ศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ในทัศนะของ 12 บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ระดับโลก ที่ไม่ใช่มุสลิม

369

เนื่องในวาระโอกาส ที่ชาวมุสลิมทั่วโลก ยังคงเฉลิมฉลอง และร่วมกันแสดงความยินดีในเทศกาลอีดเมาลิดุลนบี ประสูติท่านศาสดาอิสลาม ศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ตลอดทั้งเดือนรอบีอุลเอาวัล ตามปฏิทินอิสลาม

และพร้อมกันนั้น คือ การมาเยือนของสัปดาห์เอกภาพอิสลาม (The Islamic Unity Week) สถาปนาขึ้นโดยอิมามรูฮุลลอฮ์ มูซาวี โคมัยนี บิดาแห่งการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ และเทิดเกียรติท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ผู้นำแห่งศรัทธา และศูนย์รวมจิตใจของมวลมุสลิมจากนิกายต่างๆ กว่า 2 พันล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทุกภูมิภาคทั่วโลก

ทางเว็ปไซต์ abnewstoday.com ใคร่ขอรวบรวม และนำเสนอ คำกล่าวสั้นๆ ของบุคคลสำคัญ อย่างน้อยที่สุด 12 บุคคล จากสาขาความเชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งไม่ใช่มุสลิม — ทว่าได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ รัฐบุรุษ นักปรัชญา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักปฏิวัติสังคม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักเขียน กวี นักวิชาการ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์  และฯลฯ ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ระดับโลก ดังต่อไปนี้:

1.“ข้าพเจ้าต้องการทราบถึงส่วนที่ดีเลิศที่สุดในชีวิตของบุคคลผู้หนึ่ง ที่ในทุกวันนี้ เขามีอิทธิพลเหนือหัวใจของมนุษยชาตินับล้านคน โดยปราศจากข้อกังขาใดๆ … ข้าพเจ้าเชื่อมั่นยิ่งไปกว่าเดิมว่า มันมิใช่คมดาบ ที่พิชิตชัยชนะให้แก่อิสลามในวันแห่งการวางรากฐานของชีวิต มันคือ ความเรียบง่ายอย่างมั่นคง การสลายตัวตนอย่างที่สุดของศาสดา การยึดมั่นต่อคำสัญญาของเขาอย่างถี่ถ้วน การอุทิศตนอย่างแรงกล้าของเขา ต่อมิตรสหาย และสาวกผู้ติดตาม วีรกรรมความกล้าหาญ ความไม่เกรงกลัวของเขา ความเชื่อมั่นไปยังพระผู้เป็นเจ้า และในภารกิจของเขาอย่างเปี่ยมล้น ทั้งหมดเหล่านี้ และหาใช่คมดาบไม่ ที่นำพาทุกสิ่งทุกอย่างมาวางตรงหน้าพวกเขา และฟันฝ่าอุปสรรคทุกๆประการ เมื่อข้าพเจ้าอ่าน (อัตชีวประวัติของศาสดาอิสลาม) เล่มที่สองจบลง ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจ ที่ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะอ่านเกี่ยวกับชีวิตอันยิ่งใหญ่นั้นต่อไปอีก”

– มหาตมะคานธี

นักคิด รัฐบุรุษ และผู้นำชาตินิยมชาวอินเดีย

2)“ข้าพเจ้าให้ความเคารพนับถือศาสนาของมูฮำหมัดอย่างสูงมาโดยตลอด อันเนื่องมาจากความมีชีวิตชีวาที่น่ามหัศจรรย์ของศาสนานี้ มันเป็นศาสนาเดียวเท่านั้น ที่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ดูเหมือนว่า จะมีความสามารถ ในการปรับตัวเข้ากับช่วงของการดำรงอยู่ที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นทำให้ตัวมันเองสามารถดึงดูดใจผู้คนได้ทุกยุคทุกสมัย

ข้าพเจ้าได้ศึกษาเขา ชายผู้วิเศษ และในความคิดเห็นของข้าพเจ้า จากการที่เป็นผู้ต่อต้านพระคริสต์คนหนึ่ง  เขา (ศาสดามูฮำหมัด) ควรต้องถูกเรียกว่า พระผู้ช่วยให้รอดของมนุษยชาติ”

