ใครคือ “พวกสายกลาง” ที่วอชิงตันสนับสนุนในซีเรีย?

สหรัฐฯ ส่งเงินหลายร้อยล้านดอลล่าร์ให้พวกเขา และพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็กำลังให้การสนับสนุนพวกเขาอยู่ แต่ใครกันแน่ที่เป็น “พวกสายกลาง” ในซีเรีย และพวกเขาจะหลีกเลี่ยงการถูกดูดเข้าสู่ลัทธิสุดโต่งที่กำลังยึดที่มั่นอยู่ในตะวันออกกลางได้อีกนานแค่ไหน?

3057

(ภาพ) นักรบ FSA เข้าที่กำบังจากการยิงของกองทัพซีเรีย ในตำบลอีซาอฺ เมืองอาลิปโป ซีเรีย เมื่อวันพุธที่ 12 กันยายน 2012


 

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศทำ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน โดยใช้การกล่าวต่อที่ประชุมร่วมของสภาคองเกรสและประชาชนชาวอเมริกัน เพื่อเรียกร้องให้โลกอยู่ข้างอเมริกาหรือจะเผชิญหน้ากับผลสะท้อนที่จะตามมา เกือบ 14 ปีหลังจากนั้น ตะวันออกกลางและโลกยังคงเป็นสถานที่ที่อันตรายและไม่มั่นคงมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน

“สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของเราเริ่มต้นกับอัล-กออิดะฮ์ แต่มันจะไม่จบแค่ที่นั่น” บุชกล่าว “มันจะไม่จบจนกว่ากลุ่มก่อการร้ายทั่วโลกจะถูกค้นพบ ถูกหยุด และถูกกำจัดไป”

ขณะที่สหรัฐฯ มองการต่อสู้ส่วนใหญ่ของพวกเขาว่าเป็นความชอบธรรมและสมเหตุสมผล ยังมีคนอีกมากมายที่โต้แย้งว่าการก่อการร้ายและอิสลามสายสุดโต่งถูกใช้ให้เป็นเบี้ยในเกมที่มหาอำนาจยังคงเล่นต่อไป

มัรวา อุสมาน นักวิเคราะห์การเมืองและอาจารย์บรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเลบานอนในกรุงเบรุต บอกกับสำนักข่าวว่า “ตะวันออกกลางได้พัฒนาเข้าสู่การต่อสู้ที่รุนแรงหลายลำดับ ความรุนแรงเช่นนั้นสามารถสืบกลับไปถึงสหรัฐฯ และนโยบายต่างประเทศที่ขาดความรับผิดชอบได้โดยตรง”

“ข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่กลุ่มต่างๆ เช่น ไอซิซ (รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย) ในซีเรียมีความแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นการบอกกล่าวที่ชัดเจนเกี่ยวกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกา หลายคนอาจจะกล่าวว่า การก่อการร้ายได้กลายเป็นเครื่องกำบังที่ให้ความสะดวกแก่ลัทธิจักรวรรดินิยม”

แท้จริงแล้ว สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกาได้ขยายออกไปไกลเกินกว่าที่ใครจะสามารถทำนายได้ จากชายหาดของลิเบียไปถึงปากีสถาน และทั่วทั้งซีเรีย อิรัก และเยเมน กองทัพสหรัฐฯ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายที่ตัวเองได้ขึ้นป้ายไว้ว่าเป็นศัตรูของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีเรีย ที่ได้เป็นเวทีกลางสำหรับการต่อสู้ทางใจที่ขมขื่นและซับซ้อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีการนำการสงครามแบบไม่สมมาตรมาใช้และใช้ในทางที่ผิดเพื่อเอื้อแก่ผลประโยชน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ เป็นการเลี้ยงกลุ่มหัวรุนแรงมากกว่าที่จะเป็นการทำลายมัน

เมื่อใดก็ตามที่สหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ผ่านความช่วยเหลือทางการทหารหรือการพัฒนาทางการทหาร ในปากีสถาน ลิเบีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีเรีย การก่อการร้ายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

วิลเลียม อิงดาล นักวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองผู้ได้รับรางวัล และที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ ได้กล่าวกับนักข่าวเมื่อเดือนตุลาคม และเรียกยุทธศาสตร์ของอเมริกาในซีเรียและในวงกว้างของภูมิภาคว่าเป็นการตบตาทางการเมือง เขายืนยันว่าวอชิงตันเพียงแค่ใช้การก่อการร้ายมาเป็นอาวุธสงครามชิ้นใหม่เท่านั้น

