ลอนดอน – ด้วยฉายา “ต้นน้ำของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง” ที่ยูซัฟ บัตต์ ที่ปรึกษาอาวุโสของสภาข้อมูลความมั่นคงอเมริกันอังกฤษตั้งให้ ซาอุดิอารเบียพบว่าตัวเองอยู่ตรงใจกลางของข้อโต้แย้งมากมายในช่วงปีที่ผ่านมา
จากการจุดประกายและสนับสนุนอุดมการณ์วะฮาบีของไอซิซ ไปจนถึงการเติมเชื้อไฟแห่งการแบ่งแยกนิกายในตะวันออกกลางเพื่อตอกย้ำวาระแห่งรัฐซุนนีล้วนของตนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะผูกขาดตลาดน้ำมัน เห็นได้ชัดว่าราชอาณาจักรแห่งนี้ได้ประกาศวาระทางศาสนาอันยุ่งยากที่ลากกลับไปสู่ยุค 1930s เมื่อกลุ่มเชิดชูคนผิวขาว (white supremacists) คิดที่จะกวาดล้างการสืบทอดทางพันธุกรรมของพวกเขาเพื่อก่อเกิดมรดกทางชาติพันธุ์ที่ “ควรค่า” กว่า บริสุทธิ์กว่า
ถึงแม้ริยาดจะไม่ได้ออกมาตะโกนบอกจริงๆ ว่า มุสลิมชีอะฮ์ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอื่นๆ ควรจะหายไป แต่ฮาซัน ซุฟยานี นักวิเคราะห์การเมืองระดับแนวหน้าของสถาบันซานาอฺเพื่อการศึกษาภาษาอาหรับ แย้งว่าคนของซาอุดี้ฯ กำลังวางรากฐานเพื่อขบวนการกวาดล้างทางศาสนา
“ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในตะวันออกกลางไม่เคยตกอยู่ภายใต้การคุกคามที่เหิมเกริมขนาดนี้ ชาวคริสเตียนในอิรักและซีเรียถูกสังหารหมู่เป็นจำนวนมาก มุสลิมชีอะฮ์ถูกข่มแหงรังแก ความศรัทธาของพวกเขาถูกดูหมิ่นและถูกลงโทษโดยพวกหัวรุนแรงที่ได้รับเงินเดือนจากริยาด” ซุฟยานีบอกกับสำนักข่าว MintPress
เขากล่าวเสริมว่า “ที่แย่กว่านั้น ราชอาณาจักรแห่งนี้ยังได้สนับสนุนเงินทุนแก่การรณรงค์ทางการเมืองต่อต้านชีอะฮ์ระดับภูมิภาคควบคู่กันไป เพื่อลิดรอนสิทธิ์ของตัวแทนทางการเมืองและทางศาสนาของชีอะฮ์ ในขณะที่ประชาคมโลกก็มีความคุ้นชินกับการทำร้ายอย่างเปิดเผยเช่นนี้”
แต่ถ้าศาสนาถูกขับเคลื่อนมาอยู่แถวหน้าของการแบ่งแยกที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ สาเหตุสำคัญของความกราดเกรี้ยวของซาอุดี้ฯ ก็ยังคงผูกติดอยู่กับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ อันได้แก่ การควบคุมแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซ ศาสนาและความชอบธรรมทางศาสนาเป็นแต่เพียงฉากควันเพื่อปิดบังวาระของราชอาณาจักรนี้ และสร้างประเด็นปลุกระดมสำหรับโลกมุสลิมซุนนี
ชุมชนชีอะฮ์ค่อนข้างจะมีอยู่หนาแน่นในพื้นที่อุดมน้ำมัน แม้ว่านี่จะเป็นไปโดยไม่เจตนาก็ตาม Times of India ได้รายงานในบทวิเคราะห์บทหนึ่งเมื่อปี 2006 เกี่ยวกับความขัดแย้งจากการแบ่งแยกทางนิกายในอิรักไว้ดังนี้ “บ่อน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศหลายแห่งอยู่ในภาคใต้ของชิอะฮ์ และที่เหลืออยู่ในดินแดนชาวเคิร์ดทางเหนือ ไม่มีน้ำมันอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมของซุนนีตรงกลางของประเทศเลย”
