สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อ “ถูกใส่ร้าย”

2719

ถ้าหากทุกคน พูดทุกเรื่องที่อยากพูด แล้วหลังจากนั้นก็ปล่อยให้คนอื่นไปหาเหตุผล หรือ หลักฐานเพื่อปฏิเสธเรื่องที่พูดกันเอง โลกนี้ก็คงไม่เหลืออะไรให้พิสูจน์ได้นอกจาก ข่าวลือ และ การแอบอ้าง ดังนั้นไม่วาจะเป็นกฎในศาสนา กฎในอิสลาม กฎทางตรรกะ กฎที่ใช้ในทุกๆ ศาลของโลก ทุกกฎเกณฑ์ล้วนวางเงื่อนไขไปทางเดียวกันนั่นคือ หากจะอ้างอะไร จะกล่าวหา จะตัดสินใคร ต้องกระทำด้วยหลักฐาน และใช้เหตุผล เพราะถ้าหากไม่ทำอย่างนั้น ผู้กล่าวหาก็จะถูกตัดสิน หรือดำเนินคดีเสียเองว่า”ให้การเท็จ” หรือ “พูดเรื่องไร้สาระที่หาอะไรมายืนยันเป็นแก่นสารไม่ได้”

สมมติว่า ใครสักคนมาด่าคุณ เขากล่าวหาคุณว่า คุณเป็นขโมย หรือ โกหก มันจำเป็นไหมที่คุณต้องพิสูจน์ว่าคุณไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา คุณสามารถยกทุกคำพูดที่ผ่านมาในชีวิตของคุณทั้งหมดมาพิสูจน์ ว่าคุณไม่ได้โกหก ไม่ได้ขโมยหรือเปล่า หรือว่า คนที่ต้องพิสูจน์คือคนที่เขากล่าวหาคุณ ???

การกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสี เป็นเรื่องที่เลวร้าย มีเหตุการณ์มากมายที่ยืนยันถึงพิษร้ายของมัน ทั้งเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557 ชาวจีนคนหนึ่ง ชื่อนาย อู๋ เหว่ยชิง ขี่รถ จยย. ไปพพบชายชราคนหนึ่งนอนล้มอยู่กลางถนน ซึ่งดูเหมือนเขาจะถูกรถชน นายอู๋จึงจอดรถรุดเข้าไปช่วย รีบพาชายชราคนนั้นไปคลินิก พร้อมออกเงินค่ารักษาให้เป็นจำนวน 3500 หยวนด้วยตัวเอง แต่หลังจากนั้น 2 วัน ครอบครัวของชายชรากลับกล่าวหานายอู๋ว่า เป็นผู้ขับรถชนเอง และเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนหลายแสนหยวน นายอู๋ผู้ทำคุณบูชาโทษโปรดสัตว์ได้บาป ไม่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองได้ จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แล้วศพก็ลอยอยู่ในสระน้ำไม่กี่ชั่วโมงต่อมา[1] นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลที่รุนแรงของการใส่ร้ายป้ายสี เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าทุกคนพร้อมใจกันขอหลักฐาน จากผู้ที่กล่าวหา และพิสูจน์ก่อนตัดสิน

ปัจจุบัน ข้อกล่าวหาและคำถามมากมายทั้งที่มาจากศัตรูของคุณ และผู้ไม่หวังดี ปรากฏให้เห็นทุกวินาที ทั่วทุกมุมโลก เป็นแสนๆล้านเรื่อง ทุกๆวันเราจะเห็นการใส่ร้ายป้ายสีมากมายเกิดขึ้นบนสังคมออนไลน์ บ้างก็เกิดขึ้นกับคนดังในสังคม บ้างก็เกิดขึ้นกับศาสนาบางศาสนา บ้างก็เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง ฉะนั้น จริงๆแล้ว คนที่ต้องพิสูจน์และนำหลักฐานมายืนยันไม่ใช่คุณ แต่เป็นคนที่กล่าวหาคุณ ยกเว้นบางครั้งเท่านั้น

ในอิสลามเรามีคำสอนจากอัลกุรอ่านที่กล่าวว่า “การฟิตนะฮ์ร้ายแรงกว่าการฆ่า” ฟิตนะฮ์ หมายถึง การใส่ร้ายป้ายสี การกล่าวเท็จต่อผู้อื่น ใครกระทำสิ่งนี้ ก็เหมือนกับ เขากำลังฆ่าคนๆหนึ่ง ทว่า มันร้ายแรง และหนักหนวกกว่าการฆ่าเสียด้วยซ้ำ เพราะการใส่ร้ายป้ายสี คือ การทำลายคนๆหนึ่ง ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ การทำให้คนๆหนึ่งเสียหาย เขาอาจจะไม่สามารถอยู่ในสังคมเดิม สถานะเดิม หรือ ทำงานที่ตนเคยทำได้ เพราะเรื่องไม่จริงที่ถูกกล่าวหา และอันที่จริงสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนาเสียหายก็เป็นเพราะฟิตนะฮ์เหล่านี้ รัฐบาลบางประเทศเสื่อมอำนาจ คนไม่ศรัทธา ก็เพราะการใส่ร้ายป้ายสี

