บทความ: “รัฐบาลอิสลาม” – ข้อพิสูจน์ บทวิพากษ์ และเหตุผล

549

—สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องการที่สุด

คือ ความสงบสุขในจิตใจ—

ในปี 1776 ก่อนคริสตกาล ในสมัยพระเจ้าฮัมมูราบี ราชาแห่งบาบิโลน  มีการสลักประมวลกฎหมายบนแผ่นหินบะซอล สีดำ ซึ่งต่อมา ศิลานี้ถูกรู้จักในนามของ “ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี” (Code of Hammurabi) ประมวลกฎหมายชุดนี้ถือเป็นกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการค้นพบกัน  และมันคือเรื่องราวที่แสดงถึงความผูกพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบการปกครอง

หากตั้งคำถามกับนักประวัติศาสตร์ หรือ นักมานุษยวิทยาดาวีนนิสม์ว่า ทำไมถึงมีระบบแบบนี้ มันเริ่มต้นจากตอนไหน ? Yuval Noah Harari เจ้าของหนังสือ เซเปี้ยน ให้คำตอบในหนังสือเล่มนี้ว่า มันเริ่มต้นจากการที่มนุษย์เริ่มพัฒนาและรับรู้ว่า สิ่งมีชีวิต สายพันธุ์ของตน จะอยู่รอดได้ “ต้องอาศัยการร่วมมือกัน” และนั่นคือจุดเริ่มต้นแรกของ รัฐบาล แต่ระยะห่างหลายพันปีระหว่างการปฏิวัติทางการเกษตร กับ การเปลี่ยนจากวิถีชีวิตนักล่า เป็นการอาศัยตั้งถิ่นฐานนำสู่การชุมชน จนไปถึงการสร้างระบบกษัตริย์ และจักรวรรดิต่าง เวลาเท่านี้ ไม่พอสำหรับสร้างแรงจูงใจในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ และเป็นตัวเร่งของเวลาในการพัฒนาสู่การจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาล” จึงต้องอาศัยองค์ประกอบหนึ่งที่มีอำนาจในการยึดเหนี่ยวมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ ตำนาน ความเชื่อ หรือ เรื่องราว

ประโยคอมตะหนึ่งของอริสโตเติล ก็คือ “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” มันไม่ได้เป็นประพจน์ที่ทุกคนยอมรับอยู่แล้วว่าเป็นจริง เเต่มันยังบอกอะไรมากกว่านั้น ยังบอกอะไรเราอีกมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ เมื่อเราเป็นสัตว์สังคม จะอยู่ร่วมกันได้ก็ต้องมีระบบ มีกฎเกณฑ์ และนี่ก็คือ เหตุผลที่สังคมจำเป็นต้องมีระบบเพื่อรักษาความมั่นคงของตนเอง และมันก็คือ ระบบการเมือง  นี่คือคำถามของคำตอบในเชิงทั่วไปว่า ทำไมสังคมถึงจำเป็นต้องมีรัฐบาล ถ้าตั้งคำถามนี้กับอิสลาม อิสลามจะให้คำตอบว่าอย่างไร ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอเนื้อหาในเรื่องนี้ ทั้งข้อพิสูจน์ ข้อวิพากษ์ และบทสรุป

1. อารัมภบท

ณ ที่นี้คำว่า”รัฐอิสลาม” ไม่ได้หมายถึงอิสลามแบบกลุ่มไอเอส  แต่คืออิสลามแบบดั้งเดิมบริสุทธิ์ตรงตามตัวบท ดังนั้นเบื้องต้นจึงขอจากผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความนี้ ให้มองเรื่องนี้ เหมือนได้ยินได้ฟังได้อ่านเป็นครั้งแรก  อย่างที่มีสุภาษิตสอนไว้ว่า “อย่าดูว่าใครพูด แต่จงดูว่าเขาพูดอะไร”

โดยส่วนใหญ่แล้วนักวิชาการอิสลามมักพิสูจน์ถึงความจำเป็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาด้วยเหตุผลทางปัญญาและเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากการพิสูจน์ถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันในรูปแบบสังคม แล้วจากความจำเป็นนี้จะนำสู่การพิสูจน์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลอิสลาม

2. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

เริ่มจากคำถามว่าทำไมมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ทำไมพวกเขาถึงไม่อาจอยู่แยกปลีกวิเวก ?

เมื่อสวมแว่นตาแห่งประวัติศาสตร์จะพบว่า ตลอดหน้าประวัติศาสตร์มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกันในรูปแบบสังคมมาโดยตลอด ในสังคมหนึ่ง ประกอบด้วยครอบครัวหลายครอบครัวรวมกัน และเหตุผลหลักๆ ที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมคือ

  • ความต้องการโดยธรรมชาติและความปรารถนาจากภายในของมนุษย์: มนุษย์มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบสังคมโดยธรรมชาติ เพราะความต้องการทางธรรมชาติของเขาจะไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากการเข้าสังคม และปัจจัยทั้ง 4 ได้แก่อาหาร อาพร ที่อยู่อาศัย คู่ครอง ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมนุษย์ไม่อยู่ร่วมกับสังคม แม้จะมีคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตลำพังในป่าเขา ก็ต้องเริ่มต้นจากการมีสังคมระหว่างพ่อแม่ แม้แต่เมาคลีก็ต้องมีสังคมเพื่อให้ตัวเองเติบโต และในทางจิตวิทยา แรงขับของพฤติกรรมททั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม มีต้นตอหนึ่งมาจาก ความปรารถนาที่จะได้รับรัก ความเคารพ และความสมบูรณ์แบบ เหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้คนไม่มีสังคัมเป็นของตัวเอง ดังนั้นในมุมมองนี้มีข้อพิสูจน์จากหลากหลายศาสตร์ที่ชี้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ขาดสังคมไม่ได้
  • อีกด้านหนึ่งธรรมชาติของมนุษย์ คือการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง : ในแง่มุมนี้ เราจะใช้การคิดเชิงเปรียบเทียบเป็นเครื่องมือ ซึ่งทุกคนจะพบว่า ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนหรือการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสิ่งอื่น และการสร้างผลประโยชน์ที่ดีที่สุดก็คือการเข้าสู่สังคม
  • ปัญญาของมนุษย์เป็นผู้ยืนยันแก่ตัวของพวกเขาเองว่า พวกเขาควรเลือกใช้ชีวิตอยู่แบบสังคมมากกว่าอยู่ตามลำพัง เพราะการอยู่ในสังคมสามารถสร้างโอกาสเพื่อตอบรับสิ่งที่ตนต้องการทั้งในด้านวัตถุหรือในด้านจิตวิญญาณได้ดีกว่าการอยู่เพียงลำพัง ในส่วนนี้เราต้องขยายกรอบของผลประโยชน์ให้กว้างขวางพอโดยดึงเอาผลประโยชน์ทางจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง จะพบว่าการสร้างจิตวิญญาณ การเรียนรู้และการเติบโตของคนเราจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาผูกพันกับสังคม

ข้อพิสูจน์นี้เป็นข้อพิสูจน์ที่นักวิชาการและนักปรัชญาทั้งที่ไม่ใช่มุสลิมและที่เป็นมุสลิมต่างมีความเห็นตรงกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เสนอว่าคนเราควรใช้ชีวิตอย่างปลีกวิเวกและเหตุผลของพวกเขาก็ไม่เพียงพอที่จะยืนยันถึงทฤษฎีนั้น เช่น อนาธิปไตย

3. ข้อพิสูจน์โดยรวมต่อการจัดตั้งรัฐบาลแบบทั่วไป

ผู้เขียนเติมคำว่า “ทั่วไป” เข้าไป เพื่อให้ครอบคลุมต่อทุกระบบการปกครอง และเติมคำว่า”โดยรวม” เพื่อชี้ว่า เนื้อหาที่ท่านอ่านจะมาจากตำราของมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม ก็มักนำเสนอข้อพิสูจน์เบื้องต้นกันในลักษณะนี้ ประเด็นนี้ คือการตอบคำถามว่าทำไมประเทศหนึ่งประเทศจึงจำเป็นต้องมีรัฐบาล ?

คำตอบของคำถามนี้ คือคำตอบเดียวกับที่ได้พิสูจน์ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตในรูปแบบสังคม แต่ต่อยอดความคิดเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งชั้น กล่าวคือ “ปัญญา”ของเราก็ตัดสินว่า”จำเป็นที่มนุษย์ต้องตั้งกฎเกณฑ์บางอย่างขึ้นมา และเพื่อบริหารสังคม และเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ให้มากที่สุดสำหรับส่วนรวม สร้างกฎเกณฑ์ที่จะทำให้สังคมได้รับผลประโยชน์สูงสุด และนั่นก็คือ”กฎหมายและการปกครอง” เพราะเมื่อสังคมปรากฎ ความขัดแย้งย่อมตามมา และเพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะคิดเหมือนกัน และเราก็ไม่ใช่คนดีกันเสียทั้งหมด จึงต้องมีอำนาจกลางที่เรียกว่า”รัฐบาล” และข้อตกลงร่วมกันที่เรียกว่า”กฎหมาย” มาบริหารกิจการบ้านเมือง แน่นอน สาเหตุข้องความขัดแย้ง อาจมาจากข้อกำจัดทางทรัพยากรหรือความขัดสน หรือ ความโลภ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เพื่อบริหารและขจัดความขัดแย้งจึงจำเป็นต้องมีกฎสำหรับส่วนรวม และกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยผู้ที่เรายึดมั่นว่าพวกเขาจะเป็นกลาง ซึ่งในปัจจุบัน เราเรียกว่า”ความชอบธรรม “ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นมีรัฐบาลและตัวแทนของประชาชนในการบริหารความขัดแย้ง

 

กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง
-มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่มีความขัดแย้ง ด้วยปัจจัยหลายประการ
-เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด  จำเป็นต้องมีข้อตกลงร่วมกัน ภายใต้อำนาจที่แข็งแกร่งพอให้สังคมนั้นเคารพยำเกรง
 สำหรับมนุษย์
-อำนาจนั้น คือ อำนาจของระบบการปกครอง

อิบนิคอลดูน  ได้อธิบายว่า หลังจากที่เราต่างรู้ว่าามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตในรูปแบบสังคมและมีอารยธรรมโดยธรรมชาติ ผลของการอยู่ร่วมกันในเชิงสังคมของมนุษย์ในด้านหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์ความขัดแย้งและการเป็นศัตรูซึ่งถือเป็นสัญชาตญาณด้านหนึ่งของมนุษย์ และเพื่อขจัดภัยนี้ ทางแก้ก็คือการสร้างอำนาจหนึ่งขึ้นมาที่เหนือกว่าอำนาจอื่นๆซึ่งมันคือ”รัฐบาล” (อิบนิคอลดูล,มุกอดดิมะฮ น.41-43)

