2 ข้อเสนอการเจรจาที่ “แตกต่างกันมาก” กำลังวางอยู่บนโต๊ะของชาติอาหรับอ่าวเปอร์เซีย ข้อเสนอหนึ่งมาจากศัตรูร่วมประวัติศาสตร์อย่าง “อิสราเอล” ที่เสนอให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรที่สำคัญกับ “สหรัฐอเมริกา” ส่วนอีกข้อเสนอ มาจากคู่แข่งร่วมประวัติศาสตร์อย่าง “อิหร่าน” ซึ่งอยู่ร่วมกันในภูมิภาคและความเชื่อเดียวกัน
สิ่งที่ประเทศอาหรับ “เลือก” ในที่สุดอาจจะสร้างอนาคตแห่งสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้พบกับนายกรัฐมนตรี อิสราเอล “เบนจามิน เนทันยาฮู” ที่ทำเนียบขาว และระหว่างการแถลงข่าว สองผู้นำได้พูดเป็นนัยถึง “ความร่วมมือระหว่างอาหรับกับอิสราเอลที่จะมีขึ้นในระยะอันใกล้นี้”
ไม่กี่วันต่อมา ในระหว่างการ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมความมั่นคงมิวนิก รมว.ต่างประเทศอิหร่าน “โมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ” ได้ออกมาย้ำข้อเสนอก่อนหน้านี้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคของอิหร่านเพื่อการเจรจาระหว่างสาธารณรัฐอิสลามกับประเทศเพื่อนบ้านรอบอ่าวเปอร์เซีย
ข้อเสนอของสหรัฐฯ-อิสราเอลครอบคลุมเกือบทุกชาติอาหรับ รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสมาชิกอื่นๆ ของสภาความร่วมมือ รัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เช่นเดียวกับ อียิปต์ จอร์แดน และอาจหมายรวมถึงเลบานอนและตูนิเซีย
วัตถุประสงค์หลักของข้อเสนอนี้เป็นข้อตกลงสันติภาพที่แผ่กว้างขึ้นสำหรับอาหรับกับอิสราเอล และจะยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตาม จุดขายสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความคิดริเริ่มนี้มาจากความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับอิหร่าน และข้อเสนอมีเป้าหมายที่จะนำเสนอการเป็น “แนวร่วม” เพื่อต่อต้านสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
เนทันยาฮูกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า “เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม และเป็นครั้งแรกในชีวิตของประเทศของผม ที่ประเทศอาหรับในภูมิภาคไม่เห็นอิสราเอลเป็นศัตรู แต่เพิ่มความป็นพันธมิตรมากขึ้น”
เขากล่าวต่อว่า “โอกาสที่สำคัญสำหรับสันติภาพ มาจากการเข้าหากันในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรอาหรับของเราที่เพิ่งค้นพบกัน ในการแสวงหาสันติภาพที่กว้างขึ้นกับชาวปาเลสไตน์”
ในขณะที่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเจรจาในอีกช่องหนึ่ง (backchannel) ระหว่างอิสราเอลและยูเออี, ซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับอื่นๆ แถลงการณ์ของทรัมป์และเนทันยาฮูก็พูดเป็นนัยว่ารายงานก่อนหน้านี้ที่อ้างถึงปฏิสัมพันธ์โดยตรงอย่างลับๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลและเจ้าหน้าที่ประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) นั้นมีการดำเนินการจริงที่เกิดขึ้นในตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
ความเข้าใจจากสิ่งที่ฝ่ายบริหารของบารัก โอบาบมา ละทิ้งไว้ คือว่า สหรัฐอเมริกากำลังออกจากภูมิภาค และนั่นทำให้อิหร่านใจกล้ามากขึ้นที่จะแผ่ขยายอำนาจในตะวันออกกลางหลังจากบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2015 อันเป็นการกระตุ้นการขับเคี่ยวที่ยาวนานระหว่างชาวอาหรับและเปอร์เซียให้โหมขึ้นมา และเปิดให้เกิดการตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันและความร่วมมือระหว่างอาหรับกับอิสราเอล
อิสราเอลนั้นมองอิหร่านเป็นศัตรูที่สำคัญมานานแล้ว เพราะการสนับสนุนของอิหร่านที่มีต่อขบวนการฮามาส (ในปาเลสไตน์) และขบวนการฮิซบุลเลาะห์ (ในเลบานอน) เช่นเดียวกับโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของอิหร่านที่มีความก้าวหน้า
