ปีที่แล้ว (2014) ถือเป็นปีที่เลวร้ายสำหรับสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่ามีจุดที่สว่างไสวอยู่บ้างก็ตาม เช่น กระบวนการสันติภาพของกัมพูชาดูท่าว่ามีความหวัง การเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านรอบล่าสุดก็ประสบความสำเร็จมากกว่าที่หลายคนคิด ในตูนีเซียก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจในการพูดคุยเจรจาที่มีเหนือกว่าความรุนแรง ส่วนอัฟกานิสถานแม้จะมีความท้าทายมากมายก็สามารถมีรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้ และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตของประธานาธิบดีบารัก โอบามา กับคิวบาก็เป็นเรื่องในเชิงบวก
แต่สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นปีที่น่าเศร้า ความขัดแย้งก่อตัวสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากได้เว้นระยะห่างไปภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็น สงครามในปัจจุบันได้คร่าชีวิตผู้คนและทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า และยุติลงยากกว่าที่เคยเป็นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ความยุ่งเหยิงในโลกอาหรับก็หนักหนามากขึ้น ไอซิสได้ยึดพื้นที่กว้างขวางในอิรักและซีเรีย ขณะที่หลายพื้นที่ในกาซ่าถูกทำลายอีกครั้ง ขณะที่อียิปต์หันเข้าสู่ลัทธิอำนาจนิยมและการปราบปราม ส่วนลิเบียและเยเมนถูกซัดเข้าสู่กระแสของสงครามกลางเมือง
ในแอฟริกา โลกได้จับตามองบรรดาผู้นำของซูดานได้ขับเคลื่อนประเทศใหม่ของพวกเขาลงสู่สงคราม, ความเบิกบานใจเมื่อปี 2013 ลดเลือนไปในสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งคองโก อีโบล่าได้ลุกลามไปในหลายพื้นที่ของแอฟริกาตะวันตก และกลุ่มกบฏโบโกฮารัมได้ยกระดับการโจมตีก่อการร้ายในภาคเหนือของไนจีเรีย คำสั่งตามกฎหมายสากลถูกท้าทายด้วยการผนวกดินแดนครีเมียเข้ามาของรัสเซีย และสงครามกำลังกลับเข้ามาในยุโรปเมื่อการสู้รบยังดำเนินต่อไปในภาคตะวันออกของยูเครน
เพราะฉะนั้น 12 เดือนที่ผ่านมานี้บอกเราว่ามีอะไรผิดพลาดบ้าง?
ในระดับโลก การแข่งขันกันทางภูมิศาสตร์การเมืองที่เพิ่มขึ้น อย่างน้อยในขณะนี้ กำลังจะนำไปสู่โลกที่ความควบคุมได้และคาดเดาได้น้อยลง เรื่องนี้เป็นได้ชัดเจนที่สุดเมื่อมองดูความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก มันยังไม่ใช่ยอดสรุปทั้งหมด ทั้งสองชาติยังคงทำงานร่วมกันในเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน เรื่องภัยคุกคามจากนักรบก่อการร้ายจากต่างชาติ และเรื่องการรักษาสันติภาพในแอฟริกา แต่นโยบายของรัสเซียเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่แท้จริง และความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และยุโรปยิ่งเพิ่มความไม่ลงรอยต่อกันมากขึ้น
ความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศเพื่อนบ้านก็ยังตึงเครียดอยู่ และอาจจะนำไปสู่วิกฤติในตะวันออกหรือทะเลจีนใต้ได้ ความบุกบั่นระหว่างอิหร่านและซาอุดิอารเบียได้กำหนดระดับความรุนแรงระหว่างซุนนีและชีอะฮ์ทั่วทั้งตะวันออกกลาง
ผู้มีอำนาจซุนนีส่วนใหญ่ก็แบ่งแยกในระหว่างพวกเขาเอง การต่อสู้ชิงชัยกันระหว่างซาอุดี้ฯ เอมิเรต และอียิปต์ในด้านหนึ่ง และกาตาร์กับตุรกีในอีกด้านหนึ่ง
ที่อื่นๆ ในทวีปแอฟริกาก็เช่นกัน ผู้มีอำนาจทั้งหลายแก่งแย่งชิงดีกันในโซมาเลีย และสงครามระดับภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้นในซูดานใต้ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งคองโกก็เป็นจุดนัดพบสำหรับการแข่งขันกันของประเทศเพื่อนบ้านเพื่ออำนาจบารมีและทรัพยากร
การเป็นคู่ปรับระหว่างคนหมู่มากกับผู้มีอำนาจระดับภูมิภาคไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ความเป็นปรปักษ์ระหว่างมหาอำนาจได้เป็นตัวบดบังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหปะชาชาติไม่ให้มองเห็นยูเครนและซีเรีย และปล่อยให้สมาชิกผู้ทรงอำนาจที่สุดมีเวลาและต้นทุนทางการเมืองเพื่อลงทุนในวิกฤติอื่นๆ เมื่ออำนาจแพร่กระจายไปมากขึ้น ความเป็นศัตรูระหว่างผู้มีอำนาจระดับภูมิภาคก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น การแข่งขันกันระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งได้แต่งเติมสีสันแก่สงครามกลางเมืองระดับภูมิภาคและนานาชาติมากยิ่งขึ้น ทำให้การหาทางออกของปัญหาเหล่านั้นมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
สงครามและความไร้เสถียรภาพเกิดขึ้นหนาแน่นในทางภูมิศาสตร์มากยิ่งขึ้นด้วย โดยได้แพร่ออกไปจากส่วนต่างๆ ของลิเบีย แถบซาเฮล และตอนเหนือของไนจีเรีย ไปจนถึงทะเลสาบเกรตเลกส์และแหลมฮอร์นของทวีปแอฟริกา ผ่านไปทางซีเรีย อิรัก และเยเมน และเลยไปจนถึงอัฟกานิสถานและปากีสถาน
การสร้างเสถียรภาพให้แก่บริเวณที่ไม่มั่นคงที่สุดของโลกจำเป็นจะต้องใช้นโยบายต่างประเทศระดับโลกที่สำคัญ และไม่ใช่แค่นโยบายที่ชอบด้วยศีลธรรม เนื่องจากดินแดนเหล่านี้มักถูกใช้เป็นที่พักพิงของผู้ก่อการร้ายและอาชญากรข้ามชาติ