– เซอร์จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์

ผู้ได้รับรางวัลโนเบล นักเขียนบทละคร นักวิจารณ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

3)“ความเท็จเหล่านี้ (การใส่ร้ายของตะวันตก) ที่ได้ถูกเสกสันปั้นแต่งพอกพูนรอบตัวท่านผู้นี้ (ศาสดามูฮำหมัด) อย่างมากมายนั้น เป็นความอัปยศอดสูมาสู่ตัวพวกเราเองเพียงเท่านั้น”

– โทมัส คาร์ไลล์

นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ นักเขียนเสียดสี นักเขียนบทความ นักแปล นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ และครู

4)“ความพร้อมของเขาในการรับมือกับการข่มเหงรังแก ที่มีต่อความเชื่อของเขา คุณลักษณะทางด้านศีลธรรมอันสูงส่งของผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในตัวเขา และยกย่องเขาในฐานะผู้นำ และความยิ่งใหญ่ในความสำเร็จสูงสุดของเขา ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเหตุผลรองรับความซื่อสัตย์ขั้นพื้นฐานของเขา การตั้งสมมุติฐานว่า มูฮำหมัดเป็นคนหลอกลวงนั้น สร้างปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหา ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีบุคคลผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์คนใด ที่ได้รับการยกย่องในตะวันตก ได้น้อยเท่ากับมูฮำหมัด… ดังนั้น ไม่เพียงแต่เราต้องมอบเกียรติภูมิแก่มูฮำหมัดในเรื่องความซื่อสัตย์โดยเนื้อแท้ และความซื่อสัตย์ในจุดประสงค์ที่จำเป็นเพียงเท่านั้น หากเราต้องการจะเข้าใจมูฮำหมัด หากเราต้องการจะแก้ไขข้อผิดพลาดที่เราได้รับมาจากอดีต เราต้องไม่ลืมว่า ข้อพิสูจน์ที่เป็นข้อสรุปนั้น ย่อมเป็นกำหนดเงื่อนไขที่เข้มข้นกว่าการแสดงซึ่งความเป็นไปได้ เป็นอย่างมาก และในประเด็นใดๆ ดั่งเช่นในเรื่องนี้ จะบรรลุผลได้ด้วยความยากลำบากเพียงเท่านั้น”

– ว. มอนโกเมอรี่ วัตต์

ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกชาวสก็อต นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ และนักบวชแองกลิกัน

5)“สี่ปีหลังจากจัสติเนียนได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 569 มีผู้ถือกำเนิดขึ้นที่มักกะฮ์ ในดินแดนอาหรับ เป็นชายผู้ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในเผ่าพันธุ์มนุษย์ เหนือมวลมนุษย์ทั้งหมด… เพื่อมาเป็นผู้นำศรัทธาศาสนาของหลายๆ จักรวรรดิ เพื่อมาชี้นำวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนจากหนึ่งในสามของเผ่าพันธุ์มนุษย์ นี่อาจเป็นข้อพิสูจน์ถึงตำแหน่งการเป็นศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า”

– ดร.วิลเลียม เดรเปอร์

นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา ชาวอเมริกันโดยกำเนิดในอังกฤษ แพทย์ นักเคมี นักประวัติศาสตร์ และช่างภาพ

6)“หากความยิ่งใหญ่ของจุดมุ่งหมาย ความเล็กน้อยของวิธีการ และผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์ เป็นเกณฑ์สามประการของอัจฉริยะมนุษย์ ใครจะกล้านำบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์คนใด มาเปรียบเทียบกับมูฮัมหมัดได้? บุรุษ ที่มีชื่อเสียงที่สุด สร้างกองทัพ กฎหมาย และอาณาจักร หากจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น พวกเขาได้สถาปนา ‌สิ่งที่ไม่มากไปกว่าอำนาจทางด้านวัตถุ ซึ่งมักจะพังทลายลงต่อหน้าต่อตาพวกเขา บุรุษผู้นี้ ไม่เพียงขับเคลื่อนกองทัพ กฎหมาย จักรวรรดิ ประชาชน วงศ์วาน แต่ยังขับเคลื่อนผู้คนหลายล้านคนจากหนึ่งในสามของโลก ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ในขณะนั้น และยิ่งไปกว่านั้น เขาขับเคลื่อนแท่นบูชา พระผู้เป็นเจ้า ศาสนา ความคิด ความเชื่อ และจิตวิญญาณทั้งหลาย”