จอห์น วายแมน นักวิจัยด้านขบวนการหัวรุนแรงของสถาบันซานาอฺ กล่าวว่า ขณะที่การอุปถัมภ์และความกดดันทางการเมืองได้บดบังวาระในการกวาดล้างทางศาสนาของริยาดจากสายตาของสื่อไป แต่หลักฐานการมีอยู่ของมันก็มากล้นจนเกินกว่าจะเมินเฉยได้ เขาอธิบายว่า
“ถึงแม้ว่าริยาดจะปกปิดแนวทางของตนด้วยการใช้นโยบายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศในตะวันออกกลาง แต่สาระสำคัญพื้นฐานก็ยังคงเป็นไปเพื่อให้แนวคิดแบบวะฮาบีเป็นรูปแบบทางศาสนาที่ถือปฏิบัติได้เพียงรูปแบบเดียว เหตุการณ์เมื่อปี 2011 ได้ผลักดันความเป็นวะฮาบีของภูมิภาคนี้จากการแอบแฝงมาสู่ความรุนแรงอย่างเปิดเผย”
ที่จริง เงาแห่งลางร้ายของริยาดได้ตั้งตระหง่านเหนือความน่าสะพรึงกลัวของภูมิภาค ตั้งแต่การแบ่งแยกทางนิกายในเลบานอนไปจนถึงการถอนสัญชาติต่อชาวชีอะฮ์ในบาห์เรน และจากการประหัตประหารชาวชีอะฮ์และชาวคริสเตียนในอิรักไปจนถึงการมุ่งโจมตีเป้าหมายที่เป็นชุมชนชาวซัยดีในเยเมน ตำแหน่งของริยาดในความโหดร้ายป่าเถื่อนเหล่านี้คือความเป็นจริงที่หลายคนเลือกที่จะเมินเฉยหรือไม่ก็ตามืดบอดจนเกินกว่าจะมองเห็น
เพื่อรักษาความเป็นจ้าวแห่งภูมิภาค และได้นั่งร่วมโต๊ะของกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ (Big Oil) ราชอาณาจักรแห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีอะไรที่มันจะไม่ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันหมายถึงการขัดขวางการเกิดขึ้นของขบวนการจลาจลที่นำโดยชีอะฮ์และด้วยการจูงใจของอิหร่านทั่วทั้งคาบสมุทรอาหรับและดินแดนของชีอะฮ์ ที่ซึ่งบ่อน้ำมันส่วนใหญ่ในแถบอ่าวตั้งอยู่ เพื่อควบคุมน้ำมัน ซาอุดิอารเบียปลุกปั่นสร้างเรื่องระหว่างซุนนีชีอะฮ์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน
มรดกอันตราย หลักคำสอนที่มีพื้นฐานอยู่บนการแบ่งแยกนิกาย
ระบอบเทวาธิปไตยเบ็ดเสร็จที่มีพื้นฐานอยู่บนการตีความศาสนาอิสลามแบบสุดโต่งและย้อนแย้ง คือระบอบวะฮาบีของซาอุดิอารเบียที่ได้เป็นหัวหอกในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ทางศาสนาอย่างกว้างขวางในตะวันออกกลางมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ด้วยหวังที่จะประกาศการเรียกร้องของผู้ก่อตั้งเพื่อการกวาดล้างทางศาสนาครั้งใหญ่ในโลกอิสลาม
จักรวรรดิ์อังกฤษ และต่อมาสหรัฐฯ ด้วย มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบอบการปกครองแบบสุดโต่งนี้ มันถูกใช้ประโยชน์โดยกษัตริย์เพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู้กับทั้งอาณาจักรออตโตมานและอาณาจักรเปอร์เซีย ลัทธิวะฮาบีถูกใช้เป็นอาวุธในการทำลายเสถียรภาพมวลชนและสร้างความแตกร้าวทางสังคมการเมือง
