อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และความศรัทธา?

955

เนื้อหานี้เป็นบทหนึ่งจากหนังสือ “Man and Universe” เขียนโดย อายะตุลเลาะห์ ชะฮีด มุรตะฎอ มุเฏาะฮารี คลิ๊กอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่
—-

เราได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมนุษย์ของคนและความเป็นสัตว์ของเขามาแล้ว กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและชีวิตทางจิตวิญญาณของคน กับชีวิตทางวัตถุของเขา มันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าความเป็นมนุษย์ของคนนั้นมีอยู่อย่างอิสระ และไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนชีวิตแบบสัตว์ของเขาเท่านั้น

เป็นที่ชัดเจนอีกด้วยว่า ความรู้และความศรัทธาเป็นส่วนประกอบพื้นฐานสองอย่างในความเป็นมนุษย์ของคน ทีนี้เรามาดูกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองด้านของความเป็นมนุษย์นี้มี หรือสามารถมีอะไรได้บ้าง

น่าเสียดายที่หลายส่วนของพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมได้สร้างความคิดหนึ่งขึ้นในโลกคริสเตียน ว่ามีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างความรู้และความศรัทธา ความคิดนี้ซึ่งมีความสำคัญมากต่อความรู้และความศรัทธา ที่ต่างก็มีต้นกำเนิดอยู่ในบทปฐมกาลของพันธสัญญาเดิม

ในเรื่องราวของอาดัมและต้นไม้ต้องห้าม บทปฐมกาล บทที่ 2 ข้อที่ 16 และ 17 กล่าวว่า

“พระเยโฮวาห์พระเจ้าจึงทรงมีพระดำรัสสั่งมนุษย์นั้นว่า ‘บรรดาต้นไม้ทุกอย่างในสวน เจ้ากินได้ทั้งหมด แต่ต้นไม้แห่งความรู้ดีและรู้ชั่ว เจ้าอย่ากินผลจากต้นนั้นเป็นอันขาด เพราะว่าเจ้ากินในวันใด เจ้าจะตายแน่ในวันนั้น”

ในบทที่ 3 ข้อ 1-7 กล่าวว่า

“งูนั้นเป็นสัตว์ที่ฉลาดกว่าบรรดาสัตว์ในทุ่งนา ซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าได้ทรงสร้างไว้ มันกล่าวแก่หญิงนั้นว่า ‘จริงหรือที่พระเจ้าตรัสว่า เจ้าจงอย่ากินผลจากต้นไม้ทุกชนิดในสวนนี้’

หญิงนั้นจึงกล่าวแก่งูว่า ‘ผลของต้นไม้ชนิดต่างๆ ในสวนนี้เรากินได้

แต่ผลของต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งอยู่ท่ามกลางสวน พระเจ้าตรัสว่า เจ้าอย่ากินหรือแตะต้องมัน มิฉะนั้นเจ้าจะตาย’ งูจึงกล่าวแก่หญิงนั้นว่า ‘เจ้าจะไม่ตายแน่ เพราะว่าพระเจ้าทรงทราบว่า เจ้ากินผลไม้นั้นวันใด ตาของเจ้าจะสว่างขึ้นวันนั้น และเจ้าจะเป็นเหมือนพระที่รู้ดีรู้ชั่ว’

เมื่อหญิงนั้นเห็นว่า ต้นไม้นั้นเหมาะสำหรับเป็นอาหาร และมันงามน่าดู และต้นไม้ต้นนั้นเป็นที่น่าปรารถนาเพื่อให้เกิดปัญญา หญิงจึงเก็บผลไม้นั้นแล้วกินเข้าไป แล้วส่งให้สามีของนางด้วย และเข้าได้กิน

ตาของเขาทั้งสองก็สว่างขึ้น เขาจึงรู้ว่าเขาเปลือยกายอยู่ และเขาทั้งสองก็เอาใบมะเดื่อมาเย็บเป็นเครื่องปกปิดอวัยวะส่วนล่างของเขาไว้”

