วิเคราะห์: “การผงาดขึ้นของโลกตะวันออก” เป็นคำกล่าวอ้าง หรือ ข้อเท็จจริง?

77

อิมามคาเมเนอี ผู้นำการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ได้เคยกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้านักศึกษากลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และแม้แต่วิทยาศาสตร์ จากโลกตะวันตกไปสู่เอเชีย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับทวีปเก่าแก่แห่งนี้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ เศรษฐกิจ อำนาจทางการเมืองและการทหารของโลก

การพูดคุยในประเด็นว่าด้วยการย้ายศูนย์กลางของโลก จากตะวันตกไปตะวันออก เป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยหรือ นักวิชาการและนักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตะวันตกเอง ก็ยอมรับในสิ่งเดียวกัน?

ภาพรวมโดยสังเขปของการอภิปรายว่าด้วย สถานะในอนาคตของระเบียบระหว่างประเทศ ในหมู่นักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในโลก เป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับการแสดงให้เห็นว่า ประเด็นการถ่ายโอนอำนาจ อย่างค่อยเป็นค่อยไปจากทิศตะวันตก ไปสู่ทิศตะวันออก ไม่ได้เป็นเพียงคำกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย สร้างขึ้นโดยประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก เช่น สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เพียงเท่านั้น แต่ทว่ามันมีการพูดคุยในแวดวงวิชาการตะวันตกกันอยู่จริงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เสริมสร้างให้ประเด็นดังกล่าว มีความสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น ไปจนถึงขอบเขตที่บุคคลสำคัญหลายคนในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ยืนยันสาระสำคัญของประเด็นนี้แม้ว่าพวกเขาอาจมีความเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ตาม

วันนี้ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า โลกกำลังอยู่ในสถานะของการเปลี่ยนแปลง และการปฏิรูปขั้นพื้นฐาน พวกเขาเชื่อว่า ระเบียบโลกมีตำแหน่งวางอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ในลักษณะที่มันได้เปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก มันจึงเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ด้วยความเร็วสูงอย่างน่าเหลือเชื่อ

ตามที่โจเซฟ ไน (Joseph Nye) นักทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ที่มีชื่อเสียง กล่าว — มิติที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปฏิรูปนี้ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระเบียบโลก ในลักษณะที่คนงานถูกจัดการ ตามการกระจายของขีดความสามารถ (distribution of capabilities) ของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจเกิดขึ้นในสองระดับ: ระดับที่หนึ่ง คือการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ (power transition) และอีกระดับคือ การแพร่กระจายอำนาจ (power diffusion)

การเปลี่ยนผ่านของอำนาจ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล ในกระบวนการ ตามที่เราได้เป็นพยานถึงการย้ายศูนย์กลางของอำนาจ และความมั่งคั่งของโลก จากตะวันตกไปยังตะวันออก อย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นฟูตำแหน่งเดิมของเอเชีย

ในประวัติศาสตร์ ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก อาศัยอยู่ในเอเชีย และมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตของโลกเกิดขึ้นในทวีปนี้ หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 สถานการณ์เปลี่ยนไปในลักษณะที่ ในระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 เอเชียยังคงมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งการผลิตทั่วโลกของมัน กลับลดลงเหลือประมาณหนึ่งในห้า และศูนย์กลางอำนาจและความมั่งคั่ง ก็เปลี่ยนไปอยู่ในตะวันตก (ยุโรปและอเมริกา) แต่แม้จะเป็นเช่นนี้ ทว่านักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ ก็ถือว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของเอเชีย พวกเขาเชื่อว่า ทวีปเก่าแก่กำลังฟื้นตัว และจะกลับสู่ตำแหน่งเดิมอีกครั้งในช่วงศตวรรษนี้

เมื่อคำนึงถึงเหตุผลสำหรับการถ่ายโอนอำนาจจากตะวันตกไปตะวันออกนี้ อาจกล่าวได้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุโรปแทบจะสูญเสียความสามารถในการแสดงบทบาทที่เป็นอิสระ และที่กำลังพัฒนาในระดับมหภาคทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และมุ่งเน้นไปสู่สหรัฐอเมริกา โดยเสร็จสมบูรณ์

มีการดำเนินความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลยุโรปในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่เป็นอิสระ และหลีกหนีจากเงาอันหนาทึบของสหรัฐฯ ที่ครอบงำพวกเขา อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้ ล้วนนำไปสู่ความล้มเหลวที่น่าผิดหวัง เช่น กรณีของสงครามอิรัก และการเจรจา JCPOA

นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหลาย จึงไม่ได้ให้น้ำหนักเป็นพิเศษกับยุโรปในเรื่องสมการอำนาจโลกในอนาคต พวกเขากำหนดชะตากรรมของโลกในรูปสามเหลี่ยม โดยมีสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน เป็นสามฝ่าย แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในระเบียบโลกปัจจุบัน แต่เป็นเวลาหลายปีที่เราได้เห็นการกระจายอำนาจ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ของอิทธิพลด้านความเป็นผู้นำของมัน ในลักษณะที่อำนาจของความเป็นมุขยรัฐ ที่มีอิทธิพลครอบงำรัฐอื่นของสหรัฐฯ นั้น อ่อนแอลง ขณะที่คู่แข่งใหม่ๆ เช่น จีน รัสเซีย บราซิล และอินเดียก็ได้ปรากฏขึ้นมา

ประเทศเหล่านี้ท้าทายสถานะที่ถดถอยของสหรัฐฯ ขณะที่ความขัดแย้งต่างๆ เกิดขึ้น โดยที่เจ้าหน้าที่ในวอชิงตันไม่สามารถแก้ไขมันได้ด้วยตนเอง ในเรื่องนี้ โจเซฟ ไน ยอมรับว่า อำนาจสูงสุดไม่จำเป็นต้องมีความหมายเหมือนกันกับความเป็นเจ้าจักรวรรดิ์ และความเป็นเจ้ามหาอำนาจครอบงำโลก และในปัจจุบัน สหรัฐฯ นั้นมีอำนาจที่จะส่งอิทธิพลต่อส่วนอื่นๆ ของโลก แต่ไม่ใช่อำนาจที่จะจำกัด และควบคุมมัน และโดยอ้างคำพูดของ Richard Haass: “แม้ว่าอเมริกาจะยังคงเป็นประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก แต่ก็ไม่สามารถรักษาสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของโลกได้ด้วยตัวมันเอง นับประสาอะไรที่จะพัฒนามันขึ้นมา”

จากพื้นฐานนี้ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนหนึ่ง จึงพิจารณาว่า โครงสร้างปัจจุบันของระเบียบโลกนั้น เป็นระบบหลายขั้วอำนาจแบบศูนย์เดียว (uni-multipolar system) ในสถานการณ์เช่นนี้ มหาอำนาจไม่สามารถจัดการประเด็นและปัญหาระหว่างประเทศได้ด้วยตนเอง และจำเป็นต้องร่วมมือและประสานกับอำนาจที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ

ระบบนี้ ถูกควบคุมโดยคณะกรรมการบริหาร ในลักษณะที่ประเทศมหาอำนาจ ในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการ และแม้จะมีตำแหน่งที่สูงกว่า ก็จำเป็นต่อความร่วมมือ และการแทรกแซงจากผู้อื่น เพื่อจัดการกับกิจการและความท้าทายระดับโลก

วิกฤตการณ์ทางการเงินโลก เมื่อปี 2008 (2551) ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 1930 ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชื่อเสียงในระดับสากลของอเมริกาเพราะสะท้อนถึงความล้มเหลวของโมเดลเสรีนิยมใหม่ (neoliberal model) โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษซึ่งได้ดำเนินการลดกฎระเบียบทางการเงินในขอบเขตสูงสุด

กระแสที่โด่งดังของวิกฤตการณ์ปี 2008 สำหรับความเป็นเจ้าโลกของอเมริกา เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าวิกฤตการณ์ทางการเงิน ในชั้นลึกของมันนี้ เป็นเสมือนอาการของโรค เป็นข้อบกพร่อง และเป็นความเปราะบางของรูปแบบใหม่ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งถูกเรียกว่า “ทุนนิยมคาสิโน” (casino capitalism) อันเป็นผลมาจากการลดกฎระเบียบทางการเงิน ทำให้ฟองสบู่ของการเก็งกำไร (speculative bubbles) ก่อตัว เติบโต และระเบิดไปทั่วโลกในทันที ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ความคาดเดาไม่ได้ของระบบเศรษฐกิจ

