“ศรัทธาตามใจฉัน”? เผยสาเหตุซาอุฯจัดคอนเสิร์ตต้อนรับทรัมป์

634
The American country music star Toby Keith, performing in Kansas in 2012. Rick Diamond/Getty Images

หนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ วิจารณ์กันสนั่นโลกโซเชียว โดยเฉพาะในชุมชนสื่อมุสลิม ทั้งกระแสหลัก และกระแสรอง ณ วันนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น เหตุการณ์มาเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดี โดนัลล์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

รอยแยกแห่งวัฒนธรรมได้ปรากฏให้เห็นขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในคืนวันเสาร์ ณ กรุงริยาด เมื่อทางราชอาณาจักรได้จัดแสดงคอนเสิร์ตสุดอลังการ เพื่อต้อนรับประธานาธิบดี ทรัมป์ ไม่เพียงเท่านั้น คอนเสิร์ตดังกล่าวยังมีได้ไฮไลท์เด็ด เป็นศิลปินเพลงคันทรี่ สัญชาติอเมริกัน อย่าง โทบี เคท (Toby Keith) ซึ่งการแสดงครั้งนี้ ได้ถูกจัดขึ้นเฉพาะสำหรับผู้ชมที่เป็นเพศชายทั้งหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การแสดงของเคท อันที่จริงแล้วปรากฏขึ้นมาได้ เพียงภายหลังจากที่ได้มีการลดหย่อน ผ่อนปรน ข้อกฎหมายที่มีมาอย่างยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษของทางภาครัฐ ว่าด้วยการไม่อนุญาตให้มีการแสดงทางดนตรีใดๆ ณ ที่สาธารณะในกรุงริยาด เมืองหลวงที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมของนักอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ทว่าเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ข้อกฎหมายดังกล่าวกลับถูกยับยั้งลงอย่างน่าประหลาดใจ

เนื่องจากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียยึดมั่น (และส่งออก) แนวคิดการตีความศาสนาอิสลามอย่างเข้มงวด ตามแบบฉบับลัทธิวะฮาบีย์  (Wahhabist) อันเป็นที่ทราบกันดี ในหมู่นักการเมืองและนักวิชาการทั่วไป และสำหรับนักการศาสนาของพวกเขา ได้เสนอแนะข้อวินิจฉัยอันเกี่ยวข้องกับศิลปะทางดนตรีเอาไว้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยมีผู้ศรัทธาจำนวนมาก คล้อยตามและเชื่อมั่นตามข้อวินิจฉัยทางศาสนาดังกล่าว ที่กำหนดไว้ว่า ดนตรี และเสียงเพลง เป็นสิ่งต้องห้าม หรือ “ฮาราม” (หมายเหตุ: กรณีดังกล่าว มีข้อวินิจฉัยที่หลากหลาย และยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน บ้างว่าเสียงร้องเป็นที่อนุมัติ แต่เสียงเครื่องดนตรีเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นต้น)

ทั้งนี้ทั้งนั้น เสียงเพลงและดนตรี ก็มิได้ถูกกำจัดออกจากราชอาณาจักรซาอุฯไปอย่างสิ้นซาก แม้จะมีคำสั่งใช้ของภาครัฐ ออกมาเช่นนั้น ทว่าประชาชนยังคงมีการจัดคอนเสิร์ตแบบส่วนตัว และในบรรยากาศ “ใต้ดิน” อยู่เรื่อยๆมาหลายปี ในลักษณะแนวเพลงที่หลากหลาย เช่น metal และแนวอื่นๆที่เป็นที่นิยมทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนไปในประเทศแห่งนี้ – และทัศนคติที่ผันเปลี่ยน อย่างน้อยที่สุด ต้นตอของมันก็มีพื้นฐานมาจากปมเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ฤดูร้อนปีที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ประกาศแผน “วิสัยทัศน์ 2030” (Vision 2030) ในความทะเยอทะยาน และความต้องการมุ่งเป้า เพื่อกระจายการลงทุนของเศรษฐกิจ โดยจะหันหน้าเข้าพึ่งพารายได้จากน้ำมันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รัฐบาลยังตระหนักดีว่า ประชาชนหนุ่มสาวและพลเมืองจำนวนมาก อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นประเทศอ่าวอื่นๆ หรือไกลออกไปจากนั้น ในความต้องการใช้ชีวิตที่มีเสรีภาพทางความบันเทิง และสามารถดูการแสดงทางดนตรีต่างๆได้ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียในปัจจุบันประเมินว่าพลเมืองของตนใช้จ่ายเงินกว่า 20 พันล้านเหรียญในต่างประเทศ เล็งเห็นว่า การสร้างตัวเลือกด้านความบันเทิงที่บ้านเกิดเมืองนอน จึงอาจเป็นการเพิ่มการสร้างงานในราชอาณาจักรได้

