เป็นทาส หรือ เป็นไท? อะไรคือศักยภาพที่แท้จริงของสตรีในทัศนะของอิสลาม

633

ต้อนรับวันประสูติประมุขสตรีแห่งสากลโลก ฟาฏิมะฮฺ บุตรีแห่งท่านศาสดา ขออุทิศบทความฉบับนี้แด่ “สตรีผู้ถูกกดขี่จากทั่วทุกมุมโลก”


 

وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَسُولًا أَنِ اعْبُدُوا اللَّهَ وَاجْتَنِبُوا الطَّاغُوت
“และแท้จริง เราได้แต่งตั้งรอซูล (ศาสนทูต) ให้มีในทุกๆประชาชาติ (โดยบัญชาให้) พวกเจ้าจงทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ และ ออกห่างจากเหล่าฏอฆูต (อำนาจปกครองที่อธรรม และกดขี่ผู้อื่น)
(อัลกุรอาน ซูเราะฮ์อัน-นะห์ลฺ (16)  โองการที่ 36)

 

จากโองการของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานข้างต้น เราจะเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า อัลกุรอานกำลังกล่าวถึง “ภารกิจ” และเป้าหมายสูงสุด ในการส่งท่านศาสดาลงมายังประชาชาติ ซึ่ง ณ ที่นี่คือ การนำพามนุษย์เข้าสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้า และปลดปล่อยมนุษย์ออกจากการบูชาอำนาจอื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ (อ้างจาก syedsulaiman.com) ซึ่งศึกษาอย่างผิวเผิน เราอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของโองการนี้อย่างถ่องแท้ หรือ อาจคิดว่า มันเป็นเพียง คำบัญชาของศาสนาหนึ่งๆ ที่ต้องการตีกรอบให้กับเสรีภาพของมนุษย์ และกำชับให้มนุษย์กราบไหว้พระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ทว่าหากศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เราจะพบว่า แฝงอยู่ภายใต้มัน คือ ขุมทรัพย์แห่งปัญญา และกุญแจไขสู่การพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่ทรงพลังยิ่ง และคือหนทางอันนำพามนุษย์ไปสู่เสรีภาพที่แท้จริง

อนึ่ง ผู้เขียนในฐานะมุสลิมคนหนึ่ง อยากจะให้ผู้อ่านทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า “เคารพภักดีพระเจ้า” ในทัศนะของอิสลาม ไม่ได้หมายถึง การกราบไหว้ หรือ การละหมาดเพียงอย่างเดียว แต่ การเคารพภักดี เหมารวมไปถึง การกระทำทุกๆอย่างในชีวิต เพื่อให้อยู่ในครรลองของศาสนาและศีลธรรม เหล่านี้รวมไปถึง การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้วยเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ ล้วนถือเป็นการเคารพภักดีพระเจ้า และเป็นคำบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้า ในทัศนะของอิสลาม ตามที่กล่าวไว้ ในโองการข้างต้นนี้ทั้งสิ้น (อ้างจาก syedsulaiman.com)

เช่นนี้แล้ว จึงอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงสาเหตุที่ผู้เขียน ในฐานะสตรีมุสลิมคนหนึ่ง คิดเห็นว่าโองการดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกับ หนทางสู่การพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด และถนนสู่เสรีภาพที่แท้จริง ตามที่ได้กล่าวอ้างในตอนเริ่มต้น

จากการใคร่ครวญถึงสภาพทางสังคม เทียบเคียงกับจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์โลกคนหนึ่ง ผู้เขียนได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ในชั่วขณะใดก็ตาม ที่เราได้อนุมัติ หรือ ปล่อยให้สิ่งอื่นใด นอกเหนือจากพระผู้ทรงสร้าง ให้นิยามแก่ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความสุข และคุณค่าของเรา มันคือช่วงเวลาเดียวกันที่เรากำลังย่างกรายเข้าสู่ รูปแบบหนึ่งของการตกเป็นทาส ที่ถึงแม้ว่า มันจะเป็นไปอย่างๆเงียบ ทว่ามันกลับมีอนุภาคครอบงำตัวเรา

