บทความ – อิสลาม กับ ประชาธิปไตย (ตอนที่ 2)

974

(ต่อจากตอนที่ 1) สำหรับบทความก่อนหน้านี้ได้อรรถาธิบายไปแล้วถึง บทบาทของประชาชนในรัฐบาลอิสลาม และได้ยิบยกมุมมอง 4 ด้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมไปถึงการวิพากษ์ทัศนะต่างๆ ในบทความชิ้นนี้จึงเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับอิสลามกับประชาธิปไตย และตัวอย่างสถานการณ์ อิสลามกับระบอบประชาธิปไตยในแต่ละภูมิประเทศ..

สำหรับการเลือกผู้วินิจฉัยศาสนา เกณฑ์ที่ใช้เลือกว่า มุสลิม ควรจะตามใคร คือ พิจาณาจากความอะลัม หรือ คนทีมีความรู้มากที่สุด เป็นเงื่อนไขแรก และมีความยุติธรรมมากที่สุดเป็นเงื่อนไขที่สอง ซึ่งการตัดสินว่าใครคือผู้วินิจฉัยที่มีความรู้มากที่สุด ขึ้นอยู่กับตัวผู้เลือกเอง วิธีการอาจทำได้จาก การศึกษาทัศนะของผู้รู้คนนั้นโดยตรง หรือ สอบถามจากผู้มีความยุติธรรมสองคน นี่คือ ระบบการตักลีดในนิติศาสตร์อิสลามที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของบางนิกาย

อาจมีการโต้แย้งว่า มูอัมมาร์กัดดาฟี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยการใช้ระบบนี้เช่นเดียวกัน กล่าวคือในสมัยของเขา กัดดาฟีใช้สิ่งที่เรียกว่าหนังสือสีเขียว ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างศาสนาอิสลามกับแนวคิดแบบฟาสซิสต์ชาตินิยม หรือนายฮอสนีมูบาร็อกอดีตผู้นำอียิปต์ ซึ่งกดขี่ประชาชนเป็นเวลานาน ซัดดัมฮุสเซนแห่งอิรัค เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของคนที่โดยผิวเผินนำศาสนามาปรับใช้ในระบบการปกครอง แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสังคมที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนมากจะมีผู้นำที่ชอบธรรม เพราะแต่ละคนก็อ้างความชอบธรรมจากศาสนาในแบบของตัวเอง

คำตอบคือ เผด็จการทั้งหลายมีจุดร่วมเหมือนกันคือพวกเขาไม่ใช่ผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนาสูงสุด และไม่เข้าข่ายลักษณะใดๆที่ศาสดาได้วางเงื่อนไข แต่กลับมีลักษณะที่ศาสดาตำหนิหรือสาปแช่ง เช่นการกระทำบาปอย่างเปิดเผย ความฟุ่มเฟือย การละเมิดผู้อื่นโดยมิชอบ และในทางกลับกันขอตัวอย่างนี้ยังสนับสนุนแนวคิดผู้นำทรงธรรมอีกด้วย เพราะหากพิจารณาในประวัติศาสตร์การก้าวขึ้นสู่อำนาจของเผด็จการเหล่านี้ ทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่เสียงส่วนมากให้การสนับสนุนพวกเขา มันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง การที่เสียงส่วนมากเลือกให้ใครเป็นผู้นำ ไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนดีหรือไม่ดี เป็นไปได้ว่าเสียงส่วนมากจะเลือกบุคคลหนึ่งถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนเลวทรามแค่ไหนก็ตาม หรือจะไม่เลือกบุคคลหนึ่งถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนดีที่มีความเหมาะสมแค่ไหนก็ตาม ประชาธิปไตยบอกเราแค่ว่าเสียงส่วนมากเลือกใครเขาคนนั้นคือผู้นำ แต่ไม่ได้มีฟิลเตอร์ที่จะกลั่นกรองว่าคนที่เราเลือกจะเป็นคนดีหรือคนเลว

