เบื้องหลังฉากควันทางการเมือง – อะไรคือวาระที่แท้จริงของเยเมน?

3767

ในขณะที่สื่อกระแสหลักเน้นความสนใจไปในเรื่องน่าตื่นเต้นของเยเมน หรือที่ตะวันตกเรียกขานว่าเป็นการชักขะเย่อกันทางนิกายและการเมือง ระหว่างชีอะฮ์เฮาซีฝ่ายหนึ่ง กับกลุ่มต่อต้านซุนนีฝ่ายหนึ่ง ประชาชนทั่วไปก็ถูกทิ้งไว้ในความมืดอีกครั้งหนึ่ง ยังมีอะไรมากกว่าที่ตามองเห็นแน่นอนในวิกฤตของเยเมน

ในความเป็นจริงทั้งหมด สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเยเมนจะเป็นการกำหนดนิยามใหม่ของตะวันออกกลางได้หลายด้านกว่าที่ซีเรียและอิรักจะกำหนด ในขณะที่อิรักและซีเรียกลายเป็นเหยื่อแรกของแนวคิดจารีตนิยม หรือแนวหน้าของลัทธิวะฮาบีใหม่ เยเมนจะเป็นสิ่งที่ทำให้หลังของอูฐหัก ในกรณีนี้คือ “ซาอุดิอารเบีย”

วิกฤตทางการเมืองของเยเมนจำเป็นต้องทำความเข้าใจจากแง่มุมระดับภูมิภาคและระดับโลก ในหนึ่งประเทศแห่งคาบสมุทรอาหรับนี้ สามมหาอำนาจได้เข้ามาปะทะ ขัดแย้ง และทับซ้อนกัน ในลักษณะที่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ตะวันออกกลางและโลกจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

ไม่ว่าเยเมนจะรู้หรือไม่ก็ตาม การจลาจลเมื่อปี 2011 ได้เริ่มต้นความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการขึ้นและลงของมหาอำนาจที่ควบคุมดุลยภาพในภูมิภาคนี้อยู่จนถึงขณะนี้ นั่นก็คือ สหรัฐฯ, ซาอุดิอารเบีย และอิหร่าน

ด้วยการลุกขึ้นต่อต้านการสถาปนา ชาวเยเมนไม่พอใจกับดุลอำนาจที่ซับซ้อน การปะทะกันทางความคิด ภูมิศาสตร์การเมือง และความทะเยอทะยานที่หลุดพ้นออกนอกแกนของพวกเขา จึงทำให้คนในชาติและฝ่ายต่างๆ ต้องคิดใหม่ระบุสถานะของพวกตนใหม่ภายในเครือข่ายนั้น

ไม่ว่าจะยากจนและปกครองยากแค่ไหน ไม่ว่าจะด้อยพัฒนาและคาดเดาไม่ได้ทางการเมืองเพียงใด แต่เยเมนก็ยังคงเป็นเพชรทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจนมหาอำนาจทั้งสามของโลกเตรียมพร้อมจะทำสงครามต่อกันเพื่อให้ได้อำนาจควบคุมดินแดนของมัน

ในขณะที่มหาอำนาจของโลกให้ความเคารพต่อสถานะเดิมทั้งในซีเรียและอิรัก เพราะกลัวว่าจะมีการปลดปล่อยกำลังทางทหารกันเต็มที่ แต่เยเมนได้เล่นบทบาทที่แตกต่างไป แค่นั้นก็น่าจะบอกได้แล้วว่า แผ่นดินที่แผ่กว้างแห่งนี้คือกุญแจที่จะไขไปสู่อาณาจักรนี้ คือการมีอำนาจควบคุมตะวันออกกลาง

ดังนั้น กำลังเกิดอะไรขึ้นบนโลกนี้กันแน่? วิกฤตทางการเมืองของเยเมนเข้ามามีบทบาทในเกมอันยิ่งใหญ่ที่มหาอำนาจเล่นกันอยู่ได้อย่างไร?

เราลองมามองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น และดูว่ามันอยู่ในภาพที่กว้างขึ้นอย่างไร เมื่อพูดถึงเยเมน มีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่มันน่าจะเป็น

 

เกมอำพราง

จวบจนกระทั่งถึงเดือนกันยายน 2014 ที่ผ่านมา กลุ่มสำคัญหนึ่งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการจลาจลของเยเมนปี 2011 ก็คือ อัล-อิสลาห์ กลุ่มซุนนีสายสุดโต่งที่เป็นร่มเงาให้แก่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) และกลุ่มย่อยของซาลาฟีกับเผ่าต่างๆ อัล-อิสลาห์เป็นการแผ่ขยายทางการเมืองของตระกูลอัล-อะห์มารฺในหลายด้าน ซึ่งตระกูลนี้เป็นเผ่าที่แข็งแกร่งและมีอำนาจมากที่สุดของเยเมน กษัตริย์แห่งเยเมนตามที่หลายคนเรียก ได้ปกครองอำนาจทั้งหมดของประเทศโดยผ่านการอุปถัมภ์อย่างเต็มที่จากซาอุดี้ฯ

ด้วยการถูกเลี้ยงให้ทำหน้าที่เป็นกลุ่มต่อต้านอำนาจของอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลห์ ตระกูลอัล-อะห์มารฺ ได้ขับเคลื่อนการปฏิวัติเยเมนเพื่อให้ได้เป็นผู้ปกครองที่ไม่มีใครคัดค้านของอาหรับตอนใต้ เว้นเสียแต่ว่า การอ้างสิทธิ์ของพวกเขาถูกท้าทายโดยศัตรูคู่อาฆาตทางการเมืองและศาสนาที่สำคัญของพวกเขา นั่นก็คือ กลุ่มเฮาซี

ในขณะที่อัล-ซาลาห์เพิ่งจะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ของเยเมน เหตุการณ์ต่างๆ ในอียิปต์และซาอุดิอารเบียก็กลับไม่เป็นไปตามความชอบของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (ที่พวกเขาให้การสนับสนุนและริยาดให้การอุ้มชู เพื่ออำนวยผลประโยชน์แก่ตนทั่วตะวันออกกลาง จนกระทั่งมีอำนาจมากเกินความสบายใจ) มันได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง และทำให้มีความเป็นไปได้ที่เฮาซีจะกลับมาใหม่

ใช่แล้ว กลับมาใหม่!

ถ้าเฮาซีถูกอธิบายว่าเป็นกองทหารอาสาฝ่ายกบฏที่หายเข้าไปในป่าทึบของพื้นที่ราบสูงทางเหนือของเยเมน ขอให้เราจำไว้ว่า “กบฏชีอะฮ์” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญเลือกที่จะขนานนามพวกเขากลุ่มนี้ ได้ฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของเยเมน

เพราะฉะนั้น การเข้ามาสู่ฉากการเมืองของพวกเขาจึงเหมาะสมที่จะเรียกว่าการกลับมาใหม่มากกว่าการผงาดขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ

ขอให้เราจำไว้ว่า ก่อนหน้าที่จะกลายเป็นสาธารณรัฐ เยเมนเคยเป็นราชอาณาจักรซัยดี

เฮาซีคือทายาทของประเพณีเก่าแก่นี้ และแม้ว่าความทะเยอทะยานทางการเมืองของพวกเขาจะเป็นไปในทางประชาธิปไตย แต่ประวัติศาสตร์ของพวกเขายังคงผูกพันอยู่กับสายตระกูลนี้ พวกเขาไม่ได้แสดงออกมาเพียงแค่อากาศธาตุ

แต่ขอให้เราย้อนกลับไปยังเดือนกันยายน 2014 เมื่อกลุ่มเฮาซี ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแรงกล้าจากชาวเยเมนหลายแสนคน ทั้งสายซัยดีและซุนนี ภายใต้การนำของอับดุล-มาลิก อัลเฮาซี ได้ตีฝ่าการยึดเมืองซานาอฺของเผ่าอัล-อะห์มารฺ ไว้ได้ เป็นการสิ้นสุดการถืออำนาจทางการเมืองในเยเมนของกลุ่มอัล-อิสลาห์ไปในทางปฏิบัติ

