(ภาพ) ประธานาธิบดีอาเบด รอบบู มันซูร ฮาดี(ซ้าย) เดินพร้อมกับรัฐมนตรีกลาโหมซาอุดี้ฯ มุฮัมเมด บิน ซัลมาน ขณะที่เขาเดินทางมาถึงกรุงริยาด ซาอุดิอารเบีย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2015
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม กษัตริย์ซัลมานตัดสินใจที่จะให้กำลังทหารของซาอุดี้ฯ เข้าไปจัดการกับกลุ่มเฮาซีของเยเมน หลังจากที่กลุ่มเฮาซีรุกเข้าสู่เอเดน เมืองหลวงของอดีตเยเมนใต้ ที่อดีตประธานาธิบดีอาเบด รอบบู มันซูร ฮาดี ได้ลี้ภัยอยู่หลังจากหลบหนีจากการกักบริเวณภายในบ้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
การเข้าแทรกแซงในเยเมนของซาอุดี้ฯ ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอาหรับโดยกว้างขวาง เช่นกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต อียิปต์ ซูดาน บาห์เรน โมรอกโก จอร์แดน และอียิปต์ รวมทั้งปากีสถาน และมหาอำนาจต่างชาติที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป้าหมายที่กำหนดคือเพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคขึ้นมาใหม่ และระบุถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่กลุ่มเฮาซีเป็นตัวแทนนำมา
ซัลมานได้ประกาศท่าทีของเขาอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ตามที่รายงานโดย ดิ อินดิเพนเดนท์ ว่า “พันธมิตรที่นำโดยซาอุดิอารเบียมีความตั้งใจที่จะดำเนินการทางทหารกับกลุ่มกบฏเฮาซีในเยเมนเป็นเวลานานเท่าที่จำเป็นเพื่อเอาชนะกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านกลุ่มนี้ ที่ได้บีบให้ประธานาธิบดีของประเทศต้องหนีไป”
เอกอัครราชทูตซาอุดี้ฯ ประจำสหรัฐฯ อาเดล อัล-จูบีรฺ ได้กล่าวในการแถลงข่าวโดยยืนยันว่า ซาอุดิอารเบีย พร้อมกับอีกสิบประเทศ ได้เปิดปฏิบัติการทางทหารในเยเมนเพื่อต่อสู้กับกลุ่มเฮาซี ฝ่ายชนเผ่ากบฏที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การนำของอับดุล-มาลิก อัล-เฮาซี
“พร้อมกันนั้น ทูตอัล-จูบีรฺ ได้เตือนแล้วว่า การโจมตีทางอากาศที่กำลังดำเนินอยู่จะมีการใช้อุปกรณ์ในทางทหารอื่นๆ ด้วย เพื่อเปิดทางไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะรุกทางภาคพื้นดิน” อาลี อัล-อามัด บุคคลสำคัญของอันซอรุลลอฮ์ ปีกทางการเมืองของกลุ่มเฮาซี กล่าว
“ซาอุดิอารเบียทำตามใจตัวเองในการประกาศสงครามกับเยเมน โดยอ้างถึงเสถียรภาพของชาติ อ้างว่าต้องการจะคืนตำแหน่งประธานาธิบดีที่ชอบธรรมของเยเมนให้แก่ฮาดี เพื่อปกป้องการเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตยของเยเมน ในขณะที่จริงๆ แล้วซาอุต้องการเพียงแค่รักษาความทะเยอทะยานในการแผ่อิทธิพลของตนเหนือคาบสมุทรอาหรับเท่านั้น” เขากล่าวเสริม
