1. บทนำ
ในทุกๆ ปีจะมีวันที่ประชาชนชาวอิหร่านออกมาเดินขบวนหรือรวมตัวกันทั่วทั้งประเทศเพื่อเฉลิมฉลอง แสดงความไว้อาลัย หรือ แสดงการยืนหยัดต่ออุดมการณ์ที่พวกเขายึดมั่น เช่น วันที่สิบอาชูรอ วันครบรอบการประสูติและการวายชนม์และการเป็นชะฮีดของศาสดาหรือบรรดาอิมาม,ค่ำคืนลัยลาตุลกอดร์ในเดือนรอมฎอน,ศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน และวันที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ ในบรรดาวันสำคัญเหล่านี้ วันที่ 22 บะฮ์มันถือเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะเป็นวันครบรอบการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน และยังเป็นวันแห่งการประกาศชัยชนะซึ่งถูกถือให้เป็น “วันของพระผู้เป็นเจ้า” หรือ “เยามุลลอฮ”
ในบทความนี้จะศึกษาถึงความหมายของคำว่า “วันแห่งพระเจ้า” “วันที่ 22 บะฮ์มัน” และวิเคราะห์สาเหตุที่ชาวอิหร่านนำโดยอิมามโคมัยนีได้เปรียบวันแห่งการปฏิวัติว่าเป็นวันแห่งพระผู้เป็นเจ้า
2. ความหมายของคำว่า เยามุลลอฮ หรือ วันของพระผู้เป็นเจ้า
เยามุลลอฮ 22 บะฮ์มัน ประกอบด้วยคำว่า “เยามุลลอฮ(یوم الله)” หมายถึง วันของพระผู้เป็นเจ้า และในทางสำนวน เยามุลลอฮ์ หมายถึง
ก) วันที่เจตจำนงค์ของพระผู้เป็นเจ้าถูกสำแด
ข) ช่วงเวลาที่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้น โดยอำนาจของพระเจ้าได้รับการเปิดเผยมากขึ้นในช่วงเวลานั้น
ค) สื่อถึงวันที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้นจากภัยต่างๆ หรือ ประทานความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ศรัทธา และในทางกลับกันบางกรณี เยามุลลอฮ สื่อถึงวันแห่งการลงโทษสำหรับผู้ที่ตั้งภาคี ผู้ที่ตั้งต้นเป็นศัตรูกับสัจธรรม (Porseman,2015)
จุดหมายของการกล่าวถึง เยามุลลอฮ มีสองประการด้วยกันได้แก่ การระลึกเพื่อเรียนรู้อุทาหรณ์และการเตือนสติมนุษย์มิให้หลงอยู่ในทางที่ผิด(یوم الله, วิกิชีอะฮ์,สารานุกรมเสรี วิกิชีอะฮ์)
ส่วนคำว่า “บะฮ์มัน(بهمن) “ หมายถึง เดือนที่ 11 ของอิหร่านตามปีสุริยคติแบบเปอร์เซีย(بهمن ماه , สารานุกรมเสรี : วิกิชีอะฮ์) โดยในปัจจุบันคำว่าเยามุลลอฮจะถูกประกาศขึ้นทุกปีเมื่อเข้าสู่วันที่ 22 บะฮมัน โดยประชาชนชาวอิหร่าน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง การปฏิวัติอิสลาม กับ พระผู้เป็นเจ้า
3. ความหมายต่างๆของคำว่า เยามุลลอฮ
คำว่า เยามุลลอฮ์ ในวงการวิชาการของอิมามิยะฮ์ มีหลากหลายวาระ ทว่าวาระสำคัญมีดังนี้
ก) เยามุลลอฮ คือ วันแห่งการปฏิวัติของอิมามมะฮ์ดี(อลัยฮิสลาม), วันแห่งการรุญอะฮ์(คืนกลับ) และวันกิยามัต(วันแห่งการฟื้นคืนชีพ ตามรายงานของอิมามบาเกร(อลัยฮิสลาม)
ข) เยามุลลอฮ คือ วันอาชูรอ หมายถึง วันแห่งการสังหารอิมามฮูเซน บิน อาลี หลานชายของท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล) ณ แผ่นดินกัรบาลา
ค) เยามุลลอฮ คือ วันสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม เช่น วันแห่งการฮิจเราะฮ์(อพยพ) วันแห่งการประกาศชัยชนะของอิสลามโดยศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล)ด้วยการพิชิตมักกะฮ์ (یوم الله, วิกิชีอะฮ์,สารานุกรมเสรี วิกิชีอะฮ์)
ง) เยามุลลอฮ์ คือ วันสำคัญในเหตุการณ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ซึ่งหนึ่งในเยามุลลอฮ ตามที่อิมามโคมัยนีได้ตั้งไว้ คือ 15 เดือนคุรด็อด วันที่ 17 ชะฮ์รีวัร และวันที่ 22 บะฮ์มัน คศ 1979 ซึ่งถือเป็นวันแห่งการประกาศชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามเพื่อโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวีภายใต้ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของซัยยิดรูฮูลลอฮ มูซาวีย์ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “อิมามโคมัยนี” (การปฏิวัติอิหร่าน,สารานุกรมเสรี : วิกิพีเดีย)