– อัลฟองส์ เดอ ลามาร์เทน

นักเขียน กวี และรัฐบุรุษชาวฝรั่งเศส ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสาธารณรัฐที่ 2 และความต่อเนื่องของธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส

7) “มูฮำหมัด ยืนหยัดอยู่เหนือคริสต์ศาสนามาโดยตลอด เขาไม่คิดว่า พระผู้เป็นเจ้าเป็นมนุษย์ และไม่เคยทำตัวเท่าเทียมกับพระผู้เป็นเจ้า ชาวมุสลิมไม่บูชาสิ่งอื่นใดนอกจากพระผู้เป็นเจ้า และมูฮำหมัดเป็นผู้ส่งสารของพระองค์ ไม่มีความลึกลับ และความลับใด ๆ ในเรื่องนั้น”

– ลีโอ ตอลสตอย

นักเขียนชาวรัสเซียผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงวรรณกรรมรางวัลโนเบลทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 ถึง พ.ศ. 2449 และรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2444, 2445 และ 2452

8)“ไม่ว่าเป็นเรื่องจริงจัง หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ความประพฤติในชีวิตประจำวันของเขา ได้กำหนดมาตรฐาน ซึ่งผู้คนหลายล้านคนในปัจจุบันได้นำมาปฏิบัติด้วยความสำนึก ไม่เคยมีใครที่เผ่าพันธุ์มนุษย์มองว่า เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้ถึงเพียงนี้มาก่อน ซึ่งทุกแง่มุมของชีวิตเขาถูกนำมาปฏิบัติเลียนแบบอย่างละเอียดอ่อนเช่นนี้ การปฏิบัติตนของผู้วางรากฐานคริสต์ศาสนา ก็ไม่ได้ควบคุมแบบแผนการดำเนินชีวิตตามปกติ ของเหล่าผู้ติดตามของเขาเช่นนี้เลย ไม่มีผู้วางรากฐานศาสนาใด ที่ได้ละทิ้งเอาไว้ซึ่งความสันโดษ และโดดเด่น เฉกเช่นศาสดาผู้เผยแพร่ศาสนาของชาวมุสลิมเลย”

– ดี.จี. โฮการ์ธ

นักโบราณคดีชาวอังกฤษ นักวิชาการและภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ Ashmolean แห่งอ็อกซ์ฟอร์ด ระหว่าง พ.ศ. 2452 ถึง พ.ศ. 2470

9)“บุคลิกภาพของศาสดามูฮัมหมัดนั้น เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ในการจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดได้ มันเป็นเพียงการชำเลืองมองเท่านั้นที่ข้าพเจ้าได้สัมผัส ช่างเป็นภาพฉากที่งดงาม ซึ่งต่อเนื่องกันอย่างน่าทึ่ง!

มีมูฮัมหมัด ผู้เป็นนักรบ
มีมูฮัมหมัด ผู้เป็นนักธุรกิจ;
มีมูฮัมหมัด ผู้เป็นรัฐบุรุษ; 
มีมูฮัมหมัด ผู้เป็นนักปราศรัย;
มีมูฮัมหมัด ผู้เป็นนักปฏิรูป;
มีมูฮัมหมัด ผู้เป็นที่ลี้ภัยของเด็กกำพร้า;
มีมูฮัมหมัด ผู้คุ้มกันทาส;
มีมูฮัมหมัด ผู้ปลดปล่อยสตรี;
มีมูฮัมหมัด ผู้พิพากษา;
มีมูฮัมหมัด ผู้เป็นนักบุญ
ในทุกบทบาทที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ ในกิจกรรมของมนุษย์ทุกสาขา เขาเป็นเสมือนฮีโร่”