เรื่องนี้ประกอบขึ้นด้วยแนวโน้มที่น่ากังวลต่อว่าจะเกิดความรุนแรงในประเทศที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย พื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดในโลกบางแห่งคือประเทศที่กำลังพยายามจะดำเนินการเพื่อให้หลุดพ้นจากการปกครองแบบอำนาจนิยม เช่นลิเบีย เยเมน อัฟกานิสถาน คองโก และยูเครน การบุกบั่นเพื่อความลงตัวในการแบ่งสันอำนาจและทรัพยากรเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง และความล้มเหลวน่าจะนำไปสู่ความโกลาหลครั้งใหม่
สิ่งนี้เป็นการหนีเสือปะจระเข้ทั้งสำหรับคนชั้นสูงในประเทศและผู้มีอำนาจต่างชาติ ในด้านหนึ่ง เรารู้พฤติกรรมของผู้ปกครองบ้าอำนาจหลายคนที่มักจะสร้างปัญหาไว้ในภายหลัง พวกเขาไม่มีความจริงใจต่อสถาบันต่างๆ กดขี่ฝ่ายตรงข้าม ละเลยประชาชนส่วนใหญ่ และมักจะทิ้งความไม่แน่นอนทางกลไกสืบต่อกันมา อีกด้านหนึ่ง การกำจัดพวกเขาออกไปมักจะทำให้เรื่องมันแย่ลงในช่วงเวลาสั้นๆ นั่นเป็นเพราะการปกครองของพวกเขาไม่ปล่อยให้ระบบใดๆ ถูกจัดการเปลี่ยนแปลงได้
ปีที่แล้ว ยังเห็นได้ชัดเจนอีกด้วยว่ากลุ่มนักรบญีฮาดยังคงเป็นภัยคุกคามที่เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง รัฐอิสลามและพลพรรคใหม่ๆ ในซีนายและแอฟริกาเหนือ โบโกฮารัมในไนจีเรีย อัล-ชาบาบในโซมาเลียและเคนย่า และสาขาต่างๆ ของอัล-กออิดะฮ์ในเอเชียใต้ เอเชียกลาง คอเคซัส เยเมน และซาเฮล กำลังทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ เข่นฆ่าพลเรือน และทำให้ประชาชนในประเทศมีความคิดแบบสุดโต่ง
ถึงแม้ว่ากลุ่มนักรบญีฮาดเหล่านี้จะใช้กลวิธีก่อการร้ายที่น่าสยดสยอง แต่พวกเขาก็เป็นมากกว่าผู้ก่อการร้าย พวกเขาต้องการมีอำนาจควบคุมดินแดน พวกเขามักจะผสมผสานกลวิธีที่โหดเหี้ยมเข้ากับเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองหรือสังคมในวงกว้าง บางกลุ่มเสนอตัวเองเป็นทางเลือกให้แก่ประเทศที่ทุจริตและไม่ยุติธรรม โดยการจัดให้มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคงและความยุติธรรม เมื่อรัฐบาลล้มเหลวในการนั้น ในสงครามบางครั้งที่พวกเขาเข้าต่อสู้ถูกขับเคลื่อนแต่แรกเริ่มโดยการญีฮาดระหว่างประเทศ แนวคิดแบบสุดโต่งมักจะเข้ามาในภายหลัง และเข้ามาท่ามกลางการใช้ความรุนแรงอื่นๆ เสมอ แต่เมื่อมันเข้ามาแล้ว มันจะทำให้การค้นหาที่สิ้นสุดของสงครามด้วยการประนีประนอมมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น
ทางออกของปัญหาเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความขัดแย้งแต่ละแห่ง ตัวขับเคลื่อน ตัวละครสำคัญของมัน แรงกระตุ้นและผลประโยชน์ของพวกเขา การตอบสนองใดๆ จำเป็นต้องดัดแปลงไปตามเนื้อหาของมัน แต่เราสามารถนำเสนอความคิดทั่วไปโดยดูจากปีที่ผ่านมาได้
ประการแรก ปีนี้นโยบายต่างๆ ขาดยุทธศาสตร์ทางการเมืองบ่อยเกินไป เช่นการดำเนินการของสหรัฐฯ ต่อไอซิส หรืออย่างที่ทำต่อโบโกฮารัมของไนจีเรีย ปฏิบัติการทางทหารอย่างเดียวไม่ได้ผล รังแต่จะทำให้ตัวขับเคลื่อนความขัดแย้งฝังอยู่ด้านล่างเรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมทางอำนาจ การด้อยพัฒนา การเบียดเบียนรัฐ ลักษณะทางการเมือง และอื่นๆ สิ่งที่จะรักษาประเทศต่างๆ ให้อยู่ด้วยกันก็คือความนิ่งทางการเมือง การสิ้นสุดสงครามหรือการหลีกเลี่ยงวิกฤติต่างๆ จำเป็นต้องใช้กระบวนการที่ผลักดันให้ไปหาสิ่งนั้น
ประการที่สอง การเจรจาทำให้เกิดความเข้าใจได้มากกว่าที่จะไม่พูด จุดที่สว่างไสวของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน การเจรจาสันติภาพของโคลอมเบีย การเปลี่ยนผ่านของตูนีเซีย หรือความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับคิวบา ล้วนแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการสนทนากัน แม้ว่ามันจะน่าอึดอัดหรือไม่ถูกใจประชาชน แน่นอนว่ามันมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเจรจากับกลุ่มที่มีวาระพิเศษ หรือกลุ่มที่มีแรงกระตุ้นในทางทุจริตมากกว่าทางการเมือง แต่ขณะนี้ความสมดุลกำลังมีน้ำหนักอย่างน่ากลัวไปในทางตรงข้ามกับการเจรจา ผู้สร้างนโยบายจำเป็นจะต้องยืดหยุ่นมากกว่านี้ ต้องละเว้นการประกาศกร้าวว่าจะคุยหรือไม่คุยกับใคร และเมื่อจำเป็นต้องใช้กำลัง ให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ แม้จะเป็นเพียงเพื่อแยกผู้ที่อยู่นอกขอบอย่างแท้จริง
ประการที่สาม การรวมกันในทางการเมืองควรจะเป็นหลักการชี้นำของบรรดาผู้นำในปัจจุบันให้บ่อยขึ้น มันหมายถึงการสร้างสถาบันต่างๆ ที่เป็นตัวแทน มีประสิทธิภาพ และปกป้องพลเมืองทั้งหมด มันเป็นการทำงานทางการเมืองที่ยาวนาน ตรากตรำ และหนักหนา ในประเทศที่เปราะบาง การรีบเร่งไปสู่การเลือกตั้งที่จะเป็นการให้อำนาจกับผู้ชนะบนความเสียหายของผู้แพ้ หรือการผ่านรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในคนคนเดียวเป็นสิ่งที่อันตราย
การกีดกันออกไปเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามในปัจจุบัน ทุกกลุ่มหลักต้องการที่นั่งในที่ประชุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตน
ประการที่สี่ การป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเป็นสิ่งที่ดีกว่าการพยายามจำกัดวงมันในภายหลัง ซึ่งหมายถึงการเข้าไปทำการประสานก่อนที่ความขัดแย้งในท้องถิ่นจะเข้าสู่มิติของการญิฮาด เป็นต้น หมายถึงการกล่าวถึงข้อข้องใจของชุมชนต่างๆ ก่อนที่พวกเขาจะลุกขึ้นจับอาวุธ หมายถึงการพยายามยุติสงครามก่อนที่กลุ่มต่างๆ จะแตกหักจากกัน ซึ่งจะทำให้ความพยายามเพื่อสันติภาพมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในภูมิภาคที่มีปัญหาที่ยังมีความมั่นคงอยู่พอสมควร หรืออย่างน้อยที่ยังไม่ล่มสลาย ซึ่งหมายถึงการทำให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือทางการทหารจะไม่เป็นการรุกล้ำกับบรรดาผู้ปกครอง แต่มันยังหมายถึงการต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แทนที่จะผลักดันบรรดาผู้นำให้ไปสู่การเมืองที่มีวงกว้างมากขึ้น ให้มีบริการและเครื่องใช้สาธารณะขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น การจัดการกับการทุจริต และการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิกฤติต่างๆ มากมายเข้าครอบงำบรรดาผู้นำโลก ถ้าหากว่าความสามารถในการจัดการกับวิกฤตของโลกได้มาถึงจุดแตกหักแล้ว ความล่มสลายในอีกภูมิภาคหนึ่ง อย่างเช่นเอเชียกลาง หรือในแถบอ่าว ก็จะเป็นความหายนะ
สุดท้าย เกี่ยวกับบัญชีรายชื่อ มันเป็นการตัดสินชี้ขาดในบางระดับ ด้วยวิกฤติการที่กำลังเกิดขึ้นมากมาย การทำให้มันแคบลงด้วยการจัดอันดับ 10 วิกฤติการที่อันตรายมากที่สุดจึงเป็นเรื่องยาก และเรายังไม่ได้รวมถึงความรุนแรงในระดับพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดในเม็กซิโกและบางส่วนของอเมริกากลาง ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อนี้ แต่เห็นได้ชัดว่ามันมีความร้อนแรงขึ้นในกาซ่า เวสต์แบงก์ เยรูซาเล็ม หรือแม้แต่ในอิสราเอลเอง ปากีสถานก็ไม่ติดอยู่ในบัญชีของปีนี้เช่นกัน แต่การโจมตีในเปชวาร์ครั้งเลวร้ายเมื่อเดือนธันวาคมแสดงให้เห็นว่ามันยังคงเผชิญกับภัยคุกคามที่เชื่อมโยงอยู่ภายในมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มนักรบญิฮาด ความรุนแรงในเมืองจากการแบ่งแยกนิกาย หรือการทหารที่อยู่ไม่นิ่งของมันเอง
ต่อไปนี้คือ 10 สงครามที่ต้องเฝ้าจับตาในปีนี้
BARAA AL-HALABI/AFP/Getty Images
1. ซีเรีย อิรัก กับรัฐอิสลาม (ไอซิส)
นับตั้งแต่ที่รัฐอิสลามได้กวาดไปทั่วพื้นที่กว้างทางตอนเหนือของอิรักในเดือนมิถุนายน กลุ่มนักรบญิฮาดกลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นจุดสนใจอันดับต้นๆ ของการเมืองระดับภูมิภาค แต่ความสำเร็จของมันเป็นอาการของปัญหาที่ลึกกว่าที่ไม่ตรงกับการแก้ปัญหาในทางทหาร
ปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐฯ ต่อรัฐอิสลามช่วยชะลอกลุ่มนักรบญิฮาดลงได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางขึ้นของการต่อสู้ทั้งสองด้านของแนวชายแดนซีเรียและอิรักกลับพลิกเป็นผลดีต่อรัฐอิสลามอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาอ้างว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามที่แท้จริงเพียงกลุ่มเดียวของรัฐบาลอัสซาด และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์ของซุนนีที่แท้จริงเพียงกลุ่มเดียวในทั้งสองประเทศ
แต่ความสามารถในการต่อสู้และขวัญกำลังใจของฝ่ายต่อต้านติดอาวุธชาวซีเรียที่ตะวันตกหนุนหลังก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ
ส่วนกลุ่มญับฮัต อัล-นุสรอ ที่ผูกพันอยู่กับอัล-กออิดะฮ์ได้ขับไล่กลุ่มขนาดกลางส่วนใหญ่ออกจากจังหวัดอิดลิบ ขณะที่รัฐบาลอัสซาดก็ได้พยายามบดขยี้พวกเขาด้วยกำลังทางทหารอย่างที่ไม่มีใครขวางได้
กลุ่มต่างๆ ที่ตะวันตกหนุนหลังยังคงมีบทบาทสำคัญในอลิปโป ซึ่งยังคงเป็นดินแดนของฝ่ายตรงข้ามที่มีค่าที่สุด แต่กลุ่มกบฏที่นั่นก็ต้องต่อสู้ขัดขวางการโอบล้อมของรัฐบาล
2. ยูเครน
ยูเครนอาจไม่ใช่วิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดของโลก แต่มันได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกให้ย่ำแย่ลง ประชาชนมากกว่า 5,000 คนถูกสังหารในยูเครนตะวันออกนับตั้งแต่เริ่มมีการปะทะกันในเดือนมีนาคม 2014 และอีกประมาณ 1,000 คน หลังมีการประกาศหยุดยิงเมื่อวันที่ 5 กันยายน การรุกไล่ในฤดูหนาวอาจเพิ่มมิติใหม่ให้กับวิกฤติครั้งนี้ ประชากรในโดเนตสค์และลูฮานสค์ในภาคตะวันออกที่ฝ่ายแยกดินแดนยึดอยู่จะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากด้วยการขาดแคลนเครื่องทำความร้อน ยารักษาโรค อาหาร หรือเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจในท้องถิ่นล่มและการควบคุมการเงินที่เข้มงวดของเคียฟ ผู้นำของฝ่ายแยกดินแดนได้สร้างสถาบันของรัฐบาลที่ทำหน้าที่ได้บางหน่วยงาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่แทบจะไม่มีความชำนาญเลย และจะไม่สามารถตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมใดๆ ด้วยตัวเองได้เลย
