บทวิเคราะห์สถานการณ์ตะวันออกกลางประจำสัปดาห์

390

1.นายกปากีเยือนอิหร่าน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม 2562 นายกรัฐมนตรีปากีสถานนายอิมรอน ข่าน ได้เดินทางถึงสนามบินเมฮร์ออบอด จังหวัดเตฮราน ด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นโดยมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน นายมูฮำหมัด ญะวาด ซะรีฟ เป็นผู้ต้อนรับ โดยนายกรัฐมนตรีปากีสถานมีกำหนดการที่จะพบเจอกับประธานาธิบดีอิหร่านนายฮัสซันโรฮานี เพื่อหารือประเด็นสันติภาพในตะวันออกกลาง อิมราน ข่านได้กล่าวแถลงร่วมกันกับประธานาธิบดีอิหร่านว่า “จะต้องไม่มีสงครามเกิดขึ้นระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย เพราะท้ายที่สุดสงครามจะนำสู่ความยากจน และตัวของข้าพเจ้าก็เดินทางมาเพื่อประเด็นนี้” ทางด้านอิหร่านนายฮัสซันโรฮานี ก็ได้กล่าวขอบคุณต่อการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีปากีสถาน และยังได้กล่าวถึงประเด็นการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า “ทางอิหร่านจะทำการตรวจสอบและสืบสวนการโจมตีเรือขนน้ำมัน เพื่อหาเบาะแสต่อไปจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ในขั้นสุดท้าย และจะเปิดเผยถึงปัจจัยหลักของการโจมตีในครั้งนี้ นอกจากนี้ประธานาธิบดีอิหร่านยังได้กล่าวอีกว่า  “มันเป็นความผิดพลาด สำหรับคนที่สร้างความมั่นคงในภูมิภาค แต่กลับคิดว่าจะไม่มีการตอบโต้คืนการกระทำดังกล่าว”

มุมมองทางเลือก : ในการเจรจาไกล่เกลี่ย 3 ที่ต้องคำนึงถึงซึ่งทั้ง 3 ประเด็นมีผลกระทบต่อการเจรจา

ประเด็นที่หนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ-สหรัฐ-อิหร่าน

ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐมีความสัมพันธ์ในเชิงลบตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากผลของการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐและประเทศพันธมิตร และในช่วง 2 ปีให้หลังจากการถอนตัวของสหรัฐในการทำข้อตกลงเบ็ดเสร็จร่วมกัน  JCPOA ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมีลักษณะในเชิงลบมากขึ้น  ส่วนทางด้านซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์เริ่มก้าวไปในทางลบหลังจากการประหารชีวิตเชคนิมร์ ในปี 2015 และการที่บางส่วนโทษว่าอิหร่านเป็นผู้ทำให้เกิดเหตุผู้เสียชีวิตนับพันรายในพิธีแสวงบุญฮัจญ์ มินา เมื่อปี 2016 รายการที่อิหร่านสนับสนุนเยเมนให้ทำสงครามกับซาอุฯ ในขณะที่ซาอุก็ออกมาประณามอิหร่านที่ช่วยเหลือกลุ่มฮูตี ยิ่งเป็นตัวชี้วัดว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศค่อนข้างระอุมากขึ้น  และล่าสุดก็คือการที่ทั้งสหรัฐและซาอุ แสดงความเห็นร่วมกันในการกล่าวหาอิหร่านว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการถล่มแหล่งขุดเจาะน้ำมันอารามโก้

นี่คือภาพรวมในรอบ 5 ปีซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 3 ประเทศและสถานการณ์เหล่านี้ยังเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับความเดือดของความขัดแย้ง

ประเด็นที่สอง ซาอุต้องการลดความรุนแรง ?