ในข้อที่ 22-23 ของบทเดียวกันกล่าวว่า

“พระเยโฮวาห์พระเจ้าตรัสว่า ‘ดูเถิด มนุษย์กลายมาเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราที่รู้จักความดีและความชั่ว บัดนี้เกรงว่าเขายื่นมือไปหยิบผลจากต้นไม้แห่งชีวิตมากินด้วยกัน และมีชีวิตนิรันดร์ตลอดไป’”

จากแนวคิดนี้ที่เกี่ยวกับมนุษย์ พระเจ้า ความรู้ และการไม่เชื่อฟัง พระเจ้าต้องการที่จะไม่ให้มนุษย์ได้รู้จักความดีและความชั่ว ต้นไม้ต้องห้ามคือต้นไม้แห่งความรู้ มนุษย์ได้ความรู้ก็ต่อเมื่อเขาดื้อดึงต่อคำสั่งของพระเจ้า (ไม่เชื่อฟังคำสอนของศาสนาและศาสนา) แต่ด้วยเหตุผลนั้นเอง เขาจึงถูกขับไล่ออกจากสวรรค์ของพระเจ้า

บนพื้นฐานแนวความคิดนี้ การกระซิบกระซาบในทางชั่วร้ายทั้งหมดคือการพูดถึงความรู้ และความมีเหตุผลคือมารที่กระซิบกระซาบ

ตรงกันข้าม เราเรียนรู้จากคัมภีร์กุรอานว่า อัลลอฮ์ได้สอนนามชื่อทั้งหมด (ความจริงทั้งหลาย) ให้แก่อาดัม และหลังจากนั้นได้สั่งให้เทวทูตก้มกราบต่อเขา มารถูกประณามเพราะมันไม่ยอมก้มกราบต่อผู้แทนของอัลลอฮ์ ผู้มีความรู้ในความจริงทั้งหลาย รายงานแบบฉบับของท่านศาสดาได้บอกเราว่า ต้นไม้ต้องห้ามนั้นเป็นต้นไม้แห่งความตระหนี่ ความโลภ และสิ่งที่คล้ายกันนั้น นั่นคือสิ่งที่เกี่ยวพันกันกับลักษณะความเป็นสัตว์ในตัวของอาดัม ไม่ใช่ลักษณะความเป็นมนุษย์ของเขา มารที่กระซิบกระซาบจะกระซิบกระซาบในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเหตุผลและตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานเสมอ สิ่งที่แสดงถึงมารภายในมนุษย์คือกิเลส ไม่ใช่ความมีเหตุผล สิ่งที่เราพบในบทปฐมกาลซึ่งตรงกันข้ามกับทั้งหมดนี้ช่างน่าประหลาดใจจริงๆ

แนวคิดนี้เองที่ได้แบ่งประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของยุโรปในช่วง 1500 ปีที่ผ่านมาออกเป็นสองช่วง นั่นก็คือ ยุคแห่งความศรัทธา และยุคแห่งวิทยาศาสตร์ และได้กำหนดให้วิทยาศาสตร์และความศรัทธาอยู่ในตำแหน่งที่ตรงข้ามกัน

ในทางตรงกันข้าม ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของอิสลามถูกแยกออกเป็นช่วงแห่งความก้าวหน้าทางความรู้และความศรัทธา กับช่วงที่ทั้งคู่ได้เสื่อมถอยไปด้วยกัน มุสลิมเราควรจะระวังตัวให้ห่างไกลจากแนวคิดผิดๆ นี้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สูญเสียความรู้ ความศรัทธา และความเป็นมนุษย์ไปอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่ต้องยึดถืออย่างงมงายว่าความขัดแย้งระหว่างความรู้และความศรัทธาเป็นข้อเท็จจริงที่โต้แย้งไม่ได้

อายะตุลเลาะห์ ชะฮีด มุรตะฎอ มุเฏาะฮารี ผู้เขียนหนังสือ “Man and Universe”
อายะตุลเลาะห์ ชะฮีด มุรตะฎอ มุเฏาะฮารี ผู้เขียนหนังสือ “Man and Universe”