ความคิดนี้แตกต่างจาก ความคิดของโทมัส ฮอบส์ ที่มองว่า มนุษย์ชั่วร้ายโดยกมลสันดาน นักปรัชญาอิสลามไม่ได้เชื่อว่า เด็กทารกเกิดมาพร้อมความชั่วร้าย ที่ต้องล่ามด้วยการปกครองของพ่อแม่ ทว่าความคิดของพวกเขาผลิตจากแนวคิดพื้นฐานของอิสลามเกี่ยวกับมนุษย์ ที่สอนว่า มนุษย์ทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า “ฮาวานัฟซู” หรือ อัตตาใฝ่ต่ำ หรือ     “กูวะตุลอากีละฮ์” หรือ พลังแห่งปัญญา และพวกเขาต้องทำสงครามต่อสู้เอาชนะจิตใจตนเองตลอดเวลา แต่สำหรับผู้ที่ยอมให้อัตตาเข้าครอบงำ จนกลายเป็นแรงผลักให้เกิดพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อสังคม เพื่อยับยั้งและนำทาง จึงต้องมีรัฐบาลเข้ามาบริหารปกครองบ้านเมือง และนี่ไม่ใช่เหตุผลเดียว ยังมีเหตุผลอื่นๆ  มากมาย เพราะในอีกด้านหนึ่งสังคมของมนุษยชาติพยายามแสวงหาเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้น อันเป็นความปรารถนาของสังคมก็คือ ระบบการปกครองที่ยุติธรรม,ความมั่นคงของประเทศ, การเรียนการศึกษาที่ถูกต้อง,การพัฒนาชีวิตทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณ,สวัสดิการและความช่วยเหลือที่มั่นคงสำหรับราษฎร เหล่านี้คือเป้าหมายตลอดกาลที่ทุกสังคมต่างแสวงหา เป้าหมายเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐสำหรับสังคมหนึ่งสังคม เพราะหากไม่มีรัฐบาลเป้าหมายเหล่านี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ เช่นสงครามชนเผ่าในคาบสมุทรอาหรับก่อนการปฏิวัติของศาสดามูฮัมหมัด(ศ) บ้านเมืองที่ไม่มีขื่อมีแป จะทำให้ทุกคนเป็นศัตรูกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

ประเด็นน่าคิด 
แม้ว่าความจำเป็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล แล้วแทบที่จะไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ 
แต่ก็มีลัทธิบางกลุ่ม ที่ปฏิเสธการมีรัฐ ได้แก่ อนาธิปไตย (anarchism)  กรมอนาธิปไตยมีความเชื่อว่าสังคม
ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล พวกเขายังเชื่อว่า หากประชาชนรู้จักกฎเกณฑ์ และปฏิบัติตามสัญญาทางศีลธรรม 
สังคมนั้นย่อมไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล
คำถามคือ หากพิจารณาสารัตถะของความเป็นมนุษย์ ผู้อ่านคิดว่า เราสามารถยอมรับทฤษฎีนี้ได้หรือไม่ ? 
แค่เรียนมีการศึกษา ได้รับการอบรมสั่งสอน จะทำให้สังคมและสมาชิกทั้งหมดของสังคมนั้นมีพฤติกรรมที่ดีงาม
และเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ ?

4.ระบบการปกครองแบบอิสลาม

หลังจากพิสูจน์แล้วว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และสัตว์สังคมต้องมีระบบ-กฎเกณฑ์ จึงมาถึงวาระที่นักวิชาการอิสลาม จะพิสูจน์ถึง รัฐบาลอิสลาม โดยข้อพิสูจน์ได้แก่

4.1 ในประเทศที่ มีมุสลิม เป็นประชากรเป็นส่วนมาก ระบบที่เหมาะสมแก่การปกครองมุสลิม คือ ระบบกฎหมายที่ประชากรส่วนมากศรัทธา และสำหรับมุสลิม ระบบที่พวกเขาเชื่อมันคือระบบอิสลาม เหตุผลเบื้องต้นเพราะเป็นระบบที่มอบผลประโยชน์ให้แก่สังคมได้มากที่สุดในฐานะที่สังคมนั้น เชื่อและศรัทธา ในอิสลาม จึงไม่มีกฎหมายใดที่จะใช้ปกครองมุสลิม ได้ดีเท่ากฎหมายอิสลาม ด้วยเหตุผลนี้ ระบบอิสลาม จึงควรถูกจัดตั้ง ในฐานะที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้น

4.2 ระบบการเมืองแบบอิสลาม จะสร้างโอกาสให้ชาวมุสลิม สามารถปฏิบัติตาม อะฮ์กาม หรือ ศาสนบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับความสมบูรณ์แบบ  กฎหมายชะรีอัตบางประการ ไม่อาจปฏิบัติได้ หากระบบการปกครอง ไม่ใช่ระบบอิสลาม เช่น การคลุมผ้าฮิญาบ ระบบซะกาต หรือ มาตรฐานการกินอาหารตามหลักสุขอนามัยของอิสลามที่เรียกว่า “ฮาล้าล” เช่น การจำหน่ายสุรา หรือแม้แต่ ทางเศรษฐกิจ เช่น การยกเลิกดอกเบี้ย หรือ การวางกฎหมายห้ามบ่อนพนัน และเรื่องราวมากมาย ที่จะต้องเป็นไปตามภาคคำสั่ง จะไม่อาจเกิดขึ้น หากไม่มีรัฐที่ใช้คำสั่งนี้จริง

