ชิ้นผ้าเขย่าโลก: จากยุคล่าอาณานิคมถึงวันนี้- “ฮิญาบ”กลายเป็น “สัญลักษณ์ทางการเมือง” ได้อย่างไร?

894
สตรีชาวอียิปต์ ในการประท้วงต่อการปรากฏตัวของอาณานิคมอังกฤษในอียิปต์ (ราวปี 1920)

ผู้หญิงมุสลิมใดก็ตามที่สวมใส่ฮิญาบ โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้มีชาวมุสลิมเป็นคนหมู่มาก ย่อมต้องเคยเผชิญอย่างซึ่งหน้ากับภาวะกดดันเชิงการเมือง ซึ่งโอบล้อม ชิ้นผ้าคลุมศีรษะ – หรือสิ่งที่โดยพื้นฐานแล้ว คือ สัญลักษณ์แห่งความศรัทธาในศาสนา เครื่องแต่งกายซึ่งบ่งชี้ถึงความเคร่งครัด และความรักนวลสงวนตัวสำหรับสตรีเพศ

ไม่ว่ามันจะถูกจำกัดความในฐานะ เครื่องหมายแห่งการกดขี่ หรือ สัญลักษณ์ทางการเมือง การเป็นตัวแทน หรือ สิ่งที่พูดแทนผู้สวมใส่มัน เหมือนกับเครื่องแต่งกายทั่วๆไป มักถูกละเลยในวาทกรรมที่รอบล้อม “ฮิญาบ”- ขณะที่หลายฝ่ายได้แตะต้องไปยังประเด็นเกี่ยวกับการตรวจร่างกายผู้หญิงมุสลิม ณ ที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้งในการอภิปรายเหล่านี้ น้อยคนนักจะกล่าวถึง กระบวนการที่ซึ่งฮิญาบ ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องของ “การเมือง”

การทำให้ฮิญาบกลายเป็นประเด็นทางการเมือง – กรณีซึ่ง การตัดสินใจสวมใส่มัน ถูกจำกัดให้อยู่ในรูปแบบหนึ่งของการกระทำเชิงการเมือง หยั่งรากของมันมาจากยุคล่าอาณานิคมในโลกมุสลิม โดยมหาอำนาจตะวันตก

การแผ่ขยายของจักรวรรดิ์ยุโรป ไปยังพื้นที่ส่วนที่เหลือของโลกในช่วงสี่ร้อยปีที่ผ่านมา ได้สร้างอาชญาสิทธิ ซึ่งขยายอำนาจควบคุม และอิทธิพลของมันเหนือดินแดนที่ได้ยึดครองมาอย่างไม่ชอบธรรม

ในความสัมพันธ์เช่นนี้ อิทธิพล และอำนาจของผู้ล่าอาณานิคม ขยายตัวเหนือขอบเขตของการยึดครองโดยกองกำลังทหารเพียงเท่านั้น และมันครอบคลุมกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยมันได้สำทับแนวคิด เรื่องความเป็นอภิสิทธิ์ชนที่เหนือกว่าของชาวยุโรปแก่ชนชาติอื่น เช่นเดียวกับ การเน้นย้ำไปยังสิทธิที่ได้รับการอุปโลคขึ้นของชาวยุโรปในฐานะผู้ควรค่าแก่การทำหน้าที่เผยแพร่ “ความศิวิไลซ์” ให้แก่ชาวโลก

ตัวอย่างการโฆษณาชวนเชื่อในยุคล่าอาณานิคมฝรั่งเศส – ฝรั่งเศสสัญญาว่าจะเผยแพร่ความก้าวหน้าและอารยธรรมทั่วอาณานิคมของตน

ลัทธิล่าอาณานิคม ถูกสร้างให้เป็นโครงการของผู้สูงส่ง เป็นภารกิจที่ซึ่งคนขาว จำเป็นต้องแบกภาระหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อทำให้มั่นใจว่า ผู้ที่ไม่ใช่ชาวยุโรป จะถูกทำให้มีอารยะ เจริญ และเป็นคริสเตียน