ที่ติดอยู่ในสมรภูมิแห่งเจตนารมณ์นี้ก็คือ ประธานาธิบดีฮาดี นักการเมืองหุ่นเชิดที่มีความจงรักภักดีแกว่งไปมาระหว่างริยาดกับวอชิงตัน ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน

ก่อนจะพบกับอำนาจของเฮาซี ก่อนจะถูกกดดันทั้งจากการบีบคั้นทางการเมืองและเจตนารมณ์ของประชาชน ฮาดียอมแพ้อย่างง่ายดาย เขาเลือกที่จะลาออกแทนที่จะถูกขับออกไปด้วยความไม่รู้จักพอของตัวเอง

สี่เดือนหลังจากเฮาซีเข้ามาในซานาอฺ ขับไล่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมออกจากเก้าอี้ ประธานาธิบดีฮาดีได้เสนอการลาออก โดยอ้างเหตุผลถึงความแตกต่างที่ไม่อาจปรองดองกันได้

ภายในไม่กี่วัน ฮาดีและรัฐบาลชุดเก่าของเขาถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน เฮาซีทำงานเพื่อเยียวยารักษาความแตกแยกทางการเมืองและระหว่างเผ่าของเยเมนอย่างช้าๆ และระมัดระวัง

แต่ถ้าหากฮาดีกระตือรือร้นที่จะยอมแพ้ ซาอุดิอารเบียยังไม่พร้อมที่จะโยนผ้าขาว

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ริยาดไม่สามารถจะยอมให้เมืองหลวงของอาหรับอีกแห่งหนึ่งตกไปอยู่กับศัตรูของตนได้อีก ซึ่งก็คืออิหร่าน แม้ไม่ต้องใช้ทฤษฎีการสมรู้ร่วมคิด ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเฮาซีและอิหร่านมีความผูกพันฉันท์มิตรที่ใกล้ชิดต่อกัน ถึงแม้ว่าทั้งสองจะตกอยู่ในบ่อแห่งอุดมการณ์เดียวกัน

นับตั้งแต่เกมที่ริยาดริเริ่มขึ้นจะล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เฮาซีและอัล-อิสลาห์ก็เริ่มที่จะทำลายล้างกันและกัน ปล่อยให้อัล-ซาอูดทำอะไรก็ได้ในประเทศที่น่าอนาถนี้ ซึ่งซาอุดี้ฯ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหันกลับมาสนับสนุนอัล-อิสลาห์ แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะเป็นการจุดประกายไฟของกลุ่มภราดรภาพขึ้นมาใหม่และเป็นอันตรายที่สุดต่อดุลยภาพทางการเมืองของภูมิภาค แม้ว่าจะยากลำบาก แต่ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอียิปต์ก็ให้การสนับสนุนการดำเนินการของอัล-ซาอูด

 

มิติใหม่ของความซับซ้อน

ดังนั้น การหนีรอดของฮาดีจึงถูกจัดเตรียมขึ้น แต่ไม่ใช่โดยปราศจากความช่วยเหลือทั้งจากอังกฤษและสหรัฐฯ ภายใต้การปกป้องจากเครื่องบินโดรนหลายลำ ประธานาธิบดีฮาดีที่ลาออกแล้วได้เดินทางผ่านเยเมนไปจนถึงจุดหมายปลายทาง นั่นก็คือ เอเดน อดีตเมืองหลวงของเยเมนใต้

ภายในไม่กี่วันของการกลับมาใหม่อย่างเริงร่า ชาติตะวันตกทั้งหมดและกลุ่มประเทศ GCC ได้ประกาศว่าจะปิดสถานทูตของตน ซานาอฺได้กลายเป็นเมืองนอกกฎหมายทางการทูต ตั้งแต่เวลานั้น อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้