“พวกเขา (รัฐบาลสหรัฐฯ) ล้มซัดดัม ฮุซเซน ฮุสนี มุบารักในอียิปต์ พวกเขาก่อให้เกิดคลื่นการปฏิบัติอาหรับสปริงขึ้นทั่วโลกอาหรับเพื่อจัดการโครงการในภูมิภาคนี้ใหม่ทั้งหมดเพื่อความได้เปรียบในตำแหน่งทางการทหารของสหรัฐฯ เมื่อเผชิญหน้ากับจีนและรัสเซีย เป็นมูลฐานสำคัญ” อิงดาลบอกกับนักข่าว

ถึงแม้จะมีคำเตือนมากมาย แต่การให้ทุนแก่ซีเรียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในเดือนมิถุนายน 2012 มีรายงานว่ากระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ จัดสรรเงิน 15 ล้านดอลล่าร์ เพื่อเป็น “ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธ” ให้แก่กลุ่มต่อต้านในซีเรีย พร้อมกับให้เครื่องมือทางการทหารที่ประกอบไปด้วยปืนยาว ฐานยิงจรวดต่อต้านรถถัง และเครื่องกระสุนอื่นๆ

ในเดือนเมษายน 2013 สหรัฐฯ ยืนยันว่าตั้งโครงการมูลค่า 70 ล้านดอลลลาร์ขึ้นในจอร์แดน “นั่นเป็นการฝึกซ้อมกองกำลังพิเศษของจอร์แดน เพื่อระบุและป้องกันที่ตั้งของอาวุธเคมีทั่วซีเรีย ในกรณีที่รัฐบาลล่มและฝ่ายกบฏอาจจะยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยว” ตามที่มีรายงานใน The Economist ในเดือนเดียวกันนั้น คณะบริหารของโอบาม่ายังได้ให้สัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านในซีเรียเพิ่มเป็นสองเท่า ทำให้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 250 ล้านดอลล่าร์

กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Coalition) ยืนยันในเดือนนี้ว่า กลุ่มตนได้รับเงิน 6 ล้านดอลล่าร์โดยตรงจากสหรัฐฯ เนื่องการความพยายามในการทำสงครามต่อต้านประธานาธิบดีบาชารฺ อัสซาด

ขณะที่ตะวันออกกลางได้กลายเป็นตัวต่อที่กระจัดกระจายของวาระแห่งการต่อสู้และเกมทางการเมือง ซีเรียถูกปล่อยให้มอดไหม้ไปกับเปลวไฟของลัทธิสุดโต่งที่เผยแพร่โดยนักรบไอซิซ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านที่สหรัฐฯ หนุนหลัง – ซึ่งวอชิงตันอ้างเอาเองว่าเป็น “พวกสายกลาง”- หาทางที่จะโค่นล้มการปกครองของอัสซาด

สี่ปีที่เข้ามาอยู่ในขบวนการอาหรับสปริง รูปพรรณสัณฐาน มูลเหตุจูงใจ และเจตนารมณ์ของบรรดาผู้ที่วอชิงตันได้ร่วมต่อสู้ด้วยเพื่อล้มอัสซาด ยังคงถูกบดบังอยู่ในหมอกควัน คำถามหนึ่งยังคงรบกวนใจบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองอยู่ต่อไปก็คือ ใครคือ “พวกสายกลาง” ของซีเรียที่ว่านั้น เหมือนกับกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army) ที่วอชิงตันได้ปล่อยเงินให้ไปหลายล้านดอลล่าร์หรือเปล่า?

 

จิ๊กซอว์ซีเรีย

ด้วยต้องการที่จะกล่าวซ้ำคำจารึกของเขาที่จะมองผ่านการโค่นล้ามอัสซาดในซีเรีย ประธานาธิบดีโอบาม่าได้อธิบาย “นโยบายสงคราม” ของอเมริกา –หรือบางคนอาจเรียกว่า กลอุบาย- ในซีเรียระหว่างการปิดการปราศรัยของเขาในที่ประชุมของนาโต้เมื่อเดือนกันยายน และในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า

