไม่ใช่ปัจจัยที่ถูกต้อง แต่หากเป็นไปในเชิงบวก ย่อมหมายความว่า ปัจจัยดังกล่าวแข็งแกร่งเพียงพอในการสร้างอำนาจนำ อย่างไรก็ตามอำนาจนำของชนชั้นปกครองสามารถเสื่อมสภาพได้ หากประชาชนตัดสินให้เป็นเช่นนั้นด้วยเหตุผลนาๆประการ แต่ก็สามารถกลับมาแข็งแกร่งได้ด้วยนาๆสถานการณ์เช่นกัน

เหตุผลและหลักฐาน

1.ในส่วนที่กล่าวว่าตามหลักทฤษฎีเงื่อนไขสำคัญของการก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่คือการสร้างอำนาจนำหมายถึงการสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนโดยอาศัยเครื่องมือต่างๆเพราะตามทฤษฎีของกรัมชี่ วิธีการก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ และวิธีต่อสู้กับการเป็นใหญ่ของฝ่ายตรงข้าม แบ่งออกเป็น วิธีหลัก และวิธีรอง วิธีหลัก คือ การต่อสู้หลายสมรภูมิด้วยการใช้องค์กรณ์ต่างๆเช่น พรรคการเมือง สภา สมาคม โดยมีเป้าหมายหลายด้านเช่น เป้าหมายทางการเมือง วัฒนธรรม การทหาร ด้วยการสร้างให้กลุ่มของตน และทำลายความเป็นใหญ่ของกลุ่มเป้าหมาย การต่อสู้หลายสมรภูมิจะต้องแผ่ขยายวัฒนธรรมแบบสังคมนิยม(เพราะกรัมชี่เป็นมาร์กซิสม์ จึงนำเสนอแนวคิดการขึ้นมาเป็นใหญ่ของสังคมนิยม)เพราะมันคือ เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการแผ่อิทธิพลความคิดแนวปฏิบัติ และการปฏิวัติในมุมมองของกรัมชี่ไม่เหมือนกับ มุมมองของพรรคบอลเชวิค ที่ส่งผลในรัสเซีย ที่มองว่าเงื่อนไขในการปฏิวัติมีเพียงการสร้างองค์กร ด้วยเหตุนี้เองกรัมชี่จึงมองว่า สหภาพโซเวียตก็ต้องเคลื่อนไหวทั้งในด้านวัฒนธรรมและแผยแพร่อย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยเช่นเดียวกัน(เพราะในยุคนั้นโซเวียตสั่งห้ามการเคลื่อนไหวในทิศทางดังกล่าว และสุดท้ายโซเวียตก็เป็นไปตามคำทำนายของกรัมชี่ คือ การได้เผด็จการขึ้นมาแทน) หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วรัสเซีย ก็จะไม่ใช่สิ่งอื่นใด ยกเว้น เผด็จการที่รอวันถูกปฏิวัติ[6]ส่วนวิธีรองคือ การถอนรากแห่งอำนาจของชนชั้นปกครอง หมายถึง การหันหน้าเข้าหาสถานการณ์ปัจจุบันโดยคำนึงอยู่เสมอว่า การถดถอยของจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติของชนชั้นกรรมมาชีพ มีผลทำให้การปฏิวัติเข้าสู่ภาวะแห่งความสิ้นหวัง หากจะกล่าวในทางกลับกันก็คือ วิธีรองคือ การหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพและความคิดในการโค่นล้มการปฏิวัติให้มีชีวิตอยู่เสมอ

2.ในส่วนที่กล่าวว่า เงื่อนไขในการทำลายอำนาจเก่า หรือ อำนาจที่กำลังแข่งขัน คือ เริ่มต้นจากการหาว่า เหตุใดอำนาจดังกล่าวถึงได้รับการยอมรับจากประชาชนจนประชาชนกลายเป็นอำนาจนำของกลุ่มคณะนั้น จากนั้นทำลายปัจจัยดังกล่าวด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอด้วยวิธีหลักและวิธีรองตามแบบกรัมชี่ และสร้างปัจจัยใหม่จนกว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชน เพราะตามที่กรัมชี่ได้นำเสนอ เขาเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทำไมการปฏิวัติของสังคมนิยมถึงไม่แพร่กระจายในยุโรป ? ทำไมชนชั้นกรรมาชีพ ถึงไม่รับรู้ถึงการแบ่งชนชั้น เพื่อหาคำตอบกรัมชี่ได้ค้นคว้าจนค้นพบ”กลไกแห่งการครองความเป็นใหญ่”[7]ของชนชั้นปกครอง ด้วยเหตุนี้กรัมชี่จึงเสนอทฤษฎีของตนเองโดยเริ่มต้นจากการระบุถึงอำนาจนำที่ชนชั้นปกครองถือครองมาเป็นเวลานาน และกระบวนการทำลายอำนาจตาม รวมถึงวิธีการต่อสู้ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้อก่อนหน้า

