(ภาพ) นักรบฮิซบุลเลาะฮ์ยืนบนยานหุ้มเกราะและถือธงพรรคของพวกเขา ขณะเดินสวนสนามระหว่างการชุมนุมเพื่อรำลึกวันที่ 13 ของเทศกาลอาชูรอ ในเมืองนาบาติเยห์ เลบานอน เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014
“เลบานอน” ถูกชิงพื้นที่ในวาระระหว่างประเทศด้วยสมรภูมิอื่นๆ ที่เป็นอันตรายมากกว่า เจ้าความคิดและศูนย์ยุทธศาสตร์ (Think tanks) ทั้งหลาย หมดความสนใจต่อประเด็นต่างๆ ของประเทศนี้ตั้งแต่สถานการณ์ความมั่นคงของเลบานอนมาถึงภาวะชะงักงัน ตำแหน่งประธานาธิบดี ฉันทามติของรัฐสภา หรือกลไกการทำงานของคณะรัฐมนตรีของเลบานอน ไม่เป็นที่สนใจของนานาชาติอีกต่อไป เหตุการณ์ใกล้เคียงเท่านั้นที่ทำให้เลบานอนถูกกล่าวถึง เช่น ภัยคุกคามความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตผู้อพยพชาวซีเรีย หรือขบวนการต่อสู้ตามแนวชายแดน
ขณะที่ผู้มีส่วนได้เสียชาวตะวันตกกำลังเบื่อหน่ายกับความเชื่องช้าของเจ้าหน้าที่เลบานอน ทว่าพวกเขากลับมีความสนใจต่อ “ฮิซบุลเลาะฮ์” เพิ่มมากขึ้นด้วยอิทธิพลในภูมิภาคของพรรคนี้ ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวภายใน มีการพูดคุยกันมากมายในวงการทูตตะวันตกเกี่ยวกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของฮิซบุลเลาะฮ์ในการต่อสู้ในซีเรีย, ความสามารถที่ทรงศักยภาพในการให้ความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพในอิรัก, ความสัมพันธ์กับอิสราเอล บาห์เรน และแม้แต่บัลแกเรีย ส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงบทบาทของฮิซบุลเลาะฮ์ในการต่อสู้และสงครามที่ดำเนินอยู่ โดยเฉพาะในอิรักและซีเรีย การพูดคุยกันนี้เน้นหนักไปที่การสู้รบในภาคใต้ของซีเรีย ที่ซึ่งฮิซบุลเลาะฮ์จะมีบทบาทอย่างแน่นอนไม่ว่าข้อยุติในอนาคตจะเป็นเช่นไรก็ตาม
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ฮิซบุลเลาะฮ์ก็คือรูปลักษณ์ของภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ของตะวันออกกลาง และเป็นพันธมิตรสำคัญของหนึ่งในสองแกนอำนาจที่กำลังก่อร่างขึ้นในภูมิภาคนี้ อันได้แก่ “แกนของอิหร่าน” ที่ได้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัสเซีย และการขยายยุทธศาสตร์ไปยังอิรัก ซีเรีย และเลบานอน ซึ่งเป็นปรปักษ์กันกับ แกนของซาอุดี้ฯ -ประเทศอ่าว-จอร์แดน-ตุรกี ที่กำลังพยายามรักษาความเป็นพันธมิตรในทางปฏิบัติ หลังจากที่ระบบไตรภาคีของซาอุดี้ฯ ขึ้นมามีอำนาจในริยาดภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์
ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แกนแห่งภูมิภาคฝ่ายหลัง โดยเฉพาะซาอุดิอารเบียกับตุรกี กำลังดำเนินการเพื่อนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกลับมาใหม่ทั่วทั้งตะวันออกกลาง ตลอดไปจนถึงตูนีเซีย และสนับสนุนเพื่อให้ปรากฏขึ้นมาใหม่ต่อหน้ากลุ่มจารีตนิยมและแกนอิหร่าน ซึ่งคาดว่าจะขยายไปยังจุดยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วย อิรัก ซีเรีย และเลบานอน
(ภาพ) สตรีชาวคริสเตียนผู้สนับสนุนฮิซบุลเลาะฮ์ ถือภาพของฮาซัน นัสรุลเลาะฮ์ ผู้นำฮิซบุลเลาะฮ์ กับธงเลบานอน ขณะฟังคำปราศรัยของนัสรุลเลาะฮ์ในโอกาสวันเยรูซาเล็ม ทางใต้ของเบรุต เลบานอน เมื่อ 3 กันยายน 2010
