วอชิงตัน – สหรัฐฯ โกรธแค้นต่อการโจมตีเมื่อ 11 กันยายน 2001 ตกตะลึงด้วยความคิดที่ว่าอำนาจมืดอาจจะหาทางทำลายเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการสร้างชาติ แต่ทว่าโลกอันกว้างไกลต่างหากที่ต้องรองรับแผลเป็นจากการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ
จากเหตุการณ์โจมตีบนแผ่นดินสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศตนเข้าทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและใครก็ตามที่กล้ามาขวางทาง ถึงแม้กฎหมายระหว่างประเทศจะระบุไว้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิในตัวเองและโดยสมบูรณ์ในการที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนและอธิปไตยในดินแดนของตน แต่ความปรารถนาและความตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นของวอชิงตันบ่อยครั้งได้แปลไปเป็นการละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรงในการปฏิบัติ ต่อประชาชน ต่อชาติต่างๆ และต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
“ในระยะเวลาสิบปีกว่าๆ การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกาได้กลายเป็นวาทะกรรมเพื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันเมื่อนึกถึงว่าวอชิงตันอ้างตนว่ามีคุณธรรมสูงส่งกว่ากลุ่มต่างๆ อย่างอัล-กออิดะฮ์และไอซิซ” มัรวา อุสมาน นักวิเคราะห์การเมืองและอาจารย์บรรยายที่มหิทยาลัยนานาชาติเลบานอน ในเบรุต บอกกับสำนักข่าว
“เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย ประเทศที่เรียกว่า ‘โลกเสรี’ ได้กระทำความชั่วร้ายมากเท่า หรือเลวร้ายยิ่งกว่ากลุ่มที่มันชิงชังเสียอีก การส่งผู้ร้ายข้ามรัฐ การทรมาน การจับกุมอย่างผิดกฎหมาย การคุมขังอย่างผิดกฎหมาย และอื่นๆ อีกมากมาย” อุสมานกล่าวต่อ
ถึงแม้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา จะระบุบ่อยครั้งถึงความทุ่มเทของเขาในการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ ที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านการกดขี่ ความรู้สึกนี้ได้สูญเสียความเรืองรองไปบางส่วนในตอนนี้ที่ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายแบบมีเงื่อนไขของวอชิงตันได้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน
เมื่อเดือนธันวาคม รายงานคณะกรรมการข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุถึงรายละเอียดของโครงการที่จะควบคุมตัวและสอบสวนผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย –ซึ่งมักเป็นการเข้าใจผิด- หลังเหตุการณ์ 11 กันยา ของซีไอเอ ระหว่างปี 2002 ถึง 2006 รายละเอียดของรายงานที่มีตัวอย่างนักโทษถูกทรมาน ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดหรือข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโครงการลับของซีไอเอ ถูกแจกจ่ายไปยังสื่อ ความเผลอรอของรัฐบาลและการวิจารณ์ภายในถูกขัดขวาง และโครงการดำเนินการผิดพลาด มันยังเปิดเผยว่ามีผู้ถูกคุมขังที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน รวมทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีนักโทษถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงมากกว่าที่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน และมีการนำรูปแบบการทรมานมาใช้มากกว่าที่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน
รายงาน 6,000 หน้า ซึ่งใช้เวลาในการรวบรวมถึงห้าปี และต้องรัฐบาลอเมริกันต้องใช้เงินไปถึง 50 ล้านดอลล่าร์ ส่วนใหญ่ยังคงมีการปรับปรุงแก้ไขอยู่ มีเพียง 525 หน้าเท่านั้นที่ถูกเผยแพร่ออกมา
แม้ว่าบางคนจะแย้งว่า บางครั้งความจำเป็นสามารถเป็นเหตุผลสนับสนุนวิธีการได้ โดยเฉพาะเมื่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์หลายล้านคนตกอยู่ในอันตราย รายงานนี้ก็ยังสรุปว่า ซีไอเอล้มเหลวไม่สามารถทำลายแผนการของผู้ก่อการร้ายได้แม้แต่แผนเดียวตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2006 แม้กระนั้น เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้หยุดปฏิบัติการคุกลับของอเมริกา
เป็นไปได้ไหมว่า ในที่กำลังแสวงหาประชาธิปไตยและในนามของการป้องกันตัวเอง อเมริกาได้กลายเป็นปีศาจร้ายที่มันสาบานอย่างหนักแน่นว่าจะทำลายไปแล้ว ด้วยการสร้างหลุมดำตามกฎหมายขึ้นมา ที่อเมริกาเท่านั้นจะสามารถทำได้อย่างเสรี?
