ข้อบกพร่องของประชาธิปไตยเสรีนิยม

6372

ขงเบ้งกล่าวว่า “ฉลาด แต่เข้าข้างคนผิด ชีวิตก็บัดซบ ฉลาด แต่เข้ากับใครไม่ได้ ก็ไร้ประโยชน์ ฉลาด แต่ขาดคุณธรรม ไม่ทำให้ใครเจริญ”

อาจไม่ใช่คำพูดที่สรุปข้อบกพร่องของเสรีนิยมประชาธิปไตยทั้งหมด แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องได้ส่วนหนึ่ง แผ่นส่วนหนึ่งของโลกในวันนี้ ปกครองด้วยระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือ ประชาธิปไตยเสรีนิยม และหลังคอมมิวนิสต์ล่มสลาย บางส่วนก็เริ่มทยอยกันไปใช้ระบบปกครองนี้ ทั้งที่สมัครใจ หรือ ไม่สมัครใจก็ตาม การขยับครั้งนี้ของโลก ทำให้นักคิด นักเขียน นักทฤษฎีการเมืองมากมายพากันเรียกยุคนี้ว่า “ยุคแห่งระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม” ซึ่งหนึ่งในผู้สนับสนุนระบบนี้ คือ ฟรานซิส ฟูโกยาม่า เจ้าของทฤษฎี The End of History And The Last Man ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวของฟูโกยาม่า และทฤษฎีของเขาในบทความฉบับที่แล้วชื่อ “อวสานของประวัติศาสตร์ กับ มนุษย์ยุคสุดท้าย” นักรัฐศาสตร์คนนี้ กับ คนกลุ่มหนึ่ง พยายามนำเสนอโฆษณาว่า “สังคมประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นสังคมที่เพอร์เฟคที่สุด และไม่มีสังคมไหนที่จะมอบความพึงพอใจ และสมบูรณ์แบบได้เท่า ประชาธิปไตยเสรีนิยม”และบทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามว่า สิ่งที่จอมยุทธสำนัก Liberalism อ้างมาเช่นในข้อความนี้ นั่นคือ liberal democracy ไร้ข้อบกพร่อง และสมบูรณ์เพียบพร้อมจริงหรือไม่ ?? เราจะนำทฤษฎีที่ผู้ผลิตจากภาคตะวันตก นำเสนอมาให้โลกยอมรับ มาขึ้นตราชั่งแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ กันในบทความนี้

ความหมายของคำว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย

ก่อนอื่นต้องอธิบายคำศัพท์กันเล็กน้อย คำว่า Liberal Democracy เป็นคำที่สื่อความหมายได้หลากหลาย หากผู้พูดไม่ได้อธิบายความหมายให้ผู้ฟังอย่างชัดเจนว่าเขากำลังสื่อถึงอะไร ผู้ฟังอาจเข้าใจผิด ดังนั้น  ผู้ฟังจะต้องทำความเข้าใจความหมายของสองคำนี้เสียก่อน

คำว่า Democracy และการพัฒนาของระบบนี้

เดโมเครซี่ เป็นคำที่ประกอบมาจากคำสองคำ คือ Domos(ประชาชน) กับ Kratein(การปกครอง) รวมกันก็จะให้ความหมายว่า “ระบบการปกครองโดยประชาชน หรือ ระบบการปกครองของประชาชน” โดยการนิยามคำว่า Democracy นั้น มีทั้งนิยามที่กว้าง และนิยามที่แคบ โดยนิยามที่กว้างที่สุดของคำๆนี้ คือ วิธี/วิถีการใช้ชีวิตของคนส่วนมาก/ส่วนรวม ที่ทุกๆคนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และมีอิสรเสรีภาพในการใช้โอกาส อย่างเท่าเทียมกัน” คำว่า มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ครอบคลุมถึงกิจกรรมทางการเมือง แต่กระนั้นก็ตาม ในวงการการเมือง Democracy ให้บทบาท ประชากร หรือ พลเรือน ในการมีส่วนร่วมอย่างเสรี ในเรื่องของการตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่งในการเมืองเท่านั้น หลังจากนั้น การตัดสินใจทั้งหมด จะถูกมอบอำนาจให้แก่องค์กร/พรรค/กลุ่มที่ประชาชนเลือกขึ้นมา ภาพในมุมนี้ Democracy มีบทเฉพาะชีวิตทางการเมืองของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” และสะท้อนถึงสังคมการเมืองที่ค่านิยมของสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความนิยม ความชอบ/เกลียด ของสังคม

จุดเริ่มต้นของ Democracy ย้อนกลับไปสมัยกรีก(โดยตรง) และ โรมยุคโบราณ(ประชาธิปไตยทางอ้อม) และ Democracy เวอร์ชั่นใหม่ ย้อนกลับไปยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา[1](Renaissance)และ การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ของสังคมหลังจากยุคนี้ เช่นการปฏิวัติอังกฤษ ในปี ค.ศ.1688 เรียกอีกชื่อว่า การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์[2](Glorious Revolution)  ซึ่งปรากฏแนวคิดว่า “ชาวอังกฤษควรมีสิทธิ และเสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกัน และอำนาจของสภา ต้องอยู่เหนืออำนาจกษัตริย์   และการปฏิวัติ ปี ค.ศ.1776 ในสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดแนวคิด สัญญาประชาคม (Social contract) อันนำไปสู่การตั้งระบบประธานาธิบดี โดยมี จอร์จ วอชิงตัน เป็นคนแรก แต่ละเหตุการณ์ที่ยกมาคือ ส่วนประกอบสำคัญที่เร่งการถือกำเนิดประชาธิปไตยแบบใหม่  แน่นอนการปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ.1789 โดยการสร้างสโลแกน Democracy เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คือสิ่งที่สิ่งเสริมความมั่นคงให้ประชาธิปไตยแบบใหม่อีกจุดหนึ่ง

เหตุการณ์เป็นไปในสภาพนี้จนเข้าสู้ศตวรรษที่ 20 หลักการประชาธิปไตย ถูกรณรงค์นำมาใช้ในหลายประเทศทางตะวันตก เช่น การมอบสิทธิการออกเสียงของสตรี ในปี ค.ศ.1917 นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่งระบบนี้ก็มีนักคิด นักปรัชญาฝั่งตะวันตก คอยพัฒนาอัพเกรดประชาธิปไตยอีกด้านหนึ่ง และช่วยกันอุดช่องโหว่อีกด้าน ซึ่งบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในด้านนี้ ได้แก่ จอห์น ล็อก(John Locke1632-1704) มงแต็สกีเยอ (Charles-Louis de Secondat, baron de La Brède et de Montesquieu1689-1755) ฌองฌาครุสโซ (Jean Jacques Rousseau 1712-1778)