สิ่งนั้น ซึ่งให้นิยาม ความสำเร็จ ความล้มเหลว และคุณค่าของเราแทนพระเจ้า เปรียบดั่งสิ่งที่ควบคุมตัวตนของเรา เป็นมาตรฐานของชีวิต มันกลายเป็น “นายเหนือชีวิต” (Master) และโดยเฉพาะ ณ ที่นี่ ที่เราจะขอกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึงสตรีเพศ ซึ่งหนึ่งในบรรดา ‘มาตรฐาน’ (Standard) ที่ถูกกำหนดมาเพื่อวัดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเธออย่างแพร่หลายมากที่สุด ในวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ก็คือ มาตรฐานของบุรุษเพศ (Standard of men) ทั้งๆที่ความเป็นจริง พระเจ้าได้ให้เกียรติแก่สตรีเท่าเทียมกับบุรุษ ในการสร้างสรรค์ของพระองค์ และอย่างที่สติปัญญาของผู้หนึ่งผู้ใดจะยอมรับได้ คือ เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน หลั่งเลือดสีเดียวกัน

ในมุมมองของศาสนาอิสลาม พระเจ้าให้เกียรติกับสตรีเพศ ด้วยการมอบคุณค่าให้แก่พวกเธอ ผ่านความสัมพันธ์กับพระองค์เอง มิใช่ในความสัมพันธ์กับบุรุษเพศ ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า

” แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือ ผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า” (ซูเราะฮ์ อัล-หุญุรอต โองการที่ 13)

แม้ข้อเท็จจริงจะว่าไว้ดังนี้ ทว่าหลายๆอุดมการณ์ (ideologies) ก็พยายามตัด พระเจ้าออกไปจากฉากร่ำไป เหลือเพียงแต่ ความเชื่อที่น่าหดหู่ยิ่ง ที่ซึ่งกำหนดว่า สตรีไม่เหลือมาตรฐานใดอื่นอีก ที่จะใช้วัดค่าความเป็นคนของเธอ นอกจาก ‘บุรุษเพศ’ เพียงเท่านั้น..

มาตรฐานของบุรุษเพศ (Standard of men)

อุดมการณ์เช่นนี้ ส่งผลทำให้ สตรีเพศจำเป็นต้องออกตามหาค่าของเธอ ในความสัมพันธ์กับบุรุษ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ท้ายที่สุดแล้ว พวกเธอจึงถูกบีบ ให้ต้องยอมรับว่า บุรุษเพศ คือ มาตรฐาน และเชื่อว่า ตนจะไม่มีวันเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ได้ จนกว่าจะกลายมาเป็นเหมือนกับผู้ชาย ดังนี้ หรือด้วยเพราะเหตุใดก็ตามแต่ สตรีจำนวนหนึ่งจึง เริ่มมีความคิดเห็นว่า ความอ่อนแอทางกายภาพ คือ ปมด้อย และความอ่อนไหวทางอารมณ์ คือ สิ่งที่ควรซ่อนเอาไว้ เพื่อไม่ให้ถูกสบประมาท แม้แต่การเป็นแม่บ้านเต็มตัว ยังนับเป็นสถานภาพทางอาชีพที่ต้อยต่ำ หรืออีกนัยหนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ สตรียอมรับนับถือ บุรุษเพศในฐานะ มาตรฐานวัดความเป็นมนุษย์ เมื่อนั้น คุณลักษณะ ทั้งทางอารมณ์ และทางกายภาพดั้งเดิมของสตรีเพศ จึงกลายมาเป็นเหมือน ปมด้อย ในการถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ของพวกเธอโดยปริยาย

ข้อพิสูจน์ของมันก็ไม่ได้มาจากสิ่งอื่นใด นอกจากข้อความที่สื่อกระแสหลักส่งผ่านช่องทางต่างๆ และการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศ ตามทัศนะของนักเคลื่อนไหวFeminists บางกลุ่ม