สิทธิ์ในการป้องกันตัวเอง
การอ้างหลักฐานทางกฎหมายว่าทุกชาติมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตัวเอง ได้เข้าสู่มิติใหม่ไปแล้วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อย่างน้อยก็เท่าที่สหรัฐฯ สนใจ
แมรี่ เอลเลน โอคอนเนล ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายนอเตอร์เดม ได้ระบุไว้ใน “คู่มือวิจัยด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศและกฎหมายความมั่นคง” ดังนี้ “มนุษยชาติให้การรับรองว่าบุคคลควรจะมีสิทธิ์ในการป้องกันตัวเองจากความรุนแรง ในกฎหมายระหว่างประเทศความรู้สึกโดยพื้นฐานนี้ถูกประมวลเพื่อใช้กับรัฐ ในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 51”
ขณะที่มาตรา 51 ยังคงเป็นพื้นฐานทางกฎหมายอยู่ แต่ขอบเขตทางกฎหมายและลักษณะการป้องกันตัวเองของมันต่างหากที่สหรัฐฯ ไม่เพียงแค่ท้าทาย แต่ยังปฏิรูปมันด้วย
นับตั้งแต่เริ่มใช้ในปี 1945 กฎบัตรของสหประชาชาติข้อนี้ได้กลายเป็นหลักฐานสนับสนุนที่มีอำนาจมากที่สุดในการป้องกันตัวเองของชาติ นักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐของสหรัฐฯ พยายามที่จะกฎข้อนี้มาใช้ซ้ำบ่อยครั้ง โดยมองหาวิธีการที่จะขยายสิทธิ์ในการใช้กำลังเพื่อให้เหมาะสมกับข้อกำหนดของตน หรือเพื่ออ้างเหตุผลสนับสนุนการกระทำของตน
ที่น่าสังเกตที่สุด เดเรค โบเว็ตต์ นักกฎหมายดังชาวอเมริกาได้ท้าทายมาตรา 51 ไว้ในหนังสือ “Self Defense in International Law” ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า การขู่ว่าจะใช้กำลังโดยรัฐใดก็ตาม สามารถเป็นความผิดได้ การลงโทษที่ได้รับการอนุมัติ หรือมาตรการที่ใช้ในการป้องกันตัวเอง บนสมมติฐานที่ว่า รัฐมีสิทธิ์อย่างไม่จำกัดในการเข้าสู่สงคราม
ทฤษฎีของโบเว็ตต์ถูกล้มโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในปี 1986 ในคดีของนิคารากัวกับสหรัฐฯ ศาล ICJ ตัดสินว่า กฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันตัวเองได้จัดเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้ว ศาลยังชี้ถึงการอ้างอิงของสหรัฐฯ ที่อธิบายว่าการห้ามใช้กำลังถือเป็นบรรทัดฐานที่มีลักษณะบังคับเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศ ศาล ICJ ได้เน้นถึงข้อจำกัดในการป้องกันตัวเองที่พบในมาตรา 51 และในกฎหมายระหว่างประเทศ อยู่เหนือกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะในรูปแบบของหลักการของความจำเป็นและความได้สัดส่วน
การตัดสินในปี 1986 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ แต่สหรัฐฯ ได้ท้าทายหลักการสำคัญของการป้องกันตัวเองในปี 2002 เมื่อมันประกาศทำสงครามทั่วโลกเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากการก่อการร้าย ในรายงานยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงแห่งชาติปี 2002 รัฐบาลสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้แนะนำให้เกิดแนวคิดเรื่องการป้องกันตัวเองล่วงหน้า เมื่อมันประกาศว่าจะสงวนสิทธิ์ในการโจมตีภัยคุกคามใดๆ ก็ตาม ทั้งที่มีในขณะนั้นหรือที่อาจเป็นไปได้ เพื่อป้องกันความมั่นคงของชาติ นั่นอาจจะรวมถึงภัยคุกคามที่เป็นการก่อการร้าย หรือภัยคุกคามจากโครงการอาวุธนิวเคลียร์
