อิสราเอลบนศาลอาญาระหว่างประเทศ ความเสี่ยงเผชิญข้อหา หลังก่ออาชญากรรมโจมตีกาซ่า

1173
(ภาพ) นายริอาด มัลกี รัฐมนตรีต่างประเทศของปาเลสไตน์ ยกสนธิสัญญาฉบับก่อตั้งของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือธรรมนูญกรุงโรม ภายหลังพิธีต้อนรับปาเลสไตน์ในฐานะสมาชิกใหม่ล่าสุดของศาลในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อ 1 เมษายน 2015 การได้เข้าเป็นสมาชิกของศาลนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขยายความพยายามของชาวปาเลสไตน์ที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อนานาชาติในเรื่องอิสราเอล และเกิดขึ้นในเวลาที่โอกาสในการรื้อฟื้นการเจรจาเกี่ยวกับความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ลดน้อยลงหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและการใช้วาทกรรมที่หนักหน่วง

กรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ – ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่ายังคงเศร้าโศกกับความสูญเสียจากการโจมตีทางทหารของอิสราเอลเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ที่ได้สังหารชาวปาเลสไตน์ในดินแดนที่ถูกปิดล้อมแห่งนี้ไปถึง 2,251 คน เป็นเด็ก 551 คน ในเวลา 51 วัน อิสราเอลเองก็มีความเสี่ยงมากขึ้นว่าจะต้องพบกับผลสะท้อนกลับทางกฎหมายสำหรับการกระทำของตน

“เป็นที่ชัดเจนว่ามีการก่ออาชญากรรมสงครามระหว่างการจู่โจมกาซ่า เป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่น่าอับอายสำหรับมนุษยชาติ” Ramy Abdu ประธานกลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในแถบยุโรป-เมดิเตอร์เรเนียนบอกกับสำนักข่าว MintPress จากสำนักงานในกาซ่าของกลุ่มนี้ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเจนีวา

หลังจากที่รัฐปาเลสไตน์สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ในกรุงเฮกเมื่อ 1 มกราคม, การได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อ 1 เมษายน และการยื่นคำร้องครั้งแรกต่อ ICC เมื่อ 24 มิถุนายน อิสราเอลก็ต้องเผชิญกับข้อหาที่อาจเป็นไปได้ต่างๆ

ตามข้อมูลจาก Shawan Jabarin ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชนของปาเลสไตน์ อัล-ฮัก ที่ได้พูดกับ Mondoweiss หลังจากที่เอกสารเหล่านั้นถูกยื่นไปแล้วระบุว่า เนื้อหาของเอกสารเหล่านั้นไม่เพียงแต่ประกอบด้วยคำร้องที่เกิดจากการระดมโจมตีทางอากาศต่อกาซ่าและการก่อสร้างนิคมชาวยิวในเวสต์แบงก์ของอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อนักโทษปาเลสไตน์ รวมไปถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมจากการเหยียดชนชาติตามที่กำหนดไว้ภายใต้ธรรมนูญกรุงโรมของ ICC

เอกสารนี้ประกอบด้วย 23 เรื่อง Jabarin บอกว่ารวมถึงเรื่องที่เป็นอาชญากรรมสงครามเจ็ดเรื่อง

ความพยายามอย่างเป็นทางการของปาเลสไตน์ครั้งนี้ได้นำมาสู่การทำงานร่วมกันของ Jabarin และสมาชิกอีก 31 คนในคณะกรรมการแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของคณะปกครองปาเลสไตน์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์

ภัยคุกคามที่ซ้ำซ้อน

แต่การยื่นฟ้องเป็นเพียงหนึ่งจากภัยคุกคามซ้ำซ้อนที่อิสราเอลกำลังเผชิญหน้าอยู่ที่กรุงเฮกในขณะนี้เท่านั้น

เมื่อวันที่ 16 มกราคม Fatou Bensouda อัยการของ ICC ได้เริ่มทำงานตรวจสอบเบื้องต้นในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่าตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2014 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวปาเลสไตน์ได้ให้ขอบเขตอำนาจแก่ศาลเมื่อพวกเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว

ผู้สังเกตการณ์หลายคนเห็นพ้องกันว่าการตรวจสอบนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่าส่วนใหญ่ ถึงแม้คณะผู้แทนของ ICC ที่มีกำหนดจะไปเยือนปาเลสไตน์ปลายเดือนกรกฏาคมนี้จะเลื่อนการเดินทางออกไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วง ด้วยเหตุผลทางเทคนิกและขั้นตอน

ภายในกาซ่า การตรวจสอบของ ICC คาดว่าจะดำเนินไปตามแบบแผนของรายงานของคณะกรรมการไต่สวนอิสระของสหประชาชาติเกี่ยวกับการรุกรานปี 2014 ซึ่งอ้างว่า “อาชญากรรมสงคราม” อาจเกิดขึ้นได้โดยทั้งกองกำลังของอิสราเอลและกลุ่มต้านทานของปาเลสไตน์

(ภาพ) เด็กหญิงชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งนั่งในห้องหนึ่งของตัวอาคารของครอบครัวที่ถูกทำลายเสียหายจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ในแถบ Shijaiyah ของกาซ่าซิตี้ ทางเหนือของฉนวนกาซ่า เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2015
(ภาพ) เด็กหญิงชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งนั่งในห้องหนึ่งของตัวอาคารของครอบครัวที่ถูกทำลายเสียหายจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ในแถบ Shijaiyah ของกาซ่าซิตี้ ทางเหนือของฉนวนกาซ่า เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2015

นอกจากนั้น กลุ่มสิทธิมนุษยชนของปาเลสไตน์กำลังรวบรวมคำร้องจากบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการของอิสราเอลในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่า

คำร้องเหล่านั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านในฉนวนกาซ่าที่สมาชิกครอบครัวเสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ไปจนถึงเจ้าของที่ดินในเวสต์แบงก์ที่สูญเสียที่ดินในความครอบครองให้กับการขยายนิคมชาวยิว

แหล่งข่าวจากกลุ่มต่างๆ ในทั้งสองดินแดนของปาเลสไตน์บอกกับ MintPress ว่า ในขณะที่จำนวนคดีต่างๆ มีมากจนเต็มความสามารถของพวกเขา จำนวนรวมอาจจะถึงหลายหมื่นคดี

กองเรือเสรีภาพ (Freedom Flotilla)

อีกคดีหนึ่งที่กำลังดำเนินการกับอิสราเอลเกิดจากการที่ได้โจมตีกองเรือเสรีภาพโครงการที่หนึ่ง ที่พยายามฝ่าฝืนการปิดกั้นฉนวนกาซ่าทางทะเล เมื่อ 31 พฤษภาคม 2010

การจู่โจมเรือ Mavi Marmara เรือนำขบวนของกองเรือนี้โดยหน่วยคอมมานโดของกองทัพเรือ ได้สังหารนักเคลื่อนไหวชาวตุรกีแปดคน และชาวอเมริกันเชื้อสายตุรกีหนึ่งคน

ผู้ร่วมขบวนชาวตุรกีอีกคนหนึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2014 หลังจากอยู่ในอาการโคม่ามาเกือบสี่ปี

(ภาพ) เรือ MV Mavi Marmara เดินเรือไปสู่กาซ่า ด้วยความหวังที่จะฝ่าการปิดล้อมของอิสราเอล
(ภาพ) เรือ MV Mavi Marmara เดินเรือไปสู่กาซ่า ด้วยความหวังที่จะฝ่าการปิดล้อมของอิสราเอล

คณะค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติได้กำหนดว่า “บนพื้นฐานจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และอาวุธปืน ผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหกคนสามารถระบุลักษณะได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายพิเศษ ประหารชีวิตโดยพลการและรวบรัด”

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2013 สหภาพคอโมโรสที่ได้ติดธงบนเรือ Mavi Marmara ได้กล่าวถึงคดีที่ส่งให้ ICC โดยอ้างว่า