3.ในส่วนที่กล่าวว่า จะรู้ว่าปัจจัยดังกล่าว มีผลทำให้ประชาชนกลายเป็นอำนาจนำได้หรือไม่ ให้พิจารณาจากอิทธิพลที่กลุ่มคณะดังกล่าวมีต่อประชาชน และ พฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนต่อกลุ่มคณะนั้น นั่นก็เป็นเพราะพฤติกรรมของประชาชนเป็นตัวชี้วัดว่า นโยบาย หรือ ปัจจัยที่ปฏิบัติใช้ได้หรือไม่ เช่นตัวอย่าง การไม่กระจายแนวคิดการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป เป็นเพราะปัจจัยในการสร้างความนิยมทั้งในเชิงปรัชญาและวัฒนธรรมต่อระบบนี้ยังไม่ถูกต้อง

4.ในส่วนที่กล่าว่า หากเป็นไปในเชิงลบ ย่อมหมายความว่า ปัจจัยที่คิดว่าสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างอำนาจนำได้ ยังไม่ใช่ปัจจัยที่ถูกต้องตัวอย่างเช่น มีการเผยแพร่แนวคิดคอมมิวนิสต์ แต่ไม่มีการตอบรับความคิดนี้จากชนชั้นกรรมาชีพในยุโรป เพราะวิธีการเผยแพร่ไม่ได้สะกิดให้ชนชั้นกรรมาชีพรับรู้ว่าพวกเขาถูกแบ่งชนชั้น เมื่อไม่รู้ว่ามีปัญหา ก็ไม่มีความคิดที่จะแก้ปัญหา ด้วยเหตุนี้เองคอมมิวนิสต์ในยุโรปจึงไปได้ไม่ไกล,อำนาจประชาธิปไตยในบางประเทศมีความแข็งแกร่งมากกว่า การนำเสนอเรื่องปัญหาการแบ่งชนชั้น

5.ในส่วนที่กล่าวว่า หากเป็นไปในเชิงบวก ย่อมหมายความว่า ปัจจัยดังกล่าวแข็งแกร่งเพียงพอในการสร้างอำนาจนำเช่น การนำเสนอแนวคิดเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม แข็งแกร่งมากพอเมื่อประชาชนที่ใช้ชีวิตภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จะลุกขึ้นมารักษาค่านิยมนี้โดยอัตโนมัติ เมื่อพวกเขารู้สึกว่า ความเสมอภาคและความเท่าเทียมของพวกเขากำลังถูกริดรอน ถึงแม้ว่ามวลชนจะเข้าใจความหมายของความเสมอภาคและความเท่าเทียมต่างกัน หรือแม้ว่าความเสมอภาคและความเท่าเทียมในระบบเสรีนิยม จะจำกัดแค่เพียงเรื่องของโอกาสที่เสมอกัน แต่ปล่อยเรื่องความเหลื่อมล้ำของทุนที่ต่างกันก็ตาม

6.ในส่วนที่กล่าวว่า อำนาจนำของชนชั้นปกครองสามารถเสื่อมสภาพได้ หากประชาชนตัดสินให้เป็นเช่นนั้นด้วยเหตุผลนาๆประการ เพราะมันถูกสร้างจากความพึงพอใจของประชาชน ดังนั้นเมื่อประชาชนเลิกพอใจอำนาจนำนั้น หรือ ถูกทำให้เห็นว่าผู้ปกครองไม่สมควรปกครองและใช้อำนาจที่ตนมอบให้อีกต่อไป อำนาจดังกล่าวก็จะเสื่อมสภาพ และอาจถูกทำลายไปโดยปริยาย เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติดอกมะลิในประเทศอาหรับ

7.ในส่วนที่กล่าวว่า อำนาจนำสามารถกลับมาแข็งแกร่งได้ด้วยนาๆสถานการณ์เพราะมันถูกสร้างจากความพึงพอใจของประชาชนด้วยเช่นเดียวกัน เมื่ออำนาจรัฐบาลหนึ่งถูกตัดสินโดยประชาชนส่วนหนึ่งว่าสมควรถูกทำลาย และมีการทำลายเกิดขึ้น มันไม่สำคัญอีกต่อไปว่า รัฐบาลที่โดนจู่โจ่มจะทำผิดจริงหรือไม่ก็ตาม แต่หากสถานการณ์และสภาวะของรัฐบาลเอื้อให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อำนาจนำของรัฐบาลนั้นก็สามารถอยู่รอด และกลับมาแข็งแกร่งได้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น รัฐบาลซีเรีย ถูกจู่โจ่มทั้งทางการเมือง ทางสงครามและเศรษฐกิจ จนสูญเสียอำนาจนำไปส่วนหนึ่ง แต่เนื่องด้วยมีประชาชนส่วนหนึ่งเลือกฝ่ายรัฐบาลมากกว่า ฝ่ายไอเอส ฝ่ายญับฮะตุนนุศเราะฮ์ และยังได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และอิหร่าน จึงทำให้รัฐบาลซีเรียอยู่รอดต่อไปได้ และไม่แตกเป็นเสี่ยง และในปัจจุบัน อำนาจของรัฐบาลซีเรียกลับได้รับการยอมรับมากขึ้น มีประชาชนเปลี่ยนฝ่ายมาอยู่ข้างรัฐบาลมากขึ้น เพราะการบุกของตุรกี สำนึกรักบ้านเกิดจึงกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนยินยอมกลายเป็นอำนาจนำของรัฐบาลซีเรีย ทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว

อิทธิพลที่ส่งผลต่อ Subject ของผู้นำเสนอเฮเกโมนี

ผู้ใช้แนวคิดเฮเกโมนี สามารถใช้แนวคิดนี้วิพากษ์ หรือ ทำลายความมั่นคงชนชั้นปกครองที่เป็นเป้าหมาย จนมีผลทำให้ผู้ปกครองถูกทำลาย แต่ก็มีผลตามมานั่นคือ ผู้ใช้แนวคิดเฮเกโมนี อาจถูกเปิดโปงถึงการสร้างอำนาจนำของตนหรือกลุ่มคณะของตนด้วยเฮเกโมนีจากฝ่ายตรงข้าม จนนำไปสู่การทำลายชนชั้นปกครองของฝ่ายตนด้วยเช่นเดียวกัน

1.ในส่วนที่กล่าว่วา ผู้ใช้แนวคิดเฮเกโมนี สามารถใช้แนวคิดนี้วิพากษ์ หรือ ทำลายความมั่นคงชนชั้นปกครองที่เป็นเป้าหมาย จนมีผลทำให้ผู้ปกครองถูกทำลายเพราะมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง คือ คอมมิวนิสต์ที่พยายามนำเสนอแนวคิดเฮเกโมนีเพื่อต่อสู้กับระบบประชาธิปไตย แต่กลับมีจุดจบคือการล่มสลายของตนเอง,สหรัฐที่ใช้ความน่าสะพรึงกลัวของคอมมิวนิสต์ในการทำลายคอมมิวนิสต์ในการสร้างอำนาจนำให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์,สหรัฐที่ใช้แนวคิด Islamophobia,การปราบเผด็จการซัดดัม,การปราบอัลกออิดะฮ์ โดยเริ่มจากจากการกล่าวถึงความพยายามขึ้นมาเป็นใหญ่ของฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งได้รับความยินยอมจากประชาชนในการส่งกำลังพลไปแผ่อิทธิพลในตะวันออกกลาง,รัสเซียที่เปิดโปงว่าสหรัฐกำลังพยายามก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในตะวันออกกลางจนได้รับการยอมรับจากประชาชนของตน นำไปสู่การยอมรับบทบาท การถ่วงดุลอำนาจของวลาดีเมียปูติน,สหรัฐที่ใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรมเช่น ภาพยนตร์ เพลง อาหาร ในความพยายามกำหนดศีลธรรมตามแบบอเมริกัน รวมถึงอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อสินค้าจากตะวันตก เป็นต้น