“พวกโลกานิยมได้ช่วยกันสร้างและสนับสนุนการเงินแก่องค์กรก่อการร้ายทั้งหมดแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ รวมทั้งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ฮามาสในปาเลสไตน์ และมุญาฮิดีนอัฟกัน แต่ประวัติศาสตร์การตีสองหน้านี้ยังย้อนกลับไปได้ไกลจนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อองค์กรฟรีเมสัน (Freemasons) ของอังกฤษได้สร้างลัทธิวะฮาบีแห่งซาอุดิอารเบียขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อส่งเสริมวัตถุประสงค์ในการแผ่อำนาจของตนเอง” เดวิด ลิวิงสโตน นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวแคนาดา ได้เขียนในปี 2006 โดยอ้างอิงถึงบทความปี 2002 ของปีเตอร์ กู้ดเกม
สาระสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบนี้ของซาอุดี้ฯ เกี่ยวพันโดยตรงกับมุฮัมมัด อิบนฺ อับดุลวะฮาบ ผู้ก่อตั้งลัทธิวะฮาบี และวิธีที่ความเคร่งครัดอย่างสุดโต่งของเขาถูกนำมาใช้โดยอิบนฺ ซาอูด ผู้สถาปนาราชวงศ์ซาอูด เพื่อบังคับรวบรวมดินแดนฮิญาซ (ชื่อเดิมของซาอุดิอารเบีย) ขณะที่ฝ่ายหลังในเวลานั้นนั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าผู้นำชนกลุ่มน้อยคนหนึ่งในบรรดาชาวเผ่าเบดูอินที่รบราปล้นชิงกันไม่หยุดหย่อนในทะเลทรายแห่งนัจญด์ที่ร้อนระอุและยากจนเหลือแสน การยึดมั่นต่อลัทธิวะฮาบีของราชวงศ์ซาอูดได้ก่อให้เกิดอาณาจักรวะฮาบีหัวรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง
ไม่กี่ชั่วอายุคนต่อมา ลัทธิวะฮาบีได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลทางศาสนาที่ฝังรากอยู่ในขุมน้ำมันอันยิ่งใหญ่ของอัลซาอูด ที่ยังไม่อาจมองข้ามได้เพราะได้รับการหนุนหลังโดยมหาอำนาจตะวันตก
ลิวิงสโตนได้เขียนต่อไปว่า
“ในที่สุด การสนับสนุนเงินปิโตรดอลลาร์อย่างฟุ่มเฟือยของ Rothschild ที่ให้แก่ราชวงศ์ซาอุดี้ฯ นั้น ได้ทำให้มันสามารถเผยแพร่ศาสนาอิสลามฉบับนอกคอกออกไปยังส่วนอื่นๆ ของโลกได้ ที่น่าสังเกตที่สุดคือในอเมริกา ที่พวกเขาได้ให้เงินอุดหนุนแก่มัสยิด 80% ในประเทศ เป็นศาสนาอิสลามในแบบที่ให้ความตระหนักรู้ทางการเมืองถูกแทนที่ด้วยความดึงดันไร้เหตุผลกับความคลั่งไคล้ทางพิธีกรรม”
ดร.จอห์น แอนดริว มอร์โรว์ ผู้อำนวยการ Covenants Initiative ได้อธิบายว่า ทฤษฎีหนึ่งของหลักคำสอนแบบวะฮาบีได้กระตุ้นให้เกิดแนวคิดตักฟีรีขึ้น ซึ่งเป็นการฆ่าทุกคนที่เห็นว่าอยู่ในสถานะละทิ้งศาสนาได้อย่างถูกกฎหมาย
“อับดุลวะฮาบประณามมุสลิมทุกคนที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการตีความคัมภีร์อิสลามแบบถือสันโดษและลดทอนของตน โดยให้เหตุผลว่า ความตายของพวกเขาไม่เพียงแต่เป็นที่อนุญาตเท่านั้น แต่ยังน่าปรารถนาเสียด้วยซ้ำ เพื่อที่อิสลามจะได้สะอาดบริสุทธิ์” มอร์โรว์บอกกับ MintPress