“การกระทำของ IDF (กองกำลังป้องกันอิสราเอล) เป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งประกอบด้วยการกระทำที่เป็นการฆาตกรรม, ทรมาน และ ‘การกระทำทารุณกรรมอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ยากใหญ่หลวง หรือการบาดเจ็บสาหัสต่อร่างกาย หรือจิตใจ หรือสุขภาพทางกาย’ ที่ได้ก่อขึ้น ‘เป็นส่วนหนึ่งในการโจมตีอย่างแพร่หลายและเป็นระบบโดยตรงต่อประชากรที่เป็นพลเรือน โดยรับรู้การโจมตีนั้น’”

รอยร้าวที่เด่นชัด

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Bensouda ได้ยกคำฟ้องร้องเหล่านี้ โดยกล่าวว่า “คดีที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจสอบในเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะมีความ ‘รุนแรงเพียงพอ’ ที่จะทำให้ ICC มีความชอบธรรมที่จะดำเนินการต่อไปได้”

แต่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ผู้พิพากษาสามคนขององค์คณะตุลาการพิจารณาเบื้องต้นคณะที่ 1 ได้รับคำอุทธรณ์การตัดสินของ Bensouda ที่ยื่นโดยคอโมโรส และได้ตัดสิน 2-1 ว่า เธอได้ “กระทำผิดพลาดทางสาระสำคัญ” และขอให้เธอพิจารณาใหม่

ในการตรวจสอบ คณะผู้พิพากษาเหล่านี้เขียนว่า

“องค์คณะไม่สามารถมองข้ามความคลาดเคลื่อนระหว่าง ด้านหนึ่งที่เป็นข้อสรุปของอัยการที่ว่า อาชญากรรมดังกล่าวไม่มีความรุนแรงอย่างเด่นชัดมากพอที่จะทำให้ศาลมีความชอบธรรมในการดำเนินการ ซึ่งความมุ่งหมายเดิมของมันคือเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีที่เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประชาคมระหว่างประเทศ กับอีกด้านหนึ่ง ที่เหตุการณ์เหล่านี้ได้ดึงดูดความสนใจและความกังวลจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และยังจะนำไปสู่ความพยายามที่จะค้นหาข้อเท็จจริงในนามของรัฐและสหประชาชาติเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเหตุการณ์เหล่านี้”

หลายวันต่อมา Bensouda ได้ยื่นคำอุทธรณ์ของเธอเองต่อคำตัดสินของคณะผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม โดยขอให้องค์คณะตุลาการอุทธรณ์ของ ICC ยกเลิกคำสั่งนั้น

วิกฤตความชอบธรรม

รอยร้าวที่เด่นชัดระหว่าง ICC กับอัยการระดับสูงไม่เพียงแต่อาจจะทำให้เกิดคำถามทางเทคนิคเกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมายและอำนาจศาลเท่านั้น แต่ยังจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมที่ลดน้อยถอยลงของศาลอีกด้วย

ตลอดระยะเวลา 13 ปี ศาลได้พิจารณาคดีทั้งหมดไป 22 คดีจากเก้าสถานการณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีบุคคล 30 คน แต่ละคนเป็นผู้นำแอฟริกา

การเพ่งเล็งแคบๆ นี้หนีไม่พ้นการสังเกตเรื่องทวีป ซึ่งมีเสียงเรียกร้องซ้ำๆ ให้รัฐต่างๆ ในทวีปถอนตัวจาก ICC ทั้งคณะ

ความขัดแย้งนี้มาถึงการประชุมสุดยอดสหภาพแอฟริกันที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งได้มีนักเคลื่อนไหวมาเรียกร้องให้จับกุมตัวประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชิร ของซูดาน ตามหมายของ ICC