ถึงแม้จะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ทางกฎหมายโดยทั่วไปว่า มาตรา 51 ไม่สนับสนุนให้ใช้สิทธิ์ในการโจมตีเพื่อป้องกันตัวเองในสถานการณ์อื่นที่นอกเหนือจากการโจมตีด้วยอาวุธ แต่ถึงกระนั้น สหรัฐฯ ก็ยังตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามโครงการทำสงครามซ่อนรูปของมัน
สงครามซ่อนรูปของอเมริกา
หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน รายงานปรากฏออกมาว่า มีบุคคลจำนวนมาก ที่รวมทั้งพลเมืองของอเมริกาและชาวต่างชาติอื่นๆ ถูกซีไอเอนำตัวมาจากทั่วโลกเพื่อไปคุมขังในคุกขังเดี่ยว
“แทนที่จะใช้ช่องทางกฎหมายตามปกติ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะข้ามไปใช้กฎหมายระหว่างประเทศ และโยนผู้ต้องสงสัยที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้ายเข้าสู่หลุมดำทางกฎหมายโดยไม่มองข้ามอะไรนอกจากความผิดของตัวเอง และที่สำคัญกว่านั้นคือไม่มีความรับผิดชอบในหน้าที่” อุสมาน นักวิเคราะห์การเมืองกล่าว
ดังที่ Reprieve องค์กรไม่แสวงหากำไรในอังกฤษได้รายงานเกี่ยวกับการเปิดเผยการปฏิบัติอย่างผิดกฎหมายเช่นนั้น โดยระบุว่า มี “การคุมขังแทน (proxy detention) อย่างผิดกฎหมาย และการคุมขังของฝ่ายทหารในคุกลับทั่วโลก เครือข่ายคุกลับของอเมริกาขยายไปทั่วโลก ภายหลังการโจมตีเมื่อ 11 กันยายน 2001 สหรัฐฯ ได้ส่งผู้คนไปยังค่ายคุมขังในอัฟกานิสถาน, ดิเอโก การ์เซีย ในดินแดนมหาสมุทรอินเดียของอังกฤษ, จิบูตี, อียิปต์, ซีเรีย และโปแลนด์ และอีกหลายประเทศ”
ขณะที่ซีไอเอกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ มันได้ทำไปภายใต้การใช้อำนาจอย่างเข้มงวดของเพนตากอน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2001 บุชได้ออกคำสั่งลับของประธานาธิบดีที่อนุมัติปฏิบัติการและการคุมขังเช่นนั้น
ห้าปีที่ใช้แผนการนี้ ในเดือนกันยายน 2006 หลังจากที่รายงานของสื่อกระแสหลักกล่าวอ้างว่า สหรัฐฯ ได้เริ่มปฏิบัติการออกนอกกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยใช้การทรมานและวิธีการผิดกฎหมายอื่นๆ เพื่อเก็บข้อมูลข่าวกรอง บุชได้ออกมายอมรับอย่างเปิดเผยถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่หลายคนกล่าวถึงว่าเป็นสถานที่ลับในต่างประเทศ โดยให้เหตุผลโต้แย้งว่าสหรัฐฯ มีสิทธิ์ทุกประการที่จะใช้สถานที่เหล่านั้น
ขณะที่รัฐบาลบุชออกมาพูดความจริง มันยังยืนยันด้วยว่าจะส่ง “นักโทษที่มีค่าสูง” 14 คน ไปยังศูนย์คุมขังที่อ่าวกวนตานาโมในคิวบา เป็นการแก้ต่างเรื่องความมั่นคงของชาติอีกครั้งขณะที่ยอมรับว่ามีการปฏิบัติในการ “คุมขังผี” (ghost detention)