อาจมีการโต้แย้งอีกว่า ในสมัยที่อิมามโคมัยนียังคงมีชีวิตอยู่ ฝ่ายต่อต้านท่านสร้างโฆษณาชวนเชื่อว่า ประชาชนชาวอิหร่าน แยกตัวจากสาธารณรัฐอิสลาม เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามและการคว่ำบาตร และในช่วงเวลานั้น ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ออกมาปรากฏตัวและไม่ได้เสียสละชีวิตใดๆเพื่อปกป้องสาธารณรัฐแห่งนี้ ซึ่งภายหลังจากการเสียชีวิตของอิมามโคมัยนี อัตลักษณ์ของแนวคิดนี้ยังคงถูกรักษาต่อไป กล่าวในอีกบริบทหนึ่งคือ ไม่ใช่ทุกคนที่สนับสนุนการปฏิวัติในอิหร่านเมื่อ 40 ปีก่อน

คำตอบ แน่นอน จะปฏิวัติใดๆในโลกนี้ ก็ไม่ใช่ทุกคนในการประเทศนั้นจะสนับสนุนทั้งร้อยเปอร์เซ็น ส่วนในเรื่องของการไม่ยอมรับในระบบ อธิบายได้ว่า การไม่ยอมรับระบบการปกครองแบบอิสลามจากประชาชนแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน

รูปแบบที่ 1 คือประชาชนมีปัญหากับศาสนาจึงเป็นเหตุให้ไม่ยอมรับระบบการปกครองแบบศาสนา ในรูปแบบนี้อย่าว่าแต่บุคลากรทั่วไปของพระผู้เป็นเจ้า ต่อให้เป็นศาสดา หรือตัวแทนของท่านเองแม้จะมีคุณสมบัติครบครันและได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า ก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลให้เกิดขึ้นได้ เพราะเงื่อนไขของการจัดตั้งรัฐบาล คือการยอมรับของประชาชน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เหตุการณ์ของศาสดาฮารูน ที่ชาวบนีอิสราเอลคิดลอบสังหารท่าน และตัวอย่างของท่านอาลี ที่ใช้เวลา 25 ปีกว่าที่ประชาชนจะหลั่งไหลไปที่บ้านของท่านเพื่อมอบสัตยาบัน และขอให้ท่านขึ้นปกครอง

รูปแบบที่ 2 ผู้นำทรงธรรมและรัฐบาลถูกถอดถอนเพราะพฤติกรรมของประชาชน กล่าวคือ ผู้นำรู้ทั้งสามัญและศาสนาและสามารถทำให้บ้านเมืองสงบสุขโดยใช้ความรู้จากทั้งสองแหล่งได้ แต่หลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งหันมาต่อต้าน ปัจจัยในการหักหลัง อาจเป็นความกลัว หรือ ความโลภ ผู้นำในลักษณะนี้ ผู้ต่อต้านแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • ประเภทที่ 1 คือผู้ต่อต้านซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนน้อย มีจุดประสงค์เพื่อถอนรากถอนโคนระบบการปกครองแบบศาสนา แต่ประชาชนส่วนมากให้การสนับสนุน ระบบการปกครองศาสนา ในรูปแบบนี้ผู้ปกครองทรงธณรมจะมีหน้าที่ในการต่อสู้กับผู้ต่อต้านของตน ตัวอย่างเช่นสงครามที่ท่านอาลีได้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏคอวาริญ
  • ประเภทที่ 2 คือภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีศาสนาเป็นอธิปไตย ประชาชนส่วนมากในแผ่นดินนั้นหันมาต่อต้านรัฐบาลของตน เช่นคำพูดในลักษณะที่ว่า”เราไม่ต้องการรัฐบาลนี้ ในรูปแบบนี้ ผู้วินิจฉัยศาสนาสูงสุดหรือผู้ปกครองจะยังคงเป็นผู้ปกครองอยู่ แต่จะสูญเสียอำนาจในการปกครองด้วยมือของประชาชนของตนเอง กล่าวคือ ผู้ปกครองบริหารบ้านเมืองอย่างมีคุณธรรม แต่ประชาชนหันหลังให้อาจเป็นเพราะความเขลา ความโลภ หรือ ความกลัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในยุคสมัยของบุตรชายของท่านอาลี ผู้มีนามว่า ฮะซัน กล่าวคือภายหลังจากบิดาเสียชีวิต ท่านฮาซัน ต้องรับศึกกับ มูอาวียะ และเพราะการทรยศหักหลังของบุคคลผู้มีตำแหน่งระดับสูง และค่านิยมความเหนื่อยหน่ายของประชาชน จึงบีบให้ท่านต้องทำสัญญากับฝ่ายตรงข้ามและท้ายที่สุดท่านก็ถูกลอบสังหาร เป็นการสิ้นสุดอำนาจการปกครองในวาระของท่านไป ในลักษณะนี้ผู้นำจะยังคงมีความชอบธรรมอยู่แต่ประชาชนเลือกที่จะทำลายระบบการปกครองของผู้นำ