มีแสงริบหรี่ของความหวังอยู่ แม้ว่ามอสโคจะยังให้การสนับสนุน “สาธารณรัฐ” เล็กๆ ที่แยกตัวออกมาในส่วนต่างๆ ของโดเนตสค์และลูฮานสค์ แต่กระตือรือร้นที่มีต่อฝ่ายแยกดินแดนของมันกำลังลดน้อยลง มันยังไม่ได้รับรองสาธารณรัฐเหล่านั้น และตอนนี้ได้เน้นอย่างเปิดเผยว่าอนาคตของพวกมันตั้งอยู่ภายในเขตแดนของยูเครน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ยังคงไม่อาจคาดเดาได้ เริ่มต้นปี 2015 มาก็ไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีความตั้งใจที่จะดำเนินการทางทหาร แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายมีผู้ชักจูงที่มีอิทธิพลสนับสนุนสงคราม พวกเขาอาจจะลองดูก็ได้ พื้นที่อื่นๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน อย่างเช่นคาร์คิฟ และซาโปริเซีย ที่ยังค่อนข้างเงียบจนถึงตอนนี้ อาจแข็งกร้าวขึ้นถ้าหากมอสโคทำให้สิ่งต่างๆ ให้แย่ลง บางทีอาจจะเปิดดินแดนที่เป็นเส้นทางไปสู่ไครเมียผ่านทางตะวันออกเฉียงของยูเครน กลุ่มแยกดินแดนที่หัวรุนแรงกว่าย่อมมีความหวังว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น
ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ยอมรับว่า การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพในระยะยาวของยูเครน แต่เขาดำเนินการค่อนข้างช้า ตะวันตกจำเป็นต้องกดดันทางการเมืองเพื่อให้เขาทำตาม
ในระยะสั้น งานหลักสำหรับประชาคมโลกก็คือต้องแยกคู่สงครามออกจากกัน ส่งเสริมเคียฟให้แผ่ออกไปถึงเพื่อนร่วมชาติทางตะวันตกของมัน ให้แนวชายแดนของยูเครนและรัสเซียอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ และค่อยๆ เปลี่ยนการปะทะกันจากการเผชิญหน้าด้วยอาวุธมาเป็นการเจรจาทางการเมือง การเกิดความขัดแย้งแบบเยือกแข็งอีกแห่งหนึ่งในแถบยุโรปยังคงสามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยโชคช่วยเล็กน้อย พลังกระตุ้นมากหน่อย และนโยบายต่อมอสโคที่ประกอบแรงกดดันที่ยั่งยืนด้วยการกระตุ้นที่มีศักยภาพเพื่อลดการขยายสงคราม
3. ซูดานใต้
ซูดานได้กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่สองของสงครามกลางเมืองอันโหดร้าย ที่ขณะนี้ดูท่าว่าจะหนักหน่วงยิ่งขึ้น
เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่คุกรุ่นมายาวนานภายในพรรครัฐบาลและกองทัพระเบิดขึ้นเป็นสงครามระหว่างกองกำลังต่างๆ ที่จงรักภักดีต่อประธานาธิบดีซัลวา คีร์ และที่จงรักภักดีต่อนายรีค มาชาร์ อดีตรองประธานาธิบดีของเขา มีการกระทบกระทั่งกันในกรมกองทหาร บ่อยครั้งเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ร่วมกับการแบ่งแยกเชื้อชาติด้วย การปะทะกันกระจายออกไปจากเมืองหลวงอย่างรวดเร็ว ขณะที่การต่อสู้ได้ทำลายเมืองสำคัญๆ และโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน ด้วยการที่ทหารอูกันดาและกบฏซูดานต่อสู้ร่วมกับกองกำลังรัฐบาล และซูดานให้อาวุธแก่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้าม สงครามนี้ได้ดึงเอาประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาร่วมด้วย และเสี่ยงที่จะบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาคที่มีปัญหาอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก รัฐบาลกำลังงัดเอาการเงินในอนาคตมาใช้จ่ายสำหรับการทำสงคราม ปล่อยให้ประเทศเข้าใกล้การล้มละลาย
มีการประมาณกันว่าสงครามนี้ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากถึง 50,000 คน และเกือบ 2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น องค์กรเพื่อมนุษยธรรมในขณะนี้ก็ต้องบ่ายเบี่ยงต่อความอดอยาก แต่พวกเขาเผชิญหน้ากับความเกลียดชัง เมื่อสิ้นฤดูฝนในเดือนธันวาคมก็ดูเหมือนว่าความรุนแรงจะยกระดับขึ้น
ความพยายามที่จะยุติสงครามไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้มีอำนาจระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการพัฒนา (Intergovernmental Authority on Development – IGAD) กลุ่มตัวแทนระดับภูมิภาคซึ่งทั้งอูกันดาและซูดานเป็นสมาชิกอยู่ ได้เริ่มต้นนำไปสู่ความพยายามเพื่อการประนีประนอม แต่การเจรจาได้ผลกระทบน้อยมาก และไม่ได้ประกอบรวมทุกฝ่าย มีการละเมิดการหยุดยิงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็ไม่มีใครให้น้ำหนักอย่างเต็มที่ เบื้องหลังกระบวนการสันติภาพ กลุ่มติดอาวุธกำลังแตกแยกกระจัดกระจาย และขณะนี้มีหลายกลุ่มที่คีร์และมาชาร์ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นการเติมเชื้อไฟให้กับการต่อสู้ระดับที่สองที่กำลังอยู่ในเงาของสงครามกลางเมือง
โลกจะหยุดการนองเลือดนี้ได้อย่างไร? คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจระดับภูมิภาค จำเป็นจะต้องเข้าไปประสานอย่างแข็งขันกว่านี้ การห้ามขนส่งอาวุธ ถ้ามีการตรวจตราอย่างใกล้ชิด ควรจะเพิ่มความเข้มงวดกับทุกฝ่าย สหรัฐฯ กดดันอูกันดา ควบคู่กับที่จีนกดดันซูดาน และรวมความกดดันจากผู้มีอำนาจในภูมิภาคส่วนใหญ่ต่อคีร์และมาชาร์ อาจทำให้ฝ่าทางตันไปได้ ควรมีการพิจารณาถึงกลไกที่ทำให้แน่ใจว่ารายได้จากน้ำมันจะไม่เติมเชื้อไฟให้กับการต่อสู้ พร้อมกับที่ต้องกดดันเส้นทางเสียงของฝ่ายตรงข้าม ผู้ทำการไกล่เกลี่ยควรจะขยายการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธทั่วประเทศ