อิทธิพลที่ส่งผลต่อ Object ที่ถูกกล่าวถึงด้วยเฮเกโมนี

ชนชั้นที่ถูกโจมตีว่า”กำลังสร้างอำนาจนำ อาจถูกนำเสนอว่ากลุ่มคณะของตน คือ วิกฤตของประชาชน หรือเป็นไปในแง่ลบ จนนำสู่การล่มสลายของชนชั้นปกครองฝ่ายตนเอง แต่หากอำนาจนำที่ฝ่ายของตนสร้างขึ้นมีความแข็งแกร่งเพียงพอ ดาบนั้นจะคืนสนองสู่ผู้โจมตี เช่น การล่มสลายของคอมมิวนิสต์ การล่มสลายของรัฐบาลอดีตนายกทักษิณชินวัตร การเกลียดชังรัฐบาลนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธจันทร์โอชาร,การยุบพรรคอนาคตใหม่,IRGC ของอิหร่าน และกลุ่มฮิสบุลลอฮ ของเลบานอน ที่ถูกตัดสินให้เป็นผู้ก่อการร้าย,การโจมตีบริษัทหัวเหว่ยจนมีผลทำให้บริษัทสูญเสียพื้นที่ยุทธศาสตร์ และอื่นๆอีกมากมาย

การครองความเป็นใหญ่โดยตัวของมันเอง ไม่สามารถตัดสินว่าดีหรือร้ายได้ เพราะการเป็นใหญ่ของบางกลุ่มหรือบางคณะก็มีผลดีมากกว่าผลเสีย ในทางกลับกัน การไม่อาจได้เป็นใหญ่ของบางกลุ่มบางคณะก็อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตามไม่ว่าผู้ใดจะขึ้นมาเป็นใหญ่ ผู้ตรวจสอบที่แท้จริงก็คือประชาชน และมาตรการที่ควรใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบผู้ปกครองมากที่สุด ก็คือ คุณธรรมของผู้ปกครอง หากมิเป็นเช่นนั้นแล้ว ถึงจะได้ผู้ปกครองที่ทำให้ประชาชนอ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่หากความอ้วนท้วนสมบูรณ์มาจากการสูบเลือดของชาติอื่นอย่างไรคุณธรรม แม้จะมีผู้สร้างเหตุผลให้มีความชอบธรรมมากเท่าใดเพื่อสนับสนุนผู้ปกครองลักษณะนี้ มันก็ไม่สามารถทำให้ผู้ปกครองมีคุณธรรม เมื่อไม่มีคุณธรรม ความเป็นมนุษย์จะค่อยๆเลือนหายไป ในทางกลับกันหากประชาชนไม่อาจตรวจสอบคุณธรรมของผู้ปกครองได้ เช่น การปกครองแบบเผด็จการ การปกครองดังกล่าวก็ไม่มีความหมายด้วยเช่นเดียวกัน เพราะนั่นคำว่า”ประชาชน”ไม่ได้อยู่ในหัวใจของการปกครอง แต่เป็นเพียงกรรมจากการกระทำของผู้ปกครอง

source:

https://www.noormags.ir

https://www.noormags.ir/view/fa/articlepage

https://www.noormags.ir/view/fa/articlepage/974409

[1]ปัจจุบัน ไม่พบบทความดังกล่าวอีกต่อไป มีเพียงรายงานที่มีการยืนยันจาก Wikipedia

[2]https://en.m.wikipedia.org/wiki/Antonio_Gramsci

[3]https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/hegemony

[4]https://www.lexico.com/en/definition/hegemony

[5] การอธิบายทฤษฎีด้วยการใช้คำว่า”อำนาจนำ” กับ”อำนาจตาม”หยิบยืมมาจากบทความของอ.นิธี เอียวศรีวงศ์ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าการอธิบายโดยใช้คำทั้งสองเป็น Key word สามารถใช้อธิบายทฤษฎีของกรัมชี่ได้ดีและง่ายที่สุด

[6]The Frankfurt School Revisited: A Critique of Martin Jay’s The Dialectical Imagination Translated by Chengis Palawon,Tehran 1993

[7]A History of political thought in the west 20th Century,Kamal Pooladi,Tehran 2014,P36