ก่อนหน้าการตกลงระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ซาอุดิอารเบียได้ทบทวนนโยบายล่าสุดของตนใหม่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแผนที่ภูมิภาค นั่นหมายถึงการเรียนรู้จากความผิดพลาดก่อนหน้านี้ในอียิปต์ ซีเรีย และตูนีเซีย แล้วจึงกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นมา การฟื้นฟูกลุ่มภราดรภาพมุสลิมขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแห่งภูมิภาคเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของนโยบายนี้ และน่าจะช่วยควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค คือระหว่างตุรกีกับกาตาร์ในด้านหนึ่ง และระหว่างซาอุดิอารเบียกับอียิปต์ในอีกด้านหนึ่ง ความกังวลร่วมกันนี้ได้ถูกแสดงออกมาโดยนักการเมืองและสื่อในสองประเทศหลัง อียิปต์กังวลเกี่ยวกับการฟื้นฟูกลุ่มภราดรภาพมุสลิมด้วยการสนับสนุนของซาอุดี้ฯ ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอาซิซ แห่งซาอุดี้ฯ ผู้ล่วงลับ ไปสู่อียิปต์ยุคก่อนจะมีกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
แกนใหม่นี้ได้แสดงตัวขึ้นในเยเมนเป็นพิเศษ และในการเปลี่ยนเอเดนมาเป็น “เมืองหลวง” ของกลุ่มนี้โดยการสนับสนุนของริยาด เป็นการต่อสู้กับซานาอฺที่เป็นเมืองหลวงของกลุ่มเฮาซี มันเร็วเกินไปที่จะทำนายว่าแกนใหม่นี้จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะในขณะนี้ที่กำลังมีความพยายามกำหนดลักษณะที่ชัดเจนและนโยบายในภูมิภาค ก่อนหน้าที่จะมีข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน รวมทั้งการต่อสู้ของโลกกับรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ไอซิซ) อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักของแกนนี้อยู่ที่การปรากฏตัวมากยิ่งขึ้นของอิหร่าน ซึ่งดูเหมือนว่าวอชิงตันจะ “มอบหมาย” ให้ทำหน้าที่ในการเผชิญหน้ากับไอซิซ ร่วมกับปฏิบัติการทางอากาศต่อกลุ่มนี้ที่เริ่มขึ้นเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนในซีเรียและอิรัก
ปฏิบัติการภาคพื้นดิน (ที่ได้รับการส่งเสริมจากสื่อที่เป็นมิตรกับอิหร่านในทิกริต ด้วยการแสดงภาพของนายพลกอซิม สุลัยมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์จากกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน เพื่อยืนยันถึงการปรากฏตัวอย่างแข็งแกร่งในการต่อต้านไอซิซในจังหวัดซอลาฮุดดีนของอิรัก ก่อนที่จะเริ่มการสู้รบคล้ายกันนี้ในจังหวัดอันบาร์) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ท่ามกลางการสู้รบในภาคใต้ของซีเรีย (ที่ซึ่งอิหร่านทำการต่อสู้อย่างเปิดเผยเคียงข้างฮิซบุลเลาะฮ์เพื่อขับไล่ไอซิซและแนวร่วมอัล-นุสรอ โดยไม่มีการคัดค้านจากนานาชาติเลย) ฉากใหม่แห่งภูมิภาคกำลังก่อรูปร่างขึ้น ซึ่งวอชิงตันมองเห็นดุลยภาพระหว่างสองอำนาจในตะวันออกกลาง อำนาจหนึ่งคือซุนนี และอีกอำนาจหนึ่งคือชีอะฮ์
การปรากฏตัวของเลบานอนบนแผนที่นั้นก็เนื่องมาจากฮิซบุลเลาะฮ์ และบทบาทที่ตัดผ่านระหว่างแกนทั้งสอง แกนแรกมองว่าพรรคนี้เป็นภัยคุกคามที่อันตรายเทียบเท่ากันกับไอซิซ ในขณะที่แกนที่สองอาศัยฮิซบุลเลาะฮ์ในการกำหนดแนวยุทธศาสตร์ที่กำลังขยายจากอิรักไปยังเมดิเตอร์เรเนียน
ด้วยข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ที่กำลังจะเกิดขึ้น (แม้ว่านายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล จะเพิ่งปรี๊ดแตกในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆนี้ ) ระดับความขัดแย้งระหว่างแกนทั้งสองและผลที่จะเกิดตามมาในภูมิภาคนี้ ยังต้องรอดูกันต่อไป อย่างน้อยทั้งสองฝ่ายก็ยังคงกันเลบานอนออกไปจากความขัดแย้งนี้
—-
แปลเรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์
source http://www.mintpressnews.com