ซูดานได้เป็นหนึ่งในวิกฤติร้ายแรงที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม มันไม่เหมือนกับซีเรียและยูเครน เพราะยังมีความหวังสำหรับการดำเนินการร่วมกันของนานาชาติที่มากกว่า เพราะประเด็นนี้ยังไม่หลุดออกจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อดินแดนแตกร้าว ถึงเวลาแล้วที่มหาอำนาจจะต้องให้น้ำหนักอย่างแข็งขันมากขึ้น
4. ไนจีเรีย
ไนจีเรียต้องเผชิญกับพายุที่แท้จริงในปี 2015 แรกสุดคือการก่อการกำเริบอย่างโหดเหี้ยมของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง โบโก ฮารัม ที่ยังคงอึมครึมอยู่ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะตะวันออกเฉียงเหนือที่ย่ำแย่อยู่แล้ว กลุ่มนี้ยึดดินแดนได้มากขึ้นเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา และการโจมตีของมันได้ขยายไปยังแคเมอรูน และอาจจะลุกลามเข้าไปในไนเจอร์และชาดด้วยก็ได้ ขณะนี้เป็นปีที่ห้าแล้ว และยังไม่มีสัญญาณว่ามันจะเบาบางลง การปะทะกันนี้ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 13,000 คน และประชาชนต้องพลัดออกจากถิ่นฐาน 800,000 คน
การตอบสนองของประธานาธิบดีกูดลัก โจนาธาน ส่วนใหญ่จะอาศัยมาตรการทางการทหาร ขณะที่การดำเนินการของรัฐบาลได้รับชัยชนะอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ฝ่ายกบฏถอยกลับไปได้ แต่ละครั้ง พวกเขาได้สร้างศัตรูให้แก่รัฐบาลมากยิ่งขึ้น ปฏิบัติการต่างๆ ดำเนินการอย่างหนักหน่วงและไม่พิจารณาให้รอบคอบ โดยที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงและทหารอาสาในท้องถิ่นที่เป็นพันธมิตรมีส่วนในการฆ่าและทรมาน การบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในบางสมรภูมิทำให้ทหารไม่ยอมต่อสู้หรือละทิ้งหน้าที่ไป นักเรียนหญิงมากกว่า 200 คน ที่ถูกนักรบลักพาตัวไปเมื่อเดือนเมษายนยังคงหายไป
เรื่องที่สอง ราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงทั่วโลกได้สร้างความอ่อนแอให้กับรัฐบาล ซึ่งรายได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของมันขึ้นอยู่กับการขายน้ำมันดิบ ในสองเดือนสุดท้ายของปี 2014 ไนจีเรียได้ลดราคาน้ำมันลงสองเท่าจากที่ใช้เป็นแผนงบประมาณ (ถึงบาร์เรลละ 65 ดอลล่าร์) ขณะที่ให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้มาตรการเงินเฟ้อ มีการลดค่าเงินของไนจีเรียเป็นครั้งแรกในรอบสามปีด้วย
เรื่องที่สาม การเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 อาจทำให้ประเทศไม่มั่นคงได้ด้วยเช่นกัน โพลสำรวจความคิดเห็นของไนจีเรียมักมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเสมอ แต่โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในเวลานี้มีสูงเป็นพิเศษ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลับมาสู่การปกครองของพลเรือนในปี 1999 ที่พรรค People’s Democratic Party (PDP) ของรัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่แท้จริง รัฐบาลผสมของฝ่ายค้าน พรรค All Progressives Congress (APC) ได้รวมตัวกันเบื้องหลังผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงคนเดียว คือ พลเอกมูฮัมมาดู บูฮารี ที่เกษียณแล้ว ซึ่งจะรับช่วงต่อจากประธานาธิบดีโจนาธาน
ขณะที่การเลือกตั้งก่อนหน้านี้ เกือบจะเกิดความรุนแรงในระดับประเทศขณะรณรงค์เลือกตั้งและระหว่างลงคะแนน ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สร้างข้อโต้แย้งยังคงน่ากังวลมากกว่า ถ้าบูฮารีแพ้ อาจมีกลุ่มผู้ออกมาประท้วงตามท้องถนนในเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือ อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเขาแพ้การเลือกตั้งในปี 2011 แต่ครั้งนี้โบโก ฮารัม มีท่าทีว่าจะผสมโรงในการนองเลือดด้วย ถ้าหากโจนาธานแพ้ ผู้สนับสนุนเขาในเดลต้าก็ขู่แล้วว่าความรุนแรงจะปะทุขึ้นอีกครั้งที่นั่น
5. โซมาเลีย
ขณะที่การร่วมกันรุกของกองกำลังสหภาพแอฟริกาและกองทัพโซมาลีส่งผลในการกดดันต่ออัล-ชาบาบ รัฐบาลกลางของโซมาเลียยังคงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อทำการปกครองอย่างแท้จริง ถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญกลางชั่วคราว แต่ความตึงเครียดระหว่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีกลับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2014 ที่ส่งผลให้ฝ่ายหลังต้องออกจากตำแหน่ง ความบาดหมางทางการเมืองทั้งในส่วนกลางและระดับภูมิภาคขณะนี้ทำให้รัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งและลงประชามติภายในปี 2016
ถึงแม้ดินแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจะมีมากกว่าช่วงเวลาใดนับตั้งแต่ต้นยุค 1990 แต่ความเป็นจริงแล้วกลุ่มที่ประกอบขึ้นด้วยตระกูลต่างๆ ในท้องถิ่นที่มีอาวุธยังคงมีอำนาจอยู่ เป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลกลางและการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งถูกมองว่าคงเป็นเกมของตระกูลที่มีอำนาจ มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดการปะทะกันต่อไป ในสภาพแวดล้อมอย่างนี้ ปฏิบัติการ AMISOM ของสหภาพแอฟริกา ที่พยายามจะรักษาความเป็นกลางของมันไว้ ซึ่งทำได้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากทหารส่วนใหญ่ของมันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และถึงแม้จะสูญเสียดินแดนและเสียผู้นำไปจากการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน แต่อัล-ชาบาบยังคงรักษาความสามารถในการโจมตีในประเทศและที่ห่างไกล ที่โดดเด่นที่สุดคือในเคนย่า ที่มันอ้างว่าจะเอาชัยชนะมาให้แก่มุสลิมชนกลุ่มน้อยที่ถูกกีดกัน