ทีนี้ เราขอเสนอการศึกษาเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับคำถามนี้ และพิจารณาดูว่าทั้งสองด้านของความเป็นมนุษย์นี้มีอยู่ในช่วงเวลาหรือยุคสมัยที่แยกกันหรือไม่ และจริงหรือไม่ที่มนุษย์ในทุกยุคถูกประณามว่าเป็นเพียงแค่ครึ่งมนุษย์ และอยู่กับความชั่วร้ายทั้งที่เป็นผลมาจากความโง่เขลาหรือจากความไม่เลื่อมใสในศาสนาเสมอ

จะเห็นได้ว่า ทุกศาสนาย่อมมีพื้นฐานอยู่บนวิธีการคิดแบบเฉพาะอย่างหนึ่ง และแนวความคิดพิเศษเกี่ยวกับจักรวาลอย่างหนึ่ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีหลายแนวความคิดและคำอธิบายเกี่ยวกับโลก ที่แม้ว่าอาจจะเป็นพื้นฐานของศาสนา แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับเพราะมันไม่สอดคล้องกับเหตุผลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เอง คำถามจึงมีอยู่ว่า จะมีแนวความคิดใดบ้างไหมที่เกี่ยวกับโลกและคำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตที่มีเหตุผลและในขณะเดียวกันก็สมควรจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของศาสนาที่เหมาะสมศาสนาหนึ่ง

ถ้าพบว่าแนวความคิดเช่นนี้มีอยู่ ก็จะไม่มีเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ต้องถูกประณามอยู่ร่ำไปว่าอยู่กับความชั่วร้ายว่าจะเป็นผลมาจากความโง่เขลาหรือความไม่เลื่อมใสในศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และความศรัทธาสามารถกล่าวถึงได้จากสองแง่มุม แง่มุมหนึ่งก็คือเพื่อจะพิจารณาดูว่ามีศาสนาหนึ่งอยู่หรือไม่ ที่สร้างแนวความคิดที่กระตุ้นให้เกิดความศรัทธาและมีเหตุมีผลด้วย หรือว่าทุกแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์จะตรงกันข้ามกับความศรัทธา ไม่ให้ความหวัง และไม่ก่อให้เกิดความคิดในแง่บวกเลย เราจะกล่าวถึงคำถามนี้ในภายหลัง ในหัวข้อ แนวความคิดเกี่ยวกับจักรวาล

แง่มุมที่สองที่เราจะกล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความศรัทธาและความรู้ก็คือคำถามที่ว่า ทั้งสองสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง ความรู้นำเราไปสู่สิ่งหนึ่ง และความศรัทธานำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่ขัดแย้งกันหรือไม่? ความรู้ต้องการจะหล่อหลอมเราไปในทางหนึ่ง และความศรัทธาจะหล่อหลอมไปในอีกทางหนึ่งหรือไม่? หรือว่าความศรัทธาและความรู้เป็นสิ่งที่เสริมซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในการสร้างความกลมกลืนในตัวเราทั้งหมด? เรามาดูกันว่าความรู้ให้อะไรกับเรา และความศรัทธาให้อะไร

ความรู้ให้แสงสว่างและพลังแก่เรา ความศรัทธาให้ความรัก ความหวัง และความอบอุ่นแก่เรา ความรู้ช่วยในการทำเครื่องมือเครื่องใช้และช่วยให้กระบวนการทำงานรวดเร็วขึ้น ความศรัทธากำหนดวัตถุประสงค์ในความพยายามของมนุษย์และให้การชี้นำแก่เขา ความรู้นำมาซึ่งการปฏิวัติภายนอก ความศรัทธาทำให้เกิดการปฏิวัติภายใน ความรู้ทำให้โลกเป็นโลกของมนุษย์ ความศรัทธาทำให้ชีวิตเป็นชีวิตในแบบของมนุษย์ ความรู้ขยายขอบเขตการดำรงอยู่ของมนุษย์ในแนวราบ ความศรัทธายกมันขึ้นในแนวตั้ง ความรู้ฝึกฝนภาวะอารมณ์ของมนุษย์ ความศรัทธาปฏิรูปมนุษย์ ทั้งความรู้และความศรัทธาให้พลังแก่มนุษย์ แต่พลังที่ได้จากความศรัทธานั้นมีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พลังที่ได้จากความรู้ไม่ปะติดปะต่อ ความรู้เป็นสิ่งสวยงาม ความศรัทธาก็สวยงามเช่นกัน แต่ความรู้ทำให้เหตุผลและความคิดมีความสวยงาม ความศรัทธาสร้างความสวยงามให้กับจิตวิญญาณและความรู้สึก ทั้งความรู้และความศรัทธาทำให้มนุษย์มั่นคงปลอดภัย แต่ความรู้ให้ความมั่นคงปลอดภัยภายนอก ในขณะที่ความศรัทธาให้ความมั่นคงปลอดภัยภายใน ความรู้ให้การปกป้องจากโรคภัย น้ำท่วม แผ่นดินไหว และพายุ ความรู้ให้ความมั่นคงปลอดภัยจากความร้อนรน ความโดดเดี่ยวเดียวดาย ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และความคิดระดับต่ำ ความรู้ประสานโลกให้เข้ากันกับมนุษย์ ความศรัทธาประสานมนุษย์ให้เข้ากันกับตัวเอง

