ความตึงเครียดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วปาเลสไตน์ได้มาถึงจุดที่เราใกล้จะก้าวเข้าสู่อินติฟาดาครั้งที่สามแล้ว เมื่อพิจารณาถึงลักษณะความอยุติธรรมแบบไม่ผ่อนปรนที่ชาวปาเลสไตน์ต้องประสบแล้ว ถ้ามันจะเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะมีใครประหลาดใจ
คำถามที่จะเกิดขึ้นเมื่อพูดถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์นั้น ไม่ใช่คำถามที่ว่า ประชาชนที่ถูกยึดครอง, ถูกปิดล้อม, ถูกปฏิเสธสิทธิ, ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีของพวกเขา จะลุกขึ้นต่อต้านหรือไม่ แต่คำถามคือ เมื่อไหร่?
สิ่งที่ไม่มี และจะไม่มีอีกต่อไปแน่ๆ เมื่อพูดถึงคำถามที่ยากและมีมายาวนานแล้วนี้ก็คือ ตัวเลือกที่จะไม่เลือกข้าง ความอยุติธรรมได้เชื้อเชิญการตอบสนองของมันเอง และการก่อจลาจลของเยาวชนชาวปาเลสไตน์ทั่วเวสต์แบงก์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติและชอบธรรมอย่างเต็มที่ต่อการกดขี่ที่พวกเขาต้องเกิดมาพบเจอ และเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาเคยรู้จัก
การเรียกร้องให้ฝ่ายที่ถูกกดขี่ใช้ความยับยั้งชั่งใจเป็นเพียงแค่การสรุปต้นเหตุของวิกฤติการณ์นี้เท่านั้น ที่จริงแล้ว เมื่อพิจารณาดูขนาดและความยาวนานของการที่พวกเขาถูกกดขี่ ชาวปาเลสไตน์ได้ใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างมากมายมหาศาลมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา รอคอยด้วยความอดทนที่จะให้พวกที่เรียกกันว่าประชาคมระหว่างประเทศได้รับรู้ถึงสภาพของพวกเขา และดำเนินการเพื่อยุติมัน
เพราะเมื่อกล่าวถึงการใช้ความยับยั้งชั่งใจ ประชาคมระหว่างประเทศที่กล่าวข้างต้นจะยับยั้งชั่งใจกับการสนับสนุนส่งเสริมกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ตรงต้นเหตุของปัญหา การละเมิดสิทธิของชาวปาเลสไตน์อยู่ซ้ำๆ อย่างชัดเจนและไร้ยางอายของอิสราเอล จะไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางการทูตและทางยุทธศาสตร์จากมิตรในตะวันตกของอิสราเอล
ไม่มีรัฐอื่นใดที่จะยินยอมกับข้อยกเว้นพิเศษที่อิสราเอลได้รับและใช้อย่างผิดๆ อีกแล้ว และไม่มีประชาชนชาติใดที่จะถูกบีบบังคับให้ทนกับความอยุติธรรมตามระบบและอย่างเป็นระบบเหมือนที่ชาวปาเลสไตน์ต้องทนอีกแล้ว
ต้นเหตุสำคัญของความโกรธแค้นของชาวปาเลสไตน์ก็คือการที่อิสราเอลรุกล้ำบริเวณมัสยิดอัล-อักซอในเมืองเก่าของเยรูซาเล็ม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดอันดับสามของอิสลาม สถานที่ของอัล-อักซอยังเป็นที่ตั้งของโดมแห่งศิลา สถานศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งในอิสลาม และภูเขาพระวิหาร (Temple Mount) สถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนายูดาย
ไม่ใช่ว่าต้องเป็นอัจฉริยะจึงจะเข้าใจความตึงเครียดที่แผ่คลุมที่แห่งนี้อยู่
ด้วยการตัดสินใจของรัฐบาลอิสราเอลที่จะขยายลานสวดมนต์ของชาวยิวที่กำแพงฝั่งตะวันตก จึงได้รุกล้ำเข้ามาในสถานที่อัล-อักซอ การจัดเตรียมสภาพการปัจจุบันที่ครอบคลุมสถานที่ศักดิ์ของเมืองเก่านี้จะถูกละเมิด
โดยไม่สนใจต่อการตัดสินของศาลเยรูซาเล็มว่าการขยายพื้นที่ที่เสนอมานั้นจะเป็นการละเมิดอำนาจปกครองของอิสลาม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดขบวนการอินติฟาดาครั้งที่สาม รัฐบาลของเนทันยาฮูได้ชี้ให้เห็นว่า ตนมีเจตนาที่จะเดินหน้าต่อไปกับแผนการนี้ เป็นการตัดสินใจที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดการยกระดับความรุนแรงในปัจจุบัน
องค์ประกอบของความโกรธแค้นที่ระเบิดขึ้นทั่วเวสต์แบงก์ในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ และที่ขยายไปถึงกาซ่า ก็คือกิจกรรมเกี่ยวกับที่นิคมชาวยิวที่กำลังเติบโตขึ้นในเยรูซาเล็มตะวันออก และการริบที่ดินของชาวปาเลสไตน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือความตายของชาวปาเลสไตน์มากกว่า 20 คน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่ชื่อ นูร ฮัซซัน และลูกวัย 2 ขวบของเธอ ที่เสียชีวิตจากการโจมตีกาซ่าทางอากาศของอิสราเอลที่ทำลายบ้านของพวกเขา และมีผู้บาดเจ็บอีกมากมาย การใช้กระสุนจริงของทหารอิสราเอลกับกลุ่มเยาวชนที่ขว้างก้อนหินหรือจรวดอื่นๆ เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นตลอดเวลานี้ และยังมีหลักฐานถึงความตั้งใจของอิสราเอลที่จะฆ่าและทำร้ายชาวปาเลสไตน์ให้บาดเจ็บสาหัสโดยไม่ลังเลหรือยับยั้งชั่งใจเลย
ขณะเดียวกันก็มีชาวอิสราเอลและตำรวจอิสราเอลถูกแทงในการโจมตีแบบไม่เลือกหน้า และมีสัญญาณน้อยเหลือเกินว่าความรุนแรงนี้จะยุติลงในเวลาใดอันใกล้นี้