– ศาสตราจารย์ รามกฤษณะ ราอู

นักปรัชญา นักจิตวิทยา นักจิตเวช นักการศึกษา ครู นักวิจัยและผู้บริหาร รัฐบาลอินเดียมอบรางวัลให้เขาเป็นพลเรือนเกียรติยศแห่ง ‘ปัทมาศรี’ ในปี 2554

10) “เป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ใดก็ตาม ที่ศึกษาชีวิต และบุคลิกลักษณะของศาสดาผู้ยิ่งใหญ่แห่งดินแดนอาหรับ ซึ่งรู้ว่าเขาสอนอย่างไร และดำเนินชีวิตอย่างไร ที่จะรู้สึกเป็นอย่างอื่น นอกจากเคารพนับถือต่อศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ หนึ่งในศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า และถึงแม้ว่า ในสิ่งที่ข้าพเจ้านำเสนอแก่คุณ ข้าพเจ้าจะพูดหลายสิ่งหลายอย่างที่อาจคุ้นเคยสำหรับใครหลายคน แต่กระนั้น เมื่อใดก็ตามที่ข้าพเจ้าอ่านเรื่องราวเหล่านั้นซ้ำอีกครั้ง ข้าพเจ้าเองรู้สึกได้ถึงการชื่นชมยกย่องในหนทางใหม่ ความเคารพนับถือในรูปแบบใหม่ ที่มีต่อบรมครูชาวอาหรับผู้ยิ่งใหญ่ท่านนั้น”

– แอนนี่ เบซานต์

นักสังคมนิยม นักเทววิทยา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี นักเขียน นักปราศรัย นักการศึกษาชาวอังกฤษ ผู้ให้การบริจาค และสมาชิกผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเบนาราส

11) “เป็นศาสนาแรกที่เทศนา และปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตย สำหรับการที่ในมัสยิด เมื่อเสียงเรียกสู่การละหมาดถูกขับขาน และผู้ละหมาดมารวมตัวกัน ประชาธิปไตยของศาสนาอิสลามก็ถูกสร้างขึ้นห้าครั้งต่อวัน เมื่อชาวนาและกษัตริย์คุกเข่าเคียงข้างกัน และป่าวประกาศ: ‘พระผู้เป็นเจ้า พระองค์เดียว ผู้ทรงยิ่งใหญ่’… ข้าพเจ้าประทับใจครั้งแล้วครั้งเล่ากับเอกภาพอันแบ่งแยกไม่ได้ของศาสนาอิสลาม ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นพี่น้องกันโดยสัญชาตญาณ”

– สโรจินี ไนดู

นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และกวีชาวอินเดีย เธอเป็นผู้สนับสนุนสิทธิพลเมือง การปลดปล่อยสตรี และแนวคิดต่อต้านจักรวรรดินิยม เธอเป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียจากการปกครองอาณานิคม งานของไนดูในฐานะกวีทำให้เธอได้รับสมญานามว่า ‘ไนติงเกลแห่งอินเดีย’

12) “…เขาเป็นซีซาร์และพระสันตะปาปาในหนึ่งเดียว แต่เขาเป็นพระสันตะปาปาโดยปราศจากการอ้างสิทธิ์ของพระสันตะปาปา และซีซาร์ โดยไม่มีกองทหารของซีซาร์ ปราศจากกองทัพประจำการ ปราศจากผู้คุ้มกัน ปราศจากพระราชวัง ปราศจากรายได้ที่คงที่ หากมนุษย์คนใดก็ตาม มีสิทธิ์ที่จะกล่าวว่า ตนปกครองได้ โดยสิทธิแห่งพระผู้เป็นเจ้า เขาคนนั้นคือ มูฮำหมัด เพราะเขามีอำนาจทั้งหมดได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือของมัน หรือความช่วยเหลือจากมัน”

– เบนจามิน บอสเวิร์ธ สมิธ

สังฆราชนิกายโปรเตสแตนต์ชาวอเมริกันและประธานเจ้าคณะบาทหลวงประจำโบสถ์ของเขา เริ่มในปี 1868