แยกอิรัก : เมื่อการแยกดินแดนกลายเป็นอาวุธสงคราม

1139

โครงการของไซออนิสต์สหรัฐฯ ที่จะแบ่งแยกดินแดนตะวันออกของมุสลิมออกเป็นชิ้นเล็กๆ กำลังดำเนินไปในอิรัก ชาวเคิร์ดกำลังถูกจัดเตรียมไว้เพื่อวาระที่ชั่วร้ายนี้ เบื้องหลังทั้งหมดนั้นก็คือการปกป้องอิสราเอลไซออนิสต์นั่นเอง

ถ้าดินแดนตะวันออกของมุสลิมอยู่ภายใต้แอกของมหาอำนาจตะวันตกมาตั้งแต่อาณาจักรสุลต่านแห่งออตโตมานล่มสลายไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 – โดยตกเป็นตัวประกันตามความประสงค์ของมหาอำนาจต่างชาติและความปรารถนาของพวกเขาที่จะปกครองและควบคุมทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามากที่สุดของโลกบางส่วน (น้ำมัน, ก๊าซ และแร่)- ถ้าเช่นนั้น วอชิงตันก็ได้ปรับเกมชิงบัลลังก์ของตนในอิรักในช่วงนี้ เพราะสหรัฐฯ หวังจะได้เป็นผู้เขียนแผนที่คนใหม่ของภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับที่ไอซิซได้กลายเป็นกองกำลังที่ต้องถูกกระตุ้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DoD) กำลังสนับสนุนการแบ่งแยกในอิรัก โดยหวังที่จะใช้ประโยชน์จากความทะเยอะทะยานแบ่งแยกดินแดนของเคอร์ดิสถาน เพื่อใช้เป็นตัวแทนของอเมริกาในโครงการใหญ่ที่จะ “ครอบครอง” ดินแดนตะวันออกของมุสลิม

ภัยร้ายที่ตั้งเค้าต่อความมั่นคงและความตึงเครียดจากเชื้อชาติ-ศาสนาที่มีมาตั้งแต่เกิดข้อตกลงไซคส์-ปิโคต์ (Sykes-Picot Agreement) ในปี 1916  ขณะนี้โลกอาหรับกำลังเผชิญหน้าอยู่กับภัยคุกคามเหนือดินแดนในรูปของวิสัยทัศน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองที่คับแคบแบบอเมริกา เกมสร้างชาติและวาดเขตแดนครั้งใหม่ของวอชิงตันอาจจะเป็นภัยอีกชั้นหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในความซับซ้อนของสถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้วก็เป็นได้

โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง กระทรวงกลาโหมพยายามที่จะทำความผิดพลาดซ้ำเหมือนอย่างที่จักรวรรดิ์อังกฤษเคยทำมาแล้ว ด้วยการทึกทักเอาเองว่าตนสามารถควบคุม บงการ และบังคับให้ภูมิภาคนี้ยอมจำนนได้โดยผ่านเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองที่ชาญฉลาด เอาการแบ่งแยกดินแดนและแนวคิดชาตินิยมมาเล่นราวกับว่ามันเป็นอาวุธสงคราม
หากดึงเอาบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาพิจารณา การสร้างสังคมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในห้องประชุมของคณะกรรมการหรือในการชุมนุมของมหาอำนาจทางการเมือง ถ้าได้ก็ไม่คงอยู่ตลอดไป

เราลองนึกดูว่า ความวุ่นวายมากมายที่เราเห็นเกิดขึ้นภายหลังการประท้วงอาหรับสปริงนั้นสามารถย้อนรอยกลับไปจนถึงการสร้างชาติในลักษณะเช่นนั้นได้จริงๆ ผลของการแลกเปลี่ยนและเจรจาต่อรองอย่างเข้มข้นของตะวันตก แผนที่ทางการเมืองของดินแดนมุสลิมตะวันออกไม่เคยสะท้อนถึงความเป็นจริงของชาติเลย แต่มันกลับเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมาดปรารถนาและความทะเยอทะยานต่อภูมิภาคนี้ของมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม การควบคุมเช่นนั้นต้องพบกับราคาที่แสนแพง