ในอีกด้านหนึ่ง การเสนอแนวคิด “สิทธิตามธรรมชาติ”[3]  ซึ่งต่างจากความเชื่อของศาสนาคริสต์ ที่ว่า มนุษย์มีหน้าที่ต่อพระเจ้า ความคิดนั้นถูกเปลี่ยนเป็น “มนุษย์เป็นเจ้าของสิทธิของตนเอง และไม่มีภารกิจของพระเจ้าใดๆสำหรับมนุษย์” ขสิทธิตามธรรมชาติเข้ามาแทนที่และอธิบายถึงที่มาของสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์มีว่ามีที่มาจากธรรมชาติ ไม่ใช่พระเจ้า (เช่น ความคิดว่า มนุษย์มีสิทธิมีชีวิต ไม่ใช่เพราะชีวิตของมนุษย์มาจากพระเจ้า แต่เพราะชีวิตของมนุษย์มาจากธรรมชาติ ดังนั้น มนุษย์จึงมีสิทธิมีชีวิตตามธรรมชาติ) ทั้งสามประการ ได้แก่ นานาการปฏิวัติในช่วงศตวรรษที่ 17-20, การอัปเกรดประชาธิปไตยของนักปรัชญาตะวันตก และการเผยแพร่แนวคิดที่ส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตย คือ เหตุสำคัญที่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยมีบทบาทในการสร้าง และก่อรูป ทุนนิยม สังคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาความมั่นคงให้ระบอบประชาธิปไตย

ในด้านหนึ่ง ประชาธิปไตย แบบที่คนทั่วไปรู้จัก คือแบบที่เน้นการมีเสรีของปัจเจก, การเลือก, การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง, เสียงส่วนมาก, หรือ เสียงของประชาชน อาจเรียกว่า ประชาธิปไตยเสียงส่วนมาก หรือ ประชาธิปไตยแบบคลาสสิก ซึ่งมีความเสี่ยง และความเป็นไปได้ที่จะเกิดระบบการกลั่นแกล้งคนส่วนน้อย และสร้างมาตรฐานความเป็นมนุษย์ที่ต่ำกว่าให้แก่คนส่วนน้อย  โดยระบบการปกครองจะถูกออกแบบ ไปตามความต้องการของคนส่วนรวม และจะเกิดกระบวนการในการสร้างกฎหมายที่ทำให้ ความกังวลใจของคนส่วนมากหายไป ในด้านสิทธิของปัจเจก รัฐบาลจะถูกปรับให้สามารถดำเนินนโยบาย ไปตามความปรารถนาของเสียงข้างมาก และเฝ้าระวังอำนาจที่อาจเป็นอันตราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสร้างความเสี่ยงให้แก่รัฐบาล ซึ่งในบทวิจารณ์ต่อประชาธิปไตยแบบเสียงส่วนมากนี้ คือ “แก่นแท้ของมัน ไม่ใช่เสียงส่วนมาก แต่มันคือการแข่งขันกิจกรรม/โครงการต่างๆระหว่างพรรคการเมือง” ประชาธิปไตยในมุมนี้ มีบทเฉพาะ การเลือกผู้นำ และการตัดสินใจ ไม่ใช่การให้คุณค่าแก่ประชาธิปไตยทั้งหมด เหตุนี้สัจนิยมบางท่านจึงพูดว่า “แม้จะมีเสรีภาพ แม้จะมีการรับรู้ แม้จะมีสิทธิในการเลือกของปัจเจก และรัฐบาลเสียงส่วนมากจะเป็นเป้าหมายที่ปรารถนา กระนั้นก็ตาม การทำให้มันเกิดขึ้นจริง กลับเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างแท้จริง”[4]

ประชาธิปไตยทั้งแบบเก่าหรือแบบใหม่ แบบโบราณหรือสมัยปัจจุบัน แบบโดยตรงหรือโดยอ้อม ล้วนต้องพึ่งพิงหลักการๆหนึ่ง ซึ่งมันจะช่วยทำให้เกิดรัฐบาลแบบประชาธิปไตยขึ้นมาได้ บ้างแบ่งเป็น 5 บ้างแบ่งเป็น 12 แต่เราขอแบ่งเป็น 3 หลักการ เพราะหลักการอื่นๆแตกออกมาจากสามหลักการนี้ได้แก่ อำนาจอธิปไตยของปวงชน, กฎหมาย,เสียงข้างมากรัฐบาลแบบประชาธิปไตย จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีสามอย่างนี้ นอกจากนี้ ปฏิบัตินิยม (Pragmatism) สัมพัทธนิยม (Relativism) สัญญาประชาคม(Social contract), หลักความพอใจ, หลักความเสมอภาค, ระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ, การถ่วงดุลอำนาจ, สิทธิพลเมือง, ระบบรัฐสภา และสิ่งอื่นๆ ล้วนมาจาก หลักการแนวคิด และปรัชญาของประชาธิปไตยในวันวาน ซึ่งวันนี้มันถูกแทนที่และเสนอในภาพรวมของ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ปัญหาก็คือ เสียงข้างมากกับคุณธรรม บางครั้งก็ไม่ได้อยู่ในสายน้ำเดียวกัน และ กฎหมายจะถือว่า เสียงข้างมากสำคัญกว่าคุณธรรม

คำว่า เสรีนิยม(Liberalism)

คำว่า ไลเบอรัลลิสม์(Liberalism) = การเรียกร้องอิสระเสรี และ คำว่า ไลเบอรัล (Liberal) = การเรียกร้องเสรีภาพ เป็นคำที่มาจากคำว่า Liberteh,  Liber หมายถึง เสรี ซึ่ง Liberalism เป็นคำที่ค่อนข้างมีความหมายต่างจากความหมายทางภาษา และมีความซับซ้อนกว่า ยากที่จะนิยามด้วยคำอธิบายง่ายๆ แต่เราก็สามารถอธิบายเป็นพื้นฐานว่า เสรีนิยม เป็นการรวบกันของวิธีการ, ทัศนคติ,และแนวคิดทางการเมือง ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การอำนวย หรือ รักษาเสรีภาพของปัจเจก อย่างมีขอบเขต ตรงข้ามกับ การยึดอำนาจ หรือ การตกอยู่ในอำนาจของรัฐ หรือ องค์กรใดก็ตาม แอนโทนี่ อัรบลาสเตอร์(Anthony Arblaster) เจ้าของหนังสือ The rise and decline of Western liberalism อธิบายว่า เสรีนิยม  มีมุมมองต่อชีวิตที่คล้ายคลึงกับประสบการณ์นิยม, สงสัยนิยม(Skepticism), เหตุผลนิยม(Rationalism) และกลุ่มเรียกร้องเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิด กล่าวคือ แรงจูงใจหลักของเสรีนิยม คือ การทำให้เสรี และอิสระเกิดขึ้น สำหรับมนุษย์คนหนึ่งไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม ดังนั้นตามความเข้าใจนี้ เสรีนิยม คือ สิ่งที่ครอบคลุมแนวคิดปัจเจกนิยมเป็นอันดับแรก และในความเป็นจริง เสรีนิยม คลอดจาก ขบวนการ และกลุ่มมนุษย์นิยม ในยุคเรอเนอร์ซองค์ และเสรีนิยมเป็นศัตรูกับทุกอย่างที่ยับยั้งหรือขัดขวางเสรีของปัจเจกเป็นประการที่สอง[5] แน่นอนว่า เสรีภาพในเสรีนิยม ครอบคลุมทั้งเสรีภาพในทางลบและทางบวก อีซียา เบอร์ลิน (Isaiah Berlin1909-1997) อธิบายว่า “เสรีภาพในทางลบ หรือ เสรีภาพแบบไร้ขอบเขต หมายถึง บุคคลมีอิสระที่จะกระทำสิ่งใดก็ได้ตามที่ตนต้องการ โดยรัฐ และคนอื่นๆ ไม่มีสิทธิแทรกแซง หรือ สร้างเงื่อนไขใดๆ”[6]และนั่นคือจุดบกพร่องที่อันตรายอีกด้านหนึ่ง ที่จะส่งผลต่อสังคม เพราะเมื่อไร้การแทรกแซง ผู้คนจะสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงศีลธรรม หรือ ความพอประมาณ