“ในอิรักและซีเรีย ผู้นำในอเมริกา รวมทั้งผู้มีอำนาจในทางทหารของเรา กำลังหยุดการรุกคืบของไอซิล แทนที่จะทำให้เกิดสงครามขึ้นอีกแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง เราจะนำไปสู่แนวร่วมที่กว้างขึ้น ประกอบไปด้วยชาติอาหรับต่างๆ เพื่อลดระดับและทำลายกลุ่มก่อการร้ายนี้ลงในที่สุด” โอบาม่ากล่าวในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 20 มกราคม

“เรายังให้การสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านที่เป็นสายกลางในซีเรียด้วย ซึ่งจะช่วยเราได้ในความพยายามนี้ และช่วยเหลือประชาชนจากทุกแห่งที่เผชิญหน้ากับแนวคิดไร้ศีลธรรมของกลุ่มหัวรุนแรง… และข้าพเจ้าขอเรียกร้องต่อสภาคองเกรสแห่งนี้ให้แสดงให้โลกเห็นว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกันในภารกิจนี้ ด้วยการผ่านมตินี้ เพื่อให้อำนาจในการใช้กำลังกับไอซิล”
คำพูดของเขาระบุถึงการสนับสนุนของวอชิงตันต่อ “ฝ่ายต่อต้านสายกลางในซีเรีย” ทำให้เกิดการถกเถียงกันและเปิดทางไปสู่การแบ่งแยกขนานใหญ่

ผ่านไปสี่ปีแล้วนับตั้งแต่ชาวซีเรียออกมาสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้สิ้นสุดการปกครองของอัสซาด และกระแสทางการเมืองของประเทศกลับมืดดำและแปรเปลี่ยนได้ยากยิ่งขึ้น บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสมาชิกสภาแห่งชาติซีเรีย (Syrian National Council – SNC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ ให้การสนับสนุนความพยายามในการปฏิวัติของพวกเขา ได้เคลื่อนเข้าสู่ความสับสนของวาระการต่อสู้ต่างๆ เสียงของพวกเขาจมไปด้วยเสียงกลองแห่งสงครามและความจริงทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ SNC ใฝ่ฝันที่จะเปลี่ยนแปลงซีเรียจากระบอบประธานาธิบดีที่มีอำนาจเด็ดขาดมาเป็นรัฐพลเรือนสมัยใหม่ด้วยความราบรื่นเท่าที่สามารถเป็นไปได้ แต่อุดมคติเหล่านั้นถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยกองทหารอาสาสมัครในภาคสนาม ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ธงของกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army) ที่ได้ต่อสู้แบบประจันหน้ากับกองกำลังติดอาวุธซีเรีย

ถ้าเสียงเรียกร้องเพื่อเสรีภาพของซีเรียเมื่อปี 2011 ถูกเปล่งออกมาเพื่อให้บรรลุตามความใฝ่ฝันที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังนี้ ความรุนแรง การปราบปรามของรัฐ และฝ่ายต่อต้านติดอาวุธ ได้ชักนำการปฏิวัติของซีเรียเข้ามาสู่เส้นทางสายอันตรายเสียแล้ว ซึ่งลัทธิการแบ่งแยกนิกายและลัทธิสุดโต่งได้เพิ่มความมืดมัวเข้าไปอีกหลายชั้น

“หลังจากสองปีแห่งการทำสงครามแบ่งแยกนิกายที่โหดร้ายและป่าเถื่อน ความวุ่นวายในซีเรียกลับยิ่งเพิ่มทัศนคติในการแบ่งแยกนิกายหนักยิ่งขึ้นในฝ่ายต่อต้านอัสซาดและการปกครองของเขา ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่มาจากนิกายอาลาวีที่เป็นชนกลุ่มน้อย” จามี เด็ตต์เมอร์ เขียนใน Daily Beast เมื่อเดือนกันยายน

“พวกเขา (นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย) ถูกทำให้หวาดกลัวด้วยนักรบญิฮาดและความโหดร้ายของพวกเขาที่เพิ่มมากขึ้น มีความกังวลต่อความแข็งแกร่งของฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรงในกลุ่มนักรบชนบทที่เป็นกำลังหลักของกองทหารอาสาสมัคร”

 

ใครคือพวกสายกลาง?