ผลที่ตามมาก็คือ วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่นี้ ได้เพิ่มข้อกังขาที่มีต่อค่านิยมของตะวันตก และนำไปสู่ความต้องการรับเอามาซึ่ง “ค่านิยมแห่งเอเชีย” และรูปแบบเศรษฐกิจของจีน ที่เพิ่มขึ้นของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดังนั้น ในบางส่วนของประเทศกำลังพัฒนา “ฉันทามติปักกิ่ง” (ในแง่ของการปฏิบัติตามรูปแบบการปกครองของจีน) จึงเป็นที่นิยมมากกว่า “ฉันทามติวอชิงตัน”

ปัจจุบัน จีน ซึ่งมีรูปแบบการปกครองที่ประสบความสำเร็จ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) และรัฐบาลแบบเผด็จการ (authoritarian government) ได้ท้าทายสมมติฐานของตะวันตก ว่าด้วยการดำรงอยู่ของความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ ระหว่างการพัฒนาทางการเมือง และการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจุบัน จีนถือเป็นคู่แข่งที่ร้ายแรงที่สุดในระดับเดียวกับสหรัฐอเมริกา และรูปแบบทุนนิยมเสรีในระบบเศรษฐกิจโลก

จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากจีนดำเนินกระบวนการเติบโตต่อไป จีนจะสามารถเทียบเคียงกับสหรัฐฯ ได้ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ทั้งในช่วงวิกฤตการณ์ปี 2008 และการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จีนทิ้งผลงานที่ประสบความสำเร็จไว้เบื้องหลังมากกว่าประเทศเสรีนิยมใหม่

ความสำเร็จที่น่าประทับใจของประเทศทางตะวันออกจำนวนหนึ่ง ที่พึ่งพาค่านิยมของเอเชียนั้น ชัดเจนมากจนกระทั่งนักวิชาการชาวตะวันตกยอมรับอย่างเปิดเผยในผลลัพธ์ของมัน ตัวอย่างนี้ สามารถพบได้ในบทนำที่ Steve Smith, Patricia Owens และ John Baylis เขียนไว้ในหนังสือ The Globalization of World Politics:

จากการพิจารณา สิ่งที่เรียกว่า “เสือ” แห่งเอเชีย — ประเทศต่างๆ อาทิ สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลี ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยในขณะที่บางประเทศมองว่า พวกเขาสนับสนุนค่านิยม “เอเชีย” ที่แตกต่างกันมาก ประเทศเหล่านี้ปฏิเสธค่านิยม “ตะวันตก” บางอย่างอย่างเด่นชัด แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

คำพูดที่ดูเหมือนย้อนแย้งกัน ก็คือว่า ประเทศเหล่านี้จะสามารถพัฒนาไปสู่ความทันสมัยได้สำเร็จ หรือไม่ หากไม่รับเอาค่านิยมตะวันตกมาใช้… หากประเทศเหล่านี้ยังคงเดินตามเส้นทางของตนเองไปสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจและสังคม เราก็จะต้องคาดการณ์ถึงข้อพิพาทระหว่างค่านิยมของ “ตะวันตก” และ “เอเชีย” ในอนาคต เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นสิทธิมนุษยชน เพศ และศาสนา

ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงภายในรูปแบบของการกระจายอำนาจของโลก และการเปลี่ยนผ่านของมัน ไปสู่ตะวันออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการเกิดขึ้นของรูปแบบการปกครองแห่งเอเชีย ในฐานะคู่แข่งตัวฉกาจของรูปแบบตะวันตกจึงเป็นประเด็นที่นักวิชาการและนักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพูดถึงกันมาเป็นเวลานาน และพวกเขาได้วาดภาพอนาคตของระบบโลกโดยคำนึงถึงสิ่งนี้

ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของอำนาจ มิติ และผลต่างๆ ที่ตามมาของมัน ตามด้วยคำอธิบายที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานะของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในกระบวนการนี้ ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยผู้มีอำนาจตัดสินใจของประเทศในระดับสูงสุด เพื่อกำหนดว่า อิหร่านควรจะถูกวางไว้ในจุดใด บนกระดานหมากรุกที่เพิ่งค้นพบใหม่ของโลก

___________

Source: แปลและเรียบเรียงจากงานเขียนโดย

ดร. Ruholamin Saeidi ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Imam Sadiq (pbuh) คณะรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อนึ่ง ขอบเขตความเชี่ยวชาญของเขา ประกอบด้วย ความเชี่ยวชาญด้านทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเทววิทยาการเมืองระหว่างประเทศ

english.khamenei