ประเด็นเพิ่มเติม 

หากพิจารณาในประวัติศาสตร์อิสลาม จะพบว่า เหล่าศาสดา และตัวแทน มักสร้างกระบวนการในการจัดตั้งรัฐบาลเสมอ จนกลายเป็นวิถีแห่งศาสดา กล่าวคือ หากศาสดายุคหนึ่ง ไม่สามารถ จัดตั้งรัฐบาลได้ ศาสดายุคนั้น จะเตรียมความพร้อมสำหรับ ศาสดาที่มารับพันธกิจต่อ เฉกเช่น ดาวุด สุไลมาน คัยดิร มูซา ฮารูน หรือ หากเจาะจงที่อิมามของมัซฮับชีอะฮ์ ก็จะพบกรณีเช่นนี้ กล่าวคือ หากอิมามท่านหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐได้ อิมามท่านนั้นจะเตรียมการเพื่ออิมามคนถัดไป

กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง
-ระบบการปกครองใดก็ตามจะถูกจัดตั้งขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการยินยอม และความศรัทธาของประชาชนในดินแดนนั้น
-ในดินแดนที่ประชากรส่วนมากเป็นชาวมุสลิม ระบบที่คนส่วนมากศรัทธาคือ ระบบอิสลาม
-ดังนั้นในดินแดนมุสลิม ระบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดคือ ระบบการปกครองแบบอิสลาม

5.วิเคราะห์ข้อหักล้างของกลุมที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลอิสลาม 

5.1 เรื่องของรัฐบาล และการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับอิสลาม

ข้อโต้แย้งแรกเป็นแนวคิดของลัทธิเซคิวลาร์(secularism) พวกเขามีความเชื่อว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ไม่ครอบคลุม มิติด้านการเมือง ศาสดามีหน้าที่ในการเผยแพร่สารแห่งศาสนาเท่านั้นและไม่ได้มีความปรารถนาที่จะแสวงหาอำนาจ พระองค์จึงไม่ได้ปฏิวัติเพื่อก่อตั้งระบบกษัตริย์ ตามหลักการนี้กลุ่มดังกล่าวใช้เหตุผลว่า มูฮัมหมัด (ศ) มิได้เป็นใครนอกจากศาสดาผู้ที่เป็นเหมือนกับพี่น้องของศาสดาเท่านั้น มิได้เป็นกษัตริย์ และมิได้เป็นผู้ก่อตั้งรัฐ (อับดุลรอซาก,อิสลาม วะ มาบานี กุดรัต,น138) ตามความเห็นของทฤษฎีนี้ ศาสดามูฮัมหมัด(ศ) มีข้อจำกัดในการเผยแพร่ ตรงที่ศาสนามีจุดประสงค์ในทางศีลธรรมมากกว่าจุดประสงค์ในทางการเมืองหรืออำนาจ และบางส่วนก็มีความเชื่อว่า ในอัลกุรอาน คำที่มีความหมายเชิงสังคมเช่น อุมมัต ซึ่งหมายถึงประชาชาติ อิสติกบาร ซึ่งหมายถึงการลำพองตน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองหรือเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของศีลธรรมทางสังคมเสียมากกว่า (มะฮดีบอซัรกอนี,อาคีรัต วะ คูดา,น 84)

วิพากษ์ : การจัดตั้งรัฐบาลโดยศาสดามูฮัมมัด(ศ) หักล้างทฤษฎีนี้อย่างหมดจด และหากพิจารณาถึงสาเหตุของการประธานโองการ และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังคมก็จะพบว่า อิสลามเป็นศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่เริ่มต้น ทฤษฎีดังกล่าวจึงเป็นทฤษฎีที่ไม่ได้ถูกตั้งอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และสิ่งที่น่าจับตามองก็คือ การที่มีศาสดาองค์นึงอ้างตนเป็นศาสดาและจัดตั้งรัฐ ไม่ได้หมายความว่า หากรูปแบบของรัฐบาลไม่ตรงกับรูปแบบอื่นๆ เช่น การปกครองแบบกษัตริย์ หรือการปกครองแบบสภาฯ จะหมายความว่ารูปแบบการปกครองนั้นไม่ใช่รูปแบบการปกครองทางการเมือง บ่อยๆที่นักรัฐศาสตร์ มักนำเสนอ รูปแบบการปกครองอันหลากหลาย แต่กลับละเลย บทบาทการปกครองในประวัติศาสตร์ของเหล่าศาสดา

5.2 ข้อจำกัดของเวลาในศาสนบัญญัติอิสลาม

ข้อโต้แย้งต่อมาเป็นของนักบูรพาคดีตะวันตก และอเทวนิยม และกลุ่มอื่นๆ ความคิดของพวกเขาคือ หากสมมติว่าศาสนบัญญัติเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองและการปกครอง และสารของศาสนาก็เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ความเก่าของศาสนา ก็เป็นหลักฐานที่เพียงพอจะพิสูจน์ว่า รัฐศาสนนิยมไม่ควรถูกจัดตั้ง