ผลกระทบที่ตามมาจากกระแสเรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคทางเพศของสตรีบางกลุ่ม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายๆวงการ สำนักข่าวหลายๆแห่งเริ่มนำเสนอข้อมูลที่พูดถึงสตรีมากขึ้น มีการจัดโครงการอภิปรายถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจังในวงการของนักวิชาการ เกิดการปฏิรูปทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย และกฎหมายระดับประเทศ ให้มีการยอมรับสตรี และมอบความยุติธรรมให้แก่แรงงานสตรีมากขึ้น และที่น่าจะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์

สังเกตได้ว่า ผู้หญิง มีบทบาทมากขึ้นในวงการภาพยนตร์ตะวันตก ผู้ผลิตภาพยนตร์หลายๆเรื่อง สร้างสรรค์ให้ ผู้หญิง เป็นตัวแสดงเอก ซึ่งต่างจากที่เคยมีมาในอดีตโดยสิ้นเชิง อาทิเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Salt สวยสังหาร (2010), The Hunger Games เกมล่าเกม (2012), Divergent คนแยกโลก (2014) ฯลฯ และแม้แต่ค่ายภาพยนตร์และการ์ตูนชื่อดัง อย่าง Disney (ดิสนีย์) หนึ่งใน 6 บริษัทสื่อ ซึ่งควบคุม 90% ของอัตราการบริโภคสื่อของประชาชนชาวอเมริกัน มหาอำนาจโลก (อ้างจาก businessinsider.com, 2012) ก็ยังผลิตการ์ตูนอนิแมชั่นสำหรับเด็กและบุคคลทั่วไปออกมาในลักษณะเดียวกัน คือ ดึงเอา สตรีเพศมาเป็นตัวแสดงหลัก อย่างเช่นในภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Brave นักรบสาวหัวใจมหากาฬ (2012) และ Frozen ราชินีหิมะ (2014) ที่ได้กลายมาเป็นอนิเมชั่นที่สามารถทำรายได้สูงจากรอบโลกรวมทั้งสิ้นกว่า หนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ แถมยังกำชัยชนะบนเวทีออสการ์ในสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมประจำปี 2014 ไปอีกด้วย (อ้างจาก movie.sanook.com, 2014) โดย Brave และ Frozen นับ เป็นการ์ตูนอมิแมชั่นที่ฉีกกฎการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์แบบเดิมๆ ด้วยการนำเสนอไอเดียใหม่ที่ว่า ผู้หญิงมีความเข้มแข็งในตัวเอง และสมบูรณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชาย

ผู้เขียนไม่อาจปฏิเสธว่า เหล่านี้เป็นแรงผลักดันสังคมไปสู่การยอมรับสตรี ส่งผลทำให้เกิดการขยายบทบาททางสังคมของสตรีมากขึ้น ซึ่งต่างจากยุคก่อนหน้า ที่สตรีแทบจะไม่มีสิทธิ์ มีเสียงเลยด้วยซ้ำไป ทว่ามันก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่สุด ความเป็นจริง ภาพยนตร์เหล่านี้กำลังเสนอแนะชุดความคิดที่แฝงไปด้วยการกดขี่ต่อสตรีเพศไม่ต่างกัน เห็นได้จาก บทบาทที่ตัวเอกของภาพยนตร์เหล่านี้ได้รับ ล้วนเกี่ยวข้องกับ ความเข้มแข็งทางกายภาพ และความเด็ดเดี่ยวทางอารมณ์ ซึ่งความเป็นจริงมันเป็นคุณลักษณะเด่นของเพศพ่อ มากกว่า เพศแม่ (สิ่งที่มักจะถูกมองว่า ผู้ชายทำได้ดีกว่าผู้หญิง เช่น เรื่องการต่อสู้ และการใช้อาวุธ) เราแทบจะไม่เห็นภาพยนตร์ใดๆที่มีผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่อง แล้วหญิงคนนั้นจะมีลักษณะใดที่ต่างไปจากนี้ โดยเฉพาะจากรายชื่อภาพยนตร์ชื่อดังที่ยกมา สิ่งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่า การเป็นที่ถูกยอมรับในสังคมนั้น มีมาตรฐานวางอยู่ที่ บุรุษเพศ และการเป็นเหมือน หรือ คล้ายกับบุรุษเพศ คือ สถานภาพทางสังคมที่สูงส่งที่สุด