ความต้องการของมนุษย์ที่มีต่อความรู้และความศรัทธานั้นดึงดูดความสนใจของนักคิดทางศาสนาและนักคิดโลกวิสัย
ดร.มุฮัมมัด อิกบาล กล่าวว่า :

“มนุษย์ทุกวันนี้ต้องการสามสิ่ง คำอธิบายทางจิตวิญญาณเกี่ยวกับจักรวาล การปลดปล่อยทางจิตวิญญาณจากบุคคล และหลักการพื้นฐานของการนำเข้าสากลที่นำการปฏิวัติมาสู่สังคมมนุษย์บนพื้นฐานทางจิตวิญญาณ”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ยุโรปสมัยใหม่ได้สร้างระบบเสมือนจริงขึ้นมาบนแนวเหล่านี้ แต่ประสบการณ์แสดงให้เห็นว่า ความจริงที่ถูกเผยออกมาผ่านเหตุผลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะนำมาซึ่งไฟแห่งความเชื่อมั่นที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเปิดเผยโดยส่วนตัวเท่านั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมความคิดเพียงอย่างเดียวจึงมีอิทธิพลต่อมนุษย์น้อยมาก ในขณะที่ศาสนาจะยกระดับบุคคลและเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่เสมอ การยึดถืออุดมคติของยุโรปไม่เคยกลายเป็นปัจจัยที่แท้จริงในชีวิต และผลที่ได้คืออัตตาที่หลงผิด ที่ค้นหาตัวเองผ่านประชาธิปไตยที่ไม่ผ่อนปรนซึ่งกันและกัน ซึ่งหน้าที่เดียวของมันก็คือการเอารัดเอาเปรียบคนจนเพื่อผลประโยชน์ของคนรวย เชื่อผม ยุโรปปัจจุบันคืออุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ขวางทางความเจริญก้าวหน้าศีลธรรมของมนุษย์ ตรงกันข้าม มุสลิมคือผู้เป็นเจ้าของแนวคิดขั้นสูงสุดเหล่านี้บนพื้นฐานของการวิวรณ์  ซึ่งพูดมาจากก้นบึ้งด้านในสุดของชีวิต และนำสิ่งที่เห็นชัดเจนภายนอกของมันมาไว้ภายใน ด้วยสิ่งนี้ พื้นฐานทางจิตวิญญาณของชีวิตจึงเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ซึ่งแม้แต่คนที่ได้รู้แจ้งน้อยที่สุดในหมู่พวกเราก็สามารถสละชีวิตของเขาเพื่อมันได้” (Reconstruction of Religious Thought in Islam) วิลล์ ดูแรนท์ นักเขียนผู้มีชื่อเสียง ผู้เขียนเรื่อง History of Civilization ที่แม้จะไม่นับถือศาสนาใด ก็ได้กล่าวไว้ว่า

“โลกยุคโบราณแตกต่างจากโลกแห่งเครื่องจักรยุคใหม่นี้แค่ในด้านเครื่องมือ ไม่ใช่ด้านจุดมุ่งหมาย คุณจะว่าอย่างไรถ้าหากพบว่า ความก้าวหน้าทั้งหมดของเรานี้ประกอบด้วยการปรับปรุงทางด้านวิธีการและเครื่องมือ ไม่ใช่ด้วยการมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ดีขึ้น?”