ขณะที่ซาอุดิอาระเบียร่วมกับหุ้นส่วนชาติอ่าวอาหรับก็ตกอยู่ในความตื่นตระหนก เมื่ออิหร่านรับเอาอานิสงส์จากการที่สหรัฐบุกอิรัก จนอิหร่านกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในแบกแดด อีกทั้งชาติอ่าวอาหรับก็หัวฟัดหัวเหวี่ยงกับความเชื่อมโยงที่รู้กันของอิหร่านต่อการลุกฮือในประเทศบาห์เรนและในจังหวัดทางภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งการสนับสนุนของอิหร่านต่อระบอบการปกครองของผู้นำซีเรีย “บาชาร์ อัลอัสซาด” และกลุ่มฮูซีในเยเมน
ในที่ประชุมมิวนิค นายเอวิกดอร์ ลีเบอร์แมน รมว.กลาโหมอิสราเอล ได้ยกข้อสังเกตเก่าของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ “นายเจมส์ แมททิส” ขึ้นมาอ้างโดยไม่เอ่ยชื่อ เขาพูดว่า “ในตะวันออกกลางเรากำลังเผชิญ 3 ความท้าทาย : อิหร่าน…อิหร่าน…และอิหร่าน … และผมไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เว้นแต่ต้องพูดซ้ำและยืนยันในเรื่องนี้” ลีเบอร์แมนย้ำว่า อิสราเอลจะยังคงพยายามที่จะขัดขวางการกลับคืนเข้าสู่ประชาคมระหว่างประเทศของอิหร่านอันเป็น ผลพวงจากข้อตกลงนิวเคลียร์
เช่นเดียวกับที่ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาราเบีย “นายอาเดล อัลจูเบร์” ที่ออกมาย้ำว่า ประเทศของเขาต่อต้านพฤติกรรมของอิหร่านที่มีในภูมิภาค “อิหร่านไม่เชื่อในหลักการของเพื่อนบ้านที่ดี หรือไม่แทรกแซงในกิจการของผู้อื่น” จูเบร์บอกในที่ประชุมมิวนิค “นี่คือประจักษ์พยานในการแทรกแซงของพวกเขา ทั้งในเลบานอน, ซีเรีย, อิรัก, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, เยเมน, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน”
ในขณะที่โอกาสผ่อนคลายความเกลียดชังหรือความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างอิหร่าน-ซาอุฯ ดู ริบหรี่ในปัจจุบัน แต่มันก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องจำไว้ว่า “อนาคตของปาเลสไตน์” ไม่เพียงเป็นเพียงปัญหาเดียวที่อิหร่านและชาติอาหรับ “เห็นพ้องกัน” เท่านั้น แต่ทุกคนในโลกมุสลิมก็เห็นเช่นเดียวกัน ขณะที่ข้อเสนอของสหรัฐ-อิสราเอลในการแก้ปัญหาปาเลสไตน์ไม่มีความชัดเจน และส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จ
ดังนั้น ถ้าหากสหรัฐอเมริกายังคงมุ่งเดินหน้าด้วยแผนการที่จะย้ายสถานทูตสหรัฐในอิสราเอลจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเล็ม หรือให้สิทธิโดยชอบธรรม (carte blanche) ในการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอลต่อไปในเวสต์แบงก์ โดยละทิ้งเป้าหมายการแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐ (two-state solution) ก็จะไม่มีการสนับสนุนจากคนในประเทศต่อการสร้างสายสัมพันธ์ของอาหรับกับอิสราเอล
ในการโต้ตอบข้อเสนอของสหรัฐ-อิสราเอล นายซารีฟได้ย้ำข้อเสนอของอิหร่านสำหรับการสร้างแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคเพื่อการเจรจาระหว่างอิหร่านและประเทศเพื่อนบ้านอ่าวเปอร์เซีย หรือที่เขาเรียกพวกเขาว่า “พี่น้อง”
“ประเทศในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียต้องฟันฝ่าสภาวะปัจจุบันของการแบ่งแยกและความตึงเครียด แล้วแทนที่ด้วยการขับเคลื่อนไปในทิศทางตามกระบวนการระดับภูมิภาคที่เป็นไปได้จริง” ซารีฟบอกในที่ประชุมมิวนิค การดำเนินการตามข้อเสนอนี้เขากล่าวว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยการประชุมเจรจาในระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมเพื่อนบ้านฝั่งทะเลอ่าวเปอร์เซีย และอยู่ภายใต้กรอบของหลักการและวัตถุประสงค์ร่วมกัน
เป้าหมายหลักของข้อเสนอของอิหร่าน คือการลดความตึงเครียดและเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