เพราะ ภาพยนตร์ ในฐานะสื่อ มีกลไกการทำงานในสังคมเหมือนกับ “หน้าต่าง” (widow) เปิดมุมมองให้มวลชนเข้าใจโลก และแสดงความเป็นจริงของมัน สื่อจึงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฐานะ “ตัวกลาง” (Mediator) สื่อสารข้อความหนึ่งๆ สู่ผู้ชมในทัศนะของตนผ่านรูปแบบการนำเสนอต่างๆ นอกจากนี้ สื่อยังทำหน้าที่เหมือน “ตัวแทน” (representation) ของบางสิ่ง เพราะ สื่อสะท้อน (mirroring) ให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของเรื่องๆหนึ่ง จากมุมๆหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจคุณลักษณะของมัน แม้เราจะไม่ได้สัมผัสกับสิ่งนั้นๆด้วยกับตัวเราเอง ฉะนี้ เราจึงอาจจะสรุปได้ว่า สื่อสามารถ “ประกอบสร้างความจริง” (Construct reality) และนำพาผู้คนไปสู่การเชื่อในอุดมการณ์หรือชุดความคิดหนึ่งๆ เพราะเห็นว่า มันคือ ความจริงนั่นเอง เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ จากการขึ้นมามีอำนาจของพรรคนาซีและฮิตเลอร์ ผ่านนโยบายทางการเมืองและโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)ในเยอรมณีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหลักฐานชิ้นโบว์แดงที่สนับสนุนให้เราเข้าใจกลไกการทำงานและผลกระทบของสื่อมากขึ้นในกรณีที่ว่ามานี้

ฉะนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากจะค้นพบว่าการเสพสื่อภาพยนตร์ซึ่งสอดแทรกทัศนะเช่นนี้ จะส่งผลทำให้มวลชนและเยาวชนรุ่นใหม่ยอมรับ (ในรูปลักษณะของความจริงประการหนึ่ง) ว่า สตรีที่สมบูรณ์ คือ สตรีที่มีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และสามารถเป็นอะไรก็ได้ ที่บุรุษเป็น ทำอะไรก็ได้ที่ผู้ชายทำได้ หรือเหนือกว่า โดยที่พวกเธอไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบุรุษ… แล้วอะไรกันหรือ คือสิ่งที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้อง? พวกเขาอ้างว่า ไม่ต้องการให้ใครหน้าไหนมานิยามความเป็นหญิง แต่สิ่งที่พวกเขากำลังพูด คือ หญิงเป็นอะไรก็ได้ ที่ชายจะเป็น? และหญิงแท้ไม่จำเป็นต้องพึ่งชาย.. สำหรับผู้เขียนแล้ว มันเป็นคำกล่าวอ้างที่น่าสับสนยิ่งนัก เพราะ ชาย และ หญิงล้วนมีความแตกต่างกันทั้งทางกายภาพ สรีระ และอารมณ์ จิตใจ ทั้งยังไม่สามารถบังคับให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆตามแต่ใจปรารถนา ดังนั้นแล้ว มันผิดตรงไหน หากหญิงจะไม่อาจเป็นในสิ่งที่ชายเป็น? หรือหากหญิงจำเป็นต้องพึ่งพาชาย?