เฮาซีกลายเป็นศัตรูชีอะฮ์ และฮาดีก็ตัดสินใจในทันทีนั้นว่าการลาออกของเขาเป็นโมฆะ ประธานาธิบดีที่ลาออกอย่างเป็นทางการและกลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้งด้วยตัวเองของเยเมนในขณะนี้ ประกาศว่าเอเดนเป็นเมืองหลวงใหม่ชั่วคราวของเยเมน กระตุ้นให้นักการทูตกลับมาหาที่ตั้งใหม่กันอย่างเอิกเกริก

เอเดนกลับมามีชีวิตใหม่ สองทศวรรษหลังจากเสียสถานะความเป็นเมืองหลวงไป เอเดนได้กลับมาอยู่บนแผนที่อีกครั้ง ฟื้นฟูบทบาทการเป็นแนวหน้าใหม่ในการต่อต้านกับแรงดึงดูดของอิหร่าน

แต่นี่คือจุดติดขัดในแผนการของริยาด สี่ปีในการปฏิวัติสู่การเปลี่ยนผ่านทำให้เยเมนเป็นอสูรทางการเมืองที่แตกต่างไปอย่างมาก กฎเกณฑ์ของอัล-ซาอูดไม่ใช่กฎที่ไม่มีใครโต้แย้งในคาบสมุทรแห่งนี้อีกต่อไป ชาวเยเมนและฝ่ายต่างๆ ในเยเมนได้เรียนรู้แล้วว่า มีความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ถูกราชวงศ์อัล-ซาอูดชักใยอยู่

เยเมนมีทางเลือก และมีความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ซาอุดิอารเบียคว้าเอาไว้ไม่ได้

เยเมนไม่ใช่บริวารของซาอุดี้ฯ อีกต่อไป เพียงไม่กี่เดือนที่ออกมาจากเงาอันน่าอึดอัดของอัล-ซาอูด ก็เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นให้เกิดเยเมนใหม่ขึ้น เยเมนที่เป็นเอกราชที่หลักจารีตนิยมทางศาสนาไม่ต้องเป็นความเป็นจริงที่ชาวเยเมนจะต้องยึดติดอีกต่อไป ที่ริยาดจะไม่มาควบคุมอนาคตของพวกเขา

ดังนั้น ตอนนี้เรามีเฮาซีอยู่ในภาคเหนือ และฮาดีอยู่ในภาคใต้

ฮาดีเป็นประธานาธิบดีที่ไม่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี และยังเป็นนักการเมืองที่ไม่มีฝ่าย ขณะที่แนวรบได้ดึงเอาสภาประชาชนทั่วไป (General People’s Congress – GPC) เข้ามาร่วมด้วย อดีตประธานาธิบดีซาเลห์ ได้เข้ามาร่วมชะตากรรมกับเฮาซี พันธมิตรใหม่ในการต่อต้านซาอุดิอารเบีย

ในเอเดน ฮาดีกำลังเป็นผู้นำแนวร่วมทางการเมืองที่ไม่เป็นรูปเป็นร่างซึ่งประกอบด้วยอัล-อิสลาห์ และฝ่ายต่างๆ ทางการเมืองและเผ่าอื่นๆ

ริยาดหวังว่า การเริ่มต้นนี้จะนำไปสู่การสลายตัวของเฮาซี และการมรณะทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีซาเลห์
เพียงแต่ว่า ยังไม่มีใครต้องการให้เฮาซีและซาเลห์จากไป

ถ้าวอชิงตันจะไม่สบายใจกับการยินยอมให้เฮาซีปกครองเยเมน มันก็เข้าใจเช่นกันว่าเฮาซีและซาเลห์สามารถต้านทานการปกครองแบบเทวาธิปไตยที่ทำลายตัวเองของอัล-ซาอูดในภูมิภาคนี้ได้ทางยุทธวิธี