ผู้ก่อตั้งลัทธิวะฮาบีถือว่า ไม่มีมุสลิม “ที่แท้จริง” คนใดควรจะให้เกียรติแก่คนตาย นักบุญ หรือเทวทูต เขาให้เหตุผลว่า ความรู้สึกเช่นนั้นทำให้เสียความเคารพเชื่อฟังที่มุสลิมต้องรู้สึกต่อพระเจ้า และพระเจ้าเท่านั้น
ใครที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกฆ่า ภรรยาและลูกสาวของเขาจะถูกล่วงละเมิด และทรัพย์สินของเขาจะถูกริบ อับดุลวะฮาบแนะนำเอาไว้ เป็นการห่อหุ้มวาระอันน่ากลัวของไอซิซที่มีต่อชุมชนทางศาสนาทั้งหมดในตะวันออกกลางไว้ด้วยการตวัดปลายปากกาครั้งเดียว
บัญชีรายชื่อของผู้ละทิ้งศาสนาที่ควรได้รับความตายประกอบไปด้วย ชีอะฮ์, ซูฟี และมุสลิมนิกายอื่นๆ ซึ่งอับดุลวะฮาบได้ตราหน้าว่าไม่ได้เป็นมุสลิมโดยเนื้อแท้ และด้วยเหตุนี้จึงสมควรถูกลงโทษ
คำพูดและคำสอนของเขาได้กระตุ้นให้นักรบทั้งหลายได้ลาดเส้นทางแห่งเลือดและความทุกข์ยากเข้าไปในตะวันออกกลางมาหลายศตวรรษแล้ว อุษมาน อิบนฺ บิชร์ นัจญ์ดี นักประวัติศาสตร์แห่งรัฐซาอุดี้ฯ สมัยแรก ได้บันทึกเกี่ยวกับวิธีการที่อิบนฺ ซาอูด ต้นตระกูลของราชวงศ์ซาอูด ได้กระทำการสังหารหมู่ในกัรบาลา ปี 1801 เขาเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า “เรายึดกัรบาลา และเข่นฆ่า และจับตัวประชาชน (มาเป็นทาส) และแล้ว การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และเราไม่ขอโทษสำหรับสิ่งนั้น และกล่าวว่า : และแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น คือการลงโทษเช่นเดียวกัน”
ในหนังสือเมื่อปี 2001 ของโจชัว ไทเทลบอม เรื่อง “ Rise and Fall of the Hashimite Kingdom of Arabia” เขาได้เล่าถึงเหตุการณ์ในปี 1803 ที่อิบนฺ ซาอูด ได้เข้าจู่โจมเมืองมะดีนะฮ์อันศักดิ์สิทธิ์ก่อนที่จะเข้าสู่มักกะฮ์ในฐานะผู้พิชิต เขาได้เล่ารายละเอียดว่าเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของอิสลามได้ยอมแพ้ต่อผลกระทบของความหวาดกลัวและความเสียขวัญอย่างไร และวะฮาบีได้ทำลายอนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งสุสาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพอย่างไรบ้างในทั้งสองคราวนั้น โดยได้สร้างความเสียหายให้กับมรดกทางศาสนาของอาหรับด้วยความคลั่งศาสนา
ปัจจุบัน ไอซิซกำลังดำเนินการบุกจู่โจมทำลายล้างและเข่นฆ่าในแบบเดียวกัน เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ไอซิซได้เผยแพร่ภาพทางสื่อสังคมที่อ้างว่าเพื่อเป็นหลักฐานการทำลายวิหารพัลไมรา (Palmyra) โบราณสถานแห่งหนึ่งของซีเรีย
The Guardian ได้รายงานว่า ภาพถ่ายเหล่านั้น “แสดงให้เห็นว่าวิหารนั้นถูกทำลายจนเป็นกองหิน” หนึ่งในข้อความบรรยายภาพโดยไอซิซมีใจความว่า “การทำลายวิหารนอกรีตบาลชามิน (Baal Shamin) จนสิ้นซาก”
