19 เหตุผล ที่อิหร่าน “ไม่เชื่อถือ” สหรัฐฯ

1733

อิหร่านและชาติมหาอำนาจของโลกกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้มข้นเพื่อลดความแตกต่างระหว่างกันและบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ครอบคลุมภายในวันที่ 1 กรกฎาคม อุปสรรคสำคัญในการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวก็คือการขาดพื้นฐานความเชื่อถือที่มีระหว่างทั้งสองฝ่าย ถ้าหากมีความเชื่อถือ สนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty – NPT) ก็คงจะเพียงพอแล้วในการระงับความกังวลเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่าน ปัจจุบันนี้ จุดขัดข้องทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับมาตรการที่นอกเหนือไปจาก NPT การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนก็คือให้ทั้งสองฝ่ายใช้มาตรการสร้างความมั่นใจต่างๆ เพื่อลดความหวาดระแวงที่ต่างฝ่ายมีต่อกัน ขณะที่ความกังวลใจของสหรัฐฯ เกี่ยวกับอิหร่านเป็นที่รู้กันดีในตะวันตก มันก็เป็นความสำคัญยิ่งยวดสำหรับสาธารณชนชาวสหรัฐฯ ที่จะต้องทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับเหตุผลที่ชาวอิหร่านมีความเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ

ต่อไปนี้คือเหตุผลต้นๆ ที่สรุปขึ้นโดยอดีตผู้เจรจาปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซัยยิด ฮุซเซน มูซาเวียน ใน al-monitor

1. รัฐบาลตะวันตกคัดค้านอย่างแข็งขันต่อความพยายามของอิหร่านที่จะทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่านเป็นสมบัติของชาติ เมื่อต้นยุค 1950s สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรถึงขนาดเอ่ยถึงอิหร่านต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อสันติภาพระหว่างประเทศ” เนื่องจากกล้าแย่งการควบคุมทรัพยากรของตนไปจากบริษัทต่างชาติ เรื่องส่งผลให้มีการคว่ำบาตรและใช้วิธีการกดดันรูปแบบอื่นๆ กับอิหร่านในเวลานั้น

2. สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เตรียมการให้เกิดการรัฐประหารในปี 1953 ที่ได้ทำให้นายกรัฐมนตรีมุฮัมเมด มุซซาเดก ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของอิหร่านต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้ชาห์เข้ามาแทนที่เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ การกระทำแบบถอนรากประชาธิปไตยของอิหร่านนี้ดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายทศวรรษ

3.  สหรัฐฯ และชาติตะวันตกได้ให้การสนับสนุนชาห์อย่างเต็มที่เป็นเวลาค่อนศตวรรษ ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางรากฐานในหมู่ประชากร การปฏิวัติอิสลามปี 1979 เป็นผลที่ปรากฏออกมาตามธรรมชาติของวิธีการปฏิวัติที่ตะวันตกมีต่ออิหร่าน

4.  นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติ นโยบายหลักของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านมีศูนย์กลางอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง โดยผ่านช่องทางการบีบบังคับเช่น การคว่ำบาตร, การโดดเดี่ยว และการสนับสนุนกลุ่มต่อต้าน ซึ่งหลายครั้งเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย การพิจารณายุทธศาสตร์นี้ให้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ของสหรัฐฯ นี้เอง

5.  ภายหลังการปฏิวัติ ชาติตะวันตกหลายประเทศได้ถอนตัวจากการทำข้อตกลงหลายเรื่องที่พวกเขามีกับอิหร่าน และปล่อยให้ประเทศนี้ต้องแบกรับกับเงินหลายหมื่นล้านดอลล่าร์ที่จ่ายไปแล้วเพื่อโครงการอุตสาหกรรมที่ไม่เสร็จสิ้น

6.  ในปี 1980 ซัดดัม ฮุซเซน ผู้นำเผด็จการของอิรักได้รุกรานอิหร่าน จุดชนวนสงครามแปดปีที่คร่าชีวิตชาวอิหร่านไปมากกว่า 300,000 คน และสร้างความเสียหายไปมากกว่า 1 ล้านล้านดอลล่าร์ สหรัฐฯ และชาติตะวันตกให้การสนับสนุนผู้รุกรานในการต่อสู้ครั้งนี้