จุดกำเนิดของแนวคิดเสรีนิยม

แนวคิดแบบเสรีนิยม มีรากเหง้ามาจากกรีกยุคโบราณ แต่เสรีนิยมในความเข้าใจของผู้คนในวันนี้ จะเป็นเรื่องที่ใหม่กว่า และครอบคลุมศาสนา, การเมือง, เศรษฐกิจ, แนวคิด เช่น

หนึ่ง นิยามของ แอนโทนนี่ ที่ว่า เสรีนิยม คือ ผลผลิตจาก ขบวนการปฏิรูปศาสนา และโปรเตสแตนต์รวมถึงแรงขับเคลื่อนจากการต่อต้านคริสตจักรในศตวรรษที่ 16

สอง กลุ่มปัญญาชน ในศตวรรษที่ 17 ได้นำเสนอให้ นำสติปัญญา กับ ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ มาแทนที่ วิวรณ์ และ ศาสนา และอ้างว่า  วิทยาศาสตร์ กับ ศาสนา คือ สองสิ่งที่ขัดแย้งกัน เช่นเดียวกัน ยังมีการอธิบายโลก จากคำสอน และมุมมองของโปรเตสแตนต์ หรือ ไม่ก็คนที่มีแนวคิดลักษณะคล้ายคลึงกับโปรเตสแตนต์

สาม การต่อสู้กับความเอาแต่ใจ และความกดขี่ของรัฐบาลเผด็จการ และการปฏิวัติชนที่ชั้นกลาง หรือ ชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie) ได้โค่นล้มระบอบฟิวดัล (Feudalism) หรือ ระบอบศักดินา ในศตวรรษที่ 18 โลกตะวันตกจึงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเสรีนิยมในเวลาต่อมา

ข้อคิดที่ได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์เสรีนิยม

1.มองผ่านประวัติศาสตร์แนวคิดทางการเมืองตะวันตก จะเห็นคำตอบว่า แนวคิดเสรีนิยม และอุดมการณ์ของชนชั้นกลาง ในความเป็นจริงแล้ว ก็คือ สิ่งที่เพิ่งถือกำเนิดและถูกใช้เพื่อต่อสู้กับ รัฐบาลที่มีอำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของยุโรป สิ่งนี้คือการท้าทาย “อำนาจในยุคนั้น” ที่มีต่อกฎหมายบ้านเมือง

2.เราไม่ควรมองข้ามบทบาทแนวคิด และปรัชญาของ มาร์ตินลูเทอร์(Martin Luther ค.ศ.1483-1546) และ จอห์น ล็อก (John Locke ค.ศ.1632-1704) และ รุสโซ(Jean Jacques Rousseau ค.ศ.1712-1778) ในวงการนี้ แนวคิดไลเบอรัล มักปรากฏให้เห็นในเวที เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และ วัฒนธรรม ในเวทีเศรษฐกิจ

  1. เสรีนิยม หมายถึง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ และการปกป้องสิทธิความเป็นเจ้าของของปัจเจกบุคคล และการเผยแพร่แนวคิดตลาดการค้าเสรี เสรีนิยมในความหมายนี้ ผูกติดกับ ทุนนิยม อัรบลาสเตอร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เสรีนิยม อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับทุนนิยมตะวันตก ทางด้านการพัฒนา และการเติบโต และในเวทีวัฒนธรรม เสรีนิยมให้การสนับสนุนเสรีภาพในมุมต่างๆ เช่น เสรีภาพทางความคิด และการบรรยาย ส่วนเสรีนิยมทางการเมือง หมายถึง เสรีภาพ และสิทธิของปัจเจก ในการเผชิญหน้ากับ องค์กรต่างๆทางการเมือง และเสรีนิยมในแบบสุดท้าย คือ เสรีนิยมทางศาสนา หมายถึง การสร้างรากฐานในการมีส่วนร่วม และการยอมรับความยืดหยุ่นในทางจริยธรรม[7]

4.เสรีนิยมในภาคทฤษฎี พึ่งพิงหลักการ ความเท่าเทียม ในสิทธิต่างๆ, การปฏิเสธสิทธิพิเศษทางมรดก, การปฏิเสธชนชั้นศักดินา, มนุษย์นิยม, ปัจเจกนิยม, ปัญญานิยม, การถือว่าสติปัญญาเป็นสิ่งเพียงพอ, ปัญญาเชิงวิทยาศาสตร์, ประสบการณ์นิยม, หลักวิทยาศาสตร์ต้องมาก่อน, ต่อต้านแนวคิดอนุรักษ์, พหุนิยม, พัฒนาความเชื่อ, ความเชื่อในการเลือกด้วยตนเองของมนุษย์, ความเชื่อในความดีอันเป็นรากฐานของมนุษย์และสติปัญญาของมนุษย์ ในจุดนี้ เสรีนิยม จึงอยู่ตรงข้ามกับ เอกภาพนิยม, วงจรการผูกขาด, แหล่งที่มาของความเชื่อ, การปฏิบัติตามนิยม, ความเชื่อเรื่องการกำหนดชะตากรรม, ความเชื่อเรื่องการแบ่งชนชั้น และสังคมนิยม

หลักการของเสรีนิยม

หลักการของเสรีนิยม ได้ผลิต แนวคิดเรื่อง เสรีภาพตามที่ออกแบบ, การแข่งขัน, การต้องตอบคำถามของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, ประชาธิปไตย, สภา, รัฐบาลเสียงข้างน้อย, รัฐบาลเซคูลาร์, ความยืดหยุ่น และความโอนอ่อน, การปฏิเสธความรุนแรงในพฤติกรรมของปัจเจกและสังคม และการต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบที่เสรีนิยมตัดสินว่าเป็นเผด็จการ แน่นอนว่า แก่นของเสรีนิยม คือ เสรีภาพ แต่หลักการอื่นๆนั้น โคจรไปตามวงแหวนแห่งเสรี และหลักการเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้แกนกลางของเสรีนิยมมีความมั่นคง นี่คือเสรีนิยมในภาคทฤษฎี แต่ในภาคปฏิบัติ กลุ่มเสรีนิยมไม่ค่อยปฏิบัติตามอุดมการณ์ และหลักการของตนเท่าใดนัก ส่วนที่ปฏิบัติก็ไม่ค่อยสำเร็จ และพบปัญหามากมายตามมาในภายหลังเสมอ