มีสถานการณ์หลายอย่างที่บ่งชี้ว่าการเคลื่อนไหวของซาอุดิอาระเบียไม่ได้บ่งชี้ถึงการพยายามลดความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ [I]การที่ซาอุประณามอิหร่านที่สนับสนุนกลุ่มฮูตี [II]การสังหารนักข่าว ญะมาล คอชุกญี(Jamal Khashoggi)นักข่าววอชิงตันโพสต์ ซึ่งถูกฆาตกรรมและถูกแยกชิ้นส่วนอวัยวะภายในสถานกงสุลซาอุฯ  หลังจากเขียนบทความเปิดโปงมกุฏราชกุมารและกษัตริย์ซาอุ และต่อต้านการแทรกแซงของซาอุฯ ในสงครามกลางเมืองเยเมน [III]ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ซึ่งซาอุได้ตั้งข้อหาว่าขีปนาวุธซึ่งถูกยิงโจมตีใส่แหล่งขุดเจาะน้ำมันอารามโก้ ถูกยิงมาจากประเทศกาตาร์

ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวชี้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซาอุไม่ได้พยายามลดหลั่นความรุนแรงลงแม้แต่น้อยแต่หากการเจรจาโดยมีนายอิมรานข่านนายกรัฐมนตรีปากีสถานเป็นตัวกลางได้รับความร่วมมือ สันติภาพนั้นดูจะเป็นเหมือนสันติภาพบนกระดาษมากกว่าตราบใดที่นโยบายทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง

ประเด็นที่สาม อิมราน ข่าน เยือนอิหร่าน

ในปัจจุบันประเทศที่มีความสัมพันธไมตรีที่ดีทั้งกับซาอุดิอาระเบียและเตหะราน ได้แก่ปากีสถาน โดย อิมราน ข่าน และประเทศอิรัก โดย อับดุลมะฮดี นักวิเคราะห์ในอิหร่านมองว่าการที่นายกรัฐมนตรีปากีสถานเดินทางมาเยือนประเทศอิหร่านเพื่อเจรจาสันติภาพนั้นเป็นการกระทำที่ดีเป็นอย่างยิ่ง แล้วเช่นเดียวกันทางฝ่ายรัฐบาลของอิหร่านก็ไม่ได้ปฏิเสธการมีคนกลางข้อเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรุงเตหะรานกับกรุงริยาด โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการก็คือความเป็นกลางอย่างแท้จริง

2. ตุรกี ยิ่งยิง ยิ่งซวย

มุมมองทางเลือก : การที่ตุรกีหันมาโจมตีกลุ่มชาวเคิร์ด  ไม่ได้ให้ผลดีใดๆในทางการเมืองหรือในทางความมั่นคงแก่ตุรกีเลย เพราะนอกจากทางปีกตะวันตกจะออกมาต่อต้านประนามด่าทอหรือเลิกทำการค้าด้วยเป็นบางประเทศอย่างฝรั่งเศส ด้านตะวันออกเองก็ประณามการโจมตีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตุรดียังโดนประท้วงโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชน และกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆเพื่อมนุษยธรรม มองในเรื่องของปฏิบัติการการโจมตีดังกล่าวได้ทำให้คนเป็นพันต้องไร้บ้าน มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง แล้วยังทำให้กลุ่ม SDF ต้องเลิกควบคุมกลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่ถูกคุมขังเป็นจำนวน 600 คน ซึ่งนี่ถือเป็นโอกาสในการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของกลุ่มก่อการร้ายไอเอสอย่างที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มเคิร์ดได้พูดไว้จริงๆ แน่นอนว่าตัวของกลุ่มเคิร์ดเองก็ไม่ใช่กลุ่มชาตินิยมที่จะกลายเป็นพระเอกในสมรภูมิซีเรียสำหรับทุกๆฝ่าย แต่เพราะสหรัฐแสดงท่าทีในการสนับสนุนฝ่ายต่างๆก็เลยเหมือนจะออกมาปกป้องในทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงก็คือการที่พรรคฝ่ายค้านนายกรัฐมนตรีเออร์ดูฆาน ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการโจมตีอย่างรุนแรง ก็กลายเป็นผลลัพธ์ที่เลวร้ายต่อการตัดสินใจบุกครั้งนี้อีกด้านนึงด้วย เออร์ดูฆาน จึงเหมือนคนที่โดนโลกประนาม เพราะดันไปตัดสินใจผิดพลาด เส้นทางที่ดีที่สุดคือการยกเลิกปฏิบัติการจู่โจมนี้เสีย ทุกอย่างจะได้คลี่คลายลง