โลกจึงตกอยู่ในสงครามทางจิตวิทยา ที่ซึ่งถกเถียงกันว่าอะไรคือคุณลักษณะของความเป็น ‘คน’ ที่สมบูรณ์ และสมควรแก่การให้เกียรติที่สุด หรือ อะไรคือศักยภาพที่แท้จริงของสตรีเพศ ระหว่าง ความเด็ดเดี่ยวและแข็งแกร่ง (ความเป็นชาย) หรือ ความเมตตาและการเสียสละ (ความเป็นหญิง) ทว่าสตรีมุสลิมกลับได้เปรียบในสมภูมินี้ เพราะพวกเธอมี พระเจ้า ในฐานะ มาตรฐานวัดค่าความเป็นมนุษย์ ฉะนี้ จึงไม่มีสภาพทางสังคมใดๆมีอำนาจกำหนดทัศนะคติของพวกเธอ ทำให้พวกเธอคิดเห็น อยากจะเป็นเหมือนผู้ชาย หรือ คิดว่า จะมีที่ยืนในสังคมได้ ก็ต่อเมื่อเป็นดั่งบุรุษเพศ เพราะสิ่งเดียวที่พวกเธอยอมรับในฐานะ “นายเหนือชีวิต” และเป็นกุญแจไขสู่การพัฒนาศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด คือ การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

มาตรฐานแห่งความงาม (Standard of beauty)

อย่างไรก็ดี ในสังคมบริโภคนิยม ตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ยังแนะนำสตรีเพศให้รู้จักกับ “นายเหนือชีวิต” (Master) หรือ อำนาจทางความคิดและการกระทำอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเช่นกัน ได้พยายามนิยาม คุณค่าที่แท้จริงของสตรีเพศ และนายตนนี้ได้รับการขนานนามว่า “มาตรฐานแห่งความงาม” (Standard of beauty)

ตั้งแต่เยาว์วัย เราในฐานะสตรีแทบจะไม่ได้รับข้อความสื่อสารใดอื่นจากสื่อกระแสหลักเลย ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา นิตยสาร หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ นอกเสียจากข้อความที่ว่า มนุษย์หญิงที่สมบูรณ์คือ คนที่ “สวย ผอม เซ็กซี่” และอย่าได้เป็นอย่างอื่น

ผู้หญิงจึงเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเวลา และพลังงานจำนวนมหาศาล และเหนืออื่นใด คือ เงินทั้งหมดที่หามาได้ ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสวยงามในอุดมคติอันนี้ ทั้งจำต้องรู้สึกละอาย และรู้สึกผิด เมื่อความพยายามเหล่านั้นต้องประสบกับความล้มเหลว ขณะที่ ความล้มเหลวกลับเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ ความสวยงามในอุดมคติ ณ ที่นี้ คือความสวยงาม ที่หมายถึง ความไร้ที่ติ ที่ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถไขว่าคว้ามันได้ แม้แต่บรรดาดารานางแบบ หรือนางงามจักรวาลเอง ก็ยังต้องผ่านการตัดต่อภาพ หรือ การแต่งหน้าหลายขั้นตอน กว่าที่ภาพลักษณ์อันสวยงามเช่นนั้นจะถูกเผยแพร่ไปยังสาธารณะชน นี่คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้

แน่นอนว่า ภาพลักษณ์ความสวยงามในอุดมคติเหล่านี้ ส่งผลกระทบกับการให้เกียรติตนเองของผู้หญิง แต่ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น คือ มันได้สร้างเงื่อนไขอันหนึ่ง ที่ซึ่งทำให้การใช้ความรุนแรงต่อสตรีเกิดความแพร่หลายเพิ่มมากยิ่งขึ้น การให้ค่ากับ รูปลักษณ์ภายนอกเหนือกว่า คุณลักษณะภายในจิตวิญญาณ ได้เปลี่ยนให้สตรีเพศ ถูกมองเห็นในฐานะ วัตถุ ไร้ความคิด ไร้จิตใจ และนี่เอง คือจุดเริ่มต้นสู่การสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงต่อสตรี เราสามารถหาอ่านบทวิจัยในลักษณะเช่นนี้มากมาย  ซึ่งกรณีดังกล่าว ยังมีความคล้ายคลึงกับปัญหาสังคม ที่เราพบเห็นได้ ในลัทธิเหยียดสีผิว, ลัทธิที่เกลียดชังพวกที่รักเพศเดียวกัน และในกรณีของผู้ก่อการร้าย เพราะมันอยู่ในสารระบบเดียวกันมาโดยตลอด คือ เมื่อใครคนหนึ่ง ถูกจัดว่า ไม่ใช่ ‘คน’ ดังนั้น ความรุนแรงต่อเขา จึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และ แนวคิดแบบนี้ ก็ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ต่อผู้หญิงในสังคมเป็นที่เรียบร้อยและอย่างต่อเนื่องแล้ว… สังเกตเห็นได้อย่างแพร่หลายว่า ผู้หญิงที่ขึ้นชื่อว่ามีรูปลักษณ์ขี้เร่ มักจะถูกเยาะเย้ย ถากถาง กลายเป็นตัวตลกอยู่ในแคมเปญของโฆษณา หรือสื่อละครต่างๆ