สามปัจจัยที่ทำให้เสรีนิยมเกิดขึ้น คือ

ปัจจัยหนึ่ง : เสรีนิยมคลาสสิก เป็นเสรีนิยมในเวทีเศรษฐกิจ ถือกำเนิดโดยการเอาแนวคิดของ อดัม สมิท มาใช้ ส่วนในเวทีอื่นๆ เช่น เวทีทางปรัชญา เสรีนิยมถือกำเนิดโดยการนำแนวคิดของ จอน ล๊อก มาใช้ กล่าวได้ว่า เสรีนิยมคลาสสิกในทางเศรษฐกิจ มั่นคงอยู่บนสมมติฐานสามประการได้แก่

ก.มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาเพื่อตนเอง

ข.มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาเพื่อตนเอง โดยจะแสวงหาสิ่งที่ตนเองได้รับผลประโยชน์เท่านั้น

ค.เพราะมนุษย์คือ ผู้แสวงหาผลประโยชน์ ดังนั้น ความพึงพอใจที่จะเห็นแก่ตัว จะต้องไม่มีพันธนาการใดๆเหนี่ยวรั้ง และจะต้องมีเสรีโดยสมบูรณ์ในการแสดงหาเพื่อตนเอง

จอห์น ล็อกได้ช่วยพัฒนาเสรีนิยม ด้วยการเสนอให้ใช้ทฤษฎีประสบการณ์นิยม,แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism), การแบ่งอำนาจ และทฤษฎีว่าด้วยขันติธรรม

ปัจจัยที่สอง : ประชาธิปไตยเสรีนิยม ได้พยายามสร้างขีดจำกัดเสรีภาพแบบไร้เงื่อนไขที่เสรีนิยมคลาสสิก ได้มอบให้มนุษย์

ปัจจัยที่สาม : นีโอไลเบอรัลลิสม์ ได้พยายาม เพื่อทำให้เกิดการยอมรับความยืดหยุ่น ในความเห็นต่างๆทางเศรษฐกิจ และสังคมเสรีนิยม โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้อุดช่องโหว่ ข้อบกพร่อง และความหนักหน่วงในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ของเสรีนิยม ทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เกิดปรากฎการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราเงินเฟ้อที่ระบาดในหลายประเทศตะวันตก วิกฤตเหล่านี้ได้สร้างความคลางแคลงให้แก่ระบบรัฐสวัสดิการอย่างหนักหน่วง  แนวคิด นีโอไลเบอรัลลิสม์ จึงถือกำเนิด เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นั่นคือ การกลับไปเผยแพร่ให้ใช้ระบบตลาดการค้าเสรี เพราะพวกเขาถือว่า ปัญหาหลักของวิกฤตการทางเศรษฐกิจของตะวันตก คือ การเข้าแทรกแซงของรัฐบาล ในเวทีเศรษฐกิจ ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า นีโอไลเบอรัลลิสม์ ถูกสรุปได้ด้วย การสร้างสิทธิพิเศษ, การลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล, การทำให้สมาคมแรงงานอ่อนแอลง, เสรีภาพทางเศรษฐกิจ, การลดภาษี, การจำกัดและรัฐบาลขนาดเล็ก

บทวิพากษ์เสรีนิยม ประชาธิปไตย

การวิพากษ์วิจารณ์ “ประชาธิปไตย” ย้อนกลับไปสมัย ประชาธิปไตยทางตรงของกรีกโบราณ เพลโต และ อริสโตเติล คือ สองคนแรกที่หยิบยกเรื่องประชาธิปไตยมาวิพากษ์วิจารณ์ พวกเขาปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนต้องได้รับการอบรม และมีความรู้เพียงพอ เพื่อใช้ในการปกครอง ในขณะที่ประชาธิปไตยไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะทุกคนมีความรู้ไม่เท่ากัน ซึ่งบางส่วนก็บอกว่า ประชาธิปไตยยุคนั้น กับประชาธิปไตยยุคนี้  ไม่เหมือนกัน ในมุมมองของศาสนาอย่างคริสต์ดั้งเดิม และอิสลามบริสุทธิ์ มองว่า การปกครองมนุษย์นั้น จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้ปกครองที่มีความยุติธรรมที่สุด ไม่ใช่ใครก็ได้ แน่นอนว่า มรดกเลือดของทั้งสองศาสนา และภาพสะท้อนของการขึ้นเป็นผู้ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น ราชวงศ์อับบาซิยะฮ์ และ อุมัยยะฮ์ หรือ IS (ยังไม่ได้ตั้งรัฐ) ในวันนี้ ช่างห่างไกลจากการปกครองแบบศาสดา และห่างไกลจากปัญญา ความรู้ และความยุติธรรม

ทั้งมาร์กซ์ และ ฟรีดริช เองเงิลส์ (Karl Marx ค.ศ.1818-1883 และ Friedrich Engels ค.ศ.1820-1895) ได้วิจารณ์ระบบประชาธิปไตย แบบเสรีนิยมคลาสสิก และเสรีนิยมประชาธิปไตยไว้อย่างดุดัน พวกเขาเรียก ระบบนี้ว่า ประชาธิปไตยของมวลชน(People’s Democracy) หรือกล่าวอีกแบบหนึ่ง คอมมิวนิสต์ เรียกระบบประชาธิปไตยว่า เป็นระบบที่นำคนชนชั้นแรงงาน มาขึ้นเป็นผู้ปกครอง หลังจากนั้น กลุ่มแนวคิดหลังยุคนวนิยม(Post – Modernism)ก็ออกมาท้วงติง ความสำเร็จในยุคสมัยปัญญาชน เช่น ประชาธิปไตย, เสรีนิยมคลาสสิก และเสรีนิยมประชาธิปไตย เดเนียลเบลล์ (Daniel Bell) นักสังคมวิทยา มองว่า ยุคหลังยุคนวนิยม  หรือ Post-modernism คือยุคแห่งการละเมิด วัฒนธรรม modernism , การเมือง Democratic , เศรษฐกิจแบบทุน และค่านิยมทางศาสนา