ถึงกระนั้นเหยี่ยวสงครามจากวอชิงตันก็ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยไม่คำนึงถึงไฟที่อาจจะประทุขึ้นใต้เท้าของพวกเขา ตอนนี้วอชิงตันกำลังคิดที่จะขึ้นเตียงกับชาวเคิร์ดเพื่อความสะดวกทางกลยุทธ์ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐตระหนักเป็นอย่างดีว่ากองกำลังเพชเมอร์กาของชาวเคิร์ดจะทำหน้าที่เป็นกองกำลังตัวแทนทางทหารที่สมบูรณ์แบบในการต่อสู้กับไอซิซในอิรักได้  แต่ถ้าชาวเคิร์ดได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็นกองกำลังที่มีศักยภาพในการต่อต้านการรุกคืบของไอซิซที่เข้ามาในภาคเหนือของอิรัก ความช่วยเหลือของเออร์บิลก็มาพร้อมกับตัวพ่วงมากมาย ที่สำคัญที่สุดในตัวพ่วงเหล่านั้นก็คือ ความเป็นเอกราช

และถึงแม้ว่าทำเนียบขาว โดยผ่านนายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศ จะยอมรับแล้วว่าจะไม่สนับสนุนให้เคอร์ดิสถานแยกตัวออกมาจากอิรัก แต่กฎหมายฉบับใหม่ที่กระทรวงกลาโหมรับรองกลับบอกเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยการล้อบบี้สนับสนุนสงครามของอเมริกาในฝ่ายตน ทำให้มีแค่เรื่องของเวลาเท่านั้นว่าเมื่อไหร่ที่เออร์บิลจะได้ทุกอย่างที่ต้องการจากพันธมิตรอนุรักษ์นิยมใหม่ของตน ท้ายที่สุด ในอเมริกาที่กระหายสงคราม การตัดสินใจแทบจะไม่ได้มาจากนักการเมือง โดยเฉพาะเมื่อกองทัพได้เข้ามามีอำนาจอย่างท่วมท้นเช่นทุกวันนี้

การที่จู่ๆ กระทรวงกลาโหมก็เกิดมีความสนในเคอร์ดิสถานขึ้นมา ย่อมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตยหรือแม้กระทั่งเรื่องสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตัวเองของประชาชนในประเทศ แต่ทว่า เหมือนเช่นทุกเรื่องจากวอชิงตัน มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ผลประโยชน์ของชาติ” เมื่อใดที่สหรัฐฯ ใช้กำลังทางทหารในต่างประเทศมากเกินไป กองกำลังตัวแทนจะเข้ามาเป็นตัวช่วยบรรเทาที่น่ายินดี แม้จะมีข้อเท็จจริงที่ว่าวอชิงตันจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความยุ่งยากในการหาเหตุผลของการเสียชีวิตของทหารอเมริกันที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันกำลังใกล้จะถึงช่วงเวลาของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ไม่มีใครต้องการที่จะต้องอธิบายถึงการสูญเสียชีวิตของชาวอเมริกัน แถวโลงศพที่วางเรียงรายบนแผ่นดินสหรัฐฯ ไม่ได้ร้องบอกถึงความสำเร็จในการเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อวันที่ 30 เมษายน คณะกรรมาธิการทางการทหารของรัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายนโยบายป้องกันประเทศ ที่ให้จัดส่งความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 17 ล้านดอลล่าร์ “เพื่อฝึกและจัดหาเครื่องมือให้กองทัพอิรัก… โดยตรงแก่นักรบซุนนีและนับรบเคิร์ด”