ระบบดังกล่าวสอดแทรก แนวความคิด เรื่องความด้อยกว่าทางเชื้อชาติ และความแตกต่างที่แปลกแยก

ในวาทะกรรมเกี่ยวกับยุคล่าอาณานิคม การบอกเล่าประวัติเกี่ยวกับผู้อยู่ใต้อาณานิคม ได้นำเอาคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และชาวมุสลิม จากผลงานวิชาการ ที่เขียนโดยบุคคลที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก ซึ่งได้พยายามชี้ว่า อิสลาม คือ ความเชื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับความทันสมัย และหากเราจะขยายความคำว่า “ทันสมัย” ให้ชัดเจนขึ้น-นั่นย่อมหมายถึง ค่านิยมของชาวตะวันตก

ความเข้าใจที่มีต่อศาสนาอิสลาม ในฐานะภัยคุกคามจากต่างชาติ และต่อค่านิยมของอารยธรรมคริสเตียนตะวันตกเช่นนี้ – ให้คำอธิบายถึงสาเหตุเบื้องหลังความเกลียดชัง “ฮิญาบ” – ชิ้นผ้าผืนหนึ่ง ที่เป็นเสหมือนสัญลักษณ์แสดงค่านิยมของศาสนาอิสลาม ที่แพร่หลายในโลกตะวันตกในวันนี้  (Said, 1979: 209).

เปลื้องผ้าคลุมสตรีท้องถิ่น

ในการเล่าเรื่องยุคล่าอาณานิคม ผู้หญิงชาวมุสลิมมักถูกอธิบายว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกแยก ซึ่งซ่อนตัวอยู่ภายในฮาเร็ม ทัศนะเช่นนี้หล่อหลอมจินตนาการของชาวตะวันตก – ผู้ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยได้พบเห็น หรือสัมผัสหญิงมุสลิมตัวเป็นๆมาก่อน พวกเขาจึงนึกถึงผู้หญิงมุสลิม ในมุมของผู้หญิงที่ห่อหุมเรือนร่างอย่างอ่อนโยน เพื่อรอคอยความโปรดปรานทางเพศของสามีของพวกนางในฮาเร็มที่ถูกเตรียมพร้อมไว้

ภาพลักษณ์ของหญิงมุสลิมเช่นนี้ แพร่หลายเป็นอย่างมากในงานวิชาการและศิลปะของชาวตะวันตก กระทั่งมันได้นำไปสู่การสร้างกรอบจำกัดที่ว่า สำหรับโลกตะวันตกแล้ว พวกเขาจินตนาการถึงหญิงมุสลิม ในฐานะสตรีที่ปราศจากสิทธิใดๆ ที่เกิดมาเพียงเพื่อสนองกามารมณ์ของบุรุษ และยอมสยบ ต่อความปราถนาอื่นๆของพวกเขา

‘มหาอำมาตย์และฮาเร็มของเขา’ วาดโดย Francois Gabriel Guillaume Lepaulle (ศิลปินชาวฝรั่งเศส, 1804-1886)
‘สาวฮาเร็ม’ วาดโดย Fabio Fabbi (จิตรกรชาวอิตาลี, 1861-1946)

ในวาทะกรรมของผู้รอบรู้เรื่องตะวันออก ซึ่งได้รับความรู้มาจากประสบการณ์ยุคล่าอาณานิคมในประเทศแถบตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกมุสลิม – อารยธรรมมุสลิมทั้งหมด ถูกกล่าวขานว่า ดื้อดึงต่อการยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามาเพื่อให้ความหมายแก่โลกตะวันตกที่ทันสมัย (Said, 1979:123)

ชาวมุสลิมได้รับการกล่าวขานว่า ดำรงอยู่ในเส้นทางที่ตรงกันข้ามกับลัทธิฆราวาสนิยม และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง ที่นำเอา เพศชาย และเพศหญิง ออกจากกรอบข้อจำกัดตามขนบธรรมเนียม หรือสถาบัน ความเชื่อ โบราณ ดั้งเดิม