ดังนั้นเมื่อใดที่คุณต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ เหนือสิ่งอื่นใด จงขอหลักฐานที่ชัดเจน และเหตุผลที่เพียงพอจากฝ่ายตรงข้ามเสียก่อน ถ้าฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตอบคำถาม หรือ นำหลักฐานมายืนยันได้ ก็เท่ากับพิสูจน์ว่า เรื่องที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่ความจริง และเมื่อต้องเผชิญหน้า จงใส่ขันติ และความใจเย็นลงไปในจิตใจ ตัวอย่างหนึ่งจากประวัติศาสตร์ ที่ขอยกมาคือเรื่องราวของ ฮะซัน บุตร อาลี หลานชายของศาสดามูฮัมมัด(ศ)

วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านอิมามฮาซัน (อ) กำลังเดินทาง ท่านได้พบกับชาวซีเรียคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่เกลียดชังวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) หรือครอบครัวของศาสดา ชายคนนั้นได้บริภาษด่าทอ และลบหลู่ดูหมิ่นท่านอิมามฮาซัน (อ) อย่างมากมาย แต่ท่านก็ยังวางเฉยมิได้ตอบโต้เขาแต่ประการใด จนกระทั่งเขาหยุดไปเอง เมื่อเขาหยุดแล้ว ท่านกลับจึงยิ้มแล้วพูดกับเขาหลังจากที่ได้กล่าวสลามว่า

“โอ้ท่านผู้อาวุโส ฉันเชื่อแน่ว่าท่านต้องเป็นคนที่มาจากต่างถิ่นถ้าหากท่านจะขออะไรจากเรา เราก็ยินดีที่จะมอบให้ท่าน หรือถ้าหากท่านจะขอคำชี้แนะจากเรา เราก็จะให้การแนะนำแก่ท่าน หรือถ้าหากว่าท่านหิว เราก็จะเลี้ยงดูท่านจนอิ่มหนำ และถ้าหากท่านไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ เราก็จะให้เสื้อผ้าแก่ท่านเพื่อจะได้สวมใส่ และถ้าหากท่านเป็นคนเดือนร้อนเราก็จะให้ท่านมีอย่างเพียงพอ หรือถ้าหากท่านเป็นคนที่ถูกขับไล่ไสส่งมาเราก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ และถ้าหากท่านมีความจำเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็จะช่วยเหลือปลดปล่อยให้แก่ท่านได้”

ชาวซีเรียได้ยินเช่นนั้น จึงเกิดความอาย รู้สึกตกใจ เพราะเขาคิดว่า ท่านจะด่ากลับมาในทันที แต่เขากลับต้องแปลกใจในคำตอบที่ได้รับเช่นนี้[2] สิ่งที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับท่านว่าเป็นคนไม่ดีต่างๆนาๆถูกลบล้าง โดยการแสดงมารยาทที่ดีงาม และขันติธรรมของท่าน ด้วยการเจอกันเพียงครั้งเดียว บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่า การใช้ขันติธรรม และความสงบใจรับมือกับ การใส่ร้ายป้ายสี คือ สิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยคลี่คลายแก้ปัญญา และรับมือกับสถานการณ์เบื้องต้น

ในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายตรงข้ามนำหลักฐานมายืนยันได้ ก็ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริง หากผิดจริงจงยอมรับ และแก้ไข แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น จงอธิบายความจริง และยืนหยัดในสิ่งที่เป็นจริง บางครั้งเราถูกสาดโคลน เปลืองตัวเพราะข้อครหาต่างๆนาๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อถูกป้ายสีแล้ว เราจะปล่อยให้คนป้ายไป โดยไม่ได้ทำสิ่งใดเลย ดังนั้นจงรับมือผู้กล่าวหา อย่างใจเย็น และจงให้ฝ่ายที่กล่าวหาคุณ พิสูจน์เสียก่อน เพื่อไม่ให้ใครเอาเปรียบคุณ และนี่คือวิธีหนึ่งในการขจัดการใส่ร้ายในสังคม

[1] http://news.sanook.com/1394251/

[2] บิฮาร เล่ม 43 หน้า 344