เชคมับคูต นาห์ชาล ผู้นำเผ่าคนหนึ่งจากจังหวัดฮัจญะห์ทางภาคเหนือของเยเมน ผู้ที่ได้เห็นประเทศของเขาซวนเซอยู่บนขอบสงครามกลางเมืองมาหลายต่อหลายครั้งในระยะเวลาสี่ปีนี้ ได้บอกกับมินท์เพรสส์ว่า “สงครามที่ริยาดกำลังทำกับเฮาซี และกับเยเมน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับฮาดี ประชาธิปไตย หรือเสถียรภาพแห่งชาติของเยเมนเลย มันเกี่ยวกับน้ำมัน และการแทรกแซงทางภูมิศาสตร์การเมือง”
“ตระกูลอัล-ซาอูดมองว่าเยเมนเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นประมุขของพวกเขาเสมอ ทั้งในทางการทหารและทางภูมิยุทธศาสตร์ อิบนฺ ซาอูด บอกกับลูกชายของเขาว่า การที่อัล-ซาอูดจะอยู่รอดในภูมิภาคนี้ได้นั้น เยเมนจะต้องถูกทำให้เชื่อง” นาห์ชาลกล่าว “สงครามครั้งนี้เป็นการกอบกู้อำนาจเหนือเมืองขึ้นของซาอุดี้ฯ สงครามครั้งนี้เป็นการเก็บเสรีภาพของเยเมนไว้ในห้องขัง”
“เรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่พูดคุยกันอยู่นี้ เกี่ยวกับการแบ่งแยกนิกายและประชาธิปไตย ความชอบธรรมและเสถียรภาพแห่งชาติ ล้วนเป็นเรื่องโกหกแจ่มแจ้งที่ถูกโยนออกมาสู่สาธารณะเพื่อปิดซ่อนความจริงเอาไว้”
ที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเหมือนที่มันดูเหมือนจะเป็นจริงๆ ในเยเมน ประเทศนี้เป็นเขาวงกตที่ซับซ้อนของผลประโยชน์ทางการเมืองที่ผสมปนเปกันอยู่ ทั้งความทะเยอทะยานแบ่งแยกนิกาย และความเป็นจริงทางภูมิยุทธศาสตร์ ที่ซึ่งมหาอำนาจของโลกกำลังเข้ามาเกี่ยวข้องในการต่อสู้อันหนักหน่วงเพื่อคุมอำนาจเหนือช่องทางเข้าถึงน้ำมันและทรัพยากร
“สมรภูมิใหม่ของเกมที่ยิ่งใหญ่ที่มหาอำนาจของโลกไม่เคยหยุด(เล่น) เยเมนได้กลายเป็นเนวรบใหม่ของภูมิภาคนี้ สิ่งที่เราเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นอยู่ในเยเมนก็คือการแย่งชิงน้ำมันครั้งใหม่ เป็นการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเพื่อควบคุมเส้นทางน้ำมันของโลกที่บาบุล-มันดับ ข้อเท็จจริงที่ว่าชนชาติหนึ่งที่พบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางความทะเยอทะยานเช่นนั้นไม่ได้มีความสำคัญใดๆ เลยต่ออัล-ซาอูด” อาห์เมด มุฮัมมัด นัสเซอร์ อาห์เมด นักวิเคราะห์การเมืองชาวเยเมนและอดีตสมาชิกกลุ่มทำงานของสภาสานเสวนาแห่งชาติ (National Dialogue Conference – NDC) บอกกับมินท์เพรสส์
NDC เป็นกระบวนการสนทนาเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่จัดตั้งขึ้นในซานาอฺ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2013 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2014 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่สภาความร่วมมืออ่าวเป็นผู้ดำเนินการในปี 2011 มันได้สร้างพื้นที่สำหรับคณะผู้แทนทุกฝ่ายของเยเมนเพื่อทำการเจรจา และจัดการการเปลี่ยนผ่านอำนาจ และกำหนดสมัยในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของเยเมน
ขณะที่เยเมนหยุดชะงักภายใต้การระดมทิ้งระเบิดนั้น มุฮัมมัด อับดุล-ซาลาม โฆษกอาวุโสของเฮาซี ได้เปิดเผยกับมินท์เพรสส์ถึงสิ่งที่เขาเชื่อว่า สงครามนี้จะเป็นตัวกำหนดภูมิภาคนี้ไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า
แต่ทว่า เพื่อทำความเข้าใจว่า เยเมนตกเป็นเป้าการรุกรานของซาอุดิอารเบียได้อย่างไร และทำไมฮาดี ประธานาธิบดีของเยเมนที่ลาออกไปในเดือนมกราคมและหลบหนีไปถึงสองครั้ง จึงเรียกร้องให้มหาอำนาจต่างชาติเข้ามาโจมตีนั้น เราจะต้องชำแหละนิยายปรัมปราทางการเมืองที่เยเมนกำลังต่อสู้ดิ้นรนอยู่ภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตก และเรื่องราวของการแบ่งแยกนิกายที่ถูกเติมเชื้อไฟโดยซาอุดี้ฯ
ในที่ประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับที่อียิปต์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ฮาดีได้ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงของจามาล เบโนมาร์ ทูตพิเศษของยูเอ็นประจำเยเมน แล้วแทนที่ด้วยการทำให้มีการบุกรุกทางทหารในเยเมนอย่างหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น จนกระทั่ง “พวกเฮาซียอมแพ้ ถอยออกไปจากสถาบันต่างๆ ของรัฐบาล และยอมวางอาวุธ” ตามที่เขากำหนดไว้
เยเมน 101 : แนวปะทะในการเมืองของเยเมน
(ภาพ) ชายเยเมนยืนที่บ้านของเขาที่พังเสียหายจากการโจมตีทางอากาศของซาอุดี้ฯ ใกล้สนามบินซานาอฺ, เยเมน, เมื่อวันอังคารที่ 31 มีนาคม 2015
ในขณะที่มีความยากลำบากเสมอในการย่อประวัติศาสตร์และความทะเยอทะยานทางการเมืองของประเทศหนึ่งให้อยู่ภายในไม่กี่เรื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่สลับซับซ้อนอย่างเยเมน ที่เหตุการณ์ปัจจุบันกำลังกลายเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มเฮาซีกับฮาดี เบื้องหลังของทั้งสองฝ่ายนี้คืออาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของผลประโยชน์ที่ซ้ำซ้อนกัน ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันทางการเมือง แนวที่ไม่ถูกต้องของภูมิภาค และความทะเยอทะยานส่วนตัว
ตั้งแต่ปี 1994 จนถึงปี 2011 เยเมนถูกปกครองโดยสองสถาบันหลัก นั่นก็คือ สภาประชาชนทั่วไป ที่นำโดยอดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลอฮ์ ซาเลห์ กับอิสลาห์ พรรคการเมืองที่ทำตัวเป็นที่พึ่งพิงสำหรับกลุ่มซุนนีหัวรุนแรงหลายกลุ่ม รวมทั้งภราดรภาพมุสลิม
ขณะที่ซาเลห์ปกครองเยเมนโดยไม่มีข้อโต้แย้งหลังจากการลงนามข้อตกลงรวมชาติกันในปี 1990 และขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ที่ล้มเหลว หรืออิสลาห์ ทำตัวเป็นกันชนและต้านทานน้ำหนักของสภาประชาชนทั่วไป ซึ่งดำเนินงานภายใต้การอุปถัมภ์อย่างจริงจังของซาอุดิอารเบีย