นิตยสารไทม์ ได้เผยแพร่บทความหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แสดงความกังวลว่า ไอซิซได้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในอิรัก โดยเน้นไปถึงเรื่องวาระทางศาสนาของกลุ่มก่อการร้ายนี้ และหลักการพื้นฐานของลัทธิวะฮาบี
วาระแห่งการปรับปรุงพันธุ์มนุษย์ (eugenics agenda)
วิลเลียม สเปนเซอร์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน บอกกับนักข่าวเมื่อต้นปีนี้ว่า “ในขณะที่ปฏิบัติการทางทหารต่อไอซิซครองพื้นที่พาดหัวข่าว แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะนำผู้กระทำผิดที่ก่ออาชญากรรมต่อชนกลุ่มน้อยมาสู่กระบวนการยุติธรรม”
เขากล่าวเสริมว่า “ชนกลุ่มน้อยเป็นเป้าหมายแรกของการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงก่อนหน้าการมาถึงของไอซิซ ตอนนี้พวกเขาเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ต่อการดำรงอยู่ของพวกเขาจากการโจมตีของไอซิซ”
ชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นยังคงเป็นกลุ่มเดิมๆ อยู่เรื่อยไป อันได้แก่ ชาวยาซิดี, คริสเตียน, มุสลิมอาลาวียะห์, มุสลิมชีอะฮ์, มุสลิมซูฟี และแม้แต่มุสลิมซุนนี ก็ถูกจับเพราะปฏิเสธลัทธิวะฮาบี
วาระแห่งการกวาดล้างทางศาสนาของไอซิซถ้าไม่ถูกนำมาเผชิญหน้าโดยตรงก็ถูกเก็บบันทึกไว้เป็นอย่างดี “ไอซิซควรจะหยุดปฏิบัติการอันโหดร้ายที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยทั้งในและรอบเมืองโมซุลทันที” ซาร่าห์ ลีอาห์ วิตสัน ผู้อำนวยการตะวันออกกลางของ Human Rights Watch กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม “การเป็นชาวเติร์ก, ชาบัค, ยาซิดี หรือคริสเตียนในอาณาเขตของไอซิซ อาจทำให้คุณต้องเสียการดำรงชีวิต, เสรีภาพ หรือแม้แต่ชีวิตของคุณได้”
ด้วยความไม่พอใจกับความไม่แยแสของผู้นำโลกก่อนที่จะเกิดภัยคุกคามจากลัทธิเทวะฟาสซิสต์ (theo-fascism) และการกวาดล้างทางศาสนาที่นำโดยวะฮาบี ดร.จอห์น มอร์โรว์เตือนว่า ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ ในเร็วๆ นี้ โลกจะต้องประสบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสท์ (Holocaust) อีกครั้งหนึ่งด้วยน้ำมือของนาซีเยอรมนีอีกรูปแบบหนึ่ง
“โลกร่ำร้องเมื่อพระพุทธรูปแห่งบามิยันถูกทำลาย โลกร่ำร้องเมื่อวัดและโบสถ์ในซีเรียและอิรักถูกทำลาย โลกร่ำร้องเมื่อสถานที่อันเป็นมรดกโลกทั่วดินแดนลิแวนท์ถูกทำลาย” มอร์โรว์บอกกับ MintPress “อย่างไรก็ตาม โลกกลับนิ่งเงียบ อยู่ในความมึนงงด้วยความไม่แยแสและเสแสร้ง เมื่อพวกนัจญ์ดีวะฮาบีดำเนินการตามวาระแห่งการแบ่งแยกนิกายและชาติพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาทั่วภูมิภาคนี้อย่างเปิดเผย”
