รอยเตอร์ได้รายงานและวิเคราะห์ในเชิง “สัมพันธ์ร้าวซาอุ-อิหร่าน” ในช่วงสิบทศวรรษที่ผ่านมา หลังซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 ม.ค.) และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซาอุ-อิหร่านผิดใจกัน และทั้งสองประเทศเคยบาดหมางกันหลายครั้งในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา
ครั้งแรก ปี 2530
ความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ร้าวฉานอย่างหนักหลังเกิดเหตุปะทะในนครมักกะฮ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 ส่งผลให้มีผู้แสวงบุญเสียชีวิต 402 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอิหร่าน 275 คน
เหตุเสียชีวิตดังกล่าวทำให้ชาวอิหร่านออกมาประท้วงบนท้องถนนในกรุงเตหะราน สถานทูตคูเวตถูกเผา และนักการทูตชาวซาอุดีคนหนึ่งชื่อว่า “ มูซา อัลกะดัม” พลัดตกหน้าต่างของสถานทูตและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยที่ริยาดตำหนิและกล่าวหาเตหะรานว่าเพิกเฉยและไม่ส่งนักการทูตดังกล่าวเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จากนั้นทั้งสองฝ่ายระหองระแหงกันไม่เลิกรา จนกระทั่งกษัตริย์ฟาฮัดของซาอุดีอาระเบียตัดสัมพันธ์การทูตในเดือนเมษายน 2531
บรรยากาศดีขึ้นในปี 2542
หลังจากนักการศาสนา มุฮัมมัด คาตามี ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2540 กษัตริย์ฟาฮัดของซาอุดีอาระเบียได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีในชัยชนะของคาตามี ในฐานะมีนโยบายปฏิรูปนิยม ซึ่งคาตามีดำเนินนโยบายคืนดีกับซาอุดีอาระเบียยุติความตึงเครียดกับรัฐบาลริยาด ในปี 2542 คาตามีเป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนแรกที่ไปเยือนซาอุดีอาระเบียนับแต่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 2522
ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกันในเดือนเมษายน 2544 ตอนที่คาตามีชนะเลือกตั้งอีกสมัยในปีเดียวกันนั้น
ชิงความเป็นใหญ่ในปี 2546
กรณีสหรัฐฯรุกรานอิรัก และงัดข้อกับอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน
หลังจากซัดดัม ฮุสเซน ถูกโค่น อิรักซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวชีอะห์ปรับนโยบายเข้าใกล้ชิดกับอิหร่านมากขึ้น ขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียหวาดระแวงว่า อิหร่านภายใต้ประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มาดีเนจาร์ด ทำโครงการนิวเคลียร์เพื่อครองความเป็นใหญ่ในย่านอ่าวเปอร์เซีย
อาหรับสปริง ปี 2554
กระแสลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมในแถบตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบียส่งกองทหารเข้าไปในบาห์เรน ช่วยปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะเกรงว่าฝ่ายต่อต้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์จะหันไปซบอิหร่าน ซาอุดีอาระเบียกับบาห์เรนกล่าวหาอิหร่านว่า หนุนหลังผู้ประท้วงให้ใช้ความรุนแรงต่อตำรวจบาห์เรน
โทรเลขทางการทูตซึ่งหลุดทางวิกิลีกส์ ยังเผยให้เห็นว่า กษัตริย์อับดุลเลาะห์ของซาอุดีอาระเบียผลักดันสหรัฐฯให้ใช้ไม้แข็ง รวมถึงกำลังทหารต่ออิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์
รัฐบาลวอชิงตันบอกว่า ค้นพบแผนการของอิหร่านที่จะลอบสังหารเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำกรุงวอชิงตัน ซึ่งริยาดขู่อิหร่านให้ให้ชดเชยค่าเสียหายในการกระทำครั้งนี้
สงครามตัวแทน ปี 2555
ซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ในการสนับสนุนพวกกบฏที่สู้รบกับประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัลอัสซาด ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน รัฐบาลริยาดกล่าวโจมตีอัสซาดว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และเรียกอิหร่านว่า ผู้ยึดครองซีเรีย ขณะที่เตหะรานกล่าวหาริยาดว่า สนับสนุน “การก่อการร้าย”
ในเดือนมีนาคม 2558 ซาอุดีอาระเบียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในเยเมน เพื่อสกัดกั้นกลุ่มฮูธี(เฮาซีย์) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ไม่ให้สามารถยึดอำนาจได้ และริยาดกล่าวหาอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังพวกนักรบกลุ่มนี้ ขณะที่เตหะรานบอกว่า การโจมตีทางอากาศของริยาดนั้นมุ่งเป้าสังหารพลเรือน.
สัมพันธ์ร้าวอีกครั้ง วันที่ 3 มกราคม 2559
เมื่อวันอาทิตย์ ซาอุดีอาระเบียประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงบุกสถานทูตซาอุดีในกรุงเตหะราน เพราะไม่พอใจกรณีรัฐบาลริยาดประหารชีวิตนักเทศน์ฝีปากกล้านิกายชีอะห์ ชีค นิมัร อัลนิมัร ผู้วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอย่างร้อนแรง
การประหารเรียกเสียงประท้วงจากมุสลิมชีอะห์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอิหร่านซึ่งเป็นศูนย์กลางนิกายชีอะห์ ผู้นำสูงสุดของเตหะราน อะลี คาเมเนอี ลั่นวาจาว่า สวรรค์จะลงโทษต่อการประหารนิมร์ วัย 56 เป็นแกนนำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่ทางตะวันออกซึ่งอุดมด้วยน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2554 แถวนั้นเป็นถิ่นอาศัยของชาวชีอะห์ซึ่งรู้สึกว่าพวกตนถูกรัฐบาลทอดทิ้ง
ซาอุดีอาระเบียประหารนิมร์ พร้อมกับคนอื่นๆ อีก 46 คน บางส่วนเป็นนักเคลื่อนไหวชาวชีอะห์ บ้างเป็นซุนนี ซึ่งทางการกล่าวหาว่าพัวพันเหตุโจมตีของกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายสิบรายเมื่อปี 2546 และปี 2547 วิธีประหารชีวิตนั้นมีทั้งตัดคอและยิงเป้า
http://uk.reuters.com/article/saudi-iran-idUKKBN0UI14020160105
http://www.farsnews.com/newstext.php?nn=13941014001227