3.กาตาร์ พร้อมลงนามในสนธิสัญญาความปลอดภัยระดับภูมิภาค

เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2562  นาย มูฮัมหมัด อับดุลเราะห์มาน อาลีซานี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกาตาร์ ได้เข้าร่วมงานสัมนารัฐศาสตร์โลก ในประเทศโมร็อคโค โดยในงานสัมนารัฐมนตรีต่างประเทศท่านนี้ได้กล่าวถึงสถานะของประเทศตนว่ามีความพร้อมในการทำสนธิสัญญาเพื่อความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

มูฮัมหมัด อับดุลเราะห์มาน อาลี ซานี ได้กล่าวถึงเจตจำนงของผู้นำกาตาร์ ตะมีม บิน ฮัมด์ อาลีซานี ว่าทางกาตาร์พร้อมจะเซ็นสนธิสัญญา โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาความมั่นคง และความปลอดภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการทําสนธิสัญญาจะวางอยู่บนหลักการที่มีเหตุผลและสามารถสร้างความมั่นคงได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดสันติภาพ

มูฮัมมัด อับดุลเราะห์ กล่าวอีกว่า  ในตอนนี้ภูมิภาคของเราต้องการกรอบเพื่อที่จะสร้างสันติในระยะยาวเป็นอย่างยิ่ง และจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าสหประเทศที่อยู่ในแถบตะวันออกกลางยิ่งต้องการความมั่นคงมากกว่าเก่า

อย่างไรก็ตามกาตาร์เป็นประเทศที่แสดงความเห็นต่างออกไปจากประเทศอาหรับโซนอื่นๆ ซึ่งในตอนนี้ถือว่ากาตาร์เป็นประเทศที่แสดงเจตจำนงว่าสันติภาพในตะวันออกกลาง มากกว่าการทำสงครามเข่นฆ่ากัน

4.รัสเซียขยายอำนาจ

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พศ 2562 ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ปูติน เดินทางมาประเทศซาอุดิอาราเบีย และได้พบปะกับกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด ในพระราชวังอัลยามามะห์ ประจำกรุงริยาฎ หลังจากที่ไม่ได้มาเยือนซาอุเป็นเวลานานถึง 12 ปี ทั้งสองประเทศเจรจากันเรื่องการลงนามข้อตกลงด้านพลังงาน ภัยคุกคามก่อการร้าย การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย

มุมมองทางเลือก : มีประเด็นที่น่าวิเคราะห์ต่อยุทธศาสตร์ของรัสเซียดังนี้

1.ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย -ซาอุ และรัสเซีย-อิหร่าน

การสร้างความสัมพันธ์ของรัสเซียต่อประเทศอื่นมีลักษณะที่แตกต่างจากสหรัฐฯ ในเรื่องของการวางตัวเป็นกลาง จะเห็นว่าในขณะที่รัสเซียมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่ออิหร่านในด้านหนึ่งพวกเขาก็มีความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียและอิสราเอล หรือ แม้แต่ตุรกี กับ ซีเรีย แนวทางการฑูตของรัสเซีย จึงมีลักษณะคล้ายประโยชน์นิยมของตนเอง ในขณะที่ทรัมป์ทำไม่ได้แบบนั้น ตัวอย่างจากการหารือร่วมกันระหว่างปูติน ฮัสซันรูฮานี และ เออร์โดกาน  ปูติน ยกองค์การอัลกุรอานที่บอกว่ามุสลิมเป็นพี่น้องกัน เมื่อมีข้อพิพาทก็ต้องตัดสินกันแบบพี่น้อง ในขณะที่ทรัมป์จะเล่นบทการฑูตแบบแบ่งดำแบ่งขาว  ใครไม่ใช่พวกเราเขาเป็นผู้ก่อการร้าย จึงทำให้หลายประเทศในตะวันออกกลางพร้อมที่จะเจรจาหรือหารือร่วมกันกับรัสเซียมากกว่าสหรัฐ  และการที่รัสเซียมาเยือนซาอุดิอาระเบียในครั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเตหะรานจะต้องตัดความสัมพันธ์กับรัสเซีย ถึงแม้ว่ามุมมองทางด้านการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางของรัสเซียอาจจะต่างกับประเทศอื่นๆ เช่นตุรกี หรือซาอุดิอาระเบียก็ตาม แต่มันเป็นความต่างแบบมีกาละเทศะ