เขายังกล่าวด้วยว่า

“ความมั่งคั่งนั้นน่าเบื่อ เหตุผลและวิทยปัญญาเป็นเพียงแค่แสงสลัวที่เยือกเย็น มีเพียงความรักเท่านั้นที่ให้ความอบอุ่นแก่หัวใจด้วยความอ่อนโยนจนเกินบรรยาย”

ตอนนี้ เราคงประจักษ์แล้วไม่มากก็น้อยว่า การกล่าวอ้างถึงวิทยาศาสตร์และการฝีกฝนทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เป็นมนุษย์เต็มตัวได้ มันสามารถผลิตได้แค่กึ่งมนุษย์เท่านั้นไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์ การฝึกฝนนี้ทำให้เกิดวัตถุดิบในการสร้างมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่มนุษย์ที่เสร็จสมบูรณ์ มันสามารถผลิตมนุษย์ด้านเดียวที่แข็งแรง สุขภาพดีเท่านั้น แต่ไม่ใช่มนุษย์ที่มีคุณธรรมและมีหลายด้าน ตอนนี้ทุกคนยอมรับแล้วว่ายุคแห่งวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ได้สิ้นสุดลงแล้ว ขณะนี้สังคมถูกคุมคามด้วยสูญญากาศแห่งอุดมคติ บางคนต้องการเติมเต็มสูญญากาศนี้ด้วยปรัชญาเพียงอย่างเดียว และบางคนแสวงหาความช่วยเหลือจากวรรณคดี ศิลปะ และวิทยาการของมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์นี้

ในประเทศของเราก็มีการแนะนำให้เติมเต็มช่องว่างนี้ด้วยวรรณกรรมเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะวรรณกรรมลึกลับที่สร้างสรรค์โดยเมาลาวี ซาอฺดี และฮาฟิซ ผู้เสนอท่วงทำนองนี้ลืมไปว่าตัววรรณกรรมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนา และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ของมัน ที่ทำให้มันน่าดึงดูดนั้นก็คืออิสลาม มิฉะนั้นแล้วเหตุไฉนที่วรรณกรรมสมัยใหม่บางชิ้นที่แม้จะอ้างเสียงอังว่าเป็นวรรณกรรมแห่งความเป็นมนุษย์ แต่กลับไม่มีชีวิตชีวา ขาดจิตวิญญาณและความน่าดึงดูดใจ แท้จริงแล้วเนื้อหาแบบมนุษย์ในวรรณกรรมลึกลับของเราเป็นผลมาจากแนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลและมนุษย์แบบอิสลาม ถ้าเราถอดจิตวิญญาณแห่งอิสลามออกไปจากวรรณกรรมชิ้นเอกเหล่านี้ ก็จะไม่เหลืออะไรเลยนอกจากซากของมันเท่านั้น

วิลล์ ดูแรนท์ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ตระหนักถึงการมีอยู่ของสูญญากาศนี้ เขาแนะนำว่าควรจะนำวรรณกรรม ปรัชญา และศิลปะมาเติมเต็มช่องว่างนี้ เขากล่าวว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและวิทยาลัยของเราส่วนใหญ่เกิดจากทฤษฎีการศึกษาของสเปนเซอร์ ผู้ซึ่งกำหนดว่าการศึกษาคือการทำให้มนุษย์ประสานเข้ากันกับสิ่งแวดล้อม การกำหนดนิยามนี้ไร้ชีวิตจิตใจและเป็นแบบกลไก และมันมีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาแห่งความเหนือกว่าของเครื่องจักร จิตวิญญาณและสมองของมนุษย์ทุกคนรังเกียจมัน ผลก็คือโรงเรียนและวิทยาลัยของเราถูกเติมเต็มไปด้วยวิทยาการที่เป็นทฤษฎีและกลไก และปล่อยว่างเว้นวิชาที่เกี่ยวกับวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และศิลปะ ซึ่งถูกถือว่าไม่มีประโยชน์ การศึกษาที่เป็นวิทยษสาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถผลิตสิ่งใดได้นอกจากเครื่องมือ มันทำให้มนุษย์แปลกแยกจากความสวยงาม และขัดแย้งกับวิทยปัญญา มันคงจะดีกว่าสำหรับโลกนี้ถ้าหากสเปนเซอร์จะไม่ได้เขียนหนังสือ”