เพื่อปิโตรดอลลาร์ ราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียกำลังเปลี่ยนแปลง เมื่อถูกห้อมล้อมด้วยมะเร็งที่มันสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการแผ่ขยายอำนาจ หรือพวกมุสลิมก่อการร้าย และถูกท้าทายจากความไม่พอใจของประชาชนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ซาอุดิอารเบียพบว่าตัวเองกำลังจนมุมให้กับอิหร่าน ตั้งแต่ลีแวนท์ไปจนถึงอ่าว เงาของอิหร่านได้บดบังแสงอาทิตย์ของอัล-ซาอูด

วอชิงตันเข้าใจว่าพันธมิตรยาวนานของตนนั้นอาจจะเปลี่ยนเป็นภาระทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของมันได้ในไม่ช้า มันจึงจัดเตรียมการไว้เพื่ออนาคต ด้วยการเหยียบเรือไว้ทั้งสองแคม

สถานการณ์เป็นเช่นนี้ : อิหร่านต้องการที่จะผลักซาอุดิอารเบียออกไปจากตะวันออกกลาง และในการนั้น จำเป็นต้องมีเยเมน หรือจำเป็นต้องมีเยเมนเหนือ ด้วยการมีประชากรส่วนใหญ่เป็นสายซัยดี เยเมนเหนือจึงเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติของอิหร่านในการต่อต้านซาอุดิอารเบียที่เป็นวะฮาบี และถึงแม้ว่าเยเมนโดยรวมจะเป็นทรัพย์สินที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่เตหะรานก็เข้าใจว่ามันต้องมีความยากลำบากในการใช้อิทธิพลกับเยเมนใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นซุนนี

สิ่งแรกและเหนือสิ่งอื่นใดที่สหรัฐฯ ต้องการก็คือการรักษาผลประโยชน์ทั้งทางการทหารและทางการเงินในเยเมนเอาไว้ ในขณะที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อซึ่งเห็นได้ว่าจะมีตัวละครใหม่ๆ เกิดขึ้น และทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่ซับซ้อนอยู่แล้วยุ่งยากขึ้นไปอีก เพื่อประโยชน์ต่อการทาบทามทางการเมืองของตนที่เพิ่งจะมีกับอิหร่าน และในมุมมองที่จะรักษาสัมพันธมิตรกับหนึ่งในมหาอำนาจของภูมิภาค วอชิงตันน่าจะผลักดันให้เกิดการพักรบชั่วคราว โดยที่ถ้าไม่เรียกร้องให้มีการแบ่งส่วนของเยเมน ก็จะให้มีการรวมเยเมนเหนือและใต้เข้าด้วยกัน

เฮาซีจะปกครองเยเมนเหนือ โดยการถอนเขตแดนที่ตั้งขึ้นในปี 1990 ไป และอัล-อิสลาห์จะขึ้นเป็นผู้ปกครองคนใหม่ของเยเมนใต้ภายใต้การอุปถัมภ์ของซาอุดี้ฯ

ผู้แพ้ที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียวในที่นี้คือ ซาอุดิอารเบีย

อัล-ซาอูดต้องการให้เฮาซีและซาเลห์ออกไปเสียทั้งคู่

และแม้ว่ามันจะแสดงตัวว่าเป็นประชาคมระหว่างประเทศ โดยผ่านการเข้ามามีบทบาทของ UNSC ที่ขู่ว่าจะฟ้องร้องและยึดทรัพย์ คำพูดเช่นนั้นเป็นแค่เพียงคำขู่ที่มุ่งหมายจะเพิ่มระดับในการเจรจา

ท้ายที่สุด วอชิงตันต้องการที่จะทำข้อตกลง

วิกฤตครั้งนี้จะแสดงออกมาในวิธีใด สงครามจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ริยาดก็ยังคงจะแพ้อยู่ดี ราชอาณาจักรนี้จะไม่ได้เยเมนกลับมาอยู่ใต้อาณัติของตนอีก

 

 

by Catherine Shakdam
Source http://journal-neo.org

แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์*** หมายเหตุ รายงานชิ้นนี้เขียนเมื่อวันที่ 6/3/58 ก่อนซาอุฯจะถล่มเยเมน