4. สาเหตุที่ชาวอิหร่านเรียกวันแห่งการปฏิวัติของตนว่า วันของพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อพิจารณาตัวบททางศาสนาและความหมายที่เกี่ยวข้องกับ “วันของอัลลอฮ์” พบว่า เวลาใดก็ตามที่พระประสงค์ถูกสำแดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ช่วงเวลานั้นจะถูกเรียกว่า “วันแห่งพระผู้เป็นเจ้า” แน่นอนว่าตามหลักการของศาสนา ทุกวันคือวันของพระผู้เป็นเจ้า ทว่าในบางกรณี มีบางช่วงเวลาที่วันของพระผู้เป็นเจ้าถูกสำแดงให้เห็นอย่างเด่นชัดมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ เช่น “วันแห่งการปฏิวัติอิสลาม” ชาวอิหร่านจึงเรียกวันแห่งการปฏิวัติอิสลามที่ 22 บะฮ์มันว่า “เยามุลลอฮ” หรือ วันแห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยเหตุผลหลักสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
1) การเรียกวันที่ 22 บะฮ์มันว่า วันแห่งพระผู้เป็นเจ้า หรือ วันของอัลลอฮ เริ่มต้นจากอิมามโคมัยนี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ระลึกถึงความสำคัญ และเตือนสติผู้ที่มีโอกาสหันเหไปสู่หนทางอื่นที่ไม่ใช่หนทางของอัลลอฮ
2) ชาวอิหร่านประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลอิสลามตามหลักการของศาสนาอิสลามในยุคสมัยปัจจุบัน โดยมีอัลกุรอ่านและซุนนัตเป็นธรรมนูญ อิงจากพระประสงค์ให้มีการนำการปกครองและกฎหมายของพระผู้เป็นเจ้ามาบังคับใช้ จึงถือว่าวันดังกล่าวคือการสำแดงพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในฐานะของการกลับไปสู่อัลกุรอ่านและซุนนัต
3) ชาวอิหร่านประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับระบบที่ต้องการล้มล้างแนวคิดและค่านิยมอิสลาม ซึ่งหมายถึงระบบการปกครองของราชวงศ์ปาห์ลาวีภายใต้การปกครองของโมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และยังได้รับชัยชนะจากการต่อสู้นี้ แม้ฝั่งตรงข้ามจะได้รับการสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจก็ตาม เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่าความพยายามทำลายแนวทางของศาสดาและการตอบโต้ของศาสดาที่มีต่อกลุ่มศัตรูของอิสลามจนนำไปสู่การประกาศชัยชนะในวาระสำคัญโดยช่วงเวลาแห่งชัยชนะนั้นถูกนับให้เป็น “วันของพระผู้เป็นเจ้า” สามารถเปรียบเทียบได้กับความพยายามทำลายแนวทางของอิสลามของเรซา ปาห์ลาวีและความพยายามปกป้องแนวทางจนประสบความสำเร็จในวันที่ 22 บะฮ์มันของชาวอิหร่าน
4) 22 บะฮ์มัน และชัยชนะในการปฏิวัติ ถือเป็นการมอบความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า และการทำลายศัตรูของพระองค์ เมื่อพิจารณาจากนิยามของ เยามุลลอฮ ที่สื่อความหมายถึงการได้รับความโปรดปรานและการลงโทษต่อศัตรูของพระผู้เป็นเจ้า พบว่าปรากฎการณ์ 22 บะฮ์มันมีลักษณะตรงกันกับนิยามของคำว่า “เยามุลลอฮ”
5) 22 บะฮ์มันคือวันแห่งการผินหลังจาก ทรราช(ฏอฆูต-طاغوت) ไปสู่พระองค์อัลลอฮ(ซบ) ซึ่งตรงกันกับวิถีของเหล่าศาสดาตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมีบัญชาให้ต่อสู้และโค่นล้มทรราชผู้อธรรมต่อมนุษย์ในอดีต เช่น ฟิรอูน และนัมรู๊ด
5.สรุป
กล่าวโดยสรุป เยามุลลอฮ 22 บะฮ์มัน คือ วันแห่งการสำแดงสัจธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในรูปแบบของชัยชนะแห่งการปฏิวัติอิสลามในประเทศอิหร่านในฐานะที่การปฏิวัตินี้คือการหวนกลับไปสู่อัลกุรอ่านและซุนนัต,การต่อสู้กับผู้อธรรม,และความพยายามในการปกป้องสัจธรรม แน่นอนว่าทัศนะของอิสลามทุกวันล้วนเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระผู้เป็นเจ้า ทว่าในวันที่ 22 บะฮ์มัน ถือเป็นวันที่มีการสำแดงสัจธรรมของพระองค์อย่างความชัดเจน จึงทำให้วันดังกล่าว ถูกจัดให้อยู่ในวันพิเศษในฐานะวันของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเรียนรู้และระลึกถึงคุณค่า บทเรียนและอุทหรณ์ และเตือนสติให้มนุษย์โดยเฉพาะมุสลิมเดินบนหนทางที่ถูกต้องตลอดไป
source:
คณะโพรเซมอน. (2015). เยามุลลอฮ 22 บะฮ์มัน ? (วันแห่งพระผู้เป็นเจ้า 22 บะฮ์มันคืออะไร) สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมพาพันธ์ 2566, จาก porseman
การปฏิวัติอิหร่าน. (2564,25 สิงหาคม).ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมพาพันธ์ 2566, จาก wikipedia
ایام الله. (2022,5 พฤศจิกายน). ใน วิกิชีอะฮ์ สารานุกรมเสรี สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมพาพันธ์ 2556, จาก