มันน่าประหลาดใจมากที่แม้ว่าวิลล์ ดูแรนท์ จะยอมรับว่าสูญญากาศนี้เป็นสูญญากาศทางอุดมคติ ที่เป็นผลมาจากการคิดผิดและขาดความศรัทธาในจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของมนุษย์ แต่เขามีความคิดเห็นว่าปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยสิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่วัตถุ แม้ว่ามันอาจจะเป็นเพียงแค่จินตนาการ เขาคิดว่าการเติมเต็มด้วยประวัติศาสตร์ ศิลปะ ความสวยงาม บทกวี และเสียงเพลงจะสามารถเต็มเต็มสูญญากาศที่มีต้นกำเนิดจากก้นบึ้งของสัญชาตญาณของมนุษย์ที่กำลังมองหาอุดมคติและแสวงหาความสมบูรณ์แบบ

ความรู้และความศรัทธาสามารถเข้าแทนที่กันและกันได้ไหม?

เราได้เรียนรู้แล้วว่าไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างความศรัทธาและความรู้ มันกลับช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ทีนี้มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นมาอีก นั่นก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่มันจะเข้าแทนที่กันและกัน?

คำถามนี้ไม่จำเป็นต้องตอบอย่างละเอียด เพราะเรารู้บทบาทตามลำดับของความศรัทธาและความรู้กันแล้ว เห็นได้ชัดว่าความรู้ไม่สามารถเข้าแทนที่ความศรัทธาที่ให้ความรักและความหวังนอกเหนือไปจากแสงสว่างและพลัง ความศรัทธายกระดับความปรารถนาของเรา นอกจากนี้ยังช่วยให้เราประจักษ์ชัดถึงจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของเรา ขจัดองค์ประกอบของความเห็นแก่ตัวและปัจเจกนิยมออกจากความปรารถนาและอุดมคติของเรา และวางมันไว้บนพื้นฐานของความรักและความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณและศีลธรรม นอกจากการเป็นเครื่องมือในมือของเราแล้ว โดยพื้นฐานมันยังเปลี่ยนแปลงแก่นแท้ของเราด้วย เช่นเดียวกันนั้น ความศรัทธาก็ไม่สามารถแทนที่ความรู้ ที่ทำให้เราคุ้นเคยกับธรรมชาติ เปิดเผยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติให้แก่เรา และทำให้เราได้ตระหนักถึงตัวเราเอง

ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การแยกกันระหว่างความรู้และความศรัทธาเป็นสาเหตุของการสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขได้ ความศรัทธาควรได้รับการพิสูจน์เนื่องด้วยความรู้ ซึ่งช่วยไม่ให้มันถูกผสมปนเปกับนิยายปรัมปรา ความศรัทธาที่ปราศจากความรู้จะจบลงที่ความเฉื่อยชาและอคติที่มืดบอด และไม่สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ใดๆ ได้ ในขณะที่ถ้าหากไม่มีความรู้ ศาสนาของผู้ศรัทธาก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่อยู่ในมือของคนปากว่าตาขยิบที่แสนฉลาด เราเห็นตัวอย่างของภาวะนี้มาแล้วในกรณีของพวกคอวาริจจากยุคแรกๆ ของอิสลาม ตัวอย่างอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ เราก็ได้พบเห็นในยุคต่อๆ มา และยังคงพบเห็นกันอยู่

ความรู้ที่ปราศจากความศรัทธาเป็นดาบคมในมือของคนโฉดที่เมามาย มันเป็นตะเกียงในมือของขโมยที่ชั่วให้เขาหยิบฉวยสิ่งของที่ดีที่สุดในยามดึก นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนักในลักษณะตามธรรมชาติและความประพฤติของมนุษย์ที่ไม่มีศาสนาในปัจจุบันที่มีความรู้ กับมนุษย์ที่ไม่มีศาสนาในอดีตที่ไม่มีความรู้ อย่างไรก็ตาม อะไรคือความแตกต่างระหว่างเชอร์ชิลส์, จอห์สันส์, นิกซ์สัน และสตาลินส์ ในปัจจุบัน กับฟาโรห์, เจงกิสข่าน และแอตติล่า ในอดีต?