Syria-FSA-Mideast-Syria-Inside-_OCo-800x533

(ภาพ) นักรบจากกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (ซ้าย) และหน่วยพิทักษ์ประชาชนชาวเคิร์ด (YPG) (กลาง) รวมกำลังกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนักรบของรัฐอิสลามในเมืองโคบานี ซีเรีย นักรบชาวเคิร์ดที่ได้รับการหนุนหลังด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงที่นำโดยสหรัฐฯ ได้ผลักดันกลุ่มรัฐอิสลามออกไปจากเมืองโคบานีของซีเรียได้เกือบทั้งหมดเมื่อวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2015 ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่สำหรับกลุ่มหัวรุนแรงที่หวังว่าจะเอาชนะได้อย่างง่ายดาย แต่กลับต้องตกอยู่ในการรุมล้อมที่นองเลือดและสิ้นเปลือง ที่ดูเหมือนใกล้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้


 

“ผมคิดว่ามีความคิดที่ดีเยี่ยมอยู่ช่วงหนึ่งว่าใครคือพวกสายกลาง มีกลุ่มสายกลางจริงๆ ที่กำลังสนับสนุนการแก้ปัญหาของซีเรียแบบประชาธิปไตยด้วยการเจรจาอยู่ภายนอกซีเรีย พวกเขามีอำนาจโน้มน้าวภายในประเทศหรือเปล่าตอนนี้?” แกรี่ แกรปโปกล่าวกับสำนักข่าว เขาเป็นอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำโอมาส และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวอชิงตัน ซึ่งเป็นกลุ่มนโยบายตะวันอกกลางที่อยู่ในวอชิงตัน

จากข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ต่อสู้กับการก่อการร้าย (Combating Terrorism Center) ของปี 2013 มีกลุ่มต่อต้านติดอาวุธประมาณ 1,200 กลุ่มในซีเรีย ที่มีอำนาจบังคับบัญชานักรบประมาณ 80,000 ถึง 320,000 คน “สภาทหารสูงสุดแห่งกองทัพปลดปล่อยซีเรีย(Supreme Military Council of the Free Syrian Army -SMC) ได้ให้ตัวเลขประมาณการณ์ของจำนวนนักรบทั้งหมดในกลุ่มตนที่ผันผวนอย่างมาก เมื่อเดือนมิถุนายน 2013 นายพลอิดริสอ้างว่าบัญชาการนักรบ 80,000 คน แต่หลายวันต่อมา ตัวแทนของ SMC ยืนยันว่าตัวเลขที่แท้จริงคือ 320,000 คน” รายงานดังกล่าวระบุ

หลายกลุ่มเป็นกลุ่มเล็ก และปฏิบัติการอยู่ในระดับท้องถิ่น แต่ปรากฏตัวเลขเท่ากับกองกำลังที่แข็งแกร่งด้วยผู้เข้าร่วมทั่วประเทศ และจัดตั้งขึ้นเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอื่นๆ ที่มีวาระร่วมกัน ในบรรดากลุ่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือกลุ่มสภาทหารสูงสุดแห่งกองทัพปลดปล่อยซีเรีย (SMC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมกับกลุ่มย่อยที่มีแนวคิดแบบ “มุสลิมหัวรุนแรง” ที่แข็งแกร่ง เช่น กองพลน้อยนักรบพลีชีพแห่งซีเรีย, กองพลน้อยพายุภาคเหนือ และกองพลน้อยอาห์ราร์ ซูรียา

เอลิซาเบธ โอบากี เขียนในรายงานที่ส่งให้สถาบันเพื่อการศึกษาสงครามเมื่อเดือนมีนาคม 2013 โดยอธิบายว่า SMC หรือที่เรียกว่า FSA มีสมาชิก 30 กลุ่ม แบ่งเป็นห้า “แนวร่วม” แต่ละแนวร่วมจะมี 6 กลุ่ม ในซีเรีย ได้แก่ ภาคเหนือ (อาลิปโป และอิดลิบ), ภาคตะวันออก (ร้อกกอ, ดีรอล-ซูรฺ และฮัซซากา), ภาคตะวันตก (ฮามา, ลาตาเกีย และทาร์ทุส), ภาคกลาง (ฮุมส์ และรัสตัน) และภาคใต้ (ดามัสกัส, ดารออฺ และสุวัยดา)

ขณะที่ FSA พยายามที่จะยืนยันว่าตัวเองเป็นผู้นำขบวนการที่โอบากีเรียกว่าเป็นแนวร่วมแบบหลวมๆ แต่ดูเหมือนจะชัดเจนว่ากองพลน้อยที่เป็นแนวร่วมกับ SMC หรือ SFA ยังคงรักษาอัตลักษณ์ วาระ และอำนาจบังคับบัญชาของตนไว้ บางส่วนทำงานร่วมกับกลุ่มที่มุสลิมเช่น อาห์ราร์ ชาม และกลุ่มนักรบญิฮาดที่มีความเชื่อมโยงกับอัล-กออิดะฮ์