อาห์เมด นักวิเคราะห์การเมืองชาวเยเมนอธิบายว่า “ริยาดใช้อัล-อิสลาห์เพื่อควบคุมซาเลห์และรักษาอำนาจในเยเมนของเขาไว้ให้อยู่ในการควบคุม จุดประสงค์ทั้งหมดของอัล-อิสลาห์คือเพื่อทำให้เยเมนคงสภาพเป็นรัฐกึ่งควบคุมกึ่งเอกราช อัล-อิสลาห์เป็นเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบสำหรับสิ่งนั้น พวกวะฮาบีและซาลาฟีของอัล-ซาอูดใช้อัล-อิสลาห์เพื่อเผยแพร่อิทธิพลของพวกตนไปทั่วเยเมน เป็นการกำหนดลักษณะใหม่ทั้งในด้านแผนที่ทางการเมืองและด้านประชากรทางศาสนาของมันอย่างช้าๆ”
“ภายใต้อิทธิพลของอัล-อิสลาห์ แนวคิดซัยดีกลายเป็นเป้า นักการศาสนาเริ่มผลักดันเรื่องการแบ่งแยกนิกาย และตั้งแต่นั้นมาเยเมนที่มีลับลมคมในก็เริ่มถูกกำหนดไปตามแนวของการแบ่งแยกนิกาย ศาสนาได้กลายมาเป็นเรื่องทางการเมือง และเมล็ดพันธุ์แห่งสงครามถูกเพาะปลูกลง” เขากล่าวต่อ
แนวคิดซัยดีเป็นสาขาเก่าแก่ที่สุดของอิสลามนิกายชีอะฮ์ ชาวเยเมนประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิมซัยดี “เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธหรือไม่ยอมรับได้” อับดุล-ซาลาม โฆษกของเฮาซีกล่าว
ระเบียบทางการเมืองและการอุปถัมภ์ทางการเมืองที่ซาอุดิอารเบียจัดการรักษาความควบคุมเยเมนเอาไว้นี้ถูกรบกวนโดยการปฏิวัติอาหรับสปริงเมื่อปี 2011 เมื่อชาวเยเมนลุกขึ้นประณามการปกครองของซาเลห์ อิสลาห์เริ่มอ้างตนว่าเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมือง เผ่าพันธุ์ ศาสนาและการเงินของประเทศ ทั้งซาอุดิอารเบียและพันธมิตรของมัน ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ไม่ค่อยเต็มใจที่ยอมให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมขึ้นสู่ตำแหน่งสูงส่งทางการเมืองเช่นนั้นในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการทดลองในอียิปต์
ด้วยเหตุนี้ แผนเพื่อการกำจัดอิสลาห์จึงเริ่มต้นขึ้น มัรวา อุสมาน อาจารย์บรรยายที่มหาวิทยาลัยนานาชาติเลบานอนในเบรุต อธิบายว่า การจะทำลายพรรคที่ตนได้ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนมาเป็นเวลาสามทศวรรษนั้น ซาอุดิอารเบียต้องคิดแผนที่จะใช้ความตึงเครียดทางการเมืองภายในและระหว่างเผ่าพันธุ์ เพื่อทำให้อัล-ซาอูดสามารถแสดงตัวในประเทศที่ย่ำแย่ลงนี้ได้
“อัล-ซาอูดเล่นเกมการต่อสู้ระหว่างเฮาซีกับอัล-อิสลาห์ ด้วยความหวังว่ากลุ่มเฮาซี ที่ได้รับการหนุนหลังโดยอดีตประธานาธิบดีซาเลห์ จะทำการลบล้างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้อย่างแท้จริง และในการทำเช่นนั้นก็จะทำให้เรี่ยวแรงทางการเมืองในประเทศของตนเองอ่อนแอลงด้วย” มัรวาบอกกับมินท์เพรสส์
