รู้จักและฟังมุมมองจาก รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอิหร่าน

1274

ในฐานะรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอิหร่าน และหัวหน้าองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมของอิหร่าน “มะอฺซูเมห์ เอบเตคาร์” อาจจะเป็นผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในอิหร่าน

แต่เมื่อนานมาแล้ว ก่อนหน้าบทบาทปัจจุบันของเธอ ชาวอเมริกันได้รู้จักเอบเตคาร์เมื่อปี 1979 ในชื่อ “แมรี่” โฆษกหญิงที่พูดภาษาอังกฤษของกลุ่มนักศึกษาอิหร่านที่บุกเข้าไปในสถานทูตอเมริกาในเตหะรานและจับตัวประกันชาวอเมริกันไว้ 52 คน

สามสิบหกปีหลังจากวิกฤตการจับตัวประกัน เอบเตคาร์กล่าวว่า สังคมอิหร่านเปิดกว้างสำหรับการสนทนาและทำความเข้าใจกับประชาชนชาวอเมริกัน แต่ยังมีความคลางแคลงใจอย่างไม่ลดละต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวกับการทำสงครามกับกลุ่มนักรบไอซิซ

“ฉันคิดว่ามีความสงสัยอยู่มากเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในการดำเนินการกับไอซิซ เพราะการสนับสนุนแต่แรกเริ่มที่พวกเขาให้แก่ไอซิซในซีเรียได้ทำให้กลุ่มนี้มีความแข็งแกร่งขึ้นในขณะนั้น และต่อมาก็มีเหตุผลอื่นๆ ให้เชื่ออีกด้วยว่านี่ไม่ใช่กลุ่มที่แท้จริง มันถูกยุยงส่งเสริมด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือถูกสร้างขึ้นโดย หน่วยงานข่าวกรองสักแห่ง” เอบเตคาร์กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ในเตหะราน โดยน่าจะเป็นการพาดพิงถึงซีไอเอ

 

masumehบทบาทเธอเมื่อ 36 ปีที่แล้ว

 

เอบเตคาร์กล่าวต่อไปว่า จำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความตระหนักถึง “โฉมหน้าที่แท้จริงของอิสลาม” เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการตอบโต้กับอุดมการณ์ของไอซิซ

“ความเป็นจริงก็คือเราจำเป็นต้องทำงานด้วยเจตนารมณ์ที่แท้จริง และส่วนหนึ่งก็คือวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งก็คือการทำงานกับคนหนุ่มสาว แนะนำให้พวกเขาได้รู้จักกับโฉมหน้าที่แท้จริงของอิสลาม” เอบเตคาร์กล่าว “ความพยายามที่เราเห็นในบางประเทศที่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ในด้านลบของมุสลิม ของประเทศมุสลิม สนับสนุนความเกลียดกลัวอิสลาม หรือเกลียดกลัวอิหร่าน จะต้องเปลี่ยนเป็นทัศนคติในการเจรจาและการทำความเข้าใจกัน”

รายการ “On the Radar” ได้ไปเยือนประเทศอิหร่านในโอกาสของการเฉลิมฉลองครบรอบ 36 ปีแห่งการปฏิวัติอิหร่าน และขณะที่ชาวอิหร่านจำนวนมากตะโกนคำขวัญว่า “อเมริกาจงพินาศ” ระหว่างการฉลองนี้ เอบเตคาร์อธิบายว่า คำขวัญนี้ถูกสื่อตรงไปถึงรัฐบาลของสหรัฐฯ ไม่ใช่ประชาชน

“หมายความว่า ความพินาศจงประสบแก่นโยบายแบบจักรวรรดินิยมที่สหรัฐฯ ใช้ ที่รัฐบาลใช้กับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่เฉพาะแต่อิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นท่าทีในการวางกำลังทางทหาร การแทรกแซง หรือภาพลักษณ์ในเชิงลบที่รัฐบาลอเมริกาสร้างให้แก่ตัวเอง” เอบเตคาร์กล่าว “แต่ในการติดต่อสัมพันธ์กับประชาชนชาวอเมริกัน การติดต่อสัมพันธ์กับสังคม ฉันคิดว่าชาวอิหร่านมีความเปิดกว้างมากๆ และฉันคิดว่าการติดต่อกันแบบเพื่อนมนุษย์ การสนทนาพูดคุย และการทำความเข้าใจระหว่างทั้งสองชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

เธอยังยกย่องสิ่งที่เธอพูดว่าเป็น “สังคมภาคประชาชนที่สดใส” มากยิ่งขึ้นภายในอิหร่าน และกล่าวว่ารัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยประธานาธิบดีฮัซซัน รูฮานี ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการไม่เห็นด้วยมากขึ้น

“ปัจจุบันนี้เรามีสังคมภาคประชาชนที่สดใสยิ่งขึ้น” เธอกล่าว “รัฐบาลมีการสนับสนุนสังคมภาคประชาชนซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ไม่ชอบฟังเสียงของพวกเขา เราชอบรับฟังเสียงของพวกเขาถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ บางครั้งเป็นการวิจารณ์ที่รุนแรงมาก แต่ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเราที่จะต้องฟังเสียงเหล่านั้น”

เมื่อถูกขอให้ระบุถึงประเด็นที่เธอเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับอนาคตของอิหร่าน เอบเตคาร์ได้กล่าวถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

“ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันตกกำลังประสบกับภาวะแห้งแล้งระยะยาว ฝนน้อย และอุณหภูมิสูง …. สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพที่ยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ การขยายเป็นเมือง” เอบเตคาร์กล่าว

 

ชมคลิปการให้สัมภาษณ์

http://news.yahoo.com/blogs/power-players-abc-news/meet-iran-s-first-woman-vice-president-125615087.html