2.เป้าหมายปูติน

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ประเทศนี้ ไม่มีโอกาสขยายอิทธิพลของประเทศตนในภูมิภาคตะวันออกกลาง แม้ว่า project ดังกล่าวจะคุยกันตั้งแต่สมัยสหภาพยังไม่ล่มแล้ว แต่ที่มาทำได้สำเร็จจริงคือในยุคของวลาดิเมียร์ปูติน เป้าหมายหลักของปูติน คือการขยายอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เซีย การขายระบบขีปนาวุธให้ตุรกี และการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อิรัก หลังการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงการทำข้อตกลงพลังงาน ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ดีที่กำลังบอกเราว่ารัสเซียกำลังขยับไปการขยายอำนาจที่มากขึ้น

3.รัสเซียกับสหรัฐคู่แข่งในตลาดพลังงาน

แน่นอนว่ารัสเซียมีเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการส่งเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์และอาวุธยุทโธปกรณ์ในทางทหาร แต่ในซาอุฯ มอสโกถือว่ายังไม่ใช่คู่แข่งของสหรัฐที่จะเข้ามาจดทะเบียนทำกิจค้าขายทางการทหารกับซาอุดิอาระเบีย เพราะสหรัฐได้ทำการค้ากับซาอุในปริมาณมหาศาล ซึ่งในปีล่าสุดตัวเลขการค้าอาวุธให้ซาอุดิอาระเบียถูกบันทึกไว้เป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ และเพื่อแข่งขันในตลาดจึงไม่แปลกที่ถ้าจะเห็นรัสเซียพยายามเสนอโครงการหรือข้อตกลงในการขายพลังงานนิวเคลียร์,ระบบป้องกันขีปนาวุธให้กับซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ตามตลาดพลังงาน ถือเป็นตลาดที่น่าจับตามองอยู่เสมอ เพราะมันเป็นตลาดที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะสิทธิและความชอบธรรมในการซื้อขายจะเกี่ยวข้องกับมุมมองของประชาคมโลกต่อประเทศนั้นๆ

4.ซาอุ อิหร่าน ยังคุยกันได้

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 นาย ตุรกี อัลไฟศอล ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองซาอุดิอาระเบีย ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN ภาคภาษาอาหรับ โดยกล่าวชี้แจงถึงข้อกล่าวหาเรื่องการส่งทหารสหรัฐเข้าสู่แผ่นดินซาอุดิอาระเบียว่ามีจุดประสงค์เพื่อคุกคามอิหร่านว่า “การส่งทหารเข้ามาในซาอุดิอาระเบียในครั้งนี้ ไม่ใช่การส่งทหารภายใต้เงื่อนไขของสงคราม แต่เป็นการร่วมมือกันในทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นความจำเป็นหลังจากที่แหล่งขุดเจาะน้ำมัน aramco ถูกอิหร่านโจมตี”

ประเด็นที่อัลไฟศอลถูกตั้งคำถามคือ การส่งทหารหรือการเพิ่มจำนวนทหารให้มากขึ้นในซาอุดิอาระเบีย เป็นการลดความตึงเครียดในภูมิภาคได้อย่างไร ? อัลไฟศอลได้ตอบว่า “อิหร่านจะต้องตัดสินให้ดีในเรื่องนี้ ถ้าหากพวกเขาอยากหาเรื่องเจ็บตัว ซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรพร้อมตอบโต้เสมอ แต่ถ้าหากพวกเขาอยากเข้ามาเจรจาเพื่อให้ทุกแผ่นดินมีความสงบสุขและสันติภาพ ไม่ใช่แค่ในอ่าวเปอร์เซียแต่ทั้งภูมิภาค โต๊ะเจรจามีที่วางให้เสมอ”

นอกจากนี้ อัลไฟศอล ยังได้ตอบคำถามถึงข่าวลือที่ว่ากรุงริยาดกำลังเจรจาอย่างลับๆกับกรุงเตหะรานอยู่หรือไม่ ?ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลถึงการเจรจาอย่างไม่เปิดเผยกับอิหร่าน แต่ในความคิดของข้าพเจ้า ฝ่ายเราได้แสดงเจตนาที่ดี แต่ฝ่ายของอิหร่านไม่มีการเปิดเผยถึงเจตนาดีใดๆเลย