วิพากษ์ : ค่านิยมที่ถูกต้องไม่ขึ้นกับเวลา ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความเป็นธรรม การปกครองที่ดี ล้วนเป็นแนวคิดที่เก่าแก่พอๆ กับอารยธรรมของมนุษย์ และมันก็ไม่ได้สูญหายหรือถูกทำลาย และสำหรับชาวมุสลิม อิสลามเป็นศาสนาที่ถูกออกแบบมาให้เป็นศาสนาสุดท้ายและจะดำรงอยู่จนถึงวันสิ้นโลก เช่นเดียวกันอิสลามเป็นศาสนาที่ถูกออกแบบให้มีคำสอนที่ครอบคลุมในทุกมิติของชีวิต แม้กระทั่งเรื่องของการเมือง ดังนั้นหากพิสูจน์ได้ว่าอิสลามเป็นศาสนาสุดท้ายและมีศาสนบัญญัติที่มีไว้เพื่อคนในทุกยุคทุกสมัย นั่นก็หมายความว่าในเรื่องของการเมืองการปกครองอิสลามก็ออกแบบรัฐบาลของตนเองไว้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแห่งมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน เวลาจึงไม่ใช่พันธะที่จะตัดสินว่าระบบการปกครองแบบอิสลามควรใช้ในยุคสมัยใดและไม่ควรใช้ในยุคสมัยใด

5.3 ศาสนบัญญัติกับการเมือง

ปัญหาข้อนี้เป็นการแย้งว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองการปกครองส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความรู้ทั่วไป เช่นรัฐศาสตร์,เศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์  ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ภาคศาสนบัญญัติ ดังนั้นรัฐที่ปกครองโดยมีรูปแบบของศาสนาเป็นแกนกลางจึงไม่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาใดๆ เกี่ยวกับบ้านเมืองได้

วิพากษ์ : ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่สร้างภาพลักษณ์ต่อศาสนบัญญัติให้มีลักษณะเหมือนกับคำสอนทางศีลธรรมด้วยความศรัทธาส่วนบุคคล มากกว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสังคม นักวิชาการมุสลิมที่สนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลแบบอิสลามสามารถตีโจทย์กลับไปได้ว่า ประการแรก ศาสนบัญญัติของอิสลามครอบคลุมในเรื่องของการเมืองและการปกครอง และมีระบบยุติธรรม ระบบบริหารจัดการ และสวัสดิการอยู่ในตัวของศาสนบัญญัติ การนำเสนอทฤษฎีใดๆ ที่พิสูจน์ว่าศาสนบัญญัติไม่ใช่เรื่องของการเมืองจึงเป็นการแสดงถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับศาสนบัญญัติ กล่าวคือ ในแง่ของอรรถปริวรรตศาสตร์ (Hermeneutics) สะท้อนให้เห็นว่าการตีความศาสนบัญญัติในลักษณะนี้เป็นการตีความที่ไม่พิจารณาถึง “ตัวบท” นักวิชาการมุสลิมสามารถตอบคำถามนี้ได้ว่า การโต้แย้งนี้เสนอเนื้อหาบนพื้นฐานการแยกจากกันระหว่างการบริหารในเชิงศาสนบัญญัติ  กับ การบริหารในเชิงความรู้ทั่วไป และตัดสินไปในตัวแล้วว่าการบริหารโดยอาศัยความรู้ทั่วไปคือการบริหารที่สมเหตุสมผล กอปรด้วยสติปัญญา ทั้งที่ในความเป็นจริงแต่ละสำนักคิดทางการเมืองต่างก็โจมตีกันและกัน ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มอนาธิปไตยกับกลุ่มประชาธิปไตย หรือแม้แต่คอมมิวนิสต์ ต่างฝ่ายต่างมองว่า แนวคิดของตน มีเหตุผลมากกว่าสำนักอื่น ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ประการที่สอง หากศาสนบัญญัติอิสลาม ไม่ใช่สิ่งที่กอปรด้วยปัญญาและเหตุผลในตัวเอง ในด้านหนึ่งจะต้องไม่มีคำสอนจากศาสนบัญญัติใดๆ เลยที่สามารถส่งผลกระทบในเชิงบวกให้สังคมที่ปกครองด้วยศาสนบัญญัติฉบับนั้น ตัวอย่างที่เก่าแต่ยังคงแข็งแกร่ง คือ สังคมฮิญาบ ที่แก่นของปรัชญาข้อนี้ คือการสร้างเกราะป้องกัน และการให้เกียรติในทางบุคลิกภาพให้กับสตรี,สวัสดิการพลเรือนที่เท่าเทียมกันเพื่อให้ประชาชนในสังคมมีความมั่นคงในการดำรงชีพสำหรับทุกๆคน ด้วย”ระบบบัยตุลมาล” งบประมาณช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสผู้ยากไร้ผู้ขัดสนที่ถูกเรียกว่า “ซะกาต” เหล่านี้เป็นตัวอย่างของศาสนบัญญัติที่มีฟังก์ชันในเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีเหตุผลที่ทุกๆข้อห้าม หรือข้อบังคับให้ปฏิบัติจะต้องเป็นไปแบบนั้น ประการที่สาม หากพิจารณารัฐบาลศาสนานิยม จะพบว่ารัฐบาลในลักษณะนี้ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของศาสนบัญญัติแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีความรู้ในศาสตร์ด้านอื่นๆเข้ามาเพื่อหนุนและพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองและสังคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กล่าวคือศาสนบัญญัติไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีหรือสิ่งทันสมัยหรือแนวคิดใหม่ๆหรือนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ทำหน้าที่ในการบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม เปรียบเหมือน มนุษย์สมัยนี้ที่มีความรู้ในการสร้างอาวุธทำลายล้างสูง แต่ความรู้นี้ไม่ได้บอกเราว่า ควรใช้มันทำอะไร หันใส่ใคร หรือ ใช้เพื่อจุดประสงค์ใด หน้าที่ของศาสนบัญญัติ ณ ที่นี้ จึงแทบไม่มีความแตกต่างกันกับกฎหมาย และคำถามที่นำมาซึ่งกฎหมาย ก็คือคำตอบที่จะต้องตามมาด้วยเหตุผล ซึ่งในประเทศที่มีการใช้หลักคิดทางศาสนาเป็นโครงสร้างทางการเมือง และใช้ศาสนบัญญัติ เป็นกฎหมายในแต่ละมาตรา ก็จะต้องตามมาด้วยเหตุผลไม่ต่างกัน ฝั่งผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลแบบมีศาสนาบัญญัติเป็นธรรมนูญ จึงไม่สามารถอ้างได้ว่า ศาสนบัญญัติไม่เกี่ยวข้องกับศาสตร์แห่งการเมือง แน่นอนว่าคำตอบนี้ มีประสิทธิภาพในฐานะที่สามารถหักล้างความคิดของฝ่ายตรงข้ามได้เท่านั้น ส่วนการจะพิสูจน์ว่ารัฐที่ปกครองโดยมีศาสนาเป็นค่านิยมนั้นดีกว่ารัฐอเทวนิยมอย่างไร จำเป็นที่จะต้องไปพิสูจน์และถกเถียงกันในปรัชญาการเมืองในพื้นที่และหัวข้อของมัน

