ขายอาวุธมูลค่ากว่า 5.2 พันล้านยูโรให้อียิปต์ เป็นของขวัญที่ไอซิสมอบให้ฝรั่งเศส

2063

หลังจากไอซิส ฆ่าชาวคริสต์อียิปต์ เพียงแค่วันเดียว อียิปต์ตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินรบจากฝรั่งเศสมูลค่ามหาศาล อย่างรวดเร็วฉับไวจนผิดสังเกต

รัฐบาลอียิปต์ประกาศตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบ 2 เครื่องยนต์ ราฟาล (Rafale) จำนวน 24 ลำ สำหรับกองทัพอากาศอียิปต์ และเรือฟริเกตอเนกประสงค์จากฝรั่งเศส มูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์   โดยได้มีพิธีลงนามในสัญญาซื้อขายอาวุธเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2558 ที่ผ่านมาในกรุงไคโร

แหล่งข่าวระบุว่า การซื้ออาวุธจากฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นไปตามเป้าหมายของอียิปต์ที่จะยกระดับอาวุธหนักในกองทัพของตัวเอง ท่ามกลางความวิตกถึงภาวะวิกฤติในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลิเบีย จะลุกลามเข้ามาในดินแดนของตัวเอง และล่าสุด เกิดเหตุกลุ่มไอซิส ได้สังหารชาวคริสเตียนอียิปต์ไป 21 คน

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ กองทัพอียิปต์เปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่ฐานที่มั่นของกลุ่มไอซิสในลิเบีย ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากไอซิสเผยแพร่คลิปวิดีโอสังหารฆ่าตัดคอชาวอียิปต์ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติก 21 คน    พร้อมระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่ค่ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งกบดานของบรรดานักรบและที่เก็บอาวุธของกลุ่มไอซิส โดยระบุว่า การแก้แค้นให้กับชาวอียิปต์ที่เสียชีวิต และตอบโต้อาชญากรและฆาตกร เป็นหน้าที่ที่กองทัพต้องดำเนินการ

แหล่งข่าวในอียิปต์ เปิดเผยว่า   อาวุธที่อียิปต์ซื้อในครั้งนี้ รวมถึง เครื่องบินรบราฟาเล ที่ผลิตโดยบริษัทเดสซูลท์ อะวิเอชัน จำนวน 24 ลำ   เรือฟริเกตเอนกประสงค์ชั้น FREMM  1 ลำ และขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ

รัฐมนตรีกลาโหมอียิปต์ “นายซิดกี ศุบฮี” ได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวกับรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส “นายฌอง อีฟ เลอ ดริออง”  และมีอัลซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์ คณะติดตามของฝรั่งเศสร่วมในการลงนามข้อตกลงครั้งนี้ด้วย

การทำสัญญาซื้อขายครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ไอซิส สังหารชาวคริสต์อียิปต์ 21   คน   แค่ 1  วัน   ซึ่งการทำสัญญาครั้งนี้ นับว่า เป็นของขวัญชิ้นหนึ่งที่ไอซิส ยืนให้กับฝรั่งเศส ที่สามารถขายอาวุธในมูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์ครั้งนี้ได้สำเร็จ…..

อย่างไรก็ตาม ยังเกิดคำถามว่ารัฐบาลของ อัล-ซีซี จะชำระค่าเครื่องบินฝูงใหญ่อย่างไร ???  ในขณะที่เศรษฐกิจอียิปต์กำลังชอกช้ำจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมานาน 4 ปี นับตั้งแต่มีการโค่นล้มอำนาจผู้นำเผด็จการ ฮอสนี มูบารัค  นอกจากนี้ ประชากรถึงครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งสิ้น 85 ล้านคนในอียิปต์ ยังคงเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยเงิน 2 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน ทั้งยังต้องรับบริจาคข้าวสาลี และเชื้อเพลิงจากรัฐบาล !!!!

ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลองด์ แห่งฝรั่งเศสกล่าวกับผู้สื่อข่าว ณ กรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียมว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการทำสัญญาส่งออกราฟาเอลไปยังต่างประเทศ จนถึงตอนนี้มีแต่อียิปต์เท่านั้นที่ซื้อเครื่องบินขับไล่ราฟาเอล

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินราฟาเอล เข้าประจำการในกองทัพมานับตั้งแต่ปี 2006 ก่อนที่อากาศยานรุ่นนี้จะถูกใช้ดำเนินภารกิจสนับสนุนทางอากาศในอัฟานิสถานในปีถัดมา  และเมื่อปี 2011 ราฟาเอลยังดำเนินภารกิจต่างๆ ในลิเบีย เป็นต้นว่า สังเกตการณ์การบังคับใช้กฎเขตห้ามบิน การโจมตีจากอากาศสู่พื้นดิน ภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ และบินข้ามแดน นอกจากนี้ ราฟาเอลยังมีบทบาทสำคัญในภารกิจขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งใช้เพียงอำนาจทางอากาศสนับสนุนกบฏในลิเบียโค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการ โมอัมมาร์ กัดดาฟี

ปิแอร์ คอนเนสซา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่า ท่ามกลางคำถามต่อการจัดซื้ออาวุธครั้งนี้ คือ ใครเป็นคนจ่ายเงินค่าอาวุธเหล่านี้ เชื่อว่า ฝรั่งเศส และซาอุดีอาระเบีย อาจให้อียิปต์กู้ยืมเงินก็เป็นได้ เพราะจากการสังเกตของเขา ในข้อตกลงการซื้อขายอาวุธไม่พบถึงการระบุของแหล่งที่มาเงินทุนในสัญญา โดยอียิปต์ตกอยู่ในสถานการณ์กดดันมาเป็นเวลากว่า 3 ปี จากสถานการณ์ความไม่สงบภายในที่ทำลายการท่องเที่ยว รวมถึงประเด็นการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน และการที่กองทัพไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ท่ามกลางความกังวลจากนานาชาติ

 

กำหนดการส่งมอบ ราฟาล ลอตแรกให้อียิปต์จะอยู่ในช่วงปี 2018

ตัวแทนของรัฐบาลอียิปต์ ระบุว่า ได้รับแจ้งถึงการลงนามสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ใหม่ 24 เครื่อง พร้อมเรือฟริเกตอเนกประสงค์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในสัญญาสั่งซื้อ ยุทโธปกรณ์เหล่านี้จะทำให้อียิปต์ เพิ่มความสามารถในหน้าที่ดูแลความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค

สำหรับ บริษัทผู้ผลิตจากฝรั่งเศส ดัซโซลท์ เอวิเอชั่น อียิปต์เป็นชัยชนะครั้งแรกในตลาดส่งออก ที่จะทำให้สายการผลิตของเครื่องบินขับไล่ราฟาลยืดออกไปได้ รวมถึงงานของแรงงานกว่า 7,000  คน นอกเหนือจากการเสนอขาย บ.ราฟาลจำนวน 126 ลำ ให้กับกองทัพอินเดียที่ยังคลุมเครือไม่มีข้อสรุป และกาตาร์ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะสั่งซื้อราฟาล 24 ลำ พร้อมกับออปชั่นสั่งเพิ่มอีก 12 ลำ โดยดัซโซลท์ จะส่งมอบราฟาลลอตแรกในปี 2018

สายการผลิตของเครื่องบินราฟาล ได้รับการต่อลมหายใจยืดออกไปอีก

ทางฝรั่งเศสมีแผนจะนำเอาเครื่องบินราฟาล 2-3 ลำทำสีเป็นของ ทอ.อียิปต์ รวมทั้งเรือฟิเกตชั่นนอร์มังดี 1 ลำ เข้าร่วมในพิธีเปิดงานฉลองการสั่งซื้ออาวุธ  ในแพ็กเกจการสั่งซื้อได้รวมเอาสัญญาการสนับสนุนการซ่อมบำรุง และอาวุธปล่อยอากาศ-สู่-อากาศ ไมค่า (Mica)  ระเบิดนำวิถีด้วยดาวเทียมแบบ Air-to-Ground Modular Weapon หรือ AASM หรือแฮมเมอร์   และขีปนาวุธพื้น-สู่อากาศ แบบ ASTER15  สำหรับเรือฟริเกตลำใหม่ของอียิปต์      ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ด้านอาวุธ ยังระบุว่า ราฟาลของอียิปต์มีความสามารถในการใช้งานอาวุธปล่อยร่อนอากาศ-สู่-พื้นแบบ แบล็ก ชาฮีน ที่เป็นรุ่นส่งออกของขีปนาวุธร่อนแบบ สตอร์มแชโดว์ (Storm Shadow) ของฝรั่งเศสที่มีระยะยิงถึง 350 กม.