แต่ทว่าขณะที่บุชยืนยันว่ามีสถานที่ลับ เขาปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าไม่เคยใช้การทรมาน “สหรัฐฯ ไม่ได้ทรมานนักโทษ ข้าพเจ้าไม่ได้อนุมัติ และจะไม่อนุมัติ” เขาเน้นย้ำ และกล่าวเสริมว่า “โครงการนี้ช่วยให้เรานำตัวฆาตกรที่สามารถทำการสังหารหมู่ออกไปจากถนนก่อนที่พวกเขาจะมีโอกาสฆ่าใคร”
ไม่ว่าการทรมานจะถูกสั่งการจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ตอนนี้ปรากฏชัดว่ามันถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นระบบ
องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ระบุไว้ว่า “ในหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ละเมิดทั้งข้อห้ามระหว่างประเทศและภายในประเทศที่ไม่ให้ใช้วิธีการทรมานและวิธี CID (การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ทารุณ หรือให้อับอาย) ในนามของการต่อสู้กับการก่อการร้าย”
“ตัวอย่างจำนวนมากของการทรมานและ CID โดยเจ้าพนักงานสหรัฐฯ -ที่ยืนยันโดยเจ้าหน้าที่ผู้เข้าร่วมหรือเห็นเหตุการณ์เหล่านี้- ถูกส่งเสริมด้วยการไม่ต้องรับโทษ และสภาคองเกรสไม่ได้ทำการสืบสวนอย่างครอบคลุม ยุติธรรม และเป็นกลางในนโยบายและการปฏิบัติในการคุมขัง” องค์การนี้กล่าวต่อไป
ในหนังสือของพาโบล พาร์โด นักหนังสือพิมพ์และนักเขียน เขาได้เขียนอย่างละเอียดเกี่ยวกับคำให้การของเดเมียน คอร์เซ็ตตี ทหารสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนที่ฐานทัพอากาศบาแกรมในอัฟกานิสถาน คอร์เซ็ตตีสารภาพว่าได้กระทำการล่วงละเมิดหลายครั้งระหว่างการประจำการหลายปีของเขา รวมทั้งการใช้อวัยวะเพศของเขาเขี่ยใบหน้าของนักโทษที่ถูกพันธนาการไว้ และขู่ว่าจะล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยข้อหาละทิ้งหน้าที่ กระทำทารุณ ทำร้ายร่างกาย และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับนักโทษอื่น คอร์เซ็ตตีถูกให้พ้นจากหน้าที่ทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2006 แต่ทว่า “นักโทษที่บริสุทธิ์” จำนวนมากยังคงติดค้างอยู่ที่อ่าวกวนตานาโม
สงครามและอุตสาหกรรมที่กำลังผุดขึ้น
“หนึ่งทศวรรษในสงครามซ่อนรูปของอเมริกา คุกลับและการทรมานได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไป แต่ทั้งสาธารณชนชาวอเมริกาและประชาคมโลกต่างก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการสะดุ้งกลัวอย่างเงียบๆ ต่ออาชญากรรมอันรุนแรงที่วอชิงตันกระทำต่อมนุษยชาติ” มุจตาดา มูซาวี บรรณาธิการ Iran’s View กล่าว
“สิ่งที่โลกไม่ได้ทำความเข้าใจก็คือว่า ด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมาย ด้วยการสร้างความอัปยศให้กับพลเรือน และด้วยการไม่ใส่ใจต่อเสรีภาพของประชาชนเช่นนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บั่นทอนรากฐานสำคัญแห่งประชาธิปไตยของตนไปด้วย ในเรื่องนี้ สหรัฐฯ ไม่สามารถเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายได้ ด้วยการหันหลังให้กับกฎหมายระหว่างประเทศ อเมริกาได้วางแบบอย่างที่อันตรายเอาไว้ ด้วยวิธีการมากมายที่มันได้ทำให้อาชญากรรมสงครามเป็นความชอบธรรม อ้างเหตุผลสนับสนุนการทรมานว่าเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น” มูซาวีกล่าวเพิ่มเติม
ถึงกระนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่ได้โดดเดี่ยว อุตสาหกรรมใหม่ได้ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ปี 2001 ผู้รับเหมาด้านการป้องกันตัวได้เข้ามาสมรู้ร่วมคิดในหลายกรณี ให้ความสามารถและความช่วยเหลือแก่ซีไอเอในการเคลื่อนย้าย จับกุม และส่งทรัพย์สินไปทั่วโลก สงครามซ่อนรูปของอเมริกาได้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรอย่างแท้จริง เป็นธุรกิจที่ดำเนินการอยู่เหนือการตรวจสอบทางกฎหมายหรือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ใดๆ
อบู ซุบัยดาห์ เป็นกรณีหนึ่งในประเด็น เขาถูกสงสัยอย่างผิดพลาดว่าเป็นสมาชิกระดับสูงของอัล-กออิดะห์ และเป็นหัวหน้าในการปฏิบัติการในปากีสถาน เขาถูกนำส่งจากปากีสถานไปยังประเทศไทยและไปโปแลนด์ในปี 2002 โดยบริษัท DynCorp Systems and Solutions เพื่อส่งต่อไปให้ซีไอเอ ด้วยมูลค่า 330,000 ดอลล่าร์
ด้วยค่าธรรมเนียมที่ขึ้นถึงหลายแสนดอลล่าร์ ทำให้ผู้รับเหมาเอกชนกระตือรือร้นที่จะรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ
จากการสืบสวนของ Reprieve ระบุว่า “ในปี 2002 สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ เริ่มใช้ผู้รับเหมาเอกชนเพื่อขนส่งนักโทษไปยัง “สถานที่ลับ” ทั่วโลก ที่ซึ่งพวกเขาจะถูกขังเดี่ยว ถูกสอบสวน และถูกทรมาน”
การสืบสวนของ Reprieve มุ่งเน้นไปที่บริษัท Computer Sciences Corporation, CynCorp, Universal Weather and Aviation, Rockwell Collins and Richmor Aviation
ขณะเดียวกัน ไดแอน เฟนสไตน์ ประธานคณะกรรมการข่าวกรองวุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์กับ Democracy Now เมื่อเดือนธันวาคมว่า “เทคนิคการสอบสวนทิ่เพิ่มขึ้นของซีไอเอไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง”
ถ้าสิ่งที่เฟนสไตน์กล่าวเป็นจริง ทำไมจึงปฏิบัติกันอยู่? ที่สำคัญ จะเกิดอะไรขึ้นกับเจ้าหน้าที่ที่ลงนามในคำสั่งส่งตัวและคำสั่งทรมาน?
“เป็นไปได้อย่างไรที่ชาติหนึ่งจะร้องหาหลักการของกฎหมายและอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาตินั้นทำล้วนสวนทางกับจริยธรรมและศีลธรรม? และแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องยากที่จะเรียกคืนศีลธรรมด้วยสงคราม ก็ควรจะวางหลักการเอาไว้ที่ไหนสักแห่ง” อุสมานจากมหาวิทยาลัยนานาชาติเลบานอนกล่าว
“มิฉะนั้น จะอธิบายอาชญากรรมของสหรัฐฯ เป็นอย่างอื่นได้อย่างไรอีก นอกจากจะเปรียบกับบรรดากลุ่มที่มันตราหน้าว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย? ไอซิซข่มขืนและทรมาน สหรัฐฯ ก็ข่มขืนและทรมาน ไอซิซลักพาตัวผู้ชายและผู้หญิง สหรัฐฯ ก็ทำเช่นนั้นกับผู้ชายและผู้หญิง”
“เราจะบอกได้อย่างไรว่าฝ่ายไหนชั่วและฝ่ายไหนดี? เมื่อไหร่กันที่เจตนารมณ์พูดเสียงดังกว่าการกระทำ?”