 

ประชาธิปไตยกับระบบศาสนา

นักวิชาการทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีแล้วว่าประชาธิปไตย หรือ democracy หมายถึงระบบการปกครองแบบประชาชนปกครองประชาชน แต่เรื่องราวและความแตกต่างของมันไม่ได้จบง่ายเหมือนกับนิยาม ตามข้อเท็จจริงแล้วประชาธิปไตยสมัยใหม่ในตะวันตก เป็นประชาธิปไตยที่แยกออกจากศาสนา ไม่ว่าจะบทบาท ทัศนะความเห็นใดๆจากศาสนา จะไม่ครอบคลุมประชาธิปไตยในลักษณะนี้ ประชาธิปไตยนี้เป็นประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนรากฐานของแนวคิดมนุษย์นิยมกับเซคูลาลิสม์ เรื่องของพระเจ้าหรือระบบการปกครองแบบศาสนาจึงไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะแนวคิดพื้นฐานนี้ ขีดค่าความสัมพันธ์ของศาสนาต่อการเมืองออกไปทั้งหมด ภายใต้ระบบการปกครองนี้ผู้คนยังสามารถนับถือศาสนาได้ พวกเขายังสามารถเข้าโบสถ์ไปวัดหรือละหมาดที่มัสยิด แต่ระบบการปกครองควรเป็นแบบไหน การตัดสินพิพากษาควรวางอยู่บนรากฐานแนวคิดใด สังคมควรมีค่านิยมใดจึงจะเหมาะสม เหล่านี้จะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาแต่อย่างใด แน่นอน เหตุผลที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะความประสงค์ให้มีจุดกึ่งกลางโดยไม่อิงกับศาสนาใด แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีจุดกึ่งกลางใดๆทั้งสิ้น เพราะทุกระบบการเมืองล้วนอิงอยู่กับความเชื่อหนึ่งไม่ใช่หรือ ? อย่างที่อัตถิภาวนิยมได้กล่าวกัน”เรามีเสรีภาพ แต่เสรีภาพบังคับให้เราต้องเลือก เมื่อเลือกสิ่งหนึ่ง ตัวเลือกอื่นก็จะถูกตัดออก จึงไม่มีจุดสมดุลใดๆ

 

กลับเข้ามาสู่ประเด็นของเราคือ อิสลามเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยหรือไม่ ? คำตอบของเราในเรื่องนี้อิงจากทัศนะความเห็นของปวงปราชญ์แห่งเมืองกุม กล่าวคือ หากความหมายของประชาธิปไตย คือการที่ประชาชนยังคงสามารถปฏิบัติตามศาสนบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า หรือสามารถใช้กฎหมายชารีอะห์เป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตได้ ประชาธิปไตยแบบนี้เป็นประชาธิปไตยไม่มีที่ไม่มีความขัดแย้งใดๆต่ออิสลามเลย แต่หาความหมายของประชาธิปไตยคือศาสนาจะต้องอยู่แต่ในโบสถ์มัสยิดหรือวัดเท่านั้น แนวคิดทางศาสนาจะต้องไม่มีผลใดๆต่อนโยบายทางการเมือง นั่นเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สอดคล้องกับอิสลาม