เสรีนิยมประชาธิปไตย ในยุคสมัยปัจจุบัน ถูกเรียกว่า ระบบใหม่ หรือ เสรีนิยมระดับโลก  กำลังเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น กล่าวคือ โลกถูกจัดระเบียบใหม่ ในช่วงปี 80 และถูกยกให้เป็นระดับโลกในปี 90 โดยการใช้แนวคิด เสรีนิยม อเล็กซิส เดอ โทคูอิล (Alexis de Tocqueville) เคยทำนายเมื่อร้อยปีก่อนว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย จะมีพัฒนาการไปในระดับหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า มนุษย์ตะวันตก จะพัฒนาความคิด และระบอบการเมือง ไปสู่ความสมบูรณ์ของสติปัญญา และการเจริญทางความคิด หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “The End of History” และเพราะเหตุนั้น พวกเขาจึงสามารถใช้เครื่องมือหนัก เครื่องมือเบา ขนย้ายแนวคิดนี้สู่สังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก มาเผยแพร่ได้ 

ฟูโกยามา เคยพูดว่า “มนุษย์ในวันนี้ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องยอมรับ เสรีนิยมประชาธิปไตยเท่านั้น” ทว่าภายใต้ความโกลาหล เสียงของกลุ่มชนที่เห็นต่างในหลากหลายประเทศ ก็ดังขึ้นมากมาย อาจจะกล่าวได้ว่า หลายประเทศอยากพัฒนา แต่ไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในประเทศของตนเอง เพราะการยอมซื้อ เสรีนิยมประชาธิปไตยในปัจจุบัน ก็เท่ากับต้องยอมรับ การอยู่ใต้อำนาจของประเทศมหาอำนาจ บางประเทศยอมรับแนวคิด แต่ปรับเปลี่ยน แก้ไข ระบบการปกครองให้เหมาะสมกับประเทศตนเอง ลึกๆพวกเขารู้ดีว่าการโอบกอดเสรีนิยมประชาธิปไตย คือ การโอบกอดปีศาจเงิน และความวิกฤติเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศตนเองเริ่มออกห่างจากความยุติธรรม ในเวลาเดียวกัน เพราะ เสรีนิยมประชาธิปไตย ที่พัฒนาไปสู่สิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการจัดระเบียบโลกใหม่นั้น จะสร้างเมืองที่ขาดการปฏิบัติ และการทำความเข้าใจในความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม”

เฟรด ดัลเมยัร(Fred Dallmayr)  อธิบายว่า “สังคมลักษณะนี้ จะสูญเสียหลักการ และพื้นฐานที่จำเป็น ที่จะต้องใช้กับเมืองแห่งการเมือง เพราะเป็นเช่นนั้น ระบบนี้จึงเผชิญกับ วิกฤติทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมอยู่เสมอ”[8] เหตุผลอาจเป็นเหตุผลเดียวกันที่ฟูโกยามาพูดว่า “อาจไม่มีแนวโน้มในทางที่ดีจากการเผยแพร่แนวคิด เสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่า การพัฒนาโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย จะมีจุดสิ้นสุด ไม่ใช่หรือ?” ความจริงแล้ว การทำนายของฟูโกยามา ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ต้องเผชิญกับปัญหาที่ยิ่งเพิ่ม และทวีคูณเข้าไปทุกวัน ดังนี้

1.ปัจเจกนิยมสุดโต่ง

หนึ่งในลักษณะเด่นของระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย คือ แนวคิดปัจเจกนิยม บางครั้งอาจเป็นปัจเจกนิยมแบบสุดโต่ง เพราะ ในสังคมไลเบอรัล หญิงและชาย แต่ละบุคคล ที่ต่างใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้ จะใช้ชีวิตเป็นเอกเทศน์ และแยกจากกัน ภายใต้สภาวะปกติ ท้ายที่สุด การเชื่อมต่อระหว่างกันภายใต้ระบบนี้ ไม่ได้ทำให้แก่นของการไม่เชื่อมต่อระหว่างกันเกิดขึ้น แต่วาระทางสังคม และการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกัน จะเกิดขึ้นเมื่อปัจเจกมีผลประโยชน์ต่อกัน ด้วยเหตุนี้ วาระ หรือ กิจกรรมใดๆ จึงเป็น “เครื่องมือ” ที่มีไว้เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ และองค์กรทางการเมือง องค์กรทางเศรษฐกิจ และองค์กรทางวัฒนธรรม จะวางมาตรฐานและความชอบธรรม เพื่อสร้างผลประโยชน์ของปัจเจก โดยมองการสร้างปัจจัยให้ปัจเจกได้รับผลประโยชน์  จะเกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาแห่งเสรีภาพเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การกระทำใดก็ตามที่เป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพ หรือ ทำให้เสรีภาพ ไม่มั่นคง(เสรีภาพในที่นี้หมายถึง การกระทำของปัจเจกเพื่อไขว่คว้า หรือ แสวงหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ) การกระทำนั้นจะถูกปฏิเสธ และปัดให้ตกไป

ในมุมนี้ สามารถวิพากษ์ได้ว่า ภายใต้สถานการณ์ปกครอง มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ทางวัตถุเพียงด้านเดียว ทว่าบางครั้งพวกเขาก็ต้องการผลประโยชน์ทางจิต และวิญญาณเช่นเดียวกัน เหตุผลเพราะธรรมชาติของมนุษย์ประกอบด้วยวัตถุ และ จิต ดังนั้น ความต้องการของพวกเขาจึงมีทั้งสองด้าน ความสนใจขององค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบทางสังคม จึงไม่ได้มีแค่ด้านวัตถุ หรือ ด้านโลกีย์ ที่ทำให้การคุ้มครองผลประโยชน์ทางวัตถุมีความชอบธรรม แต่จะต้องให้ความสำคัญทางด้านจิตไม่แพ้กัน เช่นเดียวกัน องค์กรทางสังคม ก็ไม่ได้เร่งรัดให้เกิดเสรีภาพอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็เชื่องช้า อย่างน้อยสิ่งที่เราสามารถกล่าวได้ถึงองค์กรทางสังคม ก็คือ การกระตุ้นระบบข้าราชการ(Bureaucracy) ขององค์กรเหล่านี้ ทำให้กระบวนการในการแสวงหาผลประโยชน์เชื่องช้าลง

2.ผลประโยชน์สาธารณะไม่มีความหมาย

ในเสรีนิยมประชาธิปไตย ผลประโยชน์สาธารณะ คือ สิ่งที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยให้กำเนิด (การเลือกตั้ง) มันขึ้นมา บางกรณี เสรีนิยม อาจใช้นิยมของรุสโซยืนยันถึงผลประโยชน์ของสังคม ทั้งๆที่ตัวของรุสโซเอง ก็ยอมรับความต่างระหว่าง ผลประโยชน์สาธารณะกับ ผลประโยชน์ส่วนร่วม ดังนั้นในข้อนี้เราอาจวิพากษ์ได้ว่า ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย เป็นระบอบที่พัฒนาผลประโยชน์ในรูปแบบจำเพาะ หรือ เกี่ยวพาดกับสาธารณะ ซึ่งการทำให้ความต้องการเกิดขึ้น อาจไม่สมเหตุสมผล เป้าหมายของเสรีนิยมประชาธิปไตย คือ การรองรับการแสวงหาผลประโยชน์ให้มากที่สุด และกฎเกณฑ์เดโมเครติก การเลือกตั้ง ก็คือ เครื่องมือเพื่อนำพาผู้คนให้ไปถึงผลประโยชน์เหล่านั้น