แทนที่จะส่งความช่วยเหลือไปให้แก่รัฐบาลกลางของแบกแดดและเชื่อมั่นว่าความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดจะถูกจัดส่งไปยังที่ที่มีความจำเป็นมากที่สุด กระทรวงกลาโหมกลับเลือกที่จะอ้อมผ่านรัฐบาลอิรักและเสริมกำลังให้กับฝ่ายต่างๆ ของเพชเมอร์ก้า ที่ตนมองว่าเป็นพันธมิตรทางกลยุทธ์ในการต่อสู้กับไอซิซ ด้วยภาษาที่เชื่อมสายสัมพันธ์กับเออร์บิลอย่างชัดเจน แบกแดดไม่ค่อยพอใจนักกับนัยยะอันหนักหน่วงทางการเมือง ที่การจัดเตรียมทางการทหารเช่นนั้นจะทำให้เกิดขึ้นในระยะยาว

ด้วยการยอมรับเคอร์ดิสถานในฐานะประเทศหนึ่งบนหน้ากระดาษ สหรัฐฯ คงจะยอมรับในอธิปไตยของเออร์บิลไปแล้วโดยพฤตินัยถ้าไม่ใช่โดยนิตินัย เพราะตอนนี้ทำเนียบขาวประกาศแล้วว่าตนจะคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ โดยเรียกร้องให้มีการ “เปลี่ยนภาษา” ในการพูดสรุปกับสื่อของนางแมรี่ ฮาร์ฟ โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศได้บอกกับนักข่าวว่า “เราพูดมาตลอดว่าอิรักที่เป็นปึกแผ่นมีความแข็งแกร่งขึ้น และมันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ด้วย ความช่วยเหลือทางการทหารและการจัดส่งเครื่องมือของเรา นโยบายของเรายังเหมือนเดิมด้วย ว่าการขนส่งอาวุธทั้งหมดจะต้องประสานงานผ่านรัฐบาลส่วนกลางที่มีอำนาจของอิรัก เราเชื่อว่านโยบายนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลผสม”

เรื่องนี้จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหนเป็นเรื่องที่ยังต้องถกเถียงกัน เมื่อกล่าวถึงความมั่นคงและความยึดมั่นกับนโยบายของตน คณะบริหารของโอบาม่ามีประวัติที่ไม่ค่อยดีเยี่ยมนัก เรายังคงรอให้คำสั่งฝ่ายบริหารสูงสุดครั้งแรกของประธานาธิบดีโอบาม่าเป็นเรื่องจริงที่สัมผัสได้ ยังจำคุกที่อ่าวกวนตานาโมได้ไหม?

แต่ตรงนี้คือจุดที่ปลักความเสี่ยงของอิรักจะกลายเป็นผงดินปืนที่อันตราย ทำเนียบขาวต้องการที่จะให้ระบุถึง “ภาษา” ของกฎหมายฉบับนี้ ความหมายของมันไม่ใช่เรื่องจำเป็น “เราจึงหวังว่าจะทำงานร่วมกับสภาคองเกรสในเรื่องของภาษาที่เราจะสนับสนุนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญนี้” ฮาร์ฟกล่าวเมื่อ 30 เมษายน

อาจเป็นได้ว่า สงครามเรื่องความหมายนี้จะดำเนินต่อไปนานพอที่กระทรวงกลาโหมและเออร์บิลจะได้จัดการเรื่องต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางแล้วดึงพรมออกจากใต้เท้าของแบกแดด นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วอชิงตันโจมตีพันธมิตรของตนจากทิศทางที่มองไม่เห็น ในกรณีนี้คืออิรัก

นอกเหนือจากการพูดคุยทางการเมือง ดูเหมือนว่าเคอร์ดิสถานกำลังวางตัวเองอยู่ในตำแหน่งผู้ชนะเลิศในการต่อต้านการก่อการร้ายที่จงรักภักดีต่ออเมริกาในภูมิภาคหนึ่งที่ถูกสั่นคลอนด้วยความไร้เสถียรภาพและแพร่หลายไปด้วยความรู้สึกต่อต้านอเมริกาที่ฝังลึกและแรงกล้า เคอร์ดิสถานสนับสนุนอเมริกาอย่างเต็มที่ ไม่เหมือนเพื่อนบ้านใกล้เคียงของตน อย่างเช่นซีเรีย ตุรกี อิหร่าน และแน่นอนอิรัก