ณ จุดนี้ ฮิญาบ ถูกจัดว่าเป็นปัญหาแยกเดี่ยว โดยตัวมันเอง เพราะการปรากฎของมันในสังคมนั้น ได้ถูกพิจารณาในฐานะ สิ่งที่ปฏิเสธค่านิยมตะวันตกโดยสิ้นเชิง

Fanon กล่าวว่า “วิธีที่ผู้คนห่อหุ้มเรือนร่างของพวกเขา  ด้วยกับเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ถือเป็นรูปแบบที่โดดเด่นที่สุดของความเป็นเอกลักษณ์ทางสังคม โดยสามารถกล่าวได้ว่า คนที่แต่งกายเช่นนั้น คือ คนที่โดดเด่น แปลกแยก และสามารถเป็นที่สังเกตเห็นได้โดยทันที  (Fanon, 1967 : 35)

ในกรณีของสังคมมุสลิม- ฮิญาบ ไม่เพียงแต่จำแนกเพศ โดยการกำชับถึงความแตกต่างระหว่างผู้ชาย และผู้หญิง แต่มันยังช่วยกำหนดเขตกั้นระหว่างผู้ถูกล่าอาณานิคม กับผู้ล่าอาณานิคมอย่างชัดเจน โดยการปฏิเสธที่จะถอดผ้าฮิญาบ หญิงชาวมุสลิมไม่เพียงแต่ยืนหยัดในจุดยืนของพวกเธอที่มีต่อวัฒนธรรมดั้งเดิม และอัตลักษณ์ทางศาสนา แต่ยังปฏิเสธสถานภาพทางสัมคมที่ถูกหยิบยื่นให้ ในฐานะสิ่งที่อยู่ใต้อำนาจนักล่าอาณานิคม ผู้รอคอยวันถูกเปลี่ยนให้รับเอาค่านิยมตะวันตกมาโอบกอด

สตรีชาวอียิปต์ ในการประท้วงต่อการปรากฏตัวของอาณานิคมอังกฤษในอียิปต์ (ราวปี 1920)
สตรีชาวซูดาน ในซูดานภายใต้การปกครองของอังกฤษ (ราวปี 1953)
สตรีชาวอินโดนีเซีย ในยุคล่าอาณานิคม

นักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกพยายามหาวิธีพิชิตชัยและ ครอบคลุมทุกๆเส้นทาง ภายใต้ยานพาหนะของพวกเขา

ผู้ถูกล่าอาณานิคม ไม่เพียงแต่ต้องถูกควบคุมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเท่านั้น แต่พวกเขายังถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกบีบให้เหล่านักล่าอาณานิคมสามารถทำการตรวจสอบ คลี่คลายปัญหาและสืบเสาะทุกเรื่องราวของวิถีชีวิต

ผู้อยู่ใต้การรุกราน มิอาจกุมความลับ มีความเป็นส่วนตัว หรือใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ ที่ซึ่งหลบหลีกจากอิทธิพลของนักล่าอาณานิคมได้

ทว่าสตรีที่คลุมผ้า กลับอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฏเกณฑ์เช่นนี้ เบื้องหลังฮิญาบ พวกเธอหลบหลีกจากสายตาของนักล่าอาณานิคมที่คอยจับจ้องมองดูทุกแง่มุมของชีวิตท้องถิ่น และการกระทำเช่นนี้ ก็ได้ทำให้บรรดานักล่าอาณานิคมต้องเอื่อมระอา

มันไม่มีการแลกเปลี่ยนหรือสัมพันธ์ใดใดระหว่างเธอและสังคมของผู้ล่าอาณานิคม เนื่องจากเธออำพรางตนออกจากการพินิจพิจารณาของพวกเขา ภายใต้ผืนฮิญาบที่ปกคลุมเรือนร่าง เปรียบดั่งการป่าวประกาศเชิงสัญลักษณ์ว่า “เธอมิได้สวามิภักดิ์ มิได้ยอมจำนน และเสนอตนเองแก่พวกเขา (Fanon, 1967:44).