7.  ซัดดัมใช้อาวุธเคมีกับอิหร่านในระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ทำให้พลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า 100,000 คน น่าเสียดายที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกบางประเทศได้จัดเตรียมวิธีการและอุปกรณ์ในการพัฒนาอาวุธเหล่านี้ให้แก่แบกแดด และแม้กระทั่งได้ให้ภาพถ่ายดาวเทียมบอกตำแหน่งที่ตั้งของกองทหารอิหร่านแก่พวกเขา ทั้งที่รู้ว่าอิรักจะใช้อาวุธเหล่านี้ในการสังหารหมู่ชาวอิหร่าน

8.  ในปี 1988 ช่วงที่อิรักทำสงครามกับอิหร่าน สหรัฐฯ ได้เปิดปฏิบัติการการสู้รบทางเรือครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 กับอิหร่าน ทำลายฐานน้ำมันสำคัญของอิหร่านในอ่าวเปอร์เซียหลายแห่ง

9. ในปี 1988 กองทัพเรือสหรัฐฯ ยิงเครื่องบินโดยสารพลเรือนของอิหร่าน สังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ไป 290 คน เป็นเด็ก 66 คน

10. ระหว่างยุคของประธานาธิบดีสายกลาง ฮาชิมี รัฟซันจานี เมื่อต้นยุค 1990s อิหร่านยินดีตอบรับข้อเสนอ “goodwill begets goodwill” จากรัฐบาลของจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช และแสดงออกด้วยการสนับสนุนให้ปล่อยตัวตัวประกันชาวอเมริกันและชาวตะวันตกในเลบานอน ผิดกันกับสหรัฐฯ ที่ตอบรับเจตนาดีนี้ด้วยการเพิ่มความกดดันและความเป็นปฏิปักษ์ต่ออิหร่าน

11. ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนักปฏิรูป มุฮัมมัด คาตามี อิหร่านเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ประณามการโจมตีก่อการร้าย 9/11 และให้ความร่วมมืออย่างคาดไม่ถึงกับสหรัฐฯ ใน “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ช่วยขับไล่รัฐบาลตอลีบันในอัฟกานิสถาน และสนับสนุนรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาแทนที่ ในการตอบแทน รัฐบาลบุให้รางวัลอิหร่านด้วยการระบุว่าอิหร่านเป็นหนึ่งใน “อักษะแห่งความชั่วร้าย”

12. ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้ในหนังสือ “อิหร่านและสหรัฐฯ : มุมมองของคนในเกี่ยวกับอดีตที่ล้มเหลวกับเส้นทางสู่สันติภาพ” (Iran and the United States : An Insider’s View on the Failed Past and the Road to Peace) ของข้าพเจ้า อิหร่านในสมัยการบริหารของมะห์มูด อะห์มะดีเนจาด ได้เสนอให้เชิญผู้แทนสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานมาเพื่อเจรจาเรื่องความร่วมมือในอัฟกนิสถาน อิหร่านยังยินดีตอบรับ “แผน step-by-step ของรัสเซีย” เกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ ซึ่งจะเห็นด้วยกับความกังวลของตะวันตกในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิหร่านยังได้เสนอให้มีการตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของตนอย่างเต็มที่เป็นเวลาห้าปีโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และแม้กระทั่งส่งสัญญาณว่ายินดีจะหยุดการเสริมสมรรถนะอยู่ที่ระดับ  20% ถ้ามันได้รับการจัดหาเชื้อเพลิงแก่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเตหะราน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และชาติตะวันตกตอบสนองต่อการทาบทามอย่างใจกว้างนี้ด้วยการเพิ่มความกดดันและการคว่ำบาตร

13. นโยบายของสหรัฐฯ นำไปสู่ภาวะสงครามที่มากเกินไปในภูมิภาคนี้ ด้วยการขายสรรพาวุธทางทหารขนานใหญ่ของสหรัฐฯ ให้แก่ประเทศอาหรับที่ร่ำรวยแถบอ่าวเปอร์เซีย อย่างเช่น ซาอุดิอารเบีย

14. การตีวงล้อมอิหร่านของกองทัพสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นแห่งชาติที่สำคัญของอิหร่าน

15. รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขแก่อิสราเอล โดยไม่คำนึงถึงความปรารถนาอันชอบธรรมของประชาชนชาวปาเลสไตน์ และเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ

16. สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนเผด็จการผู้โหดร้ายและระบอบการปกครองที่ทุจริต ตั้งแต่ชาห์แห่งอิหร่าน ไปจนถึงเบน อาลี แห่งตูนีเซีย, ฮุสนี มุบารัก แห่งอียิปต์ และราชวงศ์อาหรับผู้กดขี่ทั้งหาย ซึ่งได้แสดงให้อิหร่านและสาธารณชนชาวอาหรับได้เห็นถึงธรรมชาติที่ไม่จริงใจในข้ออ้างของสหรัฐฯ ที่บอกว่าตนเป็นแนวหน้าของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

17. นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้แฝงความเป็นสองมาตรฐานเอาไว้อย่างชัดเจน ตัวอย่างที่โดดเด่นของเรื่องนี้ก็คือการดูแลเอาใจใส่ของวอชิงตันต่อผู้แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์อย่างชัดเจน เช่น อินเดีย ปากีสถาน และอิสราเอล ซึ่งไม่แม้กระทั่งลงนามในสนธิสัญญา NPT ในขณะที่ทำการกดดันอย่างหนักต่ออิหร่าน ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และยังเป็นสมาชิกของ NPT

18. สหรัฐฯ สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่กลุ่มย่อยหัวรุนแรงในฝ่ายต่อต้านซีเรีย, กลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้อิหร่านล่มสลาย เช่นกลุ่มก่อการร้ายบาลูชี จุนดัลลาห์ และองค์กรมุจาฮิดีน คอลก์ (MKO) ซึ่งได้ลอบสังหารชาวอิหร่านไปมากกว่า 17,000 คนแล้ว ตั้งแต่มีการปฏิวัติอิสลาม

19. ดังที่ข้าพเจ้าอธิบายไว้ในหนังสือของข้าพเจ้าเรื่อง “วิกฤตินิวเคลียร์อิหร่าน : บันทึกความจำ” (The Iranian Nuclear Crisis : A Memoir” ภายหลังการปฏิวัติ สหรัฐฯ และชาติตะวันตกได้ถอนตัวจากข้อตกลงและสัญญานิวเคลียร์ทั้งหมดกับอิหร่าน และท้าทาย “สิทธิที่ไม่อาจพรากไปได้” ของอิหร่านในการที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติ ภายใต้สนธิสัญญา NPT สหรัฐฯ กดดันเยอรมนีให้ระงับการสร้างโครไฟฟ้า Bushehr ให้แล้วเสร็จ ซึ่งเสร็จไป 90% แล้ว และจ่ายเงินไปแล้ว 8 พันล้านมาร์กเยอรมัน วอชิงตันยังได้ผลักดันให้ฝรั่งเศสยกเลิกข้อตกลงเสริมสมรรถะที่ลงนามเมื่อปี 1973 ซึ่งได้รวมอิหร่านอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมกิจการมูลค่า  1,200 ล้านดอลล่าร์ กับ Eurodif เพื่อเสริมสมรรถนะยูเรเนี่ยมในฝรั่งเศส เพื่อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเตหะราน และโรงไฟฟ้า Bushehr

ความไม่เชื่อถือระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่มีร่วมกันทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่า สหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจสำคัญที่สุดของโลก และอิหร่าน ที่เป็นมหาอำนาจสำคัญระดับภูมิภาคในตะวันออกกลาง จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการมีความสัมพันธ์ที่ดี ถ้าความร่วมมือเช่นนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ มันจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลาง ก้าวแรกที่มุ่งไปสู่ความร่วมมือนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ด้วยการสร้างความคืบหน้าในการเจรจานิวเคลียร์และกำลังมีการสร้างช่องทางที่เป็นทางการทั้งสองฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านภายในกรอบของการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ การแก้ปัญหาโดยสันติของข้อขัดแย้งเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และอาจถูกยอมรับว่าเป็น “ต้นแบบ” เพื่อจัดการกับปัญหาการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต และอาจจะนำไปสู่การสร้างการเตรียมความพร้อมระดับภูมิภาคเพื่อการใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในตะวันออกกลาง

—–
แปล กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์
ที่มา http://realiran.org/19-reasons-why-iran-doesnt-trust-the-us/