ถึงแม้ว่าศาลในท้องถิ่นจะส่งให้อัล-บาชีรอยู่ภายในประเทศ แต่รัฐบาลแอฟริกาใต้อนุญาตให้เขากลับไปยังซูดานเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยอ้างถึงข้อตกลงหนึ่งที่คุ้มครองผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด AU จากการจับกุม

ความแตกต่างเล็กน้อย

การได้รับการยกเว้นโทษนี้มีความแตกต่างกันเล็กน้อยจากการยกเว้นโทษที่บรรดาผู้นำของอิสราเอล เช่น Tzipi Livni ใช้กันบ่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะถูกจับกุมในประเทศที่เป็นมิตร เช่น สหราชอาณาจักร ที่อ้างว่าเป็น “เขตอำนาจสากล” ครอบคลุมอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

(ภาพ) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล Tzipi Livni ในงานแถลงข่าวที่สภา Knesset รัฐสภาของอิสราเอล ในเยรูซาเล็ม
(ภาพ) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล Tzipi Livni ในงานแถลงข่าวที่สภา Knesset รัฐสภาของอิสราเอล ในเยรูซาเล็ม

และไม่ได้เป็นข้อตกลงที่อนุมัติโดยธรรมนูญกรุงโรม แตกต่างกันอย่างยิ่งกับ “การเพิกถอนมาตรา 98” ที่สหรัฐฯ ได้ลงนามกับประเทศอื่นๆ 95 ชาติ เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้นส่งพลเมืองหรือลูกจ้างของสหรัฐฯ ไปให้ ICC ดำเนินคดี
แต่การปฏิเสธที่จะเมินเฉยต่อภาระหน้าที่ของมัน ขณะที่เจ้าภาพการประชุมสุดยอดนี้ได้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อ ICC และผู้สนับสนุน ว่าไม่เคยจัดระดับกับมหาอำนาจที่ไม่ใช่แอฟริกาในการดำเนินการแบบเดียวกันนี้เลย

การที่สหภาพแอฟริกาไม่สนับสนุนให้ชาติสมาชิกทั้ง 54 ชาติของตนให้ความร่วมมือกับ ICC หลายคนมองว่ากรณีของปาเลสไตน์และคอโมโรสจะเป็นบททดสอบสำคัญของศาลว่าจะมีความเต็มใจที่จะกล่าวถึงการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐที่ไม่ใช่แอฟริกาและได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกหรือไม่

แรงกดดันทางการเมือง

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากคณะผู้แทนขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization) ประจำสหรัฐฯ ได้บอกกับ MintPress ว่า คดีเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงตามกฎหมาย

“ศาลทำการตัดสินด้วยตัวเอง” เขากล่าวถึงการที่องค์คณะตุลาการพิจารณาเบื้องต้นท้าทายการยกฟ้องคดีคอโมโรสของ Bensouda “เราไม่คิดว่าประเด็นเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้อง”

แต่สำหรับการยืนหยัดในอนาคตของ ICC การปฏิบัติต่อสองคดีนี้อาจมีหลายอย่างที่คล้ายกัน

จากกาซ่า Ramy Abdu จากกลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในแถบยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียนกล่าวว่า แรงกดดันทางการเมืองที่มีต่อ ICC เท่านั้นที่จะขัดขวางไม่ให้มันตัดสินความผิดของอิสราเอล

“เราไม่มีความหวาดกลัว และไม่มีความสงสัยเลยว่าผลของการสอบสวนนี้จะแสดงให้เห็นว่า อิสราเอลได้ก่ออาชญากรรมสงคราม” Abdu กล่าว

“ถ้าสิ่งต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายและไม่มีแรงกดดันทางการเมือง หรือพูดให้ถูกต้องกว่านี้ว่า ถ้าฝ่ายต่างๆ อดทนต่อแรงกดดันทางการเมือง เราก็จะพูดได้ว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามเหล่านี้จะถูกจับกุมในเร็วๆ นี้”
 

—–
By Joe Catron
Source http://www.mintpressnews.com/israel-may-soon-face-prosecution-at-the-hagues-international-criminal-court/208220/
แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์