ผู้มีส่วนได้ประโยชน์ของโซมาเลีย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญเพื่อให้เข้ากับความท้าทายของประเทศ พวกเขาควรจะมุ่งเน้นไปที่ความมีเสถียรภาพของท้องถิ่น โดยผ่านสภาตำบลและเทศบาลนคร และการจัดตั้งสถาบันทางการเมืองระดับรากหญ้า การเลือกตั้งท้องถิ่นจำเป็นต้องมาก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ ทิศทางที่ขึ้นลงในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มความเสียหายให้แก่รัฐบาลส่วนกลางที่ไม่สามารถส่งและเสริมอำนาจให้แก่ตระกูลต่างๆ เพื่อกุมตำแหน่งประธานาธิบดีได้
6. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC)
ปีที่ผ่านมาได้ทำลายความหวังหลายอย่างที่เกิดขึ้นโดยความก้าวหน้าในคองโกเมื่อปี 2013
การปฏิรูปที่ประธานาธิบดีโจเซฟ คาบีลาสัญญาไว้ โดยเฉพาะในภาคส่วนความมั่นคง ถูกระงับเอาไว้ ขณะที่ในปี 2013 ได้เห็นทหารคองโกกับกองทหารพิเศษของสหประชาชาติปราบปรามกองทหารอาสา M23 ที่รวันดาหนุนหลังอยู่ ความพยายามที่จะปล่อยกองทหารอาสาอื่นๆ ต้องล้มไป กองกำลังคองโกได้เปิดปฏิบัติการต่อ Allied Democratic Forces (ADF) แต่ผู้นำของกลุ่มที่ยังเหลืออยู่ส่วนใหญ่ และนักรบที่ไม่แสดงตัวยังคงทำการเข่นฆ่าชาวบ้านในพื้นที่ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ท้าทายมากกว่านั้นคือ กองกำลังประชาธิปไตยเพื่อการปลดปล่อยรวันดา (FDLR) กลุ่มที่เหลืออยู่ของกองกำลังกึ่งทหารฮูตู ที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 รัฐบาลคองโก และผู้สนับสนุนกำลังทหาร FIB โดยเฉพาะแอฟริกาใต้และทานซาเนีย มีความลังเลที่จะต่อกรกับศัตรูของรวันดาอย่าง FDLR ในแบบเดียวกับที่พวกเขาต่อกรกับ M23 พันมิตรของมัน ยุทธศาสตร์ที่จะใช้กับ FDLR ไม่อาจจะอาศัยการดำเนินการทางทหารเพียงอย่างเดียวได้ มาตรการที่นุ่มนวลกว่า เช่น การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม โครงการปลดอาวุธที่จะดูแลทั้งนักรบและชุมชน ปฏิบัติของตำรวจต่อเครือข่ายผิดกฎหมายที่สนับสนุน FDLR อยู่ และข้อตกลงเดี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมายต่อแกนนำ จำเป็นต้องนำมาใช้ควบคุมกับการขู่ที่น่าเชื่อถือว่าจะใช้กำลัง
สำหรับปัจจุบัน การข่มขู่นั้นไม่มีแล้ว นักรบจำนวนเล็กน้อยของ FDLR บอกว่ากลุ่มจะไม่สมัครใจปลดอาวุธ โดยบอกว่าเส้นตายหกเดือนสำหรับกระบวนการนี้ตามที่ผู้มีอำนาจในท้องถิ่นปะกาศใช้ เป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมเพื่อซื้อเวลา ถ้าการปลดอาวุธต้องระงับไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงระลอกใหม่ในจังหวัดทางภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างถ้ารวันดาไม่รับกระบวนการทางการเมืองที่จัดการโดยสหประชาชาติ
7. อัฟกานิสถาน
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจด้วยความสงบอย่างกว้างขวางเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ออกจากตำแหน่ง อัชรอฟ กานี สาบานตนเป็นผู้สืบทอดของเขา และผู้ชนะการเลือกตั้งอันดับสอง อับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ ได้เป็น “ผู้บริหารสูงสุด” ในการแบ่งสรรอำนาจของอัฟกานิสถาน
แต่วิกฤติอันยืดเยื้อจากผลของการเลือกตั้งบ่งบอกว่ารัฐบาลเอกภาพของกานีอาจเป็นได้ทั้งความท้าทายและโอกาส ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายยังคงขมอยู่ พวกเขายังต้องเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีคนสำคัญ และข้อตกลงในการแบ่งสรรอำนาจยังขาดกลไกที่จะแก้ไขความขัดแย้ง การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอาจบดบังการปฏิรูปที่จำเป็นเร่งด่วนดังที่กานีได้สัญญาไว้ เช่น การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันต่างๆ การตรวจสอบการทุจริต การสร้างสมดลของอำนาจสูงสุด และการลดระบบการปกครองส่วนกลาง
รัฐบาลใหม่ยังต้องเผชิญกับการกำเริบของตอลีบันที่เพิ่มมากขึ้น กานีได้ลงนามในข้อตกลงกับวองชิงตันที่เป็นการเปิดทางให้แก่ทหาร 12,000 นาย ยังคงอยู่ในอัฟกานิสถานในปี 2015 เพื่อปฏิบัติภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย และเพื่อแนะนำ ฝึกฝน และช่วยเหลือกองกำลังท้องถิ่นที่กำลังต่อสู้อย่างหนักกับตอลีบัน
แต่ความรุนแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้น ปลายเดือนตุลาคม รัฐมนตรีกลาโหมอัฟกานิสถานกล่าวว่า ปี 2014 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับกองกำลังอัฟกานิสถาน นับตั้งแต่สหรัฐฯ นำการรุกรานในปี 2001 และก่อนหน้านั้น รายงานของสหประชาชาติเตือนว่า ปีนั้นมีจำนวนการเสียชีวิตและบาดเจ็บของพลเรือนเพิ่มสูงขึ้น เมื่อทหารต่างชาติถอนกำลังไป การเคลื่อนเข้าสู่จังหวัดต่างๆ ของคาบูลเริ่มแผ่วลง และมันจะคงทหารไว้ในระดับเดิมโดยไม่มีเงินบริจาคพิเศษหลายพันล้านดอลล่าร์