“ฝ่ายที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์ที่มืดมนจากเมืองซาอฺดาทางภาคเหนือ ถูกปล่อยให้รุกเข้าไปต่อกรกับอำนาจของอัล-อิสลาห์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะมันเป็นไปตามแผนระยะสั้นของอัล-ซาอูดในภูมิภาคนี้และในเยเมน นั่นก็คือ การทำลายกลุ่มภราดรภาพมุสลิม อัล-ซาอูดไม่เคยคาดคิดว่ากลุ่มเฮาซีจะมีความแข็งแกร่งและได้รับความนิยมเหมือนอย่างที่เป็นอยู่นี้ บทบาทของพวกเขาที่กระทำต่อฮาดีอย่างไม่คาดคิดและการขึ้นสู่อำนาจในประเทศอย่างรวดเร็วของพวกเขานี้เองที่ได้นำไปสู่สงครามครั้งนี้ และแน่นอนว่า ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เฮาซีบังเอิญเป็นทั้งชีอะฮ์และทั้งมีสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านด้วย” เธอกล่าวต่อไป
ความเกี่ยวข้องกับเฮาซี
(ภาพ) สมาชิกของกลุ่มชีอะฮ์เฮาซีชมการปราศรัยทางโทรทัศน์ของผู้นำ อับดุลมาลิก อัล-เฮาซี ขณะที่เข้าร่วมเทศกาลประจำปี อีด อัล-ฆอดีร ในเมืองซานาอฺ ประเทศเยเมน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม 2014
กลุ่มกบฏที่ได้ต่อสู้ทำสงครามกับรัฐบาลซาเลห์มาแล้วห้าครั้งตั้งแต่ปี 2004 ถึง 2009 นี้ ได้เข้ามาสู่ฉากทางการเมืองของเยเมนในปี 2014 เมื่ออับดุลมาลิก อัล-เฮาซี ผู้นำของกลุ่ม ตัดสินใจว่ากลุ่มนี้จะมาเป็นตัวแทนความไม่พอใจของเยเมน และเป็นเรือนำทัพของอำนาจประชาชน
ขณะที่เยเมนเริ่มจะหันกลับไปสู่ความเซื่องซึมเหมือนก่อนหน้าการปฏิวัติ เจ้าพนักงานทั้งหลายก็อยากที่จะรักษาที่นั่งของตัวเองรอบโต๊ะอำนาจใหม่ของเยเมน กลุ่มเฮาซีลงมาจากพื้นที่ราบสูงของบรรพบุรุษของพวกเขาเพื่อเรียกร้องว่า ความปรารถนาและข้อเรียกร้องของประชาชนที่จะให้การปฏิรูปประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยมติต่างๆ ของสภาสานเสวนาแห่งชาติ (NDC)
“กลุ่มเฮาซีเข้ามาแทรกในเยเมนไม่ใช่ในนามของเฮาซี แต่เป็นในนามของประชาชน เราประกาศชัดมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าวาระของเราคือวาระของประชาชน เราออกมากดดันฮาดีก็เพราะฮาดีหยุดการรับฟังประชาชน เราออกมาก็เพราะเราจะไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนชาวเยเมนต้องทนทุกข์กับชะตากรรมที่เราอดทนมาหลายสิบปีภายใต้การเหยียบย่ำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและผู้ช่วยของมัน” อับดุล-ซาลาม กล่าว
“ประชาชนชาวเยเมนออกมาบนท้องถนนกันเป็นแสนๆ ในปี 2014 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาเรื่องตารางเวลาทางการเมืองที่ยอมรับได้ และนำพาประเทศเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้องทางสถาบันและทางการเมือง เราเล่นไปตามกฎของประชาธิปไตย ส่วนฮาดีเลือกที่จะเล่นเกมของอัล-ซาอูด ฮาดีเลือกที่จะให้ผลประโยชน์ของซาอุดิอารเบียมาอยู่เหนือผลประโยชน์ของประชาชนของเขา นั่นคือทางเลือกที่เขาจะต้องอยู่กับมัน” เขากล่าวเสริม
เนื่องจากกลุ่มเฮาซีเป็นส่วนเสริมของอิสลามสายซัยดี พวกเขาจึงถูกตราหน้าโดยอัตโนมัติว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนอิหร่าน หรือที่ฮาดีเรียกพวกเขาเมื่อเดือนที่แล้วว่าเป็น “ลูกกะโล่ของอิหร่าน” ถึงแม้ว่าจะไม่มีการปฏิเสธว่ากลุ่มเฮาซีเป็นพันธมิตรของอิหร่าน แต่ก็ใช่จะกล่าวได้ว่าเฮาซีเป็นตัวแทนของเตหะรานในคาบสมุทรแห่งนี้ มัรวาเตือนว่า การกล่าวว่ากลุ่มเฮาซีเป็นหุ่นเชิดนั้นเป็นการลดทอนที่อันตรายและมองด้วยสายตาสั้น