 

ศ.ดร.แอนดรูว์เลวิน(Andrew Levine) นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย แมรี่แลนด์ อธิบายว่า ความหมายของ ผลประโยชน์สาธารณะที่เสรีนิยมประชาธิปไตยนำมาใช้ ค่อนข้างเป็นสิ่งคลุมเครือ คำว่า สาธารณะ ของเสรีนิยม หมายถึง การรวมกันระหว่างปัจเจก ในขณะที่ความหมายของคำว่า “รวม” หรือ “หมู่” หมายถึง “สมาชิกแต่ละคนในสังคม” คำว่า สาธารณะ  กับ คำว่า รวมจึงแตกต่างกัน เพิ่มเติมคือ ความหมายของคำว่า “ผลประโยชน์” ก็เกิดมาจากการดึงเอาปัญญาในทางปฏิบัติ ซึ่งมันเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น หรือในอีกทางหนึ่ง ปัญญาถูกนำมาใช้เป็นทาสของอารมณ์[9]

3.การปล่อย ไม่ใช่เสรีภาพ

ในบทหนึ่ง แอนดรูว์ เลวิน ปฏิเสธการนิยามความหมายของคำว่า เสรีภาพ ที่ถูกนำเสนอในฐานะแกนของเสรีนิยมประชาธิปไตย เสรีภาพ Freedom ที่เราเข้าใจ ไม่ใช่ เสรีภาพที่เป็นหัวใจของเสรีนิยม เขาไม่เข้าไปวิเคราะห์คำว่า เสรีภาพโดยตรงๆ เพราะเขาเชื่อว่า เสรีภาพเองก็ถูกตีความ และอธิบาย ในนิยามที่แตกต่างมากมาย ในสภาพเช่นนี้ เลวิน พยายามปรับคำนิยามที่หลากหลายของคำว่า เสรีภาพ ในเสรีนิยมประชาธิปไตย ให้เข้ากันได้ และคำนิยามว่าเสรีภาพใน แนวคิดเสรีนิยมคือ “การไร้สิ่งกำจัดที่บังคับไม่ให้แสวงหาสิ่งที่เป็นเป้าหมาย” ดังนั้น นิยามที่ดีที่สุด ในการอธิบายคำว่า เสรีภาพ ในความคิดของพวกเขา คือ การปล่อยให้บุคคล ไร้การคุกคาม และถูกปล่อยให้กระทำสิ่งใดก็ได้ที่ต้องการ หรือ วางเป้าหมายไว้ แต่ความจริง การได้มาซึ่งผลประโยชน์ของปัจเจก ไม่ได้มาเกี่ยวกันกับการต้องมีเสรีภาพมากขึ้นของพวกพวกเขาเลย [10]เพราะอย่างที่เราทราบกันดี สังคมไร้รัฐ หรือ สังคมกลับคืนสู่ธรรมชาติอันไร้ขื่อแป ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้อิสระ เสรีของปัจเจก เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ และไม่มีวันเป็นเช่นนั้น หรือ อย่างน้อย สังคมเช่นนี้ก็จะขยับตัวเคลื่อนที่ช้าเหมือนเต่า ดังนั้น การแสวงหาผลประโยชน์ให้ปัจเจกเพียงด้านเดียวนั่นแหละ คือสิ่งที่ทำให้การแสวงหาเป้าหมายของพวกเขาเอง และผู้อื่นๆ ถูกกำหนดอยู่ภายใต้การจำกัด และมีขอบเขต อธิบายง่ายๆคือ การปล่อยให้คนแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองได้เต็มที่ อย่างไร้ขอบเขต คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ ต้องกำจัดขอบเขต และวางกฎเกณฑ์เพื่อรักษาสมดุลไว้

3.การได้คนไม่ดีมาเป็นตัวแทน

ในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ผู้บริหารการปกครอง ได้รับเลือกจากเสียงของประชาชนเท่านั้น ซึ่งคำว่า ได้รับเลือกจากเสียงข้างมาก ไม่ได้ครอบคลุมคำว่า เราได้คนดีมาเป็นผู้ปกครอง และมันยังไม่ได้หมายความว่า เราได้คนดีมีศีลธรรมมาบริหารบ้านเมือง มีสองปัญหาจะปรากฏขึ้น จากวิธีการนี้ ประการแรกคือ ถ้าประชาชนเลือกได้คนไม่ดี ไร้ศีลธรรมมา หรือไร้ความรับผิดชอบ สังคมจะดิ่งลงสู่หายนะ ซึ่งถ้าถามสติปัญญา ปัญญาของมนุษย์ย่อมไม่ยอมรับ กับวิธีการนี้ และเพราะเหตุนี้กระมัง เราจึงยอมรับว่า ประชาธิปไตย คือ ระบบที่เลวน้อยที่สุด ประการที่สองคือ ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง มีน้อยคนที่เหมาะสมอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาเรามักเห็นผู้สมัครที่มีเงินทอง และอิทธิพลอยู่ก่อนแล้ว และพวกเขาสามารถใช้เงินเพื่อโฆษณาเลือกตั้ง และคนดีก็มักจะโชคร้ายที่ไม่ค่อยมีเงินติดกระเป๋า หรือ อำนาจ มากเท่าใดนัก

4.โฆษณาชวนเชื่อสาธารณะ

การสร้างเสียง หรือ การดึงดูดเสียงของประชาชน โดยโฆษณา คือ หนึ่งในข้อบกพร่องใหญ่ของเสรีนิยมประชาธิปไตย ประชาชนมักถูกหลอกลวงด้วยนโยบาย และคำสัญญาที่ทำไม่ได้ หรือ ไม่ได้ทำเสมอ ปัญหาจึงกลายเป็นว่า เสียงอันนั้น ไม่ใช่เสียงของประชาชนอย่างแท้จริง หรือ เสียงอันนั้นเป็นของประชาชนในช่วงเริ่มแรก แต่ไม่ใช่เสียงของพวกเขาในเวลาต่อมา ปัญหานี้สนับสนุนประโยคสำคัญของ รุสโซ ที่กล่าวว่า “เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชาติหนึ่งประชาชาติจะเสื่อมไปเสียทั้งหมด แต่เป็นไปได้ที่คนส่วนมากของประชาชาตินั้นจะหลงผิด หากเป็นเช่นนั้น ชาติก็จะแสวงหาที่เป็นผลเสียต่อตัวเอง” ในความเป็นจริงแล้ว มีสามปัญหาใหญ่ต่อการโฆษณาชวนเชื่อเกิดขึ้น ปัญหาแรก คือ การได้มาซึ่งเสียงของประชาชนสามารถกระทำด้วยวิธีการใดก็ได้ ปัญหาที่สองคือ เป้าหมายของการโฆษณาคือการเก็บเกี่ยวอำนาจทางความคิดของผู้สนทนา แบบทันทีทันใด โดยไม่ไตร่ตรองให้ถ่องแท้เสียก่อน และปัญหาที่สาม คือ ในเวทีการแข่งขันเลือกตั้ง ผู้ชนะอาจเป็นผู้ที่มีความสามารถในการโฆษณาได้มากกว่าผู้อื่น[11]