ระหว่างการเยือนจีน ปากีสถาน และซาอุดิอารเบียในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งของเขา กานีได้ส่งสัญญาอย่างชาญฉลาดว่าเขาสนใจที่จะยุติความขัดแย้งโดยผ่านคนกลาง ความเสี่ยงก็คือเรื่องนี้จะเพิ่มการขับเคี่ยวกับปากีสถาน ซึ่งยังมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับคาบูล และกลุ่มกบฏอัฟกันยังคงหลบอยู่ตามแนวชายแดน ขณะเดียวกัน จำนวนการโจมตีของตอลีบันบ่งบอกว่า กลุ่มกบฏจะทดสอบกำลังของตนกับกองทัพอัฟกานิสถานต่อไป การต่อสู้ยังคงเป็นส่วนประกอสำคัญของการทำความตกลง และปี 2015 ยังเป็นปีแห่งความรุนแรงอีกปีหนึ่งสำหรับอัฟกานิสถาน
8. เยเมน
การเปลี่ยนผ่านของเยเมนประสบความล้มเหลว กระบวนการทางการเมืองตกเป็นเหยื่อของการแข่งขันของคนชั้นสูง เป็นการเปลี่ยนแปลงการถ่วงดุลอำนาจที่เอื้อต่อกลุ่มเฮาซี ขบวนการชีอะฮ์ซัยดี ที่ขยายขอบเขตไปทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจากที่มั่นทางตะวันตกเฉียงเหนือ และขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ สภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงถดถอย ความน่าเชื่อถือของประเทศ และความไว้วางใจในตัวประธานาธิบดี ว่าเป็นนายหน้าที่ซื่อสัตย์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ก็ลดน้อยลง
กลุ่มเฮาซีได้ควบคุมเมืองหลวง ซานา ในเดือนกันยายน 2014 พวกเขาเห็นชอบกับแผนการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพและหุ้นส่วนแห่งชาติ
เยเมนไม่เคยมีประวัติศาสตร์ในด้านความรุนแรงจากการแบ่งแยกลัทธิ แต่มันเริ่มจะเป็นแล้ว การเกาะกุมอำนาจของเฮาซีได้นำมันเข้าสู่การต่อสู้อย่างหนักหน่วงขึ้นกับอิสลาห์ พรรคการเมืองที่ประกอบด้วยสาขาของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในเยเมน และกับอัล-กออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2009 โดยกลุ่มนักรบชาวซาอุดี้และเยเมน ความก้าวหน้าของเฮาซีทำให้เกิดความกลัวในภาคใต้ว่าเอกราชส่วนกลางไม่น่าจะประสบความสำเร็จ
มหาอำนาจระดับภูมิภาคบันทึกที่ผสมผสานกันในเยเมน ซาอุดิอารเบียและสภาความร่วมมือประเทศอ่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรวมกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกันในช่วงที่เกิดความวุ่นวายเมื่อปี 2011 ซาอุดี้ฯ ได้ให้เงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลล่าร์เพื่อสนับสนุนงบประมาณของรัฐ แต่หลังจากเฮาซีเข้าสู่ซานา ริยาดแสดงความกังขาที่จะให้เงินอุดหนุนรัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยกลุ่มที่ถือว่าเป็นตัวแทนของอิหร่าน ถ้าซาอุดี้ฯ ถอดใจที่จะลงทุน และถอนการสนับสนุนทางการเงิน ประเทศเยเมนก็อาจล่มสลายลงได้ อิหร่านและซาอุดิอารเบีย ซึ่งมีศัตรูร่วมกันคืออัล-กออิดะฮ์ ควรที่จะร่วมมือกันมากกว่าปล่อยให้เยเมนหลุดเข้าไปในสงครามตัวแทนอีกแห่งหนึ่ง
9 ลิเบียและซาเฮล
การเปลี่ยนผ่านของลิเบียก็พลาดเช่นกัน และความสับสนวุ่นวายกำลังแผ่ไปทั่วแนวชายแดน ทางตันทางการเมืองทำให้เกิดสภานิติบัญญัติที่เป็นคู่แข่งกันสองสภา คือรัฐสภาที่นานาชาติรับรองในโทบรุค กับสภาสามัญแห่งชาติของกลุ่มมุสลิมเคร่งจารีตในทริโปลี รัฐบาลลิเบียไม่มีอำนาจที่แท้จริงอีกต่อไป ความไว้วางใจในสถาบันต่างๆ ของรัฐได้สลายไปแล้ว การลอบสังหารเจ้าหน้าที่และความพยายามในการทำรัฐประหารซึ่งนำโดยนายพลผู้ต่อต้านมุสลิมเคร่งจารีตทำให้ประเทศเกิดความแตกแยก อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกมีความสลับซับซ้อนมากกว่ากลุ่มมุสลิมเคร่งจารีตกับกลุ่มต่อต้านมุสลิมเคร่งจารีต การต่อสู้แย่งชิงน้ำมันและก๊าซ การเป็นปฏิปักษ์กันระหว่างทหารกับเผ่าต่างๆ การแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ของมหาอำนาจต่างชาติ และความไม่เห็นพ้องกันว่าจะสร้างโครงสร้างของรัฐภัยหลังกัดดาฟี่อย่างไร ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่ทำให้ประเทศแยกออกจากกัน
นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะสำหรับลิเบียเท่านั้น แต่สำหรับประเทศเพื่อนบ้านด้วย การหลั่งไหลเข้ามาของอาวุธและทหารรับจ้างมีส่วนทำให้มาลีล่มสลายในปี 2012 เมื่อกบฏทอเรกและกลุ่มที่เชื่อมโยงกับอัล-กออิดะฮ์เข้ายึดภาคเหนือ และทหารทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของบามาโก ปฏิบัติการของฝรั่งเศสขับไล่นักรบญิฮาดกลับไป แต่หลายคนยังคงหลบซ่อนอยู่ในทะเลทรายหรือในชุมชนที่ห่างไกล ขณะเดียวกัน มีปฏิบัติการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นในไนเจอร์ด้วย ในมาลี เจ้าหน้าที่พยายามที่จะควบคุมพื้นที่ทะเลทรายที่กว้างใหญ่ ความพยายามของพวกเขาต้องพบกับความยุ่งยากโดยคู่อริแห่งภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างอัลจีเรียและโมรอคโค กลุ่มหัวรุนแรงและอาชญากรข้ามชาติใช้ประโยชน์จากซาเฮลเพื่อหลบหนีปฏิบัติการของฝรั่งเศสมากขึ้น และตั้งฐานที่มั่นทางตอนเหนือของแอฟริกา และแทรกซึมตามแนวชายแดน ทำให้อำนาจรัฐอ่อนแอ และความพร้อมในการหาอาวุธ ล้วนเป็นความได้เปรียบของพวกเขา