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายฝ่ายทั้งที่เป็นมิตรและเป็นศัตรูกับซาอุดิอาระเบียมองว่าการส่งทหารจากสหรัฐเข้ามาในภูมิภาค ไม่ช่วยให้ความรุนแรงและความตึงเครียดลดลง แต่ยิ่งโหมกระหน่ำให้บรรยากาศของภูมิภาคเข้าใกล้สงครามยิ่งขึ้น

5.เคิร์ด ปล่อยไอซิซ ล้างแค้นโดนหักหลัง

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562 นาย เรดูร์ เซลิล หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังเคิร์ด ได้แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า หลังจากนี้ หน้าที่คุมขังไอเอส จะไม่ใช่ภารกิจหลักของพวกเราอีกต่อไป ใครอยากดูก็ดูไป นักรบเคิร์ดจำเป็นต้องย้ายทัพไปปกป้องเมืองจากการโจมตีของตุรกีแทนการมาเฝ้ายามคุมไอเอส

มุมมองทางเลือก

1.เคิร์ด กำลังบอกว่า ตัวเองสำคัญอย่างไรในสถานการณนี้ การที่ตุรกี ระดมยิงใส่พวกเขา เปรียบเหมือนการปล่อยไอเอสให้ฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง การตอบโต้แรกของเคิร์ดคือ การประกาศว่าตนนั้นโดนทิ้ง และมีแต่ฝ่ายตนที่ยันไอเอสอยู่

2.จะมีการอ้างถึง ความเป็นมุสลิม ของเคิร์ด เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้สนับสนุน ทั้งๆที่เคิร์ดเน้นไปทางชาตินิยมมากกว่าศาสนา ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้ที่ถูกโฆษณาให้ชนชาติมุสลิมสนับสนุนคือ ตุรกี ก่อนหน้านี้คือ ซาอุฯ และเมื่อช่วงต้นเรื่องซีเรีย ปี2011 มีการชูไอเอส และ ญับฮะตุนนุศเราะฮ์ โดยสื่อบางกลุ่ม นี่คือ กระบวนการแจกอุดมการณ์อย่างมักง่ายให้แก่มุสลิม

3.มุมมองเรื่อง IS

-แม้ทรัมป์ จะประนามการโจมตีของตุรกี แต่เขาก็พูดทิ้งท้ายก่อนปล่อยให้ตุรกีทำว่า ถ้าไอเอสกลับมาปั่นป่วนสร้างความวุ่นวายในมาตุภูมิของเรา พวกเขาจะต้องเจอดีแน่นอนแล้วเราจะกลับมาอีก และหลังจากชาวเคิร์ดถูกโจมตีทางฝั่งสหรัฐก็มาบอกว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งหรือหักหลังเคิร์ด

-เคิร์ดมองว่าสหรัฐขายพวกเขาให้ตุรกี และหักหลังพวกเขา เลยตอบโต้ด้วยการปล่อยนักโทษเดนตายไอเอส ที่กลุ่มของพวกเขาดูแลอยู่