แม้ว่า สื่อจำพวกนี้ จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความตลกขบขัน แต่ข้อความที่มันได้ส่งไปให้กับเด็กสาวและผู้หญิงก็ค่อนข้างที่จะชัดเจน ว่า หากคุณไม่ได้มีความสวยงามแบบที่ยอมรับได้ในสังคม คุณก็จะกลายเป็นเพียง วัตถุหนึ่ง ที่ไม่มีใครให้เกียรติ ที่ต้องถูกเยาะเย้ย ถากถาง ดังนี้เพราะคุณค่าของคุณขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก

นอกจากต้อง “สวย” วัฒนธรรมบริโภคนิยม ยังได้นำเสนออีกแนวคิดหนึ่งให้แก่สตรีเพศ ที่ว่า การเป็นคนเซ็กซี่ คือหนทางสู่เกียรติยศ เราพบเห็นว่า สื่ออนาจารได้กลายมาเป็นสิ่งที่ถูกยอมรับได้มากขึ้นในสังคม ภาษาที่ใช้และภาพลักษณ์ของสื่ออนาจาร ได้แทรกเข้ามาอยู่ในสื่อกระแสหลักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้น เด็กผู้หญิงจึงได้รับการส่งเสริมให้ นำเสนอตัวเองในแบบของนักเต้นระบำเปลื้องผ้า หรือ ดาวโป๊ เหมือนเหล่านักแสดง นักร้อง พวกเขาได้รับการส่งเสริมให้สวมใส่ กางเกงในสายเดี่ยว หรือ จี-สตริง ให้กล้าส่งภาพอนาจารของตัวเองไปให้กับแฟนหนุ่มผ่านทางโทรศัพท์มือถือ, ให้กลายเป็นคนง่ายๆในเรื่องเพศสัมพันธ์ โดยไม่คาดหวังสิ่งเล็กน้อย หรือสิ่งใดๆกลับคืน เพราะเด็กผู้หญิงเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กๆว่า พฤติกรรมทางเพศ และรูปลักษณ์ของพวกเธอ คือสิ่งที่สังคมยกย่อง

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง (สำหรับผู้เขียนคิดเห็นว่า) เวทีนางงาม คือ ข้อพิสูจน์ถึงประเด็นนี้ที่ดีที่สุด ตราบใดที่ รูปลักษณ์ของสตรี ยังคงเป็นหนึ่งในเกณฑ์วัดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่สมควรแก่การถูกสรรเสริญ ตราบนั้นสตรีก็จะไม่มีวันมองเห็นคุณค่า ทางสติปัญญา และจิตใจในความเป็นมนุษย์ของตนอย่างแท้จริง ไม่น่าแปลก หากจะมีปัญหาเยาวชนตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เพราะพวกเธอเรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆ(ทั้งทางอ้อมและตรง) ที่จะทำให้ตัวเองกลายเป็นเครื่องมือทางเพศ และใช้เพศเป็นเครื่องมือ

ในปี 2007 สมาคมนักจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological) เผยแพร่รายงาน (Report of the APA Task force on the Sexualize of Girls) ด้วยกับบทสรุปที่ว่า เด็กผู้หญิง ที่รับเห็นภาพที่มีการใช้ เพศเป็นเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย มีแนวโน้มที่จะประสบกับ 3 ปัญหาสุขภาพจิต ที่เป็นกันมากในหมู่ เด็กผู้หญิง และสตรี คือ สภาวะซึมเศร้า, สภาวะการกินอาหารผิดปกติ และสภาวะการให้เกียรติตนเองน้อยเกินไป……พวกเขากำลังตกเป็นทาสของมาตรฐานความงามแบบผิดๆ