เราจะยกตัวอย่างความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยแบบอิสลามกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก ด้วยกรณีของประเทศฝรั่งเศส สถานศึกษาบางแห่งเป็นสถานที่ปลอดผ้าคลุมฮิญาบ ลูกมุสลิมคนใดที่จะเข้าไปเรียนในสถานศึกษาที่ตัวเองต้องการ อาจจะหมดโอกาสถ้าหากสถานที่นั้นออกกฎห้ามคลุมฮิญาบ แต่ในทางกลับกันผู้คนจะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ จะมีเสื้อกี่ชิ้นบนตัวหรือไม่มีเลย จะไว้ทรงผมแบบไหน จะใส่ชุดขาร็อค สิงห์มอเตอร์ไซค์ หรือแม้แต่ชุดคนชนชั้นสูงก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ท่านต้องการแต่งกายตามหลักศาสนาบัญญัติจากศาสนาที่ท่านศรัทธา ข้อห้ามจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แม่ว่าเสรีภาพในการแต่งกายจะเป็นสิ่งที่พวกเขายกย่องบูชาก็ตาม นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงประชาธิปไตยแบบตะวันตก คือประชาธิปไตยในการเมืองที่ปลอดระบบศาสนา อย่างที่เราได้กล่าวไป หากประชาธิปไตย คือการที่ประชาชนยังคงปฏิบัติตามศาสนบัญญัติทั้งในภาคสังคมและในภาคปัจเจกและในภาคการเมืองได้เป็นปกติ ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้ขัดแย้งใดๆกับอิสลามเลย ประชาธิปไตยแบบนี้ สามารถอธิบายด้วยตัวอย่างง่ายๆได้ว่าหากประชาชนเมือง A มองเห็นว่า นาย ก เป็นคนที่มีความสามารถ มีศักยภาพ มีความรู้ทั้งในเรื่องของการเมือง การบริหารอย่างครบสมบูรณ์ ประชาชนชาวเมือง A สามารถเสนอชื่อให้กับศาสดาหรือตัวแทนของท่านให้แต่งตั้ง นาย ก เป็นผู้ปกครองเมืองแห่งนั้นได้

อัตลักษณ์ของรัฐบาลศาสนา

เมื่อเราพูดถึงรัฐบาลศาสนา เรากำลังพูดถึงรัฐบาล 3 รูปแบบด้วยกัน

รูปแบบที่ 1 คือ รัฐบาลที่มีศาสนาเป็นโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด

รูปแบบที่ 2 รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับศาสนบัญญัติของศาสนา

รูปแบบที่ 3 รัฐบาลที่มีผู้นำเป็นคนเคร่งครัดศาสนา

แต่ละรูปแบบมีลักษณะและอัตลักษณ์ที่ต่างกัน รูปแบบที่ 1 คือรูปแบบรัฐบาลศาสนาที่ไม่เพียงแต่จะนำกฎหมายมาจากศาสนบัญญัติมาใช้เท่านั้นแต่การใช้กฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้บริหารล้วนได้รับการแต่งตั้งมาจากพระผู้เป็นเจ้าหรือได้รับการแต่งตั้งมาจากตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งแบบพิเศษคือการแต่งตั้งโดยตรง หรือแบบทั่วไป คือการวางมาตรฐาน เงื่อนไข ลักษณะการในการคัดสรรผู้นำ ตามบัญญัติของศาสนา รัฐบาลแบบนี้คือรัฐบาลศาสนาเต็มรูปแบบ เพราะรัฐบาลลักษณะนี้คือรัฐบาลที่นำเอาศาสนบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้ามาใช้อย่างเต็มอัตราตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายของโครงสร้างทางการเมือง ตัวอย่างในประวัติศาสตร์คือ รัฐบาลของศาสดามูฮัมหมัด(ศ) รัฐบาลของท่านอาลี(อ) ,การปกครองของท่านมาลิก อัชตาร หรือวลีฟะกีฮ์