5.4 ผลลัพธ์ที่เลวร้ายของศาสนากับการเมือง

ในแง่มุมนี้เสนอข้อโตแย้งได้ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติชี้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ศาสนาเข้าแทรกแซงเรื่องการเมือง ผลลัพธ์ที่เลวร้าย มักตามมาเสมอ ตัวอย่างที่ถูกยกกันอย่างแพร่หลายก็คือ “ยุคกลางอันแสนมืดมนแห่งคริสจักร” และแม้แต่ประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม ก็ยังพบว่าอิสลามก็มียุคมืดอยู่เช่นเดียวกัน เช่นยุคสมัยราชวงศ์อามาวีย์ และ อับบาซียะห์ เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง การเปลี่ยนระบอบการปกครองจากอำนาจของศาสดาเป็นระบอบกษัตริย์ การร่างกฎหมายตามอำเภอใจของนักปกครอง การคอรัปชั่นแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น จนนำมาซึ่งความไม่มั่นคงและความล้มเหลวทางการเมือง ในศตวรรษที่ 20 เผด็จการบางส่วนก็อ้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาในการสร้างความชอบธรรมให้การปกครองของตนเอง เช่น ซัดดัม ฮุสเซน หรือ มุอัมมาร กัดดาฟี เรื่องนี้เป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนต่างรู้ และความรู้ของสาธารณะไม่ได้พิจารณาจากแนวคิดหรืออุดมการณ์ของนักปกครองเหล่านั้น แต่ดูจากผลที่ตามมา ผลจากสิ่งที่ผู้กดขี่ได้ฝากไว้ให้โลกใบนี้

วิพากษ์ : ในประเด็นนี้นักวิชาการอิสลามสามารถโต้แย้งได้ว่า หากมีคนจํานวนหนึ่งใช้ชื่อของศาสนาเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ นั่นไม่ได้หมายความว่า ศาสนาสนับสนุนผู้ปกครองที่ชั่วร้ายเหล่านั้น และในทางกลับกันศาสนายังไม่อนุญาตให้ประชาชนหลับหูหลับตาปล่อยให้กดขี่อาณาประชาราษฎร์ต่อไป เราพบคำสอนจากตัวบทมากมายที่เรียกร้องให้ผู้นับถือศาสนาต่อสู้กับผู้กดขี่ โดยเฉพาะผู้กดขี่ที่อ้างศาสนา เพื่อแสวงหาอำนาจของตน เช่นเดียวกันมุสลิมต่างมีความเชื่อว่ารัฐบาลใดก็ตามที่ใช้โอกาสในการแสวงหาอำนาจโดยใช้ศาสนาเพื่อสร้างความมั่นคงที่ไม่ชอบทำให้แก่ตนเอง รัฐบาลนั้นย่อมไม่ใช่รัฐบาลที่ใช้ศาสนาเป็นหลักธรรมในการปกครอง  กล่าวในบริบทหนึ่งคือ ไม่ใช่เพราะศาสนาที่ทำให้เกิดความมืดมน แต่เป็นฝีมือของคนที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือที่ทำให้ความมืดมนปกคลุมแผ่นดิน

และหากพิจารณาในแง่ของประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า ไม่ใช่ทุกประเทศหรือทุกพื้นแผ่นดินที่ปกครองด้วยระบบศาสนาจะล้มเหลวเสียเสมอไป ยุคสมัยอาลีบาวัย หรือ ซาฟาวิดยุคริเริ่ม ก็แสดงให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จในแง่ของอารยธรรมความรู้ เศรษฐกิจและอื่นๆอีกมากมาย เช่นเดียวกัน และในยุคสมัยนี้เองอิหร่านก็เป็นตัวอย่างที่ดีและเหมาะสมที่จะพิสูจน์ว่ารัฐที่มีศาสนาเป็นค่านิยมหลัก ก็สามารถประสบความสำเร็จและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