ทั้งๆ ที่มีคำถามมากกว่าคำตอบเกี่ยวกับคำว่า “พวกสายกลาง” แต่โอบาม่าก็ยังตั้งใจที่จะสูบฉีดเงินราวห้าร้อยล้านดอลล่าร์ไปในการเสริมอาวุธและฝึกฝนบรรดานักรบกบฏสายกลางที่กระทำการเพื่อขับไล่อัสซาด ผู้ซึ่งวอชิงตันระบุมานานแล้วว่าเป็นผู้นำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อุสมาน ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่า “ปัญหาก็คือ การจะทำให้กองทัพปลดปล่อยซีเรีย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มต่างๆ ที่กระจัดกระจายและไม่ถูกกัน มาเป็นกองกำลังที่มีความสามารถในการต่อสู้ไม่เฉพาะกับกองทัพของอัสซาด แต่กับไอซิซด้วยนั้น จำเป็นจะต้องใช้ความพยายามในการทำสงครามอย่างยิ่ง ซึ่งต้องมากกว่าเงินไม่กี่ล้านดอลล่ารห์และการฝึกซ้อมทางการทหารอีกมากนัก” อุสมาสเป็นอาจารย์บรรยายสาขาวิชาการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่ขบวนการสุดโต่งในตะวันออกกลาง

เธอกล่าวต่อไปว่า “FSA ขาดความสามัคคีทางการเมืองและการเป็นผู้นำ ที่อันตรายยิ่งกว่าก็คือ พวกเขาไม่สนใจอะไรเลยเกี่ยวกับประชาธิปไตย ความใฝ่ฝันของพวกเขาเป็นแนวเดียวกันกับไอซิซมากกว่าที่มหาอำนาจตะวันตกจะสนใจยอมรับ หรือเต็มใจยอมรับเรื่องนั้น”

อับดู รูมานี นักเขียนบล็อกที่อยู่ในดามัสกัสกล่าวว่า การที่ซีเรียตกลงมาอยู่ภายใต้ลัทธิสุดโต่งก็เป็นเพราะตัวชาวซีเรียเอง ขณะที่กลุ่มต่างๆ พยายามที่จะส่งเสริมการได้อำนาจของตนเองแทนที่จะทำงานเพื่อความฝันที่จะมีอิสรภาพของชาวซีเรีย

รูมานีได้อธิบายกับสำนักข่าวว่า ประเทศของเขาเกิดความวุ่นวายด้วยปัญหาของการแบ่งแยกทางนิกายและชาติพันธุ์ เพราะถูกทรยศจากผู้นำ SNC ที่ไม่มีคุณธรรม และในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจาก “สายกลาง” เป็นปีกของสายสุดโต่ง

“เรานิยามคำว่าพวกสายกลางในขณะนั้นจากความสามารถของพวกเขาในการริเริ่มวิสัยทัศน์ที่ดีกว่าภายหลังการปกครองของอัล-บาธในซีเรีย ซีเรียเปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่ปี 2011 และการนิยามคำว่าพวกสายกลางของเราก็เปลี่ยนไปมากด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มนักรบญิฮาดหรือพวกแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด หลายคนอาจมองดูแนวร่วมแห่งชาติซีเรีย(Syrian National Coalition) และกองทัพปลดปล่อยซีเรีย(Free Syrian Army) ที่ตะวันตกหนุนหลังแล้วทึกทักเอาว่าคนเหล่านี้เป็นพวกสายกลาง แต่พวกเขาไม่ใช่” รูมานีกล่าว

“ฝ่ายต่อต้านที่ตะวันตกหนุนหลังมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากต่อการบิดเบือนแนวทางของขบวนการประท้วงในช่วงแรก และจึงทำให้มันล้มเหลว” รูมานีกล่าวเสริมถึงการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของผู้ประท้วงแต่เริ่มแรกที่ถูกกลืนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการทำลายความหวังในการปฏิรูปประเทศไป

“ขบวนการนั้นพบทางตันมานานก่อนที่รัฐบาลจะกดดันมัน มันจบไปตั้งแต่ที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่หันเข้าสู่ความรุนแรงทางการเมืองและลืมไปว่าทำไมพวกเขาจึงออกมาประท้วงกันในตอนแรก”