ขณะเดียวกัน ความไร้เสถียรภาพระดับภูมิภาคนี้ได้สะท้อนเข้ามาในภาคใต้ที่กว้างใหญ่ของลิเบีย จังหวัดฟัซซานทางตะวันตกเฉียงใต้ที่ถูกละเลยมีนักรบทอเรกหลั่งไหลเข้ามามากมาย รวมทั้งกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงสุดโต่ง และกำลังจะกลายเป็นที่ซ่อนตัวของกลุ่มสุดโต่งทั้งหลาย
ผู้นำลิเบียไร้ความสามารถในการจัดการกับความแตกแยกของประเทศ การแทรกแซงของฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ช่วยระงับกลุ่มนักรบญิฮาดไม่ให้รุกคืบเข้าไปในซาเฮล แต่ความพยายามทางทหาร ควบคู่กับการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมมีความจำเป็นสำหรับการมีเสถียรภาพอย่างแท้จริงหรือไม่ต้องรอดูกัน จนถึงขณะนี้ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองยังคงล้าหลังปฏิบัติการทางทหารอยู่มาก
10. เวเนซูเอล่า
เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ แล้ว เวเนซูเอล่าไม่ใช่เขตสงครามเลย ความสงบได้กลับมาสู่ท้องถนนของคาราคัสหลังจากเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วง กองกำลังรักษาความมั่นคง และกองทหารสนับสนุนรัฐบาล ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายสิบคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วง เมื่อต้นปี 2014 แต่สาเหตุสำคัญๆ ของวิกฤตินั้นยังคงมีอยู่ และเวเนซูเอล่าอาจต้องพบกับความไร้เสถียรภาพอีกรอบหนึ่งในปีนี้
รัฐบาลของประธานาธิบดีนีโกลัส มาดูโร ต้องเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเพราะราคาน้ำมันร่วงลงอย่างกะทันหัน ซึ่งรายได้ประมาณ 96 ของเวเนซูเอล่าขึ้นอยู่กับมัน สถานการณ์เลวร้ายมาก่อนการตกต่ำของราคาน้ำมัน ประเทศนี้ประสบกับภาวะเงินเฟ้อสูง (กว่า 60 เปอร์เซ็นต์) การขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ หน่วยงานของรัฐล้มเหลว และมีอัตราการก่ออาชญากรรมรุนแรงสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
ความนิยมรัฐบาลของประชาชาติตกลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มาดูโรเข้ารับตำแหน่งเมื่อฮิวโก ชาเวซ เสียชีวิตในเดือนมีนาคม 2013 คะแนนความพอใจในตัวมาดูโรต่ำกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าต่ำสำหรับเวเนซูเอล่า
ไม่มีอะไรที่ข้ามพ้นไปไม่ได้ถ้าหากไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของระบอบการปกครองในปัจจุบันในการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่รัฐธรรมนูญของประเทศ ศาลสูงสุด(TSJ) เจ้าหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง (CNE) และสามองค์ประกอบของ “อำนาจเชิงคุณธรรม” (อัยการสูงสุด, ผู้ตรวจการรัฐสภา และอธิบดีกรมบัญชีกลาง) ล้วนเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อรัฐบาล สภานิติบัญญัติที่ควรจะทำหน้าที่เป็นที่ประชุมถกเถียงกันอย่างสันติ กลับเป็นตรายางสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยเหตุนี้ เวเนซูเอล่าจึงถูกปล่อยไว้โดยไม่มีปุ่มนิรภัยที่จะคอยช่วยคลายความตึงเครียด
ระหว่างการปะทะกันเมื่อปีที่แล้ว ได้เริ่มมีการเจรจาหยั่งเชิงกันระหว่างรัฐบาลกับพันธมิตรฝ่ายค้าน Democratic Unity (MUD) หนึ่งในประเด็นต่างๆ ของข้อตกลงก็คือความจำเป็นที่จะต้องบรรจุตำแหน่งที่ว่างมายาวนานใน TSJ และ CNE ให้เต็ม และหาผู้เข้ามาแทนที่สมาชิกสามคนของ “อำนาจเชิงคุณธรรม” ซึ่งจะหมดวาระในสิ้นปีนี้ น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้เริ่มดำเนินการให้สอดคล้อง และโอกาสที่จะลดความตึงเครียดกับฝ่ายค้านได้เสียไปแล้ว ถ้าหากว่าตัวแสดงในระดับภูมิภาคไม่เตรียมพร้อมที่จะดำเนินการให้แข็งขันขึ้น การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2015 นี้น่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงอีกยกหนึ่งมากกว่าที่พวกเขาจะเข้ามาสู่รัฐสภาที่ถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง
* * *
ภาพที่ปรากฏขึ้นมาจากการสำรวจความขัดแย้งเหล่านี้ดูน่ากลัว อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังริบหรี่อยู่อย่างหนึ่ง การแบ่งแยกที่เพิ่มมากขึ้นบนโลกนี้ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า ยังไม่มีรอยแยกบนโค้งฟ้าเบื้องบน ถึงแม้วิกฤตที่ล้ำลึกระหว่างรัสเซียและตะวันตกจะทำให้ยุโรปวุ่นวาย ชิ้นส่วนสุดท้ายของสงครามเย็นกำลังจะหายไปขณะที่คิวบาและสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเข้าสู่ภาวะปกติ ความขัดแย้งส่วนใหญ่ในขณะนี้สามารถจัดการได้ด้วยส่วนที่ดีของพวกเขาเอง แต่การเพิ่มบทบาทของมหาอำนาจในภูมิภาค ขณะที่การเพิ่มความซับซ้อนและความเป็นปฏิปักษ์กันในบางกรณีกลับเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดชั้นเชิงการทูตที่สร้างสรรค์มากขึ้น
นี่ไม่ใช่เวลาที่ “มหาอำนาจเก่า” จะทำการตัดทอน แต่พวกเขาต้องยอมรับว่า การสร้างสันติภาพที่ประสบความสำเร็จในปี 2015 นี้ จะต้องขึ้นอยู่กับการทำงานของนานาประเทศที่ในวงกว้างขึ้นมากกว่าที่พวกเขาเคยมีในอดีต
source : http://foreignpolicy.com
แปล/เรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์