อาจกล่าวได้ว่า เมื่อความรู้เป็นแสงสว่างและพลังแล้ว มันก็ไม่มีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษและเฉพาะกับโลกภายนอก มันให้ความสว่างแก่โลกภายในของเราด้วย และทำให้เรามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงมัน เพราะฉะนั้น ความรู้สามารถสร้างได้ทั้งโลกและมนุษย์ มันสามารถทำงานของมันได้เอง นั่นก็คือการสร้างโลก รวมทั้งงานแห่งความเชื่อด้วย นั่นก็คือการสร้างมนุษย์ คำตอบก็คือ ทั้งหมดนี้ถูกต้อง แต่ประเด็นพื้นฐานก็คือ ความรู้เป็นส่วนเสริมและการนำมันมาใช้ต้องอาศัยเจตนารมณ์ของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไรก็ตาม เขาสามารถทำมันในแบบที่ดีกว่าได้ด้วยการช่วยเหลือของความรู้ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราพูดว่า ความรู้มีประโยชน์ในการรักษาวัตถุประสงค์ และการก้าวผ่านเส้นทางที่มนุษย์เลือกให้ตัวเอง

เห็นได้ชัดว่าเครื่องมือถูกนำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทีนี้คำถามมีอยู่ว่า เป้าหมายนั้นควรจะถูกกำหนดบนพื้นฐานของอะไร?

เรารู้กันว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ลักษณะความเป็นมนุษย์คือคุณสมบัติที่เขาได้รับมา กล่าวคือ ความสามารถแบบมนุษย์ของมนุษย์ค่อยๆ ถูกหล่อเลี้ยงและส่งเสริมขึ้นมาเนื่องจากความศรัทธา โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์จะเคลื่อนเข้าหาวัตถุประสงค์แบบสัตว์และเห็นแก่ตัวของเขาที่เป็นวัตถุและปัจเจกบุคคล เขาใช้เครื่องมือที่หาได้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงมีความจำเป็นต้องมีแรงขับเคลื่อนที่แยกต่างหากอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจจะไม่ใช่ทั้งวัตถุประสงค์หรือเครื่องมือของเขา เขาต้องการแรงผลักดันที่อาจจะระเบิดเขามาจากข้างในและนำความสามารถที่ถูกซ่อนไว้ออกมาสู่การปฏิบัติ เขาต้องการแรงผลักดันที่อาจจะนำมาซึ่งการปฏิวัติความตระหนักรู้ของเขา และให้ทิศทางใหม่แก่เขา

งานนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยการค้นพบและความรู้ด้านกฎหมายที่ควบคุมมนุษย์และธรรมชาติอยู่ การดำเนินงานนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อความศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญของค่านิยมอย่างหนึ่งได้ถูกปลูกฝังไว้ในวิญญาณของมนุษย์ เพื่อวัตถุประสงค์นี้ มนุษย์จะต้องมีความโน้มเอียงในทางความดีงามที่เป็นผลมาจากวิธีการคิดแบบเฉพาะและแนวความคิดที่แน่นอนเกี่ยวกับจักรวาลและมนุษย์ แนวความคิดเหล่านี้ และเนื้อหาของหลักฐานและมิติต่างๆ ของมัน ไม่สามารถหาได้ในห้องทดลองใดๆ และอย่างที่เราจะอธิบาย มันอยู่ไกลเกินกว่าที่วิทยาศาสตร์จะเข้าถึงได้

ประวัติศาสตร์ในอดีตและปัจจุบันได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การแยกความรู้และความศรัทธาออกจากกันนั้นได้ก่อให้เกิดผลที่ตามมาอันชั่วร้ายอย่างไรบ้าง เมื่อมีความศรัทธาแต่ไม่มีความรู้ ความพยายามของมนุษย์ที่มีมนุษยธรรมจะถูกชี้นำไปยังเรื่องที่ไม่ให้ผลมากนักหรือไม่ก่อให้เกิดผลดี ความพยายามเหล่านี้มักจะเป็นบ่อเกิดของอคติและการต่อต้านความคิดใหม่ๆ และบางครั้งก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่เป็นอันตราย