เขาเสริมว่า “ไอซิซ และซาอุดิอารเบียโดยผ่านทางไอซิซ ได้ประกาศสงครามกับพหุนิยมทางศาสนา เพื่อบังคับใช้หลักคำสอนและการตีความศาสนาอิสลามอย่างคับแคบของตนในตะวันออกกลาง อาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่แท้จริงที่นี่กำลังถูกทุกคนทำเป็นหูหนวกตาบอดกับมัน”
เอ็ดวิน แบล๊ก ผู้เขียนเรื่อง “War Against the Weak : Eugenics and America’s Campaign to Create a Master Race” ได้ให้นิยามคำว่า การปรับปรุงพันธุ์มนุษย์ (eugenics) ว่าเป็น วิทยาศาสตร์ลวงโลกทางชาติพันธุ์ที่มุ่งมั่นจะกวาดล้างมนุษย์ทั้งหมดที่เห็นว่า “ไม่เหมาะ” และอนุรักษ์ไว้เฉพาะบรรดาผู้ที่เชื่อฟังปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้อาณาจักรที่สาม (Third Reich) ทัศนคติแบบเหมารวมของกลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic) ได้ครอบงำการบอกเล่าเรื่องราว
แบล๊ก เขียนว่า :
“การปรับปรุงพันธุ์มนุษย์ คงจะเป็นเรื่องพูดเล่นที่แปลกประหลาดอย่างมากถ้ามันไม่ใช่เรื่องที่ทำเพื่อการจัดหาเงินทุนอย่างครอบคลุมโดยองค์กรผู้ใจบุญทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันคาร์เนกี, มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และบริษัทรถไฟแฮร์รี่แมน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพรรคพวกกันกับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนับถือมากที่สุดบางคนของอเมริกาที่มาจากมหาวิทยาลัยที่มีเกียรติอย่างเช่น สแตนฟอร์ด, เยล, ฮาร์วาร์ด และพรินซ์ตัน นักการศึกษาเหล่านี้สนับสนุนทฤษฎีเชื้อชาตินิยม (race theory) และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเชื้อชาติ (race science) และจึงได้อุปโลกน์และดัดแปลงข้อมูลขึ้นมาเพื่อเป้าหมายที่เหยียดเชื้อชาติของการปรับปรุงพันธุ์มนุษย์”
และแม้ว่าลัทธิวะฮาบีจะไม่ได้ทะเยอทะยานอยากสร้าง “เชื้อชาติที่บริสุทธิ์” ขึ้นมาใหม่ แต่ถึงอย่างไรมันก็พยายามที่จะยืนยัน “ศาสนาที่บริสุทธิ์” ซึ่งเป็นการตีความศาสนาอิสลามอย่างสุดโต่งและเคร่งจัด
ตามที่แบล๊กกล่าวไว้ ถ้าเงินและอำนาจในศตวรรษที่ 20 เห็นสมควรที่จะยกระดับการปรับปรุงพันธุ์มนุษย์จากที่เป็นแนวความคิดหนึ่งให้มาเป็นหลักปรัชญาและขบวนการแล้ว มันเป็นเรื่องยากมากไหมที่จะจินตนาการถึงลัทธิฟาสซิสต์ที่ถูกปรับมาเป็นการแสดงออกซึ่งความเกลียดชังแบบใหม่?
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งแนวคิดการปรับปรุงพันธุ์มนุษย์และแนวคิดวะฮาบีต่างก็ปฏิบัติตามปรัชญาการกวาดล้างของพวกที่ภูมิใจในความเป็นเลิศของตนเองเหมือนกัน แนวคิดแรกนั้นมีพื้นฐานอยู่บนการเชิดชูเชื้อชาติ ส่วนแนวคิดหลังเชิดชูการแบ่งแยกลัทธิความเชื่อ
แต่ในขณะที่วาระของไอซิซคือการหลั่งเลือดอย่างปฏิเสธไม่ได้และการแบ่งแยกนิกายอย่างเปิดเผย แล้วส่วนที่เหลือของภูมินี้ภาคนี้เล่าเป็นอย่างไร? “แผน” ของซาอุดิอารเบียได้แสดงออกมาอย่างไรบ้างแล้วที่นั่น?