“กลุ่มเฮาซีหันไปหาอิหร่านเพื่อการสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 1994 แล้ว เพราะอิหร่านเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่เต็มใจจะให้การสนับสนุน มันเป็นเรื่องง่ายๆ แค่นั้น” มัรวากล่าว “เมื่อมองไปที่คลังแสงของกลุ่มเฮาซี คุณจะพบว่าอาวุธของพวกเขาไม่ได้มาจากอิหร่าน แต่มาจากตลาดมืดของเยเมน ที่ท่วมท้นไปด้วยอาวุธของสหรัฐฯ”
กษัตริย์ซัลมานสู้ยิบตา : ช่องแคบมันเดบ (บาบุล-มันดิบ)
(ภาพ) คนของเฮาซีแบกกล่องกระสุนที่เขายึดได้จากโรงเก็บพัสดุของกองทัพในเอเดน เยเมน เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2015
ขณะที่กลุ่มเฮาซีรักษาฐานที่มั่นของพวกเขาในกรุงซานาอฺเมืองหลวงของเยเมนไว้ได้ เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อฮาดีมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ทำการปฏิรูปอย่างที่พวกเขาอยากจะเห็น เช่นการปฏิรูปการอุดหนุนราคาน้ำมัน และองค์ประกอบของส่วนกลางใหม่ ความไม่พอใจต่อการเปิดเกมรุกเต็มตัวของเฮาซีได้รับแรงดึงทั้งภายในบ้านและที่อื่นๆ บนคาบสมุทรแห่งนี้
เมื่อปรากฏว่าฮาดีเป็นแค่เปลือกของประธานาธิบดีมากยิ่งขึ้น เป็นชายคนหนึ่งที่ปราศจากอำนาจและปราศจากพรรคตั้งแต่ที่ซาเลห์บีบให้เขาออกมาจากสภาประชาชนทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซาอุดิอารเบียได้เริ่มวางแผนที่จะนำเยเมนกลับมาอยู่ในการครอบงำของริยาด
“เยเมนกำลังออกมาจากใต้อำนาจควบคุมของอัล-ซาอูด ชาวเยเมนกำลังทวงคืนอนาคตของพวกเขา กษัตริย์ซัลมานจึงสู้ยิบตาและตัดสินใจว่าจะทำลายความหวังของเยเมนที่จะมีอนาคตแห่งประชาธิปไตย เขาตัดสินใจฝ่ายเดียวว่าเขาจะลบล้างเยเมนและกำจัดคู่ต่อสู้ที่อันตรายในภูมิภาคนี้ออกไปจากตัวเขา ขณะที่จะรักษาอำนาจควบคุมเส้นทางน้ำมันของโลกเอาไว้” มุจตาบา มูซาวี อธิบาย เขาเป็นนักวิเคราะห์การเมืองและบรรณาธิการอิหร่านวิว
“ซาอุดี้ฯ ด้วยความเห็นชอบของสหรัฐฯ ได้รุกเข้าหาเยเมนเพื่อทวงคืนอำนาจควบคุมเหนือช่องแคบมันเดบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง หากว่าเฮาซีซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ได้ควบคุมช่องแคบนี้ คาบสมุทรแห่งนี้ก็จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสาธารณรัฐอิสลาม และนี่เป็นสิ่งที่ซาอุดี้ฯ ไม่มีทางยอมรับได้ อย่างน้อยก็รับไม่ได้โดยไม่มีการต่อสู้” เขากล่าวต่อไป