ในรูปแบบที่ 2 ไม่จำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าโดยตรงหรือโดยอ้อมแต่อย่างใด ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องนำเอาศาสนบัญญัติมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ สิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องทำคือการให้ความสำคัญกับการระวังรักษาศาสนบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ศาสนบัญญัติเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการร่างกฎหมาย แต่จะรณรงค์ให้ผู้คนปฏิบัติตามศาสนา เช่น มาเลเซีย(มีบางส่วน) ตุรกี และอินโดนีเซีย(ในสมัยปธน ซูกาโน ท่านใช้ประชาธิปไตยแบบชี้นำส่วน ประเทศตุร กีใครจะใส่ผ้าคลุมหรือไม่ใส่ผ้าคลุมก็ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ใส่ผ้าคลุม และก็ไม่มีกฎหมายบังคับให้ถอดผ้าคลุม แต่มีการรณรงค์ให้ใส่ฮีญาบมากกว่า หรือประเทศไทย เหล้าสุราเป็นหนึ่งในข้อห้ามของศีล 5 สิ่งที่รัฐบาลรณรงค์ก็คือรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ในกฎหมายไม่ได้บังคับให้ดื่มหรือห้ามให้ดื่มเหล้าแต่อย่างใด

รูปแบบที่ 3 ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายศาสนาแต่อย่างใด แต่นักปกครองและประชาชนเป็นผู้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างเคร่งครัด กล่าวคือศาสนาหนึ่งของคนส่วนมาก ในภูมิภาคนั้น ทำให้ภูมิภาคนั้นมีลักษณะเป็นรัฐบาลของผู้มีศาสนาหรือผู้เคร่งครัดศาสนา แต่ไม่ได้มีผลในทางรัฐศาสตร์ในวงกว้าง แต่มีผลในฐานะบรรทัดฐานของสังคม ระบบการเมืองไม่ได้ถูกวางโครงสร้างจากศาสนาที่คนส่วนมากนิยมนับถือในประเทศนั้น ตัวอย่างได้แก่ทุกประเทศที่ประชาชนในประเทศส่วนมากนับถือศาสนาหนึ่งแต่ศาสนาดังกล่าวไม่ได้มีผลกับกฎหมายหรือระบบการเมือง เช่น ข้อห้ามศีล 5 ของศาสนาพุทธ ในไม่มีกฎหมายบังคับ ห้ามขายสุรา ในประเทศที่คนส่วนมากคือชาวพุทธ

ทั้ง 3 รูปแบบคือลักษณะของรัฐบาลศาสนา เราได้เห็นถึงความเข้มข้นและความแตกต่างของทั้ง 3 รูปแบบแล้ว ในปัจจุบันหลากหลายประเทศก็เข้าข่าย 1 ใน 3 รูปแบบนี้ คำถามคือเมื่อพูดถึงรัฐบาลศาสนา อิสลามจัดอยู่ในรูปแบบใด ? อย่างที่เราได้กล่าวในบทความนี้ ระบบการปกครองแบบอิสลามจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประชาชนเรียกร้องให้จัดตั้งเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มเคลื่อนไหวใดๆก็ตามที่ริเริ่มสร้างหรือก่อสงครามและเข่นฆ่าผู้อื่นโดยอ้างในนามของมุสลิม แต่ปราศจากการเรียกร้องของประชาชน นั่นย่อมไม่ใช่วิถีที่ถูกต้อง แต่หากทุกอย่างถูกต้องชอบธรรมอยู่ในเทศะและกาละของมัน รูปแบบของรัฐบาลอิสลามจะเป็นรูปแบบแรก เพราะระบบความเชื่อของอิสลาม ชี้ถึงรูปแบบแรก กล่าวคือหากย้อนกลับไปพิจารณาที่”ตัวบท” โดยไม่ผ่านทัศนะของนักวิชาการใดๆก็จะพบว่า รูปแบบทางการเมืองของอิสลามเป็นรูปแบบที่หนึ่งเสมอ ส่วนรูปแบบที่ 2 คือรัฐบาลศาสนา ที่ให้ความสำคัญกับศาสนา ก็เป็นรัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับเช่นกัน เพราะลักษณะของรัฐบาลจัดอยู่ในสภาวะของรัฐบาลที่มีเงื่อนไขพอเพียง (พอเพียงสำหรับการสร้างอัตลักษณ์ของรัฐบาลศาสนา)แม้จะขาดเงื่อนไขจำเป็น (เงื่อนไขที่จำเป็นคือกฎหมายที่มาจากศาสนบัญญัติ) รัฐบาลลักษณะนี้จะมีกลิ่นอายของรัฐบาลศาสนาแต่จะไม่ใช่รัฐบาลศาสนาแบบสมบูรณ์ เพราะเปอร์เซ็นต์ของความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบแรกมีน้อยกว่ารูปแบบที่ 2