5.5 มลทินของความศักดิ์สิทธิ์

ในหัวข้อนี้ข้อโต้แย้ง คือ เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์และความสูงส่ง ส่วนเรื่องการเมืองเป็นเรื่องโลกีย์ และมีมลทิน เราแทบจะไม่พบเจตนาที่บริสุทธิ์ในสนามรบแห่งการเมือง การนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นเหมือนกับการทำลายความศักดิ์สิทธิ์และความสูงส่งและความบริสุทธิ์ของศาสนาไปในตัว และยังทำให้ศาสนาต้องแปดเปื้อนมลทิน ดังนั้นศาสนาก็ควรอยู่ในส่วนของศาสนา ส่วนการเมืองก็ควรอยู่ในส่วนของการเมือง

วิพากษ์ :  ในแง่นี้พิจารณาการเมืองเป็น 3 ประเภท การเมืองแบบปีศาจ การเมืองแบบมนุษย์ และการเมืองแบบพระเจ้า หากเล่นการเมืองโดยมีค่านิยมแบบซาตาน กล่าวคือ การเมืองที่สกปรกและชั่วร้าย ผลก็คือการทำลายซึ่งกันและกัน และประชาชนก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากการเมืองประเภทนี้เลย เพราะทุกฝ่ายต่างก็มีจิตอกุศลที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เพื่อพรรคพวกของตนเอง และคำว่า”ผลประโยชน์ส่วนรวม” ก็เป็นอาวุธชิ้นดีที่เอาไว้ใช้สำหรับการกอบโกยและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งของการเมืองแบบนี้ผลกระทบที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นกับทุกคน ส่วนการเมืองแบบมนุษย์  จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางโลกีย์ให้กับสังคม แต่สุดท้ายการเมืองในรูปแบบมนุษย์ก็ไม่สามารถตอบโจทย์แก่นที่แท้จริงของมนุษย์ได้ เพราะมนุษย์ไม่ได้แสวงหาแต่วัตถุ พวกเขายังแสวงหาจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน จึงมีเพียงการเมืองแบบพระเจ้าเท่านั้นที่ให้ความสำคัญและแสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางวัตถุและทางจิตวิญญาณอันเป็น 2 มิติแห่งความเป็นมนุษย์ ในเรื่องนี้มันจะขึ้นอยู่กับลักษณะของนักการเมือง ถ้าหากพวกเขาเล่นการเมืองแบบปีศาจ และถ้าหากทุกคนที่เป็นผู้บริหารเป็นนักปกครองเล่นการเมืองกันแบบปีศาจในประเทศนั้น ผลที่ได้ก็คือการเมืองที่สกปรก แต่หากนักการเมืองในภูมิภาคนั้นเล่นการเมืองโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านวัตถุและจิตวิญญาณเป็นหลักหรือกล่าวในอีกแง่หนึ่ง คือเล่นการเมืองแบบพระเจ้า ผลที่จะได้รับก็คือผลประโยชน์ทั้งทางวัตถุและทางจิตวิญญาณ ซึ่งนี่อาจเป็นจุดเด่นของระบบการปกครองโดยมีศาสนาเป็นค่านิยมหลัก

ยูโธเปีย เป็นภาพจำลองของดินแดนแห่งความผาสุกซึ่งแกะและสิงโตสามารถดื่มน้ำร่วมกันในลำธารเดียว หลายสำนักคิดต่างก็อ้างว่าฟ้าสีทอง รัฐที่ประสบความสำเร็จ คือรัฐในอุดมคติของตน การเปรียบเปรยระหว่างแกะกับสิงโต อธิบายว่า ความหมายของมันก็คือสิงโตคือผู้ที่แข็งแกร่งกว่า ส่วนแกะคือผู้ที่อ่อนแอกว่า แกะกับสิงโตจะอยู่ร่วมกันได้และดื่มน้ำร่วมนำทางเดียวกันได้ ไม่ใช่เพราะอาหารอุดมสมบูรณ์จนสิงโตไม่ต้องล่าแกะอีก  และก็ไม่ใช่เพราะสิงโตและแกะมีอิสระพี่จะทำตามสิ่งที่ตนต้องการ แต่เป็นเพราะทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะไม่กดขี่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  มันไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์หรือเสรีภาพ แต่มันคือเรื่องของคุณธรรมและจิตสำนึกที่จะทำให้ผู้แข็งแกร่งและผู้อ่อนแอสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมโดยปราศจากการกดขี่ แน่นอนการเมืองในบรรยากาศแบบนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในบรรยากาศที่โสมม หรือ แสวงหาแต่วัตถุ เพราะมันคือ เรื่องของ “จิตวิญญาณ”

5.6 มลทินของนักการศาสนา

ปัญหาข้อนี้คือ เมื่อนักการศาสนาและผู้มีบุญในศาสนาก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเลื่อมใสของพวกเขาได้รับมลทิน ผลที่จะตามมาคือประชาชนจะไม่ตามไม่เลื่อมใสหรือศรัทธาในตัวของพวกเขาอีก สถานที่สุดนำมาสู่การไม่ปฏิบัติตามศาสนบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเข้ามาเล่นการเมือง เพื่อให้พวกเขาสามารถเผชิญกับคลื่นแห่งความไม่พอใจและการสาดโคลนแล้วความผิดหวังได้เต็มที่ เพื่อรักษาศาสนาไว้

กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง
-หากนักการศาสนาเข้ามาเล่นการเมืองจะทำให้ผู้คนไม่ศรัทธาในนักการศาสนา
-หากผู้คนไม่ศรัทธาในนักการศาสนา จะทำให้ผู้คนไม่ปฏิบัติตามศาสนา
ดังนั้นนักการศาสนาจึงไม่ควรเล่นการเมือง

วิพากษ์ : ในปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั้งในประวัติศาสตร์ และในปัจจุบัน เราสามารถวิพากษ์ปัญหานี้ได้ดังนี้

ประการแรก : นักการเมืองที่ประชาชนโจมตี คือนักการเมืองที่เล่นการเมืองแบบซาตาน และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆไม่เว้นแม้แต่ศาสนาเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ดังนั้นหากนักการศาสนาเข้ามาสู่เวทีการเมือง โดยมีแรงจูงใจ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณให้ประชาชนและปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ ในกรณีแบบนี้แทนที่ประชาชนจะต่อต้านพวกเขา ประชาชนจะดึงดูดและมีความรักใคร่ต่อพวกเขา ตัวอย่างของผู้รู้แนะนาการศาสนาที่เข้ามาสู่เวทีทางการเมืองได้แก่ อิมามโคมัยนี ซัยยิดกุฏบ์ ,ดร.เบเฮชตี

ประการที่สอง: เป็นไปได้ว่าการเข้าสู่การเมืองของนักการศาสนาจะมีผลทำให้เกิดมลทินแก่ตัวของพวกเขา  อาจเป็นเรื่องของการใส่ร้าย ชีวิตของพวกเขาจะถูกตรวจสอบทุกกระเบียดนิ้ว ทุกคนที่ไม่ชอบเขาจะพยายามหาข้อผิดพลาดแม้เพียงธุลี  แต่สิ่งที่เราต้องมองหาก็คือ อะไรคือต้นตอของมลทินเหล่านี้ เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสอง บางครั้งมลทินของนักการศาสนาอาจเกิดมาจากการเผยแพร่สื่อของฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลนั้น หรือบางครั้งก็มีที่มาจากนักวิชาการคนอื่นๆที่ไม่สนับสนุนนักการศาสนาผู้นั้น หรือในบางกรณีก็เกิดจากความผิดพลาดในการทำงานของนักการศาสนาบางท่าน มีปัจจัยมากมายที่กลายเป็นตัวแปรของมลทิน เรื่องเหล่านี้ชี้ให้เราเห็นว่า การที่นักการศาสนาเข้ามาสู่เวทีการเมือง แล้วโดนมลทินหรือถูกสาดโคลน ไม่ใช่เหตุผลที่ดีแล้วเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่านักการศาสนาไม่ควรเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในทางการเมือง ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็เหมือนกับแพทย์ หากมีหมอสักคนหนึ่ง ถูกตั้งข้อครหาอะไรสักข้อนึง ไม่ได้หมายความว่าหมอทั้งหมดจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโรงพยาบาล เพราะบางคนในโรงพยาบาลนั้นทำเรื่องผิดพลาดหรือทำเรื่องไม่ดีจนทำให้ถูกตั้งข้อครหาและกลายเป็นมลทิน ในเรื่องของนักการศาสนาก็เช่นกัน การที่มีนักการศาสนาบางคนถูกตั้งข้อครหา ไม่ใช่เหตุผลว่านักการศาสนาทั้งหมดจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของการเมือง

ประการที่สาม: ความศักดิ์สิทธิ์ของนักการศาสนา จะเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในแต่ละเวที หน้าที่ของพวกเขาครอบคลุมทั้งในเรื่องของสังคม เรื่องการเมือง การปกครอง ดังนั้นหากมีนักการศาสนาคนใดคนหนึ่งสูญเสียความน่าเลื่อมใสหรือความศักดิ์สิทธิ์และสถานะสูงส่งของตน เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง พวกเขาจะไม่เสียสถานภาพความสูงส่งของตัวเอง ก็การที่นักการศาสนาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็ถือเป็นพันธกิจและการปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามมีสองมุมมอง ที่สมเหตุสมผลในการพิสูจน์ว่าใครสักคนหนึ่งไม่สมควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็คือ ผู้ไม่รู้ กับ ผู้สนองอัตตาตนเอง กล่าวคือ ผู้ไม่รู้ในเรื่องของการเมืองสังคมและอื่นๆที่มีผลสำหรับใช้ในการตัดสินใจบริหารบ้านเมือง ย่อมไม่มีความเหมาะสมที่จะดำรงอยู่ในตำแหน่งที่มีผลต่อประเทศชาติ เพราะหากปล่อยให้ผู้ไม่รู้บริหารประเทศ ผลลัพธ์ที่โง่เขลา จะผิดดอกออกผลในสังคม เช่นเดียวกันผู้สนองอัตตาตนเอง จะทำทุกอย่างเพื่อตนเอง โดยไม่สนใจว่าผู้อื่นจะได้รับผลกระทบอย่างไร ในคำสอนของนิโคไลมาเคียเวลลี จะพบลักษณะของนักการเมือง ที่ใช้ศีลธรรมจริยธรรม เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสถานะทางการเมืองให้กับตนเอง แต่อย่างที่เรารู้กัน ไม่มีอะไรคงทนได้เท่ากับความดี หากบริหารประเทศชาติด้วยกิเลส บ้านเมืองย่อมลุกเป็นไฟ