ด้วยประการฉะนี้เอง ผู้เขียนจึงมองเห็นสัจธรรมเบื้องหลังโองการอัลกุรอานที่ได้ยกไว้ในตอนเริ่มต้น และอยากจะนำเสนอให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญตาม เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะได้เข้าใจ สตรีมุสลิมมากขึ้นว่า พวกเรามิได้กำลังถูกกดขี่ ด้วยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดของศาสนา ทว่าในทัศนะของเรามันคือ กุญแจไขสู่การค้นพบศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด และหนทางแห่งเสรีภาพที่แท้จริงต่างหาก และสิ่งเหล่านี้ล้วนซ่อนอยู่ภายใต้ ภารกิจในการมาโปรดของท่านศาสดาทุกๆองค์ โดยเฉพาะท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) นั่นคือ การปลดแอกมนุษย์ชาติออกจากการตกเป็นทาสของอำนาจอื่น นายเหนือหัวรูปแบบอื่น การให้นิยามเช่นอื่น และมาตรฐานอื่นๆ เว้นเสียแต่อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

เนื่องจาก อิสลามเสนอว่า หญิงที่มีเกียรติ คือ หญิงที่มีสถานะทางจิตวิญญาณสูงส่ง หรือ มี ‘ตักวา’ (ความยำเกรงต่อพระเจ้า) ในภาษาเชิงวิชาการอิสลาม เพราะการพิจารณาจากความสูงส่งทางด้านจิตวิญญาณและสติปัญญา นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดสำหรับการนำมาใช้เป็น มาตรฐาน นิยามคุณค่าของใครสักคนหนึ่ง (อ้างจากหนังสือ สิทธิสตรีในอิสลาม โดยชะฮีดมุเฏาะฮารี บทที่ว่าคุณค่าของสตรีคืออะไร ?)

ในฐานะสตรีมุสลิม เราได้รับการปลดแอกออกจากการเป็นทาส และมีอิสรภาพอยู่ในรูปแบบเช่นนี้ เราได้รับการยกย่อง ทว่ามิใช่ในความสัมพันธ์กับบุรุษเพศ หรือสภาพทางสังคมอื่นใด เราปลอดภัยจากการตกเป็นทาส ของการเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น ไม่ว่าจะเป็นเหมือนผู้ชาย หรือ เป็นในสิ่งที่ผู้ชายปรารถนา เรือนร่างของเรามิใช่ วัตถุ เราไม่ใช่เครื่องมือทางการตลาด เราไม่ใช่สินค้า และเราขอปฏิเสธมาตรฐานของความงามทางสังคม หรือ เทรนด์แฟชั่นเพื่อนิยามคุณค่าของเรา เพราะ เราคือมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณ และมีความคิด และพระเจ้ามอบค่าของเราไว้เช่นนั้น ครั้นเมื่อเราเป็นทารก เราคือผู้เปิดประตูสวรรค์ให้แก่บิดา เมื่อเราเป็นภรรยา เราได้เติมเต็มศาสนาอีกครึ่งให้แก่สามี และท้ายสุดในฐานะมารดา สวรรค์ของพระเจ้าถูกวางอยู่ใต้เท้าของเรา … การยอมรับในมาตรฐานของพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียว สำหรับเรา มันคือ แหล่งเรียนรู้ คือ ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จะช่วยพัฒนาเราไปสู่การค้นพบศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เหนือขอบเขตทางเพศและขีดข้อจำกัดที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ ที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้เพราะเรามิใช่บ่าว หรือทาสของสิ่งใดอื่น เว้นแต่ของพระผู้ทรงสร้างเรา พระผู้เมตตา ผู้ทรงกรุณาปราณีหาที่สุดมิได้