สี่ปีในการปฏิวัติของซีเรีย ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า “พวกสายกลาง” ของซีเรียเป็นอะไรอื่นที่ไม่ใช่สายกลาง แต่ถึงกระนั้น ชาติประชาธิปไตยตะวันตกภายใต้การนำของอเมริกาก็ยังคงพากันสนับสนุนการต่อสู้ขับไล่อัสซาดของพวกเขาอยู่ ด้วยเหตุที่อัสซาดถูกชี้ตัวว่าเป็นเป้าหมายดั้งเดิม เงินหลายล้านดอลล่าร์จึงยังคงถูกอัดฉีดให้กับกองทหารอาสาฝ่ายกบฏของซีเรียต่อไป

เหมือนอย่างที่ Dettmer เขียนไว้ว่า “ทหารอาสาส่วนใหญ่ที่มีรูปแบบการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จอย่างมากมายในการสู้รบกับไอซิซนั้น ไม่เป็นสายกลางตามมาตรฐานของตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นพวกมุสลิมหัวรุนแรงในระดับต่างๆ”

 

ความผิดพลาดในอดีตและวาระแอบแฝง?

เมื่อมองดูซีเรียต่อสู้กับอิสลามสายสุดโต่งแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ดึงไปเปรียบเทียบกับอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อทั้งคู่มีตัวประกอบเหมือนๆ กันคือ สหรัฐฯ และการก่อการร้ายประชาชนทั้งสองชาติได้เห็นเพื่อนร่วมชาติตกเป็นเหยื่อของลัทธิสุดโต่ง ถูกขายไปกับลัทธิก่อการร้ายที่ทำลายล้างชุมชนที่เคยหนาแน่น และทำลายทุกอย่างที่เป็นความสามัคคีในชาติที่พวกเขาเคยมีร่วมกัน และเพียงแค่บรรดาขุนศึกตกอยู่ภายใต้การโน้มน้าวของตาลีบันแห่งอัฟกานิสถาน พวกสายกลางของซีเรียก็เปลี่ยนความจงรักภักดีไปให้กับกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันกับอัล-กออิดะฮ์เสียแล้ว

“ด้วยการที่ไม่มีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน หรือแนวคิดที่แน่นอนที่จะผูกพันกองพลน้อยของกองทัพปลดปล่อยซีเรียที่กระจัดกระจายให้แน่นแฟ้น บรรดานักรบจึงละทิ้งหน้าที่เพื่อไปเข้ากับคู่แข่งที่มีเงินทุนดีกว่าอย่างต่อเนื่อง เช่นจับฮาตุน-นุสรอ (แนวร่วมนุสรอ) และไอซิซ คู่ปรับของมัน” รูมานีกล่าวเน้น

ลีธ ฟาเดล นักหนังสือพิมพ์ของสำนักข่าวอัล-มัสดาร์ นิวส์ รายงานเมื่อ 9 มกราคมว่า นักรบปลดปล่อยซีเรีย 3,000 คน ละทิ้งหน้าที่หันไปหาไอซิซ ฟาเดลยังกล่าวถึงความเสียหายของกลุ่มย่อยต่างๆ ในกองทัพปลดปล่อยซีเรีย ซึ่งเลือกที่จะแยกทางกับกลุ่มต่อต้านนี้

โทนี่ คาร์ทาลุชชี่ นักวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมือง ได้เขียนในรายงานของ New Eastern Outlook เดือนนี้ว่า
“มีรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า ‘กบฏสายกลาง’ ประมาณ 3,000 คนของ ‘กองทัพปลดปล่อยซีเรีย’ ได้หันไปเข้ากับ ‘รัฐอิสลาม’(ไอซิซ) แม้ว่าจะไม่ใช่ครั้งแรกที่ ‘พวกสายกลาง’ ได้ข้ามไปหาอัล-กออิดะฮ์ หรือไอซิซ อย่างเปิดเผย แต่มันเป็นครั้งหนึ่งของการข้ามไปที่มีจำนวนมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้น

นักรบเหล่านี้จะนำเอาอาวุธ เงินสด อุปกรณ์ การฝึกซ้อมไปกับพวกเขาด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มาจากซาอุดิอารเบีย กาตาร์ สหรัฐฯ อังกฤษ และบางทีที่น่าเย้ยหยันที่สุดหลังการโจมตีก่อการร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นในปารีส ก็คือฝรั่งเศส ที่จริงแล้ว แนวรบของไอซิซและอัล-กออิดะฮ์ขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเครือข่ายของ “การกวาดล้างการก่อการร้าย” ที่มีเล่ห์เหลี่ยมนี้ ซึ่งมีแต่จะทำให้มันเจริญเติบโตขึ้นเท่านั้น”