5.วิกฤติการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมั่นคงอยู่บนระบบตัวแทน มีช่องว่างระหว่างระยะการเลือกตั้ง กับระยะการทำงาน และผู้เลือก จะอยู่ห่างจากกงล้อแห่งอำนาจ หมายความว่า การมีองค์กรทางการเมือง หรือ พรรคทางการเมือง คือ สิ่งที่อยู่ระหว่างอำนาจกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นไปได้ว่า ประเด็นนี้ อาจทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองลดน้อยลง หรือ อาจทำให้เกิดความไม่แตกต่างของผู้ออกเสียง แน่นอนว่า วิกฤตินี้อาจเลวร้ายยิ่งกว่าในทศวรรษปัจจุบัน เพราะการพัฒนาด้านการสื่อสารในยุคสมัยปัจจุบัน ควบคู่กับการรู้ทัน และความฉลาดขึ้นของผู้คน ทำให้ความไร้ความสามารถของรัฐบาลเป็นที่เปิดเผยมากขึ้น จึงทำให้การลดการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้น้อยลงของประชาชนถูกผลักดันให้มีมากยิ่งขึ้น จนเหลือเพียงแค่การเลือกว่าใครจะเป็นตัวแทน

6.ความเหลื่อมล้ำ

จอฺฮ์น รอวเลส์(John Rawls) นักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน และผู้เผยแพร่ทฤษฎีความยุติธรรม เชื่อว่า ในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย มีความเลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และสังคมปรากฏอยู่ การลบความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมนี้ออกไปจาก Liberal Democracy เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสาวกของระบบศรัทธาว่า ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียม คือ สาเหตุที่ทำให้เกิด “การต่อสู้ การแข่งขัน” และมันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ อำนาจ และ เงิน เพิ่มขึ้น แล้วผู้เจริญรอยตาม Liberal Democracy ก็จะไม่พูดว่า การเพิ่มอำนาจ และความร่ำรวยอันเกิดมาจากการแข่งขัน ทำให้ความยากจนลดลง, ทำให้ความยุติธรรมเบ่งบาน[12] ความกระอักกระอ่วนนี้ถูกแทนที่ด้วยวาทะกรรมอย่าง Freedom เสมอ

7.การจำกัดขอบเขตของอิสระ เสรีภาพ

ความต่างระหว่าง ประชาธิปไตยแท้ กับ ประชาธิปไตย Liberal คือ ประชาธิปไตย Liberal มุ่งเน้นในการกำจัดขอบเขตของอิสระ อย่างไร้เงื่อนไข ในด้านนี้ประชาธิปไตยจึงถูกแบ่งออกเป็นสองด้าน คือ ประชาธิปไตยที่มีเสรีแบบไร้เงื่อนไข กับแบบมีเงื่อนไข ประชาธิปไตยแบบไร้เงื่อนไข คือ ระบบการปกครองอิสระที่ได้มาด้วยเสียงของประชาชน และการทำสัญญาหรือเงื่อนไขใดๆ จะไม่เกิดขึ้นนอกจากความปรารถนาของประชาชน ประชาธิปไตยเช่นนี้ คือ ประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตกในปัจจุบัน เสรีภาพแบบนี้ คือ เสรีภาพที่หมายถึงการละทิ้งเงื่อน หรือ ข้อผูกมัดใดๆของมนุษย์ และศาสนา เสรีภาพแบบนี้เองที่เป็นตัวจำกัดขอบเขตของเสรีภาพที่แท้จริง เพราะการปล่อย ไม่ได้หมายถึง เสรีภาพ อันที่จริงแล้ว การควบคุมมนุษย์ให้ดำรงอยู่ในกรอบศีลธรรม ถูกทำให้ดูอึดอัด เพราะมันดันไปขัดกับคำว่าเสรีภาพ  แน่นอนว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่เสรีภาพที่ดีคือเสรีภาพที่มีเงื่อนไข มีข้อผูกมัด ทั้งฟูโกยาม่า และ ฮันติ้งตัน ต่างก็ต้องมาแก้ปัญหาความเข้าใจอันนี้ ก่อนที่พวกเขาจะบรรยายปัญหาของเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยเฉพาะสังคมอเมริกา พวกเขาต้องแก้ไขเรื่อง เสรีภาพนี้ให้ลงตัว พวกเขามีทัศนะว่า คำว่าเสรีนิยม ในความเข้าใจของตะวันตก หมายถึง เครื่องมือที่มอบให้อิสระให้กับการกระทำที่ครอบคลุมทั้งการก่ออาชญากรรม และความเข้าใจนี้ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น เครื่องมือที่ทำให้มนุษย์ พัฒนา และไปสู่ความสมบูรณ์

8.ความขัดแย้งกันระหว่าง เสรีภาพ กับ ความเท่าเทียม

ความขัดแย้งกันระหว่างเสรีภาพ กับ ความเท่าเทียม เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ปรากฏในแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย และปรัชญาการเมืองตะวันตก ปัญหาก็คือ ถ้าหากทุกคนเท่าเทียม เสรีภาพจะเป็นอันตราย เพราะ การสร้างระบบให้เกิดความเท่าเทียม จำเป็นต้องได้รับการแทรกแซงจากรัฐบาล โดยให้รัฐบาลเข้ามาจำกัดขอบเขตชีวิตของปัจเจก และยับยั้งเสรีภาพบางประการของพวกเขา ในทางกลับกัน ถ้าหากให้ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพ  ความเท่าเทียมก็จะถูกกลืนกิน คงเหลือไว้แต่ความเท่าเทียมทางการความเป็นคน เพราะการให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากเสรีภาพ เพื่อแสวงหาความร่ำรวย หรือ อำนาจ เสรีภาพนั้นก็จะไปขัดขวางกระบวนการสร้างความเท่าเทียมระหว่างกัน ตรงนี้เองที่เสรีนิยมไม่สามารถแก้ปัญหาได้

 

9.ปัญหาของความ “เท่าเทียม”

ในแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ความเท่าเทียม เป็นสิ่งที่มีความหมายคลุมเครือ และมีสองด้าน ด้านที่เท่าเทียม กับด้านที่เท่าเทียมแบบไม่เท่าเทียม ในแนวคิดประชาธิปไตยเชิงการเมือง ทุกคนมีเสรีภาพ มีเสียงเท่ากัน และเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งผู้บริหารรัฐบาล นั่นคือด้านเท่าเทียมที่เท่าเทียม แต่ในประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจ ทุนนิยมมีเสรีภาพที่ไม่มีข้อผูกมัด หรือ เงื่อนไขใดๆ ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากทุกอุปกรณ์ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ซึ่งมันจะเกิดรูปแบบทางชนชั้นคือ คนรวย และคนจน หรือก็คือ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ในความเป็นจริง ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจลึกและร้าวกว่าความความไม่เท่าเทียมทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยในเชิงการเมือง หลักการเท่าเทียมเป้าหมายที่หลักแห่งเสรีภาพพลีเพื่อมัน แต่ในประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจ หลักแห่งเสรีภาพคือสิ่งทำให้หลักแห่งการเท่าเทียมต้องเสียสละตัวเอง

10.ทุนปกครองคน

ปัญหาอีกประการที่ยังคงเรื้อรังในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ก็คือ เรื่องของทุน สิ่งที่ปกครองมนุษย์อย่างแท้จริงในขณะนี้ คือ นายทุน และผลประโยชน์ของพวกเขา ไม่ใช่ความยุติธรรมทางสังคม และความพยายามเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่มนุษย์ และมันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรม ความไม่มั่นคงในชีวิตทางสังคมตะวันตกเกิดขึ้น

 

11.จริยธรรม และศีลธรรมทางสังคมที่เบาบางและอ่อนแอ

ความรู้สึกที่ต้องรับผิดชอบ หรือมีหน้าที่ คือ สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของสังคม หนึ่งในสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ คือ จริยธรรม และ ศีลธรรม มันคือลักษณะพิเศษของสังคมมนุษย์ ที่แตกต่างจากสังคมของสัตว์ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตในรูปแบบสังคม และความพยายามของเขาก็ถูกกระทำเพื่อปกป้องสังคม แต่ในแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย หากไม่นับมุมการเมือง แนวคิดนี้ได้ทำให้ความรู้สึกรับผิดชอบ หรือ มีหน้าที่ต่อสังคม อ่อนแอลง ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือ วัฒนธรรม และยังทำให้การเชื่อมต่อระหว่างปัจเจกกับสังคมอ่อนแอลงอีกทางหนึ่ง ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนตะวันตกเอง ก็ส่งเสริมสิทธิของปัจเจก แต่ไม่สะท้อนสิทธิทางสังคมเท่าใดนัก พูดง่ายๆก็คือ สิทธิมนุษยชนในวันนี้ กำลังปกป้องปัจเจก มากกว่า สังคม ในภาพเล็กเรื่องนี้อาจดูดี แต่ในภาพรวมจะเป็นอย่างๆไร และ “มันไม่เกี่ยวอะไรกับฉัน มันไม่ใช่เรื่องของฉัน” คือสิ่งที่สะท้อนถึงวิกฤติทางด้านศีลธรรมมากที่สุด

บทสรุป

เสรีนิยมประชาธิปไตย ประกอบจากคำสองคำ คือ  เสรี (liberal) คือ การรวบกันของวิธีการ, ทัศนะคติและแนวคิดทางการเมือง ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การอำนวย หรือ รักษาเสรีภาพของปัจเจก กับ ประชาธิปไตย (Democracy) การปกครองของประชาชน  รวมกันคือ  liberal democracy เรียกได้ทั้งประชาธิปไตยเสรีนิยม หรือ เสรีนิยมประชาธิปไตย หมายถึง ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีเสรีนิยมเป็นหลักการมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยมีนักปราชญ์คนสำคัญได้แก่ มาร์ตินลูเทอร์(Martin Luther ค,ศ.1483-1546) และ จอห์น ล็อก (John Locke ค,ศ.1632-1704) และ รุสโซ(Jean Jacques Rousseau ค,ศ.1712-1778) เสรีนิยมประชาธิปไตยมี “เสรีภาพ” เป็นหัวใจหลัก ครอบคลุมเวที สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม และเสรีนิยมประชาธิปไตยถูกเสนอให้เป็นระบอบการปกครองสุดท้ายของโลก ข้อวิพากษ์ที่สำคัญ คือ ปัจเจกนิยมสุดโต่ง ความอ่อนแอทางศีลธรรม การปกครองโดยทุน, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, ปัญหาความเท่าเทียม, ปัญหาความเข้ากันไม่ได้ระหว่างเสรีภาพกับความเท่าเทียม, การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่ไม่มากนัก และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย จากข้อบกพร่องเหล่านี้ ชี้ว่า เสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบที่เป็นระบอบของมนุษย์ เพราะระบบการปกครองสุดท้ายคือระบบที่สมบูรณ์ไร้ข้อบกพร่องนั่นเอง…

ขงจื๊อกล่าวว่า “ผู้ปกครองหากปฏิบัติตรงไปตรงมา ถึงแม้จะไม่ออกคำสั่ง ประชาชนยังปฏิบัติตาม หากผู้ปกครองปฏิบัติตนไม่ซื่อตรง ชาวประชาย่อมไม่เชื่อฟัง”

[1]ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน วิกีพีเดียhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2

[2]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%8C

[3]ความคิดที่ว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ ย่อมมีสิทธิบางอย่างในตัวของมนุษย์เอง สิทธิเหล่านั้นโดยไม่ต้องมีกฎหมายกำหนด หรือ อาศัยการยินยอมของสังคม เช่น สิทธิในการมีชีวิต

[4]อ้างอิงจากหนังสือ Models of democracy หน้า 260 ฉบับแปลภาษาฟารซี เขียนโดย David Held

[5]อ้างอิงจากหนังสือ The rise and decline of Western liberalism ฉบับภาษาฟารซี หน้า 19 เขียนโดย Anthony Arblaster

[6]อ้างอิงจากหนังสือ ดัรญุสเตญู ออซอดี เขียนโดย รอมีน ญะฮานบักลู หน้า 61 หนังสือ รวบรวมบทเสวนาระหว่าง รอมมีน กับ อีซียส

[7]อ้างอิงจากหนังสือ The rise and decline of Western liberalism ฉบับภาษาฟารซี หน้า 220-221 เขียนโดย Anthony Arblaster

[8]อ้างอิงจากหนังสือ Alternative Visions เขียนโดย Fred Dallmayrหน้า 166 ฉบับแปลภาษาฟารซี

[9]อ้างอิงจากหนังสือ Liberal Democracy: A Critique of Its Theory เขียนโดย Andrew Levine หน้า 95-105 ฉบับภาษาฟารซี

[10]เล่มเดียวกัน หน้า 60-70

[11]อ้างอิงจากหนังสือ ความรุ่งโรจน์ และความตกต่ำของความคิดสมัยใหม่(ظهور و سقوط مدرن) เขียนโดย ฮามีด เมาลานา หน้า 235-242

[12] John Rawls, A Theory of Justicเขียนโดย John Rawls หน้า 302 ฉบับภาษาฟารซี