ร่องรอยแห่งการปรับปรุงพันธุ์มนุษย์ของซาอุดิอารเบีย
เดือนที่แล้ว สภากาชาดร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามการทำสงครามในเยเมนของซาอุดิอารเบีย โดยกล่าวถึงความน่ากลัวที่ราชอาณาจักรแห่งนี้น่าจะอยากเก็บให้ห่างไกลจากสื่อมากกว่า
ปีเตอร์ มอเรอร์ หัวหน้าสภากาชาติสากลบอกับนักข่าวว่าเขาไม่ค่อยได้พบเห็นการทำลายล้างในระดับนี้นัก ในการให้สัมภาษณ์กับ Associated Press มอเรอร์กล่าวว่า “ภาพที่ผมได้จากซานาอฺและเอเดน ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ได้พบเห็นในซีเรีย … ดังนั้น เยเมนหลังจากผ่านไปห้าเดือน ดูเหมือนกับซีเรียหลังจากผ่านไปห้าปี”
เขายังได้กล่าวอีกด้วยว่า “อำนาจกระสุนที่เกิดจากการสู้รบบนพื้นดินและในอากาศของสงครามครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายมากกว่าสังคมอื่นๆ ที่เข้มแข็งกว่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า ประชาชนมีความร่ำรวยกว่า มีทุนสำรอง และสามารถหนีรอดได้”
ในขณะที่การทำลายล้างเยเมนเป็นความรุนแรงอย่างมีระบบ เห็นได้ชัดว่าการเสียชีวิตของพลเรือนถูกคิดไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือของเยเมน ที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ปฏิบัติตามอิสลามสายซัยดียะฮ์ สาขาหนึ่งของชีอะฮ์
จากการนับอย่างเป็นทางการขององค์กร UNICEF ของวันที่ 15 กรกฎาคม “ประชาชนเกือบ 2,800 คนเสียชีวิต และเกือบ 13,000 คนได้รับบาดเจ็บ (เป็นเด็กเสียชีวิต 279 คน และบาดเจ็บ 402 คน ตามลำดับ) และประชาชนประมาณ 1 ล้านคนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ (เพิ่มขึ้น 122 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่วิกฤติการณ์นี้ได้เริ่มต้นขึ้น) และประมาณ 400,000 คน ได้ขอความคุ้มครองในประเทศเพื่อนบ้าน”
ด้วยความสะเทือนใจจากรูปแบบการฆ่าของราชอาณาจักรนี้ ราวิน่า ชัมดาซานี โฆษกของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้บอกกับนักข่าวในเจนีวาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมว่า “เราขอย้ำว่า ทุกเหตุการณ์ต้องสงสัยว่าละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมในช่วงการต่อสู้นี้ควรจะได้รับการสอบสวน และการมุ่งเป้าโดยเจตนาไปยังพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสงครามนี้ควรต้องหยุดในทันที”
ในขณะที่ยอดการเสียชีวิตในเยเมนก็น่ากลัวในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้พูดถึงเจตนาเบื้องหลังอาชญากรรมสงคราม และแม้ว่าเจ้าหน้าที่ซาอุดี้ฯ ไม่น่าจะ “ยอมรับความจริง” เกี่ยวกับแรงจูงใจทางการแบ่งแยกนิกายของพวกเขา แต่ทูตซาอุดิอารเบียประจำสหรัฐฯ นายอาเดล อัล-จูบีร ได้เปิดเผยถึงลักษณะที่น่าสนใจของการทำสงครามในเยเมนของราชอาณาจักรนี้เมื่อเขาได้ประกาศในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายนว่า “ปฏิบัติการนี้กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในเยเมน และมันยังไม่จบ สำหรับเราแล้วความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือก เราจะทำลายล้างพวกเฮาซีถ้าพวกเขายังไม่เข้าใจเหตุผล”
อัล-จูบีรยังกล่าวต่อไปอีกว่า
“เราจะไม่มอง(สงคราม) ครั้งนี้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างซุนนีกับชีอะฮ์ เรามองว่ามันเป็นกลุ่มนักรบติดอาวุธที่มีหัวรุนแรง ที่ปฏิบัติการทางทหารภายนอกรัฐบาลที่ชอบธรรม ที่ขณะนี้ครอบครองขีปณาวุธและกองทัพอากาศที่เป็นภัยคุกคามต่อเยเมน ต่อประชาชนของเยเมน ต่อราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย และต่อภูมิภาคนี้ นี่คือสิ่งที่เราไม่สามารถทนรับได้”