ลักษณะที่เหมือนกันระหว่างซีเรียและอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้สนับสนุนที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นของอิสลามสายสุดโต่ง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมทั้งวิลเลียม อิงดาล ตั้งคำถามถึงจุดมุ่งหมายของวอชิงตันในภูมิภาคนี้ อิงดาลได้ตั้งสมมุติฐานไว้ว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกา ที่แท้แล้วอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานแบบจักรวรรดินิยมของอเมริกาในตะวันออกกลางก็ได้

“รายละเอียดที่รั่วไหลออกมาทำให้เข้าใจว่า ไอซิซ และ ‘ความแปรปรวน’ ทางทหารที่สำคัญในอิรัก –และในซีเรียประเทศเพื่อนบ้าน- ถูกกำหนดและควบคุมมาจากกองประจำการของซีไอเอและเพนตากอนในแลงลีย์ เวอร์จีเนีย และที่อื่นๆ เพื่อให้เป็นเวทีถัดไปในการแพร่กระจายความสับสนวุ่นวายในรัฐที่มีน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก นั่นก็คืออิรัก รวมถึงเพื่อความพยายามที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับเสถียรภาพของซีเรียในปัจจุบัน” อิงดาลเขียนเมื่อเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม แกรปโป อดีตเอกอัครราชทูตสหัฐฯ ประจำโอมาน ไม่เห็นด้วย เขายืนยันว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับข้อตกลงแอบแฝงและปฏิบัติการมืดเหล่านี้ไม่มีเนื้อหาที่เชื่อถือได้ และเขายืนกรานว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ให้เงินทุนกับพวกสุดโต่งทั้งๆ ที่รู้ เพื่อแสดงเจตนาทางการเมืองของตนในดามัสกัส โดยเขาได้บอกกับสำนักข่าวว่า

“มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือน้อยมากที่จะสนับสนุนการกล่าวอ้างนั้น (ว่าวอชิงตันกำลังใช้การก่อการร้ายมาเป็นอาวุธที่ไม่สมมาตรในสงคราม) การเผยแพร่ของคณะกรรมมาธิการตรวจสอบของสภาคองเกรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีรายงานเรื่องการทรมาน รวมทั้งการสนับสนุนอันน้อยนิด ทำให้แม้แต่พวกสายกลางในที่นี้ ก็ยากมากที่จะเชื่อการกล่าวอ้างเช่นนี้”

ทว่าแกรปโปก็ยอมรับว่ามีความผิดพลาดทางยุทธวิธีและความพลั้งเผลอเกิดขึ้น “อาวุธ และ/หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ส่งให้กับพวกสายกลาง กลับไปตกอยู่ในมือกลุ่มอื่นโดยผ่านการปฏิบัติงานที่หละหลวม พวกสายกลางเก่าที่ได้หันไปเข้ากับกลุ่มหัวรุนแรงในภายหลัง หรือการจัดการที่ไม่ชำนาญของผู้ประสานงานของพวกสายกลางก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่น่าจะเป็นอย่างนั้น” เขาระบุ

“คำว่า ‘ความก้าวหน้าทางการเมือง” มันอ่อนและล้าสมัย แนวทางปฏิบัติ (ที่คงอยู่ได้แม้จะเสี่ยง) สำหรับสหรัฐฯ ก็คือการสนับสนุนพวกสายกลาง ซึ่งมันไม่ได้ทำอย่างมีประสิทธิภาพเลยจนถึงปัจจุบัน ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่สมเหตุสมผลอื่นใดอีกแล้วต่อการดำเนินการตามนโยบายสหรัฐฯ”

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ยังคงถกเถียงกันด้วยข้อกล่าวหาและตอบโต้ข้อกล่าวหา การหมุนดิ่งลงและความยุ่งเหยิงของซีเรียก็ดำเนินต่อไป มันยังคงเปิดให้มีการถกเถียงกันว่า ใครที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการโอนอำนาจให้นี้

 

 

By

Source http://www.mintpressnews.com

แปลเรียบเรียง กองบก.เอบีนิวส์ทูเดย์