เหตุผลที่ 2 เพราะรัฐบาลในรูปแบบที่ 2 จัดอยู่ในสภาวะของรัฐที่”จำเป็น”ต้องเป็นเช่นนั้น เราสามารถยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆเช่นในนิติศาสตร์อิสลาม สุกรเป็นสิ่งที่ต้องห้าม แต่หากมุสลิมตกอยู่ในสถานการณ์คับขันที่อาจทำให้ตนต้องเสียชีวิตจากความหิวโหย สุกรจะเป็นสิ่งที่อนุญาตให้รับประทาน เราเรียกพวกเขาว่าผู้ตกอยู่ในสภาวะคับขัน(อิฎตีรอรีย์) นี่เป็นตัวอย่างของนิติศาสตร์อิสลาม เรื่องของรัฐบาลก็เช่นกัน หากการจัดตั้งรัฐบาลศาสนาในรูปแบบที่ 1 มีเปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นไปได้น้อยมาก ในสภาะจำเป็น มุสลิมจึงจะต้องจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบที่ 2 เพราะอย่างน้อยรูปแบบที่สองก็ยังเป็นรูปแบบที่มีการใช้กฎหมายและศาสนบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าอยู่

หากคิดมุมกลับ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องของดินแดนที่มีประชากรมุสลิม เป็นผู้อยู่อาศัยส่วนมาก คำถามคือ แล้วในประเทศที่มุสลิม เป็นประชากรส่วนใหญ่ แนวทางทางการเมืองของพวกเขาคืออะไร ?

คำตอบ พิจารณาจากประวัติศาสตร์การอพยพของมุสลิไปประเทศเอธิโอเปีย และหลักการการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เราได้คำตอบว่า หากมุสลิมในประเทศหนึ่งเป็นประชากรส่วนน้อย จะต้องให้เกียรติต่อสถาบันการปกครองของประเทศที่ตนอยู่อาศัย เฉกเช่นที่ในประวัติศาสตร์ มุสลิมในยุคศาสดา ให้เกียรติต่อสถาบันการปกครองของกษัตริย์เอธิโอเปียในสมัยนั้น ในอีกแง่หนึ่ง แม้จะเป็นส่วนน้อย หลักอิซซัตได้สอนแก่เราว่า ไม่ว่ามุสลิมจะอาศัยอยู่ที่ใด จะต้องอยู่อย่างมีเกียรติเสมอ และสำหรับหลักปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งอิงจากอัลกุรอ่าน พระองค์มิได้ห้ามให้มุสลิมอาศัยร่วมกับคนต่างศาสนิก หรือ ละเมิดพวกเขาโดยมิชอบ ตราบใดที่พวกเขามิได้ละเมิดบุคคลผู้นั้นก่อน ดังนั้นในแง่นี้ โดยหลักการและข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ไทยที่ยาวนานกว่า 400 ปี พิสูจน์ว่ามุสลิม แสดงความเคารพต่อประเทศที่ตนเป็นคนส่วนน้อยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

ดังนั้น มุสลิมจึงไม่ได้พิสูจน์ด้วยคำสัญญา แต่ผ่านการกระทำอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ สิ่งที่เป็นความหวังของมุสลิมในประเทศที่พวกเขาเป็นคนส่วนน้อย คือ เสรีภาพทางจิตวิญญาณ และอิสระในการปฏิบัติตามศรัทธาของตน อุดมการณ์เหล่านี้ เช่น การนมาซ การคลุมฮิญาบ ไม่ได้ละเมิด กดขี่หรือ เบียดเบียนต่อผู้ใด ความปราถนาดังกล่าว คือ เจตจำนงเสรีของมุสลิม