ช่องแคบมันเดบเป็นหนึ่งในเจ็ด “จุดแออัด” ในการส่งน้ำมันทั่วโลก ช่องแคบมันเดบแยกคาบสมุทรอาหรับออกจากแอฟริกาตะวันออกและเชื่อมทะเลแดงกับอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย เรือส่วนใหญ่ใช้เส้นทางน้ำนี้เพื่อเดินทางไปไปจากคลองสุเอซของอียิปต์ ซึ่งเชื่อมทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เส้นทางนี้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของอียิปต์ได้ปีละประมาณ 5 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี และทำให้ประเทศมีอำนาจควบคุมเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญของโลกอย่างยิ่ง
ที่จริงแล้ว ช่องแคบมันเดบมีความสำคัญอย่างแท้จริงเมื่อมันหมายถึงเสถียรภาพของตลาดน้ำมันโลก และริยาดมุ่งมั่นที่จะใช้อำนาจควบคุมมัน หรืออย่างน้อยก็ควบคุมรัฐบาลที่ดูแลมันอยู่ เพราะฉะนั้นมันจึงปรารถนาที่จะได้เห็นฮาดีกลับคืนสู่ตำแหน่งในเยเมน
“เมื่อพิจารณาดูขนาดของแนวร่วมชาติอาหรับที่เข้าปะทะกับหนึ่งประเทศในคาบสมุทรนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเยเมนเป็นตัวแทนของภัยคุกคามต่อซาอุดิอารเบียมากกว่าที่ไอซิซเป็น เครื่องบินหลายร้อยลำถูกนำมาใช้ในสงครามกับเยเมนครั้งนี้ ถามตัวเองดูว่ามีกี่ลำที่ถูกส่งไปรบกับพวกสุดโต่งไอซิซในซีเรียและอิรัก แล้วคุณก็จะเข้าใจว่าเรื่องอะไรที่ไม่ได้ถูกบอกเล่าต่อสาธารณชน” มูซาวีกล่าว
ขณะที่เยเมนกระเสือกกระสนอยู่ภายใต้การละเมิดและการรุกรานอธิปไตยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยการอ้างเหตุผลสนับสนุนที่แม้แต่สหประชาชาติก็ยากที่จะมีปากเสียง ซาอุดิอารเบียเองก็กำลังทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย
นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับที่เมืองชาร์มิล-ชีค ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยได้เรียกร้องให้แนวร่วมที่นำโดยซาอุดี้ฯ ใช้ความอดกลั้นต่อเยเมน และหันกลับมาสู่โต๊ะเจรจา “การเจรจา ซึ่งอำนวยความสะดวกโดยจามาล เบนูมาร์ ทูตพิเศษของข้าพเจ้า และให้การรับรองโดยคณะมนตรีความมั่นคง ยังคงเป็นเพียงโอกาศเดียวที่จะป้องกันการปะทะกันอย่างยาวนานและยืดเยื้อ” เขายืนยัน
แต่ทว่าการเรียกร้องเพื่อบรรเทาสถานการณ์ของเขาถูกตอบรับด้วยการทิ้งระเบิดใส่เมืองต่างๆ ของเยเมนอีกหลายระลอก
เคนเน็ธ เอ็ม. พอลแล้ค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการทหารของตะวันออกกลาง ได้เตือนไว้ในบทวิเคราะห์ที่เขียนให้กับสถาบันบรู้กกิ้งส์ ว่า
“ซาอุดิอารเบียยังคงเป็นผู้นำโลกอาหรับ เป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญที่สุดในโลก แต่มันยังเป็นประเทศที่มีความเปลี่ยนแปลงภายในครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกด้วย มีปัญหาทางการเงิน และตอนนี้ก็มีการโยกย้ายอย่างรวดเร็วในรัฐบาล เนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ และการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ซัลมาน ราชอาณาจักรนี้ขาดความสามารถในทางทหารที่จะเข้าแทรกอย่างเด็ดขาดในเยเมน