อิทธิพลที่ดำรงอยู่ระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่าอาณานิคม จึงถูกสลับสับเปลี่ยนภายใต้บริบทเช่นนี้

ฮิญาบ ได้สร้างอาณาจักรอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือการเข้าถึงของผู้ล่าอาณานิคม ที่ซึ่งทั้งค่านิยมและอำนาจของพวกเขาไม่อาจมีสิทธิ์ครอบงำได้ ในการตอบโต้ไปยังความท้าทายนี้ “สังคมของผู้ล่าอาณานิคม ด้วยกับค่านิยมของมัน ในจุดแข็งของมัน และในปรัชญาของมัน ได้แสดงปฏิกิริยาต่อผ้าคุมผม ในทิศทางที่ค่อนข้างคล้ายกัน” (Fanon, 1967:37).

ฮิญาบกลายมาเป็นจุดเพ่งเล็งของความพยายามอย่างแข่งขัน เพื่อกำจัดการมีอยู่ของสัญลักษณ์ใดก็ตาม ที่สามารถปลุกระดมความรู้สึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ประจำชาติ ความเกี่ยวดองด้านเชื้อชาติ หรือ การสังกัดในศาสนา อันเป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ ที่เป็นปัจจัยแยกกลุ่มคน ออกจากสังคมของผู้ล่าอาณานิคม

ในความพยายามเพื่อค้นหา แก่นแท้ของสังคมมุสลิมบนพื้นฐานของสตรีเพศ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของมันที่มีต่อสังคมโดยรวม บทบาทของสตรีมุสลิม ในฐานะแม่ พี่สาว-น้องสาว ภรรยา และย่าหรือยาย ได้ถูกนำมาศึกษาอย่างละเอียด มีการจำแนกและกำหนดนิยามต่างๆโดยนักสังคมวิทยา และนักชาติพันธุ์วิทยา (Fanon, 1967:37)

รัฐบาลและคณะบริหารจากฝั่งนักล่าอาณานิคม ได้ปรับเปลี่ยนชุดนโยบาย ตามข้อมูลเชิงลึกใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ เกี่ยวกับความสำคัญของผู้หญิง ที่มีต่อการบรรลุผลสำเร็จของโครงการล่าอาณานิคม

พวกเขาวางแผนหลักการทางการเมืองอย่างละเอียด ซึ่งครั้งนี้ เป็นการเสี่ยงอยู่บนแนวความคิดที่ว่า ต้องพิชิตสตรีก่อนหากอยากพิชิตสังคมที่เหลือทั้งหมด!

ในการทำลายโครงสร้างภายในของสังคมมุสลิม และขัดขวางพวกเขาไปสู่ศักยภาพสูงสุด ในการอยู่รอดปลอดภัยจากผลกระทบของการรุกราน ผู้ล่าอาณานิคมจำเป็นจะต้องพิชิตชัยเหนือบรรดาสตรีมุสลิมเป็นอันดับแรก พวกเธอจะต้องถูกนำออกมาอย่างเปิดเผยในที่แจ้ง ห่างไกลจากผ้าคลุมผมนั้น ที่ซึ่งพวกเธออำพรางตนจากสายตาของผู้ล่าอาณานิคม

พิทักษ์ชนท้องถิ่นจากพวกเขาเอง

นี่คือส่วนที่การเล่าเรื่องในยุคล่าอาณานิคม ได้สาธยายถึงฮิญาบ – ในฐานะเครื่องหมายของการกดขี่สตรีเพศและสัญลักษณ์ของความล้าหลัง

หญิงมุสลิมที่สวมฮิญาบถูกบรรยายในฐานะเหยื่อของความเกลียดชังสตรีเพศ และความล้าหลังในหลักศาสนาอิสลาม ผู้ซึ่งไม่รู้ตัว หรือสำนึกว่าตนกำลังถูกกดขี่