ในขณะที่เมื่อมีความรู้แต่ขาดความศรัทธา เหมือนในกรณีของสังคมสมัยใหม่บางแห่ง แรงผลักดันทั้งหมดของความรู้จะถูกนำไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเพิ่มพูนตนเอง การสะสมทรัพย์สิน และการตอบสนองกิเลสแห่งอำนาจ การแสวงหาผลประโยชน์ การเอาชนะ และเล่ห์เหลี่ยม

สองหรือสามศตวรรษที่ผ่านมาอาจจะถือได้ว่าเป็นช่วงแห่งการเพิ่มความสำคัญให้กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และละเลยกับความศรัทธามากจนเกินไป นักวิชาการหลายคนคิดว่าปัญหาทั้งหลายแห่ของมนุษย์สามารถแก้ไขได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ประสบการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นในทางตรงกันข้าม ปัจจุบันไม่มีนักวิชาการคนใดปฏิเสธว่ามนุษย์จำเป็นต้องมีความศรัทธาบางอย่าง ถึงแม้ว่าความศรัทธานั้นจะไม่ใช่ศาสนา แต่ก็ถือว่ามันเป็นวิทยาการขั้นสุดยอด เบอร์แทรนด์ รัสเซลล์ มีภาพลักษณ์เป็นนักวัตถุนิยม แต่เขาก็ยังยอมรับว่า “งานที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหารายได้เพียงอย่างเดียวจะไม่ก่อให้เกิดผลที่ดี เพื่อวัตถุประสงค์นี้เราควรจะทำอาชีพที่ปลูกฝังความศรัทธา วัตถุประสงค์ และเป้าหมายในตัวเรา”

ทุกวันนี้นักวัตถุนิยมทั้งหลายรู้สึกถูกบังคับให้อ้างว่าพวกเขาเป็นนักวัตถุนิยมในทางปรัชญาและเป็นนักอุดมคติในทางศีลธรรม กล่าวคือ พวกเขาบอกว่าพวกเขาเป็นนักวัตถุนิยมจากมุมมองทางทฤษฎี และเป็นนักจิตวิญญาณนิยมจากมุมมองของการปฏิบัติและอุดมการณ์ อย่างไรก็ตาม ปัญหายังคงมีอยู่ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์จะเป็นนักวัตถุนิยมทางทฤษฎีและเป็นนักจิตวิญญาณนิยมในทางปฏิบัติ? นักวัตถุนิยมควรจะตอบคำถามนี้เอง

จอร์จ ซาร์ตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกและผู้เขียนหนังสือที่โด่งดังเรื่อง History of Science  ได้อธิบายถึงการไร้ความสามารถของวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และได้เน้นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งของมนุษย์ที่จะต้องมีแรงผลักดันจากความศรัทธา โดยเขากล่าวว่า “ในหลายๆ ด้านนั้นวิทยาศาสตร์ได้ทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยิ่ง แต่ในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ในด้านของการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ เรายังคงหัวเราะเยาะตัวเองอยู่”

จอร์จ ซาร์ตัน ยอมรับว่า ความศรัทธาที่มนุษย์ต้องการคือความศรัทธาทางศาสนา เขากล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ต่อสามสิ่ง คือศิลปะ ศาสนา และวิทยาศาสตร์ ไว้ดังนี้ “ศิลปะเผยให้เห็นความสวยงาม มันคือความสุขสันต์ของชีวิต ศาสนาหมายถึงความรัก มันคือดนตรีของชีวิต วิทยาศาสตร์หมายถึงความจริงและเหตุผล มันคือความสำนึกชั่วดีของมนุษย์ เราต้องการสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งศิลปะ ศาสนา และวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่เคยเพียงพอ” (จอร์จ ซาร์ตัน, Six Wings : Men of Science in the Renaissance, หน้า 218 (ลอนดอน 1958)

 

—-
แปลโดย กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์