และยังไม่หมด วอชิงตันกับเออร์บิลยังมีประวัติศาสตร์นิดหน่อยเมื่อกล่าวถึงการใช้ประโยชน์ทางทหารและทางการเมือง ไบรอัน กิบสัน นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการ บอกกับ Rudaw ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนเมษายนว่า สหรัฐฯ เคยให้การสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ดในการสู้รบกับแบกแดดช่วง 1970s มากกว่าที่คิด เป็นการบ่งบอกว่าเออร์บิลกับวอชิงตันมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงต่อกัน “ตั้งแต่ปี 1958-1975 นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอิรักถูกวางขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นประเทศบริวารของโซเวียต สิ่งนี้นำไปสู่ปฏิบัติการแอบแฝงมากมายเพื่อสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ภายใตอิรักที่ต่อต้านการขยายจักรวรรดิ์ของมอสโก เช่น พรรคบาธในช่วงต้นยุค 1960s และชาวเคิร์ดในยุค 1970s” กิบสันกล่าว แต่มิตรภาพนี้ก็ไม่ได้ขัดขวางสหรัฐฯ จากการทิ้งเพื่อนชาวเคิร์ดของตนในปี 1975 เมื่อซัดดัม ฮุซเซน บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับชาห์แห่งอิหร่าน

วันนี้ ประวัติศาสตร์ได้ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง อย่างน้อยก็ในด้านที่ชาวเคิร์ดได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในฐานะพันธมิตรทางกลยุทธ์ในการต่อสู้กับทั้งอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลางและไอซิซ

หลักฐานของการแต่งงานที่จัดขึ้นในสวรรค์ทางภูมิศาสตร์การเมืองนี้ยังสามารถมองเห็นได้ในความก้าวร้าวของเออร์บิลที่ว่าจ้างอดีตทหารสหรัฐฯ ชาวเคิร์ดกำลังเกณฑ์อดีตกองกำลังทหารสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมในกองกำลังเพชเมอร์กา ด้วยการลงชื่อผ่านการสมัครออนไลน์ จากข้อมูลของ The Daily Beast เว็บไซต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเกณฑ์ทหารขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่า โครงการคัดและจัดการประเมินการลงทะเบียนชาวต่างชาติของกองกำลังเพชเมอร์กาของเคิร์ด (Foreigner Registration Assessment Manangement and Extraction Program) หรือ F.R.A.M.E.

แต่สำหรับตอนนี้ ถ้าการช่วยเคอร์ดิสถานอาจจะสอดคล้องกับผลประโยชน์อันใกล้ของวอชิงตัน ก็มีแนวโน้มว่าพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคนี้จะต้องขุ่นเคืองกับความทะเยอทะยานแห่งชาติของเออร์บิล ตุรกีและอิรักจะเป็นประเทศแรกๆ เนื่องจากรัฐของชาวเคิร์ดย่อมหมายถึงการสูญเสียทั้งดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าไป

เกมแห่งความคาบเกี่ยวทางการเมืองและกลยุทธ์ในตะวันออกกลางนี้อาจจบลงด้วยการกลืนกินสหรัฐฯ ทั้งหมด มันคงไม่ใช่ครั้งแรกที่มหาอำนาจแห่งจักรวรรดิ์จะตกเป็นเหยื่อในปลักเช่นนั้น เมื่อติดอยู่ในโยงใยแห่งพันธมิตรอันซับซ้อนและขัดแย้งบ่อยครั้ง –เช่น การต่อสู้กับไอซิซเคียงข้างอิหร่านในอิรัก และต่อสู้กับอิหร่านในซีเรีย- วอชิงตันกำลังจะสูญเสียความสัมพันธ์ทั้งหมดในภูมิภาคนี้ไป

 

 

เขียน Catherine Shakdam

ที่มา http://www.crescent-online.net/

แปลและเรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์