“การประชุมสามารถส่งเสริมความเข้าใจภายใต้คลื่นความถี่ของปัญหาที่ไม่ถูกจำกัด รวมทั้งความเชื่อมั่นและการสร้างมาตรการรักษาความมั่นคง และการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย กลุ่มหัวรุนแรง และการแบ่งแยกทางนิกาย” ซารีฟกล่าวและว่า “นอกจากนี้ยังอาจกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในทางปฏิบัติในพื้นที่ ตั้งแต่การปกป้องสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการร่วมลงทุนและการท่องเที่ยว การประชุมดังกล่าว ในที่สุดจะพัฒนาเป็นทางการมากขึ้น ไม่รุกรานกันและและการเตรียมการร่วมมือด้านความมั่นคง”
ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซารีฟผลักดันมันไม่นานหลังจากที่จบการเจรจานิวเคลียร์ เขาเขียนบทความลงในสื่ออาหรับอัลมอนิเตอร์ (Al-Monitor) หัวข้อ “เลือกเพื่อนบ้านของคุณก่อนบ้านของคุณ” (Choose your neighbors before your house) และเดินทางไปกาตาร์และคูเวตหลังจากนั้นไม่นาน
เมื่อเร็วๆ นี้ ในวันที่ 24 มกราคม รมว.ต่างประเทศของคูเวตได้พบปะกับประธานาธิบดีอิหร่าน “นายฮัสซัน โรฮานี” เพื่อที่จะส่งมอบสาส์นในนามของกลุ่มประเทศจีซีซี ในขณะที่รายละเอียดของตัวสาส์นไม่ได้ถูกเปิดเผยแก่สาธารณะ และตามมาด้วยการที่โรฮานีเดินทางเยือนโอมานและคูเวตในระดับรัฐ (state visits) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งช่างบังเอิญเป็นวันเดียวกับที่ทรัมป์และเนทันยาฮูเจรจากัน
โอมานและคูเวตซึ่งในอดีตมีความสัมพันธ์ที่มีปัญหาน้อยกว่ากับอิหร่านเมื่อเทียบกับสมาชิกกลุ่มประเทศอ่าวอื่นๆ ได้แสดงความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในการประชุมเจรจากับอิหร่าน และมีความพยายามหลายครั้งที่จะเป็นสื่อกลางเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย
ความขัดแย้งระหว่างคู่แข่งทางอำนาจไม่ควรสิ้นโอกาสทำความเข้าใจและสร้างกระบวนการพูดคุยในสิ่งที่เป็นกังวลร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่เข้าร่วมทั้งหมด ข้อเสนอของอิหร่านจะช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และในที่สุดความร่วมมือจะอำนวยความสะดวกให้สงครามกลาง เมืองในเยเมนและซีเรียยุติลง
ส่วนข้อเสนอของอิสราเอลอาจนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพที่กว้างขึ้นระหว่างชาติอาหรับและอิสราเอล แต่ก็แน่นอนที่สุดจะทำให้ความตึงเครียดกับอิหร่านรุนแรงขึ้น และเพิ่มโอกาสของความขัดแย้งทางทหารที่กว้างขึ้น
ยังไม่มีความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญระหว่างชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียกับอิสราเอลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น และเมื่อสันติภาพระหว่างอาหรับกับอิสราเอลแผ่ขยายขึ้น ไม่ต้องสงสัยว่าย่อมมีผลกระทบในเชิงบวกต่อภูมิภาคนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงปาเลสไตน์-อิสราเอล
ในขณะที่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างบางประเทศของจีซีซีกับอิหร่านในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่าได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภูมิภาคยิ่งกว่ากรณีการไม่มีสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
การเห็นพ้องที่จะนั่งโต๊ะเดียวกันกับอิหร่านเพื่อการเจรจาขึ้นอยู่กับมุมมองที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันและเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่ความสงบสุขที่สำคัญยิ่งในภูมิภาคและที่อื่นๆ มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียที่จะชั่งน้ำหนักผลตอบแทนและผลกระทบของข้อเสนอแต่ละฝ่าย ก่อนที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เขียนโดย Mehran Haghirian
ที่มา นิวส์วีค
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน atlanticcouncil.org
ขอบคุณ/ที่มา เดอะพับลิกโพสต์ ผู้แปลและเรียบเรียง