และถ้าซาอุพยายามที่จะส่งกองทหารภาคพื้นดินเข้าไปเป็นจำนวนมาก ผลที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือภาวะชะงักงันที่จะทำให้ซาอุดี้ฯ สิ้นเปลืองทรัพยากรทางทหาร ทุนสำรองทางการเงิน และเจตนารมณ์ทางการเมือง ทั้งยังอาจจะทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรง บางส่วนอาจจะโกรธที่ใช้เงินไปมากมายขนาดนั้นแต่ประเทศก็ยังมีความสามารถเพียงน้อยนิด และบางส่วนอาจจะเดือดดาลที่เอาเงินมากมายขนาดนั้นไปสิ้นเปลืองกับเรื่องไม่เป็นเรื่องในเยเมน แทนที่จะเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญภายในประเทศ”
“อย่าเพิ่งคัดชื่อเยเมนออกไป”
ที่จริงแล้ว ขณะที่กลุ่มเฮาซีและพันธมิตรในเยเมนยังคงได้รับการจัดหาเครื่องมืออย่างขนานใหญ่เพื่อต่อสู้กับกำลังผสมที่นำโดยซาอุดี้ฯ นั้น ประวัติศาสตร์ของเยเมนก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวกับอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่เข้ามาเพื่อซมซานกลับไปบนเทือกเขาของชาติเอกราชที่ดุร้ายนี้ อาณาจักรออตโตมานเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีที่ยากลำบากว่า เยเมนนั้น ไม่ว่าจะยากจนหรือแตกเป็นเสี่ยงอย่างไร ก็ใช่ว่าจะถูกปราบพยศได้ง่ายๆ
“ขณะที่ซาอุดิอารเบียรวบรวมประเทศราชาธิปไตยและผู้นำเผด็จการณ์ในอาหรับไว้ด้วยอำนาจและเงินหลายพันล้านเปโตรดอลล่าร์ของตนเพื่อต่อสู้กับกลุ่มเฮาซีของเยเมนนั้น การดำเนินการเช่นนั้นอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันได้อย่างแท้จริง แม้จะไม่เห็นด้วยในทางการเมืองและไม่พอใจในความแบ่งแยกทางนิกายต่อกลุ่มเฮาซี แต่ชาวเยเมนได้เริ่มรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนกบฏกลุ่มนี้แล้ว ด้วยความร้อนรนที่จะรักษาแผ่นดินที่พวกเรียกว่าบ้านจากกองทัพชาวต่างชาติ” มูซาวีกล่าว
เชคนาห์ชาล หัวหน้าเผ่า ได้เตือนว่า นิสัยของชาวโลกที่ชอบประเมินความสามารถในการตอบโต้ทางการทหารของเยเมนต่ำไป และบรรดาผู้นำอาหรับที่มุ่งเป้าโจมตีไปที่พลเรือนเพราะต้องการจะให้กลุ่มเฮาซียอมแพ้นั้น จะยิ่งเพิ่มความเดือดดาลให้แก่ประชาชนชาวเยเมนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
“ขณะนี้ฮาดีคือคนที่ถูกเกลียดชังมากที่สุดในเยเมน แม้จะเกิดอะไรขึ้นในตอนนี้ ผู้ชายคนนี้จะไม่มีทางได้ปกครองเยเมน เขาเรียกร้องให้มหาอำนาจต่างชาติเข้ามาฆ่าประชาชนในประเทศของเขา” นาห์ชาลกล่าว “ชาวเยเมนจะลืมและให้อภัยได้หรือ? ผมคิดว่าไม่ เท่าที่อัล-ซาอูดทำลงไปนั้น พวกเขากำลังปลุกมังกรของเยเมนให้ตื่นขึ้นด้วยการฆ่าเด็กๆ ของเรา มีการพูดคุยกันถึงการเข้าต่อสู้กับอัล-ซาอูดแล้ว”
เขากล่าวต่อไปว่า “ใครจะรู้ ศัตรูทั้งหลายของอัล-ซาอูดในภูมิภาคนี้อาจจะรวมตัวกันเพื่อทำสงครามกับริยาดก็ได้ อย่าเพิ่งคัดชื่อเยเมนออกไป เราคือนักรบแห่งอารเบีย”
By