ในส่วนของแผนดังกล่าว รัฐบาลซาอุฯ ได้จัดตั้งสำนักงาน ที่เรียกว่า General Entertainment Authority (GEA) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมภาคบันเทิงในราชอาณาจักร พร้อมกับพัฒนาและยกระดับองค์ประกอบ และศักยภาพของทางสำนักงาน  ซึ่งรวมไปถึง การแสดงทางดนตรี และการนำเสนอความบันเทิงอื่น ๆ โดย GEA ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมต่างๆบ้างแล้ว อาทิเช่น งาน Comic Con ในเวอชั่นของซาอุดิอาระเบีย โดยจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่เมืองเจดดาห์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 20,000 ราย รวมไปถึงคอนเสิร์ตในเดือนมกราคม โดย ซามูเอล โมฮัมหมัด อับโด ผู้เป็นดั่งดาราดาวรุ่งอาหรับมานานกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แต่กลับไม่เคยได้รับอนุญาตให้แสดงในประเทศของตนมาก่อนหน้านี้ และอย่างล่าสุด เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการจัดคอนเสิร์ตของวงดุริยางค์ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกต ไม่เพียงแต่เพราะ งานดังกล่าว เปิดให้มีผู้ชมจากทั้งสองเพศปะปน (หญิง-ชาย) แต่ยังมีนักแสดงหญิง ร่วมแสดงกับนักแสดงชายอีกด้วย

ปฏิทินการแสดงที่จะเกิดขึ้นตามมาของ GEA ได้แก่ Harlem Globetrotters การแสดงตลกและการแสดงของ Blue Man Group โดยแต่ละชุดการแสดง จะได้รับการออกแบบอย่างละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของการอนุญาตให้จัดแสดงให้ชมเฉพาะ ผู้ชายหรือ “ครอบครัว” ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม ในกรณีที่มากับคนในครอบครัว หรือ ในที่นี่หมายถึง “ผู้ปกครองชาย”ในหมู่ของพวกเธอเท่านั้น

ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนเมษายน ประธาน GEA นาย อะฮ์หมัด อัล คาเต็บ (Ahmed al-Khatib) ชี้แจงถึงเป้าหมายของเขา อันได้แก่ การสร้างฉากวัฒนธรรมของเมืองใหม่ ให้มีความบันเทิงในบรรยากาศที่คล้ายคลึงกับในเมืองหลวงของประเทศตะวันตก อย่างใน ลอนดอนและนิวยอร์ก โดยยังได้ชี้แนะอีกด้วยว่า บรรดา นักอนุรักษ์นิยม (ที่ไม่เห็นด้วย) อาจ “อยู่บ้านได้หากไม่สนใจงานจัดแสดงที่เกิดขึ้น” ในแถลงการณ์ภายหลังกับสำนักข่าวรอยเตอร์อีกเช่นกัน – คาเต็บกล่าวว่า “เจ้าหน้าที่จะให้ทางเลือกด้านความบันเทิงอื่น แก่นักอนุรักษ์นิยม และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม”

โฆษกรัฐบาลซาอุฯ บอกกับสำนักข่าว Washington Post ว่า คอนเสิร์ตโทบี เคท ถูกจัดขึ้นโดย GEA สำหรับฤดูสิ้นสุดการสอบปลายภาคของนักเรียน นักศึกษาในราชอาณาจักร คอนเสิร์ตได้รับงบสนับสนุนจาก MBC Group บริษัท กระจายเสียงผ่านระบบดาวเทียมประจำภูมิภาค ซึ่งมีพื้นเพมาจากประเทศดูไบ

 

แล้วทำไม โทบี เคท ถึงได้เป็นศิลปินในวงการดนตรีคนแรกๆที่ได้รับเลือกโดย GEA?

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ แบรนด์และธุรกิจเพื่อความบันเทิง รวมทั้งศิลปินนักแสดง สัญชาติอเมริกัน มีแฟนคลับในจำนวนที่น่าสนใจอยู่แล้วในราชอาณาจักรฯ ยังมีการจัดขบวน รถจักรยานยนตร์ Harley-Davidson ภายในกรุงริยาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการให้เกียรติแกการมาเยือนของประธานาธิบดีทรัมป์ นอกจากนี้ สถานที่จัดงานแสดงของ เคท ภายในเมืองหลวงซาอุฯ ยังถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ตั้งของ WWE อีกด้วย (หมายเหตุ: WWE คือ บริษัทจำกัดมหาชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาเพื่อความบันเทิง โดยที่มีธุรกิจหลักอยู่ที่การเป็นสมาคมมวยปล้ำอาชีพ)

อย่างไรก็ดี การแสดงของเคทในกรุงริยาด ยังได้ถูกนำเสนอผ่านความสามารถเชิงท้องถิ่น เขาได้ร้องเพลงและแสดงร่วมกับศิลปินชาวซาอุดีอาระเบีย Rabeh Saqer ผู้ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็น ศิลปิน “ตัวจริง” สำหรับผู้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้

Washington Post รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เจ้าตัวศิลปินคันทรี ไม่ได้เดินทางไปซาอุดิอาระเบีย พร้อมกับประธานาธิบดี และแม้แต่ผู้บริหารก็ไม่ทราบถึงคอนเสิร์ตของเขาในกรุงริยาด อย่างไรก็ตาม โทบี้ เคท ยังเป็นหนึ่งในผู้ให้ความบันเทิง ในรายนามศิลปินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ เขาเป็นหนึ่งในศิลปิน ที่ร่วมแสดงในงานเฉลิมฉลองการมอบรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์

___________________________________________

นักเขียน:

Anastasia Tsioulcas

Associate Producer, NPR Music

___________________________________________

ที่มา:

http://www.npr.org/sections/therecord/2017/05/22/529500923/how-did-toby-keith-get-to-do-a-concert-in-saudi-arabia