พฤติกรรมของชายมุสลิมที่มีต่อผู้หญิงของพวกเขา ถูกอธิบายว่าเป็นไปในลักษณะของความทารุณและวิปริต ที่ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว ทัศนคติที่ป่าเถื่อนของพวกเขาได้หยามเกียรติ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของสตรี กระทั่งสตรีมีความต่ำต้อยอยู่ในระดับที่เป็นเพียงแค่กรรมสิทธิ์ของพวกเขา ที่จะต้องถูกซ่อนเร้นจากการมองเห็น

การช่วยเหลือและพิทักษ์ผู้หญิงที่ถูกกดขี่เช่นนี้ จึงกลายเป็นโครงการใหม่ล่าสุดของบรรดานักล่าอาณานิคม ณ จุดนี้ เราสังเกตเห็น ภาพการกุศลและการช่วยเหลือร่วมที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นเพื่อส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้หญิงมุสลิม ปรากฏขึ้นอย่างมากมาย

Fanon ระบุว่า ในกรณีของแอลจีเรีย “นี่คือช่วงเวลาแห่งความฟุ้งเฟ้อ ในความกระตือรือร้นเพื่อปรับใช้เทคนิคใหม่สำหรับการแทรกซึมอุดมการณ์ เป็นช่วงเวลา ที่ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ และบรรดาสตรี(ตะวันตก)ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านการกุศล เข้าจู่โจมภูมิภาคอาหรับ” (Fanon, 1967:38)

ฮิญาบถูกกล่าวขานว่า เป็นสัญลักษณ์ของสถานภาพที่ถูกกดขี่ของหญิงชาวมุสลิม

การช่วยเหลือพวกเธอ จึงจำเป็นต้องปลดเปลื้องฮิญาบออก นักเฟมินิสต์ (สตรีนิยม) ชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ลงมือปฏิบัติภารกิจเพื่อปลดปล่อยบรรดาสตรีมุสลิมเหล่านี้ให้เป็นอิสระ และเชิญชวนให้พวกเธอมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาสถานภาพของตนเอง

นักเฟมินิสต์ชาวตะวันตก ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีความแตกต่างกับชุมชนตะวันตกที่เหลือ พวกเธอได้รับการซึมซับด้วยจิตสำนึกของลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การปกครองตามลำดับชั้นของชาติพันธุ์ โดยได้มีการเน้นย้ำถึงความเหนือกว่า เจริญกว่า ของหญิงผิวขาวชาวตะวันตก ต่อหญิงจากชาติพันธุ์อื่นๆ

นักกิจกรรมของพวกเขา ยึดติดอยู่กับลักษณะพื้นฐานด้านสังคมของกลุ่มจักรวรรดินิยม ซึ่งเป็นกรอบล้อมรอบแนวความคิด เกี่ยวกับการแสดงความรับผิดชอบทางศีลธรรม ที่ระบุว่า คนขาวมีภาระต้องช่วยเหลือคนจากเชื้อชาติอื่นๆ

การกระทำของพวกเขาอุทิศให้กับวัตถุประสงค์เดียวกันกับโครงการล่าอาณานิคมโดยทั่วไป

การช่วยเหลือคนท้องถิ่นให้ปลอดภัยจากพวกตนเอง โดยการทำให้พวกเขามีศิวิไลซ์ ผ่านค่านิยมตะวันตก เป็นวิธีการ ซึ่งโครงการของเฟมินิสต์ กระทำสอดคล้องกับ การผสานกลืนทางวัฒนธรรม (cultural assimilation)- ที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลอาณานิคมตลอดในทุกดินแดนอาณานิคม

ทั้งนี้ การผสานกลืนทางวัฒนธรรม คือการโต้ตอบทางการเมืองต่อสถานการณ์ในด้านที่เกี่ยวกับความแตกต่างของชาติพันธุ์ ที่เป็นนโยบายในการส่งเสริมการกลืนชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชนหมู่มาก การผสานทางวัฒนธรรมเป็นปรัชญาที่ตรงกันข้ามกับปรัชญาของการยอมรับความแตกต่าง (affirmative philosophy) เช่นในปรัชญาพหุวัฒนธรรมนิยม (Multiculturalism) ที่เป็นปรัชญาที่แสวงหาการดำรงความแตกต่างของชนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