-ฮัสสัน ฮัสสัน นักวิเคราะห์จาก นักข่าวของสำนักข่าว the guardian เจ้าของหนังสือ ISIS: Inside the Army of Terror มองว่าการโจมตีของตุรกีในแผ่นดินซีเรียในครั้งที่สอง(ครั้งล่าสุด)คือสิ่งที่จะทำให้ไอเอส ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เขาให้เหตุผลว่า[I]การโจมตีครั้งแรกของตุรกีในแถบชายแดน มีผลทำให้ กลุ่มก่อการร้ายไอเอส สามารถลอบเข้าซีเรียจนสร้างความหายนะมาแล้ว ในการโจมตีครั้งนี้ก็จะเป็นการเปิดช่องว่างให้กลุ่มก่อการร้ายไอเอสเข้ามาสร้างอาณาจักรในช่วงที่ชาวเคิร์ดกำลังอ่อนแอ [II]กองกำลังของชาวเคิร์ด มีประสบการณ์การสู้รบน้อยกว่าไอเอส และยังจำเป็นต้องฝึกฝนอีกมาก ศักยภาพของตัวทหาร จึงมีผลสำคัญในการวัดผลแพ้ชนะ [III]หลังจากโดนัลด์ทรัมป์ตัดสินใจถอนทหารออกจากซีเรีย หนึ่งในผู้บัญชาการกองกำลังของชาวเคิร์ดก็เดินออกจากห้องด้วยความโมโหและพูดว่าพวกคุณขายเรา !! เพราะการที่่สหรัฐส่งไม้ต่อให้อังการาที่เป็นศัตรูกับเคิร์ด คือ การเอาคอชาวเคิร์ดมาขึ้นเขียงดีๆนี่เอง แม้ทรัมป์จะออกมาประนามตุรกีในช่วงแรก แต่มันก็ไม่คลายความโกรธแค้นของชาวเคิร์ด เพราะ ถ้าจะห้ามไม่ให้เขาทำ แล้วปล่อยให้เขามารับช่วงต่อทำไม ?

-Sobah Zangane นักวิเคราะห์จากสำนักข่าว ETEMAD มองว่า การถอนทหารของสหรัฐในซีเรีย เพื่อเปิดโอกาสให้ ISS คืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในช่วงที่ชาวเคิร์ดกับตุรกีกำลังปะทะกัน คือข้ออ้างที่ดีที่กองทัพสหรัฐจะกลับเข้าสู่ภูมิภาคอีกครั้ง เพราะความพ่ายแพ้ของไอเอส เป็นความพ่ายแพ้ในเชิงฟิสิกส์ แต่รากฐานแนวคิดของ IS ยังคงมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้จะหวนกลับมาฟื้นคืนชีพได้ในทุกเมื่อหากมีช่องว่างเกิดขึ้น และจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ตุรกีได้จู่โจมเคิร์ด ไม่ว่าจะปฏิเสธหรือยอมรับ จงใจหรือไม่คาดคิด สหรัฐได้สร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มไอเอสเสียแล้ว

-นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์ที่พูดถึงอนาคตของไอเอสหลังการโจมตีของตุรกี โดยเราะฮมาน กะฮ์เรมอนพูร นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองต่างประเทศ เขาก็ได้วิเคราะห์ว่า [I]การปล่อยตัวกลุ่มก่อการร้ายไอเอส โดยกลุ่มชาวเคิร์ดเพื่อเป็นการตอบโต้ตุรกีและสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นข่าวเท็จ ยังไม่พอจะทำให้กลุ่มก่อการร้ายไอเอสกลับมาแข็งแกร่งได้ดั่งเก่า ฝ่ายซัพพอร์ตและสปอนเซอร์ของกลุ่มก่อการร้ายนี้ ยังไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะสนับสนุนพวกเขา และในอีกด้านหนึ่งซีเรียและอิรัก อยู่ภายใต้การควบคุมและแข็งแกร่งกว่าในหลายปีที่ผ่านมา ถ้าไอเอสจะปรากฏตัว การปรากฏตัวของพวกเขาก็จะแตกต่างจากในอดีต เหมือนในปี 2014 [II] ไอเอสไม่ได้ปฏิบัติการอยู่แค่ในประเทศอิรักและซีเรีย พวกเขายังมีเครือข่ายทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเอเชีย กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ ถ้าคนกลุ่มนี้จะก่อการพวกเขาต้องเลือกวิธีอื่น เพราะไม่มีความแข็งแกร่งมากพอที่จะปรากฏและผงาดตัวในรูปแบบของกองทัพเหมือนปี 2014  ดังนั้น ถ้าจะมีความเป็นไปได้ หรือ มีปฏิบัติการ ไอเอส จะปฏิบัติการแบบหมาป่าเดียวดาย หรือ lone wolf ทำคนเดียวเหนื่อยคนเดียว

source:

https://www.reuters.com

https://www.bbc.com

https://www.euronews.com

https://amp.dw.com

https://s.alarab.qa

https://www.aljazeera.com

https://arabic.cnn.com

https://mgronline.com

https://www.theguardian.com