ถึงแม้ทูตผู้นี้จะยืนยันว่ามันไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างนิกาย แต่การระดมโจมตีภาคเหนือของเยเมนแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
ขณะเดียวกัน บาห์เรน ลัทธิวะฮาบีกำลังปฏิบัติการภายใต้ฉากกำบังใหม่ นั่นก็คือ การถอนสัญชาติ
ซาอีด อัล-ชีฮาบี หมอและนักเคลื่อนไหวชาวบาห์เรนที่ถูกทำให้กลายเป็นคนไร้รัฐเมื่อปี 2012 ได้อธิบายในการแสดงความคิดเห็นต่อสำนักข่าว Foreign Policy เมื่อเดือนที่แล้วว่า
“ฝ่ายปกครอง(ราชวงศ์อัล-คอลิฟา) กำลังหมดทางเลือก มันได้ทรมานประชาชน ทำให้อดตายไปหลายพันคน ฆ่าประชาชนหลายร้อยคนอย่างเปิดเผยบนท้องถนน แต่ชาวบาห์เรนก็ยังคงยืนหยัดที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงให้ได้… การเพิกถอนสถานะพลเมืองเป็นเพียงเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่จำให้ประชาชนหวาดกลัวและขัดขวางไม่ให้พวกเขาร้องขอสิทธิของพวกเขา”
ถึงแม้เรื่องนี้จะถูกบันทึกเป็นเอกสารยาวเหยียดโดยกลุ่มสิทธิ์ต่างๆ อย่างเช่น องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนบาห์เรน-ยุโรป แต่บาห์เรนก็ยังไม่พบกับความกดดันทางการเมืองจากตะวันตก
นาตาชา โบว์เลอร์ เขียนในรายงานข่าวให้แก่ Foreign Policy ดังนี้
“ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกทำให้เป็นคนไร้รัฐในบาห์เรนมาจากชนกลุ่มใหญ่ที่เป็นชีอะฮ์ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มนี้มักจะทำการประท้วงต่อการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบด้วยน้ำมือของรัฐบาล ถึงแม้จะมีขนาดสองในสามของประชากร แต่ชาวชีอะฮ์แทบจะไม่มีตำแหน่งงานในกองทัพ, รัฐบาล, กระบวนการยุติธรรม หรือตำแหน่งสูงอื่นๆ เพราะฝ่ายปกครองที่เป็นซุนนีหวาดกลัวว่าวันหนึ่งชีอะฮ์จะโค่นล้มตน มันจึงหาวิธีที่จะปราบปรามพวกเขาอย่างต่อเนื่อง”
การต่อต้านชีวิต ต่อต้านพหุนิยมทางศาสนาทั่วทั้งตะวันออกกลางของริยาดได้ชี้นำเรื่องราวอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้ชุมชนต่างๆ เข้าต่อสู้กัน สร้างความชอบธรรมให้กับการละเมิดที่ชั่วร้ายและนโยบายแบ่งแยกนิกาย
ในหนังสือเมื่อปี 2013 ของโทบี แมทธีเซ่น เรื่อง “Sectarian Gulf” เขาได้เตือนว่า ขณะที่ “ภัยคุกคามจากชีอะฮ์” กลายเป็นการตอบสนองต่อคำเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปตามระบอบประชาธิปไตยและความรับผิดชอบต่อคาบสมุทรอาหรับ และต่อตะวันออกกลางที่กว้างใหญ่ ยุทธศาสตร์นี้มีความเสี่ยงที่จะฉีกเส้นใยทางสังคมของภูมิภาคนี้ และจะทำให้เกิดความสะดวกแก่ “การเกิดเครือข่ายมุสลิมหัวรุนแรงข้ามชาติ”
ร้ายไปกว่านั้น ถ้าปล่อยให้ไม่มีการตรวจสอบ ขบวนการกวาดล้างทางศาสนาของซาอุดิอารเบียอาจจะนำไปสู่การสร้างให้เป็นสถาบันเกี่ยวกับการแบ่งแยกนิกายในระดับโลกได้ มันยังอาจจะถูกตีความไปว่าเป็นการอนุมัติให้ไอซิซก่ออาชญากรรมต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาไปโดยปริยาย
ซาอุดิอารเบียกำลังให้การอุปถัมภ์นโยบายกวาดล้างทางศาสนาในวงกว้างที่น่ากลัว ภายใต้ข้ออ้างจอมปลอมว่าเป็นการต่อต้านการเติบโตขึ้นของอิหร่าน ซึ่งเป็นอู่ของมุสลิมชีอะฮ์ ในขณะที่ความจริงมันกำลังดำเนินการเพื่อสถาปนาอาณาจักรหนึ่งให้แก่ภาพลักษณ์ที่ไร้เหตุผลของมัน
Source : http://www.mintpressnews.com/
โดย แคเธอรีน ชัคดัม
แปล กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์