เครื่องบินราฟาลพร้อมระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ใต้ปีก

ทั้งนี้ ทอ.อียิปต์ มีกำลังหลักเป็นเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-16 ของสหรัฐฯ โดยเป็นประเทศที่มีเอฟ-16 ซี/ดี บล็อก 40 และบล็อก 52 มีใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกต่อจากสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และตุรกี จำนวนราวๆ 226 ลำ เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบมิราจ 2000 จำนวน 24 ลำ และ มิราจ 5 ของฝรั่งเศสอีกจำนวนหนึ่ง และเครื่องบิน เจ-7 จากประเทศจีน อีก 57 ลำ โดยราฟาลจะมาทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า คือ มิก 21 และ มิราจ 5 ที่ปลดประจำการไปแล้ว
ข้อมูลจำเพาะของเครื่องบินขับไล่ ดัซโซลท์ ราฟาล (Dassualt Rafale) 

ราฟาลเป็นเครื่องบินรบไอพ่นแบบแบบ 2 เครื่องยนต์ผลิตในฝรั่งเศส สามารถรบได้หลายแบบ ทั้งภารกิจระยะสั้น และระยะไกล หรือ เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ (Multirole) มีคุณลักษณะออกแบบมาให้ตรวจจับด้วยเรดาร์ได้ยาก สามารถปฏิบัติการได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน ทุกสภาพอากาศ พร้อมขีดความสามารถในการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ

เครื่องยนต์ เทอร์โบแฟน สแนคม่า เอ็ม888-3 (SNECMA) จำนวนเครื่องยนต์ 2 เครื่อง พร้อมสันดาปท้าย
แรงขับเครื่องยนต์ 19,558 ปอนด์
กางปีก 10.9 เมตร (35 ฟุต 9 นิ้ว)
ฟื้นที่ปีก 47.5 ตารางเมตร
ยาว 15.3 เมตร (50 ฟุต 3 นิ้ว)
ความเร็ว 2,125 กิโลเมตร/ชั่วโมง (1,321 ไมล์/ชั่วโมง) โดย บินที่ความเร็ว 1,390 กิโลเมตร/ชั่วโมง (864 ไมล์/ชั่วโมง) ที่ความสูงระดับทะเล
ความเร็วสูงสุด 1.8 มัค (2,130 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
น้ำหนักลำตัวว่างเปล่า 21,319 ปอนด์
น้ำหนักสูงสุดวิ่งขึ้น 47,399 ปอนด์
ระยะทางใช้วิ่งขึ้น 400-600 เมตร
ระยะทางวิ่งลง 450 เมตร (1,475 ฟุต)
รัศมีการบิน 1,853 กิโลเมตร (1,151 ไมล์)
เพดานบิน 60,000 ฟุต
จำนวนเจ้าหน้าที่ Rafale B = 2 นาย Rafale C & Rafale M = 1 นาย
ความจุเชื้อเพลิงภายในลำตัว 4,500 กิโลกรัม (9,900 ปอนด์)
น้ำหนักบรรทุกอาวุธ มากกว่า 13,228 ปอนด์
อาวุธ ปืนใหญ่อากาศเดฟา 791 ขนาด 30 มม.

เครื่องบิน ราฟาล บี แบบสองที่นั่ง

มีจุดติดตั้งอาวุธ 14 จุด สำหรับรุ่น B/C สามารถติดตั้งอาวุธได้หลากหลาย เช่น อาวุธปล่อยอากาศ-สู่-อากาศ แบบ ไมค่า (MBDA Mica) นำวิถีด้วยอินฟราเรด หรือ เรดาร์แอคทีฟ ที่สามารถยิงแล้วลืมได้ และอาวุธปล่อยอากาศ-สู่-อากาศพิสัยไกล เมทิเออร์ (MBDA Meteor) นำวิถีด้วยเรดาร์ แอคทีฟ

อาวุธปล่อย อากาศ-สู่-พื้น ขีปนาวุธร่อนนำวิถีด้วยเรดาร์แอคทีฟคู่กับพิกัดตำแหน่งดาวเทียม แบบ อาปาเช่ และสตอร์มแชโดว์ หรือ แบล็กชาร์ฮีน อาวุธปล่อย อากาศ-สู่-พื้น AS-30L นำวิถีด้วยเลเซอร์ ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ ​แบบ GBU-12 Paveway II หรือ GBU-49 Enhanced Paveway II และ GBU-24 Paveway III และอาวุธปล่อย อากาศ-สู่-พื้น โจมตีเรือนำวิถีด้วยเรดาร์แอคทีฟแบบ เอ็กโซเซ่ต์ AM39 เป็นต้น.
แหล่งอ้างอิง  
http://www.abna24.com/persian/service/africa/archive/2015/02/18/671741/story.html
http://www.thairath.co.th/content/481690