คำว่า “อินติฟาดา” (การลุกขึ้นต่อต้าน) มีความหมายที่แข็งกร้าวเหมือนกันสำหรับชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล อินติฟาดาครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1987 และยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สงครามก้อนหิน” อีกด้วย มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อรถบรรทุกของกองกำลังปกป้องอิสราเอล (IDF) ชนกับรถยนต์คันหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยจาบาลิยาในกาซ่า ทำให้ชาวปาเลสไตน์สี่คนเสียชีวิต
อินติฟาดาที่ตามมาเป็นการเข้าร่วมของประชาชนจำนวนมาก และได้รับการหนุนจากการดื้อแพ่งของพลเรือน, การคว่ำบาตร, การนัดหยุดงาน และภาพสัญลักษณ์ของเยาวชนหนุ่มสาว ที่ปกปิดใบหน้าด้วยผ้าคัฟฟิเยห์ (ผ้าคลุมศีรษะของชาวปาเลสไตน์) ที่มุ่งหน้าเข้าหาทหาร รถถัง และรถหุ้มเกราะของอิสราเอลด้วยก้อนหินและระเบิดขวด ครั้งนี้ยังได้เห็นการเกิดขึ้นของผู้นำระดับรากหญ้าภายในอาณาเขตยึดครองและกาซ่า ที่ปฏิบัติการโดยไม่ได้รับอำนาจหน้าที่จาก PLO หรือขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ที่ขณะนั้นนำโดยยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้ถูกเนรเทศอยู่ในตูนิสเมื่อตอนที่อินติฟาดาเริ่มต้นขึ้น
อินติฟาด้าครั้งแรกยืดเยื้อเป็นเวลาหกปี จนกระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาออสโลในปี 1993 ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 2,000 คน และชาวอิสราเอล 160 คน ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อมันสิ้นสุดลง
อินติฟาดาครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองกว่านั้นมาก มันได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2000 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีแอเรียล ชารอน ของอิสราเอลในขณะนั้น ได้ไปเยือนภูเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของมัสยิดอัล-อักซอ พร้อมกับคณะผู้รักษาความปลอดภัยหลายร้อยคน ชารอนประกาศว่า “ภูเขาพระวิหารอยู่ในมือของเรา” การมาเยือนของเขาและคำประกาศครั้งนี้ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่ออัล-อักซอ และนำไปสู่การปะทุขึ้นของการประท้วง ที่ได้ยกระดับขึ้นเป็นสงครามที่รุนแรง
คลื่นของการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพในอิสราเอลนำมาซึ่งความรุนแรงต่อบ้านของชาวอิสราเอลธรรมดาๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อิสราเอลถูกประณามไปทั่วโลก รวมทั้งสหประชาชาติ เนื่องจากมันใช้การลงโทษแบบเหมารวมต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด ด้วยการรื้อทำลายบ้านอย่างแพร่หลาย และจับกุมคุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดีหรือกระบวนการตามสมควร
เมื่อถึงเวลาที่อินติฟาดายุติลงในช่วงต้นปี 2005 ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 3,000 คน และชาวอิสราเอล 950 คน ได้เสียชีวิตไป โดยที่บ้านของชาวปาเลสไตน์มากกว่า 5,000 หลังถูกรื้อทำลาย และเสียหายหนักอีกมากกว่า 6,500 หลัง
เมื่อพิจารณาจากประวัติของอิสติฟาดาสองครั้งก่อน ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจว่า โอกาสที่จะเกิดการปะทะกันครั้งที่สามนี้สร้างความหวาดกลัวขึ้นอย่างไรในหัวใจของชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลเหมือนๆ กัน มันเป็นเหตุผลที่ทำให้การนิ่งเงียบของประชาคมระหว่างประเทศต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดนี้เป็นการสละทิ้งหน้าที่รับผิดชอบที่ร้ายแรงเช่นนั้น
ชาวปาเลสไตน์ไม่ได้กำลังขอความยุติธรรม แต่พวกเขากำลังเรียกร้องมัน และเรียกร้องอย่างชอบธรรม จะไม่มีสันติภาพ จนกว่าพวกเขาจะได้รับมัน
—-
ที่มา https://www.rt.com
เขียนโดย : จอห์น ไวท์
เกี่ยวกับผู้เขียน :จอห์น ไวท์ เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้ง Independent, Morning Star, Huffington Post, Counterpunch, London Progressive Journal และ Foreign Policy Journal เขายังเป็นนักวิจารณ์ประจำของสถานีวิทยุ RT และ BBC อีกด้วย เขาได้เขียนบันทึกเล่มหนึ่งเกี่ยวกับช่วงเวลาห้าปีที่เขาอยู่ในฮอลลีวูด ที่เขาทำงานในวงการณ์ภาพยนตร์ก่อนที่จะมาเป็นนักเคลื่อนไหวและนักจัดกิจกรรม เต็มเวลาให้กับขบวนการต่อต้านสงครามของสหรัฐฯ ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 หนังสือเล่มนี้ชื่อ Dreams That Die และจัดพิมพ์โดย Zero Books ปัจจุบันจอห์นกำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่สำรวจตรวจสอบถึงบทบาทของตะวัน ตกในปรากฏการณ์อาหรับสปริง สามารถติดตามเขาได้ทางทวิตเตอร์ @JohnWight1