ทั้งเฟมินิสต์ตะวันตก และรัฐบาลผู้ล่าอาณานิคมเล็งเห็นถึง บทบาทสำคัญที่ผู้หญิงสามารถแสดงได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จของโครงการล่าอาณานิคม…

ในทุกๆด้านของสังคมผู้ล่าอาณานิคม ได้เน้นย้ำถึงการเรียกร้องเพื่อปลดปล่อยสตรีมุสลิม จากโซ่ตรวนของขนบธรรมเนียมประเพณี และความล้าหลัง

นักเรียนมุสลิมในโรงเรียน ถูกเสี้ยมสอนเกี่ยวกับความชั่วร้ายของวัฒนธรรมและศาสนาท้องถิ่น

ในการโผเข้าหาอนาคตที่ก้าวไกล ซึ่งรอคอยพวกเขาอยู่ เด็กนักเรียนพวกนี้ ถูกสอนให้ขจัดค่านิยมดั้งเดิมเหล่านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นอุปสรรคกีดกันหนทางไปสู่ความยิ่งใหญ่ของพวกเขา

ข้อบกพร่องของสังคมท้องถิ่น ในการเปรียบเทียบกับความสำเร็จของสังคมตะวันตก ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ถูกนำมาตีแผ่ และสั่งสอนให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างกว้างขวาง และอย่างเจาะจง

ผู้หญิงมุสลิมที่ตัดสินใจเปลื้องผ้าฮิญาบ จะได้รับการสรรเสริญเยินยอ ด้วยการโฆษณาส่งเสริมอย่างยิ่งใหญ่ พวกเธอจัดอยู่ในฐานะต้นแบบของชาวท้องถิ่นผู้รอดพ้น

ปัจเจกบุคคลเหล่านี้ ที่เลือกนำค่านิยมตะวันตกมาใช้ในชีวิต จะถูกพิจารณาโดยรัฐบาลผู้ล่าอาณานิคมว่าเป็น ชาวท้องถิ่นที่พัฒนาแล้ว ผู้ซี่งอาจกลาายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร และทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้แก่การบ่อนทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นของพวกเขาเอง

สังคมนักล่าอาณานิคม คาดหวังให้หญิงมุสลิมผู้รอดพ้นจากการหยุดยื้อของฮิญาบ สนับสนุนแผนการแทรกซึมเข้าไปยังสังคมท้องถิ่นของพวกเขา ด้วยการช่วยนำทางเข้าสู่พื้นที่ที่ถูกบดบังจากสายตาของนักล่า

บรรดาหญิงผู้ปฏิเสธที่จะเดินตามรอยเท้าพี่สาวน้องสาวผู้ที่ถูกทำให้มี “อารยธรรม” อย่างตะวันตกแล้ว ได้กลายมาเป็นจุดเพ่งเล็งของการเล่าเรื่องราวความโหดร้าย ป่าเถื่อน ที่ได้บรรยายถึงพวกเธอในฐานะผู้ผดุงไว้ซึ่งความล้าหลัง และการกดขี่ทางเพศ อย่างรวดเร็ว

สังคมนักล่าอาณานิคม สำแดงปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่า เป็นการต่อต้านอารยธรรมตะวันตก

เพราะผู้หญิงเหล่านี้ยังคงส่งเสริมให้เกิดพื้นที่พิเศษ ที่ซึ่งผู้ล่าอาณานิคมไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นดั่งโลกแห่งความลึกลับ ดั้งเดิม ที่แตกต่างจากประสบการณ์ของชาวยุโรป โดยการปฏิเสธที่จะเปิดเผยความลับ พวกเธอจึงมิอาจถูกตรวจสอบ ถูกบ่งการ โดยอิทธิพลของผู้ล่าอาณานิคม

การทำลายล้างแรงต้านทานเหล่านี้ คือ วิธีเดียวที่จะนำพาพวกเธอกลับเข้าสู่การเข้าถึงของสังคมผู้ล่าอาณานิคม และทำให้พวกเธากลายเป็นวัตถุที่ครอบครองได้

ในบริบทของการล่าอาณานิคม – ฮิญาบ ไม่ใช่แค่การแสดงออกในความสัมพันธ์กับศาสนาเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงต่อต้าน การล่าอาณานิคม ในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองของการต่อต้าน ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ไม่ยอมรับการล่าอาณานิคมและค่านิยมตะวันตก

สตรีผู้รักชาติ ประท้วงต่อต้านการปกครองของอังกฤษในอียิปต์ (ราวปี 1919)

ฮิญาบที่ถูกทำให้เป็นการเมือง

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของฮิญาบ จากที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของศาสนา กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เกิดขึ้นในบริบทของการล่าอาณานิคม กระนั้นมันก็ไม่ได้ยุติลง ด้วยการได้มาซึ่งอิสระภาพของประเทศ หรือ รัฐต่างๆในโลกมุสลิม

ใครสักคนอาจโต้แย้งได้ว่า รัฐภายหลังอาณานิคมในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ได้รับการถ่ายทอดทางความคิด มากกว่าหนึ่งวิธี มาจากระบบอาณานิคมก่อนหน้านี้ แต่ทว่าในกรณีของฮิญาบ คำโต้แย้งดังกล่าวมีน้ำหนักมากกว่านั้น ฮิญาบมีความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในการแข่งขันให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) โดยรัฐมุสลิม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ผู้ที่สวมใส่ฮิญาบ ได้รับการกล่าวถึง ในฐานะพรรคพวก หรือ ผู้สนับสนุนการเมืองอิสลาม การสวมฮิญาบ ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการแสดงออกทางศาสนาอีกต่อไป แต่เป็นข้ออ้างทางการเมืองอย่างหนึ่ง ทัศนคตินี้กลายเป็นแก่นสารของการเมืองมุสลิม ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 และยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

เหตุการณ์ 11 กันยา ได้นำเรื่องเล่าเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และแน่นอนในประเด็นของฮิญาบ ในยุคล่าอาณานิคมหวนกลับมาสู่จิตสำนึกของชาวตะวันตก อิสลามกลายเป็นภัยคุกคามที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง

ความรู้สึกเกลียดชังของชาวยุโรปที่มีต่ออารยธรรมอิสลาม ทำให้ฮิญาบกลายเป็นจุดสำคัญของความกลัวที่มีต่ออิสลามในวันนี้ เมื่อเห็นผู้หญิงมุสลิมในโลกตะวันตกเลือกสวมฮิญาบ ซึ่งสำหรับชาวตะวันตกจำนวนมากแล้ว มองเห็นมันในฐานะสัญลักษณ์ที่ปฏิเสธค่านิยมตะวันตก ในสายตาของพวกเขา ผู้หญิงเหล่านี้ คือ บุคคลที่วางความจงรักภักดีสูงสุดของพวกเธอต่อศาสนาอิสลาม และในการกระทำเช่นนั้น ถือเป็นการปฏิเสธสิ่งที่อารยธรรมตะวันตกยึดมั่น ความเข้าใจว่า ฮิญาบเป็นสัญลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับความทันสมัยและสิทธิสตรี คือ หนึ่งในเรื่องเล่าผิดๆมากมายเกี่ยวกับอิสลามในยุคอาณานิคม ที่ยังคงหลงเหลือเป็นเชื้อเพลิง หล่อเลี้ยง โรคหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

อ้างอิง:

Frantz Fanon, A Dying Colonialism, 1967.

Edward Said, Orientalism, 1979.

Edward Said, Culture and Imperialism, 1993.

Source: Geeky Muslimah in Politics